fbpx
EARWIG AND THE WITCH สูตรคาถาเสกเนรมิต จากศิษย์แสบแห่งรังแม่มด

EARWIG AND THE WITCH สูตรคาถาเสกเนรมิต จากศิษย์แสบแห่งรังแม่มด

‘กัลปพฤกษ์’ เรื่อง

 

คงไม่มีคอหนังอนิเมชันคนไหนที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยดูผลงานจากค่าย Studio Ghibli เพราะค่ายหนังจากแดนอาทิตย์อุทัยค่ายนี้ถือได้ว่าเป็นค่ายที่ ‘โดดเด่นและยืนหนึ่ง’ ในวงการอนิเมชันร่วมสมัย โดยมีผู้กำกับ Hayao Miyazaki เป็นหัวหอกคนสำคัญผู้สร้างสรรค์งานอนิเมชันเรื่องดังจนเป็นที่ชื่นชอบของคอหนังทั่วโลกมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Nausicaä of the Valley of the Wind (1984), Laputa: Castle in the Sky (1986), My Neighbor Totoro (1988), Kiki’s Delivery Service (1989), Princess Mononoke (1997), Spirited Away (2001) และ Howl’s Moving Castle (2004)

โดยในช่วงหลังนี้ ลูกชายของเขาอย่าง Goro Miyazaki ก็ได้หันมาเอาดีกับการสร้างงานอนิเมชันในค่ายเดียวกันกับพ่อ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีงานกำกับอนิเมชันขนาดยาวออกมาแล้วสองเรื่อง คือ Tales from Earthsea (2006) และ From up on Poppy Hill (2011)

ล่าสุดผู้กำกับ Goro Miyazaki เพิ่งจะมีผลงานเรื่องใหม่ ที่แม้ว่าจะยังเดินตามรอยความสำเร็จเก่าๆ ของผู้เป็นพ่อ ทว่าเขาก็ได้กรุยทางสร้างความแปลกใหม่ในแบบที่ค่าย Studio Ghibli ไม่เคยทำมาก่อนอยู่หลายประการใน Earwig and the Witch ที่เพิ่งออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ NHK เมื่อปลายปี ค.ศ. 2020 และได้ลงโรงฉายในหลายๆ ที่ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2021

 

EARWIG AND THE WITCH

 

Earwig and the Witch เป็นงานอนิเมชันบรรยากาศยุโรปที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเยาวชนชื่อเดียวกัน (2011) ของ Diana Wynne Jones นักเขียนหญิงชาวอังกฤษเจ้าของผลงานวรรณกรรมเรื่อง Howl’s Moving Castle (1986) ซึ่งเคยถูกนำมาดัดแปลงเป็นงานอนิเมชันโดย Hayao Miyazaki ด้วยเช่นกัน และอย่างที่ชื่อวรรณกรรมได้สื่อไว้ Earwig and the Witch ยังคงว่าด้วยเรื่องเวทมนตร์คาถาและการผจญภัยของแม่มดมือใหม่ ดูละม้ายคล้ายคลึงกับที่ Hayao Miyazaki เคยเล่าไว้ในหนังแม่มดขี่ไม้กวาดส่งของเรื่อง Kiki’s Delivery Service

อนิเมชันเรื่องนี้เล่าเรื่องราวของ Earwig เด็กหญิงจอมแก่นจากสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าของคุณนาย Morwald ผู้ใจดี โดย Earwig ถูกนำมาทิ้งไว้หน้าสถานรับเลี้ยงตั้งแต่เมื่อครั้งที่เธอยังแบเบาะ พร้อมด้วยเทปคาสเซ็ตต์ที่เขียนชื่อไว้ว่า Earwig และกระดาษโน้ตเล็กๆ บันทึกข้อความจากผู้เป็นมารดาว่า จำต้องออกไปจัดการกับเหล่าแม่มดร้ายอีก 12 รายที่เหลือให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วจะมารับ Earwig กลับไปดูแลในภายหลัง อาจจะด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ Earwig เป็นเด็กหญิงที่ไม่เคยคิดกลัวสิ่งใดและรู้สึกผูกพันกับสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าของคุณนาย Morwald เป็นอย่างมาก

 

EARWIG AND THE WITCH

 

โดยทุกครั้งที่มีผู้อุปการะมาเลือกเด็กกำพร้าไปเลี้ยงดู Earwig มักทำตัวให้น่าเกลียดน่ากลัว ทำตาเหล่ตาเข ไม่น่ารัก เพื่อจะได้อยู่กับคุณนาย Morwald ตลอดไป กระทั่งวันหนึ่ง ได้มีคู่สามีภรรยาท่าทางพิรุธที่เหมือนจะซุกซ่อนความชั่วร้ายไว้ภายใต้ชุดเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ดูดีมีสกุลเกิดตัดสินใจเลือกเด็กหญิง Earwig ไปเลี้ยงดู Earwig ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องเก็บข้าวของทั้งหมดและย้ายไปอยู่กับคู่สามีภรรยาที่ไม่น่าไว้วางใจคู่นี้

ก่อนที่ฝ่ายภรรยาจะสารภาพกับ Earwig ทันทีที่ถึงรัง ว่าแท้จริงแล้วเธอเป็นแม่มดที่คอยรับจ้างปรุงสูตรยาเสกคาถาเนรมิตต่างๆ ให้บรรดาลูกค้า และต้องการ Earwig เพื่อมาเป็น ‘ลูกมือ’ ช่วยงานเธอเพียงเท่านั้น แต่นั่นกลับทำให้ Earwig รู้สึกตื่นเต้นไปกับประสบการณ์และการผจญภัยครั้งใหม่ จนต้องคอยรบเร้าอ้อนวอนให้คุณนายแม่มดจอมหน้าบึ้งสอนเธอปรุงยาเสกคาถาและถ่ายทอดวิชามนตร์ดำเหล่านี้ให้กับเธอ!

 

EARWIG AND THE WITCH

 

ความพิเศษแปลกใหม่ที่เห็นได้ชัดประการแรกใน Earwig and the Witch คือ นี่ถือเป็นงานอนิเมชันเรื่องแรกของค่าย Studio Ghibli ที่ใช้ 3D Computer-Generated-Imagery หรือ CGI อย่างเต็มรูปแบบ ทำให้บรรยากาศงานภาพของอนิเมชันเรื่องนี้มีความร่วมสมัยแตกต่างไปจากงานวาดมือเรื่องอื่นๆ ของค่ายอย่างเห็นได้ชัด แต่ผู้กำกับ Goro Miyazaki ก็ดูจะพยายามหลอมรวมลักษณะตัวละครดีไซน์ประหลาดในแบบฉบับของ Studio Ghibli กับบรรยากาศสวยฟุ้งอุดมไปด้วยสีสันตามลักษณะงานอนิเมชัน CGI จนเกิดเอกลักษณ์เฉพาะตนที่แตกต่างจากงานอนิเมชัน CGI ฝั่งอเมริกาได้อย่างชัดเจน

องค์ประกอบที่เสริมเข้ามาอย่างชัดเจนมากๆ ในผลงานใหม่ของค่าย Studio Ghibli เรื่องนี้คือการให้รายละเอียดของแสงที่รักษาความสมจริงอย่างที่ไม่เคยเห็นในงานชิ้นก่อนๆ สะท้อนมิติมุมมองใหม่ๆ ให้กับผลงานของค่ายที่ช่วยให้ไม่รู้สึกวนย่ำจำเจอยู่กับรูปแบบเดิมๆ

แต่ส่วนที่อาจจะเรียกได้ว่า ‘แหวกกรอบ’ จนกลายเป็นความท้าทายมากที่สุดใน Earwig and the Witch คงอยู่ที่ ‘เนื้อหาเรื่องราว’ ที่มุ่งเน้นภาพความอัปลักษณ์ของผู้ประกอบอาชีพเป็น ‘แม่มดปรุงยา’ ซึ่งพลิกขั้วไปจากภาพชีวิตอันโสภาในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ อีกทั้งตัวละครนำอย่าง Earwig ก็ทั้งแก่น ทั้งซน จนไม่พบเห็นความอ่อนโยน ในส่วนตัวละครแม่มดเจ้าของบ้านก็ล้วนเปี่ยมไปด้วยมุมแห่งความสกปรกและร้ายกาจ อาศัยความฉลาดและมารยามาห้ำหั่นบั่นทอนอำนาจในการคุมเกมระหว่างกัน จนปราศจากคราบการเป็น ‘แม่มดผู้น่ารัก’ อย่างที่เคยเห็นในเรื่อง Kiki’s Delivery Service กันเลยทีเดียว

อีกทั้งเนื้อหาซึ่งอิงมาจากวรรณกรรมเยาวชนต้นฉบับของ Diana Wynne Jones เกือบทั้งหมด ก็ไม่ได้ให้คติสอนใจใดๆ นอกเหนือไปจากการเอาตัวเองให้รอดจากการถูกเอาเปรียบในโลกแห่งความชั่วร้าย นับเป็นงานหนังวรรณกรรมสำหรับเยาวชนที่เหมือนอยู่คนละขั้วกับความจรรโลงใดๆ ซึ่งต้องถือว่าผู้กำกับ Goro Miyazaki มีความกล้าหาญไม่น้อยที่เลือกหยิบเอานิยายสั้นเรื่องนี้ของ Diana Wynne Jones มาเล่าผ่านงานอนิเมชันอย่างตรงไปตรงมา เพราะถ้ามองในเชิงการตลาดแล้ว Earwig and the Witch น่าจะเป็นงานที่แฟนๆ เก่าแก่ของอนิเมชันค่าย Studio Ghibli ถูกใจได้ยากที่สุด

 

EARWIG AND THE WITCH

 

แต่ไม่ว่าอย่างไร Earwig and the Witch ทั้งฉบับงานวรรณกรรมเยาวชนของ Diana Wynne Jones และฉบับหนังอนิเมชัน 3D CGI ของ Goro Miyazaki ก็เป็นทางเลือกที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายในงานสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน ที่ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหาและบรรยากาศแบบอ่อนใสโลกสวยแต่เพียงด้านเดียว ทว่ายังสามารถนำเสนอมุมมืดหม่นอัปลักษณ์ ที่สะท้อนสัญชาตญาณการเอาตัวรอดอย่างเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ผ่านเรื่องราวการผจญภัยของตัวละครที่เหมือนจะมีแต่ฝ่ายอธรรมมาห้ำหั่นกันเองได้เช่นกัน

ความ ‘ร้ายกาจ’ ของ Earwig and the Witch จึงยังคงแตกต่างจากงานอนิเมชันสำหรับเด็กเนื้อหา mature เป็นผู้ใหญ่เข้าใจโลกเข้าใจชีวิตอย่าง Watership Down (1978) ของ Martin Rosen หรือ James and the Giant Peach (1996) ของ Henry Selick ที่สุดท้ายก็ยังจะดูมองโลกในแง่ดีมากกว่า

ความ ‘ไม่น่าพิสมัย’ ทั้งหลายใน Earwig and the Witch นี่แหละ ที่ทำให้มันกลายเป็นงานอนิเมชันที่แปลกใหม่และล้ำไกลได้มากที่สุดเท่าที่ค่าย Studio Ghibli เคยสร้างมา แม้ว่ามันจะสุ่มเสี่ยงเหลือเกินที่จะทำให้บรรดาขาประจำต้องผิดหวังกับการพยายามรังสรรค์ความสดใหม่ในเชิงศิลปะอะไรทำนองนี้…

 

EARWIG AND THE WITCH

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save