fbpx
เปิดตำราพี่เลี้ยงยุคใหม่ เลี้ยงเด็กก็ต้องได้ ดิจิทัลก็ต้องทัน

เปิดตำราพี่เลี้ยงยุคใหม่…เลี้ยงเด็กก็ต้องได้ ดิจิทัลก็ต้องทัน

คำว่า ‘ครอบครัว’ ยามที่โลกเข้าสู่ยุค 4.0 อาจไม่ได้หมายถึงแค่พ่อ แม่และลูก แต่ยังมีสมาชิกอีกคนหนึ่งคือ ‘ดิจิทัล’ ที่มาในรูปของสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต

เมื่อดิจิทัลพยายามเข้ามาเป็นเพื่อนเล่นคนหนึ่งของลูกน้อยในบ้าน พ่อแม่สมัยนี้จึงล้วนแต่มีหน้าที่ต้องขบคิด จัดการความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับดิจิทัลว่าจะให้ใกล้หรือไกลกันขนาดไหน แต่เมื่อโลกกำลังเร่งรีบและแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ จนพ่อแม่หลายบ้านมีเวลาเฝ้ามองลูกน้อยลง ‘พี่เลี้ยง’ จึงกลายเป็นคนสำคัญที่ต้องเข้ามารับมือดิจิทัลที่พยายามเข้ามาตีสนิทกับเด็กๆ แทนคนเป็นพ่อเป็นแม่

การรับมือและรู้เท่าทันดิจิทัลจึงนับเป็นบทเรียนบทใหม่ในตำราการเลี้ยงดูเด็กที่พี่เลี้ยงยุคนี้จำเป็นต้องเรียนรู้ แต่ก็คงไม่ยุติธรรมนักหากจะบอกว่าดิจิทัลเข้ามาแค่ทำให้งานของพี่เลี้ยงซับซ้อนขึ้น ในทางกลับกัน การเติบโตของโลกดิจิทัลก็ช่วยเปิดโลกเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับคนเป็นพี่เลี้ยงเหมือนกัน

101 พาไปสำรวจโลกของพี่เลี้ยงเด็กที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล พร้อมคุยกับรสรี ซันจวน ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและที่ปรึกษาด้านการดูแลเด็กสำหรับครอบครัว ผู้อำนวยการและวิทยากรประจำศูนย์ฝึกอบรมการดูแลเด็ก Bangkok Nanny Center เกี่ยวกับทักษะการเลี้ยงเด็กในยุคดิจิทัลที่พี่เลี้ยงยุคใหม่ต้องเรียนรู้ รวมถึงการปรับตัวของพี่เลี้ยงเด็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก และศูนย์จัดหาพี่เลี้ยงเด็กเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0

เมื่อพี่เลี้ยงโลดแล่นบนหน้าจอ

การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้ทำให้นิยามของคำว่าพี่เลี้ยงเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากเดิมที่พี่เลี้ยงต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดที่บ้านหรือที่สถานรับเลี้ยงเด็ก ทุกวันนี้ อาชีพพี่เลี้ยงไปไกลถึงขั้นที่ไม่จำเป็นต้องอยู่กับเด็กอีกต่อไป แต่สามารถดูแลเด็กผ่านหน้าจอสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ได้ ด้วยแอปพลิเคชันวีดีโอคอลต่างๆ อย่าง Facetime, Zoom หรือ Skype

พี่เลี้ยงรูปแบบนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Virtual Babysitter’ หรือ ‘พี่เลี้ยงเสมือนจริง’

อาชีพพี่เลี้ยงเสมือนจริงเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว พร้อมๆ กับที่คนทั่วโลกเริ่มหันมาใช้สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น พี่เลี้ยงเสมือนจริงถือเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงสำหรับพ่อแม่ โดยเฉพาะในประเทศซีกโลกตะวันตก จนเกิดแพลตฟอร์มจัดหาพี่เลี้ยงเสมือนจริงขึ้นมากมาย เช่น Care.com, UrbanSitter, Sittercity, Babysitter Company, Screen Sitters และ Minutes 4 Moms

อย่างไรก็ตาม การจ้างพี่เลี้ยงเสมือนจริงมาดูแลลูก ก็ไม่ใช่ว่าพ่อแม่จะปล่อยให้ลูกอยู่กับพี่เลี้ยงบนหน้าจอตามลำพังได้เป็นเวลานานๆ เพราะแน่นอนว่าพี่เลี้ยงที่อยู่ในจอก็ยังไม่สามารถอาบน้ำแต่งตัว จัดเตรียมอาหาร หรือดูแลความปลอดภัยและระวังอันตรายให้เด็กๆ ได้

พี่เลี้ยงเสมือนจริงทำได้เพียงช่วยสร้างความบันเทิงหรือทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกับเด็กๆ เช่น ร้องเพลง เล่นเกม เล่านิทาน ออกกำลังกาย หรือสอนการบ้าน เพื่ออยู่เป็นเพื่อนเด็กๆ เป็นเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งช่วยให้บรรดาพ่อแม่ ที่แม้จะยังอยู่ในบ้านกับลูก ได้พอมีเวลาปลีกตัวไปจัดการภาระหน้าที่อื่นหรือพักผ่อนบ้าง

พี่เลี้ยงเสมือนจริงยังมีข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่ง คือดูแลเด็กๆ ที่อายุน้อยเกินไปไม่ได้ เพราะเด็กยังไม่สามารถคุมตัวเองให้จดจ่ออยู่กับหน้าจอ และยังสื่อสารกับคนที่อยู่บนหน้าจอไม่เป็น ช่วงวัยที่เหมาะสมสำหรับการอยู่กับพี่เลี้ยงเสมือนจริงจึงอยู่ที่อายุประมาณ 3 ขวบขึ้นไป ซึ่งพอจะสื่อสารกับคนที่อยู่บนหน้าจอเป็น และคุมสมาธิตัวเองได้ในระดับหนึ่ง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้แพลตฟอร์มพี่เลี้ยงเสมือนจริงเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นมาก อย่างเช่น Sittercity ที่ให้ข้อมูลว่า ในช่วงเวลาเพียงเดือนเดียวระหว่างมีนาคมถึงเมษายน 2563 ความต้องการจ้างพี่เลี้ยงเสมือนจริงพุ่งขึ้นถึง 700% และยังมีแนวโน้มโตขึ้นอีกเรื่อยๆ เป็นเพราะมาตรการล็อกดาวน์หลายเมืองทั่วโลกทำให้สมาชิกในครอบครัวต่างถูกบีบให้อยู่แต่ในบ้าน ขณะที่เด็กๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็กได้ พ่อ แม่และผู้ปกครองก็ต้องทำหน้าที่ดูแลเด็ก ทั้งที่หลายคนต้อง Work from Home ด้วย การใช้งานพี่เลี้ยงเสมือนจริงจึงเป็นทางออกที่ดี

การขยับขยายสู่โลกออนไลน์ทำให้พี่เลี้ยงยุคใหม่อาจไม่ได้มีเพียงทักษะการดูแลเด็กอย่างเดียว แต่ต้องเรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยีไปควบคู่กันด้วย ส่งผลให้บรรดาธุรกิจให้บริการดูแลเด็กที่ขยายมาเล่นในตลาดพี่เลี้ยงเสมือนจริง ต้องจัดโปรแกรมฝึกฝนทักษะการดูแลเด็กผ่านวีดีโอคอล ซึ่งมีความแตกต่างจากการดูแลที่บ้านหรือที่สถานเลี้ยงเด็ก เพราะต้องสามารถทำให้เด็กๆ จดจ่ออยู่กับหน้าจอโดยไม่วอกแวกได้ด้วย

นอกจากนี้ หากพี่เลี้ยงเสมือนจริงมีทักษะเฉพาะด้านบางอย่าง เช่น การเล่นเกมฝึกสมอง กีฬาในร่ม ศิลปะ และดนตรี ก็จะเป็นข้อได้เปรียบ เพราะสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กๆ อยู่กับหน้าจอได้ดี แพลตฟอร์มพี่เลี้ยงเสมือนจริงจึงมักมองหาพี่เลี้ยงที่มีทักษะเฉพาะตัวบางด้าน ควบคู่กับทักษะการจัดการกับเด็ก

พี่เลี้ยงเสมือนจริง สิ่งที่ไทยยังไม่มี


อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังไม่พบว่ามีการให้บริการพี่เลี้ยงเสมือนจริงเหมือนอย่างประเทศในโลกตะวันตก

“อาจเป็นเพราะในสังคมไทย พ่อแม่ยังเน้นรูปแบบของความใกล้ชิดผูกพันกันกับลูกมากอยู่ ไม่เหมือนกับทางฝรั่งที่อาจจะปล่อยลูกมากกว่า อย่างพอลูกโตได้ไม่เท่าไหร่ ก็ให้ลูกแยกห้องนอนแล้ว ขณะที่พ่อแม่ไทยจะไม่ปล่อยค่อยให้ลูกอยู่ห่าง” รสรี ซันจวน ให้ความเห็นถึงสาเหตุที่ไทยยังไม่มีบริการลักษณะนี้เกิดขึ้น โดยมองไปที่ค่านิยมการเลี้ยงเด็กที่ต่างกับชาติตะวันตก

ถึงแม้จะยังไม่มีบริการพี่เลี้ยงเสมือนจริง แต่ธุรกิจให้บริการผู้ดูแลเด็กในไทยก็นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ทางใดทางหนึ่ง รสรีที่อยู่ในแวดวงธุรกิจให้บริการผู้ดูแลเด็กมายาวนาน โดยดำเนินกิจการ Bangkok Nanny Center มาแล้วถึง 15 ปี ให้ข้อมูลว่า ศูนย์จัดหาจัดส่งผู้ดูแลเด็กหลายแห่งได้พัฒนาเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันขึ้นมา เป็นแพลตฟอร์มลักษณะออนดีมานด์ ซึ่งพี่เลี้ยงสามารถฝากข้อมูลตัวเองไว้ ขณะที่พ่อแม่ก็เข้าไปหาพี่เลี้ยงที่มีคุณสมบัติอย่างที่ต้องการ ซึ่งรสรีมองว่านี่ก็ถือเป็นรูปแบบการให้บริการที่ดี

รสรี ซันจวน
ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและที่ปรึกษาด้านการดูแลเด็กสำหรับครอบครัว
ผู้อำนวยการและวิทยากรประจำศูนย์ฝึกอบรมการดูแลเด็ก Bangkok Nanny Center

อย่างไรก็ตาม หากจะให้ธุรกิจพี่เลี้ยงเด็กหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแบบครบวงจรเลย รสรีไม่เห็นด้วยนัก โดยมองว่าอาชีพพี่เลี้ยงยังไม่สามารถแทนที่ด้วยเทคโนโลยี หรือกระทั่งเอไอได้ เพราะอาจตอบโจทย์ได้เฉพาะในด้านการดูแลพฤติกรรม แต่ยังตอบสนองทางด้านจิตใจไม่ได้ ต่างจากพี่เลี้ยงที่เป็นคน ซึ่งสามารถเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับเด็กได้

รสรีมองว่าเทคโนโลยีดิจิทัลอาจเข้ามาแค่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน ในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน อย่าง Bangkok Nanny Center ก็ยังใช้ดิจิทัลน้อยอยู่ โดยอาจใช้แอปพลิเคชันสื่อสารอย่าง Line หรือ Facebook ในการส่งข้อมูลระหว่างกันเท่านั้น แต่ในการพูดคุย รับฟังปัญหา หรือการติดต่อสัมพันธ์กันต่างๆ ระหว่างศูนย์ พี่เลี้ยง และพ่อแม่นั้น ยังคงเน้นไปที่การพูดคุย อย่างมากคือใช้โทรศัพท์คุยกัน

สำหรับบริการรูปแบบของพี่เลี้ยงเสมือนจริง รสรีมองว่า “ที่จริงแล้ว การเลี้ยงเด็กแบบคนต่อคนจริงๆ ดีที่สุด แต่หากไม่สามารถใช้แบบคนต่อคนจริงๆ ได้ นี่ก็เป็นรูปแบบที่ทำได้เหมือนกัน แต่จะมีประสิทธิภาพแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เช่นจะให้ใช้ในระยะเวลาจำกัดแค่ไหน ซึ่งพี่เลี้ยงและพ่อแม่ต้องตกลงร่วมกัน”

พี่เลี้ยงไทยใช่ว่าไม่ต้องรับมือดิจิทัล


แม้แพลตฟอร์มพี่เลี้ยงเสมือนจริงที่ทำให้บรรดาพี่เลี้ยงเด็กเริ่มปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มช่องทางอาชีพให้ตัวเอง จะยังไม่เกิดขึ้นในไทย แต่ถึงอย่างนั้น การเติบโตของโลกดิจิทัลก็ยังเข้ามามีอิทธิพลต่ออาชีพผู้ดูแลเด็กในไทยอยู่ไม่น้อย

รสรีให้ความเห็นว่า สังคมที่เร่งรีบมากขึ้นจนไปเร่งรัดชีวิตประจำวันหลายอย่างในครอบครัว มีผลให้พฤติกรรมเด็กทุกวันนี้เปลี่ยนไปจนอาจผิดธรรมชาติ เช่นมีความใจร้อนขึ้น และเริ่มมีอาการต่อรองกับผู้ใหญ่เพื่อให้ได้ในสิ่งที่เขาอยากได้ ทำให้พ่อแม่เริ่มหาตัวช่วยในการดูแลลูก โดยใช้สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต แต่ถ้าให้เด็กใช้อุปกรณ์พวกนี้มากเกินพอดี ก็จะไปทำให้พัฒนาการของเด็กไม่เป็นธรรมชาติขึ้นไปอีก

เพราะฉะนั้น เมื่อพ่อแม่จ้างพี่เลี้ยงเข้ามาดูแลเด็ก พี่เลี้ยงก็ต้องรับมือกับพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมชาติของเด็กมากขึ้น จนทำให้พี่เลี้ยงทุกวันนี้มักจะทำงานอยู่ได้ไม่นาน อายุงานของอาชีพพี่เลี้ยงในปัจจุบันจึงถือว่าสั้นกว่าแต่ก่อน

ภาพจาก www.bangkoknanny.com

นี่ทำให้เห็นว่า พี่เลี้ยงสมัยใหม่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอกับการรับมือดิจิทัลที่พร้อมเข้ามามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและจิตใจของเด็ก การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับดิจิทัล รวมถึงการแก้ปัญหาเด็กติดดิจิทัลมากไป สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนบทเรียนบังคับใหม่ที่ได้ถูกเพิ่มเข้ามาในตำราการเลี้ยงดูเด็กของคนทำอาชีพผู้ดูแลเด็กในยุคสมัยปัจจุบัน

“อันดับแรกสุด พี่เลี้ยงต้องรู้ก่อนว่าผลกระทบจากการที่เด็กใช้ดิจิทัลคืออะไร ปกติพ่อแม่มักจะห้ามพี่เลี้ยง เช่น ห้ามให้เด็กกินข้าวไปด้วยเล่นแท็บเล็ตไปด้วย แต่พี่เลี้ยงก็อาจไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ถ้าเขาไม่รู้ผลกระทบที่จะตามมา”

ในยุคสมัยใหม่ พี่เลี้ยงอาจต้องตระหนักว่าการปล่อยให้เด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กใช้เวลาเพลิดเพลินกับอุปกรณ์ดิจิทัลที่มากเกินไปอาจส่งผลต่อพัฒนาการได้ มีงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่าการใช้ดิจิทัลอาจส่งผลต่อสมอง กระทบต่อการพัฒนาทักษะการพูด การเขียนอ่าน และทักษะการเข้าสังคมของเด็กๆ

จริงอยู่ที่ถึงแม้การใช้ดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์จะสามารถสร้างผลเชิงบวก เช่น ทำให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เกิดความคิดสร้างสรรค์ เป็นที่มาของแหล่งสานสัมพันธ์ในครอบครัว แต่สำหรับตอนนี้ ที่ยังไม่มีการระบุเจาะจงว่า ปริมาณการใช้เท่าไรนับว่า ‘ปลอดภัย’ หรือ ‘เป็นพิษ’ อย่างชัดเจน เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทางออกที่ง่ายที่สุดจึงอาจเป็นการพยายามดึงเด็กเล็กให้ใช้ชีวิตในโลกจริงให้มากกว่าโลกเสมือนก็เป็นได้

“ต่อมาคือพี่เลี้ยงต้องไม่เอาเครื่องมือดิจิทัลพวกนี้มาเป็นตัวต่อรองกับเด็ก เพื่อให้เด็กมีพฤติกรรมอย่างที่ต้องการ” รสรีกล่าวเพิ่มเติม

“เด็กฉลาดมากพอที่จะเอามันมาต่อรอง เด็กจะรู้ว่า ถ้าฉันร้องขึ้นมาด้วยเสียงที่เดซิเบลระดับนี้ อาจไม่มีใครยอม เพราะฉะนั้น เขาก็จะร้องด้วยเดซิเบลสูงขึ้นมาอีก ผู้ใหญ่ก็จะมาโอ๋ ไอแพดก็จะลอยมาให้เขา”

รสรียกตัวอย่างกรณีของการกินข้าว ซึ่งเด็กอาจจะบอกว่า ขอดูหรือเล่นให้จบก่อนแล้วจะกิน หรือบอกว่าจะยอมกินต่อเมื่อพี่เลี้ยงต้องเปิดจอให้ดูไปด้วย ทำให้พี่เลี้ยงบางคนอาจจะเลือกต่อรองกับเด็กว่า ต้องกินให้หมดก่อน ถึงจะเอาแท็บเล็ตให้ หรือไม่เช่นนั้นก็ยอมเปิดจอให้เด็กดูระหว่างกินข้าวไปด้วย ซึ่งทำให้เด็กโฟกัสอยู่กับหน้าจอ จนพี่เลี้ยงสามารถป้อนข้าวได้ง่าย แต่เด็กก็จะเข้าใจว่าเขามีหน้าที่แค่อ้าปาก ส่วนหน้าที่ตักข้าวเข้าปากคือพี่เลี้ยง เด็กเลยไม่ยอมตักข้าวกินเอง เพราะฉะนั้นพี่เลี้ยงต้องไม่ใช้วิธีนี้

“เราต้องมีทางเลือกอื่นให้พี่เลี้ยง ให้เขารู้ว่าถ้าใช้วิธีนี้ไม่ได้ แล้วจะใช้วิธีไหน” รสรีกล่าว เธอมองว่าพี่เลี้ยงควรช่วยเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดีอย่างความมีวินัยแก่เด็ก ซึ่งนั่นรวมถึงการช่วยกำหนดเวลาใช้อุปกรณ์ดิจิทัลให้ไม่ปนกับการฝึกทักษะชีวิตที่ควรมีตามวัยด้วย

“ที่สำคัญคือเรื่องการฝึกวินัยให้เด็ก อย่างเรื่องการกินข้าว เราก็ต้องพยายามทำให้เด็กกินข้าวด้วยตัวเอง ไม่มีการตามป้อน ต้องฝึกให้เขากินเป็นที่เป็นทาง ไม่มีการกินไปเล่นไป ไม่มีของเล่นหรืออุปกรณ์อะไรต่างๆ บนโต๊ะ หรือไม่มีทีวีหน้าโต๊ะเลย และนอกจากนี้ พี่เลี้ยงต้องทำให้เด็กมีส่วนร่วมกับการกินข้าว อาจจะแจกช้อนคนละคัน แต่เด็กอาจจะใช้มือหรืออะไรก็ได้หมด อย่างน้อยพยายามให้เด็กได้มีส่วนร่วม ก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้”

“ถ้าเด็กเกิดปัญหาติดดิจิทัลมากเกินไป เราต้องดูด้วยว่าปัญหานี้มันเกิดจากใคร ถ้าเกิดจากนโยบายของที่บ้านที่ปูทางมาแบบนี้ตั้งแต่ก่อนที่พี่เลี้ยงจะเข้ามา อย่างเรื่องการกินไปดูหน้าจอไป พี่เลี้ยงก็ต้องคุยกับพ่อแม่ว่าเขาอยากจะฝึกวินัยให้เด็กใหม่ ซึ่งร้อยทั้งร้อย พ่อแม่ก็จะโอเค แต่ถ้ามันเกิดจากตัวพี่เลี้ยงเอง ก่อนหน้านี้ เด็กอาจจะไม่เคยติดดิจิทัล แต่มาติดเพราะพี่เลี้ยง พ่อแม่ก็ต้องคุยกับพี่เลี้ยง”

นี่สะท้อนว่า ลำพังตัวพี่เลี้ยงคนเดียวไม่สามารถรับมือกับดิจิทัลที่เข้ามาหาเด็กได้ แต่พ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กเองก็เป็นปัจจัยสำคัญมากในการทำงานของพี่เลี้ยง

“การที่เราจะเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เขาเติบโตขึ้นมามีความพร้อมที่จะออกสู่โลกกว้าง คือตัวผู้ดูแลต้องมีความพร้อม ตัวพี่เลี้ยงเด็กจะเป็นแค่จุดหนึ่งของการใช้ชีวิตของเด็กๆ เท่านั้นเอง พวกเขาเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคุณพ่อคุณแม่ ต่อให้เราแก้ปัญหาที่ตัวพี่เลี้ยง แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังคงใช้ชีวิตเหมือนเดิม อย่างในเรื่องการใช้ดิจิทัลที่มากเกินไป มันก็ไม่ช่วยอะไร” รสรีให้ความเห็น

รสรีมองว่าความร่วมมือระหว่างพี่เลี้ยงกับพ่อแม่ของเด็กถือเป็นเรื่องสำคัญมาก พ่อแม่จะต้องมีนโยบายการใช้ดิจิทัลในบ้านที่ชัดเจน และอาจเปิดให้พี่เลี้ยงเข้ามามีส่วนร่วมออกนโยบายร่วมกันด้วย ส่วนพ่อแม่ก็ต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วยเหมือนกัน เช่น ถ้าพ่อแม่ขอให้พี่เลี้ยงไม่เล่นมือถือระหว่างอยู่กับเด็กเลย แต่ตัวพ่อแม่เองยังทำอยู่ ก็จะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้

ภาพจาก www.bangkoknanny.com

นอกจากพี่เลี้ยงเด็กตามบ้านแล้ว พี่เลี้ยงในศูนย์เลี้ยงเด็กหรือเนอสเซอรี่ก็ต้องรับมือกับเรื่องดิจิทัลและยังต้องร่วมมือกับพ่อแม่เหมือนกัน

“เนอสเซอรี่จะพบว่าเด็กรุ่นใหม่เลี้ยงยากขึ้น และยังดีลกับพ่อแม่ยากขึ้น เพราะบางที คุณพ่อคุณแม่ใช้ดิจิทัลเลี้ยงดูลูกที่บ้านในวันเสาร์และอาทิตย์ เมื่อเด็กติดดิจิทัล ก็จะงอแงไม่ยอมไปเนอสเซอรี่ทุกวันจันทร์ เป็นเหมือนกันทุกที่เลย กว่าจะอยู่ตัวก็วันพฤหัสบดี วันจันทร์ก็งอแงใหม่อีก เราจะเห็นเลยว่าการที่พ่อแม่ให้เด็กใช้สื่อดิจิทัลที่บ้านเยอะเกินไป มันมีผลเวลาที่เด็กไปโรงเรียนหรือเนอสเซอรี่ด้วย การรับมือของคุณครูและพี่เลี้ยงเด็กก็ยากขึ้น” รสรีกล่าว

รสรีเสนอทางออกสำหรับเนอสเซอรี่ว่า อาจใช้วิธีการจัดสัมมนา เวิร์กช็อป หรือกิจกรรมเล็กๆ ให้ทั้งเด็กและคุณพ่อคุณแม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยให้พ่อแม่ได้เห็นถึงผลกระทบต่อเด็กจากการปล่อยให้เด็กอยู่กับอุปกรณ์ดิจิทัลมากเกินไป นอกจากนี้ เนอสเซอรี่ยังสามารถใส่เรื่องนี้เข้ามาเป็นหัวข้อหนึ่งในบทเรียนให้เด็กๆ ได้

พี่เลี้ยงต้องใช้ดิจิทัลให้เป็นประโยชน์


การเข้ามาของดิจิทัลไม่ได้แปลว่าพี่เลี้ยงจะต้องแบกภาระรับมือจัดการความสัมพันธ์ระหว่างดิจิทัลกับเด็กเพียงอย่างเดียว แต่พี่เลี้ยงก็อาจใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงานบางแง่ได้เหมือนกัน

รสรีให้ความเห็นว่า พี่เลี้ยงอาจจะนำอุปกรณ์ดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ระหว่างอยู่กับเด็กในบางกิจกรรมได้ อย่างเช่นการเปิดเพลงให้เด็กฟัง

แต่รสรีก็เตือนว่า “มันคาบเกี่ยวอยู่บนเส้นบางๆ บางที พ่อแม่คิดว่ามันช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ก็เลยเอาไปให้พี่เลี้ยงใช้เป็นเครื่องมือเลี้ยงดูลูก แต่บางที พี่เลี้ยงอาจไม่ได้เอาไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่พ่อแม่บอก เพราะในช่วงที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน พี่เลี้ยงอาจเอาไปใช้เป็นตัวช่วยผ่อนแรงมากกว่า เช่น ยื่นแท็บเล็ตให้เด็กเล่น แล้วตัวเองจะได้ไปทำอย่างอื่น เลยกลับกลายเป็นว่า มันไปทำให้พัฒนาการเด็กล่าช้า แทนที่จะส่งเสริมพัฒนาการ” การนำดิจิทัลไปใช้กับเด็กโดยตรงจึงต้องคิดคำนึงถึงรูปแบบและความเหมาะสมให้ดี

ภาพจาก www.bangkoknanny.com

นอกจากนี้ รสรีมองว่าการเติบโตของดิจิทัลก็มีประโยชน์กับงานของพี่เลี้ยง โดยเฉพาะการที่พี่เลี้ยงสามารถใช้ดิจิทัลเป็นประโยชน์ในการพัฒนาทักษะความรู้ตัวเองได้ รวมถึงศูนย์จัดส่งจัดหาและอบรมพี่เลี้ยงเด็กอย่าง Bangkok Nanny Center เองก็สามารถใช้ประโยชน์จากการโตขึ้นของดิจิทัลในการเพิ่มพูนทักษะการเลี้ยงดูเด็กให้กับพี่เลี้ยงได้เหมือนกัน

“แต่ก่อน เวลาที่เราจะเพิ่มความรู้ให้กับพี่เลี้ยง เราจะต้องเรียกเขาเข้ามาที่ศูนย์ แต่ก็จะมีปัญหาว่า พอเขาเข้ามาก็จะเสียวันงานไป แต่พอเริ่มมีดิจิทัลเข้ามา เรากับพี่เลี้ยงก็สื่อสารกันง่ายขึ้น และให้ความรู้กับเขาได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทาง Line, YouTube, Facebook, Zoom หรือการทำในรูปแบบคอร์สออนไลน์ แล้วเราก็ทำลักษณะคล้ายๆ กับพาสปอร์ตให้เขาดูว่าเขาต้องเข้าอบรมหัวข้อไหนบ้าง แล้วให้เขาเช็คหลังเข้าเรียนแต่ละหัวข้อไปแล้ว” รสรีอธิบาย

“ทุกวันนี้ พี่เลี้ยงเองก็สามารถไปหาความรู้ตามสื่อดิจิทัลต่างๆ ได้มากขึ้นเหมือนกัน อย่างในเวลาที่เจอปัญหาบางอย่างระหว่างการดูแลเด็ก พี่เลี้ยงก็ค้นหาวิธีแก้ปัญหาใน Google ได้เลย ซึ่งช่วยให้พวกเขาแก้ปัญหาได้เร็วขึ้นมาก เมื่อก่อน เวลาที่มีปัญหา พี่เลี้ยงก็มักจะโทรมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์ แต่เดี๋ยวนี้ พี่เลี้ยงส่วนใหญ่หาข้อมูลกันเองมากกว่า”

รสรีเสริมว่า การนำดิจิทัลมาใช้เป็นประโยชน์กับการทำงานเลี้ยงเด็กได้มากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับตัวพี่เลี้ยงแต่ละคนเอง พี่เลี้ยงคนไหนที่รักการพัฒนาตัวเอง ก็จะมีความพยายามมาก

“ถ้าพี่เลี้ยงสามารถใช้ดิจิทัลในการพัฒนาตัวเอง เอาความรู้ที่เขาได้มา มาใช้กับเด็กๆ ได้ ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก” รสรีกล่าวทิ้งท้าย


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save