fbpx
อ่านหนังสือรัฐธรรมนูญ ฉบับ 'ซ้ายจัด ดัดจริต'

อ่านหนังสือรัฐธรรมนูญ ฉบับ ‘ซ้ายจัด ดัดจริต’

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

ในฐานะของผู้สอนหนังสือที่ได้ใช้หนังสือ ‘รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิด อำนาจสถาปนา และการเปลี่ยนผ่าน’ ของ รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล (อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกของกลุ่มนิติราษฎร์) เป็นส่วนหนึ่งในเอกสารประกอบการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในระดับปริญญาตรี และวิชารัฐธรรมนูญเปรียบเทียบในระดับปริญญาโท รู้สึกอัศจรรย์ใจมิใช่น้อยเมื่อคุณอุ๊ นำเอาหนังสือสองเล่มไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีกับผู้เขียน และ ‘รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิดฯ’ เป็นหนึ่งในหนังสือสองเล่มนั้น (อีกเล่มหนึ่งคือ ราชมัลลงทัณฑ์ บัลลังก์ปฏิรูป สำนักพิมพ์ Shine publishing house)

คุณอุ๊ หรือ หฤทัย ม่วงบุญศรี ได้ให้เหตุผลว่า “พบว่าหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาที่อาจเข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ…แม้ว่าหนังสือดังกล่าวจะเขียนในเชิงวิชาการแต่มีเนื้อหาที่อาจกระทบกับระบบการปกครองไทย ซึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้ จึงอยากให้ตำรวจตรวจสอบว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่” (‘อุ๊’ เดินต่อ ขยี้ ‘ปิยบุตร’ แจ้งความหนังสือ 2 เล่ม, มติชนรายวัน 4 เมษายน 2562)

แต่คุณอุ๊ ไม่ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าหนังสือทั้งสองเล่มมีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องอะไร และประเด็นในส่วนใดที่จะกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยที่เป็นผู้กำหนดและแนะนำให้นักศึกษาควรจะต้องอ่านหนังสือ “รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิดฯ” จึงย่อมเป็นหน้าที่ของผมเช่นเดียวกันที่จะอธิบายว่าหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาสำคัญและประเด็นที่น่าจะสนใจอย่างไร

และจะพอมีส่วนใดที่จะกระทบต่อการปกครองของไทยจริงหรือไม่ อันอาจทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการล้างสมองคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นที่หวาดเกรงกันในหมู่ผู้คนจำนวนไม่น้อยในห้วงเวลาปัจจุบัน

 

ตำแหน่งแห่งที่และบริบทของ ‘รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิดฯ’

 

หนังสือเล่มนี้ถูกพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2559 โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน อันเป็นการรวบรวมบทความขนาดยาวของผู้เขียนซึ่งได้ตีพิมพ์เผยแพร่ระหว่าง พ.ศ. 2556 ถึง 2558 โดยส่วนใหญ่เป็นบทความที่เผยแพร่ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ มีเพียงบทความชิ้นเดียวที่ตีพิมพ์ในวารสารฟ้าเดียวกัน

ฉะนั้น จึงเป็นที่เข้าใจได้ในเบื้องต้นว่างานเขียนเหล่านี้ถูกผลิตขึ้นภายใต้ช่วงเวลาที่ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภากับฝ่ายที่สนับสนุนระบอบอำนาจนิยมโดย ‘คนดี’ หากพิจารณาจากแนวความคิดของกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นกลุ่มนักกฎหมายที่มุ่งเน้นการสถาปนาหลักนิติรัฐ ระบอบรัฐธรรมนูญนิยม ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าปิยบุตร ซึ่งสังกัดอยู่ในกลุ่มก็ย่อมจะมีแนวความคิดไปในทิศทางเดียวกัน

ในส่วนของรูปแบบการนำเสนอ หนังสือเล่มนี้มิใช่ตำราเรียนโดยตรงเฉกเช่นคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญของนักวิชาการอีกหลายคน แต่เป็นงานที่เผยแพร่สู่สาธารณะในแวดวงที่กว้างขวางกว่าการบังคับให้นักศึกษาอ่านในชั้นเรียน จึงไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จะเป็นการนำเสนอ โต้แย้ง หรือท้าทายกับแนวความคิดด้านรัฐธรรมนูญที่มีอิทธิพลครอบงำในแวดวงวิชาการหรือที่มีอิทธิพลต่อสถาบันกฎหมายในสังคมไทย หรือที่เป็นปัญหาด้านรัฐธรรมนูญร่วมสมัย

โดยในหนังสือเล่มนี้ได้จำแนกแยกแยะเป็น 5 บท ดังนี้ บทที่ 1 ประวัติศาสตร์ข้อความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ, บทที่ 2 อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ, บทที่ 3 การเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย, บทที่ 4 ผู้ร่างเป็นอย่างไรก็ได้รัฐธรรมนูญอย่างนั้น, บทที่ 5 การสร้างคำอธิบายของนักกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบกษัตริย์นิยม

หากลองจำแนกเนื้อหาในแต่ละบทในเชิงภาพรวม ผมคิดว่าจะสามารถจำแนกเนื้อหาได้ใน 3 กลุ่มสำคัญด้วยคือ หนึ่ง เป็นแนวความคิดหรือทฤษฎี สอง กรณีตัวอย่างจากต่างประเทศ สาม การปรับการวิเคราะห์เข้ากับกรณีปัญหาของสังคมไทย (พึงตระหนักว่าเนื้อหาในแต่ละบทของหนังสือมิใช่มีการแยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งสามส่วนอาจอยู่ในแทบทุกบทเพียงแต่ว่าในบางบทอาจมีจุดเน้นที่แนวความคิด หรือกรณีตัวอย่างจากต่างประเทศ หรืออาจมุ่งวิเคราะห์กรณีของสังคมไทยก็ได้)

ในส่วนแรกซึ่งเป็นส่วนของแนวความคิดทฤษฎี ผู้เขียนได้นำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับความหมายของรัฐธรรมนูญ (บทที่ 1) และอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (บทที่ 2) สำหรับคำอธิบายเกี่ยวกับความหมายของรัฐธรรมนูญได้มีการเชื่อมโยงเข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เรียกว่า ‘การปฏิวัติ’ การอธิบายความหมายในลักษณะเช่นนี้ย่อมแตกต่างไปจากคำอธิบายทางนิติศาสตร์ที่มีอยู่อย่างดาษดื่นในตำรารัฐธรรมนูญทั่วไปที่มักให้คำจำกัดความว่าหมายถึง กฎเกณฑ์ระดับสูงสุดในการปกครอง ขณะที่ในส่วนของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ หรือ Pouvoir Constitutant ก็ได้มีการอธิบายให้เห็นถึงพัฒนาการทางความคิดของแนวคิดดังกล่าว แนวความคิดเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญนี้อาจมีการอธิบายถึงอยู่บ้างในตำราอื่นๆ แต่ใน รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิดฯ ได้ชี้ให้เห็นความหมาย พัฒนาการ ได้เป็นอย่างละเอียดมากกว่างานหลายชิ้นที่มีมาก่อนหน้า

สอง กรณีตัวอย่างจากต่างประเทศ เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ได้อภิปรายถึงปัญหาสำคัญในสองประเด็นคือ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญและการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการสู่ระบอบประชาธิปไตย (บทที่ 3) เนื้อหาในหนังสือจำนวนไม่น้อยจึงได้มีการแสดงให้เห็นถึงกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในหลายสังคม (โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้รวมทั้งอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริงทางรัฐธรรมนูญ

ด้วยมุมมองส่วนตัว เข้าใจว่าเนื้อหาในสองส่วนนี้คงจะไม่ใช่ส่วนที่เป็นปัญหา เนื่องจากสองส่วนนี้จะเป็นการ ‘นำเข้า’ ชุดความรู้และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในต่างประเทศอันเป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธถึงการดำรงอยู่ หากจะมีข้อโต้แย้งเรื่องข้อมูล การตีความ ก็เป็นสิ่งที่สามารถแตกต่างกันไปได้ตามจุดยืนหรืออุดมการณ์ของผู้อ่าน อันนับเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการอ่านงานไม่ว่าจะเป็นงานประเภทใดก็ตาม

ส่วนที่อาจพอเป็นไปได้ที่จะสร้างความตระหนกแก่ผู้อ่านบางคนได้ก็คือ การวิเคราะห์ปัญหาของสังคมไทย ส่วนว่าจะเป็นการกระทบต่อ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ จริงหรือไม่ คงต้องอภิปรายกันต่อไป

 

อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญแบบจารีตนิยม

 

หากใครได้อ่าน รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิดฯ จะพบว่าประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งซึ่งผู้เขียนหนังสือต้องการนำเสนอ ถกเถียงและปรับเปลี่ยน ก็คือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญในสังคมไทย หรือหากกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือชุดความรู้ซึ่งอธิบายถึงหลักการพื้นฐานที่จะให้ความชอบธรรมต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญในแต่ละห้วงเวลา ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้การอภิปรายในประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้ต้องสัมพันธ์เกี่ยวกับข้องกับเหตุการณ์และสถาบันสำคัญในสังคมการเมืองไทย นับตั้งแต่การอภิวัฒน์ 2475, รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475, การฉีกรัฐธรรมนูญโดยคณะรัฐประหาร, การประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายหลังการรัฐประหาร เป็นต้น เนื้อหาในประเด็นเหล่านี้ปรากฏอยู่ในหลายบทของหนังสือเล่มนี้ (ดูรายละเอียด เช่น บทที่ 1 หน้า 22-39, บทที่ 2 หน้า 78-86, บทที่ 3 หน้า 177-195 เป็นต้น)

ประเด็นหัวใจสำคัญสองประเด็นที่หนังสือได้นำเสนอคือ

หนึ่ง ลักษณะการถือกำเนิดขึ้นของระบอบการเมืองอันสืบเนื่องจากการอภิวัฒน์ 2475 อันที่จริงประเด็นปัญหาการให้ความหมายต่อรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นภายหลังการอภิวัฒน์มิใช่เป็นข้อถกเถียงใหม่แต่อย่างใด หากติดตามความเคลื่อนไหวในทางวิชาการก็จะพบว่าก่อนหน้านี้มีการถกเถียงว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลจากการพระราชทาน หรือการตกลงร่วมกันระหว่างประมุขกับประชาชน หรือการปฏิวัติโดยประชาชนกันแน่

แต่เดิมมาการอภิปรายในประเด็นนี้เป็นการถกเถียงระหว่างฝ่ายที่หนึ่งเห็นว่าเป็นข้อตกลงระหว่างประมุขกับราษฎร (เช่น เดือน บุนนาค และไพโรจน์ ชัยนาม, คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ (ภาค 2), 2477, หน้า 19-20) ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าเป็นการพระราชทานของพระมหากษัตริย์ (เช่น บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม 2, 2537, หน้า 234)

แต่สำหรับปิยบุตร ได้มีความเห็นต่างออกไปโดยเสนอว่าผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญคือ คณะราษฎร ดังนี้

“ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ปรากฏกายขึ้น ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญคือ คณะราษฎร (โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งมวล) ได้ใช้อำนาจนั้น ‘รื้อถอนทำลาย’ ระบอบเก่า (ระบอบที่มีมาก่อนหน้านั้นจนถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ช่วงย่ำรุ่ง) จนเกิดสภาวะที่ไม่มีระบบกฎหมายใดหลงเหลืออยู่ ไม่มีระบอบการเมืองใดเหลืออยู่ เป็นสภาวะปลอดระบบกฎหมาย เพื่อรอการสถาปนาระบอบการเมืองระบบกฎหมายใหม่เข้ามาแทนที่” (บทที่ 1 หน้า 33)

สอง การโต้แย้งต่อคำอธิบายของ ‘นักกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบกษัตริย์นิยม’ ซึ่งเป็นคำอธิบายเกี่ยวกับสถาบันกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นภายหลังทศวรรษ 2500 อันทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีลักษณะสำคัญ คือ 1. อยู่เหนือการเมือง 2. มีพระราชอำนาจบางประการตามประเพณี 3. 24 มิถุนายน 2475 เป็นการแย่งชิงอำนาจแล้วถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด และ 4. พระมหากษัตริย์พระราชทานรัฐธรรมนูญให้

ดังนั้น หากพิจารณาตามแนวทางดังกล่าว เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญก็จะกลับคืนไป เช่น ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ให้คำอธิบายว่า

“เมื่อมีการรัฐประหารเลิกรัฐธรรมนูญ ต้องถือว่า อำนาจอธิปไตยที่เคยพระราชทานให้ประชาชนนั้น กลับคืนมายังพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเจ้าของเดิมมาก่อน 24 มิถุนายน 2475” (บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม 2, หน้า 182)

แนวทางคำอธิบายเช่นนี้ได้เป็นผลให้สามารถนำไปสู่ข้อเรียกร้องเรื่องนายกฯ พระราชทาน หรือมาตรา 7 ในห้วงเวลาวิกฤตการณ์ทางการเมือง

ต่อประเด็นดังกล่าว ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ นักรัฐศาสตร์แนวหน้าของสังคมไทย ได้ชี้ให้เห็นปมประเด็นปัญหานี้มาก่อนหน้าในบทความ ‘วาทกรรมถวายพระราชอำนาจคืน’ และ ‘สมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ’ (พิมพ์รวมอยู่ใน เกษียร เตชะพีระ, ทางแพร่งและพงหนาม: ทางผ่านสู่ประชาธิปไตยไทย, 2551) โดยอธิบายว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวสะท้อนถึงอาการ political immaturity ซึ่งแสดงความต้องการหวนกลับไปสู่อุดมการณ์ของระบอบการเมืองที่ดำรงอยู่ก่อน 2475 ขณะที่ปิยบุตรได้อธิบายปมประเด็นนี้ผ่านแนวความคิดเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และเห็นว่าคณะราษฎรเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญที่ทำลายระบอบการเมืองแบบเดิมในลักษณะของการปฏิวัติ จึงนับเป็นการโต้แย้งต่อแนวความคิดของบวรศักดิ์ โดยตรง

การโต้แย้ง การหักล้าง การต่อยอด ความคิดที่ดำรงอยู่มาแต่เดิม นับเป็นเรื่องปกติธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นตลอดมาในแวดวงวิชาการ

 

ฝ่ายซ้ายดัดจริต หรือจงใจอ่านผิดของฝ่ายขวา

 

รัฐธรรมนูญ: ประวัติศาสตร์ข้อความคิดฯ เสนอหลักการสำคัญอะไรบ้าง

หากใครได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ และพอมีความรู้ด้านนิติศาสตร์ 101 และรัฐศาสตร์ 101 ก็คงจะตระหนักได้ว่าเป็นการเสนอให้ทำความเข้าใจและจัดวางสถาบันการเมืองต่างๆ ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญนิยม ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดแบบเสรี/ประชาธิปไตย อันมีความหมายครอบคลุมถึงหลักการสำคัญคือ หนึ่ง ระบอบการเมืองที่วางอยู่บนแนวความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของประชาชน สอง สถาบันการเมืองต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายและถูกตรวจสอบได้ด้วยกลไกทางการเมือง สาม สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่พ้นไปจากความรับผิดชอบทางการเมือง หรือ King can do no wrong

กล่าวให้ถึงที่สุด แนวความคิดในลักษณะดังกล่าวนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบอบเสรีประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่หากจะมีผลกระทบก็จะพุ่งเป้าไปยังระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมหรือระบอบการเมืองที่ปฏิเสธอำนาจสูงสุดของประชาชนมากกว่า

จึงไม่เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่จะได้เห็นบรรดาผู้นำของระบอบอำนาจนิยมและผู้สนับสนุนต่างออกมาประสานเสียงต่อต้านกับแนวความคิดที่หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอ ภายใต้การกล่าวอ้างว่ามันเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save