fbpx

เมื่อคนเป่านกหวีดไม่ขอรับผิดชอบกับระบอบประยุทธ์

ผู้คนจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมการเป่านกหวีดในห้วงเวลาก่อนการยึดอำนาจเมื่อ พ.ศ. 2557 ได้ปฏิเสธต่อความรับผิดชอบในความเหลวแหลกที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำขึ้น เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่ได้มีการกล่าวอ้างก็คือ แม้จะได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งต่อการล้มรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็ให้เหตุผลว่าพวกเขาก็ไม่ได้เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นผู้นำของประเทศ

เมื่อไม่ได้เป็นคนเลือก พวกเขาจึงไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อสภาวะวิกฤตอันเป็นผลมาจากการบริหารงานภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ 

เหตุผลดังกล่าวนี้จะสามารถรับฟังได้มากน้อยเพียงใด

ในเบื้องต้น การกล่าวถึงความรับผิดชอบสำหรับบุคคลที่เคยเข้าร่วมการเป่านกหวีดอาจชวนทำให้เข้าใจไปว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนั้นเป็นสิ่งที่มีปัญหากับระบอบประชาธิปไตยมานับตั้งแต่จุดเริ่มต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่การคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยและนำมาสู่การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ลาออก สำหรับผู้เขียนแล้วการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมหรือกฎหมายอื่นใดก็ตามย่อมเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถจะกระทำได้ รวมไปถึงการเรียกร้องให้ผู้นำต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการผลักดันต่อร่างกฎหมายดังกล่าว

แต่ประเด็นที่นำมาซึ่งปัญหาเป็นอย่างมากก็คือการเคลื่อนไหวภายหลังจากนั้นที่นำโดย กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ฯ) ไม่ว่าจะเป็นการประกาศ Shut Down Bangkok, การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง, การล้มการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557, กระบวนการเคลื่อนไหวในห้วงเวลานี้ได้เคลื่อนไปสู่การใช้ความรุนแรงที่แผ่กระจายไปอย่างกว้างขวาง มีการทำร้ายบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนี้

ความมุ่งหมายของการกระทำในลักษณะดังกล่าวนี้ไม่อาจมองให้เป็นอื่นไปได้นอกจากเป็นความพยายามที่ต้องการทำให้ระบบการเมืองที่ดำรงอยู่ต้องเผชิญกับอุปสรรคอย่างรุนแรง กระทั่งตัวระบบการเมืองที่ดำรงอยู่ไม่อาจดำเนินต่อไปได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งการดำเนินการเช่นนี้ก็คือการออกบัตรเชิญให้กับคณะรัฐประหารซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาร่วมในกิจกรรมนี้ ยิ่งในภายหลังที่มีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นก็แสดงให้เห็นว่าการยึดอำนาจนี้ได้มีการวางแผนมาไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี

รัฐประหารจึงเป็นเป้าหมายของขบวนการนกหวีดอย่างไม่อาจปฏิเสธ นึกถึงปาร์ตี้ที่บรรดาแกนนำแต่ละคนใส่เสื้อลายพรางมาร่วมงานเลี้ยงภายหลังการยึดอำนาจก็บ่งบอกความปรารถนานี้ได้เป็นอย่างดี แม้ผู้เป่าหวีดบางคนอาจยืนยันว่าเพียงแค่ต้องการขับไล่รัฐบาลที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ โดยไม่ได้ต้องการให้มีการรัฐประหารเกิดขึ้น

คำถามสำคัญก็คือว่าแล้วปลายทางของการเคลื่อนไหวที่คิดไว้คืออะไร คิดว่าจะมีเทวดาเหาะมายุติความขัดแย้งแล้วประทานประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มาให้ได้จริงๆ หรือ ไม่น่าเชื่อว่าขบวนการเคลื่อนไหวอันใหญ่โตมโหฬารจะมีมันสมองคิดได้แค่นี้

แน่นอนว่าการปูทางให้เกิดการรัฐประหารอาจไม่สามารถชี้ชัดว่าใครจะมาเป็นผู้นำในภายหลัง ดังนั้น จึงย่อมเป็นการถูกต้องที่บรรดาผู้นำหรือผู้เข้าร่วมการเป่านกหวีดจะบอกว่าเขาไม่ได้เป็นคนเลือกให้ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นผู้นำ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเข้าร่วมกับขบวนการที่มุ่งล้มล้างระบอบประชาธิปไตยก็คือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คณะรัฐประหารอันมี พล.อ.ประยุทธ์ ได้ปรากฏตัวขึ้นมาในการเมือง ก่อนที่จะนำความหายนะอย่างไพศาลมาสู่สังคมไทยดังที่ตำตากันอยู่ในปัจจุบัน

พูดให้ชัดเจนขึ้นก็คือ ถ้าไม่มีขบวนการ กปปส. ก็จะไม่เกิดการรัฐประหารใน พ.ศ. 2557 หากไม่เกิดรัฐประหารขึ้น คนอย่างประยุทธ์ ก็จะไม่สามารถขึ้นมามีบทบาทได้

อันนี้แหละเป็นสิ่งที่บรรดาผู้เข้าร่วมการเป่านกหวีดกับ กปปส. เพื่อล้มระบอบประชาธิปไตยต้องรับผิดชอบ จะเป็นคนชื่อประยุทธ์หรือไม่ก็ไม่สำคัญ แต่บังเอิญว่าเงื่อนปัจจัยทางประวัติศาสตร์วางให้ พล.อ.ประยุทธ์ ก้าวเข้ามา การแถไถไปเพียงแค่ว่าไม่ได้เลือกเขามาเป็นผู้นำไม่ใช่คำอธิบายที่จะสามารถรับฟังได้แต่อย่างใด

หรือมีการกล่าวอ้างว่าแม้คนเป่านกหวีดอาจเกี่ยวข้องกับการขึ้นสู่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ควรจำกัดไว้เฉพาะภายหลังจากการรัฐประหาร แต่สำหรับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังจากการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2562 เป็นอีกขั้นตอนที่ควรแยกต่างหากจากไป เพราะบัดนี้เป็นสถานการณ์การเมืองที่ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้มีการทำประชามติรวมถึงก็เป็นผลจากการเลือกตั้งของประชาชนอีกด้วย กรณีนี้ก็ไม่ควรเป็นความรับผิดชอบของคนเป่านกหวีดเช่นกัน

แม้อาจฟังดูมีเหตุผลอยู่บ้าง แต่ต้องไม่ลืมว่าการขึ้นสู่อำนาจเป็นผลเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับการออกแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ให้มารองรับระบบการเลือกตั้ง องค์กรอิสระ วุฒิสภา ล้วนเป็นกลไกที่ช่วยหนุนให้รัฐบาลสามารถดำรงอยู่ในตำแหน่งได้อยู่อย่างมั่นคงแม้จะสิ้นไร้ความสามารถในการบริหารงานเพียงใดก็ตาม ยากที่จะปฏิเสธว่ารัฐธรรมนูญไม่มีความเกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหาร

แม้จะการมีการทำประชามติเกิดขึ้น แต่ก็เห็นกันมิใช่หรือว่ากระบวนการในการจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเกิดขึ้นอย่างฉ้อฉลมากขนาดไหน ความพยายามในการจัดตั้งผู้สนับสนุนผ่านกลไกอำนาจรัฐ พร้อมไปกับการคุกคามผู้ที่แสดงความเห็นคัดค้านด้วยกลไกทางกฎหมาย ปิดโอกาสในการสื่อสารอย่างเสมอภาคของฝ่ายผู้ที่เห็นต่างออกไปอย่างรุนแรง

รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ภายใต้รัฐธรรมนูญจึงเป็นความสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจโดยตรง การเป่านกหวีดเป็นส่วนสำคัญต่อปรากฏการณ์นี้

ในห้วงเวลาปัจจุบัน ผู้เคยที่เคยร่วมขบวนการเป่านกหวีดจำนวนหนึ่งได้ตระหนักถึงความผิดพลาดที่เคยกระทำลงไปและออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะ แม้ว่าการขอโทษต่อสาธารณะอาจถือได้ว่าเป็นการแสดงออกขั้นต่ำสุด แต่พิจารณาจากท่าทีโดยรวมแล้วต้องนับว่าสังคมไทยก็เปิดรับกับการยอมรับความผิดของบุคคลไม่น้อย หลายคนที่เคยเป่านกหวีดซึ่งได้ ‘สารภาพบาป’ และหวนคืนกลับมาสู่เส้นทางประชาธิปไตยก็ได้รับการต้อนรับและทำงานร่วมกันต่อไปได้อีก กรณีของคุณหมอจากปักษ์ใต้ หรือเหล่าเซเลปอีกหลายคนก็เป็นตัวอย่างให้เห็นได้

แต่จำนวนอีกไม่น้อยก็ยังไม่ตระหนักถึงความผิดพลาดและยืนกรานว่าตนเองมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อความเสียหายจากการดำเนินการของรัฐบาลในห้วงเวลาปัจจุบัน แน่นอนว่าเราคงไม่อาจไปบีบบังคับให้ใครต้องสำนึกในสิ่งที่เขาไม่รู้สึกว่าเป็นความผิด แต่เช่นเดียวกันเราก็ย่อมมีสิทธิที่จะ ‘รำลึกถึงคืนวันอันหอมหวาน’ ของพวกเขาเพื่อตอกย้ำถึงบทบาทของกลุ่มคนเหล่านี้ได้เช่นกัน

การแชร์ภาพหรือเรื่องราวการเข้าร่วมอย่างยินดีปรีดาของเหล่านักเป่านกหวีด การเดินขบวนของกลุ่มคนแต่ละกลุ่ม คำให้สัมภาษณ์ การปราศรัยอันสนุกสนานบนเวที หรืออะไรก็ตาม ย่อมเป็นสิทธิที่เราสามารถจะกระทำได้เพื่อตอกย้ำถึงการมีบทบาทของบุคคลเหล่านี้ อันเป็นส่วนสำคัญทำให้สังคมไทยต้องก้าวมาอยู่ในจุดที่ถลำลึกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน           

ขอย้ำว่าผู้คนที่เคยเข้าร่วมกับการเป่านกหวีดในการล้มระบอบประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบกับภาวะวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้  

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save