fbpx
อำนาจข้อมูลสู้อิทธิพลการเมือง: ส่องงบประมาณแบบ อบต. ราชาเทวะ

อำนาจข้อมูลสู้อิทธิพลการเมือง: ส่องงบประมาณแบบ อบต. ราชาเทวะ

ดุษฎี บุญฤกษ์ ภาพถ่ายประกอบ

เวลาเห็นคำว่า ‘องค์การบริหารส่วนตำบล’ หรือ อบต. ขึ้นมาบนหน้าข่าว ส่วนใหญ่มักจะมาพร้อมเรื่องราวแย่ๆ อย่างข่าวการทุจริตโกงกิน อิทธิพล ไปจนถึงเหตุฆาตกรรมจากความขัดแย้งในพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงปีที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่คงได้รู้จัก อบต. ราชาเทวะ ในจังหวัดสมุทรปราการมากเป็นพิเศษในฐานะผู้ซื้อเสาไฟกินรีติดทั่วเมือง ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ของ อบต. ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2556 ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน โดยใช้เงินติดเสาไฟไปแล้วกว่า 600 ล้านบาท[1]

นอกจากภาพการติดเสาไฟฟ้าในทุ่งร้างที่เป็นข่าวแล้ว ยังมีการติดเสาไฟฟ้าไปตามชุมชนเยอะจนน่าตกใจอีกมาก ตามรูปที่ผมนำมาแสดงไว้[2]

ภายใน อบต. เองมีการแบ่งออกเป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายตรวจสอบ โดยนายก อบต. ทำหน้าที่บริหารงานและงบประมาณ ในขณะที่สภา อบต. ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงาน รวมถึงอนุมัติงบประมาณของ อบต.

ที่สำคัญ เนื่องจาก อบต. เป็นหน่วยงานท้องถิ่นในระดับเล็กสุด จึงต้องเจอกับราชการส่วนภูมิภาค (แขนขาของรัฐส่วนกลาง) เข้ามา ‘ตรวจสอบ’ มากเป็นพิเศษ โดยในพื้นที่มีตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด อีกทั้งยังมีองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบหลายราย อาทิ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ทั้งนี้ อบต. ราชาเทวะ ได้รับคะแนนประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสจาก ป.ป.ช. 77.29% หรือเป็นเกรด C ในปี 2564 เพิ่มขึ้นจาก 53.05% ในปี 2563 ซึ่งอาจค้านสายตาประชาชนอยู่ไม่น้อย[3]

คำถามก็คือ อบต. ราชาเทวะรอดมาได้อย่างไรตั้ง 8 ปี?

อันที่จริง โครงการเสาไฟกินรีเคยถูกทักท้วงจาก สตง. มาแล้วในอดีต ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งข้อกล่าวหาในเวลานั้นก็คือ “ไม่ได้ดำเนินการจัดส่งรูปแบบรายละเอียดของงานให้แขวงการทางสมุทรปราการพิจารณาก่อนดำเนินการ” กล่าวคือ เป็นการไปก่อสร้างในเขตทางหลวงโดยยังไม่ได้รับหนังสืออนุญาต แต่ในเวลานั้นไม่ได้ดูว่าเป็นงบประมาณอย่างคุ้มค่าหรือส่อทุจริตหรือไม่ แต่สุดท้าย อบต. ก็ยังเดินหน้าโครงการต่อมาได้อยู่ดี

การมีโครงสร้างตรวจสอบซ้ำซ้อนแบบนี้ก็ใช่ว่าจะดี เพราะทำให้ความเป็นเจ้าของในงานไม่ชัดเจน และเพิ่มความซับซ้อนในโครงสร้างอำนาจ ที่ผ่านมาได้หน่วยงานระดับท้องถิ่นหลายรายพูดถึงการถูกราชการส่วนท้องถิ่นเข้ามาล้วงลูก โดยอาศัยความสัมพันธ์ซับซ้อนที่งบประมาณท้องถิ่นจะต้องได้รับความยินยอมจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ว่าราชการจังหวัด และอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นข้อสุดท้าย “ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมายโดยจัดสรรงบประมาณหรือบุคลากร ให้ตามความจำเป็นและสมควร” ก็ได้เปิดช่องให้สามารถดึงทรัพยากรเพื่อใช้ในงานอื่น นอกจากนี้ ที่มาของอำนาจราชการส่วนท้องถิ่นยังยึดโยงกับประชาชนน้อย เช่นผู้ว่าฯ ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยแล้วแต่การโยกย้าย ในขณะที่กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ถึงจะผ่านการเลือกตั้งมาแต่ก็ไม่มีวาระ เมื่อเป็นแล้วก็อาจหมดแรงจูงใจในการทำเพื่อประชาชนได้ง่ายๆ

ปัญหาใหญ่ขององค์กรอิสระเพื่อการตรวจสอบคือ ‘ภารกิจที่ท่วมหัว’ สตง. ระดับจังหวัด 1 แห่ง ต้องตรวจสอบการใช้จ่ายและบัญชีขององค์กรจำนวนมาก ทั้งราชการส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น อย่างสมุทรปราการเองก็มีหน่วยงานท้องถิ่น (อบจ. เทศบาล และอบต.) รวมกัน 49 แห่ง มีงบประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทเข้าไปแล้ว การหวังให้หน่วยงานมานั่งตรวจสอบเงินทุกเม็ดจึงแทบเป็นไปไม่ได้

คงนับเป็นโชคดีที่มีคนแชร์รูปผลงานการติดเสาไฟกินรีแล้วเกิดไวรัลขึ้น เพราะรูปภาพรูปเดียวนั้นทำให้โครงการเสาไฟกินรีถูกระงับลง นอกจากนี้ สตง. สมุทรปราการยังตรวจสอบสัญญาจัดซื้อจัดจ้างอย่างแข็งขันจนมีผลสรุปว่า “น่าเชื่อว่าจะมีการทุจริต” ซึ่งก็จะต้องส่งเรื่องเป็นขั้นๆ ไปสู่ สตง. ระดับภาค และสตง. ใหญ่ เมื่อเสร็จจากตรงนั้นแล้วจึงจะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป[4]

ในเวลาใกล้เคียงกัน ป.ป.ช. ก็ได้มีการเคลื่อนไหวสำคัญเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่มีมติชี้มูลความผิดนายก อบต. กับพวก ไม่ใช่เรื่องเสาไฟกินรี แต่เป็นการทุจริตซื้อรถดับเพลิงกู้ภัย ซึ่งเป็นเรื่องตั้งแต่ ม.ค. 2555 หรือผ่านมาแล้ว 9 ปีเศษ[5]

แน่นอน การสร้างองค์กรอิสระขึ้นมาตรวจสอบให้เพียงพอเป็นตัวเลือกหนึ่ง แต่ต้นทุนของการตรวจสอบของประเทศจะแพงมาก เพราะใช้ทรัพยากรจำนวนมาก และเป็นการเพิ่มต้นทุนทางกฎหมาย ซึ่งทำให้โครงการที่ดีมีประโยชน์ (ซึ่งมีอยู่ไม่น้อย) ดำเนินการได้ลำบากขึ้นเช่นกัน

เรายังต้องการระบบความรับผิดรับชอบ (accountability) ที่มีประชาชนเป็นนาย เพราะอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้นั้นมีการคอร์รัปชันอย่างแน่นอน

จึงกลับมาตอกย้ำว่า การออกแบบเชิงสถาบันเพื่อการตรวจสอบที่ดีที่สุดยังคงเป็นระบบความรับผิดรับชอบสายสั้น โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบและตัดสินโดยตรง ซึ่งมีเงื่อนไขจำเป็น คือ 1) บังคับให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลออกมาแบบที่เข้าใจได้ง่าย เหมือนที่เราสามารถมองเห็นเสาไฟกินรี และ 2) มีผู้เล่นข่าวท้องถิ่นอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นสื่อท้องถิ่น สื่อระดับชาติ หรือองค์กรเฝ้าบ้านต่าง ๆ

หากพูดด้วยคำสั้นๆ ก็คือ คู่ผสมระหว่าง Freedom of Speech/Media กับ Open Data เป็นแสงสว่างเดียว ที่จะไล่ธุรกรรมใต้โต๊ะได้

เพื่อให้เห็นภาพยิ่งขึ้น วันนี้ผมขออาสาพิจารณางบประมาณ อบต. ราชาเทวะ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เรายังสามารถสร้างสังคมที่โปร่งใสได้อีกมากจากแค่การนั่งอ่านงบประมาณหน่วยงานรัฐ

งบสร้างเสาไฟฟ้ากินรีใน พ.ศ. 2564

แม้ว่า อบต. ราชาเทวะจะมีงบประมาณประจำปีมากถึง 480 ล้านบาท แต่เสาไฟกินรีไม่ได้เป็นหนึ่งในนั้น เพราะนายก อบต. เลือกใช้เบิกเงินสะสมที่มีอยู่ราว 800 ล้านบาทออกมาสร้างเสาไฟ ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติโดยสภา อบต. ในการใช้งานแต่ละครั้ง โดยปีงบประมาณ 2564 อบต. ราชาเทวะได้ออกประกาศจ่ายขาดเงินสะสมทั้งสิ้น 3 ครั้งด้วยกัน และมีงบเพื่อสร้างเสาไฟกินรีสิริรวม 379.9 ล้านบาท (เกือบเท่ากับงบประมาณที่ใช้ทำเรื่องอื่นทั้งปี)

ถ้าหากปีนี้ไม่มีเรื่อง อบต. ราชาเทวะจะมีเสาไฟกินรีเพิ่มขึ้นถึง 3,999 ต้น หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 50% ในเวลาปีเดียว ดินแดนสนามบินสุวรรณภูมิก็คงกลายเป็นป่าหิมพานต์แน่

ตารางการจ่ายเงินสะสมเพื่อสร้างเสาไฟกินรี

ครั้งที่ประกาศงบประมาณจำนวนเสาไฟ
1138,320,0001,456
2173,185,0001,823
368,400,000720
รวม379,905,0003,999
ที่มา: รวบรวมจากประกาศจ่ายขาดเงินสะสม สืบค้นได้ที่ http://rachathewa.go.th/document/budget_law

วิธีการเขียนเหตุผลขอเบิกเงินก็ช่างแพรวพราว ผมขอยก ‘เหตุผล’ ในการจ่ายขาดเงินสะสมครั้งที่ 3 มาให้ทุกท่านดู ดังนี้

ตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะได้ดำเนินการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ชนิดกิ่งเดี่ยว ติดตั้งตามซอยต่าง ๆ ภายในเขตตำบลราชาเทวะ แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ประกอบกับได้รับแจ้งจากประชาชนว่ายังมีความต้องการเพราะได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากในช่วงเวลากลางคืนไฟฟ้าส่องสว่างยังไม่ครอบคลุม ทำให้การเดินทางสัญจรเป็นไปด้วยความลำบาก บางครั้งเกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้นเพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในเขตตำบลราชาเทวะ จึงมีความจำเป็นต้องจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรีพร้อมโคมไฟระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ชนิดกิ่งเดี่ยว เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ แต่เนื่องจากงบประมาณรายรับประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ไม่เพียงพอในการดำเนินการจึงขออนุมัติจ่ายขาดเงินสะสม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ครั้งที่ 3) เพื่อให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ พิจารณาอนุมัติต่อไป”

เมืองที่มีจุดมืดก็คงไม่ปลอดภัย การอยากเพิ่มแสงสว่างก็คงไม่มีอะไรผิด แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องมีกินรีแถมมาด้วย หรือทำไมต้องเป็นเสาไฟโซล่าเซลล์ เพราะหากติดตั้งเสาไฟฟ้ากิ่งเดี่ยวความสูง 6 เมตรแบบธรรมดา น่าจะลดต้นทุนลงได้อย่างน้อยๆ 50% ซึ่งไม่ทราบว่าการประหยัดไฟที่จะเกิดขึ้นหรือกินรีมีมูลค่าได้มากขนาดนั้นหรือไม่

ถ้าหากใช้งบน้อยสำหรับเสาไฟแต่ละต้นน้อยลง 50% ไฟอาจจะสว่างทั่วราชาเทวะไปตั้งแต่สิบปีก่อนแล้วก็ได้ …

งบประหลาดที่ยังไม่โดนตรวจสอบ

เรื่องของเสาไฟฟ้ากินรีนั้นโชคดีมีการตีแผ่ไปแล้ว แต่ราชาเทวะยังมีการจัดงบประมาณแบบประหลาดๆ อีกหลายโครงการ เช่น[6]

  • งบประมาณประจำปี 2564 มีโครงการใหญ่โครงการหนึ่งในชื่อ ‘โครงการจัดสร้างแหล่งท่องเที่ยว Land Mark ของโลก: สุวรรณภูมิแดนสวรรค์‘ ด้วยมูลค่าก่อสร้างมากถึง 200 ล้านบาท เพียงโครงการเดียวนี้มีมูลค่าคิดเป็น 41% ของงบประมาณทั้งหมด และใช้งบประมาณลงทุนเกือบทั้งหมดของ อบต. เอกสารงบประมาณรายงานว่าเป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวระยะทางไม่น้อยกว่า 2,800 เมตร แบ่งออกเป็น 9 ชั้นภูมิ กล่าวคือ เขาพระสุเมรุ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราช ดาวดึงษาภูมิ ยามาภูมิ ดุสิตาภูมิ นิมมานรติภูมิ ปรนิมมิตวสวัตรดภูมิ สวรรค์ชั้นพรหม 16 ชั้น และสวรรค์ชั้นอรูปพรหม 4 ชั้น – โครงการเช่นนี้ได้กลายเป็นเรื่องธุรกิจ ซึ่งก็ประเมินยากมากว่าเหมาะสมหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่ แล้วงบประมาณที่ใช้สูงเกินไปหรือเปล่า
  • ในงบประมาณปี 2565 มีการตั้งค่าจัดซื้อถังขยะประจำหมู่บ้านและที่สาธารณะขนาดไม่น้อยกว่า 240 ลิตรพร้อมล้อยาง จำนวน 2,000 ใบ คิดเป็นเงิน 5,000,000 บาท หรือตกใบละ 2,500 บาท แต่หากท่านลองเปิดเว็บขายของออนไลน์ ก็จะพบว่าถังขยะคุณสมบัติเดียวกันนี้มีราคาขายปลีกอยู่ราว 1,300-1,500 บาท สามารถลดงบลงได้ 40-50% และน่าจะลดได้มากกว่านี้เพราะซื้อในจำนวนมาก
  • ในปี 2565 มีการตั้งงบเพื่อซื้อ Printer ทีเดียวถึง 13 เครื่อง เป็นเงิน 69,100 บาท ต่อเนื่องมาจากปี 2564 ที่มีการตั้งงบเพื่อซื้อ Printer ไปแล้ว 17 เครื่อง วงเงิน 171,900 บาท ก็ไม่รู้ว่า Printer ขาดแคลนหรือเสียง่ายอะไรขนาดนั้น และนี่เป็นค่าเครื่องเท่านั้น ยังไม่รวมค่าหมึกพิมพ์ซึ่งซ่อนอยู่ในงบวัสดุคอมพิวเตอร์จำนวน 2.3 ล้านบาท
  • ต่อเนื่องกันที่เครื่องถ่ายเอกสารขาว-ดำและสี ระบบดิจิทัลของราชาเทวะ มีการจัดซื้อเครื่องหนึ่ง (อัตรา 30 แผ่นต่อนาที) ในปี 2564 ด้วยงบประมาณ 250,000 บาท และตั้งงบจะซื้ออีก 1 เครื่อง (อัตรา 50 แผ่นต่อนาที) ในปี 2565 ราคา 400,000 บาท แม้ว่าราคาเครื่องถ่ายเอกสารตามคุณสมบัติที่ระบุจะเป็นไปตามราคากลางของหน่วยงานอื่น แต่ผู้เขียนเป็นคนนอก คงยากจะตอบได้ว่า อบต. จำเป็นต้องใช้เครื่องคุณสมบัติสูงขนาดนี้หรือไม่
  • นอกจากนี้ ยังมีค่าจ้างเอกชนในการออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างภายใน อบต. เดิมตั้งไว้ 21 ล้านบาทปี 2564 และได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 42 ล้านบาทในปี 2565
  • ปิดท้ายด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมซึ่งมีมูลค่าสูงมาก ทั้งการอบรมพนักงาน เด็กเยาวชน พ่อค้าแม่ขาย ไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งโครงการเหล่านี้มักจะมีประสิทธิภาพไม่ดีนัก แต่มักจะเป็นงบกระชับความสัมพันธ์เครือข่ายการเมือง-ราชการท้องถิ่น-ประธานชุมชน โดยในปี 2565 มีงบที่เกี่ยวข้อง 11.7 ล้านบาท[7]

ผมเชื่อว่าที่ผ่านมาประชาชนถูกปิดหูปิดตามามาก จนเมื่อคนไม่กล้ามีปากมีเสียง ก็ยิ่งทำให้การเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องสกปรกยิ่งขึ้น และยิ่งทำให้คนที่ดีมีความตั้งใจเพื่อประชาชนถูกกีดกันออกจากการเมืองไปจำนวนมาก

การสร้างวัฒนธรรมการพูดคุย ตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาจะเปลี่ยนจากวงจรอุบาทว์ไปสู่วงจรรุ่งเรืองได้

สุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนทุกคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในเขต อบต. ไปใช้สิทธิทางการเมืองของท่านกันในวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย. นี้ ซึ่งจะมีการเลือกตั้ง อบต. 5,300 แห่งพร้อมกันทั่วประเทศ โดยเป็นการเลือกตั้งอบต. ครั้งแรกหลังจากที่โดน คสช. สั่งแช่แข็ง จึงเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 7-10 ปีของแต่ละ อบต.[8]


[1] https://www.isranews.org/article/isranews-news/102009-investigative00-2-51.html ทั้งนี้ โครงการของปี พ.ศ. 2564 ได้ถูกระงับไปจากการถูกร้องเรียน

[2] ขอบคุณรูปพื้นที่จริงจากคุณดุษฎี บุญฤกษ์

[3] ส่วนตัวแล้วต้องขอชมเชย อบต. ราชาเทวะ ที่ยังมีการเปิดเผยข้อมูลโดยละเอียด ทำให้ประชาชนคนธรรมดาอย่างผมสามารถตรวจสอบการใช้เงินได้โดยละเอียด (แม้จะไม่ง่ายดายนัก) ซึ่งถือว่ายังดีกว่าหลายกรณีที่เห็นจากรัฐส่วนกลางที่มีปัญหาเรื่องใดก็พร้อมจะปิดข้อมูลหนีทันที

[4] ตามข่าวของสำนักอิศราข้างต้น

[5] https://tna.mcot.net/region-780569

[6] ขอขอบคุณคุณพิมพ์ลภัส บุญกล่อม ที่ช่วยทำสรุปข้อมูลมาให้ ผู้เขียนยังไม่สรุปว่างบดังกล่าวผิดหรือมีการทุจริต เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตถึงความคุ้มค่าของงบประมาณ

[7] โครงการที่รวบรวมนี้ ไม่รวมการฝึกอบรมเรื่องอัคคีภัย และสาธารณภัย และการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษา

[8] หากใครอยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อบต. ผมขอแนะนำข้อมูลของ The Active (https://theactive.net/data/if-local-politics-is-good-about-subdistrict-administrative-organization/) และคณะก้าวหน้า (https://progressivemovement.in.th/local-election-28-nov-2021/) ที่ทำออกมาได้ชัดเจนเข้าใจง่าย

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save