fbpx
เมื่อแอปฯ ส่งอาหารกำลังเปลี่ยนวิถีบริโภคของมนุษย์ (และโลกของเราด้วยเช่นกัน)

เมื่อแอปฯ ส่งอาหารกำลังเปลี่ยนวิถีบริโภคของมนุษย์ (และโลกของเราด้วยเช่นกัน)

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมามีข่าวชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจจากผู้ให้บริการเดลิเวอรีอาหารเจ้าหนึ่ง บอกว่ายอดสั่งอาหารช่วงปีใหม่เพิ่มขึ้นกว่าวันปกติถึง 16 เท่า และปริมาณอาหารต่อออเดอร์เพิ่มขึ้นถึง 35% ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองคืนข้ามปี

ที่น่าสนใจเพราะผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น

ถ้าเป็นสมัยเมื่อสามสี่ปีก่อน คืนนี้ฝนตก ไม่อยากออกไปข้างนอก เหนื่อยจากงาน เดินไปในห้องครัวมีมาม่ากับไข่ฟองหนึ่ง ยิ่งกว่าเป็นของขวัญจากพระเจ้าเสียอีก แต่ตอนนี้ไม่ว่าฝนตก แดดออก เช้า กลางวัน เย็น เที่ยงคืน หรือตื่นมากลางดึกตีสามตีสี่แล้วหิว ก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป แค่กดเปิดแอปฯ ในมือถือ เลือกร้าน แล้วรอให้อาหารมาส่งที่หน้าประตูบ้าน อยากกินอะไรก็กดเลือก นั่งดู Netflix รอไป แถมจานก็ไม่ต้องล้างถ้าร้านใส่กล่องพร้อมทานและมีช้อนส้อมแถมมาให้ด้วย

แอปพลิเคชันส่งอาหารเปลี่ยนวิถีการบริโภคของผู้คนในเมืองใหญ่ๆ ไปแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย มีผู้เล่นมากหน้าหลายตา อย่างในไทยก็มี Grab, Foodpanda, Uber Eats, Line Man และ Get ส่วนต่างประเทศก็ยังมีเจ้าอื่นๆ อีกอย่าง Meituan-Dianping , Grubhub, DoorDash, Postmates, Seamless, Deliveroo ฯลฯ เพราะฉะนั้นถือว่าเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูงและขยายเติบโตอย่างรวดเร็วด้วย จนทำให้เกิดธุรกิจอื่นๆ ตามมาอย่าง Cloud Kitchen หรือ Virtual Restaurant ที่มาเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้าที่เมื่อก่อน (อย่างผมเอง) กินอะไรก็ได้เหลือๆ ที่มีในห้องครัว ให้มาพึ่งพาและใช้แอปพลิเคชันเหล่านี้เป็นประจำแทบทุกวัน

แต่เมื่อมองมุมกลับอีกด้านหนึ่ง บุคลากรที่เป็นเมสเซนเจอร์รับส่งอาหาร ต้องตากแดด ตากฝน ฝ่ามลพิษ เจอรถติด เสี่ยงอันตราย รายได้เฉลี่ยตามจริงก็ผันผวนมากบ้างน้อยบ้างตามจำนวนผู้ใช้งาน ตามจำนวนพนักงานที่อยู่ในระบบ และตามทิปที่ได้จากลูกค้า (เพิ่งมีบทความเขียนใน New York Times) กลายเป็นว่าเทคโนโลยีที่มา disrupt ธุรกิจร้านอาหารอย่างการส่งอาหาร on-demand นั้น ไม่เพียงสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อผู้ใช้บริการที่เป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลางถึงสูงเท่านั้น แต่กลุ่มแรงงานขั้นต่ำที่มีโอกาสใหม่ๆ เพิ่มช่องทางการหาเงินที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังถูกเอารัดเอาเปรียบและต้องพึ่งพาบริษัทขนาดใหญ่เพื่อดำรงชีพอยู่ดี (แม้ว่าจะบอกว่าเป็นอาชีพอิสระ ไม่มีเจ้านาย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นจริงๆ สักเท่าไหร่)

แน่นอนว่าแอปพลิเคชันเหล่านี้นำความสะดวกและทางเลือกของอาหารมากมายมาอยู่ที่ปลายนิ้ว แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือเรื่องปัญหาขยะพลาสติก มลภาวะทางอากาศ และเศษอาหารที่เหลือทิ้งมากขึ้นตามไปด้วย ก๋วยเตี๋ยวหรือข้าวมันไก่อาจจะมาถึงที่บ้านคุณภายใน 30 นาทีก็จริงอยู่ แต่กล่องโฟมหรือพลาสติกที่ห่ออาหารมาด้วยนั้นอยู่ต่อไปอีกไม่รู้กี่ร้อยปี

ระบบขนส่งอาหารเดลิเวอรีเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่สร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาลเลยก็คงไม่ผิดนัก ทั้งในรูปแบบของตัวธุรกิจ ผู้บริโภค พนักงานขนส่ง และที่หนักสุดคือสภาพแวดล้อม เพราะระบบเดลิเวอรีอาหารที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดก็คงทำให้สัดส่วนของขยะแพ็กเกจอาหารนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งในอเมริกาแค่ที่เดียวแพ็กเกจห่ออาหารนับเป็น 30% ของขยะมูลฝอย (municipal solid waste) ทั้งหมด ภายในปี 2017 นั้นหนักถึง 80 ล้านตันเลยทีเดียว

เทียบกับประเทศจีนที่มีความคล้ายคลึงกันของการเติบโตจากแอปพลิเคชันเหล่านี้ ในปี 2018 Meituan-Dianping หนึ่งในบริการเดลิเวอรีอาหารเจ้าใหญ่ในประเทศจีนส่งออเดอร์อาหารไปกว่า 6.4 ล้านออเดอร์ โดยขยะของแพ็กเกจอาหารในปี 2017 นั้นหนักประมาณ 1.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 2 ปีก่อนหน้านั้นถึง 9 เท่า ซึ่ง 3/4 ของขยะเหล่านี้ไม่ได้ถูกจัดการอย่างเป็นระบบ และมีโอกาสที่จะไหลลงสู่ทะเลในที่สุด (มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2015 มีขยะประมาณ 3.6 แสนตันไหลลงสู่แม่น้ำแยงซีเกียง) ถึงแม้ว่าตอนนี้รัฐบาลจีนจะพยายามแก้ไขปัญหานี้โดยการสนับสนุนโครงการรีไซเคิลพลาสติกให้มากขึ้น และหยุดนำเข้าวัสดุรีไซเคิลจากต่างประเทศ (ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้หลายประเทศรวมถึงอเมริกาต้องหาปลายทางการนำกระดาษและพลาสติกไปรีไซเคิล)

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Manchester คาดคะเนว่าภายในสหภาพยุโรป มีการใช้ภาชนะที่ใช้แล้วทิ้งมากกว่า 2 พันตันต่อปี และส่วนใหญ่ของภาชนะเหล่านี้ไม่ถูกนำกลับมารีไซเคิลใหม่อีกครั้ง และแพ็กเกจอาหารอย่างพวกช้อนส้อมพลาสติก จาน หรือหลอด เป็นส่วนประกอบถึง 70% ของขยะที่หลุดลอดไปในทะเลของยุโรป

เราเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างการงดใช้พลาสติก ใช้แพ็กเกจอาหารที่ย่อยสลายได้ หรือมีเทรนด์การใช้ปิ่นโตเพื่อรับอาหารกลับบ้าน แต่จนกว่าสิ่งเหล่านี้จะถูกใช้อย่างกว้างขวาง มีอะไรบ้างที่แอปพลิเคชันเดลิเวอรีส่งอาหารสามารถลดขยะมูลฝอยจากธุรกิจ แล้วเราล่ะ?

แอปพลิเคชันสั่งอาหารเหล่านี้ล้วนเป็นแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลต่อผู้ใช้งานในวงกว้างอยู่แล้ว ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ถ้าพวกเขาร่วมมือกัน ยกตัวอย่าง Grab จะเห็นว่าช่วงหลังเมื่อกดสั่งอาหารจะมีออปชันให้กดเลือกว่าจะรับช้อนส้อมพลาสติกรึเปล่าสำหรับออเดอร์นั้นๆ (Deliveroo กับ Uber ก็มีเช่นเดียวกัน) หรืออย่าง DoorDash ที่เริ่มทำโปรเจค DASH เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องขยะอาหารเหลือทิ้งและกลุ่มคนยากจนที่หิวโหย โดยมีการเชื่อมต่อกันระหว่างร้านอาหารที่เป็นพาร์ตเนอร์พวกเขากับศูนย์บริจาคอาหาร เมื่อมีอาหารที่ทำมากเกินไป ร้านอาหารเหล่านี้ก็สามารถเรียกคนมารับไปบริจาคได้ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ Seamless ที่พาร์ตเนอร์กับองค์กร No Kid Hungry ลูกค้าของพวกเขาสามารถรวบรวมเงินแล้วไปซื้ออาหารให้เด็กๆ ยากไร้ได้เช่นกัน

Zomato นอกจากจะเป็นหนึ่งในสตาร์ตอัปเดลิเวอรีอาหารในอินเดียที่กำลังมาแรงแล้ว พวกเขายังมีแนวคิดที่น่าสนใจทำหน้าที่เป็นหน่วยเก็บน้ำมันทอดอาหารที่ใช้แล้ว ให้กับร้านอาหารที่ใช้น้ำมันทอดอาหารมากกว่า 100 ลิตรอีกด้วย (ตามแนวคิด Repurpose Used Cooking Oil ของประเทศอินเดีย) โดยเทคโนโลยีของพวกเขาจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ร้านอาหารให้กดเรียกคนมารับน้ำมัน หลังจากนั้นพวกเขาก็เอามารวมกันไว้ก่อนที่จะส่งต่อไปยังผู้รับคนต่อไปเพื่อนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลต่อ

ขยะอาหารที่เหลือทิ้งและขยะพลาสติกเพิ่มสูงขึ้นด้วยอัตราเร่งที่น่าตกใจทั่วโลก แต่ข้อมูลจาก EPA ก็ยังพอมีแง่มุมหนึ่งที่พอทำให้ยิ้มได้ คือด้านขยะอาหารนั้นถูกกำจัดเพิ่มขึ้นจาก 2.15 ล้านตัน เป็น 2.57 ล้านตัน และมีขยะกว่า 94 ล้านตันถูกรีไซเคิลในช่วงปี 2017 เทียบเท่ากับการลดมลภาวะจากการใช้รถยนต์กว่า 39 ล้านคันบนท้องถนน

แอปพลิเคชันสั่งอาหารแบบเดลิเวอรีส่งถึงหน้าบ้านคงอยู่กับเราไปอีกนาน กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและเปลี่ยนแปลงวิถีการบริโภคของคนในยุคนี้ไปแล้วอย่างชัดเจน แต่การเปลี่ยนแปลงก็ส่งผลกระทบมหาศาลต่อโลกของเราเช่นเดียวกัน แอปพลิเคชันเหล่านี้ต้องช่วยกันกระตุ้นการรับรู้ให้สังคม ถึงปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้นจากบริการเหล่านี้ ช่วยแก้ไขปัญหาและหาทางออกที่ไม่สร้างความเสียหายที่มาพร้อมกับการขยายตัวของธุรกิจ ถ้าจะให้ดีมากขึ้นกว่านี้คือคอยสนับสนุนเป็นตัวกลางที่ช่วยลดปัญหาอาหารที่เตรียมมากเกินกับกลุ่มประชากรอย่างเด็กๆ และคนไร้บ้านผู้ด้อยโอกาสในสังคมด้วย

ส่วนของผู้บริโภคเอง ถ้าเป็นไปได้ก็เลือกที่จะไม่รับช้อนส้อมพลาสติก กล่องอาหารที่เป็นพลาสติกถ้าเก็บรีไซเคิลได้ก็ควรทำ ร้านไหนที่ยังเป็นกล่องโฟมหรือวัสดุที่ย่อยยากก็พยายามหลีกเลี่ยง หรือถ้ามีบริการไหนที่รับส่งโดยใช้ปิ่นโตก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อย

แน่นอนว่าไม่ใช่งานง่ายเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ การเติบโตของธุรกิจที่มาพร้อมกับความยั่งยืนคือสิ่งที่จำเป็น เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าบริษัทเหล่านี้จะเติบโตมูลค่าหลายหมื่นล้าน ถ้าโลกต้องตายไปพร้อมๆ กับการเติบโตนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่คุ้มค่าเลยแม้แต่น้อย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save