fbpx
สร้างชาติด้วยดีไซน์ กับ Design Ah! in Tokyo : นิทรรศการที่เปลี่ยนห้องเรียนวิชาออกแบบให้กลายเป็นสวนสนุก

สร้างชาติด้วยดีไซน์ กับ Design Ah! in Tokyo : นิทรรศการที่เปลี่ยนห้องเรียนวิชาออกแบบให้กลายเป็นสวนสนุก

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เรื่อง

ก่อนอื่นต้องขออภัยทุกท่านที่ Third Eye View หายไปพักใหญ่ เนื่องจากเดือนที่ผ่านมาพวกเราเพิ่งยกทีมกันไป outing (ภาษาราชการไทยว่าศึกษาดูงาน) ที่ประเทศญี่ปุ่น ประเทศโลกที่หนึ่งที่ไม่ไกล เที่ยวง่าย ของกินอร่อย และที่สำคัญ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีดีไซน์ทุกลมหายใจเข้าออก เหมาะกับเป็นวิตามินเสริมให้สายงานของเรายิ่งนัก

ไฮไลต์ของทริปนี้คือ ช่วงที่เดินทางบังเอิญตรงกับนิทรรศการอันเด็ดดวงหลายต่อหลายแห่ง หนึ่งในนิทรรศการที่เราประทับใจจนต้องบันทึกมาเล่าต่อ คือนิทรรศการที่ชื่อว่า Design Ah!

Design Ah!

Design Ah! คือรายการทีวีที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ NHK ในญี่ปุ่น เพื่อปลูกฝังให้เด็กในชาติมีวิธีคิดแบบ ‘ดีไซน์’ นั่นคือรู้จักสังเกตโลกรอบตัว กำหนดปัญหา และวางแผนหาวิธีการแก้ไขให้สิ่งที่เป็นอยู่ดีขึ้น ด้วยนิยามนี้ ‘การออกแบบ’ เลยไม่ใช่ทักษะควรรู้สำหรับแค่นักออกแบบหรือศิลปินเท่านั้น เพราะไม่ว่าเด็กเหล่านี้จะโตไปทำอาชีพอะไรก็ย่อมต้องเจอปัญหาและโจทย์ยากๆ ทั้งนั้น ระบบความคิดที่สามารถแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอนอย่างการออกแบบนี่เอง คืออาวุธสำคัญที่พวกเขาจำเป็นต้องมีติดตัว

เมื่อเรียกตัวเองว่ารายการทีวีสำหรับเด็ก  Design Ah! ทุกตอนจึงโคตรสนุก ไม่ใช่แค่กับเด็ก แต่ผู้ใหญ่เองยังสนุกตาม ด้วยวิธีการนำเสนอที่เข้าใจง่าย น่ารักน่าเอ็นดูสไตล์ญี่ปุ่น หาวิธีเล่าคอนเซ็ปต์ใหญ่ผ่านเรื่องใกล้ตัวได้เฉียบ ดูแล้วสัมผัสได้ว่าทุกตอนถูกคิดมาอย่างละเอียดลออและตั้งใจทำกันแบบประณีตสุดฝีมือ

แน่นอนว่าคุณสมบัติทุกประการของรายการ Design Ah! จะอัดแน่นอยู่ในนิทรรศการ Design Ah!  in Tokyo ครั้งนี้เช่นกัน ทุกเนื้อหาที่ถูกเล่าในจอแบนๆ จะถูกเอามาระเบิดออกกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเล่นได้ราวสวนสนุก

Design Ah!, นิทรรศการ

คำว่า ‘สวนสนุก’ ไม่ได้เว่อร์เกิน เพราะทันทีที่ก้าวเข้าไปในห้องโถงใหญ่ของ Miraikan : National Museum of Emerging Science (อารมณ์ประมาณพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ แต่เนื้อหาและวิธีนำเสนอดีงามกว่าบ้านเราหลายช่วงตึก) อันเป็นสถานที่จัดนิทรรศการ ภาพตรงหน้าไม่ต่างจากสวนสนุก พ่อแม่จูงมือลูก แฟนจูงมือแฟน เพื่อนชวนเพื่อนมา ‘เล่นสนุก’ หัวเราะคิกคักกันใน ‘นิทรรศการออกแบบ’

เราได้แต่ยืนเกาหัวแกรกๆ ไม่คุ้นอย่างแรงกับภาพฝูงชนแฮงค์เอ้าท์กันในพิพิธภัณฑ์อย่างคลาคล่ำแม้ไม่ใช่วันหยุด ผิดกับภาพพิพิธภัณฑ์ที่เงียบเชียบ อึมครึม ร้างผู้คนในบ้านเรายิ่งนัก

The Observation Room

 

Design Ah!, นิทรรศการ, ญี่ปุ่น

เดินไหลไปทั้งยังอึนๆ ในพื้นที่นิทรรศการที่แบ่งออกเป็นสามส่วน แต่ละส่วนเริ่มต้นด้วยคำถามง่ายๆ ที่จุดประเด็นไปสู่คอนเซ็ปต์ใหญ่ของการออกแบบ ห้องแรกของนิทรรศการตั้งคำถามว่า ‘สิ่งของที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน มีความสัมพันธ์ยังไงกับตัวเรา?’ ห้องนี้ชื่อว่า The Observation Room ข้างหน้าต้อนรับเราด้วยประติมากรรมปากหลอดบีบของเหลวต่างไซซ์ ขยายไซซ์ขึ้นหลายสิบเท่า จนเห็นลักษณะของเหลวที่แตกต่างกัน ไหลออกจากปากหลอดแต่ละแบบ ตามด้วยประติมากรรมข้าวกล่องไซซ์ยักษ์ เจาะรูให้เราไปโผล่หัวตรงกลาง เป็นมุมมองข้าวกล่องผ่านสายตาของข้าว แต่ชิ้นนี้ขึ้นป้ายว่าคนต่อคิวถ่ายรูป 40 นาที! เราจึงจำใจต้องข้ามไป

ภายใน The Observation Room ประกอบด้วยงผลงานกว่าสิบชิ้น เล่าเรื่องผ่านสิ่งของที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน อย่างข้าวกล่องญี่ปุ่น  บรรจุภัณฑ์  icon บนป้ายบอกทาง ใช้เทคนิคแตกต่างกันไปตั้งแต่ประติมากรรมตั้งนิ่งๆ ใช้แสงไฟและเคลื่อนไหวได้แบบ Kinetic Art  Projection Mapping ไปจนถึง Interactive ที่กดเล่นและดุ๊กดิ๊กได้ แต่ละชิ้นทำหน้าที่พาเราไป ‘Observe’ หรือสังเกตในประเด็นที่แตกต่างกัน

Design Ah!

ชิ้นแรกพาเราไปสังเกตการเปลี่ยนรูปร่าง เปลี่ยนคุณสมบัติของไข่หนึ่งฟอง ผ่านกระบวนการทำเมนูไข่ 6 เมนู เมื่อแบ่งอย่างละเอียด เราจะเห็นว่าจากไข่แข็งๆ รีๆ สีขาวจั๊ว กลายเป็นของเหลวข้นสีใสและสีส้ม บางเมนูถูกผสมปนกัน คลี่เป็นแผ่น ม้วนเป็นแท่ง เปลี่ยนไปจากรูปร่างเดิม แต่กับบางเมนูแทบไม่เปลี่ยนเลย ไข่ที่สามารถเปลี่ยนไปได้หลายคุณสมบัติ กำลังบอกเราว่าอะไร?

Design Ah!

ข้างๆ กัน ตั้งคำถามว่าจากมนุษย์หญิงชาย กลายไปเป็นสัญลักษณ์หญิงชายที่เราคุ้นเคยบนป้ายหน้าห้องน้ำสาธารณะได้อย่างไร? จากภาพเหมือนจริงฝั่งซ้าย ค่อยๆ ตัดทอนรายละเอียดลงเป็นสเต็ป จนเหลือไว้เฉพาะสิ่งที่จำเป็นกับการสื่อสาร ในฝั่งขวาสุดเหลือเพียงรูปทรงสามเหลี่ยมและวงกลมต่างสี แต่ก็ยังเข้าใจได้ เราสังเกตเห็นอะไรในกระบวนการนี้?

เวลาใช้สิ่งของในชีวิตประจำวัน เคยสังเกตมั้ยว่ามือของเราท่าทางเป็นอย่างไร? วีดีโอที่ฉายลงบนโต๊ะจึงเหลือไว้ให้เห็นแค่ ‘มือ’ และ ‘ท่าทาง’ ของการหยิบจับใช้งานสิ่งของต่างๆ กำ  กด บีบ รูด ฯลฯ เพื่อให้เราสังเกตความแตกต่างได้ง่ายขึ้น เด็กๆ ที่มารุมโต๊ะทั้งสนุกกับการทายว่านี่คือท่าทางของการทำอะไร แถมได้ลองทำท่าตามมือในวีดีโอไปด้วย

Interactive Media ชิ้นนี้ทั้งมนุษย์เด็กและมนุษย์ผู้ใหญ่ต่อคิวเยอะเป็นพิเศษ เพราะเมื่อพิมพ์ชื่อของเราบนจอ ตัวอักษรชื่อของเราจะกลายเป็นอวัยวะบนใบหน้า ทุกคนเอ็นจอยกับการทำหน้าตาตลกๆ พร้อมเห็นชื่อ (ที่กลายเป็นหน้า) ของตัวเองขยับยุกยิกตาม ระหว่างสนุกยังได้บทเรียน เรื่อง identity ไปโดยอัตโนมัติ

Design Ah!

บรรจุภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน ถูกเอาลวดลายผิวนอกออกจนเหลือเป็นสีขาว ตั้งคำถามว่ารูปทรงสามารถบอกเราได้มั้ยว่าแต่ละชิ้นคืออะไร

Design Ah!

สังเกตความแตกต่างของปริมาณและปริมาตรผ่านวิธีการของเอนิเมชันยุคแรก โดยใช้แสงไฟกระพริบ

Design Ah!

ทดลองผสมไอคอนบนป้ายบอกทางเป็นของตัวเอง เพื่อเรียนรู้ว่าสัญลักษณ์สื่อสารกับเรายังไง?

โซนนี้พาไปสังเกต ‘ตัวอักษร’ (ซ้าย) ชิ้นนี้ว่าด้วยระยะห่างในการมอง ถ้ามองไกลจะเห็นภาพ แต่ถ้ามองใกล้จะเห็นคำ (ขวา) อีกชิ้นเอาตัวอักษรญี่ปุ่นมาขยายตั้งแต่ใหญ่เบิ้ม และหดเล็กจนต้องใช้แว่นขยายส่อง

ทุกชิ้นใน The Observation Room ไม่มีการสรุป และปราศจากคำตอบว่าแต่ละชิ้นกำลังให้บทเรียนเรื่องอะไร แค่เราใช้เวลาสังเกตแบบละเอียด ทำความเข้าใจแบบเป็นขั้นเป็นตอน และตอบให้ได้ว่าตัวเองกำลัง ‘เห็น’ อะไร

นี่ละ! จุดเริ่มต้นบทที่หนึ่งของการออกแบบ

The Immersion Room

 

ผ่านไปยังห้องต่อไป ยกระดับความครึกครื้นไปอีกขั้น ทันทีที่ก้าวเข้าไปใน The Immersion Room ภาพที่เห็นคือคนดูทั้งนั่งทั้งนอนเล่นเต็มพื้น ในห้องที่ผนังทั้งสี่ด้านคือจอที่ล้อมรอบเราตามชื่อห้อง สิ่งที่ปรากฏในจอคืองาน audio / visual ที่เล่าเนื้อหาการออกแบบ โดยใช้ ‘ภาพ’ กับ ‘เสียง’ ด้วยวิธีการนำเสนอที่ทั้งอัจฉริยะและเรียกเสียงฮาจนห้องไม่เคยเงียบ

(ดูวีดีโอฉบับรายการทีวีได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=YIB9rw93TGQ)

อย่างวิดีโอชิ้นนี้ เล่าเรื่องนามธรรมเข้าใจยากอย่างพลังงานที่ทำให้สิ่งของรอบตัวเคลื่อนไหว พี่แกก็จับภาพวิดีโอของพลังงานรูปแบบต่างๆ แรงโน้มถ่วงโลก แรงของแม่เหล็ก  แรงลมของเครื่องดูดฝุ่น ฯลฯ และยกวงประสานเสียงมาร้องในจังหวะและทำนองตามการเคลื่อนไหวแต่ละรูปแบบ ออกมาเป็นความฮาแบบหน้าตายที่อธิบายไม่ถูก

หรือวิดีโออีกตัว ที่จับเสียงร้องคำว่า ‘Ah!’ จากหลากเพศหลายวัยที่มีน้ำเสียงและโทนเสียงต่างกันมามิกซ์เป็นเพลง โดยที่ภาพบนจอรอบตัวเราคืออักษรญี่ปุ่นคำเดียวกันที่มี Texture และการเคลื่อนไหวสอดคล้องไปกับน้ำเสียง ถ้านึกภาพไม่ออก ลองดูวิดีโอแล้วกัน

(ดูวีดีโอฉบับรายการทีวีได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=LZH_-lINwYk)

The Imagination Room

 

ส่วนสุดท้ายของนิทรรศการคือส่วนที่เล่าเนื้อหานามธรรมที่สุด – ‘จินตนาการ’ The Imagination Room หยิบสามจินตนาการที่เป็นตัวกำหนดและควมคุมมนุษยชาติ อย่าง เวลา พื้นที่ และการเคลื่อนไหว มาเล่าให้เข้าใจคอนเซ็ปต์ผ่านการ ‘เล่น’ และน่าแปลกใจว่าห้องที่ดูเข้าใจยากที่สุด กลับเป็นห้องที่คนดูเล่นกันสนุกที่สุด

โซนที่ชอบที่สุดคือ ‘เวลา’  เวลาเป็นสิ่งที่ไม่มีจริง สร้างขึ้นจากจินตนาการ แต่กลับกลายเป็นกฏเกณฑ์กำหนดชีวิตมนุษย์โลกได้ยังไง ผนังแรกของโซนนี้ พาเราไปดู ‘รูปทรง’ ที่เราใช้ในการรับรู้ และสื่อสารจินตนาการในเรื่อง ‘เวลา’  ผนังนี้ชื่อ The Shape of Time

Design Ah!

อีกชิ้นหนึ่งในโซนเวลา ถามเราว่า ความ ‘ช้า’ และ ‘เร็ว’ คืออะไร และมันมีอยู่จริงมั้ย?

Fast Ah ! กล้องจิ๋วสิบตัว แต่ละตัวจับที่ตัวอักษร Ah! ที่เอียงในองศาต่างกัน บนจอนำภาพจากกล้องสิบตัวมาฉายเรียงกันด้วยความ ‘เร็ว’ เทคนิคเดียวกับเอนิเมชัน กลายเป็นภาพตัวอักษร Ah! ที่โยกไปมา ‘ช้าๆ’

ในขณะที่ชิ้นข้างๆ อย่าง Slow Ah! จับภาพตัวอักษร Ah! บนผนัง ที่โยกช้าๆ จนรู้สึกเหมือนหยุดนิ่ง ใช้กล้องอีกตัวจับภาพและนำมาเล่นแบบเร่งสปีด เราจึงเห็นว่าตัวอักษรกำลังโยกไหวไปมา

‘ช้า’ หรือ ‘เร็ว’ เป็นเพียงจินตนาการ และขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังวัดความช้าและเร็วกับอะไร เช่นเดียวกับนิยามของใกล้และไกล

ห้องสุดท้ายในนิทรรศการ เป็นห้องที่ทั้งเด็กจริงๆ และผู้ใหญ่ที่อยากกลับไปเป็นเด็กชั่วขณะต่อคิวเล่นมากที่สุด โซนนี้ว่าด้วย ‘การเคลื่อนไหว’ ที่นิทรรศการพาเราไปเรียนรู้รูปแบบการเคลื่อนไหวที่ก่อให้เกิดพลังงานอย่างเฟือง ด้วยการลองเป็นเฟืองดูสักตั้ง!

พ่อแม่ลูก หนุ่มสาว ไปจนถึงคุณย่าคุณยายต่างต่อคิวรอสวมบทเป็นเฟือง ทดลองเอาตัวเองไปหมุนสร้างแสงไฟ เสียงดนตรี และแน่นอน คือเสียงหัวเราะ ที่ดังออกมาโดยไม่ต้องพึ่งพากลไกใดๆ

สามชั่วโมงในนิทรรศการให้ความรู้สึกคล้ายกินขนมรสช็อคโกแลต รสชาติเอร็ดอร่อยเคลือบเมล็ดพันธุ์แห่ง ‘ดีไซน์’  ไว้ข้างใน ให้เราเผลอกลืนกันไปแบบไม่รู้ตัว และแน่นอน เราเชื่อว่าเมล็ดพันธุ์นี้ก็ได้เข้าไปอยู่ในตัวเด็กญี่ปุ่นคนนั้น ที่เพิ่งวิ่งผ่านเราไปยังประตูทางออก สู่ส่วนสุดท้ายของนิทรรศการที่เปิดให้ทุกคนวาดภาพ ‘อนาคต’ ของตัวเอง ต่อยอดจากตัวอักษร Ah!

Design Ah!

ทำไมขนมญี่ปุ่นถึงดังไปทั่วโลก แถมน่ารักน่ากินยันห่อ

ทำไมอาหารหน้าตาเรียบง่ายอย่างซูชิจึงเป็นเมนูที่ทุกคนปรารถนา

ทำไมระบบรถไฟที่นี่จึงขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในโลก

ทำไมบ้านเล็กๆ แคบๆ จึงเต็มไปด้วยฟังก์ชั่นในทุกตารางนิ้ว

ทำไมเทคโนโลยีกว่าครึ่งที่เราใช้กันในโลก จึงกำเนิดขึ้นจากเกาะเล็กๆ นี้

และทำไมคนญี่ปุ่น จึงภูมิใจกับชาติตัวเองกันนัก

หลังเดินออกจาก Design Ah! คำถามเหล่านี้ที่เคยสงสัยก็พลันคลายหายไป เพราะรู้ว่า หากเราสามารถไขเปิดสมองคนญี่ปุ่นออกดู ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นพ่อครัว  คนขับรถไฟ ช่าง ศิลปิน นักธุรกิจ หรือนายกรัฐมนตรี เราจะพบกับต้นไม้แห่ง ‘ดีไซน์’ ยืนต้นสง่างามอยู่ข้างใน

‘ดีไซน์’ สร้างคน และคนเหล่านั้นแหละที่จะทำให้ญี่ปุ่นยังคงเป็น ‘ที่สุดในโลก’ ต่อไปในวันพรุ่งนี้

เมล็ดพันธุ์ Design Ah! ไม่ได้ปลูกเพียงอนาคต แต่ยังย้อนกลับไปบำรุงรากของอดีต ตลอดนิทรรศการ เราจะเห็นข้าวกล่องเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น เมนูอาหารประจำชาติ ผลิตภัณฑ์ที่ญี่ปุ่นคิดค้น ตราประทับและตัวอักษรญี่ปุ่น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แฝงโปรยไว้อย่างไม่ยัดเยียด ระหว่างที่เด็กๆ ตื่นเต้นกับของใหม่ ก็ยังภูมิใจกับของดั้งเดิมไปด้วย

กลับมายืนมองจากมุม Third Eye View จากประเทศของเรา

ประเทศญี่ปุ่น และนิทรรศการ Design Ah! อาจเป็นคำตอบที่รูปธรรมที่สุด

สำหรับใครที่เคยตั้งคำถามว่า ‘การออกแบบ’ จะช่วยพัฒนาประเทศของเราได้ยังไง


Illustrated by ภาพิมล หล่อตระกูล

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save