fbpx
รัฐธรรมนูญแสนงาม : ความใฝ่ฝันจากนักร่างรัฐธรรมนูญ 2560

รัฐธรรมนูญแสนงาม : ความใฝ่ฝันจากนักร่างรัฐธรรมนูญ 2560

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ขณะที่มีเสียงเรียกร้องอย่างกว้างขวางให้มีการแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทดแทนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน โดยมีเหตุผลในการเสนอปรับแก้เกิดขึ้นในหลากหลายแง่มุม

แต่ในอีกด้านหนึ่ง น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยหากจะพิจารณาจากแง่มุมของฝ่ายคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่าในฐานะของบุคคลที่ได้มีส่วนร่วมกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 พวกเขามีความเห็นและความคาดหวังอย่างไรต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดนี้มีจำนวน 21 คน และที่ปรึกษาจำนวน 7 คน บุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญมีดังนี้

นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ.

นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานฯ คนที่หนึ่ง (เจ้าของวลี “ทำถนนลูกรังให้หมดไปก่อนค่อยทำรถไฟความเร็วสูง” อันลือลั่น)

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานฯ คนที่สอง (อดีต กกต. ในยุคสมัยที่ยื่นยุบพรรคประชาธิปัตย์ไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด)

ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต และนายนรชิต สิงหเสนี โฆษกฯ

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการคนที่หนึ่ง (อดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการฯ) และนายธนาวัฒน์ สังข์ทอง เลขานุการคนที่สอง

ทั้งนี้ คณะกรรมการเกือบทั้งหมดได้เขียน ‘ความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560’ ซึ่งแต่ละคนได้ “บอกเล่าความในใจตลอดระยะเวลาในการทำหน้าที่เพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา อันจะนำมาสู่ความภาคภูมิใจได้ว่ากว่าจะมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องผ่านวิธีการทำงานอย่างไรมาบ้าง” (จากคำนำของหนังสือเล่มดังกล่าวนี้ ซึ่งจัดทำโดยคณะอนุประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ)

 

ปราบโกงและรัฐธรรมนูญแบบไทยๆ

 

เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ซึ่งเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางก็คือ การขจัดการทุจริต หรือดังที่มีการกล่าวอ้างกันอยู่บ่อยครั้งว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 คือ ‘ฉบับปราบโกง’ ดังที่กรรมการหลายคนได้แสดงความเห็นเอาไว้ถึงความคาดหวังดังกล่าว

อุดม รัฐอมฤต อธิบายว่า

“ความคาดหวังในประเด็นสำคัญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่จะประสงค์ให้มีกลไกและมาตรการการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งมีการกล่าวขวัญกันอย่างมากว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็น ‘รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง’ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว รัฐธรรมนูญนี้ไม่ใช่แค่ปราบโกงเท่านั้น แต่ยังมุ่งให้การบริหารงานของรัฐมีประสิทธิภาพตามความต้องการของประชาชนด้วย” (หน้า 210)

นรชิต สิงหเสนี ก็ยืนยันถึงเป้าหมายไว้ในทิศทางเดียวกัน

“ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ร่างรัฐธรรมนูญที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง และเป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งปราบปรามการทุจริตอย่างแท้จริงทั้งในวงราชการและในเวทีการเมือง” (หน้า 100)

อย่างไรก็ตาม ความต้องการที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปในมุมมองของ กรธ. แม้ว่าจะยึดเอาระบอบประชาธิปไตยเป็นหลักของระบอบการปกครองในสังคมไทย แต่ก็ไม่อาจนำเอาประชาธิปไตยแบบตะวันตกมาเป็นตัวแบบหากต้องมีการปรับแก้ให้สอดคล้องกับบริบทแบบไทยๆ ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ได้ให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวไว้ว่า

“หลักการสำคัญของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง รัฐธรรมนูญฉบับที่ทำให้บ้านเมืองมีความเป็นการเมืองแบบไทย อาจไม่ใช่การเมืองแบบประชาธิปไตยในรูปแบบที่ปฏิบัติกันในประเทศตะวันตก แต่จะทำให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้”

“จะทำอย่างไรเพื่อรักษาไว้หลักการที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำอย่างไรที่จะนำมาปฏิบัติได้จริง ทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญของไทยสอดคล้องกับประชาธิปไตยหลักสากล และที่สำคัญคือจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้นอีก” (หน้า 75)

เช่นเดียวกันกับ ปกรณ์ นิลประพันธ์

“รัฐธรรมนูญของประเทศใดก็ต้องสอดคล้องกับบริบทของประเทศนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว การลอกฝรั่งจึงไม่หลักประกันว่าเราจะเป็นอย่างฝรั่ง นอกจากนี้ เรามีบทเรียนมากมายที่ลอกรัฐธรรมนูญบางมาตราของฝรั่งมาทั้งดุ้น แต่กลับกลายเป็นบทบัญญัติที่สร้างวิกฤตขึ้นในประเทศเรา ดังนั้น รัฐธรรมนูญไทยที่สอดคล้องกับบริบทแบบไทยๆ จึงถูกต้องตามหลักวิชากฎหมายเปรียบเทียบแล้ว” หน้า (114)

การให้เหตุผลถึงบริบททางการเมืองแบบไทยๆ ที่แตกต่างไปจากตะวันตก นับเป็นหลักการประการหนึ่งซึ่งดำรงอยู่ในแนวความคิดของ กรธ. และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใดที่ต้องการปฏิเสธแนวคิดของระบอบประชาธิปไตย ดังจะพบได้ในบทบัญญัติหลายมาตราของรัฐธรรมนูญซึ่งมีความแตกต่างไปจากมาตรฐานของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยในหลายประเทศ

 

คนดีทดแทนคุณแผ่นดิน

 

กรธ. แต่ละคนได้ให้ความหมายต่อการทำงานร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารไว้อย่างไร นับว่าเป็นประเด็นที่มีความน่าสนใจมิใช่น้อย

มีชัย ฤชุพันธ์ ได้อธิบายการเข้ามาทำหน้าที่ประธาน กรธ. ว่าภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้เชิญไปพบและให้เหตุผลที่เชิญมาทำงานเพราะว่ามีความจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งนายมีชัย ก็ได้อธิบายว่า

“ผมก็หมดทางเลี่ยง เพราะเมื่อเป็นความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของประเทศ ในฐานะคนไทยผมจะปฏิเสธได้อย่างไร ที่มีความรู้เป็นตัวเป็นตนอยู่ทุกวันนี้ก็ได้อาศัยทุนรัฐบาลไปเล่าเรียนมา บุญคุณนั้นผูกพันอยู่ชั่วชีวิตที่จะต้องตอบแทนต่อแผ่นดิน” (หน้า 11)

การให้เหตุผลถึงการทำงานว่าเป็นไปเพื่อบ้านเมืองนับเป็นอุดมการณ์สำคัญต่อหลายบุคคลในคณะกรรมการชุดนี้ ปกรณ์ นิลประพันธ์ เองก็ได้เน้นย้ำว่าเป็นการทำสิ่งที่ถูกต้อง ‘เพื่อบ้านเมือง’

“ท่านประธานมีชัยฯ คอยย้ำเตือนพวกเราอยู่เสมอว่าเราทำงานโดยสุจริต ไม่ต้องกลัว เพราะ ‘สุจริตเป็นเกราะกำบัง ศาสตร์พ้อง’ ท่านว่าอย่างนั้น และส่วนตัวผมสัมผัสได้ว่า กรธ. ทุกคนทำงานด้วยใจ ไม่มีนอกมีใจอะไรกับใครเขา คำของท่านประธานจึงกระตุ้นให้ กรธ. เกิดแรงใจที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องที่สุดต่อไปเพื่อบ้านเมือง โดยไม่นึกกริ่งเกรงอะไร” (หน้า 115)

ความเข้าใจว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นการสร้างคุณประโยชน์อย่างสูงให้แก่ประเทศชาติในหมู่ กรธ. จึงย่อมนำให้การทำหน้าที่ดังกล่าวนี้เป็นเรื่องของเกียรติและความภาคภูมิใจ มิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในสิ่งซึ่งน่าอับอายแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้ว่า ‘ความในใจ’ ของหลายคนก็ได้แสดงถึงความยินดีในการเข้ามาทำงานนี้เป็นอย่างยิ่ง

อุดม รัฐอมฤต ได้บันทึกถึงความประทับใจในห้วงเวลาทำงานร่วมกันไว้ว่า

“ความดีงามของท่านทั้งหลายตลอดจนมิตรภาพของพวกเราในระหว่างที่ได้ร่วมงานกันจะอยู่ในความทรงจำของผมตลอดไป ผมหวังว่าพวกเราคงจะได้มีโอกาสสานสัมพันธ์ให้ยืนนานต่อไป หรือถ้ายังมีเรี่ยวแรงกันก็หวังว่าจะได้ร่วมมือร่วมแรงทำงานเพื่อประเทศชาติอันเป็นที่รักของเราต่อไปด้วย” (หน้า 214)

ศาสตราจารย์ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ก็แสดงถึงความรู้สึกในทิศทางเดียวกัน

“เป็นเกียรติ เป็นความภาคภูมิใจและความประทับใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต” (หน้า 74)

สำหรับ เจษฎ์ โทณะวณิก ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา กรธ. ก็ได้ให้ความเห็นไว้ในฐานะที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า

“ความทรงจำที่ดีที่จะเก็บไว้ตลอดไป เป็นความยินดี และภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งภาษาหนังสงครามจะบอกว่า It has been an honor to fight along with you” (เป็นเกียรติที่ได้ร่วมต่อสู้กับพวกคุณ แปลโดยผู้เขียน) (หน้า 228)

กล่าวโดยสรุป สำหรับนักร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ แม้จะมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร แต่แทบทุกคนก็มีความรู้สึกว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่อันมีเกียรติเพื่อชาติบ้านเมือง หรือเป็นการทดแทนบุญคุณของแผ่นดิน อันเป็นภาระหน้าที่ที่พึงปฏิบัติโดยไม่อาจปฎิเสธได้แต่อย่างใด

 

ความพลิกผันในรัฐธรรมนูญของคนดี

 

หลังจากที่ได้มีการประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่นาน ดูราวกับว่ากระแสเสียงการคัดค้านกลับกระหึ่มก้องสังคมไทยขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการเลือกตั้งและสืบเนื่องต่อมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

คำถามก็คือว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นที่รังเกียจอย่างกว้างขวาง คำตอบที่อาจพอมีได้ในห้วงเวลานี้ก็คือ

หนึ่ง รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่สอดคล้องกับกระแสความรู้สึกของผู้คนในสังคมไทย อันเป็นผลมาจากความพยายามสร้างระบอบการเมืองที่ชนชั้นนำส่วนน้อยบางกลุ่มเป็นผู้ยึดกุมและกำหนดชะตากรรมของคนส่วนใหญ่ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นว่าเป็นระบอบการเมืองที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มชนชั้นนำส่วนน้อย ขณะที่ผู้คนโดยทั่วไปกลับไม่สามารถต่อรองหรือเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม

สอง ความเป็นไทยที่นักร่างรัฐธรรมนูญกล่าวอ้างถึงเพื่อทำให้หลักการและบทบัญญัติในหลายประเด็นมีความผิดเพี้ยนไปจากหลักการของสังคมประชาธิปไตยอย่างสำคัญ และเป็นสิ่งที่ผู้คนไม่อาจยอมรับและมีความเห็นแตกต่างออกไปอย่างมาก

สาม โดยที่ภูมิหลังและพื้นเพของนักร่างรัฐธรรมนูญชุดดังกล่าวแทบทั้งหมดอยู่ภายใต้ระบอบรัฐราชการ ทำให้ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมไทยอย่างดีพอ มุมมองที่มีอยู่จึงอาจเป็นทรรศนะของกลุ่มชนชั้นนำแต่เพียงด้านเดียว

หรือเป็นไปได้ว่าแทบทั้งหมดก็ตระหนักกันอยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้คงจะไม่ได้มีอนาคตที่ยาวไกลมากสักเท่าใด การร่างรัฐธรรมนูญที่ทำกันก็เป็นเพียงพิธีกรรมอันหนึ่งของความพยายามสถาปนาระบอบการเมืองรูปแบบใหม่ ทั้งเป็นเพียงการทำหน้าที่ในฐานะมือไม้ของคณะรัฐประหารในการสานต่ออำนาจให้คงอยู่ต่อไป การกล่าวอ้างถึงความเสียสละ ความตั้งใจ หรือความมุ่งหมายเพื่อชาติบ้านเมือง ก็ไม่ได้มีความหมายจริงจังอย่างใดแม้แต่น้อย

เพราะสุดท้าย ไม่ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะมีชะตากรรมเช่นไร แต่บุคคลที่ได้มีส่วนร่วมก็สามารถจะก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในอาชีพการงานของตนต่อไป บางคนอาจได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในหน่วยงานของตน บางคนอาจจะกำลังมีโอกาสดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในมหาวิทยาลัยใหญ่ หรือบางคนก็อาจกำลังรอคอยดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอยู่

ดังนั้น ถึงรัฐธรรมนูญจะจากไปในอนาคตข้างหน้า แต่นักร่างรัฐธรรมนูญอาชีพเหล่านี้ก็ยังจะอยู่กับสังคมไทยต่อไปอีกเนิ่นนาน และไม่แน่นักว่าเราอาจจะได้เห็นบุคคลเหล่านี้กลับมามีบทบาทสำคัญในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับต่อไปอีก

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save