fbpx
“การมีส่วนร่วมสำคัญกว่าความจริง” อ่านปรากฏการณ์ยุคสมัยแห่งข้อมูลเท็จ

“การมีส่วนร่วมสำคัญกว่าความจริง” อ่านปรากฏการณ์ยุคสมัยแห่งข้อมูลเท็จ

 

ที่ผ่านมาถ้าใครติดตามข่าวต่างประเทศ อาจมีโอกาสเห็นหนึ่งในสามข่าวลือ (ที่เป็นเท็จ) นี้

  1. ประธานาธิบดี Joe Biden วางแผนที่จะให้ชาวอเมริกันทานเนื้อให้น้อยลง 
  2. รัฐ Virginia กำลังจะเอาหลักสูตรการสอนคณิตศาสตร์ขั้นสูงออกและแทนที่ด้วยการเรียนรู้เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเชื้อชาติและผิวสี 
  3. เจ้าหน้าที่รัฐอเมริกาบริเวณตะเข็บชายแดนซื้อหนังสือของรองประธานาธิบดีกมลา เทวี แฮร์ริส (Kamala Devi Harris) เพื่อแจกจ่ายให้เด็กอพยพ

หรืออย่างข่าวปลอมที่มีการแชร์ในบ้านเราอย่างเรื่องการ ‘ฉีดวัคซีนที่เซ็นทรัลลาดพร้าวให้กับทุกคน’ อันนี้ก็ส่งต่อกันไปเยอะมาก หรือข่าว ‘กด ##002# สามารถลดค่าใช้จ่ายโทรศัพท์ได้ทั้งหมด’ เป็นต้น

เราทุกคนมีโอกาสเห็นข่าวแบบนี้ ไม่ว่าจะทางโซเชียลมีเดียหรือจากญาติสนิทมิตรสหายผู้หวังดี บางคนก็อปลิ้งก์แชร์มาในกลุ่มไลน์ครอบครัวเลย (อันนี้หนัก) แล้วก็มีคนเข้าไปผสมโรงแบบนั้นแบบนี้ จนแทบอยากจะกดออกจากกลุ่มเป็นพักๆ 

เรากำลังอยู่ในยุคการระบาดของข้อมูลเท็จ ที่มีทั้งการบิดเบือน นำเสนอไม่โปร่งใส ไปจนถึงการนั่งเทียนกุเรื่องมโนขึ้นมาเลยทีเดียว โดยมีกลุ่มคนที่ถูกจ้าง (แบบไม่เนียน) เพื่อแชร์ข้อมูลเหล่านี้โดยเฉพาะ (เรียกว่า bad actors) แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้ข่าวข้อมูลเหล่านี้ขยายไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางคือการรวมกันของแรงขับแห่งพฤติกรรมทางสังคมและจิตวิทยาที่ทำให้ ‘คนทั่วไป’ (เราทุกคนไม่มีข้อยกเว้น) อาจตกเป็นเหยื่อที่พร้อมจะแชร์และเชื่อข้อมูลปลอมเหล่านี้ตั้งแต่แรก ซึ่งแรงขับนี้ก็กำลังแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ

Brendan Nyhan นักรัฐศาสตร์ที่ Dartmouth College เขียนรายงานไว้ในเว็บไซต์วิชาการสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Proceedings of the National Academy of Sciences) ว่าเรามีจะโอกาสตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมเมื่อ 3 อย่างนี้เกิดขึ้น 

(1) Ingrouping

คำจำกัดความจากนักสังคมศาสตร์อธิบายว่ามันคือความเชื่อที่ว่าตัวตนในสังคมคือบ่อเกิดของอำนาจและความรู้สึกเหนือกว่าคนอื่น ส่วนคนกลุ่มอื่นคือต้นตอของปัญหาและควรถูกตำหนิโทษ นี่คือเรื่องแรกและน่าจะสำคัญที่สุด แม้ว่าเราจะพยายามเชื่อว่าตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล เป็นผู้ทรงคุณธรรม และเชื่อถือในความจริงเป็นที่ตั้งเหนือสิ่งอื่นใด (ใช่ไหมล่ะครับ?) แต่ความจริงแล้วเราเป็นเพียงสัตว์สังคมที่ถูกสร้างขึ้นมาให้มีสัญชาติญาณของความอยู่รอด โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งความแตกแยกหรือความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เรามักมองหาการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม หรือการได้รับการยอมรับว่ามีส่วนร่วมกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เราพร้อมรับข้อมูลต่างๆ (ไม่ว่าจริงหรือไม่ก็ตาม) ที่ทำให้เรามองเห็นโลกแบ่งเป็นสองขั้วคือ ‘เราผู้สูงศักดิ์’ กับ ‘เขาผู้เลวทราม’

ความต้องการนี้กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมที่ไม่มีความมั่นคง (อย่างตอนนี้)​ ทำให้ข่าวปลอมแพร่กระจายในกลุ่มคนที่รู้สึกหวั่นไหวจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หรือในกลุ่มคนส่วนน้อยที่รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ไร้อำนาจต่อรอง และถูกกดขี่อยู่ตลอดเวลา (อย่างที่ New York Times เขียนถึงกลุ่มคนผิวดำหรือลาตินอเมริกาที่เชื่อข่าวปลอมเรื่องวัคซีนในอเมริกา)

การมองภาพใหญ่ว่าทุกอย่างเป็นเรื่องความแตกแยกและเป็นแผนการของศัตรูผู้ประสงค์ร้ายทำให้เรารู้สึกมั่นใจ ซึ่งนั่นก็เป็นต้นตอของยุคสมัยแห่งข่าวปลอมที่สร้างความแตกแยกในสังคม ก่อให้เกิดความรู้สึกโกรธและเกลียดอีกฝั่งมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ยิ่งง่ายต่อการตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมที่เป็นเหมือนน้ำมันราดบนกองไฟ ยิ่งเสพมากเท่าไหร่ยิ่งตอกย้ำความเชื่อในตัวตนของสังคมที่ตัวเองเลือกจะอยู่ สมองเราตอนนี้เข้าสู่โหมด ‘Identity-based conflict’ หรือการแบ่งแยก ‘เรา’ กับ ‘เขา’ อย่างชัดเจน จนยิ่งทำให้เราโหยหาข้อมูลมายืนยันความเชื่อของตัวเองว่า ‘เราคิดถูก เขาแหละผิด’ มากยิ่งขึ้น โดยไม่สนใจเลยว่าความจริงหรือความเที่ยงตรงของข้อมูลอยู่ตรงไหน

Nyhan กล่าวต่อไว้ในอีเมลกับสำนักข่าว New York Times ว่า “ยากที่จะระบุความเกี่ยวเนื่องที่ชัดเจนระหว่างสังคมที่แตกแยกกับข่าวปลอมที่แพร่กระจายอยู่ทั้งหมด แต่มีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนบ่งบอกว่าใครก็ตามที่มีมุมมองแบ่งขั้วนั้นจะตกเป็นเหยื่อของความเชื่อผิดๆ ได้ไม่ยากเลย”

(2) High-Profile Political Figures

เมื่อมีผู้นำทางความคิดที่สนับสนุนหรือปล่อยให้คนที่ติดตามนั้นแพร่กระจายข่าวปลอมและเสพสื่อผิดๆ เหมือนเป็นการป้อนขนมให้ผู้ป่วยเบาหวานแล้วนั้น ก็จะมีกลุ่มคนที่พร้อมจะรับข้อมูลผิดๆ จากที่กล่าวไปในข้อแรก พวกเขาทำเพื่อยืนยันความเชื่อและการมีอยู่ของตัวเองในกลุ่มที่ยอมรับเขา ซึ่งความแตกต่างทางการเมืองหรือแนวคิดแบบนี้จะไปช่วยหนุนให้ผู้นำมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น เหมือนเป็นการประโคมข่าวให้ฝ่ายตัวเองดูดี (อย่างน้อยก็ในช่วงสั้นๆ) และปลุกใจคนที่เชื่อในแนวคิดเดียวกัน

(3) Social Media

เมื่อมีสื่อก็ต้องมีพื้นที่ให้กระจายเสียง และขาดไม่ได้เลยกับโซเชียลมีเดียที่เป็นพื้นที่เปิดให้ใครก็ได้สามารถแชร์หรือสร้างข่าวปลอมขึ้นมา พร้อมกลุ่มคนที่พร้อมกระจายข่าวจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

William Brady นักจิตวิทยาสังคมที่มหาวิทยาลัยเยลบอกว่า “สื่อเปลี่ยนไปแล้ว สภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนไป และจะก่อให้เกิดผลกระทบครั้งใหญ่ต่อพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อเราโพสต์อะไรบางอย่าง เรารู้เลยว่าจะได้ผลตอบรับแบบไหนจากจำนวนไลก์หรือแชร์”

เพราะฉะนั้นเมื่อข่าวปลอมดูน่าดึงดูดต่อแรงกระตุ้นในสังคมมากกว่าความจริง มันก็จะได้รับความสนใจมากกว่าบนโลกออนไลน์ คนที่แชร์ก็จะรู้สึกว่าตัวเองชนะ ได้รับรางวัลบางอย่าง รู้สึกฮึกเหิมแล้วอยากแชร์ข้อมูลเหล่านี้อีกเยอะๆ นี่คือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป

ในปี 2016 มีการศึกษาหนึ่งโดย Jieun Shin และ Kjerstin Thorson นักวิชาการเกี่ยวกับมีเดีย ที่วิเคราะห์ข้อมูลจากการทวีต (tweet) ของกว่า 300 ล้านทวีตในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกาปี 2012 โดยพบว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้ใช้งานถูกโต้แย้งมุมมองของตัวเองว่าผิดด้วย ‘ข่าวจริง’ หรือ ‘ข้อมูลที่ถูกตรวจสอบว่าจริง’ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความรู้สึกโกรธที่ตัวผู้นำพูดปดหรือตัวข้อมูลเท็จที่ตนเองแชร์ แต่จะเป็นการโจมตีคนที่มาโต้แย้งด้วยความจริงแบบทันที

ในการศึกษาอีกงานหนึ่งที่เขียนลงในเว็บไซต์ Nature โดยทีมนักจิตวิทยา มีการติดตามปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานหลายพันคนกับข่าวปลอม ฝั่งที่สนับสนุนรีพับลิกันได้รับข่าวปลอมเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่ใส่เสื้อพร้อมระเบิดกำลังจะอพยพเข้ามาในอเมริกา (“Over 500 ‘Migrant Caravaners’ Arrested With Suicide Vests”) โดยส่วนใหญ่จะบอกว่านี่คือข่าวปลอม มีเพียง 16% เท่านั้นที่บอกว่าเป็นเรื่องจริง แต่เมื่อการทดลองสอบถามว่าจะแชร์ข่าวนี้ต่อไหม สิ่งที่น่าตกใจก็คือกว่า 51% บอกว่าจะแชร์ต่อ

“คนส่วนใหญ่ไม่อยากแชร์ข่าวปลอมหรอก แต่บริบทของโซเชียลมีเดียโฟกัสความสนใจของพวกเขาไปที่เรื่องอื่นไม่ใช่ข้อเท็จจริงหรือความถูกต้อง”

ในสังคมที่ไม่มั่นคงและมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เหมือนอย่างในอเมริกา อินเดีย บางส่วนของยุโรป หรือแม้แต่ในบ้านเราเอง การพยายามทำให้ความเชื่อของตัวเองโดดเด่นและถูกต้อง โดยทำให้อีกฝั่งหนึ่งดูด้อยค่าและเลวร้ายนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คนไม่สนใจหรอกว่าความจริงหรือความถูกต้องของข้อมูลอยู่ตรงไหน ตรงนี้เองที่เป็นโอกาสให้กลุ่มคนที่พร้อมหาผลประโยชน์จากรอยแตกร้าวยิ่งเผยแพร่ข้อมูลที่ตัวเองต้องการได้ง่ายยิ่งขึ้น อาจจะเป็นการปลุกระดมเพื่อการประท้วงในประเด็นบางอย่าง หรือมือที่มองไม่เห็นอย่างปฏิบัติการด้านข่าวสาร (Information Operation-IO) ที่ทำสงครามจิตวิทยากับผู้เห็นต่างทางสื่อสังคมออนไลน์ สร้างความแตกแยกให้ประเทศ ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้หยั่งลึกลงไปมากกว่านั้น

Zeynep Tufekci นักสังคมศาสตร์ผู้เขียนบทความ How social media took us from Tahrir Square to Donald Trump ไว้บนเว็บไซต์ MIT Technology Review เขียนอธิบายถึงต้นตอของการแตกแยกตรงนี้ว่า

“ปัญหาก็คือเมื่อเราเห็นมุมมองที่แตกต่างไปจากเราในยุคของโซเชียลมีเดียแบบนี้ มันต่างจากการอ่านหนังสือพิมพ์ที่เราอยู่ตัวคนเดียว บริบทของโซเชียลมีเดียเหมือนการนั่งปะทะกับฝั่งตรงข้ามในสเตเดียมที่มีคนฝั่งเราอยู่ข้างหลังเต็มอัฒจันทร์ บนโลกออนไลน์เราเชื่อมต่อกับกลุ่มสังคมของเรา โดยเรามองหาการยอมรับจากคนที่มีความคิดคล้ายกันอยู่ตลอด เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่พร้อมเปล่งเสียงตะโกนด่าฝั่งตรงข้ามอย่างไม่ลังเล”

และนั่นก็คือเหตุผลว่าทำไม ‘การมีส่วนร่วมถึงสำคัญกว่าความจริง’ และเรากำลังอยู่ในสังคมแบบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

=========

อ้างอิง

How Misinformation and Polarization Affect American Democracy

‘Belonging Is Stronger Than Facts’: The Age of Misinformation | by The New York Times | The New York Times | May, 2021 | Medium

Social media fuels wave of coronavirus misinformation as users focus on popularity, not accuracy | PreventionWeb.net

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save