fbpx
การเมืองเรื่องยุบพรรคการเมือง

การเมืองเรื่องยุบพรรคการเมือง

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เรื่อง

 

คำถามสำคัญ

 

การสร้างระบอบประชาธิปไตยจากปฏิวัติ 2475 มาถึงวันนี้ก็ราว 9 ทศวรรษแล้ว แต่ทำไมเราจึงยังมองหาพรรคการเมืองใดที่จะฝากผีฝากไข้อย่างจริงจังไม่ได้เลย หากพอจะมีพรรคใดที่เราอาจชอบ พรรคก็ถูกยุบ หัวหน้าพรรคก็ถูกขับไล่ หรือค่อยๆ ล้มพรรคตนเอง ถูกควบรวมกับพรรคอื่น หรือบางพรรคการเมืองดูเหมือนจะก่อตั้งมานานที่สุดในหมู่พรรคการเมืองด้วยกัน แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่ใช่ตัวเลือกที่จะเป็นพรรคชูธงนำในการสร้างประชาธิปไตยสากลเพื่อเพิ่มสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน และไม่เคยได้ชัยชนะเสียงข้างมากมาจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

คำถามสำคัญคือทำไมพรรคการเมืองไทยจึงไม่แข็งไม่แกร่งเสียที?

ทำไมพรรคการเมืองไทยจึงล้มหายตายจากไประลอกแล้วระลอกเล่า?

แม้แต่พรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ต่อให้มี ส.ส. ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 นี้ เราลองตั้งคำถามในใจและหาคำตอบด้วยความจริง เราคิดว่าพรรคพลังประชารัฐจะเป็นพรรคการเมืองแบบยั่งยืนนานอย่างน้อยๆ ก็อีกหนึ่งทศวรรษ หรือจะเป็นพรรคแบบเดี๋ยวก็ล้มหายตายจาก เหมือนเช่น

พรรคเสรีมนังคศิลาของคณะทหารกลุ่มเครือข่ายจอมพล ป. พิบูลสงครามที่มีอายุเพียง 2 ปี

หรือพรรคชาติสังคมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่มีอายุเพียงไม่ถึงหนึ่งปี

หรือพรรคสหประชาไทยของกลุ่มเครือข่ายจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ที่มีอายุเพียงสองปีกว่า

หรือพรรคสามัคคีธรรมของฝ่ายคณะทหารรัฐประหารปี 2534 ที่มีอายุไม่ถึงปี และได้ชื่อว่าเป็น ‘พรรคฝ่ายมาร’ ในการเมืองที่รุนแรงเมื่อพฤษภาคม 2535 เท่านั้นหรือไม่?

 

ยุบหลังจัดตั้งรัฐบาล มาเป็นยุบก่อนเลือกตั้ง

 

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ได้พิพากษา ‘ยุบ’ พรรคไทยรักษาชาติ ที่เพิ่งจัดตั้งมาได้ 4 เดือนกว่าเพื่อส่ง ส.ส. ลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการยุบพรรคที่มีเสียงประชาชนสนับสนุนดีพรรคหนึ่งก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้งเพียง 17 วัน

พรรคไทยรักษาชาตินี้ ส่งผู้สมัคร ส.ส. เขต 174 เขต/คน จากทั้งหมด 350 เขต/คน ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ/ปาร์ตี้ลิสต์ 108 คน จากที่มี ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ได้ 150 คน พรรคนี้เป็นพรรคที่มุ่งเน้นหาคะแนนเสียงเพื่อให้ได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เป็นสำคัญ

อย่างตรงไปตรงมา พรรคไทยรักษาชาตินี้เป็นพรรคเครือข่ายของพรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคเพื่อไทยมุ่งเน้นที่จะได้ ส.ส. เขตเป็นสำคัญ อันเป็นการทะลวงกรอบทลายกรงเกมกลจัดการเลือกตั้งแบบรัฐบาลทหารรัฐประหาร ที่มุ่งทำลายและกระจายเสียง ส.ส. เพื่อไม่ให้เกิดพรรคขนาดใหญ่ในแบบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในแบบการเลือกตั้งช่วงสิบปีที่ผ่านมาระหว่างปี 2544-2554 หรือก่อนรัฐประหารปี 2557

คาดการณ์ว่าเลือกตั้งมีนาคม 2562 นี้ พรรคไทยรักษาชาติจะได้เสียงราว 2 ล้านเสียง เมื่อคำนวณว่า 7-8 หมื่นเสียงจะได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน ดังนั้น พรรคนี้อาจจะได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ระหว่าง 20-25 คน[1]

ดังนั้นพรรคไทยรักษาชาติจึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่มีพรรคเพียงเพิ่งเกิดแรกตั้งก็ถูกยุบพรรคลง มีข้อมูลว่าในรอบสองทศวรรษ[2] ตั้งแต่มีกฎหมายพรรคการเมืองปี 2541 ตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาถึงปัจจุบัน 2562 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปแล้ว  133 พรรค โดยแบ่งเป็น 8 กลุ่มของข้ออ้างหรือปัจจัยในการยุบพรรคการเมือง ดังนี้

1. จำนวนสมาชิกหรือสาขาไม่ครบตามเกณฑ์ขั้นต่ำ กกต.สั่งยุบ 38 พรรค ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ 41 พรรค

2. ไม่จัดการประชุมใหญ่พรรคการเมืองหรือจัดการประชุมใหญ่ไม่ถูกต้อง ยุบ 9 พรรคการเมือง

3. ไม่นำส่งรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองหรือนำส่งล่าช้า ยุบ 13 พรรคการเมือง

4. ไม่นำส่งรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมือง นำส่งล่าช้า หรือใช้เงินไม่ถูกต้อง ยุบ 20 พรรคการเมือง

5. การฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งซึ่งทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ 3 พรรคการเมือง ปลายปี 2551 ได้แก่ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย

6. กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ยุบ 4 พรรคการเมือง ที่สำคัญคือศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาลปี 2544-2559 นำโดย ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และมีฐานเสียงจากประชาชนสูงกว่า 15 ล้านเสียง

7. กระทำผิดกฎหมายพรรคการเมืองเกี่ยวกับการยื่นเอกสารไม่ครบถ้วน ล่าช้า หรือการจัดประชุมพรรค สั่งยุบ 4 พรรคการเมือง

8. กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ม.92 (2) พ.ร.ป. พรรคการเมือง 2560) ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ วันที่ 7 มีนาคม 2562

หากพิจารณาทั้ง 8 กลุ่มปัจจัยข้ออ้างในการยุบพรรคการเมือง เกือบทั้งหมดไม่อาจปฏิบัติตามกฎเกณฑ์รายละเอียดยิบย่อยในการดำเนินงานเอกสารและการประชุมตามฝ่ายออกแบบกฎหมายได้ แต่มีเพียง 3 กลุ่มปัจจัยข้ออ้างในการยุบพรรคการเมืองที่กล่าวได้ว่าเป็นผลของการต่อสู้แข่งขันเพื่ออำนาจการจัดตั้งรัฐบาลอย่างสำคัญ ได้แก่ กลุ่มที่ 5 การฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งฯ, กลุ่มที่ 6 กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศฯ และกลุ่มที่ 8 กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ฯ รวม 8 พรรคการเมือง แต่เป็นพรรคการเมืองที่สำคัญในการต่อสู้เพื่อจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับฝ่ายทหารที่ทำรัฐประหารในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ พรรคไทยรักไทย พรรคชาติไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคไทยรักษาชาติ

สามกลุ่มปัจจัยข้ออ้างยุบพรรคการเมืองนี้ หากดูตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่สุด 30 กันยายน 2560 ก็คือมาตรา 92 (ดูภาคผนวกท้ายบทความ) ที่สำคัญในตอนนี้คือ

(1) กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญ และ

(2) กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข

แต่ในอนาคตปัจจัยข้ออ้างที่จะยุบพรรคการเมืองยังมีอีกเพียบ ดังในมาตรา 92 (3) ตั้งแต่เรื่องบุคคลอื่นมีอิทธิพล หรือคนนอกประเทศบริจาคเงินให้พรรคการเมืองก็ถูกยุบพรรคได้

พูดง่ายๆ ว่า พรรคการเมืองไทยเดินไปบนความเสี่ยงที่จะถูกยุบพรรคได้ตลอดเวลา ทั้งโดยการกระทำของฝ่ายคนในพรรคเองทั้งที่รู้และไม่รู้เท่าถึงการณ์ หรือจากการถูกใส่ความโดยวางแผนจากบุคคลที่จ้องล้มพรรคนั้นๆ

ส่วนฝ่ายสร้างกฎหมายพรรคการเมืองตามการรัฐประหาร 2557 นี้ ได้แสดงความ ‘กลัว’ และ ‘เกรง’ บุคคลหรือคณะบุคคลที่มีอิทธิพลที่อยู่นอกประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ว่าจะมีอิทธิพลต่อพรรคการเมืองบางพรรคที่กำลังดำเนินงานทางการเมืองในประเทศ แม้บุคคลเหล่านั้นจะถูกขับไล่ หรือถูกผูกติดไว้ด้วยข้อหาจำคุกและคดีความอีกมากมายก็ตาม

นอกจากจะยุบพรรคการเมืองแล้ว ยังตัดสิทธิทางการเมืองของแกนนำหรือฝ่ายบริหารพรรคนั้นๆ อีกคนละ 5 ปี แต่ในครั้งนี้ปี 2562 คณะบริหารพรรคไทยรักษาชาติถูกตัดสิทธิทางการเมืองสูงกว่าการตัดสินพรรคอื่นๆ ในครั้งก่อน ให้ถูกตัดสิทธิเป็นคนละ 10 ปี ดูราวกับว่าจะทำเพื่อให้พรรคที่ยังเหลือในสนามเลือกตั้งกลัวเกรงการทำผิดตามกฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้มากขึ้น หากทว่า เมื่อเราดูรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรค หรือแม้แต่หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาตินั้น สรุปได้ว่ายังไม่ใช่ตัวจริงเสียงจริงในความเป็นผู้นำ เป็นแต่เพียงกลยุทธ์ที่จะรับมือกับเกมยุบพรรคที่เครือข่ายนักการเมืองต่างมีประสบการณ์กันมาแล้วกว่าสิบปี แล้วก็ถูกยุบตามคาด

คำถามสำคัญคือ เมื่อพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่จะเป็นแกนหลักจัดตั้งรัฐบาล หรือพรรคที่จะเป็นพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลถูกยุบไปแล้ว พรรคการเมืองหรือกลุ่มใดในสนามจัดตั้งรัฐบาลได้ประโยชน์สูงสุด

คำตอบเราเห็นสองแนวทาง

หนึ่งคือคณะรัฐประหารได้จัดตั้งรัฐบาล เช่นจากการรัฐประหารปี 2549 และรัฐประหารปี 2557 ที่ได้รัฐบาลทหารพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และรัฐบาลทหารพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

สองคือพรรคการเมืองอื่นที่สนับสนุนฝ่ายคณะทหารรัฐประหารได้เป็นแกนหลักจัดตั้งรัฐบาล เช่นปี 2551 เมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ทำให้รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ต้องสิ้นสุดลงทันทีแม้เพิ่งจะจัดตั้งรัฐบาลได้เพียง 3 เดือน จึงได้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ที่ถูกกล่าวขานกันว่า ‘ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร’[3]  เป็นต้น

 

พรรค ‘คณะราษฎร’ พรรคการเมืองพรรคแรกของไทย

 

เมื่อพิมพ์คำว่า ‘พรรคการเมืองพรรคแรกของไทย’ สืบค้นใน Google นั้น ได้มีมือมืดมาสร้างฐานข้อมูลในวิกิพีเดียอย่างสั้นๆ ว่า ‘พรรคก้าวหน้า’ คือพรรคการเมืองพรรคแรกของไทย[4] สร้างขึ้นโดยนักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมเมื่อปี 2489 โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งจากข้อเท็จจริง เท่ากับข้อเขียนนี้เป็นการมโนอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ตำนานพรรคก้าวหน้านี้อาจเป็นไปได้ว่าบทบาทของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ที่เด่นดังยาวนานตลอดทศวรรษ 2490-2520[5] ในฐานะเจ้าของและนักเขียนหนังสือพิมพ์สยามรัฐ นักเขียนนวนิยาย และอาจารย์บรรยายพิเศษในมหาวิทยาลัย ทั้งเป็นปัญญาชนสายเชื้อราชวงศ์ที่ได้รับการยกย่องสูง จะได้บอกเล่าซ้ำๆ ถึงตำนานการตั้งพรรคการเมืองของตนจนได้รับการเล่าต่อและบันทึกไว้ในหนังสือสารคดีการเมืองและหนังสือเรียนรัฐศาสตร์เกี่ยวกับพรรคก้าวหน้านี้

จากจุดเริ่มด้วยการมโน ก็ถูกทำให้กลายเป็นความเชื่อความรู้ในตำราเรียนรัฐศาสตร์มาถึงวันนี้

ทั้งเรื่องเล่าพรรคก้าวหน้านี้ โดยนัยก็จะเชื่อมโยงไปยังการเกิด ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ในปีเดียวกันด้วย เมื่อมีการยุบพรรคก้าวหน้ามาสร้างเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็จะเป็นต้นธารของตำนานอีกเรื่องว่า พรรคประชาธิปัตย์คือพรรคการเมืองที่มีอายุมากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย แม้ว่าข้อเท็จจริงจะถูกยุบไปเป็นระยะๆ หลังรัฐประหาร ถูกยุบนานบ้างสั้นบ้างตามระยะช่วงชีวิตของคณะรัฐประหาร (ถูกยุบเมื่อมีรัฐประหารปี 2494, 2501, 2514, 2519) บางทีก็ถูกหยุดการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหลายปีเหมือนจากรัฐประหารปี 2557 อันเป็นช่วงชีวิตของพรรคการเมืองที่มีพัฒนาการอย่างไม่ต่อเนื่อง

ข้อจริงคือในปี 2489 มีการตั้งชื่อพรรคการเมืองเพื่อลงสนามเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อต้นมกราคม มีพรรคสหชีพเพื่อสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์และคณะราษฎร และพรรคก้าวหน้าของกลุ่มอนุรักษนิยม-ราชาชาตินิยม ถัดนั้นก็มีพรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นในปีเดียวกัน ที่บันทึกไว้มี 10 พรรคการเมือง แต่พรรคที่สำคัญในขณะนั้นได้แก่พรรคสหชีพ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ และพรรคประชาธิปัตย์

ที่มีการใช้ชื่อว่า ‘พรรค’ นั้นเพราะกระบวนการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับเดิมปี 2475 ที่ดำเนินต่อเนื่องมาจากปลายปี 2488 จนเป็นรัฐธรรมนูญเดือนพฤษภาคมปี 2489 มาตรา14 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหะสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การศึกษาอบรม การชุมนุมสาธารณะ การตั้งสมาคม การตั้งคณะพรรคการเมือง การอาชีพ ทั้งนี้ภายใต้บังคับแห่งบทกฎหมาย” นี้คือที่มาคำว่า ‘พรรคการเมือง’ ในความหมายของ political party ถูกใช้เป็นครั้งแรกในไทย

อย่างไรก็ตาม พรรคสหชีพ พรรคก้าวหน้า พรรคแนวรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่พรรคการเมืองพรรคแรกของไทยอย่างแน่นอน

พรรคการเมืองพรรคแรกของไทยคือพรรค ‘คณะราษฎร’

The People’s Party หรือ พรรคคณะราษฎร เกิดขึ้นจากการประชุมก่อตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2469 ที่ปารีส ฝรั่งเศส ด้วยสมาชิกคนหนุ่ม 7 คน ที่มีอายุระหว่าง 26-29 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อล้มเลิกระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สร้างระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ดังที่หมุดปฏิวัติ 2475 ได้ระบุไว้ว่า “24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” พรรคคณะราษฎรจึงเป็นพรรคการเมืองเพื่อปฏิวัติประเทศ

ทำไมพรรคการเมืองพรรคแรกนี้จึงใช้คำว่า  พรรคคณะราษฎร?

ตอบแบบสั้นกระชับที่สุดคือ ภายใต้การปกครองของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ห้ามมีการสอนเรื่องการเมือง เรื่องรัฐศาสตร์ เรื่องรัฐธรรมนูญ และห้ามการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะวิชาการเหล่านี้ ‘อาจ’ นำมาซึ่งภาวะสั่นคลอนของระบอบการปกครองระบอบเดิม ดังนั้น การแปลศัพท์เหตุการณ์ทางการเมืองของโลก จึงต้องแปลบนฐานศัพท์ที่มีใช้อยู่ในระบอบเก่า

คำว่า Political Party จึงถูกแปลด้วยคำว่า ‘คณะ’ อันมีนัยถึงการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลเพื่อดำเนินงานอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งก็คือพรรคการเมืองนั่นเอง เช่นพรรคก๊กมินตั๋งที่ล้มการปกครองของราชวงศ์ชิงในจีนเมื่อปี 2454 ก็เรียกกันในไทยว่า คณะเก๊กเหม็ง หรือ คณะก๊กมินตั๋ง เป็นต้น

คำว่า People ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เรียกผู้ปกครองว่า ‘เจ้านาย’ เรียกผู้ใต้ปกครองหรือประชาชนในขณะนั้นว่า ‘ราษฎร’ ดังนั้น พรรคคณะราษฎร จึงเป็นพรรคการเมืองของฝ่ายราษฎร ที่มีเป้าหมายนำอำนาจสูงสุดของประเทศหรืออำนาจอธิปไตยมาให้เป็นของราษฎรทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

นี่คือที่มาของกำเนิดและความหมายของพรรคคณะราษฎร พรรคการเมืองพรรคแรกของไทยที่มีบทบาททางการเมืองอย่างจริงจัง และดำเนินการบรรลุผลตามวัตถุประสงค์เบื้องต้นในวันปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475

หลังปฏิวัติ 2475 แล้ว จึงเริ่มมีการแปลศัพท์ทางการเมืองอย่างจริงจัง เช่น จากเดิมคำว่า รัฐธรรมนูญ  (constitution) มีความหมายรวมถึงว่า democracy ด้วย ก็ได้มีการสร้างศัพท์ใหม่ว่า ระบอบการเมืองแบบที่ไทยเราต้องการคือระบอบประชาธิปไตย (Democracy)

หลังปฏิวัติ 2475 คนทุกคน (People) ถูกอธิบายในทางทฤษฎีว่ามีความเท่าเทียมกัน หรือเสมอภาคกัน (equality) ดังนั้นการเรียกว่า ‘ราษฎร’ ย่อมหมายถึงการยังเป็นคนที่ไม่เท่ากับคนชั้นอื่น คณะราษฎรจึงสร้างใช้ศัพท์ของความหมายว่าคนทุกคนเป็นพลเมืองของประเทศชาติเสมอกันด้วยคำว่า ‘ประชาชน’

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตกค้างทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันถึงอำนาจสูงสุดของประชาชนมาถึงทุกวันนี้คือ สภาผู้แทนราษฎร โดยการเลือกตั้งของประชาชน

 

การเมืองเรื่องยุบพรรค ‘คณะราษฎร’

 

แนวคิดทฤษฎีพรรคการเมืองที่สอนกันในคณะรัฐศาสตร์มาอย่างยาวนานแล้วนั้น[6] เราได้เรียนเรื่องการทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งและมีความต่อเนื่อง บทบาทหน้าที่ของพรรคการเมืองมีมากมาย เช่น จะทำให้เกิดขุมพลังในการเข้าสู่อำนาจจัดตั้งรัฐบาลหรือตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล รวบรวมความต้องการจากประชาชนผลักดันเป็นนโยบายรัฐหรือเสนอให้ฝ่ายรัฐบาลรับทราบ

หรือเพียงภารกิจเบื้องต้นที่พรรคการเมืองจะทำหน้าที่ปลุกเร้าความสนใจและเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง (political participation) เราก็ดูจากการรณรงค์เลือกตั้งเพียงเดือนเดียวในสนามเลือกตั้งต้นปี 2562 ประชาชนจำนวนมากที่ถูกกดไว้มานานถึง 5 ปีได้ถูกปลุกเร้าความฝันต่อการสร้างชาติไทยให้ดีขึ้นเจริญขึ้นกว่าวันเวลาที่ผ่านมาที่น่าหดหู่

หรือภารกิจสรรหาทรัพยากรบุคคลใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นผู้นำทางการเมืองทั้งในสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี (political recruitment) ภารกิจนี้ของพรรคการเมืองได้เปิดทางให้คนที่หลากหลายปรากฏตัวขึ้นมาโดยการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นวิธีการเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองที่มีสันติภาพมากที่สุด สร้างความชอบธรรมทางการเมืองและเสถียรภาพทางการเมืองในยุคสมัยใหม่ของเรามากที่สุด (political legitimization and stabilization) มากกว่าการใช้กำลังทั้งทหารและแก๊งอันธพาลอื่นใด อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมเผด็จการมอบผลประโยชน์สูงสุดให้แก่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น (Ballot vs Bullet)

ดังนี้แล้ว แนวคิดทฤษฎีการสร้างระบอบประชาธิปไตยให้สากลต้องให้มีพรรคการเมืองเข้มแข็งต่อเนื่อง แต่การเมืองไทยกลับเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์การยุบพรรคการเมือง

เมื่อพรรคการเมืองอ่อนแอ ขาดความต่อเนื่อง ไร้ความเป็นสถาบันทางการเมืองอย่างแท้จริง คำถามคือ ใครจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการนี้?

หลังปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ได้มีการประนีประนอมกับผู้นำระบอบเก่าจัดสร้างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ประกาศใช้ 10 ธันวาคม 2475 (เป็น ‘วันรัฐธรรมนูญ’ มาถึงทุกวันนี้) ตามหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สร้างโดยคณะราษฎร 27 มิถุนายน 2475 คือให้การจัดตั้ง ‘สมาคม’ (political party) ซึ่งคือ ‘พรรคการเมือง’ นั้นเป็นเสรีภาพ (liberty) และสิทธิตามธรรมชาติ (natural right) ของประชาชนโดยไม่ต้องมีกฎหมายพรรคการเมือง (มาตรา 14 รัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. 2475)

ดังนั้น คณะราษฎรซึ่งเป็นพรรคการเมืองเพื่อการปฏิวัติสร้างระบอบประชาธิปไตยของประเทศ จึงจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อเป็นฐานทางการเมืองของคณะตนในชื่อพรรค ‘สมาคมคณะราษฎร’ (the People’s Party)

พรรค ‘สมาคมคณะราษฎร’ ขยายตัวอย่างรวดเร็วเพียง 3-4 เดือน ก็มีผู้สมัครสมาชิกราว 1 แสนคน[7] ทั้งนี้ ข้าราชการทุกหน่วยมีจำนวนราว 8 หมื่นคน ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ข้าราชการประจำทั้งประเทศต่างแห่เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนี้ ซึ่งถ้าจะว่าไป ก็คือพรรคข้าราชการนั้นเอง เพราะในยุคสมัยดังกล่าว ข้าราชการประจำคือชนชั้นกลางของสังคมที่สามารถถ่วงดุลอำนาจคณะเจ้านาย นอกจากนี้ พ่อค้าคหบดีเศรษฐีในจังหวัดต่างๆ ก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรค ‘สมาคมคณะราษฎร’ กันอย่างล้นหลาม

การที่คนชั้นกลางเกือบทั้งประเทศเข้าเป็นสมาชิกพรรค ‘สมาคมคณะราษฎร’ ซึ่งมีเป้าหมายที่จัดสรรบุคคลชั้นนำรุ่นใหม่ของสังคมเข้าสู่สนามเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2476 กันอย่างล้นหลาม สิ่งนี้ย่อมหมายถึงการเปลี่ยนแปลงประเทศที่สะเทือนไปถึงรากฐานของสังคมโบราณ เปลี่ยนทฤษฎีอำนาจอธิปไตยให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และเหนืออื่นใด พรรคการเมืองนี้จะนำไปสู่การสร้างความภักดีต่อระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งสร้างขึ้น

หากทว่าเพียง 9 เดือนหลังปฏิวัติเดือนมิถุนายน 2475 ก็เกิดรัฐประหารครั้งแรกของไทยเมื่อ 1 เมษายน 2476[8] (วันเปลี่ยนปีศักราช) โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นักเรียนกฎหมายจากอังกฤษ อดีตอธิบดีศาลอุทธรณ์ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง มุ่งกำจัดคณะราษฎรออกจากอำนาจทางการเมือง และสั่งยุบพรรค ‘สมาคมคณะราษฎร’ ห้ามข้าราชการเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด ห้ามจัดตั้งสมาคมหรือพรรคการเมืองจนกว่าจะสิบปีผ่านไป และให้เปลี่ยนพรรค ‘สมาคมคณะราษฎร’ เป็นเพียง ‘สโมสรคณะราษฎร’ เพื่อวัตถุประสงค์ทางสังคมและการรื่นเริง

วันนี้ ผู้เขียนได้มาถึงบางอ้อแล้วว่า ทำไมจึงต้องหาทางยุบพรรคการเมือง เพราะหากพรรคการเมืองเข้มแข็งตามทฤษฎีรัฐศาสตร์ หน่วยสถาบันอื่นๆ ในสังคม เช่น ทหารและกองทัพย่อมอ่อนแอ ฝ่ายตุลาการย่อมต้องมีสัมพันธภาพทางอำนาจกับสภาผู้แทนราษฎร ไม่หลุดลอยออกจากวงจรอำนาจของประชาชน และอำนาจจะตกเป็นของประชาชนมากขึ้น ทิศทางการสร้างนโยบายและการบริหารประเทศจะมาจากประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน

จุดเริ่มของจุดจบในการสร้างระบอบประชาธิปไตยสากลของคณะราษฎรก็คือการถูกยุบพรรค ‘สมาคมคณะราษฎร’ ในระยะเวลาอันรวดเร็วนั่นเอง เพราะการขาดพรรคการเมืองได้ทำให้เกมอำนาจทางการเมืองไทยกระจุกตัวอยู่กับตัวบุคคลชั้นนำทางการเมืองไม่กี่คนเท่านั้น โดยเฉพาะทหารข้าราชการประจำ แทนที่จะแผ่กระจายการมีส่วนร่วมทางการเมืองลงไปทุกย่อมหญ้าทุกชุมชนหมู่บ้านครัวเรือน

 

ยุบพรรคการเมืองชุดที่สอง

 

สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ฝ่ายทหารเพิ่มพูนอำนาจให้ตนเองด้วยการเป็นพันธมิตรกับฝ่ายญี่ปุ่นและการใช้อำนาจกฎอัยการศึก ขณะเดียวกันฝ่ายอนุรักษนิยมและราชาชาตินิยมก็กลับเข้าสู่การฟื้นฟูวัฒนธรรมแบบโบราณในนามกลุ่มเสรีไทยนอกประเทศ

หลังสงครามโลกครั้งที่ คณะราษฎรฝ่ายพลเรือนและเสรีไทยในประเทศได้พยายามสร้างแนวทางประชาธิปไตยสากล อันเป็นหลักวัตถุประสงค์ของการปฏิวัติ 2475 กลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2489 ที่ให้การตั้ง ‘คณะพรรคการเมือง’ นั้นเป็นเสรีภาพ (liberty) และสิทธิตามธรรมชาติ (natural right) ของประชาชนโดยไม่ต้องมีกฎหมายพรรคการเมือง (มาตรา 14 รัฐธรรมนูญ 2489) ดังที่กล่าวถึงในช่วงต้นของบทความนี้

ทว่าด้วยระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่ถึง 2 ปี ก็เกิดรัฐประหารล้มรัฐบาลเลือกตั้งโดยคณะทหารนอกราชการที่ผนึกกับกลุ่มราชาชาตินิยมและอนุรักษนิยม ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายควง อภัยวงศ์เป็นหัวหน้าพรรค กลับเชื่อในแนวทางล้มรัฐบาลเลือกตั้งของพรรคอื่นด้วยการรัฐประหาร และเชื่อว่าคณะทหารที่ทำรัฐประหารไม่ต้องการอำนาจ แต่เพียง 5 เดือนถัดมา ต้นเมษายน 2491 รัฐบาลนายควงแห่งพรรคประชาธิปัตย์ก็ถูกยึดรัฐประหารทางจดหมายโดยคณะทหารชุดเดิม และนำจอมพล ป. และคณะทหารขึ้นสู่อำนาจเป็นรัฐบาลสืบมาอย่างต่อเนื่องถึง 26 ปี จากยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม-จอมพลผิน ชุณหะวัณ สู่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และยุคจอมพลถนอม กิตติขจร-จอมพลประภาส จารุเสถียร

พรรคการเมืองที่เกิดในปี 2489 แต่หลังรัฐประหารปี 2490 พบชะตากรรม ดังนี้

ชะตากรรมแบบแรก คือคณะทหารหลอกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติและจากภายในประเทศ โดยพรรคการเมืองและนักการเมืองบางพรรคถูกดูดให้มาสนับสนุนการรัฐประหาร ให้ตำแหน่งแห่งที่ทางการเมือง แล้วก็ค่อยๆ ลดบทบาทนักการเมืองลง พรรคเหล่านี้จะถูกยุบทิ้งเมื่อมีการรัฐประหารอีกครั้งปลายปี 2494 เช่นพรรคประชาธิปัตย์ โดยคณะทหารชุดเดียวกันนี้

ชะตากรรมแบบที่สอง คือคณะทหารได้ติดตามกำจัดทำลายพรรคการเมืองและนักการเมือง ไม่ให้มีพื้นที่ทางการเมืองใดๆ เช่น ล้มพรรคสหชีพ ล้มพรรคแนวรัฐธรรมนูญ เพราะทั้งสองพรรคสนับสนุนรัฐบาลเลือกตั้งของฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ และพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักการเมืองหนุ่มเหล่านี้อายุเพิ่ง 40 ปีต้นๆ ต่างถูกกำจัดถึงตาย เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส. และอดีตรัฐมนตรีจากอุบลราชธานี นายจำลอง ดาวเรือง ส.ส. และอดีตรัฐมนตรีจากมหาสารคาม นายถวิล อุดล ส.ส. และอดีตรัฐมนตรีจากร้อยเอ็ด ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ส.ส. และอดีตรัฐมนตรีจากปราจีนบุรี นายเตียง ศิริขันธ์ ส.ส. และอดีตรัฐมนตรีจากสกลนคร หรือไม่ก็ทำให้นักการเมืองฝ่ายนี้ละทิ้งสนามการเมืองไปประกอบอาชีพทำมาหากิน เช่น นายดิเรก ชัยนาม นายเดือน บุนนาค ไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย

ดังนั้น ในทศวรรษ 2490 คณะทหารจึงเติบใหญ่พร้อมกับฝ่ายอนุรักษนิยมและราชาชาตินิยม อย่างไร้พรรคการเมืองคอยตรวจสอบ ขยายอำนาจและพลประโยชน์ของเครือข่ายออกไปอย่างกว้างขวาง ฟื้นฟูละครแบบจักรๆ วงศ์ๆ และท่านขุน คุณหลวง คุณพระ ให้กลับมาเป็นพระเอกอีกครั้ง

นับจากทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา พรรคการเมืองก็ถูกยุบเป็นระยะๆ กระทั่งประชาชนรู้สึกสิ้นหวังว่ามันมีแต่พรรคการเมืองและนักการเมืองเลวๆ

แต่ที่จริงแล้ว เมื่อใดมีการเปิดให้มีพรรคการเมืองอีกครั้ง นั่นหมายความว่า คณะทหารที่ทำรัฐประหารและยึดกุมอำนาจไว้เด็ดขาดมานานแล้วนั้น กำลังหาทางรักษาอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองด้วยการดูดนักการเมืองที่พร้อมรับใช้คณะทหารมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในสนามเลือกตั้ง โดยแบ่งอำนาจและผลประโยชน์ให้ระยะหนึ่ง ตามโมเดลรัฐประหารปลายปี 2490 นั้นเอง

 

แบบแผนยุบพรรคการเมืองใน 9 ทศวรรษการเมืองไทย

 

ด้วยพลังของพรรคการเมืองไทยนั้นยังไม่อาจสร้าง ‘ประชาธิปไตยสากล’ ได้ เพราะฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากภาวะไร้พรรคการเมืองหรือพรรคการเมืองอ่อนแอนั้น ประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ปีแรกหลังปฏิวัติ 2475 คือสามารถสร้างเสื้อคลุม ‘ประชาธิปไตยแบบไทย’ ให้กับระบอบเก่าด้วยการกำจัดพรรคการเมืองออกไปจากสนามนั้นเอง

แนวทางให้มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นในไทยมี 2 แนวทางใหญ่

แนวทางแรกเป็นแนวทางของคณะราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ 2475 และรัฐธรรมนูญ 2489 คือการให้ประชาชนสร้าง ‘พรรคการเมือง’ ได้เพราะนั้นเป็นเสรีภาพ (liberty) และสิทธิตามธรรมชาติ (natural right) ของประชาชนโดยไม่ต้องมีกฎหมายพรรคการเมืองมาควบคุมกำกับ

แนวทางที่สองเป็นแนวทางของคณะทหารรัฐประหาร กลุ่มอนุรักษนิยมและราชาชาตินิยม ตั้งแต่ปี 2498 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน คือให้มีกฎหมายหรือพระราชบัญญัติประกอบว่าด้วยพรรคการเมืองก่อน ประชาชนจึงจะจัดตั้งพรรคการเมืองได้ โดยตลอดเวลาที่ผ่านมากว่า 6 ทศวรรษ กฎหมายจะเพิ่มรายละเอียดหยุมหยิมและมาตราต่างๆ มากขึ้นๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการยุบพรรคการเมืองที่ไม่พึงประสงค์

การศึกษาวิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ (ปี 2559) ของจิรศักดิ์ ขำหรุ่น เรื่อง ‘พัฒนาการพรรคการเมืองไทยภายใต้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง 2498-2550’ พบว่า “พระราชบัญญัติพรรคการเมืองของไทยส่วนใหญ่เป็นผลพวงจากการทำรัฐประหาร หรือการยึดอานาจรัฐ ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับ ควบคุม และจำกัดบทบาทของพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองภายในประเทศให้มีการดำเนินกิจกรรมตามรูปแบบที่รัฐกำหนด มากกว่าเป็นกฎหมายเพื่อการรับรองสิทธิ และขยายโอกาสในการรวมกลุ่ม และดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของประชาชน และส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการของพรรคการเมืองไทยที่เชื่องช้าอีกด้วย”

ดังนั้น แบบแผนการยุบพรรคการเมืองจึงมี 2 แบบ[9]

 ยุบพรรคแบบที่หนึ่ง คณะรัฐประหารมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง แบบนี้จะเห็นได้ตั้งแต่รัฐประหารครั้งแรก 1 เมษายน 2476 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ แม้พรรคประชาธิปัตย์ดูจะมีตำนานว่ามีอายุยาวนาน แต่ในความจริง ต้องยุติพรรคเพราะถูกยุบ และไปจดตั้งพรรคใหม่เป็นระยะๆ การรัฐประหาร 2557 ก็สั่งให้ยุติการดำเนินงานในแบบพรรคการเมืองไปนานถึง 5 ปี ซึ่งทำให้พรรคการเมืองขาดความต่อเนื่อง

รัฐประหารครั้งที่ 1 : 1 เมษายน 2476 สั่งยุบ 1 พรรคการเมือง

รัฐประหารครั้งที่ 5 : 29 พฤศจิกายน 2494 สั่งยุบ 10 พรรคการเมือง

รัฐประหารครั้งที่ 7 : 20 ตุลาคม 2501 สั่งยุบ 28 พรรคการเมือง

รัฐประหารครั้งที่ 8 : 17 พฤศจิกายน 2514 สั่งยุบ 17 พรรคการเมือง

รัฐประหารครั้งที่ 9 : 6 ตุลาคม 2519 สั่งยุบ 54 พรรคการเมือง

รัฐประหารครั้งที่ 11 : 23 กุมภาพันธ์ 2534 สั่งยุบ (ยุติบทบาท) 20 พรรคการเมือง

รัฐประหารครั้งที่ 12 : 19 กันยายน 2549 สั่งยุบ (ยุติบทบาท) 36 พรรคการเมือง

รัฐประหารครั้งที่ 13 : 22 พฤษภาคม 2557 สั่งยุบ (ยุติบทบาท) 40 พรรคการเมือง

(รัฐประหารครั้งที่ 2 ปี 2475, ครั้งที่ 3 ปี 2490, ครั้งที่ 4 ปี 2491, ครั้งที่ 6 ปี 2500 ทั้ง 4 ครั้งนี้ คณะทหารทำรัฐประหารยังต้องเล่นเกมเลือกตั้งและมีพรรคการเมือง ส่วนครั้งที่ 10 ปี 2520 คณะทหารล้มรัฐบาลขวาจัดของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นมาเอง ยังไม่มีพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง)

สรุป รวมพรรคการเมืองที่ถูกยุบและยุติบทบาทด้วยการรัฐประหารของคณะทหารทั้งสิ้น 206 พรรคการเมืองในรอบ 9 ทศวรรษ

ยุบพรรคแบบที่สอง เป็นการใช้กลไกตุลาการและองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารจัดสร้างขึ้น เพื่อควบคุม กำกับ กำจัด พรรคการเมืองใดที่จะเป็นคู่แข่งทางการเมืองในการเข้าสู่อำนาจเป็นรัฐบาล นี้คือการใช้กฎหมายพรรคการเมืองควบคู่ไปกับสิ่งที่เรียกกันในวันนี้ว่า ตุลาการภิวัตน์ นั้นเอง

แม้จะมีพระราชบัญญัติพรรคการเมืองครั้งแรกปี 2498 เป็นต้นมา แต่การใช้ ตุลาการภิวัตน์ เป็นเครื่องมือยุบพรรคการเมืองอย่างเป็นล่ำเป็นสันจะเริ่มตั้งแต่ปี 2524-2540 มีพรรคการเมืองถูกยุบด้วยกระบวนการนี้รวม 36 พรรคการเมือง เนื่องมาจากไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบเอกสาร การประชุม การจัดตั้งสาขา และจำนวนสมาชิกพรรคของกฎหมายพรรคการเมือง และมีพรรคการเมืองถูกยุบปี 2541-2562 อีก 133 พรรคการเมือง

สรุป พรรคการเมืองที่ถูกยุบด้วยตุลาการภิวัตน์ ปี 2524-2562 รวมทั้งสิ้น 169 พรรคการเมือง โดยการยุบด้วยข้อหาฉกรรจ์ตามมาตรา 92 ประเภทว่าอาจจะล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือยุบทำลายพรรครัฐบาลขนาดใหญ่นั้น ใช้ปีแรกปี 2549 ยุบพรรคไทยรักไทย ปี 2551 ยุบพรรคพลังประชาชน และปี 2562 ยุบพรรคไทยรักษาชาติ

โดยสรุปการยุบพรรคการเมืองทั้งสองแบบใน 9 ทศวรรษระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ มีทั้งสิ้น 206 + 169 พรรคการเมือง = ถูกยุบทั้งสิ้น 375 พรรคการเมือง

ดังนั้น จึงไม่เคยมีพรรคการเมืองใดมีความต่อเนื่องยาวนานจนสร้างตนเองเป็นสถาบันการเมืองของประชาชนได้อย่างแท้จริง

 

สรุป

 

ประวัติศาสตร์พรรคการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2475 มาถึงปัจจุบันรวม 9 ทศวรรษ เป็นประวัติศาสตร์ของการยุบพรรคการเมืองทุกๆ พรรคทิ้งเป็นระยะๆ เพื่อไม่ให้มีพรรคการเมืองไทยเติบโต เข้มแข็ง เป็นพลังตัวแทนของประชาชนในการเข้าสู่อำนาจรัฐบาล เพื่อจะได้สร้างนโยบายตอบเป้าประสงค์ของประชาชนโดยตรง เพราะหากพรรคการเมืองไทยเติบโต เข้มแข็ง มีความต่อเนื่องยาวนานจนเป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญ พรรคการเมืองเหล่านี้จะปลุกเร้าประชาชนให้อยู่เคียงข้างหลักประชาธิปไตยสากล สิทธิเสมอภาค เสรีภาพ และความเชื่อมั่นในปัจเจกบุคคล ความเชื่อมั่นในพลังของตัวประชาชนเอง ก็เท่ากับจะเป็นการทำลายฐานอำนาจและผลประโยชน์อย่างขนานใหญ่ของฝ่ายที่อยู่ภายใต้เสื้อคลุม ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ หรือเผด็จการสากลมานาน 9 ทศวรรษแล้วนั้นเอง

 


[1] ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน.  “มองย้อนศึกเลือกตั้ง 21 ปี ถูกยุบ 132 พรรค ไทยรักษาชาติยืนลำพังบนปากเหว.” ไทยรัฐ

[2] “24 มี.ค. ระทึก เส้นทางคะแนนจาก ‘ไทยรักษาชาติ’ ไปไหนต่อ.” มติชน (10 มีนาคม 2562), หน้า 1

“ไทยรักษาชาติ : สรุปคำวินิจฉัยศาล รธน. สั่งยุบ ทษช. “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” สถาบันพระมหากษัตริย์.” BBC News ไทย (7 มีนาคม 2019)

[3] “มาร์ค-เทือก’โต้ ไม่เคยทำ ตั้งรัฐบาลในค่าย.” ไทยรัฐ (13 มิ.ย. 2554) ; “อภิสิทธิ์” สารภาพบาป!” mgr online (7 มิ.ย. 2554)

[4]  “พรรคก้าวหน้า.” 

[5] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี (กรุงเทพฯ: มติชน, 2546)

[6] บูฆอรี ยีหมะ, ความรู้เบื้องต้นทางรัฐศาสตร์, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559), พรรคการเมือง หน้า 251-260; ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร, รัฐศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 12 (กรุงเทพฯ: สนพ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559), พรรคการเมือง หน้า 135-143.

[7] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย เล่ม 1 (นนทบุรี: TAYOOeBooks, 2562), หน้า 37-38.

[8] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, “รัฐประหารครั้งแรก 1 เมษายน 2476 เผด็จการยุคแรกแบบ “Monocracy” (2 April 2018) ใน The101.world

[9] จิรศักดิ์ ขำหรุ่น, “พัฒนาการพรรคการเมืองไทยภายใต้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง 2498-2550,” วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559, ภาคผนวกรายชื่อพรรคการเมือง หน้า 123-177; สถาบันและกระบวนการทางการเมืองไทย, (เอกสารการสอนชุดวิชาสาขาวิชารัฐศาสตร์) บทที่ 7 “พรรคการเมืองและกระบวนการทางการเมืองไทย,” หน้า 489-499; ข้อมูลเลือกตั้ง 2548,” คณะกรรมการการเลือกตั้ง. ข้อมูลเลือกตั้ง 2554, คณะกรรมการการเลือกตั้ง.


ภาคผนวกยุบพรรคการเมือง

คัดลอกเฉพาะมาตรา จาก พ.ร.ป. พรรคการเมือง 2560

“พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560.”

“มาตรา 92 เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการ อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น

(1) กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญ

(2) กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข

(3) กระทําการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74

(4) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกําหนด

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทําการ ตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น”

มาตรา 92 (3) มีดังนี้

มาตรา 20 ให้พรรคการเมืองที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองแล้วเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์สําคัญเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง

พรรคการเมืองต้องไม่ดําเนินกิจการอันมีลักษณะเป็นการแสวงหากําไรมาแบ่งปันกัน

มาตรา 28 ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้ พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

มาตรา 30 ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด สมัครเข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้ เว้นแต่สิทธิหรือประโยชน์ซึ่งบุคคลจะพึงได้รับในฐานะที่เป็นสมาชิก

มาตรา 36 สาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดจะจัดตั้งขึ้น นอกราชอาณาจักรมิได้

มาตรา 44 ห้ามมิให้พรรคการเมือง ผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมือง และสมาชิกรับบริจาค จากผู้ใดเพื่อกระทําการหรือสนับสนุนการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน

มาตรา 45 ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองกระทําการ หรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทําการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน หรือกระทําการอันเป็นการทําลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

มาตรา 46 ห้ามมิให้พรรคการเมือง สมาชิก หรือผู้ใด เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใด เพื่อให้ผู้นั้นหรือบุคคลอื่นได้รับแต่งตั้ง หรือสัญญาว่าจะให้ได้รับ แต่งตั้ง หรือเพราะเหตุที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง หรือตําแหน่งใดในการบริหาร ราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ

ห้ามมิให้ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง สมาชิก หรือผู้ใด เพื่อจูงใจให้ตนหรือบุคคลอื่นได้รับการแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง หรือตําแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ

มาตรา 72 ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา 74 ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ อื่นใดจาก

(1) บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย

(2) นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการหรือจดทะเบียนสาขาอยู่ใน หรือนอกราชอาณาจักร

(3) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรโดยมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้น เกินกว่าร้อยละสี่สิบเก้า ในกรณีที่เป็นบริษัทมหาชนจํากัดท่ีจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้พิจารณาตามที่ปรากฏในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว หุ้นที่ไม่ปรากฏช่ือผู้ถือหรือถือโดยตัวแทน ของบุคคลที่ไม่เปิดเผยชื่อ ให้ถือว่าเป็นหุ้นที่ถือโดยผู้ไม่มีสัญชาติไทย

(4) คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์ ดําเนินกิจการเพ่ือประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยหรือซ่ึงมีผู้จัดการหรือกรรมการเป็นบุคคล ผู้ไม่มีสัญชาติไทย

(5) บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่ได้รับบริจาคเพื่อดําเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมืองจากบุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลตาม (1) (2) (3) หรือ (4) (6) บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่มีลักษณะทํานองเดียวกันกับ (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ตามที่คณะกรรมการกําหนด

ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับกรณีสมาชิกรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดดังกล่าวที่มิใช่เพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมือง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save