fbpx
ดีเอโก อาร์มันโด มาราโดนา: เทวทูตแห่งฟุตบอลผู้มีใบหน้าเปื้อนฝุ่นกับชีวิตแห่งการต่อต้าน

ดีเอโก อาร์มันโด มาราโดนา: เทวทูตแห่งฟุตบอลผู้มีใบหน้าเปื้อนฝุ่นกับชีวิตแห่งการต่อต้าน 

ตฤณ ไอยะรา เรื่อง

ที่มาภาพปก Wikimedia Commons

 

หมายเลข 10 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเสื้อฟ้าขาว

 

ในกลางดึกของคืนวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020 (ตามเวลาประเทศไทย) ดีเอโก อาร์มันโด มาราโดนา หนึ่งในนักเตะผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลได้จากโลกไป หลายคนจดจำมาราโดนาในฐานะอัจฉริยะผู้แหลกเหลว ในด้านหนึ่ง เขาเป็นผู้พาทีมชาติอาร์เจนตินาได้แชมป์ฟุตบอลโลกในปี 1986 ณ ประเทศเม็กซิโก ในแบบที่หลายท่านเรียกว่า ‘ข้ามาคนเดียว’ และยังพาทีมระดับกลางอย่างนาโปลีที่มาจากทางใต้ของอิตาลีได้สคูเด็ตโต (Scudetto) ในช่วงเวลาที่ทีมจากทางเหนืออย่าง เอซี มิลาน อินเตอร์ มิลาน และยูเวนตุส เต็มไปด้วยนักเตะซูเปอร์สตาร์

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ชีวิตส่วนตัวของมาราโดนาก็เต็มไปด้วยความปั่นป่วน ทั้งปัญหาสุขภาพ ปัญหายาเสพติด ปัญหาการใช้ความรุนแรง รวมถึงการแสดงความเห็นอย่างเกรี้ยวกราดและตรงไปตรงมาบ่อยครั้ง ถึงอย่างนั้น ความสำเร็จในการเล่นฟุตบอลของมาราโดนายังน่าจดจำสำหรับคนในช่วงเวลาหนึ่งเสมอ เพราะความสำเร็จนี้คือการสร้างความหวังให้มนุษย์รู้สึกว่า ตัวเองสามารถเอาชนะอำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่าพวกเขา/เธอได้ ถึงแม้ความสำเร็จนี้ไม่ได้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเลยก็ตาม ความสำเร็จด้านฟุตบอลของมาราโดนาเปรียบเสมือนสิ่งสะท้อนถึงความหวังและศักยภาพในเอาชนะความยากลำบากในระดับบุคคล และการต่อต้านโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

 

จากเด็กชายในชุมชนแออัดถึงสัญลักษณ์แห่งชุมชนลูกหนัง

 

เรื่องราวของมาราโดนาก็ไม่ต่างกับดาราลูกหนังจากอเมริกาใต้คนอื่นมากนัก เพราะชีวิตของเขามีพื้นฐานจากครอบครัวฐานะยากจน และเริ่มเล่นฟุตบอลในสนามของชุมชนแออัดที่มีสภาพไม่เหมาะสมกับการเล่นอย่างปลอดภัยนัก

ในคำอธิบายแบบเชิดชูความสามารถส่วนบุคคล สภาพแวดล้อมเช่นนี้บ่มเพาะให้นักเตะจากอเมริกาใต้ รวมไปถึงมาราโดนา ให้เปี่ยมไปด้วยความเป็นนักสู้ที่มีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดสูง และวางรากฐานของการควบคุมลูกบอลระดับสูงแก่นักเตะเหล่านั้น ยิ่งกว่านั้น มาราโดนายังโชคดีที่มีพ่อที่พร้อมให้การสนับสนุนการเล่นฟุตบอลอย่างเต็มที่ โดยพ่อของเขายอมเจียดเงินอันน้อยนิดซื้อรองเท้าเล่นฟุตบอลให้แก่เขา

เรื่องเล่าชีวิตส่วนตัวของมาราโดนาจึงเป็นเสมือนการสร้างความหวังให้แก่เด็กผู้ชายที่มาจากครอบครัวอันขัดสนในอเมริกาใต้ว่า พวกเขาสามารถไต่บันไดทางสังคมได้ หากพวกเขาสามารถพัฒนาทักษะและความชำนาญในการเล่นฟุตบอลจนนำไปสู่การเซ็นสัญญากับสโมสรฟุตบอลในยุโรปที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ จนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้

โดยสรุปแล้ว การเล่นฟุตบอลให้เก่งเป็นหนึ่งในไม่กี่หนทางในการหลุดพ้นจากชั้นล่างสุดของสังคมอเมริกาใต้อันเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้ว ผ่านการยกระดับทางรายได้และสถานะทางสังคมของตนเองให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของคนที่อยู่ชั้นบนของสังคม

Jonathan Wilson บรรยายว่า ด้วยภูมิหลังดังกล่าว มาราโดนาจึงเป็นภาพตัวแทนที่ดีของ ‘El Pibe’ เด็กหนุ่มผู้มาจากชุมชนแออัด แต่รื่นรมย์กับการไล่หวดลูกหนังด้วยลีลาสนุกสนานและมีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดอย่างเต็มเปี่ยม[ii] มาราโดนาจึงไม่ได้เป็นแค่นักฟุตบอลที่เก่งกาจ แต่ยังเป็นผู้ขับเน้นความภูมิใจในการเล่นฟุตบอลที่เปี่ยมไปด้วยเทคนิคและความสวยงามของชาวอาร์เจนไตน์ และภูมิหลังทางสังคมอันต่ำต้อยของสังคมได้สร้างความรู้สึกเชื่อมโยงกับคนอาร์เจนไตน์ที่ต้องหากินแบบปากกัดตีนถีบด้วย

สไตล์การเล่นฟุตบอลของมาราโดนาสะท้อนสิ่งที่ เซซาร์ หลุยส์ เมนอตติ (Cesar Luis Menotti) ผู้พาทีมฟ้าขาวได้แชมป์ฟุตบอลโลกในปี 1978 และยังเป็นผู้เขียนรายงานถึงฟอร์มการเล่นของมาราโดนาส่งให้สโมสรบาร์เซโลนา[iii] แสดงความเห็นไว้ว่า ฟุตบอลของชาวอาร์เจนไตน์อยู่บนพื้นฐานของการเลี้ยงและต่อบอลสั้นที่รวดเร็ว ดังนั้น การแสดงออกในสนามหญ้าของมาราโดนาที่ขับเน้นวิธีการเล่นแบบ ‘Gambetta’ หรือการเลี้ยงบอลเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็วจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของชาติไป

ด้วยภูมิหลังทางสังคมแบบนี้ จึงไม่แปลกใจเลยที่มาราโดนาประกาศตัวในฐานะผู้สนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองแบบ ‘ซ้าย’ ที่ยืนยันผ่านการกระทำต่างๆ เช่น การเรียกร้องสวัสดิการให้แก่นักฟุตบอล หรือการยกย่องผู้นำในระบอบสังคมนิยมหลายคน เช่น ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) ของคิวบา และฮูโก ซาเวซ (Hugo Chavez) ของเวเนซุเอลา และเป็นผู้ยืนยันถึงความเป็นอิสระของภูมิภาคลาตินอเมริกาจากการแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจ อุดมการณ์แบบมาราโดนาไม่ใช่เรื่องแปลกในลาตินอเมริกาที่ได้ผลิตแนวคิดอย่าง ‘ทฤษฎีพึ่งพิง’ (dependency theory) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อหลุดจากภาวะครอบงำจากประเทศในศูนย์กลางของระบบทุนนิยมโลก

 

เมื่อภาคใต้อาละวาดทั่วอิตาลีและยุโรป

 

มาราโดนาเริ่มต้นการเล่นฟุตบอลกับสโมสร อาร์เจนติโนส จูเนียร์ส (Argentinos Juniors) ก่อนย้ายไปเล่นให้โบคา จูเนียร์ส (Boca Juniors) หนึ่งในทีมชื่อดังแห่งบูเอโนสไอเรส และผลงานอันเอกอุในลีกอาร์เจนตินาทำให้สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งแคว้นคาตาลุนญา อย่างบาร์เซโลนา เซ็นสัญญาซื้อตัวเขาไปค้าแข้งที่นั่น ถึงแม้มาราโดนาร่วมมือกับนักเตะพรสวรรค์จอมขบถอย่าง แบรนด์ ชูสเตอร์ (Bernd Schuster) บาร์เซโลนาก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จนัก และในช่วงหลัง เขายังมีปัญหากับผู้บริหารของสโมสรอีก ทางบาร์เซโลนาจึงตัดสินใจปล่อยตัวมาราโดนาให้กับสโมสรนาโปลี (Napoli) ที่อยู่ทางใต้ของอิตาลีด้วยค่าตัวที่เป็นสถิติโลกในช่วงเวลานั้น

มาราโดนาทำให้นาโปลีกลายเป็นสโมสรที่สามารถคว้าแชมป์ลีกอิตาลีหรือสคูเด็ตโตได้ถึง 2 ครั้ง ในฤดูกาล 1986-87 และ 1989-90 ในช่วงที่ทีมในเซเรียอาเต็มไปด้วยนักเตะระดับโลก เช่น เอซี มิลาน ที่มีสามทหารเสือดัตช์อย่าง มาร์โก ฟาน บาสเท่น (Marco Van Basten) รุด กุลลิต (Ruud Gullit)  และ แฟรงก์ ไรการ์ด (Frank Rijkaard) ที่เป็นกำลังหลักของทีมชาติฮอลแลนด์ในการคว้าแชมป์ฟุตบอลแห่งชาติยุโรปปี 1988 นอกจากนี้มาราโดนายังพานาโปลีพาแชมป์ยูฟ่าคัพอีกหนึ่งสมัยในปี 1989

ความสำเร็จของมาราโดนาที่สโมสรนาโปลีไม่ได้เป็นแค่เรื่องชัยชนะของสโมสรขนาดกลางเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมอิตาลีที่ครุ่นคิดกับ ‘ปัญหาทางใต้’ (the southern question) ในหนังสือของ John Foot เรื่อง Calcio (2006) อธิบายว่า ผู้คนในแคว้นทางเหนือของอิตาลีมักแสดงอาการดูถูกและเหยียดหยามผู้คนจากแคว้นทางใต้ และคนจากทางเหนือบางกลุ่มไม่ยอมรับว่าแคว้นทางใต้เป็นส่วนหนึ่งของอิตาลี แคว้นทางเหนืออยู่บนฐานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่มีรายได้สูงกว่า และมีระดับพัฒนาการทางสังคมที่เป็นระบบระเบียบมากกว่า ในขณะที่แคว้นทางใต้อยู่บนฐานการผลิตแบบเกษตรกรรมที่มีความผันผวนทางรายได้สูงกว่า และมักถูกวาดภาพว่าเป็นสังคมที่ถูกครอบงำโดยผู้มีอิทธิพลนอกกฎหมาย (mafias) ชัยชนะของมาราโดนาที่นาโปลีจึงเป็นเสมือนการป่าวประกาศถึงศักดิ์ศรีของชาวใต้ อย่างน้อยในโลกฟุตบอลที่ครอบงำด้วยสโมสรฟุตบอลจากเมืองในทางเหนืออย่าง มิลาโน หรือโตริโน

ความยิ่งใหญ่ของมาราโดนาไม่ได้ลดทอนอัตลักษณ์ความเป็นชาวอาร์เจนไตน์ของเขา เพราะนาโปลีที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอิตาลีเป็นบ้านเกิดของบรรพบุรุษของประชาชนชาวอาร์เจนไตน์ที่หลบหนีความยากจนเพื่อมาแสวงชีวิตที่ดีขึ้นในดินแดนโลกใหม่ การเดินทางออกนอกบ้านของชาวอิตาเลียนทางใต้ในตอนนั้นยังได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลเองที่ใช้นโยบายส่งเสริมการอพยพออกนอกประเทศเพื่อแก้ปัญหาความอดอยากและยากจนในดินแดนแถวนั้น ความยิ่งใหญ่ที่นาโปลีของมาราโดนาจึงเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความเป็นลูกหลานของชาวอิตาเลียนผู้อพยพของเขาที่ไม่เหมาะกับการไปใช้ชีวิตในเมืองอันหรูหราอย่างบาร์เซโลนา ที่มาราโดนาไม่เคยกลมกลืนเข้ากับสภาพแวดล้อมที่นั่นได้เลย ต่างกับการใช้ชีวิตที่นาโปลีที่มาราโดนาใช้ชีวิตอยู่กับชาวเมืองได้อย่างค่อนข้างเป็นเนื้อเดียวกัน จนกระทั่งกลายเป็น ‘เทพเจ้า’ ของเมืองแห่งนี้ไป

อย่างไรก็ตาม ศักดิ์ศรีทางใต้ในโลกฟุตบอลที่มาราโดนาเป็นผู้จุดกระแสก็เจอกับบททดสอบ เมื่อทีมชาติอิตาลีต้องมาเล่นกับทีมชาติอาร์เจนตินาที่เมืองนาโปลีในรอบ 4 ทีมสุดท้ายของฟุตบอลโลกปี 1990 ที่อิตาลีเป็นเจ้าภาพ โดยก่อนเกมเริ่ม มาราโดนาเรียกร้องให้คนในเมืองนาโปลีเชียร์ทีมชาติอาร์เจนตินาแทนที่อิตาลี โดยเขากล่าวในทำนองว่า พวกอิตาเลียนทางเหนือไม่เคยนับคนทางใต้เป็นพวกหรอก หากเขาไม่ต้องการความช่วยเหลือจากพวกคุณ คำกล่าวนี้ทำให้ห้วงเวลาของมาราโดนากับนาโปลีต้องสิ้นสุดลง เพราะมีแฟนบอลบางส่วนไม่พอใจ มาราโดนาจึงต้องไปยุติการเล่นฟุตบอลในยุโรปกับสโมสรเซบีญาในสเปน ในท้ายที่สุด วาทะของมาราโดนาที่อิงกับการเมืองอัตลักษณ์เชิงภูมิภาคในอิตาลีไม่สามารถแสดงพลังของมันได้อย่างเต็มที่เมื่อเผชิญกับอุดมการณ์ชาตินิยมที่นักวิชาการอย่าง เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) เสนอว่าเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และตัวมาราโดนาเองก็สมาทานอุดมการณ์นี้

 

การขโมยหรือการทวงความเป็นธรรมของชาติ

 

นอกเหนือจากผลงานในระดับสโมสรแล้ว มาราโดนายังจารึกชื่อไว้ในผลงานระดับทีมชาติด้วย โดยเขาเริ่มสร้างชื่อในทีมชาติด้วยการพาทีมชาติอาร์เจนตินาชุดเยาวชนคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในปี 1979 โดยผู้กุมบังเหียนทีมชุดนั้นคือเมนอตติ  โดยมาราโดนาเล่นฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1982 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศสเปน โดยในครั้งนั้น มาราโดนาไม่สามารถระเบิดฟอร์มได้อย่างเต็มที่และยังไปได้ใบแดงจากการย่ำใส่นักเตะบราซิลในรอบแบ่งกลุ่มที่สอง[iv]  มาราโดนามากู้และสร้างชื่อในฟุตบอลโลกปี 1986 ณ เม็กซิโก ที่เขาระเบิดฟอร์มด้วยการยิงไปถึง 5 ประตู และจ่ายให้เพื่อนร่วมทีมยิงไปถึง 5 ประตูด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ความยิ่งใหญ่ของมาราโดนาในการแข่งขันฟุตบอลปีนั้นไม่ได้แสดงออกผ่านสถิติเท่านั้น แต่ยังแสดงผ่านรูปแบบวิธีการอีกด้วย

หนึ่งในนัดที่เป็นที่จดจำที่สุดของฟุตบอลโลกหนนั้นคือ[v] การแข่งขันรอบ 8 ทีมสุดท้ายระหว่างทีมชาติอังกฤษและทีมชาติอาร์เจนตินา เพราะมาราโดนาได้สร้างประตูประวัติศาสตร์ในนัดนั้นถึงสองครั้ง ครั้งแรก คือประตูฉ้อโกงที่เนียนใช้มือปัดบอลเข้าประตูไป (สมัยนั้นยังไม่มี VAR ครับ) และอีกประตูคือ การเลี้ยงบอลเดี่ยวจากครึ่งสนามหลบผู้เล่นอังกฤษ 5 คน ที่รวมถึงปีเตอร์ ชิลตัน (Peter Shilton) หนึ่งในผู้รักษาประตูที่เก่งที่สุดของยุโรปในช่วงเวลานั้นด้วย แน่นอนว่า คณะทัวร์จากอังกฤษได้มาลงที่มาราโดนาหลังจบเกม โดยกล่าวหาว่ามาราโดนาใช้วิธีการที่สกปรกและขี้โกงในการเอาชนะคู่ต่อสู้ มาราโดนาเลยสวนกลับไปว่า มือที่ปัดไม่ใช่มือตัวเองแต่เป็นหัตถ์ของพระเจ้า (hand of god) และเขายังได้กล่าวเสริมในภายหลัง การขโมยของจากโจรที่ปล้นเราไม่ใช่เรื่องที่ผิด อีกทั้งการใช้วิธีแบบในการเอาชนะยังเป็นการสะท้อนถึงคุณลักษณะ ‘ความฉลาดเจ้าเล่ห์’ (viveza) อันเป็นคุณพื้นฐานของชาวอาร์เจนไตน์

ทัศนคติข้างต้นอยู่บนเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของสงครามระหว่างสหราชอาณาจักรและอาร์เจนตินาในการแย่งชิงหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (Falkland) ที่ฝ่ายแรกเป็นผู้ชนะและฝ่ายหลังสูญเสียทหารเป็นจำนวนมาก ชัยชนะที่มีเหนืออังกฤษจึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการล้างแค้นของอาร์เจนตินาในสงครามครั้งนั้น อีกนัยหนึ่ง มาราโดนาใช้ชัยชนะในเกมฟุตบอลปลอบประโลมผู้คนชาวอาร์เจนตินาที่รู้สึกถูกหยามจากการกระทำของกองทัพสหราชอาณาจักร

Tim Vickery กูรูฟุตบอลอเมริกาใต้ได้ให้สัมภาษณ์ว่า สองประตูในนัดเจออังกฤษของมาราโดนามีนัยที่สำคัญในการเมืองวัฒนธรรมและความทรงจำของอาร์เจนตินา เพราะในช่วงศตวรรษที่ 19 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 สหราชอาณาจักรได้ครอบงำการเมืองและเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาจนนำไปสู่สภาวะ ‘อาณานิคมอย่างไม่เป็นทางการ’ (informal colony) ขึ้น ฟุตบอลคือหนึ่งในภาพตัวแทนของความเหนือกว่าของชาวบริติช แต่ชาวอาร์เจนไตน์ก็นำฟุตบอลมาตีความใหม่และถ่ายทอดออกมาในรูปแบบการเล่นที่สวยงามและเจ้าเล่ห์กว่า โดยประตูแรกที่ใช้มือปัดบอลเข้าประตู คือการบอกชาวอังกฤษว่า ชาวอาร์เจนไตน์เล่นได้ฉลาดกว่าพวกเขา และประตูสองที่เลี้ยงเดี่ยวครึ่งสนาม คือการป่าวประกาศว่าชาวอาร์เจนไตน์เล่นฟุตบอลได้ดีกว่าชาวอังกฤษ ฟอร์มการเล่นของมาราโดนาในฟุตบอลโลกครั้งนั้นยังเกิดขึ้นตอนที่ชาวอาร์เจนไตน์เผชิญกับความหดหู่จากความพ่ายแพ้กับสงครามกับสหราชอาณาจักร และความหวังที่มาจากการเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตย

ยิ่งกว่านั้น การคว้าแชมป์โลกของมาราโดนายังช่วยให้ชาวอาร์เจนตินาภาคภูมิใจในประเทศของตนเองว่า พวกตนยังเป็นราชันในโลกลูกหนัง Jonathan Wilson บรรยายในหนังสือ Angels with Dirty Faces (2016) ว่า อาร์เจนตินาก่อตั้งประเทศด้วยความหวังของการผงาดเป็นประเทศแนวหน้าของโลกอีกแห่งหนึ่ง แต่พอเวลาผ่านไปเนิ่นนาน อาร์เจนตินามีเพียงแค่ฟุตบอลที่ยังรักษาสถานะของผู้นำในโลก แต่ขณะที่ระบบเศรษฐกิจและการเมืองกลับเผชิญกับความผันผวนอยู่ตลอดเวลา

กล่าวโดยสรุปแล้ว ความสำเร็จของมาราโดนาในทีมชาติคือการต่อลมหายใจให้กับประชาชนชาวอาร์เจนตินามีความภูมิใจถึงการอยู่ในลำดับต้นๆ ของตำแหน่งแห่งที่ในโลกลูกหนัง เพื่อชดเชยความรู้สึกเจ็บปวดจากความล้มเหลวทางเศรษฐกิจที่ยังพึ่งพิงการส่งออกสินค้าปฐมภูมิเป็นหลัก ความไร้เสถียรภาพของระบบการเงินที่เผชิญกับวิกฤตบ่อยครั้ง และความไม่แน่นอนของระบอบการเมืองที่สลับกันไปมาระหว่างประชาธิปไตยและอำนาจนิยม

 

ปัจฉิมบท: เทวทูตฟุตบอลผู้นำช่วงเวลามหัศจรรย์สู่มวลมนุษย์

 

ในด้านหนึ่ง ชีวิตทั้งสามมิติของมาราโดนาได้สร้างประกายความหวังให้แก่คนจำนวนหนึ่งว่า พวกเขา/เธอสามารถเอาชนะอุปสรรคในชีวิตจนประสบความสำเร็จได้ และสามารถแสดงการต่อต้านกับอำนาจบางอย่างที่สถาปนาจนมีความเข้มแข็งแล้วได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น สิ่งที่มาราโดนากระทำตลอดอาชีพค้าแข้งของเขาได้สร้างแรงบันดาลใจกับผู้คนทั้งโลกในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตัวเองคาดหวัง อย่างน้อยที่สุดมาราโดนากระตุ้นให้หลายคนอยากเล่นฟุตบอล และในขณะเดียวกัน มาราโดนายังได้สร้างความทรงจำร่วมทางสังคมให้คนที่เติบโตจากต่างสถานที่และเวลาสามารถพูดคุยกันได้ผ่านการบรรยายและตัดสินวีรกรรมในและนอกสนามของตัวเขา แบบที่แฟนบอลหลายคนชอบพูดในทำนองว่า “ฟุตบอลเป็นภาษาสากล” เพราะช่วงรุ่งเรืองในการเล่นฟุตบอลของมาราโดนาคือทศวรรษ 1980 อันเป็นจุดเริ่มต้นของความรุ่งเรืองของยุคโลกาภิวัตน์ที่เติบโตจากเทคโนโลยีการถ่ายทอดสดและการแพร่กระจายของเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะโทรทัศน์ได้ทำให้ฟุตบอลกลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมความบันเทิงร่วมสมัย  ในความทรงจำของคนในโลกตะวันตก เหตุการณ์ความรื่นรมย์ในความทรงจำแห่งทศวรรษ 1980 คือเทศกาลดนตรี Live Aid ในปี 1985 และฟุตบอลโลกในปี 1986 ที่มาราโดนาเป็นผู้สร้างบรรยากาศ การจากไปของมาราโดนาจึงไม่ใช่แค่ความตายของปัจเจกแต่ยังเป็นความรู้สึกรื่นรมย์กับชีวิตในทศวรรษ 1980 ที่มักถูกจดจำว่าเป็นทศวรรษที่หรูหราฟูฟ่าด้วย

ในท้ายที่สุด ผมขอจบบทความนี้ด้วยการขอบคุณมาราโดนาที่สร้างแรงบันดาลใจให้แฟนบอลอย่างผมกล้าเผชิญกับปัญหาและความท้าทายเพื่อพัฒนาตนเองเสมอ โดยขอยืมคำโปรยจากทวิตเตอร์ของสโมสรโบคา จูเนียร์สที่เขียนว่า ‘Eternas gracias. Eterno Diego.’

เพราะมาราโดนาได้ทิ้งความทรงจำในสนามหญ้าที่มีอายุยืนยาวกว่าชีวิตอันสุดเหวี่ยงและสุดขั้วของเขา

 

อ้างอิง

[i] ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจในการตั้งชื่อบทความจากหนังสือของ Jonathan Wilson ชื่อ Angels with Dirty Faces ที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นหนังสือภาษาอังกฤษที่เขียนเล่าสังคมอาร์เจนตินาผ่านฟุตบอลได้สนุกมาก

[ii] บทความของ Jonathan Wilson สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก ที่นี่

[iii] รายงานของเมนอตติสามารถอ่านได้ ที่นี่

[iv] ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี  1982 ฟีฟ่ายังไม่ได้ใส่ระบบน็อคเอ้าต์ เมื่อการแข่งขันในรอบแรกที่มีทั้งหมด 6 กลุ่มที่มี 24 ทีม เสร็จสิ้น โดยฟีฟ่ากำหนดให้ทีมที่ได้อันดันแรกและอันดับสองในแต่ละกลุ่มเข้ารอบต่อไป โดยรอบต่อไปแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบไปด้วย 3 ทีมต่อหนึ่ง โดยผู้ที่ได้อันดับแรกของแต่ละกลุ่มได้สิทธิเข้าไปเล่นในรอบ 4 ทีมสุดท้าย

[v] การแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1986 ได้รับการยกย่องว่ามีการแข่งขันที่สนุกหลายนัด ไม่ว่าจะเป็นการเจอกันระหว่างบราซิลและฝรั่งเศสในรอบแปดทีมสุดท้าย รอบชิงระหว่างเยอรมนีตะวันตกและอาร์เจนตินาที่แสนตื่นเต้น หรือการแข่งขันระหว่างเบลเยียมและสหภาพโซเวียตในรอบ 16 ทีมสุดท้าย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save