fbpx
“พลวัตเศรษฐกิจการเมืองอาเซียน” กับ ปิติ ศรีแสงนาม

“พลวัตเศรษฐกิจการเมืองอาเซียน” กับ ปิติ ศรีแสงนาม

อันโตนีโอ โฉมชา และ สมคิด พุทธศรี เรียบเรียง

ในระเบียบโลกแบบเสรีนิยม การบูรณาการทางเศรษฐกิจและการเมืองให้เป็นเนื้อเดียวกันคือ ‘อุดมคติ’ ที่ชุมชมระหว่างประเทศเฝ้าฝันถึง ในโลกแบบนี้ สหภาพยุโรปคือตัวแบบของสถาบันที่ใกล้เคียงอุดมคติมากที่สุด ส่วนโมเดลแบบอาเซียน แม้จะไม่สามารถพูดได้ว่าล้มเหลว แต่ก็ห่างไกลลิบกับคำว่าสำเร็จ

เมื่อครั้งกำเนิด อาเซียนรวมตัวกันด้วยจุดประสงค์ทางการเมืองเป็นหลัก โดยเป็นการปรับตัวเพื่อแก้ไขสถานการณ์ของสังคมการเมืองโลกที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและการแบ่งฝักฝ่ายระหว่าง ‘โลกเสรี’ และ ‘โลกคอมมิวนิสต์’ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป อาเซียนได้พัฒนาและปรับตัวไปตามบริบทการเมืองโลก อาเซียนเลิกแบ่งฝักฝ่ายและหันมาร่วมมือกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างหลากหลายของโครงสร้างเศรษฐกิจและสถาบันทางการเมืองระหว่างสมาชิกก็ทำให้อาเซียนต้องมีแนวทางการดำเนินนโยบายที่ถูกขนานนามว่า ‘ASEAN Way’ ซึ่งมีลักษณะเด่นอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่ มีความไม่เป็นทางการสูง (Preference for Informal Process)  ยึดมั่นในหลักอธิปไตยแห่งชาติและการไม่แทรกแซงกิจการภายใน (National Sovereignty and Non-interference) ไม่มีผู้นำที่ชัดเจน (No Overt Leadership) และการดำเนนนโยบายแบบสัมฤทธิ์ผลนิยมและมีความยืดหยุ่นสูง (Pragmatism and Flexibility) ลักษณะเหล่านี้ทำให้ภูมิภาคที่อยู่อยู่ภายใต้ระบอบการเมืองหลากเฉดสี (ไล่มาตั้งแต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ พรรคคอมมิวนิสต์ เผด็จการทหาร จนถึงระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ) และโมเดลเศรษฐกิจหลายแบบ (รัฐนำทุนและตลาด หรือ ตลาดและทุนนำรัฐ) ยังสามารถรวมตัวกันได้ในระดับหนึ่ง

กระนั้นก็ดูเหมือนว่า ASEAN Way ได้มาถึงขีดจำกัดของตัวเอง เมื่อความร่วมมือและการบูรณาการทางเศรษฐกิจและการเมืองเริ่มชะลอตัว กระทั่งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในปี 2015 ก็ไม่ได้ทำให้หลายคนรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงอะไร

แต่แล้วโลกก็มาถึงจุดหักเหใหญ่ ระเบียบโลกเสรีนิยมเริ่มถูกตั้งคำถาม สงครามการค้าตั้งเค้าก่อตัว สหภาพยุโรปก็ไม่ใช่โมเดลที่ชัวร์อีกต่อไป…อาเซียนกลับกลายเป็นโมเดลที่รับความสนใจและขนานนามว่า ‘ดีที่สุด’

101 ชวน ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาสำรวจพลวัตเศรษฐกิจการเมืองอาเซียนในปัจจุบันเพื่อมองหาที่ทางของไทยในประชาคมอาเซียน และที่ทางของอาเซียนในประชาคมโลก

 

ปิติ ศรีแสงนาม

เมื่อไม่กี่ปีก่อนกระแสประชาคมอาเซียนถือว่ามาแรงอย่างมาก แต่หลังปี 2015 กระแสกลับเบาบางไปมาก คิดว่าเป็นเพราะอะไร

หลายๆคนเข้าใจว่าปี 2015 เราเข้าสู่ประชาคม ก็จบแล้ว ไม่ต้องเห็นความสำคัญก็ได้ นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไทยเคยได้รีบการยกย่องเรื่องการสร้างความตระหนักรู้ให้คนได้ดีที่สุดถึงประชาคมอาเซียน แต่หลังจากเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ประเทศอื่นๆกลับเห็นความสำคัญและยิ่งสร้างความตระหนักรู้ให้มากยิ่งขึ้น ในขณะที่ไทยแผ่วลง

และผมคิดว่าเป็นทุกแวดวง ตัวอย่างคือปีงบประมาณ 2561-2562 ศูนย์อาเซียนศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เงิน 0 บาททั้งๆที่ปีหน้าเราจะเป็นประธานอาเซียนด้วยครับ ล่าสุดเราคุยกับภาคส่วนอื่นๆที่เห็นความสำคัญอยู่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคเอกชนก็ได้รับการสนับสนุนเต็มที่ ให้หน่วยงานอาเซียนศึกษาทำคอนเท็นต์กับทีมงานไป ส่วนเขาจะให้การสนับสนุนงบประมาณเอง

เห็นได้ว่าในขณะที่คนกลุ่มนึงเห็นความสำคัญของอาเซียนลดลง แต่คนที่ทำงานเรื่องอาเซียนโดยตรงกลับทำงานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมความพร้อมเป็นประธานอาเซียนปี 2019 หน่วยงานต่างๆในประเทศไทยได้เริ่มต้นและทำสิ่งที่เกี่ยวข้องมาหลายปีแล้ว ที่สำคัญที่สุดคือกรมอาเซียนของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นสำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ และคอยประสานงานทุกหน่วยงานภาครัฐ

ปัจจุบันเราก็เตรียมความพร้อมที่จะเปิดตัวในปีที่เราเป็นประธาน มีหลายเรื่อง เช่น  Disaster Emergency Logistics System for ASEAN (DELSA)  เรากำลังเปิดตัวคลังสินค้าและทีมงานเพื่อใช้ในการช่วยเหลืออาเซียนด้วยกันเอง ซึ่งจะตั้งอยู่ในจังหวัดชัยนาทและรับผิดชอบพื้นที่ประเทศลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม ส่วนศูนย์ใหญ่ทางทะเลจะอยู่ในประเทศมาเลเซีย

ส่วนศูนย์นวัตกรรมที่จะดูแลเรื่องผู้สูงอายุก็จะเปิดตัวปีหน้า เพราะหลายประเทศในอาเซียนกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ความร่วมมือหลายๆอย่างนี้เกิดจากการทำงานอย่างต่อเนื่องมาหลายปี ไม่ใช่เพิ่งเริ่มตอนปี 2015

อาจารย์มองว่าการที่ไทยได้เป็นประธานอาเซียนปี 2019 ถือเป็นเรื่องน่าแปลกใจหรือว่าเป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้น แม้แต่หนังสือพิมพ์จาการ์ตาร์โพสต์ก็นำเรื่องนี้มาวิจารณ์เช่นกัน

ผมแปลกใจในแง่ที่มีฝ่ายการเมืองดึงให้มันเป็นกระแสได้ ทั้งๆที่ความเป็นจริงเขาอาจจะสับสนระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น ผมเข้าใจว่าคนส่วนไม่ได้อ่านว่าบทความนั้นเขียนอะไรบ้างแล้วไปพูดกันซะเยอะ จริงๆแล้วเนื้อความในหนังสือพิมพ์จาการ์การ์โพสต์มันเป็นความคิดเห็นของคอลัมนิสต์คนเดียว มันไม่ใช่ข้อเท็จจริง ไม่ใช่นโยบายหรือกระบอกเสียงของภาครัฐด้วยซ้ำไป นักหนังสือพิมพ์คนนั้นเขียนถึงการเคลื่อนไหวของคนไทยกลุ่มนึงที่โดนคดีการเมืองเรื่องมาตรา 112 และออกไปเคลื่อนไหวในต่างประเทศ และบอกว่าประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วก็โยงไปถึงความเหมาะสมในการเป็นประธานอาเซียน ทั้งๆที่ความจริงอาเซียนไม่เคยมีข้อกำหนดว่าสมาชิกจะต้องเป็นประชาธิปไตย ไอเดียที่สำคัญที่สุดที่ทำให้อาเซียนมารวมตัวกันเป็นบูรณาการคือเรื่องการยอมรับความหลากหลาย และการไม่แทรกแซงกิจการภายในของอาเซียนด้วยกันเอง

ถ้าลองนึกดูแล้วอาเซียนจะไม่เหมือนความร่วมมืออื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป จะมีสภาพบังคับ ถ้าคุณจะเป็นสมาฃชิกสหภาพยุโรป คุณต้องทำให้ได้ตามเกณฑ์โคเปนเฮเก้น ต้องเป็นประชาธิปไตย ต้องมีฐานะทางการเงินที่เหมาะ มีสิทธิมนุษยชนตามข้อกำหนด หลายๆประเทศอยากเข้าเป็นสมาชิกเลยจ้างเอกชนมาตกแต่งตัวเลขให้สวยๆอย่างกรีซ สุดท้ายเหตุการณ์ก็ปะทุ และกรีซไม่สามารถบริหารจัดการหนี้ของตัวเองได้ อาเซียนจึงเป็นความร่วมมือที่สบายกว่า เรามีรัฐที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราช มีรัฐคอมมิวนิสต์ มีรัฐเผด็จการทหาร ลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นเพราะเรายอมรับกัน ต้องกลับไปดูด้วยว่าบริบทและวิธีคิดในแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน สิ่งที่เราเห็นคือทำไมเราถึงเอาความคิดเห็นของคนเพียงคนเดียวมาทำให้เป็นเรื่องใหญ่ขนาดนั้น นักการเมืองของบางพรรคการเมืองก็จะออกมาพูดเรื่องนี้เยอะมากเลย

อาเซียนเองเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เยอะในเรื่องสิทธิมนุษยชน ถึงแม้จะมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน แต่ตราบใดที่อาเซียนยังยืนยันเคารพความหลากหลายและในการไม่ยุ่งเกี่ยวแบบนี้ แล้วเมื่อไหร่อาเซียนจะเป็นที่พึ่งหวังของสิทธิมนุษยชนได้

เรื่องนี้ผมว่าสำคัญมาก และไทยเองมีบทบาทสำคัญมากในการผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่นกฎบัตรอาเซียน ซึ่งทำให้อาเซียนมีตัวตนทางกฎหมาย และเป็นสิ่งกำหนดหลักการ แนวคิด ซึ่งมีลักษณะวางพื้นฐานอยู่บนกฎเกณฑ์เป็นหลัก สิ่งสำคัญที่ประเทศไทยผลักดันคือการใส่สิทธิมนุษยชนลงในกฎบัตรด้วย ถ้าไม่ใส่เรื่องนี้ในกฎบัตร ไทยจะไม่ยอมลงนาม และไทยเป็นคนดึงศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาบรรยายให้กับทีมงานที่ทำกฎบัตรว่าถ้าจะใส่สิทธิมนุษยชนไปในกฎบัตร ควรทำอย่างไรบ้าง ในที่สุดเราจึงได้มาตรา 14 ในกฎบัตรซึ่งพูดถึงสิทธิมนุษยชนออกมา

หลังจากนั้นสิ่งที่เราผลักดันต่อมาคือ AICHR (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights) เป็นกระบวนที่ช้า เพราะทั้ง 10 ประเทศต้องตอบตกลงจึงจะเกิดขึ้นได้ เมื่อ 10 ประเทศ และเมื่อทั้ง 10 ตกลงแล้ว คนที่จะบังคับได้ก็คือคนที่อ่อนแอที่สุด เพราะถ้าอ่อนแอที่สุดแล้วไม่อยากใช้เรื่องนี้ เขาก็จะไม่ยอมตกลง

เมื่อ 10 ปีที่แล้วมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอยู่ 4 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ first resolution แต่เป็นวิธีการที่จะจัดการปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนได้ดีที่สุด และเราสามารถผลักให้มันเกิดขึ้นได้ มันจะไม่หยุดแค่นั้น ในที่สุดก็จะค่อยๆพัฒนาต่อมาเรื่อยๆจนเกิดเป็นปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ล่าสุดเรื่องโรฮิงญาก็เกิดการเรียกประชุมและมีคณะทำงานเข้ามาเพื่อจัดการกับปัญหาเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าเราไม่ทำอะไร เพียงแต่กระบวนการมันอาศัยการประนีประนอม ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดการออกจากกลุ่มไป

ปิติ ศรีแสงนาม

ถ้าอยากจะลองหยิบประเทศในอาเซียนขึ้นมาคุยสักหนึ่งประเทศ อาจารย์คิดว่าประเทศไหนโดดเด่นที่สุด

ผมคิดว่าอินโดนีเซียมีความโดดเด่นเพราะว่าโลกเปลี่ยนไป สถานการณ์โลกตั้งแต่หลังสงครามเย็นมา ระเบียบโลกถูกกำหนดโดยสหรัฐที่เป็นขั้วอำนาจเดียว และบิล คลินตันก็ใช้ประเทศจากเรื่องนี้ เช่นการเปิดเสรีการค้า การควบคุมทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ แต่ระบบนี้ถูกท้าทายตลอดเวลาที่ผ่านมา มีคู่แข่งอย่างจีนขึ้นมา

ศาสตรจารย์คนหนึ่งที่ American University ได้กล่าวไว้ว่าระเบียบโลกที่อเมริกาเคยสร้างไว้ในทศวรรษ 1990 มาถึงจุดจบแล้ว ตอนนี้เป็นโลกยุคใหม่ที่เรียกว่า Multiplex World Order ความท้าทายใหม่ๆจะเป็นเรื่องความมั่นคงของมนุษย์เป็นหลัก มันไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีอำนาจคุมทั้งโลกแล้ววางกฎกติกาทางสังคม เศรษฐกิจได้อีกต่อไป แต่จะมีบทบาทของหลายๆประเทศ มีองค์กรระหว่างประเทศจำนวนมาก บริษัทข้ามชาติ และประชาสังคมเข้ามาเป็นผู้เล่น และความขัดแย้งในโ,กยุคต่อไปจะเป็นความขัดแย้งที่มาจากการแย่งชิงทรัพยากร มันเป็นปัญหาที่เกิดจากการขาดแคลนแรงงานเพราะโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย และการไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องสังคม วัฒนธรรม และศาสนา

ที่เลือกอินโดนีเซียมาก็เพราะเป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติมหาศาล โดยเฉพาะเรื่อง Blue Economy ซึ่งเป็นเศรษฐกิจภาคพื้นมหาสมุทร อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีแนวชายฝั่งยาวที่สุดในโลก มีทะเลมาตูน่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด มีแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในขณะเดียวกันก็มีน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน มีป่าไม้

อีกเรื่องคือประชากร อินโดนีเซียไม่เจอปัญหาสังคมสูงวัยเหมือนเรา เพราะอายุเฉลี่ยของประชากรเขาต่ำมาก เนื่องจากเป็นสังคมมุสลิม มีประชากรวัยฉกรรจ์และวัยทำงานเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นใน20-30ปีนี้เขาจะยังไม่เจอภาวะสังคมสูงวัย

เรื่องต่อมาคือความแตกต่างหลากหลาย อินโดนีเซียเป็นตัวอย่างที่ดีมากในเรื่องการยอมรับความแตกต่างมานาน โดยเฉพาะเมื่อเขาเจอวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 หลายๆคนอาจจำภาพคนมลายูหิ้วคอคนจีนได้ เมื่อเจอแบบนั้นเขาจึงลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

ที่สำคัญที่สุดคือเขาปฏิรูปการเมืองได้ดี เราเห็นอินโดนีเซียมีการปฏิรูปการเมืองอย่างชัดเจน โจโก้ วิโดโด้เป็นหัวคะแนนที่เข้ามาอย่างโปร่งใส และไม่โกง ทำให้ทุกคนเห็นเรื่องของความสมถะ ในจาการ์ตาร์มีปัญหารถติดอยู่แล้ว แทนที่โจโก้ขอปิดถนนผ่าน แต่เขาขอรถติดไปด้วย แล้วไปขอโทษคนในงานประชุมว่าขอโทษที่ต้องมาสายด้วย ลักษณะแบบนี้ทำให้คนรู้สึกว่าใกล้ชิด

วิโดโด้มีพื้นเพมาจากครอบครัวขายเฟอร์นิเจอร์ ก่อนหน้าจะมาเป็นประธานาธิบดีก็เคยเป็นผู้ว่าของจาการ์ตาร์ อีกเรื่องที่เด่นมากคือวิโดโด้ปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยการคิดใหม่ แทนที่จะไปพัฒนาเกาะนับหมื่นแห่ง วิโดโด้ก็บอกว่าไปพัฒนาน้ำรอบเกาะแทนสิ พัฒนาความมั่นคงทางทะเล พัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล ไปทำเรื่องสังคมวัฒนธรรมของชาวทะเลแทน ขณะเดียวกันก็พูดถึงเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย โดยเฉพาะเกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่างที่บาหลีมีขยะพลาสติกในน้ำมากกว่าปลาอีก เมื่อเข้าเริ่มเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ก็เห็นผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไปดูงานศึกษาที่สอบถามความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจทั่วโลกว่าในปี 2030 เศรษฐกิจเบอร์ใหญ่ของโลกจะเป็นใคร ปรากฏว่าอินโดนีเซียขึ้นมาอยู่ในอันดับหนึ่งเลย

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งหรือเปล่าที่ประเทศจีนและสหรัฐอเมริกามักไปหาอินโดนีเซียทุกครั้งที่ทำโครงการ Belt and Road Initiative

มันเริ่มจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008-2009 ซึ่งไปถึงจุดตกต่ำสุด จีนไม่สามารถส่งของออกได้เลย เพราะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ subprime ในซีกโลกตะวันตก อัตราการขยายตัวลดลง GDPก็ตก จีนเลยทำการปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ซึ่งเรียกว่า New Normal มีสองวิธีคิดหลักๆ วิธีแรกคือเปลี่ยนโครงสร้างรายได้ของจีน จาก GDP ส่วนใหญ่ขึ้นกับการค้าระหว่างประเทศ ให้มาขึ้นกับการบริโภคในประเทศแทน ถ้าผลิตมา 100% แต่ใช้เองในบ้าน 60% ความเสี่ยงก็ลดลง พึ่งพาตลาดโลกน้อยลง วิธีการทำแบบนี้ได้ ก็ต้องทำให้คนจีนรวยขึ้นมาก่อน ฉะนั้นตั้งแต่ปี 2009 มาเราจะเห็นคนจีนเริ่มรวยขึ้นๆและทัวร์จีนก็มากขึ้น

แน่นอนว่าการค้าระหว่างประเทศยังสำคัญ จีนต้องการหาพันธมิตรก็เลยลากเส้นเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้จีนเชื่อมกับพันธมิตรคู่ค้าของตัวเอง เส้นแรกคืออีไต้ เป็นการฟื้นฟูเส้นทางสายไหมเมื่อพันปีที่แล้วจากซีอานไปถึเอเชียกลาง เข้าสู่รัสเซียและยุโรป และจีนไปเปิดเรื่องนี้ในปี 2012 ที่คาซัคสถาน ปี2013เกิดโครงการอีลู่ขึ้นมาอีก ครั้งนี้เป็นเส้นทางการค้าในทะเลตามเจิ้งเหอ ตั้งแต่ทะเลจีนใต้มาถึงช่องแคบมะละกา ไปอ่าวเบงกอล ออกไปทะเลอาหรับถึงแอฟริกาตะวันออกและขึ้นไปยุโรป ที่ที่จีนเลือกมาเสนอโครงการนี้คืออินโดนีเซีย

จีนเองก็เห็นว่าเมืองเซมาระซึ่งเป็นเมืองท่าเก่าแก่ของอินโดนีเซียเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญและจีนจะช่วยพัฒนาเมืองนี้เอง จีนจึงเข้ามาขยายอิทธิพลในการเชื่อม 2 ภูมิภาคอย่างมหาสมุทรอินเดีย กับมหาสมุทรแปซิฟิคเข้าด้วยกัน

พอจีนทำแบบนี้ประเทศอื่นๆก็รู้สึกว่าเป็นภัยคุกคาม เช่น สหรัฐอเมริกาที่ทำโพลถามว่ากลัวอะไรมากที่สุด ผลที่ออกมาคือคนส่วนใหญ่กลัวภัยคุกคามจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน เพราะเขารู้ว่าเป็นการขโมยความมั่งคั่งของเขา อเมริกาจึงเริ่มมาสนใจพื้นที่ตรงนี้มากขึ้น เราจะเห็นการดิ้นรนเรื่อง Trans-Pacific Partnership ของสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ช่วงนั้น

พอมีการประชุมโครงการ Belt and Road Initiative ใหม่ในปี 2017 ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพ และก็พัฒนามาเป็น 6 ระเบียงเศรษฐกิจบนบก และ 1 ระเบียงเศรษฐกิจในน้ำ ประเทศอินเดียเองก็ไม่ไปเข้าร่วมและมองว่าจีนไม่เคารพอธิปไตยเหนือดินแดนเมื่อลากเส้นบทแผนที่ของคนอื่น ฉะนั้นคนที่ไม่ชอบจีนก็จะใช้อินเดียเป็นตัวคานอำนาจ ตัวอย่างคือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคนส่งเทียบเชิญอินเดียให้เป็น Asean+3  และญี่ปุ่นก็เสนอจะพัฒนารถไฟความเร็วสูงในอินเดีย อีกรายคืออสเตรเลีย ซึ่งไม่ค่อยมีใครพูดถึงแต่ก็อยากมีส่วนในมหาสมุทรนี้เช่นกัน เราจะเห็นว่า Indo-Pacific กลายมาเป็นยุทธศาสตร์หลักแล้วในตอนนี้

ยุทธศาสตร์ของจีนกับอินเดียสามารถอธิบายได้ภาษิต 10 นิ้วของเหมา เจ๋อตุง “ถึงนิ้วนึงจะเจ็บแต่อีก 9 นิ้วก็ยังใช้ได้อยู่” ถึงแม้อินเดียจะมีปัญหาหลายเรื่อง รวมถึงการที่จีนไปทำหลายอย่างในปากีสถาน เขาบอกว่านี่คือเรื่องนึงที่ขัดแย้งกัน แต่อีก 9 เรื่องก็ดีกันได้ นาเรนดรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียก็ประกาศนโยบาย SAGAR ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า”สาคร” เป็นนโยบายทางน้ำ ซึ่งไม่ใช่แค่การเติบโตอย่างเดียว แต่มีเรื่องการพัฒนาเมืองท่า อิสระในการใช้พื้นที่และเมืองท่าต่างๆ จากนั้นก็พัฒนาต่อจาก SAGAR มาเป็น SAGAR MALA ถ้าแปลเป็นไทยคือคำว่ามาลัย คือการร้อยเรียง แปลได้ว่าเป็นการร้อยเรียงเมืองท่าต่างๆเข้าด้วยกัน เหมือนเป็นอีไต้อีลู่เวอร์ชั่นอินเดียนั่นเอง

คนจากอาเซียนก็ต้องใช้ประโยชน์จากตรงนี้ การที่อาเซียนขึ้นมามีบทบาทในประวัติศาสตร์ได้ก็เพราะจีนกับอินเดียหันมาใช้เส้นทางสายไหมทางทะเลแทนเส้นทางบนบก เมืองท่าอย่างอยุธยา มะริด หงสาวดีจึงขึ้นมามีความหมาย เราก็ใช้ประโยชน์ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ เราจึงมีความใกล้ชิดกับทั้งจีนและอินเดีย เวลาพูดถึงประเทศเพื่อนบ้านเรามักจะนึกถึงพม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย แต่เราลืมไปว่าเรามีอีกชายแดนติดกับอินดัย นั่นคือชายแดนสมุทร

อินเดียมีเขตแดนมาถึงหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ เมืองหลวงของพื้นที่นี้คือพอร์ตแบลร์ ในวันที่ท้องฟ้ามืด คุณสามารถมองเห็นแสงไฟจากภูเก็ตที่พอร์ตแบลร์ได้เลย

อย่างที่ผมบอกไว้เลยว่าในปี 2030 อินโดนีเซียจะกลายเป็นภาษีของโลก ส่วนอินเดียจะกลายเป็นเบอร์ 3 ของโลก

นอกจากประเทศหมู่เกาะแบบอินโดนีเซียแล้ว อาจารย์มองว่าประเทศไหนบนแผ่นดินใหญ่มีความโดดเด่น

ถ้าตัดประเทศไทยแล้ว ผมมองว่าเป็นเมียนมาร์ อย่างที่ผมบอกไปว่าโลกในยุค Multiplex แย่งกันเรี่องคน ทรัพยากร และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ พม่าคือกล่องสมบัติที่ถูกปิดไปตั้งแต่ปี 1962 และเพิ่งมาเปิดในปี 2010 ทรัพยากรธรรมชาติที่ทั่วโลกเหลือร่อยหลอ พม่ายังมีอยู่เต็ม นอกจากนั้นก็มีประชากรเกือบ 60 ล้านคน เฉลี่ยแล้วเป็นวัยฉกรรจ์

จากประสบการณ์ที่ผมไปเมียนมาร์หลายๆครั้ง ทุกๆครั้งผมเห็นว่าเขาเจริญขึ้นเรื่อยๆ จุดได้เปรียบอีกอย่างนึงคือพม่ามีพรมแดนติดทั้งอินเดียและจีน แล้วอ่าวเบงกอลก็เป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีกรณีพิพาทเหมือนในทะเลจีนใต้ การพัฒนาจึงง่ายกว่า

อีก 20 เดือนข้างหน้า ถนนที่เรียกว่าอินเดีย-เมียนมาร์-ไทยแลนด์จะเสร็จ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ด่านที่ข้ามจากเมืองตะมูไปเมืองมอเร่ย์ในแคว้นมณีปุระของอินเดียได้เปิดเป็นด่านแรกอย่างเป็นทางการ เราเห็นได้ว่าการใช้พม่าเป็นปากประตูทางตะวันตกมันเริ่มเป็นรูปธรรมจริงๆ East-West Economic Corridor ตอนนี้ไปสิ้นสุดที่เมืองเมาะละแมง แต่มีแผนขยายต่อไปถึงปากแม่น้ำอิระวดีใกล้กับย่างกุ้ง

ประเทศไทยของเราก็พยายามพัฒนาให้เชื่อมโยงกับเขา เรามี 2 โปรเจคต์คือเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน ที่เราเคยพูดถึงการพัฒนาแม่สอด แต่เราดันไปหยุดไว้ ถ้าจะทำควรเร่งจริงๆ เพราะเรื่องที่เราเคยพูดไว้ตอนเป็นประธานอาเซียนคือการบริหารจัดการชายแดน แล้วมีงานวิจัยอย่างต่อเนื่องว่าถ้าจะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษควรต้องทำทั้งสองฝั่งชายแดน ให้ข้อดีทั้งสองข้างมาเชื่อมกัน ทำให้การเชื่อมโยงมันไร้รอยต่อ ถ้าทำได้เมื่อไหร่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนจะเกิดขึ้นได้ ผมเชื่อว่าคนในพื้นที่เขาอยากให้รัฐบาลกลับมาใส่ใจเรื่องนี้มาก

อีกโรงการนึงที่สำคัญคือ EEC ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะเชื่อมโยงไทยเข้ากับ Global Value Chain และทำให้เป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาคได้

อาจารย์มองกัมพูชาว่าเป็นยังไงบ้าง

ในงานสัปดาห์อาเซียนที่ผ่านมาของจุฬาลงกรณ์ เราเชิญอาจารย์ด้านอาเซียนมาคุยกันหลายคน เราเห็นพ้องกันว่าการปฏิรูปภาคการเมืองในอาเซียนได้เกิดขึ้นแล้ว

ในปี 2014 โจโก้ วิโดโด้เป็นประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ถัดมาในปี 2016 โรดริโก้ ดูเตอร์เต้ได้เป็นประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ สิ่งที่เราเห็นชัดๆคือการที่ประชาชนเข้าไปร่วมตัดสินใจนโยบายของรัฐ และเราเห็นความเด็ดเดี่ยวของดูเตอร์เต้ในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายมาก แม้จะมีประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่เราเห็นส่วนร่วมของประชาชนรากหญ้ามากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการเมืองในฟิลิปปินส์จะถูกกำหนดโดยกลุ่มชนชั้นนำมาตลอด

เมียนมาร์เองก็เห็นการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลทหารมาเป็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แต่กัมพูชาคือที่ที่ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่เขาก็คาดว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในผู้นำรุ่นต่อไปซึ่งก็คือฮุนมาเนต ลูกชายของฮุนเซ็น เนื่องจากฮุนมาเนตกับเครือข่ายเพื่อนฝูงของเขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่เรียนจบจากเมืองนอก เป็นคนที่ทำงานในธุรกิจนานาชาติกับทั่วโลก ประสบการณ์ในโลกตะวันตกและตลาดต่างประเทศนี้น่าจะทำให้เราเห็นการเปลี่ยนผ่านบางอย่างในกัมพูชา อาจจะเป็นการปฏิรูปจากบนลงล่างก็จริง แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าการอยู่ในระบอบฮุนเซ็น ซึ่งเกือบเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้งปี 2013 ซึ่งการพรรคCPPของฮุนเซ็นได้ 49% ในขณะที่พรรคCNRPซึ่งเป็นพรรคปฏิรูปประเทศของสมรังสีได้ 45% และใน 49% นี้มีการโกงเยอะ มาก ดังนั้นสส.ฝ่ายค้านเลยไม่ร่วมในสภา ประชาชนออกมาประท้วงกันทั่วประเทศและยาวนาน 11 เดือน

ตอนนั้นกระแสการเปลี่ยนแปลงน่าจะมาถึงจุดสูงสุด แต่ก็ดรอปไปเพราะฝ่ายค้านกับรัฐบาลตกลงกันเปิดสภาได้ในที่สุด ผลที่ตามมาคือเขาสัญญากันว่าจะมีการพูดถึงการปฏิรูปการเมือง ฝ่ายค้านจะได้ที่นั่งจำนวนหนึ่งในคณะกรรมการปราบปรามคอรัปชั่น แต่ฮูนเซ็นก็ไม่สามารถคืนความสุขให้กัมพูชาได้ และสมรังสีก็โดนคดีถูกเนรเทศออกไป พรรคเลยถูกส่งต่อให้คุณเขมโสกา ซึ่งเคยไปหาเสียงที่วัดพุทธในเมลเบิร์นแล้วบอกว่าอเมริกาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในประเทศ แล้วคลิปนั้นก็ถูกนำไปใช้ว่าเขาจะเอาอำนาจจากนอกประเทศมาล้มล้างระบอบภายในประเทศ

อาจารย์มองการเจรจาการค้าฉบับอาเซียนกับคู่ค้าอีก 6 ประเทศว่ายังไงบ้าง

ตอนนี้ประเทศมหาอำนาจกำลังพูดถึงสงครามการค้า สิ่งที่อาเซียนยืนยันและเป็นผู้นำคือการทำการค้าเสรี เพราะการค้าเสรีที่ถูกต้องจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่การค้าเสรีที่มีคนมาชักนำและบิดเบือน

สิ่งที่เราควคสนับสนุนเพื่อให้เป็นรูปธรรมมากที่สุดคือปีหน้าที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียน เราต้องหาข้อสรุปเรื่อง   อาเซียน+6 ให้ได้ ถ้าได้ข้อสรุป มีการลงนามและบังคับใช้ นี่จะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศที่อยู่ในเขตการค้าเสรีนี้เป็นประเทศที่อยู่ในเขตGlobal Value Chainเดียวกันอยู่แล้ว เป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อมากขึ่น

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา กรมอาเซียนได่จัดงานและมีการพูดถึงวาระของประเทศไทยในการเป็นประธานอาเซียน หนึ่งในคนที่พูดคือ ดร.สุริยา อธิบดีกรมอาเซียน ท่านบอกว่าความสามารถพิเศษอย่างนึคงของไทยและอาเซียนคือการหาข้อสรุปตรงกลางจากความขัดแย้งต่างๆได้ เพราะเราทำบทบาทนี้มาโดยตลอด ถ้าเราใช้ความสามารถนี้มาพัฒนาและชี้นำจนสรุปข้อตกลงนี้ได้ ไทยก็จะมีฐานะเป็นผู้นำอาเซียนที่ทรงภาคภูมิ

อาจารย์มองเรื่อง CPTPP หรือ TPP11 อย่างไรบ้าง

เราต้องพยายามเรียนรู้และปรับด้วยตัวเอง ไม่ใช่ถูกบังคับให้ปรับเพื่อจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเขตการค้าเสรี ไม่ว่าเราจะเข้า CPTPP หรือไม่ อเจนด้าของเราจริงๆคือการเข้าถึงตลาดสหรัฐ เราเคยมี Thai-US FTA แล้วมันไม่ประสบความสำเร็จ ใน TPP เดิม ไม่ว่าใครก็อยากเข้าถึงตลาดสหรัฐทั้งนั้น พอสหรัฐออกไปก็เหลือแค่แคนาดา เม็กซิโก และชิลี ซึ่งตลาดก็ไม่ใหญ่เท่าสหรัฐ ในกรณีอเมริกาใต้ ไม่ว่าจะสนับสนุนอย่างไรพ่อค้าไทยก็ไม่อยากไปทำการค้า ส่วนแคนาดาเองก็เป็นหนึ่งในคู่เจรจาของอาเซียนและปีหน้าก็จะมาประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในประเทศไทยด้วย

ใกล้ๆบ้านเราก็มีทั้งข้อตกลงไทย-ญี่ปุ่น ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์ อาเซียน-เกาหลี เรายังมีกฎกติกาที่อเมริกามาไข่ทิ้งไว้เต็มเลย ซึ่งเขามาทำ TPP แล้วก็ออกไป

อย่างที่ผมบอกว่าเราควรให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด ทั้งโลกก็กำลังมุ่งสู่ภูมิภาค Indo-Pacific พื้นที่ที่เราควรสนใจและเร่งระดมทรัพยากรไปคือ อาเซียน+6

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเป็นเรื่องระยะสั้นหรือมีแนวโน้มจะพัฒนาไปเป็นระเบียบการค้าในโลกชุดใหม่ – ผู้อ่านถาม

ผมคิดว่าระเบียบการค้าในโลกชุดใหม่ที่อเมริกาเป็นคนชี้นำไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกแล้ว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเกิดขึ้น และกระทบประเทศไทย เพราะสินค้าที่ทำสงครามการค้าหรือมีมาตรการกีดกันขึ้นมาในรอบนี้ไม่ได้มีแค่เหล็กกับอลูมิเนียม

สินค้าที่มีผลบังคับใช้แล้วอย่างแรกคือเครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เพราะเขาจะเปลี่ยนเป็น Tariff Rate Quota ซึ่งเป็นการกำหนดโควตาขึ้นมาว่าเข้าได้ 1.2 ล้านหน่วย ถ้าเกินจากโควตานี้ไป ก็จะโดนกำแพงภาษีที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 40-50%

ต่อมาคือโซลาร์เซลล์ ซึ่งกำหนดโควตาให้นำเข้าไม่เกิน 2.5 กิกะวัตต์ ถ้าเกินจากนี้อัตราภาษีนอกโวต้าจะเพิ่มขึ้น 15-30%

ตัวต่อมาคือสินค้าไอที ซึ่งเพิ่มภาษีนำเข้าอีก 25% และบังคับใช้กับจีนคนเดียว อีกส่วนที่กระทบไทยแน่นอนคือชิ้นส่วนยานยนต์ และอุปกรณ์การเกษตร ประมง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบาย Made in China

ผลกระทบทางการค้าจะมีอยู่ 4 อย่าง แบบแรกคือผลกระทบทางตรง เช่นเขาขึ้นมาตรการกีดกันทางการค้า ทำให้เราส่งออกไปไม่ได้ เช่นเรื่องเครื่องซักผ้า

แบบที่สองคือผลกระทบทางอ้อม มาจากการที่เราอยู่ใน Value Chain เดียวกัน ถ้าอเมริกาห้ามสินค้าไอทีจากจีน แต่จีนไม่ได้ผลิตสินค้าไอทีตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ถ้าจีนส่งสินค้าไอทีไปขายในอเมริกาน้อยลง จีนก็สั่งซื้อวัตถุดิบน้อยลง เราก็ขายให้จีนได้น้อยลง

แบบที่ 3 คือการนำเข้า เพราะอเมริกามีตลาดใหญ่ พอเขาขึ้นภาษี สินค้าจะกองอยู่ในตลาดโ,กจำนวนมาก และราคาจะลดลงเพื่อขายให้ได้ มันก็จะถูกนำเข้ามาในประเทศเรา เหมือนประเทศเพื่อนบ้านเราเคยส่งปลาดอลลี่ไปยุโรปไม่ได้ เลยเอามาขายให้เราในราคาถูกๆแทน จากที่เราเคยกินปลาดอลลี่ชิ้นนับร้อยบาท ก็เหลือราคาไม่ถึงร้อย ซึ่งเป็นผลทางอ้อมของเรื่องนี้

แบบที่ 4 คือผลจากการที่เราส่งออกไปประเทศที่ 3 ได้น้อยลง พอมีของเหลือเยอะ ประเทศอื่นๆ ก็ไปซื้อของราคาถูกเหล่านี้มา เราก็ส่งออกประเทศเหล่านี้ได้น้อยลง

ปิติ ศรีแสงนาม

เร็วๆ นี้มีข่าวเรื่องตุรกีได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เรื่องนี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับไทยหรืออาเซียนไหม

ผมคิดว่ากระทรวงพาณิชย์เราเก่ง ผมได้คุยกับคุณพิมพ์ชนก วอนขอพร ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ทีมกระทรวงพาณิชย์ของเราได้ไปคุยกับ Trade Commission ของอเมริกา เพื่อคุยกันในเรื่องของสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งมาตรา 301 และ 302 เป็นกฎที่ไม่ได้รับการยอมรับใน WTO เพราะเป็นกฎที่ที่ใช้ข่มคนอื่น เขาสามารถบังคับใช้และเลือกปฏิบัติได้

ผมคิดว่าในช่วงหลังๆ อาวุธที่อเมริกายิงปืนขึ้นฟ้าไป มักจะตกกลับมาที่ตัวเอง แล้วเราจะเห็นผลมากในช่วงไตรมาตรที่4ซึ่งสหรัฐอเมริกาจะนำเข้าวัตถุเยอะมากที่สุด สหรัฐอเมริกาต้องนำเข้าวัตถุดิบที่แพงเป็นจำนวนมาก เนื่องมาจากมาตรการที่เขาเคยตั้งไว้ พอวัตถุดิบแพง ต้นทุนการผลิตก็สูง ก็ต้องขายแพง เขาก็สูญเสียความสามารถในการแข่งขันไป

คนที่ใช้เหล็กที่ผลิตในอเมริกาซึ่งแพงกว่าข้างนอกก็หันมาซื้อเหล็กน้อยลงหรือย้ายฐานการผลิตแทน ในที่สุดอเมริกาก็จะเจอการปลดคนงานออก ผู้บริโภคก็ต้องกินของแพงใช้ของแพง เพราะ Trade Wall ไม่เคยให้ผลดีกับใคร

ความขัดแย้งทะเลจีนใต้เป็นปัญหาระหว่างสมาชิกอาเซียนด้วยกันหรือเป็นปัญหาระหว่างอาเซียนกับจีน ไทยควรมีจุดยืนอย่างไร – ผู้อ่านถาม

ทะเลมันอยู่ตรงนั้นมานานแล้ว แต่ในทศวรรษ 1980 ได้มีการประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางท้องทะเล ซึ่งพูดถึงเรื่องของเขตเศรษฐกิจเฉพาะ ถ้าผมมีชายฝั่งของตัวเอง วัดออกไป 200 ไมล์ทะเล พื้นที่ตรงนั้นจะเป็นน่านน้ำของผม

ปัญหาก็คือจีนไปลากแนวเส้นปะไว้ 9 เส้น พอต่อจาก 9 เส้นนั้นออกมาก็แทบจะกินทั้งเขตทะเลจีนใต้ ซึ่งหลายประเทศก็ขอสงวนสิทธิ์บนเกาะต่างๆไว้ไม่มีปัญหา แต่ปัญหามันเกิดขึ้นเพราะมีบางแห่งที่เป็นแนวปะการัง ซึ่งจีนไปทำให้เป็นเกาะโดยการถมทะเล สร้างสนามบิน เลยเกิดกรณีพิพาทขึ้นมา 7 คู่กรณีในพื้นที่ตรงนี้คือ จีน ไต้หวัน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน และ เวียดนาม

แต่สถานการณ์ก็ค่อยๆดีขึ้น เท่าที่ทราบคือหลายๆฝ่ายมีการทำเวทีเพื่อเจรจาไปสู่การทำข้อตกลงร่วมกัน บางประเทศอย่างฟิลิปปินส์ก็เคยมีเรื่องเยอะ ในสมัยอาควิโนที่ 3 ก็เคยส่งเรื่องนี้ให้อนุญาโตตุลาการที่กรุงเฮก แล้วก็ได้รับคำตัดสินให้ฟิลิปปินส์ใช้พื้นที่ตรงนี้ได้ พอถึงเวลาจริงๆฟิลิปปินส์ก็มองว่าพื้นที่ตรงนี้มีทรัพยากรก็จริง แต่ตัวเองไม่มีศักยภาพ ซึ่งก็จับมือกับจีนออกสำรวจร่วมกันและแบ่งผลประโยชน์กันได้ เราเลยเริ่มเห็นพื้นที่ตรงนี้เย็นลง จีนเองก็เริ่มรู้สึกว่าการเพิ่มต้นทุนให้ตัวเองนั้นดีกว่าไปอยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง อีไต้อีลู่ที่เราพูดถึงก็เป็นหนุ่งในระเบียงเศรษฐกิจบนบกที่เชื่อมจีนเข้ากับ พม่า บังกลาเทศ เข้าสู่อินเดีย เพื่อหาทางออกทะเลเบงกอลให้กับจีนตอนใต้

แล้วก็มี China-Pakistan Economic Corridor ที่เชื่อมจากตะวันตกของจีนไปยังปากีสถานแล้วออกมาสู่ทะเลอาหรับ จีนก็ได้กระจายความเสี่ยง มีท่อก๊าซ ท่อน้ำมันในปากีสถานต่อไปถึงคุนหมิงโดยไม่ต้องลำเลียงน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกา

ประเทศไทยควรมีจุดยืนอย่างไรในเรื่องนี้

ไทยไม่ได้อยู่ในอีไต้อีลู่ แต่เราอยู่ในยุทธศาสตร์ที่สำคัญกว่าอีไต้อีลู่ คือยุทธศาสตร์ซิน หม่า ไถ้ ซึ่งถูกวางไว้ตั้งแต่สมัยเติ้งเสี่ยวผิง เป็นการหาทางออกทะเลให้กับจีนทางยูนนาน เสฉวน แถบเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วง และมีโครงการที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมานานแล้ว เช่นระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ แม้แต่เรื่องรถไฟความเร็วสูง เอาเข้าจริงๆก็ไม่ได้เกี่ยวกับอีไต้อีลู่ แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลกับจีนคุยกัน แล้วก็เป็นการแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือกันด้วย ตั้งแต่คุณประยุทธ์เข้ามาก็มีปัญหาเรื่องหนึ่งคือข้าวเน่า และมีอยู่ทุกปีจนคุณภาพข้าวก็ลดลงเรื่อยๆจนถึงจุดที่บริโภคไม่ได้แล้ว เราก็ต้องหาคนซื้อ หนี้ก็เพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งคนที่ยอมซื้อกับเราและให้ราคาที่เราไม่ขาดทุนมากเกินไปก็คือจีน

เบื้องหลังของพัฒนาด้านบวกของการพัฒนาประชาธิปไตยในอินโดนีเซียคืออะไร – ผู้อ่านถาม

มันมีการเปลี่ยนผ่านมาเยอะ ระบอบซูฮาร์โตมีความรุนแรง และมีการประมาณกันว่าในช่วงที่ซูฮาร์โตปราบปรามคอมมิวนิสต์ มียอดคนตายตั้งแต่ 500,000 ถึง 1,000,000 คน นโยบาย Colony Capitalism หรือทุนนิยมสามานย์สมัยนั้นก็ทำให้การกระจายรายได้แย่มาก คนที่กระจุกตัวกันสร้างความมั่งคั่งก็รวยจริงๆ แล้วก็แก้ปัญหาโดยการฆ่าคนไม่เห็นด้วย

ข้อตกลงทางการของอาเซียนสอดคล้องกับปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในอาเซียนมากน้อยเพียงใด – ผู้อ่านถาม

มันจะค่อยๆดีขึ้น เอาเข้าจริงคือไม่มีทางหรอกที่ประชาคมที่มีคนนับร้อยล้าน มี10ประเทศ มีความหลากหลาย จะเห็นพ้องร่วมกันหมด สมมติถ้าผลโหวตเรื่องนึงมี 6 ประเทศที่เห็นด้วย อีก 4 ประเทศไม่เห็นด้วย แต่มีผลบังคับใช้ ตอนแรก 4 ประเทศนั้นก็คงยอมรับตามๆกันไป แต่ต่อมาปัญหาจะเริ่มบานปลายขึ้นจน 4 ประเทศนั้นอาจไปสร้างประชาคมกันเองภายหลัง เราก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป ถึงมันจะช้า แต่ก็ชัวร์ และเป็นสิ่งที่คนยอมรับได้

ประเทศที่มีความจำเป็นเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานก็อาจต้องมีกฎระเบียบของตัวเองเพื่อสนับสนุนให้การเคลื่อนย้ายสะดวกมากขึ้น

เรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานในอาเซียนก็มีอยู่ 2 กรอบ กรอบแรกคือ MRA คือการจัดทำมาตรฐาน 8 วิชาชีพ คือ สถาปนิก วิศวกร หมอ บัญชี พยาบาล ทันตแพทย์ นักสำรวจ และการท่องเที่ยว ถ้าคุณทำตามอาชีพในนี้ก็สามารถขอใบอนุญาตในอีกประเทศได้ ตอนนี้ก็เริ่มมีอาชีพอื่นๆเพิ่มขึ้นมา เช่น สัตวแพทย์

อีกกรอบคือ MNP อันนี้จะอนุญาตให้ผู้บริหารระดับกลางและสูงขึ้นไปเดินทางมาทำงานในระยะสั้นได้โดยไม่ต้องขอ work permit ซึ่งจำกัดใน 25 วิชาชีพ มีการลงนามแล้ว แต่ไม่มีผลบังคับใข้ การโยกย้ายผู้บริหารก็จะทำได้ง่ายขึ้น แต่ตอนนี้ก็มีการพูดคุยกันเรื่องการครอบคลุมแรงงานทุกประเภทอยู่เหมือนกัน และในอนาคตอาจขยายไปถึงประเทศนอกอาเซียนอย่างศรีลังกาและบังกลาเทศด้วย

ในอดีต การรวมกลุ่มของประเทศมักมีอียูเป็นต้นแบบ และอาเซียนก็โดนวิจารณ์ตลอดว่าไปถึงแบบที่อียูเป็นไม่ได้ แต่ในระเบียบโลกใหม่ ทิศทางการรวมกลุ่มของประเทศจะเป็นอย่างไร อาเซียนจะเป็นตัวแบบใหม่ได้ไหม – ผู้อ่านถาม

จริงๆแล้วเลขาธิการของ UNCTAD ก็พูดเหมือนกันว่าอาเซียนเป็นต้นแบบในเรื่องของ Free Trade เขายอมรับอาเซียนกันในหลายๆกรอบเลย ในยุโรปมีการใช้สกุลเงินร่วมกัน มีการใช้นโยบายการเงินร่วมกัน มีอัตราแลกเปลี่ยนร่วมกัน มันเข้าไปสู่การเป็น Economic and Monetary Union ซึ่งเป็นระดับการรวมกลุ่มกันที่ลึกซึ้งกว่าอาเซียน เลยเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่คาราคาซัง สภาพบังคับหลายๆเรื่องโดยเฉพาะ External Policy ที่ไม่อนุญาตให้ประเทศนึงออกไปทำอะไรกับประเทศอื่นๆได้โดยไม่ต้องฟังอียู ทำให้บางประเทศรู้สึกอึดอัด นโยบายการรับผู้อพยพทำให้บางประเทศอึดอัด การที่โหวตหลายครั้งก็แพ้ทำให้บางประเทศอึดอัด

แต่บางอย่างเราก็ต้องดึงมาจากอียูเพื่อให้อาเซียนพัฒนาไปมากยิ่งขึ้น อย่างแรกสุดคือสำนักเลขาธิการอาเซียน กระบวนการทำงานของเลขาธิการอาเซียน ณ จุดนี้มีสโคป อำนาจหน้าที่ งบประมาณ และกำลังคน ไม่สามารถครอบคลุมความสัมพันธ์ของอาเซียนในทุกมิติได้ เราอาจต้องปฏิรูปโครงสร้างของเลขาธิการอาเซียน ซึ่งถูกออกแบบตั้งแต่ปี 1976 ตั้งแต่ Bali Concord ซึ่งโลกมันเปลี่ยนไปเยอะแล้ว

หลายๆที่ก็ดูการทำงานของเราแล้วเอาไปเป็นแบบ เช่น SAARC ซึ่งเป็นความร่วมมือกันในเอเชียใต้ก็ทะเลาะกันรุนแรง 2ปีที่แล้วปากีสถานก็เป็นผู้นำการประชุม แต่อินเดียไม่ยอมไป เนปาลกับภูฐานก็ไม่ยอมไป ลักษณะแบบนี้เลยทำให้อาเซียนเป็นกรอบที่ทุกคนพูดถึง คงไม่ถึงขนาดเป็นแบบ European Commission แต่ควรเอาวิธีคิดของเขามา ซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือการรักษาผลประโยชน์ของอียูเอง และควรมีตัวแทนในการแถลงหรือเจรจาเพียงคนเดียว มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากกว่านี้

ในกรณีพายุไซโคลนนาร์กิสในพม่าก็มีการทำ One Voice และเป็นผลทำให้พม่าเปิดประเทศออกมาถึงจุดนี้ได้

กรณีการรื้อโครงการขุดคอคอดกระขึ้นมา มีความจำเป็นต้องนำเรื่องนี้คุยกับสมาชิกอาเซี่ยนไหม ประมาณว่าหารือหรือระดมความคิดเห็น – Thirawan Ben Nonthihathai ถาม

ต้องหารือหรือระดมความคิดเห็นคนไทยก่อน(หัวเราะ) แล้วผมว่าระหว่างหารือก็คงลากยาวไปถึง3วัน3คืนเลย

ปิติ ศรีแสงนาม

อยากให้อาจารย์ปิดท้ายว่าทำไมเราควรสนใจอาเซียน

หลายๆเรื่องในชีวิตเราที่มีความสุขและสะดวกสบาย มันเกิดขึ้นได้เพราะอาเซียน ลองนึกภาพตามว่าอาเซียนถูกสร้างมาด้วย 3 เสาหลัก ซึ่งถูกออกแบบมาให้ชีวิตเราดีขึ้น อย่างแรกสุดคือประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน คือการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของอาเซียนให้น่าอยู่ เรามีศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน มีกระบวนการที่ทำให้อาเซียนไม่เกิดข้อพิพาทกัน หรือถ้าเกิดข้อพิพาทก็สามารถเจรจากันบนโต๊ะได้ ฉะนั้นประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียนก็พูดกันมากถึงภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ คือ ความมั่นคงของมนุษย์มากขึ้นแม้เราอาจจะไม่รู้สึกก็ตาม

เรื่องที่สองคือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจัดการเรื่องอุปทาน ตื่นเช้ามามีของกิน มีของใช้ในชีวิตประจำวันที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นและถูกลงก็เป็นเพราะการตกลงเปิดตลาดอาเซียนนี่แหละครับ ทำให้เราเข้าถึงความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

แต่แน่นอนว่านอกจากสิ่งแวดล้อมและอุปทานแล้วเราก็ต้องมีอุปสงค์ด้วย ซึ่งเกิดจากความต้องการกับกำลังซื้อ การที่เราจะเข้าใจความต้องการได้ คุณต้องเข้าใจรสนิยม ต้องเข้าใจสังคมวัฒนธรรม เข้าใจเรื่องของคน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเสาที่สาม คือเรื่องประชาคม สังคม วัฒนธรรมอาเซียน

เราออกแบบเสาหลัก 3 เสานี้มาและเชื่อมด้วยไอเดียของไทยเอง นั่นคือ Masterplan on ASEAN Connectivity เพื่อทำให้ชีวิตของคนอาเซียนดีขึ้น นี่คือเรื่องที่ประเทศไทยสนับสนุนมาตั้งแต่ต้น เป็นครั้งแรกที่ผู้นำอาเซียนได้พบกับเยาวชน รัฐสภา และภาคประชาชน เกิดขึ้นที่ชะอำ หัวหินในประเทศไทยนี่เอง


หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถติดตามชมเทปบันทึกภาพรายการ 101 One-on-One ตอน “พลวัตเศรษฐกิจการเมืองอาเซียน” ฉบับเต็ม โดย ปิติ ศรีแสงนาม ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ออกอากาศเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2561 ทาง The101.world

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save