fbpx
เพื่อจักรพรรดิยังยืนยง ยามอัสดงแดนอาทิตย์อุทัย

เพื่อจักรพรรดิยังยืนยง ยามอัสดงแดนอาทิตย์อุทัย

ธีวินท์ สุพุทธิกุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

‘ปฏิรูป’ (kaikaku) คำสั้นๆ คำนี้เปรียบเสมือนยักษ์ใหญ่ที่แผ่เงาทาบทั่วญี่ปุ่น ในห้วงเวลาที่ระเบียบดั้งเดิมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนกมลสำนึกของผู้คนพังทลายลงหลังการพ่ายแพ้สงครามแปซิฟิก (ค.ศ.1945) พลังที่ถูกกดทับมานานภายใต้สงครามและการปกครองที่ทหารเป็นใหญ่ ปะทุออกมาในรูปอุดมการณ์หลากหลายที่แก่งแย่งกันเสนอแนวทางปฏิรูปตามแบบของตน พลังเหล่านี้อาศัยโอกาสเคลื่อนไหวขณะที่ชาติผู้ยึดครองอย่างสหรัฐฯ ยังคงมีความปรารถนาแรงกล้าที่จะเปลี่ยนญี่ปุ่นเป็นประชาธิปไตย อันมีทั้งเสรีภาพและความเท่าเทียมแบบรัฐสวัสดิการตามหลักการ New Deal ของประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลท์ กลุ่มอุดมการณ์ที่ว่านี้รวมไปถึงกลุ่มฝ่ายซ้ายที่ขยายตัวนับแต่นั้น และดำรงอิทธิพลต่อเนื่องมาในรูปพรรคสังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งญี่ปุ่น

การปฏิรูปทางการเมืองตามแนวนิติรัฐเป็นวาระต้นๆ ที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจและถือเป็นเป้าหมายการปฏิรูป การ ‘ร่างรัฐธรรมนูญใหม่’ วางอยู่บน 3 ข้อเรียกร้องของพลเอกดักกลาส แมคอาเธอร์ ผู้บัญชาการสูงสุดที่ยึดครองญี่ปุ่น โดยคำสั่งที่ ‘ไม่อาจต่อรอง’ นี้ ประกอบด้วยการให้ยึดหลักสันตินิยมเบ็ดเสร็จ หรือไม่ให้ญี่ปุ่นก่อสงครามได้อีก ให้เลิกระบบศักดินา (defeudalize) ที่ขัดขวางประชาธิปไตย และให้จักรพรรดิอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) รัฐธรรมนูญใหม่ที่ฝ่ายผู้ยึดครองเป็นผู้ร่างอาจถูกมองเป็นของ ‘ต่างชาติ’ หรือเป็นค่านิยมที่แปลกแยกไปจากแนวทางดั้งเดิมของญี่ปุ่น แต่หากไม่ใช่เพราะสิ่งที่นำเข้ามานี้สอดรับกับความต้องการที่มีอยู่เดิม หรือที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในสังคมญี่ปุ่น แนวทางเหล่านี้คงไม่อาจดำรงอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้

ความรู้สึกเข็ดขยาดต่อสงครามและการมองทหารว่านำพาประเทศสู่หุบเหว ทำให้มาตรา 9 ที่ห้ามทำสงครามและมีกองทัพกลายเป็นหัวใจหลักของ ‘รัฐธรรมนูญสันติภาพ’ ที่คงอยู่มาโดยยังไม่มีการแก้ไข และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่สองนับจากรัฐธรรมนูญที่กำเนิดขึ้นสมัยเมจิ (1889) ขณะที่ข้อเรียกร้องให้ละทิ้งสังคมแบบชนชั้นและการปฏิรูปสถานะของจักรพรรดิซึ่งเป็นหัวใจของ ‘การเป็นประชาธิปไตย’ ก็กลายเป็นหลักคุณค่าที่เห็นพ้องต้องกันในหมู่ผู้นำพลเรือนและประชาชน แม้ว่าการปฏิรูปในข้อหลังว่าด้วยสถาบันจักรพรรดิจะหมายถึงการลดทอนแก่นค่านิยมเดิมที่ยึดถือมาก่อนสงคราม ทั้งในแง่ศูนย์รวมจิตวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อศรัทธาแบบชินโตและตัวตนแห่งชาติ แต่ก็ช่วยทำให้สถาบันที่เคยแตะต้องมิได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยอย่างไม่ขัดแย้ง

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปฏิรูปสถาบันจักรพรรดิและใช่ว่ากฎหมายสูงสุดที่ต่างชาติกะเกณฑ์ให้ใช้จะปรับเปลี่ยนที่ทางของสถาบันนี้ในสังคมรูปแบบใหม่ได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะเมื่อมองว่าจักรพรรดิกับประชาธิปไตยอาจตั้งอยู่บนหลักอุดมการณ์ที่ขัดกัน และเมื่อพิจารณาว่าสถาบันนี้ดำเนินสืบมาแต่โบราณนับจากตำนานการกำเนิดประเทศ โดยราชวงศ์ยะมะโตะครองราชย์ต่อเนื่องอย่างไม่ขาดสายยาวนานที่สุดในโลก แต่กระแสต่อต้านสถาบันซึ่งมากับอุดมการณ์ยุคใหม่ (enlightenment) และสาธารณรัฐนิยม (republicanism) ที่ถาโถมไปทุกทวีปทำให้ระบอบจักรพรรดิถูกยกชูขึ้นมากกว่าช่วงไหนในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น จนกลายเป็นศูนย์รวมของ ‘ชาตินิยม’ และ ‘ลัทธิทหาร’ เพื่อประโยชน์ในการสงคราม กลายเป็นเป้าโจมตีและเรียกร้องให้ปฏิรูปจากภายนอกประเทศและภายในญี่ปุ่น

สังคมญี่ปุ่นทำอย่างไรให้สถาบันจักรพรรดิสามารถดำรงอยู่ต่อเนื่องมาได้ หลังจากเผชิญวิกฤตศรัทธาและถูกตั้งข้อกังขาหลังพ่ายแพ้ในสงครามใหญ่ที่กระทำในนามพระจักรพรรดิ ภายหลังยุคแห่งการถกเถียงที่มีข้อเสนอถึงขั้นให้ล้มล้าง เหตุใดสถาบันนี้ยังคงอยู่มาได้ด้วยความชอบธรรม อีกทั้งได้รับการอุ้มชู ความเห็นอกเห็นใจและใกล้ชิดจากสาธารณชน อย่างที่เห็นว่าในหน้าสื่อญี่ปุ่นเวลานี้ ‘ประเด็นดราม่า’ เรื่องอุปสรรคการเสกสมรสของเจ้าหญิงมะโกะ พระธิดาแห่งมกุฎราชกุมารฟุมิฮิโตะ ได้รับความสนใจและเฝ้าติดตามเป็นอย่างมากไม่แพ้ความวิตกกังวลถึงจำนวนผู้สืบราชบัลลังก์ฝ่ายชายที่มีจำนวนร่อยหรอลง เนื่องจากสมาชิกฝ่ายหญิงของราชวงศ์เสกสมรสกับสามัญชนและต้องสละฐานันดรศักดิ์

ข้อเขียนนี้ต้องการชี้ให้เห็นกระบวนการที่ทำให้สถาบันจักรพรรดิอันเก่าแก่และอนุรักษนิยม คงอยู่ได้กับระบอบประชาธิปไตยซึ่งกลายเป็นแก่นคุณค่าใหม่ในสังคมญี่ปุ่นและในสากลโลกในยุคหลังสงคราม พร้อมทั้งสำรวจสถานะและบทบาทที่คลุมเครือของสถาบัน อันเกิดจากความพยายามประนีประนอมและ ‘หลอมรวมแบบญี่ปุ่น’ (Japanese-style synthesis) โดยผสมผสานความตั้งมั่นในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ความยืดหยุ่นทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงออกและการตรวจสอบโดยกลุ่มอุดมการณ์ที่แบ่งขั้วค่อนข้างชัดระหว่างฝ่ายขวา (อนุรักษนิยม) กับฝ่ายซ้าย (สังคมนิยม) ทำให้ ‘การถกเถียง’ เรื่องตำแหน่งแห่งที่ในระบอบประชาธิปไตยของจักรพรรดิมีพลวัตเรื่อยมา และอาจมองได้ว่าได้สร้างเอกลักษณ์และความพิเศษในแบบญี่ปุ่นให้แก่สถาบันนี้ด้วย

 

จักรพรรดิผู้ทรงครองราชย์แต่ไม่ทรงใช้อำนาจปกครอง

 

สถานะของสถาบันจักรพรรดิที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเผชิญความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงและหนักหน่วงหลายระลอกระหว่างที่ญี่ปุ่นก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ จุดพลิกผันสำคัญอาจแบ่งคั่นด้วยการปฏิรูปในรัชสมัยเมจิ (1868-1912) ที่ปรับแปลงสถานะของจักรพรรดิให้ต่างจากที่เป็นมาก่อนยุคสมัยใหม่ จากนั้น การปฏิรูปยุคหลังสงคราม (1945 – ) ก็เป็นอีกวาระที่สถาบันนี้เผชิญความเปลี่ยนแปลง มองโดยผิวเผินแล้ว ช่วง 100 ปีนับแต่กลางศตวรรษที่ 19 จนถึงกลางศตวรรษที่ 20 จักรพรรดิญี่ปุ่นได้รับการยกสถานะขึ้นเป็น ‘องค์อธิปัตย์’ ผู้กุมอำนาจสูงสุดทางการเมือง (imperial sovereignty) ก่อนที่จะถูกลดสถานะอย่างฉับพลันเป็น ‘สัญลักษณ์’ (symbol) แห่งชาติในทางขนบประเพณี โดยเทียบได้จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนและหลังสงคราม

รัฐธรรมนูญหลังสงครามกำหนดว่าอำนาจอธิปไตยอยู่ในมือประชาชน (popular sovereignty) และจำกัดพระราชอำนาจของจักรพรรดิ โดยให้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจสาธารณะได้เฉพาะที่กำหนดในรัฐธรรมนูญและด้วยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี มาตรา 4 ระบุว่า “จักรพรรดิไม่ทรงมีอำนาจเกี่ยวข้องกับการปกครอง” ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากสถานะในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ซึ่งบัญญัติให้ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งอำนาจอธิปไตย และดำรงสถานะอัน ‘ศักดิ์สิทธิ์และละเมิดมิได้’ (sacred and inviolable) อย่างไรก็ดี นอกจากกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรนี้ นัยสำคัญของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อสถาบันคือการถูก ‘ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง’ เพื่อให้ความชอบธรรมแก่การปฏิรูปครั้งใหญ่ทั้งในสมัยเมจิและยุคหลังสงคราม

นับแต่อดีต จักรพรรดิดำรงสถานะสูงสุดในลำดับชั้นสังคมศักดินา ถึงกระนั้น พระองค์ทรงครองราชย์แต่ไม่ได้ทรงใช้อำนาจปกครอง (reign but not rule) ขณะที่ประทับในเกียวโต ทรงเป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจ ความเป็นปึกแผ่นในทางวัฒนธรรมและพิธีกรรมความเชื่อของคนญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นที่มาแห่งความชอบธรรมของอำนาจปกครองซึ่งมักตกอยู่ในมือตระกูลขุนนางหรือไม่ก็ทหาร ดังเช่นช่วงก่อนที่ญี่ปุ่นจะก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ ‘โชกุน’ (แม่ทัพ) ตระกูลโตคุงะวะ กุมอำนาจอยู่ราว 250 ปี โดยปิดกั้นการติดต่อกับโลกภายนอก จนกระทั่งถูกชาติตะวันตกบีบให้เปิดประเทศ

ในสมัยเมจิ สถานะของจักรพรรดิข้างต้นก็ยังคงเดิม แม้จะมีความเคลื่อนไหว ‘ฟื้นฟูพระราชอำนาจ’ (Meiji Restoration) แต่นอกเหนือจากการดึงสถาบันจักรพรรดิที่เดิมเป็นเพียงสัญลักษณ์มาเป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครอง และวาทกรรมสร้างรัฐสร้างชาติแล้ว อำนาจที่แท้จริงกลับอยู่ในมือเหล่าแกนนำผู้โค่นระบอบโตคุงะวะ อันได้แก่พันธมิตรซะมุไรแคว้นซัทสุมะและโจชู (Satcho Alliance) ซึ่งกลายมาเป็นคณะผู้นำสมัยเมจิ (Meiji Oligarchs) นั่นเอง

คณะผู้นำใหม่อาศัยค่านิยมที่เกิดขึ้นในช่วงการต่อต้านระบอบโตกุงะวะ อย่างการ ‘เชิดชูจักรพรรดิ ขจัดพวกต่างชาติ’ (sonno-joi) เป็นฐานสร้างความชอบธรรมในการปฏิรูปประเทศ จักรพรรดิได้รับการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ใหม่ โดยให้ย้ายมาประทับยังศูนย์กลางการปกครองกรุงโตเกียว อันเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นฟูพระราชอำนาจ คณะผู้นำได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นตามมาตรฐานโลกศิวิไลซ์ แต่ก็มองหาต้นแบบที่เชิดชูสถานะของจักรพรรดิให้ทรงเป็นองค์อธิปัตย์ในการปกครอง ด้วยเจตจำนงเช่นนี้ ความสนใจของผู้ร่างกฎหมายสูงสุดอย่าง อิโต ฮิโรบุมิ จึงมุ่งไปยังรัฐธรรมนูญตามแบบปรัสเซีย ซึ่งนอกจากจะเป็นชาติที่กำลังผงาดขึ้นมาในยุโรปหลังรวมชาติสำเร็จในเวลานั้น ยังสามารถคงระบอบกษัตริย์แบบอนุรักษนิยมไว้ได้

รัฐธรรมนูญเมจิบัญญัติให้จักรพรรดิดำรงสถานะสูงสุดในโครงสร้างทางการเมือง ขณะที่ระบบสองสภาและคณะรัฐมนตรีก็ได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ แม้จะมีการเลือกตั้งผู้แทนสำหรับสภาล่าง แต่โครงสร้างทั้งหมดไม่ได้ตรวจสอบถ่วงดุลกันแบบประชาธิปไตย หากกลับทำหน้าที่รับใช้และให้คำปรึกษาแก่พระจักรพรรดิ จริงอยู่ว่านับจากปลายศตวรรษที่ 19 มีกลุ่มอุดมการณ์และพรรคการเมืองเริ่มตื่นตัวมากขึ้น แต่กระบวนการประชาธิปไตยก็ถูกจำกัดด้วยรัฐธรรมนูญ และอำนาจในมือคณะผู้นำเมจิ

นอกจากสภาล่างที่มาจากการเลือกตั้งในแบบจำกัดแล้ว โครงสร้างสถาบันที่เหนือขึ้นไปล้วนครอบงำโดยคณะผู้นำเมจิ ไม่ว่าจะเป็นสภาสูง (House of Peer) องคมนตรี (Privy Council) ไปจนถึงคณะรัฐบุรุษอาวุโส (Genro) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาผู้ทรงอิทธิพลอย่างมากแก่จักรพรรดิ ทั้งที่ไม่มีองค์กรนี้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ โครงสร้างเหล่านี้ไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย แต่กลับเป็นกลไกหลักในการตัดสินนโยบายและกำหนดความเป็นไปของประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องสะท้อนมติของสภาที่มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งอำนาจสั่งการกองทัพก็อยู่ในมือองค์พระจักรพรรดิใน ‘ฐานะจอมทัพของกองทัพบกและกองทัพเรือ’

ในช่วงการขยายจักรวรรดิหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หรือช่วง 20 ปีแรกของรัชสมัยโชวะ (1926-1989) สถานะของจักรพรรดิถูกปรับเปลี่ยนไปอีกรอบ โดยอาจมองว่าสถาบันนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายขวาจัด และให้ความชอบธรรมแก่ ‘ลัทธิทหาร’ ที่ต้องการส่งเสริมแนวคิดชาตินิยม ทั้งเพื่อกุมอำนาจภายในประเทศและขยายดินแดนออกไปยังภาคพื้นทวีปเอเชีย กองทัพได้สร้างภาพลักษณ์ว่าตนเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ ขณะที่สร้างวาทกรรมและปลูกฝังทัศนคติว่าเหล่านักการเมืองและกลุ่มนายทุนต่างเป็นพวกทุจริตคิดแต่กอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน นั่นทำให้กระบวนการประชาธิปไตยหยุดชะงัก สถาบันจักรพรรดิขณะนั้นไม่เพียงมีอำนาจสูงสุดตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังถูกตีความใหม่ให้เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวกับชาติ และนำไปสู่การครอบงำของวาทกรรม kokutai (national body) ที่เปรียบจักรพรรดิเทียบเท่าองค์รวมของชาติ

สังคมที่ถูกปลุกปั่นให้เกิดชาตินิยมแบบสุดโต่งมักติดกับดักความเหือดหายของวิสัยทัศน์ จากการที่ความเห็นต่างถูกปิดกั้น หรือถูกบีบให้ต้องเงียบงันเพราะกลัวถูกครหาว่าบ่อนทำลายหรือขายชาติ นักกฎหมายรัฐธรรมนูญคนสำคัญอย่าง มิโนเบะ ทัทสึคิจิ รู้ซึ้งถึงบทเรียนนี้จากการที่เขาเสนอว่าควรมองสถาบันจักรพรรดิเป็นเพียง ‘ส่วนหนึ่ง’ ของชาติ มากกว่ามองเป็นตัวตนเดียวกับชาติอย่างที่รัฐบาลส่งเสริม Eri Hotta ในงานชื่อ Japan 1941 ซึ่งสำรวจการตัดสินนโยบายก่อนญี่ปุ่นเปิดฉากสงคราม ชี้ให้เห็นชัดว่าการที่ผู้กำหนดนโยบายไม่กล้าเสนอข้อโต้แย้ง ทำให้การตัดสินใจไม่ได้ตั้งอยู่บนเหตุผลเชิงยุทธศาสตร์หรือยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ในยามวิกฤต ‘ที่ประชุมต่อหน้าพระพักตร์’ (gosen kaigi) ซึ่งจักรพรรดิทรงร่วมและรับรองนโยบาย กลายเป็น ‘ตัวล็อก’ ทิศทางยุทธศาสตร์ที่เมื่อผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมนี้แล้วก็ไม่มีใครกล้าเสนอให้กลับลำ

นั่นคือปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นเดินหน้าเข้าสงคราม ซึ่งเมื่อหวนมองกลับไป หลายฝ่ายในญี่ปุ่นเชื่ออยู่ในใจว่าไม่อาจชนะสหรัฐฯ ได้ ระหว่างทำศึกสงครามที่ ‘ไม่ชนะแน่แต่ก็ไม่อาจเลี่ยง’ นี้ สถาบันจักรพรรดิกลายเป็นศูนย์กลางของวาทกรรมการสู้เพื่อชาติ และการสละชีพในการรบทั้งโดยส่วนตัวหรือโดย ‘ปฏิบัติการพลีชีพ’ (tokko) ซึ่งกลายเป็นยุทธวิธีในช่วงท้ายของสงคราม ก็เป็นไปเพื่อการปกป้องชาติที่เทียบเท่าสถาบันจักรพรรดิ แม้ชีวิตจะร่วงโรยดั่งกลีบดอกซะกุระที่โปรยปรายในสายลมฤดูใบไม้ผลิ การมองความตายเป็นเรื่องงดงามเช่นนี้ยังถูกส่งเสริมด้วยความเชื่อแบบชินโตว่า เมื่อดวงวิญญาณผู้สิ้นชีพในสงครามได้สถิตในศาลเจ้ายะสุคุนิแล้ว ก็จะมีสถานะหลังความตายใกล้ชิดกับองค์พระจักรพรรดิ จากความเชื่อที่ว่าพระองค์ทรงสืบเชื้อสายจากเทพีพระอาทิตย์และเป็นสมมติเทพตามคติชินโต

 

กอบกู้จักรพรรดิจากลัทธิทหาร

 

คงไม่เกินเลยนักหากจะกล่าวว่าสถาบันจักรพรรดิยืนอยู่ใจกลางสงคราม นอกจากการสู้รบจะดำเนินไปเพื่อปกป้องสถาบันอันทรงคุณค่าสูงสุดนี้แล้ว เงื่อนไขที่ทำให้ญี่ปุ่นพยายามทอดเวลากว่าจะยอมแพ้แม้สถานการณ์จะไม่เป็นใจแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากความพยายามธำรงสถาบันนี้ไว้หลังสงคราม ญี่ปุ่นมองปฏิญญาปอตสดัม (Potsdam Declaration) อันเป็นคำขาดสุดท้ายของฝ่ายสัมพันธมิตรที่สั่งให้ญี่ปุ่น ‘ยอมแพ้แบบไม่มีเงื่อนไข’ (unconditional surrender) ว่าตนอาจไม่มีสิทธิต่อรองให้ยังคงสถาบันจักรพรรดิไว้ได้ ญี่ปุ่นพยายามหาหนทางที่จะวางเงื่อนไขในเรื่องนี้จนกระทั่งถูกสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิม่าและนะงะซะกิ จากนั้นรัฐบาลจึงได้ออกอากาศพระสุรเสียงของพระจักรพรรดิที่ทรงประกาศให้ยุติสงคราม

ในที่สุดแล้ว การมองว่าภัยต่อสถาบันจักรพรรดิมาจากสหรัฐฯ ผู้จะเข้ามายึดครองญี่ปุ่น กลับกลายเป็นความหวาดระแวงเกินกว่าเหตุของฝ่ายขวา ในทางตรงข้าม สหรัฐฯ กลับเป็นตัวแปรสำคัญในการธำรงสถาบันให้ยังอยู่ยืนยงต่อมา แม้ว่าวัตถุประสงค์หลักของการยึดครองคือการทำลายระบบศักดินาและสร้างประชาธิปไตย แต่สหรัฐฯ ก็ประนีประนอมให้สถาบันเก่าแก่นี้ยังคงอยู่ นอกจากนี้ การทำให้สถาบันนี้อยู่ต่อไปได้ ฝ่ายผู้สนับสนุนจำต้องปัดป้องกระแสโจมตีรอบด้านที่มองว่าจักรพรรดิไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของสงครามและจักรวรรดินิยม แต่เป็นหนึ่งในผู้ก่ออาชญากรรมสงคราม อย่างที่เห็นว่าทรงรับทราบยุทธศาสตร์การทหารของญี่ปุ่นผ่านที่ประชุมหน้าพระพักตร์มาตลอด สิ่งที่ต้องทำก่อนเพื่อให้สถาบันอยู่รอดได้จึงเป็นการลบล้างภาพสงครามและลัทธิทหารออกจากสถาบันนี้

เสียงเรียกร้องให้ดำเนินการกับจักรพรรดิฮิโรฮิโต ไม่ว่าการนำขึ้นพิพากษาในศาลอาชญากรรมสงครามหรือล้มล้างสถาบันให้สิ้นไป ไม่ได้มีมาจากผู้คนในชาติที่เป็นเหยื่อการรุกรานของญี่ปุ่นเท่านั้น กระแสอุดมการณ์ภายในญี่ปุ่นที่ปะทุออกมาอย่างคับคั่งหลังลัทธิทหารสลายไป ตลอดจนจากการส่งเสริมของสหรัฐฯ ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต่อต้านการคงอยู่ของสถาบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝ่ายซ้ายหรือสังคมนิยมผู้เป็นเหยื่อหรือเป็นนักโทษการเมืองภายใต้การปกครองของทหาร สหรัฐฯ มองกระแสแนวคิดที่แตกต่างหลากหลายเหล่านี้ว่าเป็นประโยชน์ต่อการผลักดันกระบวนการประชาธิปไตย เสรีนิยมและสันตินิยม ในยามที่คอมมิวนิสต์ยังไม่กลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐฯ ในสงครามเย็น

ผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่เชี่ยวชาญญี่ปุ่นต่างเข้าใจว่าสถาบันจักรพรรดิมีความสำคัญแค่ไหนในมุมมองของประชาชนญี่ปุ่นที่ถูกหล่อหลอมกล่อมเกลามาตลอดยุคสมัยใหม่ และเมื่อพิจารณาจากมุมมองประโยชน์เชิงนโยบาย จะดีแค่ไหนที่จะให้สถาบันนี้เป็นเครื่องโน้มน้าวใจให้คนญี่ปุ่นยอมรับและสนับสนุนเป้าหมายการยึดครอง อีกระลอกของการให้ความหมายใหม่และใช้สถาบันนี้ในทางการเมืองจึงเกิดขึ้น โดยครั้งนี้ สถาบันถูกให้ภาพเป็นเครื่องหมายของ ‘การปฏิรูปเป็นประชาธิปไตยและสันตินิยม’ นอกจากสหรัฐฯ จะกันพระจักรพรรดิออกจากการดำเนินคดีในศาลอาชญากรสงคราม โดยปล่อยให้บรรดาผู้นำทหารเล่นเป็นตัวละครหลักและถูกพิพากษารับโทษไปแทนแล้ว ยังไม่กดดันให้สถาบันแสดงความรับผิดชอบ หรือโอนอ่อนตามกระแสเรียกร้องให้ล้มล้างสถาบันแต่อย่างใด

ในทางกลยุทธ์สหรัฐฯ เกรงว่าการล้มล้างสถาบันอาจทำให้เกิดความวุ่นวายภายในญี่ปุ่นขึ้น แต่จะให้คงสถานะและบทบาทของจักรพรรดิดังเดิมก็คงเป็นไปไม่ได้ แมกอาเธอร์มองว่าเพื่อให้เกิดความพอใจ โดยเฉพาะจากฝ่ายที่ยังหวาดระแวงญี่ปุ่น และมองจักรพรรดิว่าต้องรับผิด การยังให้คงสถาบันนี้ไว้จึงต้องแลกกับการทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นรัฐไร้ทหารและ ‘ละเลิกสงคราม’ ทั้งยังต้องยอมรับการปฏิรูปเพื่อลดทอนอำนาจและบทบาทของสถาบันลง อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับความพยายามที่จะ ‘ล้างบาง’ (purge) บุคคลทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีส่วนได้เสียในสงครามออกจากตำแหน่งที่มีหน้ามีตาในสังคมแล้ว การยังคงรักษาความต่อเนื่องของจักรพรรดิทั้งในแง่การคงสถาบันไว้และการไม่แตะต้องตัวบุคคล จึงดูเป็นความใจกว้างของสหรัฐฯ ไม่น้อย

 

สถาบันจักรพรรดิในระบอบประชาธิปไตย

 

นอกจากความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะแยกจักรพรรดิออกจากลัทธิทหาร ในญี่ปุ่นเองก็มีกระแสในวงความคิดเห็นและวิชาการที่ตีความบทบาทช่วงสงครามของจักรพรรดิในแบบที่เป็นประโยชน์ต่อการคงอยู่ของสถาบัน โดยมองว่าแม้พระองค์จะทรงรู้เห็นเรื่องการสงคราม แต่ก็ทรงวางตนไม่ก้าวก่ายหรือแสดงความเห็นที่ชัดแจ้ง ข้อเสนอลักษณะนี้จับเอาพระราชดำรัสมาแสดงให้เห็นว่าทรงพยายามสื่อให้เลี่ยงสงคราม และเน้นย้ำบทบาทของพระองค์ในช่วงยุติสงคราม ทั้งนี้เพื่อปัดป้องจักรพรรดิจากความรับผิดชอบใดๆ แนวการตีความเช่นนี้มองจักรพรรดิว่าไม่ประสงค์ที่จะแทรกแซงนโยบาย (passive) ตามธรรมเนียมและแบบแผนดั้งเดิม หรือทรงเป็นผู้ยึดมั่นในสันตินิยม (pacifist) เป็นสำคัญ

ในการปฏิรูปสถาบันสูงสุดให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญใหม่บัญญัติให้จักรพรรดิทรงเป็น ‘สัญลักษณ์’ แห่งชาติและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีที่มาจากเจตจำนงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แม้ว่าในคำสั่งของแมกอาเธอร์ตั้งใจให้จักรพรรดิทรงมีตำแหน่ง ‘ประมุขของรัฐ’ (head of state) แต่ในรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติสถานะนี้ไว้ โดยกำหนดบทบาทหน้าที่ชัดเจน 13 ประการตามมาตรา 7 โดยไม่ให้มีอำนาจเกี่ยวข้องในการปกครอง แม้ว่าในเวลาต่อมา สถานะของสถาบันตามรัฐธรรมนูญนี้จะกลายเป็นที่ถกเถียงในวงนักกฎหมายและการเมืองภายในญี่ปุ่น ขณะที่พระราชกรณียกิจบางอย่างได้วิวัฒน์และขยายออกไปจากที่กำหนด บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ก็ยังเป็นเกณฑ์ชี้วัดสถานะและบทบาทที่เหมาะสมตามหลักนิติรัฐและประชาธิปไตย

เหตุการณ์อีกอย่างที่ส่งผลต่อสถานะของจักรพรรดิอย่างมากคือการประกาศตนเป็นปุถุชน (humanity declaration) ซึ่งเป็นการสลัดความเชื่อดั้งเดิมว่าจักรพรรดิเป็นสมมติเทพ คำประกาศนี้ที่ฝ่ายผู้ยึดครองจัดแจงให้เป็นใจความหนึ่งในพระราชดำรัชวันขึ้นปีใหม่ปี 1946 ขณะที่รัฐธรรมนูญยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ตอกย้ำความพยายามปรุงแต่งความหมายของสถาบันที่เคยเชื่อมโยงกับระบบศักดินา ความเชื่อแบบญี่ปุ่น และถูกลัทธิทหารใช้เป็นเครื่องมือปลุกเร้าชาตินิยม ให้เข้ามาสอดคล้องกับการปกครองสมัยใหม่ได้ ความเป็นปุถุชนนี้ถูกเน้นย้ำด้วยการส่งเสริมให้พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ จนกลายเป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่ดำเนินต่อเนื่องมา แม้ว่าจะไม่มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญก็ตาม

ในทางหนึ่ง การเสด็จเยี่ยมราษฎร (junko) ถือเป็นมิติใหม่ของสถาบัน โดยอาจถือเป็นวิธีประชาสัมพันธ์สถานะใหม่ให้ผู้คนได้รับรู้ ซึ่งฝ่ายผู้ยึดครองมองว่าสอดคล้องกับการปฏิรูป ทั้งยังทำให้เกิดภาพลักษณ์สถาบันที่ใกล้ชิดและเข้าถึงราษฎรยิ่งขึ้น ในอีกทาง ก็เป็นการกอบกู้ความชอบธรรมให้สถาบันจากวิกฤตศรัทธา ให้ยังคงได้รับการสนับสนุนต่อไป ขวัญกำลังใจที่ทรงให้แก่ราษฎรในยามทุกข์ยากช่วงหลังสงครามยังทำให้เกิดภาพลักษณ์ของการร่วมทุกข์ร่วมสุขในฐานะเหยื่อของลัทธิทหารและสงครามเช่นเดียวกับประชาชน John Dower ชี้ว่า “ความเคลื่อนไหวนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิด ‘ระบบจักรพรรดิของมวลชน’ โดยเปลี่ยนสถานะกษัตริย์มาเป็นเหมือนดาราดัง” (transformation of monarch into celebrity)

งานศึกษาของ Kenneth Ruoff เรื่อง The People’s Emperor ได้สำรวจข้อถกเถียงจากหลายฝ่ายเรื่องการจัดวางสถาบันจักรพรรดิในระบอบหลังสงคราม กระบวนการนี้ได้สร้างตรรกะและการตีความอันเป็นที่พอใจของทั้งสองขั้วอุดมการณ์ขึ้น โดยยอมรับสถาบันในฐานะ ‘สัญลักษณ์’ สำหรับฝ่ายขวาผู้ปกป้องขนบดั้งเดิมของญี่ปุ่นและต้องการให้สถาบันเป็นที่เทิดทูน พอใจกับการตีความว่า การปฏิรูปไม่ได้ทำลาย ‘เนื้อแท้’ (essence) ของสถาบันแต่อย่างใด จักรพรรดิยังคงเป็นที่นับถือบูชาไม่เปลี่ยนแปลง อันที่จริงจักรพรรดิที่เป็นสัญลักษณ์ถือเป็นสถานะและบทบาทดั้งเดิมที่เป็นมาแต่นมนานก่อนยุคสมัยใหม่ (premodern) นั่นคือทรงครองราชย์แต่ไม่ทรงปกครอง โดยมองสถานะตั้งแต่สมัยเมจิว่าผิดเพี้ยนจากขนบธรรมเนียมที่เป็นรากเหง้าเดิม

สำหรับฝ่ายซ้าย การลดอำนาจและจำกัดบทบาทลงอย่างมากช่วยลดความเสี่ยงที่สถาบันอาจถูกใช้ในทางการเมืองหรือปลุกเร้าชาตินิยมเหมือนแต่ก่อน ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนสันตินิยมของฝ่ายนี้ สถาบันที่กลายเป็นเครื่องหมายเชิงวัฒนธรรม ปราศจากอำนาจอธิปไตย ไม่ไช่ประมุขของรัฐ และไม่มีบทบาททางการเมือง ทำให้อยู่ร่วมกันได้ ฝ่ายซ้ายมักคอยสอดส่องให้สถาบันดำรงอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ มีหลายครั้งที่ความเหมาะสมเรื่องบทบาทกลายเป็นข้อถกเถียงในรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลจำต้องอธิบาย อย่างการเสด็จเยี่ยมราษฎรข้างต้น ฝ่ายซ้ายก็มองว่าเป็นปัญหา แต่รัฐบาลชี้แจงว่าเป็นพระราชกรณียกิจในฐานะสัญลักษณ์แห่งชาติ ซึ่งถือเป็นบทบาทที่รัฐบาลเห็นชอบเพิ่มเติมจากที่มีในกฎหมาย การมีอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีแนวคิดสุดโต่งอีกขั้วจึงช่วยทำหน้าที่ถ่วงดุลกับสถาบันจักรพรรดิไปโดยปริยาย

 

โชวะ เฮเซ เรวะ

 

สถานะอันคลุมเครือของจักรพรรดิในระบอบประชาธิปไตยญี่ปุ่นดำเนินเรื่อยมาผ่านรัชสมัยโชวะ เฮเซ มาจนถึงเรวะ ความที่ดูไม่ลงตัวนี้ทำให้เกิดข้อคิดเห็นในวงวิชาการถึงขนาดที่ว่าแท้จริงแล้ว ญี่ปุ่นมีการปกครองแบบสาธารณรัฐ (republic) ที่มีสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ด้วยเช่นนั้นหรือไม่ แม้อาจฟังดูย้อนแย้ง แต่กว่า 70 ปีญี่ปุ่นก็อยู่มากับความพิเศษและพิสดารนี้อย่างกลมกลืน แน่นอนว่าความตึงเครียดและประเด็นโต้แย้งอันเกิดจากความลักลั่นมีให้เห็นเป็นระยะ ซึ่งส่วนหนึ่งก็สะท้อนความพยายามตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างสถาบันการเมืองและกลุ่มอุดมการณ์ในสังคมแบบประชาธิปไตย

จักรพรรดิอะคิฮิโตะแห่งรัชสมัยเฮเซ (1989-2019) ที่เพิ่งสิ้นสุดไป ถือว่าเป็นจักรพรรดิในระบอบประชาธิปไตยเต็มตัว ด้วยไม่มีข้อติดค้างเรื่องความรับผิดชอบต่อสงคราม การอภิเสกสมรสกับสามัญชนยิ่งเพิ่มพูนภาพลักษณ์ของการเป็นจักรพรรดิของมวลชน แต่ความเคลื่อนไหวหลายอย่างของพระองค์ก็เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายอนุรักษนิยมไม่น้อย ไม่ว่าการทรงแสดงความเสียพระทัยและสำนึกกรณีสงครามที่กระทำในนามพระบิดาของพระองค์ในอดีต และการทรงเลี่ยงสักการะศาลเจ้ายะสุคุนิ อันเป็นสัญลักษณ์ชาตินิยมของฝ่ายขวา

เมื่อไม่นานนี้ การแสดงพระราชประสงค์จะสละราชสมบัติ ซึ่งส่งผลให้ต้องแก้กฎมณเฑียรบาลเพื่อให้การสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปได้แม้จักรพรรดิยังไม่สิ้นพระชนม์ ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการใช้อำนาจแทรกแซงการเมืองที่ละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมองเป็นการกดดันให้รัฐบาลแก้กฎหมาย อย่างไรก็ดี พระราชดำรัสที่พระองค์ทรงมีผ่านสื่อโทรทัศน์ก็เรียกความเห็นใจจากประชาชนได้เป็นอย่างมาก เนื้อหาของพระราชดำรัสนี้สะท้อนความคาดหวังของพระองค์ต่อสถาบัน โดยทรงเห็นว่าปัญหาสุขภาพอาจทำให้ไม่อาจปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างการเสด็จเยี่ยมราษฎรได้อย่างเก่า ทั้งยังทรงห่วงใยว่าการสิ้นพระชนม์ขณะยังทรงครองราชย์ อาจสร้างภาระหนักแก่ผู้เกี่ยวข้องในการจัดพิธีตามขนบประเพณีที่ทำมา นี่สะท้อนให้เห็นการตีความ ‘สัญลักษณ์’ ในแบบของพระองค์ ที่ใช่ว่าจะหมายถึงการนิ่งเฉยไม่ทำอะไร และไม่ใช่การดำรงอยู่อย่างเป็นภาระ

เมื่อญี่ปุ่นสามารถธำรงสถาบันจักรพรรดิผ่านวิกฤตการณ์ใหญ่มาได้ถึงขนาดนี้ ด้วยการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับเงื่อนไขหลังสงครามที่มีประชาธิปไตยและสันตินิยมเป็นที่ตั้ง และทำให้สถาบันเป็นของประชาชน คำถามต่อไปคือ นับจากนี้ญี่ปุ่นจะจัดการกับอุปสรรคใหม่ๆ ที่ท้าทายความต่อเนื่องของสถาบันนี้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสมาชิกราชวงศ์ที่ลดน้อยลงจากการสละฐานันดรศักดิ์ และการขาดแคลนผู้สืบราชสมบัติฝ่ายชาย ประเด็นเหล่านี้เริ่มเป็นที่ถกเถียงกันไม่น้อยในทางการเมือง และคงไม่อาจจัดการได้หากไม่มีการปฏิรูปขนบและระเบียบให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจและสมควรได้รับการจับตามองต่อไปจากนี้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save