fbpx
‘ประชาชนต้องไม่ถูกละเมิด’ คำสัญญาสิทธิมนุษยชนจากพรรคการเมือง

‘ประชาชนต้องไม่ถูกละเมิด’ คำสัญญาสิทธิมนุษยชนจากพรรคการเมือง

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ภาพ

นับเป็นห้วงเวลาที่แต่ละพรรคการเมืองได้นำเสนอนโยบายด้านต่างๆ กันอย่างคึกคัก ก่อนจะถึงวันเลือกตั้งที่ประชาชนไทยรอคอย เพื่อเป็นตัวเลือกให้ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกทิศทางประเทศจากการเปรียบเทียบอุดมการณ์และข้อเสนอของแต่ละพรรค

ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะในช่วงการปกครองภายใต้รัฐบาลทหาร ที่ทำให้ประเทศไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความถดถอยด้านสิทธิมนุษยชนหลากหลายด้านในเวทีโลก การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงเป็นความหวังใหม่ในการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นด้านสิทธิมนุษยชนให้ไทยกลับมายืนในเวทีนานาชาติได้เต็มภาคภูมิ

ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดเวทีดีเบตให้พรรคการเมืองได้แสดงนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนตามประเด็นคำถามที่ตั้งไว้ และมีตัวแทนจาก 5 พรรคการเมืองเข้าร่วม คือ วัฒนา เมืองสุข พรรคเพื่อไทย, อลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์, พาลินี งามพริ้ง พรรคมหาชน, เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร พรรคสามัญชน และ พรรณิการ์ วานิช พรรคอนาคตใหม่ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐไม่ตอบรับคำเชิญ

ในฐานะองค์กรสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มี วาระสิทธิมนุษยชน 9 ข้อ เป็นข้อเรียกร้องต่อพรรคการเมืองให้ปฏิบัติเร่งด่วนหลังเลือกตั้ง คือ 1.ยุติการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย 2.ยุติการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ 3.คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก 4.ส่งเสริมสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ 5.คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 6.คุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย รวมถึงแรงงานข้ามชาติ 7.ส่งเสริมสิทธิความเป็นส่วนตัวในการใช้คอมพิวเตอร์ 8.ให้การเยียวยาเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน 9.ยกเลิกโทษประหารชีวิต

วัฒนา เมืองสุข พรรคเพื่อไทย, อลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์, พาลินี งามพริ้ง พรรคมหาชน, เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร พรรคสามัญชน และ พรรณิการ์ วานิช พรรคอนาคตใหม่

นโยบายแกนหลัก 5 พรรค เห็นร่วมแก้กฎหมายละเมิดสิทธิ

สำหรับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของพรรคเพื่อไทย วัฒนากล่าวว่าพรรคให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยที่มีสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน จึงจะทำเรื่องการเคารพสิทธิการแสดงออกก่อน สิ่งใดกระทบสิทธิพื้นฐานของการเป็นคนต้องยกเลิก ควบคู่กับการปฏิรูปองค์กรที่มีส่วนในการละเมิดสิทธิมากที่สุด เช่น องค์กรในกระบวนการยุติธรรมและกองทัพ รวมถึงการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่ออกมาโดยขัดหลักนิติธรรม เพื่อให้เป็นไปตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ

ขณะที่ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ มองว่าสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยต้องขับเคลื่อนไปในบริบทของความตกลงระหว่างประเทศ ประเพณี ธรรมเนียม ระบบกฎหมาย และความเชื่อที่ต่างกันในแต่ละประเทศ โดยอลงกรณ์บอกว่าสิ่งที่จะทำถ้าได้เป็นรัฐบาล คือ 1.จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ จัดทำกรอบสิทธิมนุษยชนแห่งชาติครอบคลุมประเด็นสำคัญ 21 สิทธิตามแนวทางยูพีอาร์ 2.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะปฏิรูปตำรวจ 3.การปฏิรูปกฎหมาย

ตัวแทนพรรคมหาชน พาลินีเผยว่าพรรคมุ่งไปที่การทำให้เกิดความเท่าเทียมในทุกมิติ ความเท่าเทียมทางการเมืองคือทำการเมืองแบบไม่แบ่งฝ่ายไม่เลือกข้าง สนับสนุนพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาล ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจคือให้มีการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้เท่ากัน ความเท่าเทียมด้านสิทธิมนุษยชนต้องมีการปลดล็อก พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี ที่ลิดรอนสิทธิคนด้อยโอกาสที่ทำงานในภาคบริการ ที่สำคัญคือการยึดมั่นเรื่องความหลากหลายทางเพศ

ด้านพรรคสามัญชน เกรียงศักดิ์กล่าวว่า พรรคมีอุดมการณ์ 3 ข้อคือ ประชาธิปไตยฐานราก สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมเป็นธรรม และมีนโยบายสิทธิมนุษยชนที่โดดเด่นคือ 1.สร้างกลไกคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย 2.ผลักดันเรื่องความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางเพศเป็นวาระแห่งชาติ ผู้หญิงต้องมีสิทธิตัดสินใจเรื่องร่างกายของตัวเอง รวมถึงเรื่องการทำแท้ง 3.ทบทวนกฎหมายที่จำกัดสิทธิการเข้าถึงสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติและพนักงานบริการทางเพศ และสิทธิการทำงานของผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ยังมีนโยบายกลุ่มชาติพันธุ์ คนไร้รัฐ แรงงานพลัดถิ่น รวมถึงผู้พิการ พร้อมเสริมว่าหากสามัญชนเป็นรัฐบาล สิ่งแรกที่จะทำคือแก้กฎหมายที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ยกเลิกคำสั่ง คสช. 35 ฉบับ ยกเลิกการดำเนินคดีข้อหาเกี่ยวกับการแสดงความเห็นทางการเมืองของคนไทยทุกคน รวมถึงคนที่ลี้ภัยในต่างประเทศ

พรรณิการ์ ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พรรคมุ่งสร้างสังคมที่คนเท่าเทียมกัน นำประเทศไทยไปเท่าทันโลก เรื่องสิทธิมนุษยชนเร่งด่วนที่สุดคือสามจังหวัดชายแดนใต้ ต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษที่ใช้อยู่ เช่น กฎอัยการศึก หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วกลับมาใช้กฎหมายปกติ ทำกระบวนการความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน คนที่ถูกละเมิดโดยรัฐต้องได้รับการเยียวยา นอกจากนี้คือการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ที่ให้คำสั่งคสช. ถูกต้องชอบธรรม ประกาศคำสั่ง คสช. ต้องถูกพิจารณาใหม่หมด หากมีผู้ได้ประโยชน์โดยสุจริตต้องเปลี่ยนเป็นกฎกระทรวงหรือกฎหมายอื่น แต่หากประกาศหรือคำสั่งนั้นละเมิดประชาชน ต้องยกเลิกและเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย

วัฒนา เมืองสุข พรรคเพื่อไทย
วัฒนา เมืองสุข พรรคเพื่อไทย

ผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ

ผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาตินับเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาก และต้องการการคุ้มครองเป็นพิเศษ ปัญหาสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถจัดการเรื่องผู้ลี้ภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไทยไม่ให้การรับรองสถานะผู้ลี้ภัย

อลงกรณ์ ชี้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ มี 5 ข้อเสนอ คือ 1.เร่งรัดการทำงานของคณะกรรมการบริหารคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย 2.เร่งรัดกระบวนการคัดกรองผู้เข้าเมืองและผู้ลี้ภัย โดยแยกผู้อพยพทางเศรษฐกิจกับผู้ลี้ภัยให้ชัดเจน 3.กำหนดแนวปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐให้ชัดเจน 4.พิจารณานโยบายการเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย, ตรากฎหมายผู้ลี้ภัยให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน, พิจารณาการเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 97 ว่าด้วยการอพยพเพื่อการมีงานทำ และฉบับที่ 143 ว่าด้วยการอพยพในสภาพที่ถูกกดขี่และส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียมกัน 5.เมื่อเข้าสู่รัฐบาลพลเรือนไทยต้องปฏิบัติตามพันธะสัญญาต่างๆ ที่รัฐบาลในอดีตได้ประกาศไว้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและแรงงานต่างชาติ

ด้านพรรคสามัญชน เกรียงศักดิ์เสนอว่า ต้องเอาผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติออกจากการจัดการของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่จะซ้ำเติมเรื่องการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้น โดยมีนโยบายคือ 1.สำรวจและผ่อนผันสถานะ เพื่อพิสูจน์และคัดกรองสถานะทางกฎหมายให้เหมาะสม นำไปสู่การเข้าถึงสิทธิพื้นฐานและการบริการสาธารณะ ตั้งกรรมการกิจการคนเข้าเมืองแทนที่สภาความมั่นคง เพื่อรับรองสิทธิและจัดการประชากรในระยะยาว 2.กำหนดแนวนโยบายของรัฐและมีกฎหมายที่ชัดเจนเรื่องการไม่ผลักผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญอันตราย

พรรณิการ์ เสนอนโยบายพรรคอนาคตใหม่ว่าต้องทำให้มีสถานะผู้ลี้ภัยเกิดในระบบกฎหมายไทย สอดคล้องกับปฏิญญาสากล และทำให้เจ้าหน้าที่ไทยเข้าใจเรื่องสถานะผู้ลี้ภัย ส่วนเรื่องแรงงานข้ามชาติ ต้องทำให้กระบวนการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และราคาถูก เพื่อให้มีการปกป้องคุ้มครองสิทธิแรงงาน ซึ่งจะแก้ทั้งปัญหาสิทธิมนุษยชนและปัญหาเศรษฐกิจ

พาลินี กล่าวถึงแนวคิดว่า ในฐานะคนของประชาคมโลก ทุกคนมีสิทธิใช้ทรัพยากรแต่ละที่ได้ตามความเหมาะสม พรรคสนับสนุนการให้สัญชาติกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในแผ่นดินนี้มานานโดยไม่มีเงื่อนไขที่ซับซ้อน ส่วนคนย้ายถิ่นฐานทั้งผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ รัฐบาลต้องไม่ส่งคนกลับไปเผชิญความตาย

ด้านวัฒนา มองกว้างๆ ว่าปัญหาใหญ่คือการที่รัฐบาลทหารไม่เข้าใจเรื่องสิทธิความเป็นคน และมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย จึงเสนอให้มีศาลประชาชนเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ให้มีประชาชนเป็นคณะลูกขุนแก้ปัญหาเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบ

จะเห็นได้ว่า บางพรรคแม้ไม่ได้ยืนยันเรื่องการรับรองสถานะผู้ลี้ภัย แต่เห็นปัญหาเร่งด่วนร่วมกันว่าต้องทำให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงสิทธิพื้นฐานในชีวิต

อลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์
อลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์

ความเท่าเทียมทางเพศ

แม้ปัจจุบันไทยจะมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศแล้ว แต่ในแง่การปฏิบัติและกฎหมายบางอย่าง ยังไม่สอดคล้องที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมได้อย่างแท้จริง เช่น การเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ดูจะเป็นความก้าวหน้าในสิทธิความหลากหลายทางเพศ แต่ก็เป็นกฎหมายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่าไม่ได้ให้ความเสมอภาคอย่างแท้จริง และยิ่งสะท้อนว่าเพศหลากหลายไม่มีสิทธิที่เท่าเทียมกับชายหญิง

พาลินี กล่าวว่าในฐานะเพศหลากหลาย เธอเข้าใจเรื่องการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และถูกทำให้อับอายในที่สาธารณะ เช่น การตะโกนคำนำหน้านามในโรงพยาบาล พรรคจะผลักดันกฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ยังไม่ได้สิทธิเท่าการสมรสชายหญิง ขณะเดียวกันต้องแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดเรื่องการสมรสของชายหญิงให้เป็นการสมรสของบุคคลให้ได้สิทธิที่เท่าเทียม และมีเรื่องการรับรองเพศสภาพ หรือการแก้คำนำหน้านาม เป็นสิ่งที่จะผลักดัน โดยต้องมีการให้ความรู้กับสังคม เพื่อไม่ให้ถูกกีดกันจากโอกาสทางการศึกษาและการทำงาน

ส่วนอนาคตใหม่แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต พรรณิการ์เห็นว่าต้องแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้เป็นการสมรสระหว่างบุคคลต่อบุคคล นอกจากนี้ยังต้องผลักดันให้กฎหมายที่มีอยู่บังคับใช้ได้จริง เช่น พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยเห็นว่าการทำงานกับความคิดคนในสังคม ต้องเดินคู่กับการทำงานการเมือง

อีกพรรคที่มีข้อเสนอเรื่องนี้อย่างโดดเด่น คือพรรคสามัญชน เกรียงศักดิ์บอกว่าทางพรรคมองเรื่องการพูดเรื่องชนชั้น ควบคู่กับความเท่าเทียมทางเพศ จึงต้องพูดคุยกันเรื่องการจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียมทางเพศ สนับสนุนให้คนข้ามเพศสามารถเข้าถึงสวัสดิการสังคม มีวันลาหยุดโดยได้ค่าจ้างตามปกติ เพิ่มระยะเวลาการแจ้งความคดีล่วงละเมิดให้ยาวนานขึ้น และเห็นตรงกับพรรคอื่นเรื่องการแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องการให้เพศหลากหลายได้จดทะเบียนตั้งครอบครัว

อลงกรณ์ บอกว่าประชาธิปัตย์ไม่ปิดช่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่หนุนการแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และจะพยายามทำงานทางความคิดกับสังคม ส่วนวัฒนามองว่ากฎหมายยอมรับสถานะการแต่งงาน และการเปลี่ยนคำนำหน้านามของเพศหลากหลาย ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน จึงไม่จำเป็นต้องจำกัดสิทธิคนกลุ่มนี้

ข้อเสนอเรื่องการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จากที่กำหนดเรื่องการสมรสชายหญิงให้เป็นการสมรสของ ‘บุคคล’ โดยไม่กำหนดเพศ เป็นสิ่งที่ทุกพรรคเห็นร่วมกัน แม้ทางพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้พูดถึงตัวกฎหมายชัดเจน แต่มีความเห็นสนับสนุนการแต่งงานของเพศหลากหลาย

พาลินี งามพริ้ง พรรคมหาชน
พาลินี งามพริ้ง พรรคมหาชน

เสรีภาพการชุมนุม

ปัญหาเรื่องเสรีภาพการแสดงออกยังคงถูกจำกัดมากในสังคมไทย โดยเฉพาะยุค คสช. เมื่อการควบคุมการชุมนุมควรทำเมื่อมีการใช้ความรุนแรงเท่านั้น แต่กลับมีการแจ้งความดำเนินคดีผู้ชุมนุมจำนวนมาก รวมถึงการเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือลิดรอนสิทธิของประชาชน

พาลินี เห็นว่าการชุมนุมในวิกฤตการเมืองไทยที่ผ่านมาก่อนรัฐประหาร เป็นเกมการเมืองนอกสภา ไม่ใช่การชุมนุมที่บริสุทธิ์ของประชาชน อันมีการยึดสนามบิน ยึดทำเนียบ มีอาวุธ จึงเห็นว่าการชุมนุมโดยสุจริตควรทำได้ แต่ต้องมีการควบคุมหรือกำหนดโซนนิ่งให้ชัดเจน ไม่เบียดบังพื้นที่สาธารณะ ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น

วัฒนา เห็นว่าหลักสำคัญคือทัศนคติของเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องเคารพสิทธิการชุมนุมของประชาชนที่เป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.การชุมนุมต้องมีเพื่ออำนวยความสะดวกการชุมนุม รักษาความปลอดภัยและปกป้องสิทธิสาธารณะ แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่บังคับใช้กฎหมายกลับใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สร้างปัญหาให้การชุมนุม

“ที่สำคัญไม่น้อยกว่าการแก้กฎหมายคือเราต้องปรับทัศนคติของสังคม โดยเฉพาะเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ที่เพื่อไทยเคยเยียวยาผู้เสียชีวิตจากการชุมนุม แต่กลับถูกเปรียบเทียบว่าจ่ายให้มากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ทางภาคใต้ ซึ่งเป็นคนละบริบท เพราะนี่เป็นการจ่ายเพื่อลงโทษรัฐบาลว่าต่อไปอย่าทำแบบนี้กับประชาชนอีก ประชาชนไม่มีหน้าที่เอาชีวิตตัวเองมาเสี่ยงเพื่อเรียกร้องสิทธิพื้นฐาน” วัฒนากล่าว

อลงกรณ์ ยืนยันว่าหลังเลือกตั้งหากประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล จะยกเลิกกฎหมายที่ขัดหลักประชาธิปไตยและจำกัดสิทธิเสรีภาพ จะแก้ไข พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน หลักรัฐธรรมนูญ หลักนิติรัฐ หลักความโปร่งใส แต่การชุมนุมต้องสงบปราศจากอาวุธ ไม่เป็นภัยสาธารณะหรือละเมิดสิทธิผู้อื่น

เช่นเดียวกับ พรรณิการ์ ที่เห็นว่าต้องแก้ไข พ.ร.บ.นี้ แต่เพิ่มเติมว่าพรรคอนาคตใหม่ต้องการให้สัตยาบันในธรรมนูญกรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ เพราะที่ผ่านมามีการปราบปรามสังหารผู้ชุมนุมโดยสงบแล้วเกิดการลอยนวลพ้นผิด แม้ศาลจะพิสูจน์แล้วว่าเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553

“ต้องไม่มีการพ้นผิดลอยนวลอีกต่อไป ผู้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติต้องถูกจัดการโดยกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ ผ่านศาลอาญาระหว่างประเทศ เป็นสิ่งการันตีว่าชีวิตมนุษย์ทุกคนมีความหมาย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม” พรรณิการ์กล่าว

ขณะที่เกรียงศักดิ์ เห็นต่างว่าควรยกเลิก พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ไปเลย เพราะสมาชิกพรรคจำนวนมากเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่บิดเบี้ยว ซึ่งมักเป็นคู่กรณีกับเจ้าหน้าที่รัฐ อันนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและการลิดรอนสิทธิ การขออนุญาตชุมนุมจากเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ตอบโจทย์ เขาเห็นว่าชาวบ้านมีความรู้และมีวัฒนธรรมการชุมนุมโดยสงบอยู่แล้ว ควรใช้กฎหมายที่มีอยู่จัดการกับผู้ละเมิดกฎหมายแทน

ทั้ง 5 พรรคยังเห็นต่างกันในแนวทางต่อกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ ทั้งการยกเลิก การแก้ไข การบังคับใช้ แต่มีทิศทางเดียวกันว่าภาครัฐต้องการเคารพสิทธิการชุมนุมของประชาชน ขณะที่การชุมนุมต้องเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ

เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร พรรคสามัญชน
เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร พรรคสามัญชน

เสรีภาพการแสดงออก

นอกจากเสรีภาพการชุมนุมของประชาชนจะถูกลิดรอนโดยกฎหมายแล้ว เสรีภาพการแสดงออกยังถูกจำกัดด้วยกฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พรรคการเมืองจึงต้องสร้างหลักประกันว่า ประชาชนจะสามารถแสดงความเห็นได้โดยไม่ถูกดำเนินคดี เพื่อยืนยันหลักการสิทธิมนุษยชน

การแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นสิ่งที่อนาคตใหม่ยืนยันจะทำอย่างแน่นอน พรรณิการ์เห็นว่ากฎหมายนี้ถูกนำมาใช้ควบคุมเนื้อหาและละเมิดเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน แทนที่จะถูกใช้เชิงเทคนิคในความผิดเกี่ยวกับระบบ ทั้งที่หากมีการปล่อยข่าวเท็จ สามารถใช้กฎหมายหมิ่นประมาทได้ อีกทั้งเห็นว่าความผิดคดีหมิ่นประมาทควรเป็นความผิดทางแพ่งเท่านั้น และยังมีกฎหมายอื่นที่ละเมิดสิทธิประชาชนและจะต้องถูกนำมารื้อใหม่ เช่น ประกาศและคำสั่ง คสช. และกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

วัฒนา มองเรื่องนี้เป็นปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายเช่นเดียวกับปัญหาอื่น ต้องมีการทำความเข้าใจและให้การศึกษาแก่รัฐและเจ้าหน้าที่ ยิ่งกว่านั้นคือเรื่องความซื่อสัตย์ในวิชาชีพของผู้คนในกระบวนการยุติธรรม ที่ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้เพราะกลัวการถูกย้ายตำแหน่งหน้าที่

อลงกรณ์ เสนอเรื่องการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท โดยเฉพาะชุดกฎหมายไซเบอร์ ต้องไม่ให้มีการใช้อำนาจรัฐไปกลั่นแกล้ง และต้องนิยามเรื่องความมั่นคงให้แคบที่สุด ไม่ให้เกิดการตีความได้

ส่วน พาลินี แม้จะไม่ได้พูดเรื่องการแก้กฎหมายโดยตรง แต่ยันยันหลักการเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ว่าเป็นคุณค่าทางวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง จึงเป็นสิ่งที่ต้องปกป้องให้ไม่ถูกทำลาย หากมีการแสดงความเห็นที่ละเมิดคนอื่นก็ยังสามารถใช้กฎหมายหมิ่นประมาทได้

ข้อเสนอของพรรคสามัญชน นอกจากจะมองเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เกรียงศักดิ์ยังบอกว่าพรรคมองไปถึงการยกเลิกคำสั่ง คสช. 35 ฉบับที่จำกัดและลิดรอนเสรีภาพการแสดงออก เพื่อยุติการดำเนินคดีทางการเมืองที่เกิดขึ้นในยุค คสช. คืนสิทธิให้ผู้ต้องหาและผู้ต้องขังทุกคน

แม้บางพรรคไม่ได้ตอบคำถามเรื่องการแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน แต่ทุกพรรคมองเห็นปัญหาร่วมกันถึงการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาศัยกฎหมายเข้ามาควบคุมการแสดงความคิดเห็น

พรรณิการ์ วานิช พรรคอนาคตใหม่
พรรณิการ์ วานิช พรรคอนาคตใหม่

ความขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนใต้

ตามมาตรฐานสากล การใช้กฎหมายพิเศษควรคำนึงถึงความจำเป็นและความได้สัดส่วน โดยเฉพาะสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ที่ความมั่นคงมักถูกนำมาใช้อ้าง เพื่อละเมิดสิทธิของประชาชนผ่าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก

วัฒนา และ อลงกรณ์ เห็นตรงกันว่าปัญหาชายแดนใต้ต้องเปลี่ยนมาใช้การเมืองนำการทหาร จึงจะคลี่คลายความขัดแย้งได้ พรรคเพื่อไทยมองว่าปัญหาที่ลุกลามบานปลาย และมีการใช้เงินมหาศาลไปแก้ปัญหา ทำให้มีการผสมโรงจากคนที่ไม่ต้องการให้สถานการณ์จบ จึงควรยกเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติที่มีการร่วมกันคิดหาทางออก และยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษา

อลงกรณ์มองว่าความแตกต่างหลากหลายมีมานานแล้ว แต่ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น โดยเฉพาะสมัยชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ ความไม่สงบเพิ่งมาปะทุเมื่อปี 2547 (ยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย) สิ่งสำคัญคือหลักความยุติธรรมและการเคารพความแตกต่าง พรรคประชาธิปัตย์จะยกเลิกกฎหมายพิเศษและให้ภาคพลเรือนและกลุ่มศาสนาที่แตกต่างได้เข้ามาร่วมคิดและแก้ปัญหา

พาลินี มองเรื่องการเคารพความแตกต่างและไม่ใช้อำนาจรัฐเข้าไปจัดการทุกอย่าง แล้วกระตุ้นปัญหาที่ทำให้คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ ส่วน เกรียงศักดิ์ มองตามหลักการของพรรคว่าต้องกำจัดบรรยากาศของความกลัว ยกเลิกกฎหมายพิเศษมาใช้กฎหมายปกติ สนับสนุนให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและไต่สวนที่เป็นธรรม รวมถึงผลักดันให้มีการเยียวยาผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้คนได้มาพูดคุยกัน

พรรณิการ์ ยืนยันนโยบายพรรคอนาคตใหม่ที่จะต้องยกเลิกกฎหมายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชน และทำให้มีการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต โดย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สามารถใช้ได้ในเงื่อนไขที่เคร่งครัดขึ้น เช่น ต้องส่งให้สภาพิจารณาหากประกาศใช้เกิน 7 วัน หรือหากใช้เกิน 30 วัน กสม.มีสิทธิฟ้องศาลปกครองถึงระยะเวลาที่นานผิดปกติได้ ที่สำคัญคือกระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน เยียวยาผู้สูญเสียจากความรุนแรง และสร้างความจริงให้ปรากฏ

“รู้สึกดีใจที่ทุกพรรคเห็นตรงกันว่าความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ใช่ความขัดแย้งทางศาสนาหรือเชื้อชาติ แต่เป็นปัญหาการเมืองที่ต้องแก้ด้วยการเมือง นโยบายใดที่เห็นตรงกันถือเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศชาติ หวังว่าต่อไปจะเกิดการเจรจาสันติภาพและดำเนินต่อไปได้ในรัฐบาลพลเรือน จนปัญหาจะยุติลงได้” พรรณิการ์กล่าว

อังคณา นีละไพจิตร
อังคณา นีละไพจิตร

การทรมานและการอุ้มหาย

ประเด็นนี้ตั้งต้นคำถามโดย อังคณา นีละไพจิตร ในฐานะครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ว่าต้องการเห็นนโยบายที่ทำได้จริงในปัญหาการละเมิดสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย ซึ่งที่ผ่านมาคนทำผิดไม่ต้องรับโทษ โดยเฉพาะกรณีการบังคับสูญหาย ที่กำลังมี พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ที่สนช.กำลังพิจารณาอยู่ แต่เป็นการพิจารณาด้วยความกลัวว่าเจ้าหน้าที่จะถูกลงโทษ มากกว่ากลัวว่าจะไม่มีหลักในการคุ้มครองประชาชน

อลงกรณ์ ให้คำมั่นว่าประชาธิปัตย์จะผลักดันกฎหมายนี้ให้เกิดขึ้น โดยคงเรื่องหลักความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาไว้ และให้เหยื่อความรุนแรงมีส่วนร่วมในการยกร่าง รวมถึงจะพิจารณาการให้สัตยาบัน ICPD ที่ค้างอยู่ เพื่อฟื้นฟูหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม

พรรณิการ์ เห็นด้วยเรื่องการผลักดันกฎหมายนี้ และจะนำประเด็นที่ สนช. ตัดออกกลับเข้ามา เช่น การไม่ให้ส่งผู้อพยพลี้ภัยกลับไปเผชิญอันตรายที่อาจเกิดการทรมานหรืออุ้มหายได้ การรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาที่จะช่วยกวดขันไม่ให้มีการซ้อมทรมานอุ้มหาย เพราะเรื่องนี้ส่วนใหญ่เกิดจากบุคคลในเครื่องแบบ และร่างของ สนช. ยังมีเรื่องการยกเว้นให้ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ หากเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือกระทบต่อคดีอาญา กลายเป็นช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ ซึ่งอนาคตใหม่ยืนยันจะแก้ไขและเสนอกฎหมายนี้แม้ไม่ได้เป็นรัฐบาล โดยอยากได้ความร่วมมือจากภาคประชาสังคม และต้องทำควบคู่กับการปฏิรูปกองทัพ โดยเกรียงศักดิ์ บอกว่าพรรคสามัญชนจะร่วมผลักดันกฎหมายป้องกันทรมานและอุ้มหายด้วย ส่วนวัฒนา กล่าวสนับสนุนว่าการที่พรรคการเมืองจะเสนอกฎหมายที่ละเอียดอ่อน จำเป็นต้องได้รับการหนุนหลังจากประชาชนให้เดินหน้าทำสิ่งที่ถูกต้องได้

ขณะที่ พาลินี มองเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ไม่สามารถคิดแบบนักการเมืองที่จะให้คำมั่นสัญญาได้โดยง่าย เพราะตัวเองไม่สามารถพูดแทนเหยื่อหรือผู้ได้รับผลกระทบได้ แต่จะยกระดับการพัฒนาสิทธิมนุษยชนให้เป็นเรื่องสำคัญควบคู่กับด้านเศรษฐกิจและสังคม

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่พรรคส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า ต้องผลักดันให้เกิดกฎหมายที่จะสร้างการปกป้องคุ้มครองการทรมานและการอุ้มหายให้ได้ โดยไม่เห็นด้วยกับฉบับของ สนช. ที่มีจุดอ่อน

พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์

กฎหมายล่าสุดที่ทำให้เกิดการตื่นตัวและมีการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง คือ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ซึ่ง ณัชปกร นามเมือง โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ยกประเด็นนี้ขึ้นมาถามแต่ละพรรคการเมืองว่าจะมีบทบาทอย่างไรต่อไป เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีบทบัญญัติที่ทำให้ตีความได้กว้างและสามารถไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้ จนจะทำให้ความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลลดลง โดยชี้ข้อกังวลว่า จะกำกับการใช้อำนาจของรัฐอย่างไรให้ได้สัดส่วนระหว่างความมั่นคงของรัฐและความเป็นส่วนตัว

พาลินี และ พรรณิการ์ เห็นตรงกันเรื่องการแก้กฎหมายฉบับนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยต้องนิยามเรื่องความมั่นคงไซเบอร์ให้เป็นความผิดเรื่องการโจมตีระบบ ไม่ใช่การควบคุมเนื้อหา ความมั่นคงในบริบทปัจจุบันเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ พรรณิการ์จึงเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ควรอยู่ในอำนาจของสภาความมั่นคงแห่งชาติ

เกรียงศักดิ์ เสนอแนวคิดของพรรคสามัญชนที่เห็นว่า ความมั่นคงส่วนบุคคลต้องอยู่เหนือความมั่นคงของรัฐ ประชาชนต้องมีสิทธิในการให้ความยินยอมว่าสามารถนำข้อมูลไปใช้อย่างไรได้บ้าง แต่กฎหมายลักษณะนี้นอกจากไม่คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล ยังเปิดให้เอกชนเอาข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอม

ส่วนแนวทางของพรรคเพื่อไทย วัฒนาไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่มีลักษณะละเมิดความเป็นส่วนตัวและมีความคิดย้อนยุค ทางพรรคมีความคิดเรื่องการออกกฎหมายชุดหนึ่งคือ ‘กิโยตินลอว์’ ที่จะออกมาเพื่อฆ่ากฎหมายที่มีปัญหา เช่น คำสั่ง คสช. ต่างๆ โดยมองว่าถ้าแก้ทีละฉบับจะเสียเวลา จึงควรมีการออกกฎหมายฉบับหนึ่งมายกเลิก และยืนยันว่ากฎหมายที่จะมีผลใช้ปกครอง ต้องออกโดยรัฏฐาธิปัตย์ที่เข้าสู่อำนาจโดยชอบ

ด้าน อลงกรณ์ เห็นต่างจากพรรคอื่นในประเด็นนี้ โดยบอกว่ากฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จำเป็นต่อการขับเคลื่อนประเทศสู่ยุคดิจิทัลที่พรรคประชาธิปัตย์จะผลักดัน จึงอยากให้อ่านกฎหมายสองฉบับนี้ก่อน เพราะกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์จะใช้กับกรณีภัยความมั่นคงที่ร้ายแรง เช่น การโจมตีระบบที่ส่งผลต่อประเทศไทย แต่เห็นว่าการทบทวนกฎหมายโดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่ต้องมี

จะเห็นได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นแตกต่างจากทุกพรรค โดยมองว่าเนื้อหากฎหมายที่ออกมา มุ่งใช้จัดการกับภัยความมั่นคงร้ายแรงที่เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ ขณะที่พรรคอื่นมองว่าเป็นการเปิดช่องให้ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชน

ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์
ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์

ข้อฝากคิด ถึงรัฐบาลพลเรือนหลังการเลือกตั้ง

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ มีข้อฝากคิดไปยังทุกพรรคการเมืองว่า ประเทศไทยมีประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำได้ดีแล้ว และประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไข

5 ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยทำได้ดี และควรทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ได้แก่

1. สิทธิทางด้านเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม เช่น การพยายามขจัดความยากจนของหลายรัฐบาลในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ แต่ช่องว่างระหว่างผู้ถือครองทรัพยากรจำนวนมากกับผู้ไม่มีทรัพยากรนั้นกว้างขึ้น

2. นโยบายด้านสาธารณสุขเป็นสิ่งน่าชื่นชม โดยเฉพาะ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ที่ต้องให้คงอยู่และเสริมสร้างให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากต่อชีวิตชาวบ้าน และอีกนโยบายที่ได้รับคำชื่นชมคือการเอื้อเฟื้อต่อผู้เป็นเอชไอวีและเอดส์

3. การพยายามขยายการเข้าถึงการศึกษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียน ซึ่งควรเป็นสิทธิของเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ ตรงกับอนุสัญญาสิทธิเด็กและเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบัน

4. เรื่องเพศสภาพ ปัจจุบันมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ และมีพลวัตรถึง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นนิมิตที่ดีในการเปิดพื้นที่ด้านเพศและเพศสภาพ

5. การปราบการค้ามนุษย์ใน 2-3 ปีนี้ ทำได้ดีพอควรและต้องทำให้โปร่งใสขึ้นอีก

นอกจากนี้ วิทิตยังฝากการบ้าน 10 ข้อ เป็นโจทย์ให้ร่วมกันแก้ไขเรื่องที่ยังตกหล่นอยู่

1. ขอให้ทุกฝ่ายเคารพสิทธิของประชาชนในการกำหนดอนาคตของตนเอง เลือกตั้งอย่างเสรี มีพรรคการเมืองที่หลากหลาย มีคานดุลอำนาจ ไม่ละเมิดสิทธิในการไปคูหา ต้องโปร่งใสและเคารพผลลัพธ์ที่ตามมา

2. สิทธิในการแสดงออกและการรวมกลุ่ม ยังมีข้อจำกัดมากในกฎหมายและการปฏิบัติ ขอให้ปฏิรูปข้อจำกัดทั้งหลายและทำให้สมดุลมากขึ้นตามหลักสากล การจะจำกัดสิทธิต้องพิสูจน์ว่าจำเป็นจริงๆ และสมส่วน มีกฎหมายที่พ้องกับกฎหมายสากล โดยเฉพาะที่ไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาต่างๆ โลกมองว่าการปฏิบัติในไทยเกี่ยวกับข้อจำกัดนี้ ยังไม่สมดุล ทั้งใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2, การใช้กฎหมายอาญาบางมาตราตั้งแต่มาตรา 110+, การใช้กฎหมายอาญาหมิ่นประมาท, ประกาศและคำสั่งของผู้มีอำนาจ และล่าสุดที่ระแวงอย่างยิ่ง คือพ.ร.บ.ไซเบอร์

3. การโจมตีผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ทั้งการกักตัวและการฟ้องร้อง นอกจากถูกใช้โดยเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว กลุ่มธุรกิจยังใช้วิธีการนี้ด้วย

4. การเยียวยาและความรับผิดชอบ (accountability) ยังไม่โปร่งใสเท่าที่ควร ต้องมีการรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและอาญา ไม่ใช่แค่การโยกย้ายเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดอย่างที่ผ่านมา

5. กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะระบบทางอาญา ระบบราชทัณฑ์ ระบบกักตัวนอกเขต ยังน่าเป็นห่วง โลกมองว่าการกักตัวบุคคลที่เกี่ยวกับยาเสพติดน่าจะพิจารณาวิธีอื่น และพลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร ถ้ามีคดีค้างอยู่ขอให้โอนสู่ศาลพลเรือนและอุทธรณ์ในศาลพลเรือน

6. การปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย ต้องผลักดันให้มีกฎหมายตามพันธะกรณีสากล การห้ามทรมานและอุ้มหายเป็นกฎเกณฑ์ที่เด็ดขาดและยกเว้นไม่ได้ จึงไม่ควรอ้างเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐ และไม่ให้ส่งผู้ขออพยพลี้ภัยกลับไปสู่ดินแดนที่อาจเกิดเหตุการทรมานหรืออุ้มหาย

7. ขอให้พิจารณาการใช้กฎหมายฉุกเฉินอีกครั้ง แม้การปฏิบัติบางส่วนในสามจังหวัดชายแดนใต้จะดีขึ้น แต่การใช้กฎอัยการศึกและพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากทั่วโลกผ่านกรรมการของสหประชาชาติ จึงขอให้โอนการฟ้องร้องไปสู่การใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และหากเป็นไปได้ควรใช้กฎหมายอาญาธรรมดา

8. การคุ้มครองปกป้องกลุ่มต่างๆ ทั้งความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก การปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าวและผู้อพยพลี้ภัย ต้องทำให้ได้ผลมากขึ้น โดยไม่ลืมเรื่องการแสวงหาสัญชาติของกลุ่มไร้สัญชาติในไทย

9. การลงโทษประหารชีวิต บางท่านอาจมองว่าประชาชนส่วนมากในไทยยังเห็นด้วย แต่กระแสของโลกไม่เห็นด้วย จึงอยากให้มองแบบค่อยเป็นค่อยไป ล่าสุดประเทศไทยปฏิรูปกฎหมายลงโทษประหารชีวิตในกรณีคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นการปฏิรูปที่ดีขึ้น แต่ยังมีประเด็นค้างอยู่ เช่น เปิดช่องให้ประหารชีวิตคดียาเสพติด ซึ่งสหประชาชาติไม่เห็นด้วย หากจะมีการประหารชีวิตต้องเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่สุด ซึ่งสหประชาชาติไม่ถือว่าคดียาเสพติดเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่สุด

10. เรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่สิทธิของปัจเจก แต่เป็นสิทธิชุมชนด้วย เช่น ถ้าชุมชนดั้งเดิมอยู่ในป่ามานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นป่าสงวนหรืออะไร หากจะโยกย้ายต้องเคารพหลักการที่ว่าชุมชนต้องยินยอม และได้รับข้อมูลโดยมีการเจรจา

“สิ่งที่ต้องเน้นในการเลือกตั้งนี้ ขอให้เคารพการปกครองประเทศโดยพลเรือนเป็นรัฐบาล (civilian rule) เราเคารพบริบทของเจ้าหน้าที่ในกรอบที่มีการคานดุลอำนาจแต่ละเสา คือ สภา ศาล ฝ่ายบริหาร เสียงของประชาสังคม และองค์กรอิสระที่ต้องอิสระมากขึ้นอีก ในการสร้างฐานความเข้าใจสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงที่เราต้องการสุดหัวใจ” วิทิตกล่าว


เก็บความจากเวทีสาธารณะ ‘เปิดแนวคิดพรรคการเมืองกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน’ จัดโดยศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save