fbpx

‘Englishness’ คืออะไร? เมื่อทีมชาติฟุตบอลอังกฤษสะท้อนค่านิยมสังคมก้าวหน้า

หลังจากที่ทีมชาติอังกฤษเจ้าของสัญลักษณ์สิงโตสามตัวพ่ายแพ้แก่อิตาลีในรอบชิงฟุตบอลยูโร 2020 ที่สนามเวมบลีย์ ชานกรุงลอนดอน เมื่อนักเตะผิวดำสามคนเตะลูกโทษพลาดในช่วงเวลาบีบหัวใจแฟนบอลของทั้งสองทีม เพียงไม่กี่นาทีหน้าเพจโซเชียลมีเดียของนักเตะทั้งสามก็มีข้อความท่วมไปด้วยเสียงก่นด่าจากแฟนบอลอังกฤษผิวขาวจำนวนหนึ่งที่ผิดหวังจากความพ่ายแพ้ทั้งๆ ที่ทีมอังกฤษทำประตูแรกนำไปก่อน

ในหน้าอินสตาแกรมและทวิตเตอร์ของนักเตะทั้งสามเปื้อนไปด้วยสำนวนเสียดสี ดูหมิ่นดูแคลนทางเชี้อชาติ-ผิวสี กระทบกระเทียบเปรียบเปรยเป็นลิงเป็นค่าง ทั้งๆ ที่ใส่เสื้อสิงโตคำราม

สำหรับความภูมิใจในฐานะประเทศริเริ่มประดิษฐ์พัฒนา the beautiful game ให้เป็นมรดกของโลก แต่ทว่าครั้งหลังสุดที่เคยได้แชมป์รายการขนาดใหญ่คือ ค.ศ. 1966 ที่ชนะทีมเยอรมนีตะวันตกในศึกถ้วยโลก ซึ่งยาวนานถึง 55 ปีแล้ว และอังกฤษไม่เคยได้ถ้วยยุโรปเลย ครั้งหลังสุดที่เข้าใกล้ดวงดาวมากที่สุดคือปี 2018 ในศึกชิงถ้วยโลกที่รัสเซีย แต่พ่ายแพ้แก่โครเอเชียในรอบรองชนะเลิศ ดังนั้นจึงเข้าใจได้ว่าแฟนบอลอังกฤษย่อมสะสมความเจ็บปวดมานานและตั้งความคาดหวังกับทีมชาติในศึกยูโรปีนี้ โดยเฉพาะในนาทีที่อังกฤษยิงลูกแรกนำอิตาลีไปก่อนในสนามบ้านตัวเอง  

แต่เมื่อความคาดหวังที่ส่งกระแสสูงสุดตื่นเต้นกันทั่วประเทศ หลังจากที่ทีมอังกฤษล้างอาถรรพ์ชนะเยอรมนีคู่รักคู่แค้นได้สำเร็จ ผ่านยูเครนแล้วเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ พอชนะเดนมาร์ก ตอนนั้นแฟนบอลส่วนใหญ่ก็ฝันหวานล่วงหน้าไปแล้วว่า ปีนี้แหละเป็นปีของอังกฤษหลังจากรอคอยมาหนึ่งชั่วอายุคน ทำให้ความพ่ายแพ้ในรอบชิงถ้วยยูโรเป็นสิ่งที่ทำใจได้ยากแสนสาหัสสำหรับแฟนบอลอังกฤษจำนวนหนึ่ง

พวกเขาระบายอารมณ์กับนักเตะที่พลาดลูกโทษและนักเตะผิวดำคนอื่นๆ เริ่มจาก มาร์คัส แรชฟอร์ด, จาดอน ซานโช, บูกาโย ซากา และราฮีม สเตอร์ลิง ซึ่งเป็นการระบายอารมณ์แบบเหยียดหยามเชื้อชาติ มองเห็นเป็นมนุษย์ไม่เท่ากัน จึงเป็นประเด็นท้าทายค่านิยมทางสังคมของชาวอังกฤษและเกิดคำถามว่า Englishness คืออะไร

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันประณามแฟนบอลที่ส่งข้อความเหยียดผิวในโซเชียลมีเดีย และประกาศว่ารัฐบาลจะเพิ่มความผิดฐานเหยียดผิวและสร้างความเกลียดชังในสื่อออนไลน์เข้าไปในกฎหมาย Football Banning Order ซึ่งเป็นมาตรการห้ามผู้ที่มีประวัติอันธพาล (football hooligans) เข้าสนาม ซึ่งใช้ได้ผลมานานหลายปี กฎหมายนี้ให้อำนาจศาลออกคำสั่งห้ามแฟนบอลที่มีพฤติกรรมอันธพาลเข้าสนามฟุตบอล มีโทษตั้งแต่สามปีถึงสิบปี แต่กฎหมายนี้ยังไม่ครอบคลุมอันธพาลทางภาษาในโลกออนไลน์

มาร์คัส แรชฟอร์ดเขียนในทวิตเตอร์ว่า เขาเสียใจและขอโทษที่ยิงลูกโทษไม่เข้า ทำให้แฟนบอลผิดหวัง และยินดีรับฟังเสียงตำหนิติเตียนเรื่องผลงานในสนามบอลได้ทั้งวันทั้งคืน แต่เขาจะไม่ขอโทษที่เกิดมาในครอบครัวคนผิวดำ เพราะเลือกเกิดไม่ได้

แฮร์รี เคน กัปตันทีมชาติเขียนในหน้าทวิตเตอร์ประณามแฟนบอลผิวขาวเหล่านั้น เขากล่าวว่าทีมชาติอังกฤษเล่นกันเป็นทีม ถ้าชนะก็ชนะกันท้งทีม ถ้าแพ้เราก็แพ้เป็นทีม ไม่โทษใคร และทีมชาติอังกฤษไม่ต้อนรับแฟนบอลเหยียดผิวเหล่านั้น แฮร์รี เคนกล่าวด้วยว่า เด็กหนุ่มสามคนนั้นเล่นดีมาตลอดทั้งฤดูการแข่งขัน และพวกเขามีความกล้าหาญมากที่ก้าวออกมา เมื่อผู้จัดการเรียกให้เตะลูกโทษ ทั้งๆ ที่รู้ว่าแรงกดดันและเดิมพันนั้นสูงมาก ทีมชาติอังกฤษไม่ต้อนรับแฟนบอลเลวๆ แบบนั้น “If you abuse anyone on social media you’re not an England fan and we don’t want you.”

ผู้บริหารแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ต่างให้ความร่วมมือในการปลดข้อความเหยียดผิวทั้งหลายดังกล่าวและยกเลิกผู้ใช้นับพันบัญชีออกจากแพลตฟอร์ม เพราะถือว่าเป็นข้อความที่ละเมิดนโยบายและแนวปฏิบัติของการใช้แพลตฟอร์ม

จัสมิน เซอร์ฮาน คอลัมนิสต์ของ The Atlantic หน้าเพจสังคมการเมืองชื่อดัง เขียนไว้น่าสนใจว่า ถ้าจะประเมินผลได้ผลเสียของทีมชาติอังกฤษจากการแข่งขันคราวนี้โดยดูจากชนะหรือแพ้ในสนามเท่านั้น ก็จะเป็นการละเลยพลังอันสำคัญที่มีผลกระทบต่อสังคมอังกฤษอย่างใหญ่หลวง ในขณะที่ผู้คนบนเกาะที่ตั้งอยู่ริมขอบแผ่นดินใหญ่ยุโรปแห่งนี้กำลังถามตัวเองเรื่องเอกลักษณ์ของชาติ และความหมายของ Englishness ที่แท้คืออะไร หลังจากแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปเพราะมีการปลุกกระแสชาตินิยมแล้วชนะประชามติที่เฉียดฉิวจนมีข้อโต้เถียงอื้อฉาวที่ยังไม่รู้จบ

จัสมิน เซอร์ฮาน ประเมินว่ามหกรรมฟุตบอลยูโรปีนี้ ทีมชาติอังกฤษถือโอกาสกำหนดความหมายของ Englishness ไว้ว่า ‘หมายถึงชนชาติที่มีความเอื้ออาทร ยอมรับความหลากหลาย และมีความคิดก้าวหน้าโดยไม่หวั่นกลัว’ ซึ่งเราได้เห็นการแสดงออกทางค่านิยมจากท่าทีต่างๆ ของทีมอังกฤษทุกครั้งลงสนาม เราเห็นว่าก่อนคิกออฟทุกแมตช์ ทีมชาติอังกฤษจะคุกเข่าข้างหนึ่งเพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับขบวนการเรียกร้องสิทธิคนผิวดำ Black Lives Matter การประท้วงที่ริเริ่มจากคดีตำรวจทารุณคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา  

ส่วนแฮร์รี เคน กัปตันทีมชาติใส่แถบแขนสีรุ้ง อันเป็นส่วนหนึ่งของ Pride Month แสดงจุดยืนยอมรับความหลากหลายทางเพศของทีมชาติฟุตบอลอังกฤษ ซึ่งคราวนี้เป็นการแสดงออกที่มีความสำคัญมากขึ้นเพราะเป็นท่าทีที่สวนทางกับมติของคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลยุโรป ซึ่งไม่อนุญาตให้เทศบาลเมืองมิวนิกฉายไฟรูปธงรุ้งหลากสีไปที่สนามบอลของเมืองมิวนิกในวันที่มีการแข่งขันฟุตบอลยูโร

นักเตะทีมชาติอังกฤษหลายคนก็มีบทบาทในชุมชนของตน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนความเท่าเทียมของคนต่างผิวหรือในเรื่องการรณรงค์จัดอาหารกลางวันฟรีให้แก่เด็กนักเรียนที่ยากจนในช่วงที่ไวรัสระบาด เพราะหลายๆ ครอบครัวตกอยู่ในฐานะยากลำบาก พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กๆ ต้องตกงาน นักเตะที่โดดเด่นคือ มาร์คัส แรชฟอร์ด ศูนย์หน้าแมนยูและทีมชาติอังกฤษ ที่ออกมาปะทะกับรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลบอริส จอห์นสัน จนรัฐบาลต้องยอมปรับนโยบายให้อาหารกลางวันฟรีเด็กนักเรียนช่วงปิดเทอมถึงสองครั้งตั้งแต่เกิดโรคระบาดต้นปีที่แล้ว

แม้มาร์คัส แรชฟอร์ดจะต้องงัดข้อกับรัฐบาล แต่เป็นที่น่ายินดีว่าผลงานการรณรงค์เพื่อชุมชนของเขา ทำให้สมเด็จพระราชินีพระราชทานเครื่องราชย์ MBE เพื่อให้กำลังใจในบทบาทดูแลชุมชนที่ตกทุกข์ได้ยากในช่วงโควิดระบาด ทำให้เสียงเรียกร้องของเขามีพลังมากขึ้นอีก

ทางด้านราฮีม สเตอร์ริง ซึ่งพ่อแม่อพยพจากจาไมกามาตั้งตัวที่อังกฤษ ได้กลายเป็นไอดอลของคนหนุ่มสาวของประเทศนั้น เขาเดินทางกลับไปจาไมกาทุกปี เพื่อจัดตั้งโครงการสนับสนุนเยาวชนยากจนเข้าสู่วงการฟุตบอลให้หลุดพ้นจากยาเสพติดและอาชญากรรมในชุมชนที่เป็นบ้านเกิดของพ่อแม่เขา

นักเตะผิวดำเหล่านี้ผ่านความยากลำบากในชีวิตตอนเป็นเยาวชน เมื่อพัฒนาตัวเองมาเป็นนักกีฬาระดับชาติมีแพลตฟอร์มของตัวเองก็ใช้ฐานะที่เด่นดังขึ้นมานั้นให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนที่เสียเปรียบ จะเห็นว่าพวกเขาไม่ใช่เอาแต่เตะบอลหาเงินเลี้ยงชีพไปวันๆ เท่านั้น แต่ดูเหมือนมีการออกแบบ (by design) ให้นักเตะทีมชาติอังกฤษเป็นตัวแทนของแนวคิดที่สะท้อนค่านิยมทางสังคมที่ก้าวหน้า

ดังที่แกเร็ธ เซาธ์เกต ผู้จัดการทีมชาติเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงแฟนบอลในช่วงก่อนเปิดฤดูแข่งขันว่า นักเตะทีมชาติอังกฤษมีหน้าที่ต่อสังคมในประเด็นสำคัญๆ เช่น ความเท่าเทียมกัน การหลอมรวม การยอมรับความหลากหลาย ความอยุติธรรมจากการแบ่งแยกคนต่างผิว พวกเขาจะต้องใช้ฐานะและพลังความเป็นนักกีฬาในสายตาของประชาชน เปิดเวทีให้มีการดีเบตโต้เถียงกัน ยกระดับการตื่นตัว และให้การศึกษากัน

แกเร็ธ เซาธ์เกต (ที่มาภาพ)

เป็นที่ยอมรับกันในสังคมอังกฤษว่า เกมที่สวยงามนี้เข้าถึงผู้คนทุกหย่อมหญ้า ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสีผิว ทุกชนชั้น และความนิยมกระจายไปทั่วโลกไม่มีพรมแดนไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดก็ตาม ดังนั้นจึงมีความคิดที่เขย่าอยู่ในสังคมอังกฤษอันเป็นต้นแบบของเกมฟุตบอลว่า น่าจะใช้ทีมชาติสร้างพลังหลอมรวมความแตกต่างหลากหลาย ผลักดันความคิดเสรีนิยมก้าวหน้า ให้เป็นตัวแทนของสิ่งที่เรียกว่า Englishness

ความพยายามที่จะชูธงเสรีนิยมก้าวหน้าของทีมชาติฟุตบอลอังกฤษ ย่อมท้าทายอารมณ์ของผู้คนสายอนุรักษ์ล้าหลังที่ยังหลับฝันถึงความยิ่งใหญ่ของวันเก่าๆ ในอดีต เคร่งเครียดอยู่กับความเชื่อโบราณ มองผิวพันธ์ุอื่นว่าต่ำต้อยกว่าพวกตน แล้วยังเห็นฝ่ายเสรีนิยมก้าวหน้าเป็นภัยคุกคาม ซึ่งในบางแห่งที่มีการปะทะกันทางความคิดทางการเมืองแบบนี้ถึงกับประชดประชันเรียกฝ่ายก้าวหน้าว่า ลิเบอร่าน

ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ แกเร็ธ เซาธ์เกต เขียนถึงแฟนบอลด้วยว่า ตนเองเข้าใจดีว่าชาวอังกฤษมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่ต้องการปกป้องคุณค่า ประเพณี ความภาคภูมิใจในชาติแบบอังกฤษดั้งเดิม แต่นั่นมิได้หมายความว่าการปกป้องคุณค่าดั้งเดิมเหล่านั้น เป็นการทำลายการทบทวนตัวเอง และขัดขวางความก้าวหน้าของสังคม (That shouldn’t come at the expense of introspection and progress.)

ตลอดฤดูการแข่งขันฟุตบอลยูโร แฟนบอลอังกฤษก็ประจักษ์ว่านักเตะทีมชาติของเขามีพลังมากขึ้นเพราะความหลากหลาย เล่นกันเป็นทีมตามตำแหน่งที่ตัวถนัด เล่นหนักเบาก็อยู่ในกติกา และแสดงให้เห็นถึงความรักชาติแบบก้าวหน้า (progressive patriotism) จะแพ้หรือชนะก็เป็นเกมกีฬา โดยกล้าหาญที่จะยืนหยัดต่อต้านแนวคิดแบบชาตินิยมคับแคบ (narrow nationalism) เพื่อประกาศว่าสังคมอังกฤษส่วนใหญ่ไม่ต้อนรับค่านิยมคนผิวขาวที่ล้าหลังตกยุคสมัยไปแล้ว

ในตอนท้ายของจดหมายเปิดผนึกถึงแฟนบอลทั่วประเทศ แกเร็ธ เซาธ์เกต มีความหวังว่า เขามองเห็นหนทางข้างหน้าของสังคมอังกฤษว่าจะเป็นสังคมที่มีความอดทนอดกลั้นต่อกันมากขึ้น มีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น และเขาเชื่อว่านักเตะทีมชาติจะมีบทบาทสำคัญในการหลอมรวมสังคมอังกฤษเข้าด้วยกัน

It’s clear to me that we are heading for a much more tolerant and understanding society, and I know our lads will be a big part of that.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save