fbpx
การจัดการความหลากหลายในแบบฉบับอินเดีย

การจัดการความหลากหลายในแบบฉบับอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

“ไปอยู่ประเทศอินเดียเลย”

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติของประเทศไทยท่านหนึ่ง

 

สำหรับช่วงนี้กระแสการเมืองไทยค่อนข้างร้อนแรง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ในการแต่งกาย และการใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสารในรัฐสภา จนถึงกับมีการเอ่ยประโยคข้างต้นขึ้นมา น่าสนใจที่ว่ามีการชูประเด็นเรื่องการส่งเสริมความหลากหลายของภาษาและวัฒนธรรมของอินเดียขึ้นมาในรัฐสภาไทย

หลายคนคงทราบว่าอินเดียเป็นต้นแบบสำคัญของหลายประเทศในเรื่องการส่งเสริมความเท่าเทียมและความหลากหลายในเชิงอัตลักษณ์และวัฒนธรรม เพราะเมื่อแรกเริ่มก่อตั้งประเทศ อุดมการณ์และเป้าหมายใหญ่ของผู้นำอินเดียคือการส่งเสริมความหลากหลาย สิทธิความเท่าเทียมกันของประชาชนทั้งประเทศที่มาจากต่างถิ่น ต่างที่ ต่างภาษา ต่างศาสนา และต่างวัฒนธรรม

คงมีใครหลายคนสงสัยว่าประเทศอินเดียที่กว้างใหญ่ไพศาล ประชาชนกว่า 1.2 พันล้านคน เป็นบ่อเกิดภาษาที่หลากหลายถึง 1,000 ภาษา มีศาสนามากหน้าหลายตา ที่มีคนกล่าวกันว่าทุกๆ 100 กิโลเมตรที่รถวิ่งผ่านไป ความเชื่อของคนอินเดียก็เปลี่ยนไปด้วย นี่ยังไม่นับรวมว่า เอาเข้าจริงแล้วคนอินเดียคือใคร เพราะชาติพันธ์ุของประชากรอินเดียเองก็มีการผสมผสานและแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่เช่นเดียวกัน

ครั้งนี้เลยถือโอกาสเขียนอธิบายถึงแนวทางการจัดการความหลากหลายในแบบฉบับอินเดียว่าทำกันอย่างไรบ้าง ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของแนวคิดเหล่านี้เกิดจากอะไร และเอาเข้าจริงแล้วสังคมอินเดียยอมรับความหลากหลายได้มากน้อยแค่ไหน

 

ความหลากหลายกับการสร้างชาติ แตกต่างแต่เป็นหนึ่งเดียว

 

หากย้อนไปมองประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐอินเดีย (Republic of India) ต้องยอมรับว่าอินเดียเป็นประเทศที่เกิดใหม่ มีอายุเพียง 70 กว่าปีเท่านั้น แต่หากย้อนวิวัฒนาการก่อนจะเป็นรัฐในทุกวันนี้ อินเดียมีประวัติศาสตร์มายาวนาน แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่มีแต่ความสับสน และเต็มไปด้วยความหลากหลายมาตั้งแต่ต้น เรียกได้ว่าอินเดียไม่เคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวมาก่อนเลย หากเรามองจากแผนที่ประเทศอินเดียในปัจจุบัน หลายคนบอกว่าในยุคจักรวรรดิเมาริยะ หรือมุกัล เป็นช่วงที่อินเดียเป็นปึกแผ่นมากที่สุด แต่ในความเป็นจริงทั้งสองจักรวรรดินี้กลับไม่สามารถพิชิตแดนใต้ของอินเดียได้เลย เรียกได้ว่าแผ่นดินอินเดียที่เราเห็นในทุกวันนี้คือความแปลกใหม่ที่สุด ซึ่งเป็นผลผลิตมาจากยุคอาณานิคม

แม้จักรวรรดิอังกฤษจะสามารถพิชิตดินแดนทั้งหลายในอินเดียไว้ได้ แต่ก็ต้องยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของรัฐมหาราชาต่างๆ ที่มีมากมายถึงกว่า 500 รัฐ แน่นอนว่าอังกฤษไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายกิจการภายในของรัฐมหาราชาเหล่านี้ได้ตามข้อตกลงที่ลงนามกันไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐมหาราชาเหล่านี้ยังคงมีภาษา วัฒนธรรม และคติความเชื่อดั้งเดิมของตัวเองมาโดยตลอด แม้จะยอมรับการศึกษาสมัยใหม่แบบอังกฤษเข้าไป แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงมัน ฉะนั้นภายหลังการประกาศเอกราชของอินเดียในปี 1947 ปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลในช่วงเวลานั้นต้องเผชิญในการสร้างความเป็น ‘อินเดีย’ คือความหลากหลายของรัฐมหาราชาเหล่านี้ รวมถึงความหลากหลายของประชาชนในดินแดนแห่งนี้

สุดท้ายแล้วกลุ่มคณะผู้เรียกร้องเอกราชก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่าอินเดียไม่สามารถเป็นรัฐเดี่ยวแบบรวมศูนย์อำนาจได้ การกระจายอำนาจจึงเกิดขึ้น แต่ภายใต้การทำงานแบบสาธารณรัฐของอินเดีย รัฐธรรมนูญยังคงให้อำนาจรัฐบาลกลางหลายเรื่องในการแทรกแซงกิจการของรัฐบาลระดับรัฐ เรียกได้ว่าส่งเสริมความหลากหลายแต่ต้องเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น แบ่งแยกไม่ได้

หลายคนจึงเรียกโครงสร้างรัฐของอินเดียว่าเป็น ‘รัฐเดี่ยวภายใต้โครงสร้างสาธารณรัฐ’ กล่าวคือรัฐบาลกลางยอมรับในตัวตน ความหลากหลาย และอัตลักษณ์ของท้องถิ่น แต่อยู่บนเงื่อนไขสำคัญคือรัฐเหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้ร่มธงสาธารณรัฐอินเดียเท่านั้น

 

เปิดใจ โอบรับ ส่งเสริม แนวทางหลักในการจัดการความหลากหลาย

 

หากจะเฉลยว่าอินเดียใช้กระบวนการใดในการจัดการกับความหลากหลาย อาจอธิบายผ่าน 3 คำ หลัก คือ เปิดใจ โอบรับ และ ส่งเสริม

สำหรับประเด็นแรกที่มีความสำคัญมากๆ คือ การเปิดใจยอมรับว่า ‘ความหลากหลาย’ เป็นเรื่องธรรมชาติ และมีอยู่จริง เพราะหากยอมรับความเป็นจริงไม่ได้ การดำเนินนโยบายผนวกรวมความหลากหลายใต้ความเป็นอินเดียคงไม่ประสบความสำเร็จ

การเปิดใจรับความหลากหลายดูเป็นเรื่องง่าย แต่เอาเข้าจริงแล้ว เป็นปราการด่านสำคัญที่หลายประเทศไม่สามารถก้าวข้ามไปได้ อินเดียประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ เพราะความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมแต่ต้นของอินเดีย และความพยายามในการรักษาสิ่งเหล่านี้เอาไว้ เพราะปราชญ์และนักคิดอินเดียหลายคนมักพร่ำสอนอยู่เสมอว่า “เพราะแตกต่างจึงเดินหน้า เพราะถกเถียงจึงแตกฉาน” คติความคิดเหล่านี้ฝังรากในความคิดของคนอินเดียหลายคน เราจึงสังเกตุว่า คนอินเดียชอบถกเถียง และยอมรับในความต่างของกันและกันในทางความคิด และเรียนรู้ระหว่างกันอยู่เสมอ

นอกจากการเปิดใจยอมรับในความหลากหลายแล้ว สิ่งที่รัฐบาลอินเดียทำ และพยายามทำมาโดยตลอดคือเรื่องการโอบรับความหลากหลายเหล่านั้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ หนึ่งในเรื่องสำคัญที่เป็นข้อถกเถียงใหญ่นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญของอินเดียปี 1950 คือเรื่องภาษาราชการ รัฐธรรมนูญอินเดียระบุไว้ชัดตามมาตรา 343 ว่าภาษาราชการของอินเดียคือภาษาฮินดีในอักษรเทวนาคีเท่านั้น โดยอนุโลมใช้ภาษาอังกฤษไปก่อน 15 ปี แต่เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากคนอินเดียไม่ได้รู้ภาษาฮินดีทุกคน และในเวลานั้นเองมีคนรู้ภาษานี้เพียงร้อยละ 40 เท่านั้น หนึ่งในคำถามใหญ่ที่เป็นประเด็นในช่วงนั้นคือ “ทำไมต้องฮินดี” แล้วภาษาอื่นไม่สำคัญเช่นนั้นหรือ?

นั่นเป็นความสุ่มเสี่ยงและเปราะบางครั้งแรกที่อินเดียต้องเผชิญปัญหาข้อถกเถียงในเรื่องการส่งเสริมความหลากหลายเพราะหลังจากนั้นไม่นาน เกิดการประท้วงใหญ่ในรัฐทมิฬ นาดู นำไปสู่การจราจล และมีประเด็นเรื่องการต่อต้านภาษาฮินดี จนสุดท้ายรัฐบาลการต้องออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อรองรับภาษาถิ่นทั้งสิ้น 22 ภาษาให้สามารถใช้ได้ในทางราชการของท้องถิ่นนั้นๆ มีการปรับรัฐธรรมนูญมาตรา 210 ให้ ส.ส. สามารถใช้ภาษาถิ่นทั้ง 22 ภาษาได้โดยมีล่ามแปล ต่อมาในปี 1963 มีการต่ออายุภาษาอังกฤษให้เป็นภาษาราชการ และแก้ไขอีกครั้งในปี 1967 ให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาฮินดี

นับแต่นั้นเป็นต้นมาภาษาฮินดีก็ไม่ได้มีการบังคับให้มีในการเรียนการสอน ประชาชนทั่วไปสามารถเลือกศึกษาได้ระหว่างภาษาอังกฤษ หรือฮินดี และภาษาถิ่นของตนเอง ฉะนั้นหากใครเผลอไปใช้ฮินดีในรัฐทมิฬ นาดู ก็ไม่ต้องตกใจที่จะไม่มีใครฟังเรารู้เรื่อง นี่คือสิ่งที่เรียกว่า เปิดใจ และโอบรับ ในความหลากหลาย แม้รัฐบาลจะแข็งขันกับเรื่องภาษาได้แต่ก็เลือกที่จะไม่ทำ

แนวคิดสุดท้ายคือเรื่องการส่งเสริมให้เกิดความหลากหลาย ซึ่งเป็นการกระทำในระดับนโยบาย เป็นความโชคดีประการหนึ่งของอินเดียที่ระบบการปกครองมีการกระจายอำนาจค่อนข้างสูง ฉะนั้นรัฐบาลท้องถิ่นจึงสามารถทำงานเรื่องการส่งเสริมความเป็นท้องถิ่นนิยมได้เอง การส่งเสริมอัตลักษณ์และวัฒนธรรม รวมถึงภาษาท้องถิ่นจึงสามารถกระทำได้อย่างเสรีโดยปราศจากการแทรกแซงจากส่วนกลาง มีการส่งเสริมการแต่งกายตามประเพณีท้องถิ่นตามที่อยู่ของ ส.ส. แต่ละคน

ฉะนั้นเวลาเราดูประชุมรัฐสภาอินเดีย จะไม่ต่างจากตลาดผ้าอินเดีย ที่มีทั้งการนุ่งส่าหรี กูร์ต้า โทตี เรียกได้ว่าจะมองหาสูทสากลกลายเป็นเรื่องยากไปรัฐสภาอินเดีย

 

ปฏิวัติสังคมและวัฒนธรรมต้องใช้เวลา: กระบวนการส่งเสริมความหลากหลายที่ยังไม่มีจุดจบ

 

ถึงแม้ว่าอินเดียจะดำเนินนโยบายตามแนวทาง ‘เปิดใจ โอบรับ และส่งเสริม’ ความหลากหลายให้เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อดำรงรักษาความเป็นชาติและความเป็นรัฐเอาไว้ แต่นั่นใช่ว่านโยบายเหล่านี้จะเป็นเครื่องการันตีว่าอินเดียจะปราศจากปัญหาความขัดแย้งที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากความหลากหลายของผู้คนภายในประเทศ เพราะในความเป็นจริง ทั่วทุกหัวระแหงของประเทศอินเดีย มักเกิดปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งที่เกิดจากการยอมรับความแตกต่างไม่ได้เช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการดูถูกชาติพันธ์ุที่แม้รัฐบาลอินเดียจะพยายามอย่างมากในการจัดการความหลากหลายทั้งในเชิงกฎหมายและนโยบาย แต่ในทางการปฏิบัติตน ขนบประเพณี หรือวัฒนธรรมของคนอินเดียเองยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากนัก คนเหนือยังคงดูถูกคนใต้ เช่นเดียวกับที่คนใต้ไม่ใคร่จะชอบคนเหนือเท่าไหร่นัก หรือคนอารยันยังคงดูถูกเหล่าอาทิวาสี และชาวพื้นเมืองภาคอีสาน สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้รัฐบาลอินเดียยังคงเผชิญภัยความมั่นคงภายในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มกบฎแบ่งแยกดินแดน หรือแม้กระทั่งกลุ่มติดอาวุธที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงในสังคมอินเดียอย่างกลุ่มเหมาอิสต์ ยังไม่นับรวมระบบวรรณะ หรือความเกลียดชังทางศาสนาระหว่างชาวฮินดู และมุสลิม ที่ยังคงเป็นรากปัญหาใหญ่ที่รอวันแก้ไข

ในที่สุดแล้วอาจเรียกได้ว่าการปฏิวัติทางสังคมและวัฒนธรรมของอินเดียภายหลังได้รับเอกราชจนกระทั่งถึงปัจจุบันยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดหรือจบลงง่ายๆ เพราะในหลายเรื่องหลายประเด็นจำเป็นต้องรอคนยุคใหม่ให้เข้ามาปรับเปลี่ยนแก้ไข บางเรื่องต้องอาศัยระบบการศึกษาเป็นตัวนำ และบางเรื่องก็เพียงรอเวลาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเองเท่านั้น แต่ในวันนี้เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า กฎหมายและนโยบายของรัฐบาลอินเดียได้เปลี่ยนแปลงแล้ว และวางรากฐานที่สำคัญเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

การจัดการความหลากหลายในแบบฉบับอินเดียจึงไม่ใช่เรื่องการพลิกฟ้า ผลิกแผ่นดิน แต่เป็นการเดินแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้คนในสังคมเกิดจิตสำนึกและเรียนรู้ถึงความหลากหลายว่าแท้จริงแล้วมันสวยงามเช่นใด

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save