fbpx

บิดเบือนเลือกตั้ง, ยุบพรรค, รัฐประหาร: การตอบโต้ของชนชั้นนำต่อความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง

แม้ดูราวกับว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เคลื่อนไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตยจะได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง จนคาดหมายกันว่าพรรคการเมืองในปีกดังกล่าวน่าจะประสบชัยชนะกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

แต่ลำพังเพียงผลของการเลือกตั้งจะยังไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดอย่างเด็ดขาด เนื่องจากชนชั้นนำของไทยได้ครอบงำและมีอิทธิพลเหนือองค์กรที่สามารถพลิกเปลี่ยนผลการเลือกตั้งให้ต่างไปจากเจตจำนงของประชาชน ปรากฏการณ์เช่นนี้มิใช่สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น หากเคยเกิดขึ้นให้เห็นเป็นที่ประจักษ์มาหลากหลายครั้งแล้วในสังคมไทย

ชนชั้นนำไทยรับมืออย่างไรบ้าง หากพรรคการเมืองที่สนับสนุนแนวทางอนุรักษนิยม/อำนาจนิยมพ่ายในการเลือกตั้งครั้งนี้

มีความเป็นไปได้ใน 3 รูปแบบ ที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อทำให้การเลือกตั้งมีความหมายลดน้อยลงไป ดังนี้


รูปแบบที่หนึ่ง การบิดเบือนการเลือกตั้ง

โดยหลักการทั่วไป การเลือกตั้งต้องควรจะต้องเป็นการดำเนินการโปร่งใส สะดวก เข้าใจได้ง่าย แต่จะพบว่าการเลือกตั้งในระยะเวลาที่ผ่านมามีการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง, จำนวน ส.ส., การนับคะแนน หรือเขตเลือกตั้ง เป็นผลให้ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งก็จะมาสู่ปฏิบัติการแบบใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม รวมทั้งการออกกฎเกณฑ์ที่แตกต่างไปซึ่งล้วนแต่เอื้อให้หน่วยงานรัฐสามารถดำเนินการด้วยการอ้างถึงอำนาจตามกฎหมาย แม้จะถูกโต้แย้งหรือตั้งคำถามอย่างกว้างขวาง

เช่น ทำไมจึงไม่ออกแบบให้บัตรเลือกตั้งทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อเป็นเบอร์เดียวกัน อันจะสะดวกต่อประชาชนในการลงคะแนน รวมทั้งสะดวกกับการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งของทาง กกต. เมื่อเลือกให้มีเบอร์ที่แตกต่างกันก็จะพบว่าความยากลำบากไม่ใช่เพียงการจดจำเบอร์ของประชาชน การจัดพิมพ์บัตรสำหรับแต่ละเขตก็มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นไปอีก

ไม่แน่ใจว่าที่ กกต. ไปดูงานระบบการเลือกตั้งที่ประเทศไหนแล้วได้แนวความคิดแบบนี้กลับมา หรือเอาเข้าจริงก็ไม่ได้เอาจากประเทศไหนหรอก คิดขึ้นมาจากภายในหน่วยงานเองนั่นแหละ

การบิดเบือนการเลือกตั้งจะทำให้ผลของการเลือกตั้งไม่เอื้อให้เจตจำนงของประชาชนเป็นหลักสำคัญต่อการจัดตั้งรัฐบาล ผลการเลือกตั้งเมื่อคราวที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการคำนวณคะแนนเสียง ส.ส. บัญชีรายชื่อมีผลอย่างมากต่อการเอื้อให้พรรคการเมืองในแนวทางอำนาจนิยมสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้จะไม่ได้รับคะแนนเสียงมากเป็นอันดับหนึ่งก็ตาม


รูปแบบที่สอง การยุบพรรค

อีกหนึ่งช่องทางที่ชนชั้นนำไทยใช้จัดการกับพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างล้นหลามมาหลายครั้งก็คือการยุบพรรคการเมือง ทั้งพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคอนาคตใหม่ ล้วนต้องเผชิญกับปัญหาในลักษณะเดียวกัน บทเรียนจากหลายประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมมาสู่ระบอบประชาธิปไตยแสดงให้เห็นว่าเมื่อชนชั้นนำไม่สามารถครองอำนาจผ่านการเลือกตั้งหรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อไม่สามารถเอาชนะการเมืองผ่านระบบเลือกตั้ง การใช้กลไกทางกฎหมายผ่านอำนาจตุลาการจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ชนชั้นนำเลือกใช้เป็นเครื่องมือ

เป็นที่ชัดเจนว่าอำนาจตุลาการของไทยก็เป็นส่วนหนึ่งที่พร้อมจะปกป้องอำนาจดั้งเดิมให้ธำรงอยู่ต่อไป การวินิจฉัยในข้อพิพาทหลายคดีทำให้เกิดข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางว่าเป็นไปโดยมีหลักกฎหมายและความชอบธรรมรองรับมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคอนาคตใหม่ หรือแม้กระทั่งการตัดสินในคดีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มีความหมายเท่ากับการล้มล้าง ก็ล้วนแสดงให้เห็นบทบาทและท่าทีของอำนาจตุลาการไทยได้อย่างชัดเจน

โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงว่าจะเป็นการทำให้ความน่าเชื่อถือของอำนาจตุลาการต้องตกต่ำมากเท่าใด เพราะนั่นมิใช่ประเด็นที่ชนชั้นนำตระหนักถึงในสถานการณ์เฉพาะหน้า


รูปแบบที่สาม การรัฐประหาร

การรัฐประหารไม่ใช่อุบัติเหตุทางการเมือง หรือเป็นการกระทำที่มาจากความหวังดีต่อประเทศชาติล้วนๆ แต่เป็นการกระทำที่มีการปรึกษาหารือ การวางแผน การสร้างเครือข่าย รวมถึงการพยักหน้าของชนชั้นนำไทย เมื่อพบว่ากลไกต่างๆ ที่กล่าวมาไม่ประสบความสำเร็จในการสกัดกั้นการขยายอำนาจของสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนในการรัฐประหารนั้นมีราคาที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ การจะลากรถถังออกมายึดอำนาจตามใจของชนชั้นนำเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายมากนัก (แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้) รัฐประหารสองครั้งหลังสุดจำเป็นต้องมีการปูทาง สร้างแนวร่วม และสร้างสถานการณ์เป็นระยะเวลานานพอสมควรเพื่อทำให้เกิดความชอบธรรมก่อนที่จะมีการตัดสินใจว่าถึงเวลาอันเหมาะสมแล้ว แต่การรัฐประหารก็จะไม่สามารถทำอะไรไปได้มากกว่าการชะลอความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นช้าออกไปอีกชั่วขณะเท่านั้น  

ทั้งอาจต้องแลกมากับความไม่พึงพอใจที่ลงสู่รากที่ลึกมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงที่เข้าไปถึงระดับพื้นฐานมากยิ่งขึ้น


ดังนั้น หากพรรคการเมืองอำนาจนิยม/อนุรักษนิยม พ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง และชนชั้นนำไม่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่มาเคาะประตูอย่างกึกก้อง ยังคงปกป้องอำนาจของกลุ่มตนเองต่อไปโดยไม่สนใจต่อความชอบธรรมทางการเมือง การตอบโต้ของชนชั้นนำไทยก็สามารถเป็นไปได้ทั้งสามแนวทาง

ประเด็นที่ต้องขบคิดก็คือ ชนชั้นนำไทยแสดงให้เห็นการยอมรับสถานการณ์ใหม่นี้มากน้อยเพียงใด หากพิจารณาจากท่าทีโดยรวมของชนชั้นนำไทยต่อสถานการณ์ทางการเมืองนับตั้งแต่ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2562, การจับกุมและดำเนินคดีต่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีการเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวาง, การใช้อำนาจทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในการคุกคามต่อประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยและความเสมอภาค, คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ, การทำหน้าที่ขององค์กรอิสระที่มีความสำคัญ เป็นต้น ก็จะพอสามารถเห็นคำตอบได้ว่าเครือข่ายชนชั้นนำไทยยังไม่ยอมรับให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากเท่าใด

สิ่งที่พอจะเป็นประโยชน์สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือ การทำให้เสียงของผู้คนในการเลือกตั้งสะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมก็คือ ความต้องการหลุดพ้นไปจากอุดมการณ์และอำนาจที่ครอบงำสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ยิ่งเสียงสนับสนุนของประชาชนต่อพรรคการเมืองที่สนับสนุนความเปลี่ยนแปลงมีมากเท่าใดก็จะยิ่งทำชนชั้นนำต้องชั่งใจเพิ่มมากขึ้น หากยังคิดจะใช้อำนาจแบบฉ้อฉลตอบโต้เฉกเช่นที่เคยเป็นมา

แต่นั่นแหละ เสียงที่ถล่มทลายก็ไม่ได้เป็นหลักประกันอย่างมั่นคงว่าจะทำให้ชนชั้นนำของไทยยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างง่ายดาย

ปัญญาชนอาวุโสของไทยเคยเตือนหลายครั้งว่าความขัดแย้งที่อยู่ในสังคมไทย ณ ห้วงเวลาปัจจุบันดูยากจะหลีกเลี่ยงจากความรุนแรง แน่นอนว่าการใช้ความรุนแรงเพื่อความเปลี่ยนแปลงคงไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าปรารถนามากนัก แต่ถ้าหากชนชั้นนำยังคงตาบอดหูหนวกและมุ่งใช้อำนาจแบบฉ้อฉลต่อไป การจะให้สังคมไทยเดินหน้าไปในอนาคตอย่างสันติก็คงเป็นเรื่องที่ยากลำบากมิใช่น้อย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save