fbpx

อำนาจของภาพยนตร์: ว่าด้วยผู้คน เมือง และนิเวศทางวัฒนธรรม เมื่อการดูหนังไม่ใช่แค่เรื่องบันเทิง กับ ดร.วิกานดา พรหมขุนทอง

หากเอ่ยถึง ‘วัฒนธรรมการดูหนัง’ เรานึกถึงอะไร?

สิ่งแรกๆ ที่คนนึกถึงอาจเป็นประสบการณ์การดูหนังโรงท่ามกลางบรรยากาศประทับใจ ดูหนังในโปรแกรมฉายหนังพิเศษ ไปจนถึงการไปเทศกาลภาพยนตร์ หรือหากย้อนไปหลายสิบปีก่อน ที่ต่างจังหวัดย่อมคิดถึงบรรยากาศการดูหนังกลางแปลงตามงานวัด หรือนึกถึงการเช่าวิดีโอ/ซีดีจากร้านประจำใกล้บ้าน

นอกเหนือจากการดูภาพยนตร์แล้ว วัฒนธรรมที่สืบเนื่องจากการดูหนังก็ยังมีอีกมากมาย เราอาจคิดถึงการตามอ่านคอมเมนต์ของคนอื่นที่พูดถึงหนังที่เราชอบ การเซฟภาพฉากหนังที่ประทับใจเก็บไว้ การเก็บสะสมหนังสือ หรือสิ่งเกี่ยวเนื่องจากหนังหรือผู้กำกับคนโปรดของเรา หรือเราอาจนึกถึงการตามรอยโลเคชันถ่ายทำหนังที่เราสนใจ ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ล้วนข้องเกี่ยวกับวัฒนธรรมภาพยนตร์ หรือ film culture ของเราและผู้คนในสังคมที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่หากมองลึกลงไป วัฒนธรรมเหล่านี้ไม่ได้มีคุณค่าแค่มอบความบันเทิงเท่านั้น ทว่ายังสัมพันธ์กับความเป็นเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมอีกด้วย

ดร.วิกานดา พรหมขุนทอง

ดร.วิกานดา พรหมขุนทอง อาจารย์ประจำหลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมการดูหนังกับวิถีชีวิตของผู้คนว่า

“ถ้าเราพูดกันผ่านมิติวิถีชีวิตและพัฒนาการสื่อความบันเทิง การดูหนังเป็นกิจกรรมที่มาคู่กับความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ผสมผสานกับวัฒนธรรมและมหรสพท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม ก่อนที่เราจะมีวัฒนธรรมการดูหนังในเมืองหรือในโรงแบบที่ต้องนั่งดูเงียบๆ ไม่ส่งเสียงดัง หรือมีการเสวนาหลังการฉายหนัง 

“สมัยคนรุ่นพ่อการดูหนังคือการเข้าเมืองและทำกิจกรรมทางสังคมนะ เพราะถ้าไม่ดูหนังตามงานวัด หนังในงานทำบุญร้อยวัน ก็ต้องดูจากงานแก้บนที่มีคนจ้างมาฉาย ซึ่งบริษัทรับจ้างฉายหนังก็อยู่ในตัวเมือง ก่อนฉายจะมีรถแห่เข้าไปโฆษณาในชุมชน แล้วค่อยเข้าไปฉายอีกที พ่อเราเคยเล่าถึงการหาซื้อหรือตัดชุดใหม่ใส่ไปดูหนังปีใหม่ หรืออย่างเราเคยไปสัมภาษณ์นักพากย์หนังเขาก็เล่าว่า ในยุคหนึ่งครอบครัวพากันไปดูหนังตรุษจีน ซึ่งสะท้อนว่าการดูหนังเติบโตคู่กับการเดินทางและกิจกรรมจากในเมือง”

นอกจากประเด็นเรื่องการเชื่อมโยงกับกิจกรรมจากในเมืองแล้ว วิกานดายังกล่าวว่าวัฒนธรรมการดูหนังในสังคมพัฒนาอย่างผสมผสานกับมหรสพพื้นบ้านและการเฉลิมฉลองด้วย 

“การดูหนังงานวัดเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้มีตลอดเวลา “เราไปเที่ยวกัน ดูหนังกัน แต่ด้วยเสียงจอแจจากกิจกรรมอื่นๆ ในงาน หนังก็ต้องสร้างความน่าดึงดูดให้มีสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจ เช่น เรื่องเครื่องเสียงหรือการพากย์ที่ออกอรรถรส วัฒนธรรมทางพื้นที่เหล่านี้วงวิชาการเรียกว่า rural cinema going (การไปดูหนังนอกเมืองหรือในชนบท) ที่ครอบคลุมการดูหนังกลางแปลง งานวัด หนังเร่ ที่ยังมีอยู่ในพื้นที่หลายๆ แห่ง”  

วิกานดาเล่าว่าตนเป็นหนึ่งในคนชุมพรที่เติบโตจากการเข้าถึงภาพยนตร์นอกโรงหนัง ที่เริ่มมาตั้งแต่ยุคโฮมวิดีโอจนถึงยุค multi-platform distribution แม้ปัจจุบันเธอจะเป็นนักวิชาด้านวัฒนธรรมภาพยนตร์ แต่วิกานดาก็มองว่าการชมภาพยนตร์ไม่ได้มีวิธีที่ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในโรงหนังเท่านั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายๆ อย่างจากทั้งทางฝั่งผู้สร้างผลงาน ผู้จัดจำหน่าย และคนดู

เธอมองว่าความจริงแล้วการเข้าถึงภาพยนตร์ทั้งจากช่องทางออนไลน์ ออนไซต์ ดีวีดี หรือแบบอื่นๆ ต่างก็เป็นการอยู่ร่วมกันของวัฒนธรรมสกรีน (screen culture) ที่ให้อรรถรสคนละอย่าง เสริมสร้างประสบการณ์กันคนละแบบ แต่ไม่ว่ารูปแบบการดูหนังของผู้คนจะเปลี่ยนไปอย่างไร ภาพยนตร์-ผู้คน-และเมือง ต่างคงความสัมพันธ์ต่อกันชนิดยากจะแยกขาดจากกัน

คนรุ่นใหม่กับนิเวศวัฒนธรรมในเมืองตนเอง

วิกานดามองว่าภายหลังการประท้วงของคนรุ่นใหม่ในปี 2563 ที่ผ่านมา เมื่อปัญหาการกระจายอำนาจเป็นที่พูดถึงในสังคม ทำให้ประเด็นพื้นที่สาธารณะและกิจกรรมทางศิลปะกลายเป็นประเด็นที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมากขึ้น การอยากมีส่วนร่วมต่อการจัดการเมืองของประชาชน สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยไม่นิ่งเฉยกับการเมืองด้านวัฒนธรรมอีกต่อไป  

“คนรุ่นใหม่หันมาสนใจคำถามเรื่องความเท่าเทียม ความหลากหลายทางสังคมแทรกซึมไปสู่เรื่องความหลากหลายของภาพยนตร์และบริบทแวดล้อมที่เกี่ยวข้องด้วย เขาตั้งคำถามมากกว่ารุ่นเราว่าพื้นที่สาธารณะอยู่ตรงไหน แล้วเราใช้อะไรได้บ้าง

“รุ่นเราอยู่ต่างจังหวัด ถ้าอยากไปเที่ยวก็ไปห้าง แต่ตอนนี้พอมีห้างเต็มไปหมด แต่พื้นที่อื่นๆ มีจำกัด ก็มีคำถามเรื่องพื้นที่สาธารณะทางวัฒนธรรมอื่นๆ มากขึ้น คนในชุมชนก็คงมีความคิดในใจมานานแล้วว่าอยากให้เมืองทำอะไรให้เขาบ้าง แต่อาจจะเสียงไม่ดัง ไม่มีโซเชียลมีเดียเชื่อมต่อกลุ่มต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วเหมือนปัจจุบัน ซึ่งเหล่านี้เกี่ยวโยงกับคำถามที่ใหญ่กว่า เรื่องชีวิตทางวัฒนธรรมที่เป็นอยู่นอกเหนือจากระบบทุนนิยม เรื่องความเป็นพลเมือง การจ่ายภาษี การได้มีสาธารณูปโภคที่ดี พื้นที่สาธารณะที่รื่นรมย์และเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง” 

วิกานดาลองยกตัวอย่างการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในเมืองรองที่ต่างประเทศ เพื่อให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการจัดการเมืองและกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย 

“ตอนเราเรียนมหาลัยที่เวลส์ เมืองอาร์เบอริสต์วิธ (Aberystwyth) ที่เราอยู่เล็กมาก ถ้าไม่ใช่นักศึกษาหรือคนทำงานในมหาวิทยาลัย คนส่วนใหญ่มักเป็นคนเกษียณและเด็ก ซึ่งสถานที่แฮงค์เอาต์ของคนเหล่านี้ก็คือ art center เพราะว่า art center มีหนังให้ดู มีคลาสศิลปะให้ไปร่วม มีเทศกาลภาพยนตร์ cult เฉพาะทาง พอเราเห็นสถานที่แบบนี้เราก็นึกไปถึงคำถามประมาณว่า ‘กิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ครอบคลุม (inclusive) แต่ละเมืองจะมีหน้าตาอย่างไร’ แต่ละที่ก็คงมีคำตอบไม่เหมือนกัน เพราะลักษณะเมืองต่างกัน” วิกานดากล่าว

วิกานดายกตัวอย่างการส่งเสริมวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในเอเชียว่า “เราเคยอ่านงานวิชาการเกี่ยวกับ community film screening ที่ญี่ปุ่น เขาไม่ได้คิดถึงการฉายหนังเป็นกิจกรรมเพื่อความตื่นตาตื่นใจแบบที่จัดเป็นอีเวนต์แล้วจบเพียงเท่านั้น แต่สถานที่ฉายหนังไปโยงกับพิพิธภัณฑสถานของเมือง ศูนย์กิจกรรมชุมชน หรือโรงเรียนที่ร้างไปแล้ว มีการฉายหนังทุกเดือน เป็นโมเดลที่หนังไปอยู่ในพื้นที่ในชุมชนที่คนไปประจำอยู่แล้ว”

ธุรกิจศิลปะและสินค้าวัฒนธรรมยุคเสรีนิยมใหม่ กับ วัฒนธรรมหนังหลากหลาย

เนื่องด้วยผลพวงจากเศรษฐกิจโลกในยุคเสรีนิยมใหม่ กิจกรรมด้านวัฒนธรรมที่ทำเงินได้น้อยถูกลดความสำคัญลง บรรดาองค์กร ผู้ประกอบการด้านศิลปะ และสินค้าเชิงวัฒนธรรมจำต้องปรับตัวตามความแปรเปลี่ยนของผู้บริโภค โดยการคำนึงถึงยอดผู้มาใช้บริการและการมีส่วนร่วมของผู้ชมมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อบริบทนี้มาเจอกับคนหนุ่มสาวยุคมิลเลเนียลส์ที่ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อประสบการณ์ให้ตนเองมากกว่าซื้อสินค้าแบบจับต้องได้ ทำให้บรรดาพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์แกลลอรีต่างสนใจใช้แนวคิด experience economy มากขึ้นโดยการพยายามจัดกิจกรรมให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับงานศิลปะนั้นๆ สาเหตุนี้เองภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหวจึงมีโอกาสไปอยู่พื้นที่ใหม่ๆ มากกว่าแค่ในโรงหนังหรือสตรีมมิงแพลตฟอร์ม  

“การเปิดโลกการชมภาพยนตร์รูปแบบใหม่ๆ เป็นทิศทางของวัฒนธรรมภาพยนตร์ที่คู่ขนานกับระบบสตรีมมิงในปัจจุบัน ภาพยนตร์เป็นภาพเคลื่อนไหว (moving image) มีหลายความยาว มีการเล่าหลายแบบ อยู่ได้มากกว่าหนึ่งที่ ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไม่ได้เป็นเส้นตรงแต่โลดแล่นสัมพันธ์กับนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งใหม่ทั้งเก่าอยู่เสมอ ในอดีตภาพจำเกี่ยวกับภาพยนตร์อาจจะอยู่ในโรงหรือสถานที่มหรสพ (ทำให้) เวลาพูดถึงวัฒนธรรมภาพยนตร์ ภาพที่เด่นชัดแต่เดิมคือโรงหนัง ตั๋วหนัง ป็อปคอร์น แต่ความจริง คำว่า วัฒนธรรมภาพยนตร์ กว้างมากและ ‘super diverse!’   

“ปัจจุบันก็มีกลุ่มศิลปิน คอหนัง ผู้จัดฉายเอาภาพยนตร์ไปเชื่อมสัมพันธ์กับผัสสะและพื้นที่แบบใหม่ๆ อย่างฝั่งผู้กำกับหรือศิลปินที่หลายคนรู้จัก เช่น อภิชาติพงศ์ก็ผสมหลายอย่าง ตั้งแต่ภาพยนตร์ที่อยู่ในโรงแรมแบบ pop-up การฉายหนังบนจอกลม ฉายบนหมอกควัน หรือฉายบนผ้า มีฉากโรงลิเก ข้ามสื่อ ข้าม material และข้ามวัฒนธรรมด้วย”

วิกานดายังชี้ให้เห็นว่าความต้องการดูหนังที่หลากหลายในแต่ละยุคสมัยไม่ได้เกิดขึ้นแค่ภายในสังคมไทยเท่านั้น ในช่วงปี 2015-2018 การจัดฉายภาพยนตร์โดยกลุ่ม Secret Cinema ได้รับความนิยมในสหราชอาณาจักรจากผู้คนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่และคนชนชั้นกลาง ทั้งที่หนังที่กลุ่ม Secret Cinema นำมาฉายก็ไม่ใช่หนังใหม่ แต่กลับสามารถทำรายได้จากการขายตั๋วในงานได้มากกว่ายอดขายตั๋วในโรงภาพยนตร์ปกติทั่วประเทศเสียอีก 

จุดเด่นของการฉายหนังแบบ Secret Cinema คือการสร้างประสบการณ์การชมภาพยนตร์ประหนึ่งหลุดเข้าไปอยู่ในโลกของหนังที่สร้างขึ้นมาแบบลับๆ ทางผู้จัดงานจะแอบเซอร์ไพรซ์ผู้ชมล่วงหน้าด้วยการจัดสถานที่ ออกแบบงาน และสร้างบรรยากาศด้วยนักแสดง จำลองข้าวของ-เครื่องดื่ม ตามธีมหนังแต่ละเรื่องที่นำมาฉาย และเมื่อคนดูมาซื้อตั๋วชมภาพยนตร์ ผู้จัดงานก็จะเชียร์ให้คนดูแต่งตัวตามธีมหนังเพื่อเข้าไปร่วมในงานด้วย

YouTube video

YouTube video

ตัวอย่างงาน Secret Cinema

นอกจากการให้ประสบการณ์การดูหนังที่แปลกใหม่แก่ผู้ชมแล้ว การฉายหนังแบบ Secret Cinema ยังส่งผลดีต่อฝั่งผู้ประกอบการแนวใหม่และเมืองด้วย เนื่องจากกลุ่ม Secret Cinema มักเลือกใช้สถานที่ที่ถูกทิ้งร้างมาจัดกิจกรรม ทำให้ฝั่งผู้จัดสามารถลดต้นทุนผ่านค่าเช่าราคาถูกได้ และก็ช่วยฟื้นฟูเมืองไปด้วย จากความนิยม Secret Cinema วิกานดาสรุปข้อสังเกตไว้ดังนี้

“ในต่างประเทศมีการศึกษาปรากฏการณ์เหล่านี้ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น หนังสือของ Emma Pett (Experiencing Cinema: Participatory Film Cultures, Immersive Media and the Experience Economy) เขามองว่าปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งของวัฒนธรรม​การดูหนังในโลกเหนือ (global north) ซึ่งมีจุดเด่นหลักๆ สามประการ

1.ทิศทางการแสวงหาประสบการณ์แบบ Live Cinema ซึ่งเทียบเคียงได้กับประสบการณ์การไป​ดูคอนเสิร์ต​หรือละครเวทีที่ทำให้ภาพยนตร์ไม่ได้เป็นประสบการณ์แบบ mediated แบบดูเมื่อไหร่ก็ได้อย่างเดียว แต่กลายเป็นประสบการณ์ live ที่ต้องดูร่วมกัน เวลาเดียวกัน สถานที่เดียวกัน อาจจะซื้อบัตรแพงขึ้น หรือต้องต่อคิวรับตั๋วเข้างาน ลักษณะกิจกรรมแบบนี้ให้ความสำคัญ​กับประสบการณ์​ที่ต่างจากชีวิต​ประจำวัน พวกมิติความลับ และการเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมย่อย (sub-culture) จึงสำคัญ

2.การแสวงหาประสบการณ์แบบ Immersive Cinema ที่ตัวบทไหลออกมาอยู่ในสถานที่ฉาย และนำพาเราไปในโลกของภาพยนตร์แบบสมบูรณ์ อาทิ การจัดงานที่อยู่ในสถานที่พิเศษเหมือนกับในหนัง ผู้คนที่ไปดูแต่ละรอบก็ไม่เหมือนกัน ทำให้ประสบการณ์การเข้าร่วมเป็นประสบการณ์พิเศษ ดูอย่างไรก็ไม่ซ้ำ หรือบางทีหนังก็ฉายแบบลากยาว 24 ชั่วโมง มากี่โมงก็ฟีลต่างกัน บางงานทดลองการเรียงเรื่องหรือสิ่งที่ต้องดูไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละรอบด้วย (แน่นอนเรื่องพวกนี้ไปโยงกับแนวคิดอย่าง สหสื่อ (intermediality) การข้ามสื่อ (transmedia) ภาพยนตร์แบบ expanded cinema)

3.เรื่อง participatory (cinema) culture ที่ทุกคนมีส่วนร่วมเล่าประสบการณ์การไปดูงานหรือเข้าร่วมกิจกรรมผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ของตัวเอง เข้ากับยุคดิจิทัลในปัจจุบัน และทำให้กิจกรรมฉายหนังบางงานนำไป mobilize activism ได้ด้วย” 

เมื่อภาพยนตร์และโลกความจริงมาบรรจบกันที่ ‘การตามรอยหนัง’

นอกจากการดูหนังผ่านสตรีมมิงแพลตฟอร์มแล้ว หนึ่งในเทรนด์โลกออนไลน์ที่เชื่อมโยงภาพยนตร์และโลกแห่งความจริงไว้ด้วยกันคือ ‘การตามรอยหนัง’ การตามรอยหนังเป็นกิจกรรมที่แฟนหนังจะตามไปยังสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องต่างๆ แล้วพยายามถ่ายทอดประสบการณ์ของตัวเองให้แฟนคนอื่นๆ ได้รับรู้ เช่น ถ่ายรูปและเขียนเรื่องราวการตามรอยของตนเองลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งในเวลาต่อมาในยุคที่สถานที่ต่างแข่งขันกัน instagramable กิจกรรมการตามรอยหนังนี้ก็กลายเป็นหนึ่งในวิธีการการประชาสัมพันธ์สถานที่ไปโดยปริยาย นักวิชาการด้านการท่องเที่ยวมองว่ากระแสกิจกรรมตามรอยหนังนี้เป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านสื่อผ่านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนัง/ซีรีส์ ทว่าหากมองในมุมมองของแฟนและสื่อศึกษา กิจกรรมดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสุนทรียศาสตร์ ผัสสะ และความทรงจำของคนดู และนำไปสู่การค้นหาประวัติศาสตร์ที่ทับซ้อนกันของสถานที่ (ซึ่งจะอธิบายในลำดับถัดไป)

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างปรากฏการณ์การตามรอยซีรีส์เกาหลีเรื่อง King the Land ที่มาถ่ายทำและนำเสนอภาพประเทศไทยอย่างชัดเจนว่าแต่ละฉากถ่ายทำสถานที่ใดบ้าง และเมื่อซีรีส์ออกฉายก็ได้รับการปักหมุดในโซเชียลมีเดียให้แฟนหนังได้ไปตามรอยกัน

ภาพจากเพจ TFO Thailand Film Office

ถึงแม้ว่าเทรนด์การตามรอยหนังจะเป็นที่นิยมในยุคโซเชียลมีเดียแต่มิได้หมายรวมว่าผู้คนจะสนใจตามรอยเฉพาะหนังใหม่ที่เพิ่งฉายเท่านั้น ภาพยนตร์บางเรื่องแม้เคยถ่ายทำที่ไทยเมื่อนานมาแล้วแต่ก็ยังเป็นที่สนใจของคนไทยอยู่ ตัวอย่างหนังสัญชาติฮ่องกงเรื่อง In the Mood For love ที่กำกับโดยผู้กำกับดังอย่างหว่อง กาไว และอีกเรื่องคือภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้สัญชาติไทย รถไฟฟ้ามาหานะเธอ แม้หนังทั้งสองเรื่องนี้จะมีอายุต่างกันมาก แต่มีฉากที่ถ่ายทำในย่านเดียวกันนั่นก็คือที่บางรัก กระแสความนิยมของหนังทั้งสองเรื่องนี้ทำให้หน่วยงานท้องถิ่นอย่างเขตบางรักหยิบยกภาพยนตร์คู่นี้มาเป็นสื่อประชาสัมพันธ์เมืองผ่านโซเชียลมีเดีย

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ สำนักงานเขตบางรัก BangRak District Office  

พิกัดสถานที่ถ่ายทำ In the Mood for Love / ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ สำนักงานเขตบางรัก BangRak District Office

ความสนใจของผู้คนสะท้อนให้เห็นว่าแม้ภาพยนตร์จะเคยฉายไปนานหลายสิบปีแล้วหรือเป็นหนังเก่าเพียงใด สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ลดทอนความสนใจในการตามรอยหนังจากกลุ่มแฟนเลย จากการค้นคว้าเรื่องวัฒนธรรมการตามรอย วิกานดาชี้ให้เห็นว่ากลุ่มที่บุกเบิกเรื่องการตามรอยคือกลุ่มคอหนังหรือกลุ่มแฟน ซึ่งเลือกตามรอยจากฉากหนังที่ตนประทับใจหรือฉากที่ตนจดจำได้ชัดเจน จนกระตุ้นให้ผู้สร้างใช้โลเคชันการถ่ายทำเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดความสนใจของคนดู 

ภาพจากโครงการตามรอยภาพยนตร์ในประเทศไทย โดย สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหิดล ร่วมกับแฟนเพจไปตามรอยหนังด้วยกันมั้ย

มิติการซ้อนทับของความทรงจำในโลเคชันหนึ่งๆ นี้เองทำให้ผู้สนใจการตามรอยภาพยนตร์ บางคนนำภาพในหนังมาถ่ายซ้อนกับสถานที่จริง ซึ่งงานวิชาการเรียกลักษณะภาพถ่ายเหล่านี้ว่า scene framing หรือ re-photography หากมองผิวเผินแล้วการถ่ายรูป scene framing อาจดูเป็นแค่กิจกรรมในอินสตาแกรมเก๋ๆ แต่ในมุมวิชาการ การถ่ายภาพซ้อนภาพแบบ scene framing นี้เป็นกระบวนการทบทวนและสร้างความทรงจำของผู้ถ่ายภาพที่มีการคำนึงถึงบริบทของตัวหนังกับประวัติศาสตร์ของสถานที่และการเปลี่ยนแปลงของเมืองหรือโลเคชันนั้นๆ วิกานดาอธิบายให้เราฟังด้วยกรณีโรงหนังสกาล่า 

“เราเคยเขียนบทความเรื่องการตามรอยว่ารูปแบบการตามรอยหลายๆ แบบสะท้อนความสัมพันธ์ของภาพยนตร์ ผู้คน และเมืองได้อย่างน่าสนใจ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ตั้งต้นที่การขายการท่องเที่ยวแต่เป็นเรื่องการกระตุ้นความทรงจำและการมีส่วนร่วมกับตัวหนัง (participatory culture) อย่างช่วงก่อนโรงหนังสกาล่าจะโดนทุบทิ้งก็มีการตามรอยหนังแล้วติดแฮชแท็กเพื่อการเล่าความผูกพันกับโรงหนัง รูปแบบการตามรอยแบบหนึ่งคือการถือรูปภาพที่ปรินต์มาหรือถือรูปภาพฉากหนังในมือถือที่เรียกว่า scene framing หรือ re-photography ซึ่ง caption ที่เล่าคู่ภาพสะท้อนอะไรได้มากมาย

“สิ่งเหล่านี้บ่งบอกว่าการตามรอยสะท้อนมิติที่ทับซ้อนกันระหว่างเรื่องราวในหนัง ตัวละคร และอัตลักษณ์ตัวตนของคนดู ความทรงจำส่วนบุคคล รูปแบบ และสุนทรียศาสตร์ในการนำเสนอสถานที่ ประวัติศาสตร์ของสถานที่ พื้นที่ที่ไปตามรอยจึงเป็นทั้งพื้นที่เมืองจริงๆ และเป็นพื้นที่ทางความรู้สึกด้วย และแน่นอนว่าการตามรอยเกี่ยวข้องกับความผูกพันทางใจของคนดูกับตัวละครและสถานที่ที่บอกเล่าภาวะบางอย่าง การตามรอยนี้จึงสะท้อนความปรารถนาของผู้คนได้ แล้วก็ไปโยงกับการออกแบบเมืองได้นะ มันช่วยให้เห็นได้ว่าผู้คนฝันอยากเห็นเมืองเป็นอย่างไร คนอยากอยู่ในเมืองแบบไหน” วิกานดากล่าว

วิกานดาแนะเพิ่มเติมว่าตอนนี้การตามรอยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปเยือนแบบออนไซต์อย่างเดียวเท่านั้น ด้วยเทคโนโลยีทำให้เราสามารถไปตามรอย (ก่อนเดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่จริง) ผ่านการแกะรอยสถานที่ที่ปักหมุดใน google map หรือประสบการณ์การตามรอยจากคนอื่น เช่น การเขียนเรื่องเล่า การผลิตแผนที่ออนไลน์ก็สามารถเอื้อให้การตามรอยเกิดขึ้นได้  วิกานดาแนะนำรายชื่อโลเคชันสำหรับการตามรอยภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ที่เคยถ่ายทำในประเทศแถบอาเซียนไว้ที่นี่

รัฐควรต่อยอดอย่างไร

ช่วงสองปีที่ผ่านมาประเด็นการผลักดันภาพยนตร์ไทยให้เป็น soft power ระดับโลกเป็นเรื่องที่นิยมพูดถึงโดยเฉพาะแวดวงการเมือง หลายพรรคการเมืองพยายามโชว์นโยบายว่าจะผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอย่างไรให้สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศให้ได้มากที่สุด  

ความจริงในแวดวงการวิชาการประเด็นการพัฒนาอุตสาหกรรมและการส่งเสริมวัฒนธรรมภาพยนตร์ก็เป็นที่พูดถึงบ่อยๆ วิกานดายกตัวอย่างเวทีที่จัดโดย UNESCO Thailand ซึ่งมีประเด็นการพูดคุย 8 หัวข้อ ได้แก่

1. การจัดตั้งสถาบันภาพยนตร์ (Film Council) และแผน Road Map การทำงานและการพัฒนาที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม
2. การสร้างเครือข่ายและชุมชนภาพยนตร์ที่เชื่อมประสานหลายภาคส่วนไว้ด้วยกัน
3. การบริหารจัดการองค์ความรู้และพัฒนาทรัพยากรบุคคล
4. การพัฒนาสวัสดิการและสวัสดิภาพแรงงานของถ่ายภาพยนตร์และมาตรฐานการทำงาน
5. การส่งเสริมวัฒนธรรมภาพยนตร์
6. การจัดตั้งแผนการให้ทุนภาพยนตร์
7. การส่งเสริมการศึกษาภาพยนตร์
8. การแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนา

เป็นเรื่องดีที่หลายภาคส่วนเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แต่เราจำต้องยอมรับว่าความต้องการผลักดันอุตสาหกรรมหนังไทยไปในระดับโลกไม่ใช่เรื่องใหม่ ทว่าแม้จะผ่านมากี่สมัยก็ยังดูเหมือนว่าไม่มีรัฐบาลไหนที่ทำได้ เมื่อพูดในประเด็นการพัฒนา ดร.วิกานดาให้ความเห็นว่า

“การมีภาครัฐมาสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นเรื่องน่ายินดี แต่เรามองว่าการช่วยแบบเป็นครั้งคราว เช่น กระแส fan tourism ที่มีการไปสร้างอาคารสถานที่ให้คนไปตามรอย หรือการพูดรวมๆ ว่าภาพยนตร์เป็น soft power เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์แล้วจัดอีเวนต์เป็นครั้งคราวไม่เพียงพอต่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”

วิกานดาพูดเพิ่มเติมว่าเราจะพูดถึงเฉพาะปลายทางที่เป็นความสำเร็จจากผลกำไรอย่างเดียวไม่ได้ ถึงแม้เศรษฐกิจจะเป็นมิติหนึ่งที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม แต่นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจและรายได้แล้วกระบวนการต้นทางและระหว่างทางในนิเวศภาพยนตร์ก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น การส่งเสริมสวัสดิภาพการทำงานของบุคลากร การสนับสนุนภาคส่วนต่างๆ  

“หากมองในแง่วัฒนธรรม กิจกรรมทางวัฒนธรรมบางอย่างก็ไม่สามารถวัดได้ด้วยตัวเลขผลกำไร เราควรมองในแง่การพัฒนาวัฒนธรรมภาพยนตร์ที่จะเบ่งบานในระยะยาว ความจริงรัฐมีพลังในการทำอะไรได้หลายๆ อย่าง แต่ก็ดูจะติดเงื่อนไขหลายอย่าง อย่างปัญหาการจำกัดรูปแบบหนังในการให้ทุน การสร้างเงื่อนไขในการจัดฉาย รูปแบบกิจกรรมที่จัดได้ หรือการสนับสนุนแบบไม่ครอบคลุมความหลากหลายของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากำลังคนและความคิดสร้างสรรค์ด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์การมองการไกลของภาครัฐนะว่าลึกๆ แล้วต้องการสนับสนุนจริงจังแค่ไหน ครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างเป็นเอกภาพหรือไม่ มีเป้าหมายจะไปไกลอย่างยั่งยืนร่วมกันแค่ไหนอย่างไร”

ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐมีอำนาจการสนับสนุนมากเพียงใดคือกรณี ‘งานกรุงเทพฯ กลางแปลง’ ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามเมื่อกลางปี 2565 ซึ่งจัดตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนล่าสุด ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

กระแสตอบรับจากงานหนังกลางแปลงที่จัดในกรุงเทพฯ นี้สวนทางต่อบรรยากาศอันซบเซาของยอด box office ในโรงหนังมัลติเพล็กซ์ในเวลานั้น สิ่งที่น่าแปลกใจคือภาพยนตร์ที่นำมาฉายทั้งสองงานต่างไม่ใช่หนังใหม่ อะไรเป็นกลไกสำคัญของปรากฏการณ์นี้ ผู้เขียนตั้งคำถามโดยเจาะประเด็นที่ปรากฏการณ์ความป๊อปของงานกรุงเทพฯ กลางแปลงว่าเหตุใดจึง ป๊อป  ซึ่ง ดร.วิกานดาให้ความเห็นต่อปรากฏการณ์กรุงเทพฯ กลางแปลงไว้ว่า

“ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นกระแสชัชชาติด้วยนะ (หัวเราะเบาๆ) การไลฟ์เฟซบุ๊กของเขามีผลนะเพราะเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของสื่อ ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ที่กรุงเทพฯจัดเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในขณะเดียวกันบรรยากาศทางสังคมหลังโรคระบาดหนักๆ ก็น่าจะทำให้ผู้คนอยากจะมาทำกิจกรรมในที่สาธารณะตั้งแต่ไปฟังดนตรีในสวน ไปถึงดูหนังกลางแปลง 

อีกส่วนหนึ่งเราว่าพันธมิตรของการจัดงานมีหลายส่วน มีการไปร่วมมือกับสมาคมผู้กำกับฯ มีดาราเข้ามาร่วม การมีหลายๆ กลุ่มมาร่วมก็ยิ่งทำให้เป็นจุดสนใจ เข้าถึงกลุ่มคนหลายกลุ่มที่ไม่ได้จำกัดแค่คนเชียร์ชัชชาติ ซึ่งอันนี้น่าสนใจในแง่การจัดกิจกรรมแบบ inclusivity (ครอบคลุมทุกกลุ่ม) นะ มันทำให้บทสนทนาเรื่องภาพยนตร์ไม่ได้อยู่แค่ในโลกของอุตสาหกรรมหรือคนดูหนังในโรง การจัดงานจากพันธมิตรที่หลากหลายทำให้มีผู้เข้าร่วมหลายกลุ่ม แล้วภาพยนตร์ที่เลือกก็หลากหลาย น่าจะมีอิทธิพลต่อการดึงดูดคนหลายกลุ่มด้วย”

นอกจากเรื่องการมีผู้จัดงานหลายภาคส่วนมาจัดร่วมแล้ว วิกานดายังมองว่าภาพยนตร์ที่นำมาฉายในงานมีปฏิสัมพันธ์ต่อพื้นที่สาธารณะและคนในชุมชนอย่างน่าสนใจ รวมถึงการเลือกจัดงานโดยใช้ธีมหนังกลางแปลงย้อนยุคเหมือนหนังกลางแปลงที่ฉายในงานวัด

“เราว่าหนังที่เลือกมาฉายในกรุงเทพฯ กลางแปลงกับสถานที่ที่เลือกฉายน่าสนใจมาก การเลือกหนังเก่ากับบรรยากาศหนังกลางแปลงแบบงานวัดก็เข้าทาง คือย้อนยุคทั้งตัวหนังทั้งบรรยากาศ หรือการเลือกสถานที่ที่มีสัมพันธบทกับการเล่าเรื่องในหนัง เช่น เรื่อง RRR ที่ฉายแล้วมีการพากย์สาธิตให้ดูไปด้วย หรือ รักแห่งสยาม ที่ฉายที่สยามสแควร์แล้วมีนักแสดงมาร่วมพูดคุยด้วย เหล่านี้สะท้อนประสบการณ์แบบ experiential cinema ที่เราไม่ได้เสพแต่ตัวหนัง ตัวหนังจะดูที่ไหนก็ได้ หนังเรื่องนี้ก็มีฉายในเน็ตฟลิกซ์ แต่ประสบการณ์แบบนี้ต้องดูที่นี่เวลานี้เท่านั้นถึงจะสนุกขั้นกว่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยู่แวดล้อมในการดูหนังก็สำคัญไม่แพ้กัน

“คล้ายๆ กับว่าทำไมจะต้องไปตามรอยแล้วหาจุดที่อยู่ในฉากใดฉากหนึ่งให้เจอถึงจะเข้าถึงประสบการณ์ภาพยนตร์แบบทะลุมิติความทรงจำ มันจะคล้ายๆ กับการแสวงบุญต้องดั้นด้นไปให้ถึงที่จริงๆ เพื่อเข้าสู่มิติทางจิตวิญญาณที่ที่ spirit ของหนังอยู่ที่นี่มาก่อน (หัวเราะ)”

อย่างไรก็ตามวิกานดาเน้นว่าการส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมไม่ควรกระจุกตัวเพียงแค่ในกรุงเทพฯ จังหวัดเดียว วิกานดาแนะว่าเราควรมีการสำรวจในระดับเมืองและระดับจังหวัด ว่าประชาชนหลายๆ กลุ่มในแต่ละพื้นที่อยากเห็นอะไร

“เราว่าในโลกปัจจุบันคนอยากมีส่วนร่วมในการสร้างเมือง ในหลายๆ เมืองก็ผนวกการฉายหนังกับพื้นที่ร้านหนังสือ ร้านกาแฟ แกลลอรีแสดงงานศิลปะ ความลื่นไหลแบบนี้เกิดขึ้นในยุคที่คนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์กับพื้นที่วัฒนธรรมในเมืองมาก่อน พอกลับไปอยู่ต่างจังหวัดเขาก็คงรู้สึกว่าเมืองนี้ทำไมไม่มีโรงหนังหรือไม่มีหนังที่หลากหลายให้ดู ก็มีการสร้างเครือข่ายจัดฉายภาพยนตร์เอง เหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ micro cinema อีกแนวหนึ่ง 

“อย่างที่ขอนแก่นก็น่าสนใจตรงที่มีการจัดเทศกาลหนังเมืองแคนมาเรื่อยๆ หรือยกตัวอย่างหอภาพยนตร์ย่านศาลายา หนังที่ฉายที่หอฯ มีหลายแบบ มีกิจกรรมฉายภาพยนตร์ให้ผู้สูงวัยในบริเวณใกล้เคียงซึ่งดีมากเลย คนส่วนใหญ่ก็จะมาจากแถวนั้น 

“เราคิดว่าควรมีสถานที่เหล่านี้กระจายไปตามเมืองต่างๆ อาจจะกระจายไปเป็นกิจกรรมประจำเดือนของห้องสมุดประชาชนก็ได้นะ หรือฉายหนังที่เคยไปถ่ายที่เมืองๆ นั้นด้วยก็ได้ สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเมืองด้วย มันสามารถต่อยอดบทสนทนากันได้หลายมิติ ไม่ได้แค่กับโลกของภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว ถ้ารัฐมีนโยบายกระตุ้นการจัดกิจกรรมวัฒนธรรมทางเลือกโดยการสนับสนุนอะไรบางอย่างเพิ่ม เช่น โครงการอุดหนุน (subsidize) ค่าธรรมเนียมการฉาย (screening fee) ก็น่าจะช่วยต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ให้ต่อเนื่องไปได้ในระยะยาว คือทุกอย่างมันคิดร่วมกันได้ว่าเมืองควรเป็นแบบไหน ภาพยนตร์ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งในนั้นก็ได้” วิกานดากล่าวสรุป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save