fbpx
รัฐประหารครั้งแรก 1 เมษายน 2476 เผด็จการยุคแรกแบบ ‘Monocracy’

รัฐประหารครั้งแรก 1 เมษายน 2476 เผด็จการยุคแรกแบบ ‘Monocracy’

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เรื่อง[1]

1. บทนำ

 

เกือบ 9 ทศวรรษหลังปฏิวัติ 2475 มีรัฐประหารสำเร็จ 13 ครั้ง[2] หรือทุกหกปีครึ่งมีรัฐประหารหนึ่งครั้ง มีรัฐประหารล้มเหลวที่ใช้กำลังอีก 6 ครั้ง มีการกวาดจับบุคคลโดยฝ่ายรัฐบาลที่อ้างว่าได้เตรียมการทำรัฐประหารอีก 5 ครั้ง รวมทั้งสิ้นมีรัฐประหารในการเมืองไทยรวม 24 ครั้ง หรือทุกสามปีครึ่งมีรัฐประหารทั้งสำเร็จและล้มเหลวหนึ่งครั้ง ดังนั้น การเมืองไทยจึงเป็นการเมืองแบบรัฐประหาร หรือ วงจรอุบาทว์รัฐประหารในการเมืองไทย (the vicious circle of Thai coup d’état)

รัฐประหาร (coup d’état) หมายถึงการใช้กำลังทหารเพื่อเปลี่ยนรัฐบาล แต่ไม่ได้เปลี่ยนระบอบทางการเมือง โดยมักทำให้เป็นระบอบเผด็จการที่ปกครองโดยคณะยึดอำนาจเป็นรัฐบาลเผด็จการแบบอำนาจนิยม (authoritarianism)[3]

ทว่าในการเมืองไทย มีรัฐประหารแบบพลางรูปการยึดอำนาจของคณะตนเองได้อย่างเนียน ไม่มีการปรากฏตัวของทหารและรถถังรถเกราะบนท้องถนน แต่เตรียมพร้อมกำลังพลในกรมกอง และมียุทธวิธีที่ทำให้บรรลุเป้าหมาย มีคณะยึดอำนาจเข้าสู่อำนาจได้ในลักษณะนี้ 3 ครั้งด้วยกัน นั่นคือรัฐประหารครั้งแรก 1 เมษายน 2476 รัฐประหารทางจดหมาย 6 เมษายน 2491 และรัฐประหารทางวิทยุกระจายเสียง 29 พฤศจิกายน 2494

เพียง 1 ปีหลังการปฏิวัติ 2475 มีการต่อสู้เพื่อเป้าหมายสำคัญทางการเมืองของระบอบเก่าและระบอบใหม่ถึง 3 ครั้งด้วยกัน ได้แก่ รัฐประหารครั้งแรกโดยพระยามโนฯ 1 เมษายน 2476 รัฐประหารครั้งที่ 2 โดยคณะราษฎรเมื่อ 20 มิถุนายน 2476 และรัฐประหารครั้งที่ 3 กลางเดือนตุลาคม 2476 โดยคณะกู้บ้านกู้เมือง ที่กลายเป็นกบฏบวรเดช นับเป็นเจ็ดเดือนแห่งความปั่นป่วนผันผวนของประเทศในปี 2476

 

2. ปัญหาสำคัญหลังปฏิวัติ 2475

 

การปฏิวัติเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ในขณะนั้น มีระบอบประชาธิปไตยสองรูปแบบหลักให้เลือก หนึ่งคือประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุกสี่ปี อีกหนึ่งคือประชาธิปไตยแบบอังกฤษ มีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้ง และยังมีประมุขแห่งรัฐเป็นพระมหากษัตริย์ที่เป็นสัญลักษณ์ คณะราษฎรเลือกรูปแบบทางการเมืองใหม่ของไทยตามแบบอังกฤษ

ผู้นำทางการเมืองไทยทั้งของระบอบเก่าและของระบอบใหม่ ต่างรับรู้ถึงปัญหายุ่งยากหลังการปฏิวัติเป็นอย่างดีจากประวัติศาสตร์การปฏิวัติของประเทศต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์การต่อสู้เปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันยาวนานกว่า 700 ปีของอังกฤษ ตั้งแต่เมื่อเริ่มมีมหากฎบัตร หรือ แมกนา คาร์ตา  (Magna Carta ค.ศ.1215)[4] ที่ฝ่ายขุนนางใช้กำลังรบบังคับให้กษัตริย์อังกฤษที่แพ้ ทรงลงพระนามในการยอมรับการจำกัดอำนาจขององค์กษัตริย์โดยสภาขุนนาง นี้คือจุดเริ่มการปกครองระบอบรัฐสภาและประชาธิปไตย รวมทั้งเป็นจุดเริ่มการสร้างหลักนิติธรรมให้กับประเทศ แต่ทั้งสองฝ่ายต่อสู้ทั้งเจรจาและฟาดฟันกันมาอย่างต่อเนื่องถึงขั้นประหารกันในบางช่วง เรื่อยมาถึงการขึ้นมามีอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การปฏิวัติอเมริกาที่นำโดยจอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรก ปี 2319/ค.ศ.1776  (ซึ่งตรงกับยุคสมัยพระเจ้าตากมหาราช) ที่กว่าจะต่อสู้ให้คนเท่ากันได้อย่างจริงๆ ตามอุดมการณ์การสร้างชาติเอกราชอเมริกา ก็ใช้เวลาผ่านไปถึงสองศตวรรษ ส่วนการปฏิวัติที่ยอกย้อนนองเลือดของฝรั่งเศส ปี 2332/ค.ศ.1789 (ตรงกับปีที่ 5 ของรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์) มีทั้งกิโยตินที่บันคอกันทั้งสองฝ่าย มีทั้งการฟื้นกลับมาของระบอบจักรพรรดิ โดยพระเจ้านโปเลียนอดีตนายพลทหาร ที่ปั่นป่วนทั้งในประเทศและโลกในยุโรป กว่าจะคลี่คลายสู่ระบอบประชาธิปไตยสาธารณรัฐก็ใช้เวลาไปอีกค่อนศตวรรษ

ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสามประเทศนี้ เป็นตัวอย่างสำคัญที่ชนชั้นนำไทยทั้งสองฝ่ายกังวลใจอยู่เสมอ[5] เพราะทุกจังหวะก้าว ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งสิ้น ทั้งสองฝ่ายมีทั้งความหวังและความกลัว[6] ความหวังที่จะรักษาระบอบของตนไว้ให้ได้ต่อไป ความกลัวต่อการสิ้นสุดของระบอบและแม้แต่ชีวิต

นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 เมื่อพระองค์ทรงยอมรับในการเป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรได้สร้างขึ้นและประกาศใช้ฉบับแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2475 โดยได้หยิบยกประเด็นหนึ่งที่สำคัญยิ่งขึ้นกราบบังคมทูลเรื่อง “การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ว่า หากมีคณะทหารใช้กำลังเปลี่ยนรัฐบาลและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้พระองค์ลงพระปรมาภิไธย พระองค์จะทรงโปรดเกล้าฯ อย่างไร พระปกเกล้าฯ รับสั่งว่า “พระองค์จะถือว่า พวกนั้นเป็นกบฏ” และ “เป็นราชศัตรูที่ขัดพระบรมราชโองการ” หากพระองค์ถูกบังคับให้ทรงลงพระปรมาภิไธย “พระองค์ก็จะทรงสละราชสมบัติ ให้พวกเขาหาเจ้านายองค์อื่นลงพระปรมาภิไธยให้”[7]

บันทึกการสนทนาระหว่างหัวหน้าคณะราษฎรที่กราบบังคมทูลถามและพระราชดำรัสที่ทรงตอบ ได้เป็นภาพสะท้อนว่าฝ่ายคณะราษฎรผู้สร้างระบอบใหม่ก็กลัวการรัฐประหารของฝ่ายระบอบเก่าจะเกิดขึ้น ขณะที่ประมุขระบอบเก่าก็ทรงตระหนักดีถึงวิธีการที่ฝ่ายระบอบเก่าใช้ต่อสู้รักษาอำนาจ นั่นคือการต่อสู้เพื่อสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ตามแนวทางที่ระบอบเก่าปรารถนา ดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์การเมืองของอังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นสำคัญ

หลังปฏิวัติ 2475 การต่อสู้ที่สำคัญที่สุดของระบอบใหม่และระบอบเก่าจึงเป็นการต่อสู้เรื่องรัฐธรรมนูญ

 

3. ความเป็นจริงในการปรับตัวของระบอบเก่าก่อนปฏิวัติ 2475

 

ความสำเร็จของการปฏิวัติสร้างระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร ปัจจัยสำคัญหนึ่งเป็นเพราะความไม่สามารถหรือความล่าช้าในการปรับตัวของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้ทันกาลกับกระแสรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยของโลก ซึ่งปรากฏเป็นแรงกดดันในประเทศมาตั้งแต่ปี 2427 ด้วยข้อเสนอของเจ้านายและขุนนางให้ประเทศมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งตามแบบการปรับระบอบใหม่ของญี่ปุ่นในยุคสมัยเดียวกัน[8] และเพิ่มระดับรุนแรงด้วยการเตรียมปฏิวัติของทหารบกหนุ่มที่มีอายุระหว่าง 18-30 ปีเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยเมื่อปี 2455 ที่เรียกชื่อกันว่า “กบฏ ร.ศ.130” หรือ “กบฏยังเตอร์ก” หรือ “กบฏหมอเหล็ง”[9]

หมายความว่า กระแสรัฐธรรมนูญนิยมและประชาธิปไตยได้เผยแพร่และฝั่งความคิดอุดมการณ์ใหม่ในไทยมาถึงครึ่งศตวรรษก่อนการปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎร

ในรอบสองทศวรรษก่อนปี 2475 ฝ่ายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้มีความพยายามอยู่บ้างในการปรับปรุงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นระบอบที่เพิ่งเริ่มสร้างเลียนแบบตามตะวันตกเมื่อปี 2435 สมัยรัชกาลที่ 5 หรือที่เรียกกันว่า “ปฏิรูปการปกครอง” (government reform)  แต่ก็ถูกพลังเหนี่ยวรั้งจากเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ไว้มากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยพระปกเกล้าฯ ซึ่งทรงศึกษาและประทับในอังกฤษนานเป็นทศวรรษ และทรงรับรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองของยุโรปเป็นอย่างดี

การปรับตัวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ทางการเมืองของการปกครองแบบราชวงศ์ในยุโรป คือการให้สร้างรัฐธรรมนูญ แต่ระบุชัดเจนว่า อำนาจสูงสุดของแผ่นดิน/ประเทศเป็นของพระมหากษัตริย์/พระจักรพรรดิ โดยมีเอกอัครมหาเสนาบดี (prime minister/premiership) เป็นหัวหน้ารัฐบาลหรือหัวหน้าฝ่ายบริหารที่ได้รับแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์และรับผิดชอบต่อพระองค์ ที่มีสภาที่ปรึกษาโดยการแต่งตั้ง ก่อนที่จะถูกกดดันในระยะถัดมาให้ปรับระบบเพื่อให้มีการเลือกตั้งผู้แทนประชาชนเพิ่มขึ้น

สองทฤษฎีอำนาจทางการเมือง ระหว่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) กับประชาธิปไตย (democracy) นั้นเป็นทฤษฎีที่อยู่คนละปลายขั้วของอุดมการณ์ทางการเมือง เพราะทฤษฎีสมบูรณาญาสิทธิราชย์วางฐานที่มาของอำนาจไว้ที่พระมหากษัตริย์/พระจักรพรรดิ (monarchy) ที่สืบทอดอำนาจทางสายราชวงศ์หรือสายโลหิต ดังนั้น อำนาจสูงสุดของประเทศจึงเป็นของพระมหากษัตริย์/พระจักรพรรดิ กลไกหรือระบบที่สามารถสร้างขึ้นมาช่วยระบอบการปกครองให้ดูมีความสมัยใหม่ได้คือการแต่งตั้งข้าราชการ (bureaucrat) ให้เป็นสมาชิกสภาระดับสูงเพื่อเป็นที่ปรึกษากิจการงานของประเทศตามที่ประมุขได้ขอให้มีคำปรึกษา

ดังนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีการแต่งตั้งสภาตามอย่างการปกครองยุคปรับตัวแรกๆ ของราชวงศ์ในยุโรป ได้แก่ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) ซึ่งปัจจุบันคือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำหน้าที่ปรึกษาตรวจตรากฎหมายให้รัฐบาล และสภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ (Privy Council) และต่อมาได้ชื่อใหม่ว่า “องคมนตรี” ทั้งหมดเน้นที่การแต่งตั้ง (selection) จากพระมหากษัตริย์ ในสมัยรัชกาลที่ 7 ทรงแต่งตั้ง “อภิรัฐมนตรีสภา” [10] โดยแต่งตั้งมาจากเจ้านายชั้นสูงแห่งราชวงศ์ 5 พระองค์ ทำหน้าที่สภาที่ปรึกษาสูงสุดของพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้เพื่อสร้างการยอมรับต่อรัชสมัยใหม่

ส่วนทฤษฎีประชาธิปไตยนั้น อำนาจของแผ่นดิน/ประเทศนั้นเป็นของประชาชนทุกคน กระบวนการทางการเมืองและสถาบันทางการเมืองทุกสถาบัน ทั้งศาล (Court) และประมุขแห่งรัฐ (Head of State) ต้องยึดโยงกับอำนาจของประชาชนจากการเลือกตั้ง (Selection) ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมผ่านกลไกสถาบันการเมือง รูปแบบการปกครองประชาธิปไตยจึงมี ระบบประธานาธิบดี (presidential system)  เช่นสหรัฐอเมริกา และระบบรัฐสภา (parliamentary system) แบบอังกฤษและญี่ปุ่น จึงเป็นสองรูปแบบที่ฝ่ายประชาธิปไตยในห้วงขณะนั้นเมื่อหนึ่งศตวรรษที่แล้วได้มองเป็นตัวแบบสำหรับประเทศไทย

ดังนั้น กรอบขอบเขตที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สามารถปรับตัวของระบบได้คือ ทำให้ดูทันสมัยโดยการสร้างรัฐธรรมนูญ (Constitution) ที่ระบุให้ชัดเจนว่าอำนาจสูงสุดของประเทศ (Sovereignty) เป็นของพระมหากษัตริย์ (Monarchy) การมีสภา (Council) ที่มีสมาชิกแต่งตั้ง (Selection) โดยพระมหากษัตริย์ ทั้งองคมนตรีและอภิรัฐมนตรี ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและเพื่อพิจารณารายละเอียดกฎหมายตามที่ทรงเสนอขอปรึกษา และมีเอกอัครมหาเสนาบดี (Prime Minister/Premiership) หัวหน้ารัฐบาล/ฝ่ายบริหาร (Government) ที่แต่งตั้งและรับผิดชอบต่อองค์ประมุขเจ้าแผ่นดินเท่านั้น รวมทั้งศาล (Court) ตัดสินคดีความในพระราชอำนาจของพระองค์ กล่าวคือ เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเสื้อคลุมรัฐธรรมนูญ

 

4. การประนีประนอมสำคัญหลังปฏิวัติ 2475

 

การที่พระปกเกล้าฯ ทรงยอมรับเป็นพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญของคณะราษฎร และทรงเดินทางจากวังไกลกังวล หัวหิน กลับกรุงเทพฯ ในค่ำวันที่ 26 มิถุนายน 2475 ทำให้พระองค์ทรงมีพระราชอำนาจต่อรองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ ดังนั้น การประนีประนอมของทั้งสองฝ่ายที่สำคัญในช่วงแรกนี้ได้แก่

ประการแรก พระปกเกล้าฯ ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ในชื่อของรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เสนอทูลเกล้าฯ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ในชื่อ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว” มี 39 มาตรา สั้นกระชับ คำว่า “ชั่วคราว” หมายความว่า จะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งสมาชิกคณะกรรมการย่อมมาจากการแต่งตั้งทั้งผู้แทนของระบอบใหม่และระบอบเก่า รวมทั้งข้าราชการระดับสูง ด้วยเหตุนี้ แนวทางการสร้างระบอบการเมืองใหม่ก็ย่อมถูกคัดค้านทัดทานและต่อรองจากฝ่ายระบอบเก่าเพื่อรักษาผลประโยชน์และอำนาจของระบอบเก่าไว้ให้มากที่สุด ในแง่นี้ เพียงคำว่า “ชั่วคราว” ก็สามารถยับยั้งความเปลี่ยนแปลงของฝ่ายคณะราษฎรได้อย่างมากยิ่ง

ประการที่สอง ฝ่ายคณะราษฎรต้องยอมประนีประนอมเสนอตั้งข้าราชการระดับสูงที่ไม่ใช่ผู้นำคณะราษฎรให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ตามรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่เรียกชื่อตำแหน่งว่า “ประธานคณะกรรมการราษฎร” ทั้งในทางปฏิบัติ ต้องให้องค์ประมุขระบอบเก่าทรงรู้จักและยอมรับด้วย เพราะหัวหน้ารัฐบาลนั้นมีบทบาทที่แท้จริงในการกำหนดทิศทางอนาคตประเทศ ดังนั้น ภูมิหลังประวัติชีวิตและการทำงาน รวมทั้งทัศนคติด้านต่างๆ ของหัวหน้ารัฐบาล ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจที่จะทำหรือไม่กระทำในนโยบายทุกๆ เรื่องของรัฐบาล

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์, อายุ 48 ปี)[11] นักเรียนกฎหมายจบจากอังกฤษ มีภริยาเป็นนางสนองในพระราชินีรัชกาลที่ 7 ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีศาลอุทธรณ์ ได้รับการสนับสนุนอย่างยิ่งจากหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์, อายุ 32 ปี) ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบสภาผู้แทนราษฎรและวางแผนต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม ให้ดำรงตำแหน่งหมายเลขหนึ่งในระบอบใหม่นี้เป็นคนแรก โดยนายปรีดีประเมินว่าพระยามโนนั้น “ท่านนิยมประชาธิปไตย” และ “มิได้กลัวเกรงอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ขณะที่ฝ่ายระบอบเก่านั้นก็ “รู้จัก” พระยามโนฯ ดี ทั้งในฐานะนักเรียนอังกฤษ การเป็นองคมนตรีสมัยรัชกาลที่ 7 และผ่านทางภริยาของพระยามโนฯ

การประนีประนอมในประเด็นการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และประเด็นตัวบุคคลในตำแหน่ง “ประธานคณะกรรมการราษฎร” หัวหน้ารัฐบาล ทำให้การปฏิวัติ 2475 ดูจะเป็นการเปลี่ยนระบอบทางการเมืองที่ราบรื่นและไม่นองเลือดอย่างแทบไม่น่าเชื่อ

 

5. ความขัดแย้งหลังใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร 10 ธันวาคม 2475

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่สองที่เรียกว่าฉบับถาวร ซึ่งหวังว่าจะใช้ “ให้ยืนยงอยู่คู่กับสยามรัฐราชสีมา ตราบเท่ากัลปาวสาน” ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองและภาษาทางการเมืองอย่างสำคัญ จนนำไปสู่การทำรัฐประหารของพระยามโนฯ ได้แก่

หนึ่ง คือเรื่องอำนาจอธิปไตยของประชาชนกับพระมหากษัตริย์ การที่ฝ่ายระบอบเก่าและฝ่ายอนุรักษนิยมประสบความสำเร็จในการใช้ถ้อยคำเพื่อถวายพระเกียรติแก่พระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ กลับกลายเป็นปัญหาสำคัญในการแปลความและการต่อสู้ทางการเมืองสืบต่อมา กล่าวคือ รัฐธรรมนูญฉบับแรกระบุชัดเจนให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” และให้ 4 สถาบันใช้อำนาจแทนราษฎร ได้แก่ กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร/รัฐบาล และ ศาล แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่สองได้เปลี่ยนเป็นให้ยกสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่สูงกว่าอีกสามสถาบัน และเป็นสถาบันที่ใช้อำนาจแทนประชาชน ซึ่งในขณะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนี้ได้อธิบายว่า พระมหากษัตริย์เป็นเพียงประมุขแห่งรัฐ (Head of State) เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ทรงมีพระราชกรณียกิจตามราชประเพณี มีพระราชอำนาจยับยั้งกฎหมายพระราชบัญญัติเพียงเล็กน้อย ดังปรากฏในมาตรา 2 ว่า

               “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

สอง คือลดอำนาจสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญฉบับแรกให้อำนาจแก่สภาสูงมากในการควบคุมการทำงานของรัฐบาล และฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถถูกยุบสภาได้ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับที่สองได้แก้ไขให้เป็นฝ่ายรัฐบาลยุบสภาได้ โดยรูปแบบสภายังคงเดิมคือเป็นสภาเดียวมีสมาชิก 2 ประเภท คือสมาชิกเลือกตั้งจากประชาชน เรียกว่า “สมาชิกประเภทที่ 1” หรือ ส.ส.เลือกตั้ง และสมาชิกแต่งตั้ง เรียกว่า “สมาชิกประเภทที่ 2” หรือ ส.ส. แต่งตั้ง ในจำนวนเท่ากัน มีบทบาทหน้าที่เท่ากัน

แต่ประเด็นถ้อยคำถวายพระเกียรติ เช่น “ทรงใช้” และ “ทรงตั้ง” จากข้อแรกนั้น ได้กลายเป็นการต่อสู้ของฝ่ายระบอบเก่าและกษัตริย์นิยม กล่าวคือ ฝ่ายนี้เชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือผู้ที่ทรงมีพระราชอำนาจแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภทที่ 2 อย่างเป็นอิสระและด้วยพระองค์เอง ดังถ้อยคำในมาตรา 65 (2) ว่า “สมาชิกประเภทที่ 2 ได้แก่ผู้ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้ง” แต่ฝ่ายคณะราษฎรเชื่อมั่นว่าอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภทที่ 2 เป็นอำนาจของคณะราษฎร ดังได้ใช้อำนาจนี้แต่งตั้งสมาชิกสภาชุดแรก 70 คนเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนมาแล้วนั้นเอง

หากฝ่ายระบอบเก่าและกษัตริย์นิยมสามารถเป็นฝ่ายกำหนดเกมได้ในทางปฏิบัติครั้งแรก โดยทำให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกสภาประเภทที่ 2 จำนวนครึ่งสภาผู้แทนราษฎรด้วยพระองค์เอง ย่อมหมายความว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่หยุดชะงักไปเพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ได้กลับฟื้นขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองในรูปแบบใหม่ “ตามรัฐธรรมนูญ” และจะเป็นฝ่ายที่กำกับในการแต่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่และกำหนดทิศทางของประเทศ

สาม คือรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด รัฐธรรมนูญฉบับแรกให้รัฐบาลมีสภาพเป็นคณะกรรมการกำหนดนโยบายในชื่อ “คณะกรรมการราษฎร” ส่วนการปฏิบัติงานเป็นของข้าราชการประจำ ซึ่งตำแหน่งสูงสุดของกระทรวงต่างๆ คือ เสนาบดี  แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่สองกำหนดให้รัฐบาลเป็นคณะดำเนินงานตามนโยบายที่แถลงต่อสภา โดยให้มี นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำสูงสุดที่ได้รับการเลือกตั้งจากสภาผู้แทนราษฎร แล้วนายกฯ จึงไปตั้งรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการยกระดับเสนาบดีกระทรวงขึ้นมาในชื่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง และรัฐมนตรี ให้เป็นตำแหน่งทางการเมือง ไม่ใช่ตำแหน่งข้าราชการประจำ นอกจากนี้ หากนายกฯ ต้องพ้นความเป็นนายกรัฐมนตรี ความเป็นรัฐมนตรีอื่นๆ ก็ต้องสิ้นสุดลงตามไปด้วย

ดังนั้น ฝ่ายใดคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ย่อมเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล

 

6. รัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476

 

ผู้นำรัฐประหารครั้งแรกนี้คือ พระยามโนฯ นายกรัฐมนตรี ทำการยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง โดยมีเป้าประสงค์คือ 1) เพื่อกำจัดผู้นำคณะราษฎรบางคน โดยใช้กฎหมายคอมมิวนิสต์ฉบับแรก 2) เพื่อกำกับควบคุมสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้ง ส.ส. และไม่ให้มีพรรคการเมือง 3) เพื่อถวายพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง ส.ส. ประเภทที่ 2 และ 4) เพื่อเป็นรัฐบาลชุดใหม่ตามรัฐธรรมนูญในแนวทางระบอบเก่า กษัตริย์นิยม และอนุรักษนิยม

การรัฐประหารที่นำโดยนักกฎหมายครั้งนี้ เป็นการใช้กฎหมายแบบไม่ถูกต้องเพียงเพื่อชัยชนะทางการเมืองเท่านั้น กล่าวคือ พระยามโนฯ ได้ใช้กฎหมายลูกคือ ‘พระราชกฤษฎีกา’ ซึ่งเป็นกฎหมายระดับรองจาก ‘พระราชบัญญัติ’ ไปล้มหรือหยุดการบังคับใช้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ถือได้ว่าเป็นการสร้างประเพณีฉีกความสำคัญของรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในการเมืองไทยทีเดียว

รัฐประหารครั้งนี้ประสบความสำเร็จด้วยความแตกแยกภายในคณะราษฎร ซึ่งเป็นผลมาจากชิงการนำในกลุ่มนายทหารผู้ใหญ่คณะราษฎรที่มีเพียง 4 คน[12] แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกมีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (อายุ 45 ปี) เป็นผู้นำในฐานะหัวหน้าคณะราษฎร ซึ่งแม้จะได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกหลังปฏิวัติ 2475 และได้รับได้รับการเคารพและสนับสนุนจากนายทหารหนุ่มในคณะราษฎร แต่ก็ไม่มีเครือข่ายขุมกำลังที่แท้จริง กลุ่มที่สอง นำโดยนายพันเอก พระยาทรงสุรเดช (อายุ 40 ปี) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ มีเครือข่ายขุมกำลังจากครูอาจารย์ในโรงเรียนนายร้อยทหารบก ที่หลังปฏิวัติได้กระจายเข้าคุมหน่วยกำลังรบ และเสมือนเป็นผู้บัญชาการทหารบกตัวจริง ดังนั้น เมื่อพระยามโนฯ สามารถหาความสนับสนุนจากกลุ่ม พ.อ.พระยาทรงฯ ได้ จึงทำรัฐประหารรัฐบาลตนเองทันที

วันเสาร์ที่ 1 เมษายน 2476 เป็นวันขึ้นปีศักราชใหม่ พระยามโนฯ ได้ประกาศยึดอำนาจโดยใช้ ‘พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่’ โดยมีกำลังทหารฝ่ายสนับสนุนเตรียมพร้อมในที่ตั้ง

ข้ออ้างหรือเหตุผลที่ใช้ในพระราชกฤษฎีกาเพื่อรัฐประหารคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากเป็นสภาชั่วคราว “ไม่เป็นการที่สมควร ที่สภาจะพึงพิจารณาดำริการเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศมาแล้วแต่โบราณกาล” นั้นคือเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหากกระทำการตามแนวทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มนี้ก็ “จะนำมาซึ่งความไม่มั่นคงของประเทศ และเป็นการทำลายความสมบูรณ์ของอาณาประชาราษฎรทั่วไป” และได้มีแถลงการณ์ของฝ่ายรัฐประหารอธิบายเพิ่มเติมว่า ในคณะรัฐมนตรีก็แตกออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มข้างน้อย “ปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจอันมีลักษณะเป็นคอมมูนิสต์” ซึ่งจะทำลาย “ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสยาม” และ “นโยบายเช่นนั้นจักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร์ และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ”

สรุปข้ออ้างรัฐประหารคือ มี ส.ส. ข้างมากในสภา และมีรัฐมนตรีข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี ต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่มีมาแต่โบราณกาลให้เป็นแบบ ‘คอมมิวนิสต์’

คณะราษฎรซึ่งทำปฏิวัติเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 มีแนวคิดสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือกุญแจที่จะไขไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ดังนั้น คณะราษฎรจึงมีนโยบายในการสร้างประเทศชาติให้เจริญ 6 ข้อด้วยกัน ได้แก่

1. นโยบายเอกราชประเทศ สร้างประเทศให้มีเอกราชสมบูรณ์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ

2. นโยบายความปลอดภัย สร้างความปลอดภัยในการดำรงชีวิตให้กับประชาชนทุกคนอย่างจริงจังและเท่าเทียม

3. นโยบายด้านเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่งให้กับประชาชน วางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ และสร้างงานให้กับประชาชนทุกคน

4. นโยบายด้านสิทธิเสมอภาค สร้างให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่เสมอภาคทั้งทางกฎหมายและทางสังคมวัฒนธรรม

5. นโยบายด้านเสรีภาพ สร้างให้ประชาชนมีเสรีภาพทั้งการรับรู้และการแสดงออกในด้านต่างๆ แต่ไม่ล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น

6. นโยบายด้านการศึกษา สร้างและขยายการศึกษาทุกระดับให้ทั่วประเทศ

ภารกิจของการสร้างความเจริญให้กับประเทศขึ้นใหม่ตามนโยบายคณะราษฎร จึงคลอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม การเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

คณะราษฎรมีสมาชิกทั้งหมดเพียง 102 คน สมาชิกเกือบทั้งหมด มีอายุ 35 ปีลงมาถึง 20 ปี (ยกเว้นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งสี่มีอายุ 45-38 ปี) ดังนั้น คณะราษฎรจึงเป็นพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ ที่มาพร้อมกับพลังในการเปลี่ยนแปลงและสร้างชาติโดยนโยบายใหม่ๆ

โครงสร้างทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยที่กำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับแรกนั้น คณะราษฎรให้อำนาจแก่สภาผู้แทนราษฎรในการกำหนดทิศทางนโยบายของประเทศและควบคุมกำกับฝ่ายรัฐบาลเป็นอย่างมาก ในการแต่งตั้งสมาชิกสภาชุดแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2475 มีสมาชิกคณะราษฎรซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ของชาติเป็นสมาชิกสภา 40 คน อีก 30 คนเป็นข้าราชการชั้นอาวุโส

ส่วนในคณะรัฐบาล เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปรับรูปแบบจากคณะกรรมการนโยบายมาเป็นคณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นอาวุโสก็ยังคุมตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทุกกระทรวง ในขณะที่สมาชิกคณะราษฎรมีตำแหน่งรัฐมนตรีลอย

ดังนั้น การให้เหตุผลต่อการทำรัฐประหารของพระยามโนฯ จึงเป็นการถูกต้องที่ระบุว่า มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมาก และมีรัฐมนตรีจำนวนน้อย ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ

ข้อเท็จจริงที่ถูกมองข้ามไปในหน้าประวัติศาสตร์อันชุลมุนสับสนขณะนั้นคือ ข้อตกลงร่วมกันว่าหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 แล้ว อีกราว 3 เดือนกว่า คือภายในเดือนเมษายนถัดไป รัฐบาลต้องจัดการเลือกตั้ง นโยบายใดๆ ให้เป็นเรื่องของรัฐบาลชุดใหม่ รวมทั้งนโยบายด้านเศรษฐกิจ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือการรัฐประหารรัฐบาลตนเองของพระยามโนฯ ด้วยการทำพระราชกฤษฎีกาให้ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ อันเป็นวิธีการฉ้อฉลของนักกฎหมาย วิธีการนี้ย่อมทำไม่ได้หากไม่มีพลังกำลังทหารบกเรือ และพลังอื่นๆ หนุนช่วยรองรับ

พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน เป็นเสมือน ‘ประกาศ’ คณะรัฐประหารแบบที่มีมาถึงปัจจุบัน สรุปความหมายสำคัญได้ดังนี้[13]

1. ให้หยุดใช้รัฐธรรมนูญทุกมาตรา ซึ่งมีรากจากอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เฉพาะมาตราเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ยังคงบังคับใช้ต่อไป

2. ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ที่ตั้งขึ้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2475 (ในชื่อพระราชกฤษฎีกาใช้คำว่า “ปิดประชุมสภา” เป็นการซ่อนเนื้อหาที่แท้จริง)

3. ให้ยุบคณะรัฐมนตรีชุดนี้ที่ตั้งเมื่อ 10 ธันวาคม 2475

4. ให้พระยามโนฯ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทุกกระทรวง เป็นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ (ไม่รวมรัฐมนตรีลอย เพื่อที่จะกำจัดสมาชิกคณะราษฎรบางคน)

5. ให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของรัฐบาลรัฐประหารพระยามโนฯ มีอำนาจออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติได้

6. จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง และจนกว่าจะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ซึ่งต้องมีการแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภทที่ 2 เสียก่อน ให้อำนาจบริหารประเทศทั้งหมดเป็นของคณะรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารนี้

จากพระราชกฤษฎีกาที่ใช้ทำรัฐประหารฉบับนี้ ทำให้พระยามโนฯ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ มีอำนาจทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเบ็ดเสร็จในแบบรัฐบาลอำนาจเผด็จการ นับแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นมา พระยามโนฯ จึงมีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรีเผด็จการคนแรกในการเมืองไทยสมัยใหม่ คนสมัยนั้นเรียกช่วงเวลานี้ว่ายุค ‘มโนเครซี’ โดยเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Monocracy’ ซึ่งแปลโดยนัยว่า พระยามโนฯ ผู้มีอำนาจเป็นเผด็จการคนเดียว (Mono)

 

7. ผลการรัฐประหารครั้งนี้

 

ประการแรก ยุติบทบาททางการเมืองของคณะราษฎร แม้ว่าคณะราษฎรจะบุกเบิกสร้างระบอบการเมืองใหม่ประชาธิปไตย แต่เพียง 9 เดือนหลังการปฏิวัติ การประนีประนอมทางการเมืองกับระบอบเก่าผ่านข้าราชการอนุรักษนิยมและนิยมเจ้า กลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คณะราษฎรตกอยู่ในสถานะพ่ายแพ้ทางการเมือง ไม่อาจที่จะสร้างระบอบการปกครองใหม่ตามเป้าหมายได้

ประการที่สอง ยุติการสร้างพรรคการเมืองคณะราษฎร เพื่อเตรียมการเข้าสู่สนามการเลือกตั้งครั้งแรก หลังการปฏิวัติ 2475 ได้มีการตั้ง “สมาคมคณะราษฎร” เป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย (ขณะนั้นไทยยังไม่มีคำศัพท์ว่า พรรคการเมือง (political party) ใช้ เพราะในยุคระบอบเก่า ห้ามการจัดตั้งพรรค/คณะ/สมาคมทางการเมือง ดังนั้นคำว่า “คณะ” และ “สมาคม” จึงถูกนำมาใช้ในความหมายนี้) สมาคมคณะราษฎรกำลังสร้างเครือข่ายสมาชิกไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะจากข้าราชการประจำซึ่งเป็นคนชั้นกลางและมีความรู้ของสังคมไทย โดยมีนโยบาย 6 ข้อของคณะราษฎรเป็นนโยบายของพรรค แต่หลังรัฐประหารได้มีกฎหมายห้าม “สมาคม” ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งกลายเป็นมรดกทางกฎหมายและวัฒนธรรมถึงปัจจุบันว่า จะมีพรรคการเมืองและดำเนินกิจกรรมได้ก็ต่อเมื่อได้มีกฎหมายพรรคการเมืองแล้วเท่านั้น กรณีนี้ทำให้คณะราษฎรไม่อาจสร้างกระแสความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและความคิดทางการเมืองลงสู่ประชาชนในท้องถิ่นโดยตรงและให้กว้างขวางอย่างรวดเร็วได้

ประการที่สาม กำจัดนายปรีดี พนมยงค์ (อายุ 32 ปี) หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “มันสมอง” ของคณะราษฎร การทำลาย “มันสมอง” ก่อนอื่น ย่อมเป็นการทำลายหัวใจและทำลายเชิงยุทธศาสตร์สำคัญของฝ่ายคณะราษฎร

หลังปฏิวัติ 2475 นายปรีดีมีภารกิจสำคัญคือสร้างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย สร้างระบบสภาผู้แทนราษฎรและการเลือกตั้ง รวมทั้งวางแผนเศรษฐกิจ ที่ต่อมาคือ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ความขัดแย้งที่พระยามโนฯ อ้างว่าเป็นความพยายามของรัฐมนตรีข้างน้อยที่จะเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่มีมาแต่โบราณกาลให้เป็นแบบ “คอมมิวนิสต์” นั้น แท้จริงแล้วได้ยกระดับความขัดแย้งสูงมาก ก็เมื่อฝ่ายระบอบเก่าได้พิมพ์เผยแพร่พระราชวินิจฉัยของพระปกเกล้าฯ ต่อเค้าโครงเศรษฐกิจฯ ของนายปรีดีไปอย่างกว้างขวาง

เพียงหนึ่งวันหลังรัฐประหาร พระยามโนฯ นายกรัฐมนตรีอำนาจเบ็ดเสร็จได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อชี้ไปยังนายปรีดี และสมาชิกพรรคฝ่ายนายปรีดี รวมถึงเค้าโครงเศรษฐกิจว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นายปรีดีจึงต้องเดินทางออกนอกประเทศเพื่อลี้ภัยทางการเมืองเป็นคนแรก

หลังผ่านยุคมโนเครซีไปแล้ว แม้นายปรีดีได้กลับคืนประเทศเพื่อรับภารกิจด้านการสร้างเทศบาลและการปกครองพื้นที่ทั่วประเทศในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่นายปรีดีก็ต้องถูกตั้งกรรมการพิจารณาในประเด็นคอมมิวนิสต์นี้ โดยผลสรุปออกมาคือ นายปรีดีและแนวทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ระบอบเก่ายังวิตกกังวลและกลัวมากยิ่งกว่าคือ เรื่องยึดทรัพย์และที่ดินของผู้ปกครองระบอบเก่า

หลังเหตุการณ์นี้ นายปรีดีไม่สามารถที่จะกล่าวถึงการวางแผนเศรษฐกิจใดๆ ได้อีกเลย กระทั่งเมื่อนายปรีดีได้กลับคืนสู่ประเทศ ฝ่ายทหารระบอบเก่าก็ยังคงใช้คอมมิวนิสต์เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารอีกครั้งทันทีตอนเดือนตุลาคม 2476 ที่เป็นรัฐประหารล้มเหลว เรียกชื่อว่า “กบฏบวรเดช”

โดยสรุปในทางการเมือง คณะราษฎรที่มีสมาชิกจำนวนน้อยมาก ใช้การเปลี่ยนระบอบการเมืองอย่างฉับพลัน โดยหวังว่าจะแพร่กระจายความคิดอุดมการณ์ทางการเมืองลงสู่ประชาชนและท้องถิ่นทั้งประเทศผ่านการจัดตั้งพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องถูกทำให้ยุติลงโดยรัฐประหารของพระยามโนฯ และบทบาทของสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือนก็ถูกลดทอนลงในระบบสภาผู้แทนราษฎรนับแต่นั้นมา ส่วนนายปรีดีกลายเป็นผู้ถูกปิดล็อคในบทบาททางเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน ในขณะที่คอมมิวนิสต์ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารสืบเนื่องมาถึงห้าสิบปี

อย่างไรก็ตาม ประเด็นแนวคิดทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ปรากฏในเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงการมุ่งแก้ไขปัญหาสำคัญของไทยตลอดมาถึงปัจจุบัน เช่น ปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม การจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกร การใช้สหกรณ์เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจทุกภาคส่วน การจัดเก็บภาษีมรดก เป็นต้น

 

8. เป้าหมายที่แท้จริงของรัฐประหารครั้งแรก โดยพระยามโนฯ

 

เป้าหมายที่แท้จริงของการรัฐประหารครั้งแรกนี้ นอกเหนือจากกำจัดคณะราษฎรและพิทักษ์ผลประโยชน์ด้านทรัพย์และที่ดินของผู้ปกครองระบอบเดิมแล้ว คือ การกำกับองค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎรชุดหลังเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ประการแรก ทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีขนาดเล็กลงและไม่มีพรรคการเมือง จากกฎหมายเลือกตั้งเดิมจากจำนวนประชากร 1 แสนคนมี ส.ส. ประเภทเลือกตั้งได้ 1 คน คำนวณว่าจะมี ส.ส. ประเภทเลือกตั้งรวม 120 คน และประเภทแต่งตั้งอีก 120 คน รวมจะมี ส.ส. ทั้งสองประเภท 240 คน มโนเครซีได้แก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ให้เพิ่มจำนวนประชากรเป็น 2 แสนคนต่อ ส.ส. 1 คน และให้มีการรวมหลายจังหวัดเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง ทั้งนี้เมื่อคำนวณแล้วจะมี ส.ส. ประเภทเลือกตั้งเพียง 54 คน และ ส.ส. ประเภทแต่งตั้งอีก 54 คน รวมมีจำนวนเพียง 108 คน แนวคิดคือ มี ส.ส. น้อยคน ควบคุมได้ดีกว่า ส.ส. จำนวนมาก ทั้ง ส.ส. จะมีลักษณะเป็นตัวบุคคล เพราะห้ามการจัดตั้งพรรคการเมือง

ประการที่สอง เพิ่มเกณฑ์อายุผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้งให้สูงขึ้น กล่าวคือเพิ่มอายุผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจาก 20 ปีเป็น 25 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และเพิ่มอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งขึ้นไปเป็นอายุ 30 ปีบริบูรณ์ ความหมายทางการเมืองคือ ฝ่ายระบอบเก่าและมโนเครซีเชื่อว่าคนยิ่งสูงอายุยิ่งจะสนับสนุนฝ่ายตน ทั้งไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง และกำจัดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนอายุน้อยออกไป ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎรจะเป็นสภาผู้สูงอายุเป็นสำคัญ

ประการที่สาม การแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ สมาชิกสภาประเภทที่ 2 แต่งตั้ง ซึ่งมีจำนวนครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด พระยามโนฯ จะถวายให้ประมุขแห่งรัฐเป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งจะกลายเป็นประเพณีการเมืองสืบปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไปว่า การแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ของคณะราษฎรเหมือนเช่นสภาผู้แทนชุดแรก

ประการที่สี่ สมาชิกสภาประเภทที่ 2 แต่งตั้งทั้งหมดมีลักษณะเป็นพรรคการเมืองของฝ่ายระบอบเก่า คุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น จึงเป็นพรรคระบอบเก่าที่จะจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

สรุปตามแนวทางการกำกับองค์ประกอบสภาผู้แทนราษฎรและการเลือกตั้ง ในท้ายสุดระบอบเก่าก็เพียงแต่หยุดชะงักอำนาจไปเพียงชั่วคราวระยะเวลาหนึ่งปีเท่านั้น แต่ก็สามารถที่จะแปลงร่างเปลี่ยนรูปเป็นระบอบเก่าในเสื้อคลุมใหม่ตามรัฐธรรมนูญ

 

9. สรุปรัฐประหาร 1 เมษายน 2476

 

รัฐประหารครั้งแรกโดยพระราชกฤษฎีกาของพระยามโนฯ เมื่อ 1 เมษายน 2476 ใช้ข้ออ้างเรื่องคอมมิวนิสต์และพระมหากษัตริย์ในการก่อการ โดยมีเป้าหมายเพื่อกำจัดคณะราษฎรออกจากเวทีทางการเมือง ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและในเวทีการเลือกตั้ง มีการห้ามจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อควบคุมจำกัดการแพร่กระจายอุดมการณ์ทางการเมืองใหม่ลงสู่ประชาชนทั้งประเทศ กำกับการสร้างองค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎรให้มีขนาดเล็ก จำกัดบทบาทของคนรุ่นใหม่ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ประมุขแห่งรัฐหรือประมุขระบอบเก่าทรงมีพระราชอำนาจแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภทที่ 2 ตามพระราชอัธยาศัย

และท้ายสุดคือ ระบอบเก่าได้แปลงร่างเปลี่ยนรูปเป็นระบอบเก่าในเสื้อคลุมใหม่ตามรัฐธรรมนูญ

 

10. ความสืบเนื่อง

 

รัฐบาลมโนเครซีมีระยะเวลา 81 วัน เมื่อคณะราษฎรนำโดยนายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ได้ทำรัฐประหารล้มยุคมโนเครซีเมื่อ 20 มิถุนายน 2476[14] เพื่อฟื้นรัฐธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎรตามแนวทางของคณะราษฎร ทั้งยืนยันว่าคณะราษฎรคือผู้มีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 (ทั้งนี้พระยามโนฯ ได้ลี้ภัยไปอาศัยที่ปีนัง มาเลเซียของอังกฤษจนสิ้นชีวิต) แต่อีกสามเดือนถัดมา ตุลาคม 2476 ฝ่ายทหารระบอบเก่านำโดยนายพลเอก พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกลาโหมสมัยพระปกเกล้าฯ ก็ทำรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลคณะราษฎรที่มีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกฯ เกิดการต่อสู้เป็นสงครามกลางเมืองอย่างนองเลือด หนึ่งในข้อเรียกร้องของฝ่ายกบฏบวรเดชที่เรียกคณะตนว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง”[15] คือ การแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ต้องเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ทั้งช่วงที่ฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองกระทำการนั้นเป็นขณะที่กำลังอยู่ในเดือนการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรชุดแรกด้วย

ลำดับชุดของ 3 รัฐประหารอย่างต่อเนื่องในเจ็ดเดือนจากเมษายนถึงตุลาคม 2475 ได้แสดงให้เห็นว่า การเริ่มสร้างระบอบใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยและมีรัฐธรรมนูญนั้น ระบอบเก่ายังเป็นพลังสำคัญของการคัดค้านต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ

 


 

อ้างอิง

[1] บทความวิชาการนี้ ประมวลสรุปให้สั้นกระชับ โดยมีฐานการศึกษามาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของผู้เขียนเรื่อง “รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ.2476”  ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2534 ต่อมาได้รับจัดพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544), โดยเฉพาะบทที่ 2 ระบอบรัฐธรรมนูญ และบทที่ 4 รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดากับการต่อต้านคณะราษฎร โหลดอ่านได้ที่นี่ และพิมพ์ครั้งต่อๆ มา ในชื่อ ปฏิวัติ 2475. เป็นส่วนที่ 2 ของหนังสือ ในชื่อ 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547), หน้า 79-507. (ภาคผนวกที่ 1 รายนามสมาชิกคณะราษฎร 102 คน, ภาคผนวกที่ 2 ลำดับเหตุการณ์ทางการเมือง 2475-2477, ภาคผนวกที่ 3 ประกาศคณะราษฎร 24 มิถุนายน 2475, ภาคผนวกที่  4 รัฐธรรมนูญฉบับแรก 27 มิถุนายน 2475)  ปัจจุบันพิมพ์ครั้งที่ 3, ปี 2560.

[2] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ – รัฐประหาร ในการเมืองไทยสมัยใหม่, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, มีนาคม 2561). มีบทวิเคราะห์ มีลำดับเหตุการณ์ และมีเอกสารสำคัญของรัฐประหารแต่ละครั้ง

[3] ดูการสรุปเบื้องต้นได้ที่ ชำนาญ จันทร์เรือง. “เผด็จการหรือไม่ ดูตรงไหน,” ใน ประชาไท 12-08-2010.

[4] ให้ความรู้ได้อย่างสั้นกระชับที่ มาร์ค เคนท์ (เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย). “กฎบัตรแมกนา คาร์ตา กับวิวัฒนาการ ‘วัฒนธรรมรัฐธรรมนูญ’.” ใน ไทยรัฐออนไลน์ 15 มิ.ย. 2558

[5] ตัวอย่างความรับรู้ เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ต่อมาคือประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัชกาลที่ 8 ได้เขียน ประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส พิมพ์ครั้งแรก ปี 2477, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: โฆษิต, 2549)

[6] ดูความหวังและความกลัวของฝ่ายระบอบใหม่และระบอบเก่าได้ใน ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ, อ้างแล้ว, หน้า 85-95.

[7] ปรีดี พนมยงค์, “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม,” ใน ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย (กรุงเทพฯ:  สนพ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526), หน้า 440.

[8] วุฒิชัย มูลศิลป์. “พระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครอง : พระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการปกครองแผ่นดิน.” ใน วารสารประวัติศาสตร์ (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) ฉบับปี 2553-2554. หน้า 3-29; ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ขัตติยา กรรณสูตร รวบรวม, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477 (กรุงเทพฯ : โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2518), หน้า 47-75.

[9] อัจฉราพร กมุทพิสมัย, กบฏ ร.ศ.130 กบฏเพื่อประชาธิปไตย : แนวคิดทหารใหม่, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2542); ณัฐพล ใจจริง, “สยามบน “ทางสองแพร่ง” : หนึ่งศตวรรษของความพยายามปฏิวัติ ร.ศ.130,” ใน ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์, ปฏิวัติ ร.ศ.130 (กรุงเทพฯ: มติชน ศิลปวัฒนธรรม, 2559), หน้า (8)-(36).

[10] ชาญชัย รัตนวิบูลย์, “บทบาทของอภิรัฐมนตรีสภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว,” (วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, 2519), หน้า 11-29.

[11] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ, อ้างแล้ว, หน้า 323-327.

[12] อีก 2 คน ได้แก่ พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ (อายุ 43 ปี) เป็นผู้บังคับกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 หลังปฏิวัติได้เป็น ผู้บังคับกรมทหารปืนใหญ่ที่มี 8 กองพัน เป็นบุคคลแบบกลางๆ และ พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ (อายุ 38 ปี) ผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลังปฏิวัติได้เป็น เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก อยู่ในกลุ่ม พ.อ.พระยาทรงฯ

[13] ดูเอกสารนี้ได้ใน ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ – รัฐประหาร ในการเมืองไทยสมัยใหม่, อ้างแล้ว, เอกสารภาคสมัยประชาธิปไตยลำดับที่ 1 พระราชกฤษฎีกา, คำแถลง และ พรบ.คอมมิวนิสต์

[14] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ, อ้างแล้ว, ดูบทที่ 5 รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 หน้า 315-373.

[15] ณัฐพล ใจจริง, กบฏบวรเดช : เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475 (กรุงเทพฯ: มติชน ศิลปวัฒนธรรม, 2559), บทที่ 3 แผน “กู้บ้านกูเมือง” หน้า 63-93.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save