fbpx
เกาะคุก จับแพะ และเผด็จการ : กว่าประชาธิปไตยจะปักหลักบนเกาะไต้หวัน

เกาะคุก จับแพะ และเผด็จการ : กว่าประชาธิปไตยจะปักหลักบนเกาะไต้หวัน

 นิติธร สุรบัณฑิตย์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ทันทีที่คะแนนเสียงของ ‘ไช่ อิง เหวิน’ และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ทยอยทิ้งห่างพรรคคู่แข่งหรือ ‘กั๊วมินตั๋ง’ อย่างก้าวกระโดด เสียงขับขานชื่อ “เสี่ยวอิง เสี่ยวอิง เสี่ยวอิง” (หรือ ‘ไช่อิงเหวินน้อย’ ในภาษาจีน) จากผู้สนับสนุนก็ดังเซ็งแซ่ทั่วบริเวณ ตอกย้ำชัยชนะการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์

คำว่า ‘นอนมา’ ถูกใช้อธิบายความเป็นไปได้ของการรักษาเก้าอี้ประธานาธิบดีอีกครั้งของ ‘ไช่’ จากการประเมินภูมิทัศน์ทางการเมืองและปัจจัยภายนอก ขณะที่ ‘แลนด์สไลด์’ กลายเป็นพาดหัวข่าวนำเสนอภาพปรากฏการณ์ “อนาคตไต้หวันควรตัดสินโดยคนไต้หวัน” อย่างกระชับ และตรงไปตรงมามากที่สุด

อะไรทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้สำคัญ เป็นคำถามที่ได้รับการตอบโดยการปฏิบัติ เมื่อชาวไต้หวันกว่าร้อยละ 75 ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง มากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าเกือบร้อยละ 9 ขณะที่คะแนนเสียงที่มีต่อ ‘ไช่’ เพิ่มมากกว่า 1.3 ล้านคะแนน ทั้งที่เธอถูกโจมตีในฐานะ ‘ประธานาธิบดีไอแพด’  ผู้บริหารความสัมพันธ์ช่องแคบล้มเหลว จนส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย ‘ไช่’ ยังกลายเป็น “เด็กหัวรั้น และก้าวร้าว” ในสายตารัฐบาลจีน ที่รุกคืบประกาศรวมชาติอย่างแข็งกร้าวในนาม ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’

แคมเปญต่อต้าน ‘ฉันทามติ 1992’ (ทั้งโลกมีจีนเพียงหนึ่งเดียว จีนปักกิ่ง และจีนไต้หวัน ต่างเป็นจีน) ถูกไช่ และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าปฏิเสธ เธอยืนกราน ‘การมีอยู่ของไต้หวัน’ ยาแรงนี้สั่นคลอนไปถึงรัฐบาลจีน และออกพิษรุนแรง หลังชาวไต้หวันสนับสนุนเธออย่างถล่มทลาย แม้รัฐบาลจีนปักกิ่ง หรือคนไต้หวันหลายคนเองก็อาจไม่คาดคิดเจตจำนง ‘เลือกไช่ ไม่เอาจีน’ จะถูกส่งเสียงก้องโลกอย่างทรงพลังเช่นนี้

ประชาธิปไตยทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้

กระบวนการประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้สารนี้ไปถึงจีนและชาวโลก หักหาญความพยายามรวมชาติให้ไกลห่าง แยกความ ‘เป็นเขา-เป็นเรา’ ให้เด่นชัด ผลักไต้หวันไปไกลเกินกว่าหนึ่งประเทศสองระบบ เช่นเดียวกับสังคมภายในไต้หวันเอง ประชาธิปไตยยังสร้างความโดดเด่น จนขึ้นชื่อว่าเป็นสังคมประชาธิปไตยคุณภาพ ‘ไช่’ เองย้ำข้อเท็จจริงนี้ผ่านการประกาศต่อผู้สนับสนุนในค่ำคืนวันนั้นว่า “การเลือกตั้งทำให้คุณค่าประชาธิปไตยงอกงามในทางปฏิบัติ ทำให้โลกเห็นว่า ไต้หวันรักประชาธิปไตยมากเพียงใด”

สำหรับคนไต้หวันและการเมืองภายใน คุณูปการสำคัญอาจเป็นเพราะ ‘ไช่’ ที่ตอบโจทย์ความต้องการอย่างพอเหมาะพอเจาะว่าพวกเขาต้องการอะไร หรือแม้กระทั่งอยากเป็นอะไร ทว่าคนภายนอก มันคือบทเรียนที่สะท้อนการทำงานของประชาธิปไตย ที่เฟ้นหาเจตจำนง ส่งผ่านมวลความคิดอย่างแรงกล้าและแน่วแน่  สิ่งนี้ยังถูกขายเป็นความคิดสำหรับผู้นิยมไต้หวันผ่านวลีที่ว่า “เรียนรู้ไต้หวัน คือ เรียนรู้ประชาธิปไตย และปกป้องไต้หวัน คือ ปกป้องประชาธิปไตย”

คำถามสำคัญคือ ไต้หวันผลักดันเครื่องมือสำคัญอย่างประชาธิปไตยจนงอกเงยและสำเร็จได้อย่างไร ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์บอกเราว่า ไม่ง่ายที่จะตอบคำถามข้อนี้ ความเป็นจริงกลับแลกด้วยโศกนาฏกรรม บาดแผล และการสูญเสียผู้คนจำนวนมาก เป็นราคามหาศาลที่ผู้คนบนเกาะนี้ต้องจ่ายเพื่อสร้างประชาธิปไตย จากสังคมอำนาจนิยมที่เกาะกินดินแดนแห่งนี้ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ ดินแดนที่ครั้งหนึ่งเคยประกาศกฎอัยการศึกยาวนานที่สุดในโลก

รอยต่อแห่งประวัติศาสตร์ สร้างรอยร้าวของผู้คน บาดแผล ความหลัง และการดิ้นรนในมุมหนึ่งที่เราไม่เคยรู้ จนทำให้ไต้หวัน เป็นไต้หวันทุกวันนี้ และจะไม่กลับไปเป็นเช่นนั้นอีก

 

เกาะคุก
“เราขนหิน เพื่อสร้างกำแพงขังพวกเราเอง”

 

เกาะคุก ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่มาภาพ East Coast National Scenic Area
เกาะคุก ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่มาภาพ East Coast National Scenic Area

 

21 ไมล์จากฝั่งเมืองไถตง (臺東市) เมืองตะวันออกเฉียงใต้ของไต้หวัน คลื่นทะเลแปซิฟิกโหมพัดกระหน่ำเกาะขนาด 16 ตารางกิโลเมตรไม่เว้นแต่ละวัน ทว่ายามทะเลร่มลมสงบ อัญมณีงดงามกลางทะเล คอยต้อนรับผู้มาเยือนไม่เกี่ยงชาติและเผ่าพันธุ์ เรากำลังพูดถึง ‘เกาะเขียว’ หรือ ‘Green Island’ ภาษาจีนดั้งเดิมใช้คำว่า ‘綠島’ (Lü-dao-หลู้ว-เต่า) คำว่า ‘綠’ แปลว่า ‘เขียว’ ส่วน ‘島’ แปลว่า ‘เกาะ’  ชาวฮกเกี้ยน จะเรียกที่นี่ว่า ‘Lek-to’ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในพื้นที่ ‘อามิส’ เรียกที่นี่ว่า ‘ซามะ ซานะ’

เนินเขา บ่อน้ำร้อน และทุ่งหญ้ากว้าง ตัดสลับทะเลสีฟ้าคราม ดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักดำน้ำมาที่นี่ทุกปี แม้ว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่ที่คนจำนวนหนึ่งไม่อยากมา หากเปรียบที่นี่เป็นอัญมณี ก็คงเป็นอัญมณีที่ประกอบร่างด้วยความเจ็บปวดรวดร้าวมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไต้หวัน

 

เกาะแห่งความปวดร้าว  

ในอดีต เกาะเขียวเป็น ‘ศูนย์กักกันและปรับทัศนคติ’ ภายใต้หน่วยรักษาความมั่นคงภายในมณฑลไต้หวัน (สมัยนั้น ไต้หวันนับเป็นมณฑลหนึ่งของสาธารณรัฐจีน) สำหรับคุมขังนักโทษทางการเมืองและสายลับคอมมิวนิสต์ในยุคการปกครองของจีนคณะชาติ หรือ กั๊วมินตั๋ง  (中國國民黨) โดยจอมพล ‘เจียงไคเช็ก’ ซึ่งถอยร่นลี้ภัยจากจีนแผ่นดินใหญ่มายังเกาะไต้หวันใน พ.ศ.2494 หลังสูญเสียอำนาจเหนือแผ่นดินจีนให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ ‘เจียง’ ประกาศกฎอัยการศึกบังคับชาวจีนผู้อพยพ (คนนอกมณฑล) และชาวเกาะไต้หวันเดิม (คนในมณฑล) อย่างเข้มงวด หากวิพากษ์วิจารณ์ ต่อต้าน เป็นสายลับคอมมิวนิสต์ หรือแม้กระทั่งผู้นิยมเอกราชไต้หวัน (ข้อหลังนี้เป็นสิ่งต้องห้าม ณ เวลานั้น เพราะต้องนิยมสาธารณรัฐจีน) จะถูกจับกุม และถูกส่งมาที่นี่เพื่อ ‘บำบัดและปรับทัศนคติ’

ความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์และอำนาจจากกฎหมายพิเศษ ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยกลายเป็น ‘แพะ’ พวกเขาได้แต่ก้มหน้าลงเรือจากท่าเรือจีหลง (เมืองทางตอนเหนือไต้หวัน ไม่ไกลจากจิวเฟิ่น แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทย) มุ่งหน้าสู่เกาะกลางทะเล สถานที่ที่พวกเขาไม่มีวันแม้แต่จะได้เห็น ‘น้ำทะเล’ เนื่องจากสถานกักกันถูกห้อมล้อมด้วยกำแพงหนาและสูง แม้ฟากฝ่ายจีนคณะชาติจะอ้างเหตุผลถึงการปกป้องภัยคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นภัยใหญ่หลวงมากกว่า ทว่าความกลัวดังกล่าวได้บีบคั้นและตัดทอนสายสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองใหม่กับชาวไต้หวันจำนวนหนึ่ง ผู้ต่อต้านและถูกจองจำหลายคน และนักการเมืองฝั่งตรงข้าม คือฟากฝั่งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือพรรคนิยมเอกราชไต้หวัน พรรครัฐบาลปัจจุบัน

หนึ่งในนักโทษที่เคยถูกคุมขังในเกาะนี้อย่าง ‘เฉิน ชิน เซิง (陳欽生)’ อดีตนักโทษการเมืองชาวมาเลย์ที่ตกเป็น ‘แพะ’ เล่าว่า

“…ขณะถูกขังที่นี่ ผมแทบเป็นบ้า แต่ผมพยายามประคับประคอง รอวันแห่งอิสรภาพ ตอนนั้นผมได้ฟังแต่เสียงคลื่น แต่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นว่ามันหน้าตาอย่างไร วันที่ผมพ้นโทษ ผมกลับไป มันเป็นทะเล มีชายหาดที่สวยและสงบมาก…”

ความสวยงามของทะเลและชายหาดย่อมเป็นส่วนหนึ่ง ทว่าตอนนั้น มันคือ สายลมแห่งอิสรภาพที่เขาได้รับอีกครั้ง

ในตอนแรก นักโทษเหล่านี้ต้องสร้างโรงเรือนและกำแพงด้วยตนเอง จนพวกเขาถึงกับมีประโยคตลกร้ายยอดฮิตว่า “เราขนหิน เพื่อสร้างกำแพงขังพวกเราเอง” กำแพงดังกล่าวสูง 2.5 เมตร และยังคงปรากฏทุกวันนี้ พร้อมกับข้อความ “อย่าลืมบทเรียน” ‘หรือ “ทำลายพวกคอมมิวนิสต์ และปลดแอกแผ่นดินใหญ่!”

ที่นี่นักโทษจะถูกแบ่งเป็น 3 แดน เข้ากระบวนการปรับทัศนคติและอุดมการณ์ ต่อมาถูกเรียกว่า ‘การไถ่บาป’ บางครั้งนักโทษต้องแสดงพฤติกรรมใหม่ หนึ่งในนั้นคือการอาสา ‘สักข้อความต่อต้านคอมมิวนิสต์และรัสเซีย’ สถานกักกันนี้ถูกปรับปรุงหลายครั้ง จนมาสู่ชื่อใหม่ว่า ‘Oasis Villa’ เช่นเดียวกับนักโทษผลัดเปลี่ยนรุ่นสู่รุ่น ต่างกันตรงที่หลายคนไม่ได้สัมผัสอิสรภาพอีกเลย ชีวิตของพวกเขาจบสิ้นลงที่นี่ (ว่ากันว่ามีนักโทษเกินกว่า 2,000 คน ซึ่งมากกว่าประชาชนที่อาศัยในเกาะนั้น)

เกาะเขียว และสถานบำบัดนี้ ถูกปิดลับจากโลกภายนอก เมื่อรัฐบาลจีนคณะชาติขณะนั้น ปฏิเสธการมีอยู่ของนักโทษการเมืองในไต้หวัน แม้จะมีรายงานและกลิ่นเล็ดลอดไปยังประชาคมโลกอยู่เนืองๆ จนเมื่อรัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึกปลายทศวรรษ 2520 กลิ่นอายอิสรภาพก็ทยอยอ้าแขนรับนักโทษการเมืองผู้คิดต่าง ผู้ซึ่งจำนวนไม่น้อยคือ ‘แพะ’ จากกระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลวและสังคมเผด็จการ ณ เวลานั้น

 

เกาะคุก ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่มาภาพ East Coast National Scenic Area
ภาพโดย นิติธร สุรบัณฑิตย์

 

บาดแผลนี้ส่งผลให้ชาวไต้หวันจำนวนหนึ่งยังคงโกรธแค้นเจียงไคเช็ก บ้างก็ว่าพวกเขาเป็นเพียง ‘คนนอกมณฑล’ ที่ไม่ได้ต่างอะไรกับจักรวรรดิญี่ปุ่น ชาวต่างชาติผู้เคยปกครองและลิดรอนสิทธิคนในเกาะนี้กว่า 50 ปี บ้างก็ว่าเป็นเผด็จการทหารผู้โหดเหี้ยม ไม่ได้สัดส่วนกับความพยายามปกป้องสาธารณรัฐจีนจากภัยคุกคามคอมมิวสต์ (ปัจจุบันยังมีนักศึกษาโกรธแค้น จนขาม้าของอนุสาวรีย์เจียง ที่มหาวิทยาลัยการเมืองแห่งชาติไต้หวันถูกตัดเมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่ข้อถกเถียงเรื่อง ‘เจียง’ ยังเป็นประเด็นร้อนแรงจนถึงปัจจุบัน)

ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เปลี่ยนจากเรื่องที่เคยถูก ‘ทำให้ลืม’ สู่ ‘ทำให้รู้’ และ ‘ทำให้จำ’

เกาะคุก จับแพะ และเผด็จการ : กว่าประชาธิปไตยจะปักหลักบนเกาะไต้หวัน
ที่มาภาพ Central News Agency Taiwan และ Memorial Foundation of 288

 

เฉิน ชิน เซิง จากมาเลเซีย สู่คุก 12 ปีในไต้หวัน
‘แพะ’ ผู้ยังคงเฝ้าเรือนจำถ่ายทอดบทเรียนอยุติธรรม

 

เฉิน ชิน เซิง
เฉิน ชิน เซิง

 

แม้ไต้หวันจะเป็นประเทศประชาธิปไตยและยึดหลักพื้นฐานสิทธิมนุษยชนอันดับต้นๆ ของเอเชีย แต่ในช่วง ‘รอยต่อของประชาธิปไตย’ ไต้หวันเองก็มีรอยด่างของประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นหลังต้องเรียนรู้และจดจำ

เฉิน ชิน เซิง (陳欽生) หรือ  Fred Chin Him‐San  หนุ่มมาเลย์อนาคตไกลสู่ชีวิต 12 ปีในคุกการเมืองไต้หวัน จากดินแดนแห่งโอกาสและชีวิตใหม่ กลับกลายเป็นเกาะที่เขาบอกว่า “เลวร้ายกว่าความตาย” หลังจากถูกจองจำในฐานะ ‘นักโทษการเมือง’ ในห้วง ‘ความน่าสะพรึงกลัวสีขาว’ รอยต่อที่กลายมาเป็นบทเรียนให้กับพัฒนาการประชาธิปไตยในไต้หวันจนเข้มแข็งทุกวันนี้

เฉิน เป็นอดีตนักโทษการเมืองในสมัยรัฐบาลจีนคณะชาติ เดิมเป็นเด็กหนุ่มชาวจีนมาเลย์จากเปรัก (Perak) มาเลเซีย ข้ามน้ำข้ามทะเลในฐานะ ‘ชาวจีนโพ้นทะเล’ มาศึกษาต่อปริญญาด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง เมืองไถหนาน ทางตอนใต้ของไต้หวัน ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2510 เขาไม่ต่างจากชาวจีนมาเลย์คนอื่น ที่มองว่าเกาะกลางแปซิฟิกเป็นโอกาสใหม่ของชีวิต

ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาที่เฉินใช้ได้คล่องแคล่ว ผิดกับภาษาจีนกลางที่เขาใช้ไม่ถนัดนัก เฉินจึงใช้วิธีอ่านตำราฉบับภาษาอังกฤษเป็นทางออก เพื่อช่วยประคับประคองการศึกษาให้เดินต่อไปได้ เขาจึงเข้าออกหน่วยข่าวสารของสหรัฐฯ (United States Information Service) แทบทุกวัน เนื่องจากที่นั่นมีบริการหนังสือ และตำราภาษาอังกฤษมากมาย

ในวันที่ระบบยุติธรรมล้มเหลว และกฎอัยการศึกถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวด เด็กหนุ่มมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 3 เดินทางเข้าออกหน่วยงานต่างประเทศเพียงเพื่อจะทำการบ้านให้เสร็จ กลับถูกเจ้าหน้าที่กองบัญชาการสอบสวนกลางไต้หวัน มองว่าเขาเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดพยายามวางระเบิดหน่วยข่าวสารของสหรัฐฯ ในปี 2514 ข้อกล่าวหานี้ ทำให้เขาเป็นเสมือนกลุ่มนักศึกษาที่พยายามก่อจลาจล ต่อต้านระบอบการปกครอง และมีท่าทีเป็นคอมมิวนิสต์

เจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออำนาจอยู่เต็มมือในนามกฎอัยการศึก ระหว่างข่าวลือสายลับจีนแดงแทรกซึมปกคลุมทุกหนแห่ง เฉินถูกนำตัวมาไทเป ไปที่เซฟเฮาส์แห่งหนึ่ง ถูกซ้อมทรมานและบังคับให้รับสารภาพถึง 3 สัปดาห์ แต่ไม่ได้ผล เฉินในวันนั้นปวดร้าวและอยากกลับบ้าน เขาพยายามฆ่าตัวตาย 3 ครั้ง ทว่าเขาได้รับข้อเสนอจากเจ้าหน้าที่รัฐให้เขียนจดหมายฉบับหนึ่ง เพื่อแลกกับการกลับบ้าน และยุติการซ้อมทันที

“เหตุการณ์นี้เลวร้ายมาก ผมไม่มีทางเลือก ต้องยอมทำทุกวิถีทางเพื่อกลับบ้าน และให้เขายุติการซ้อม ลึกๆ ผมยังมีความหวังเสมอว่าปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้น และจะได้กลับบ้าน”

จดหมายดังกล่าวมีเนื้อความยอมรับว่า ในวัย 16 ปี เขาเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา และเดินทางมาไต้หวัน เพื่อต่อต้านระบอบการปกครองของจีนคณะชาติ แทนที่จดหมายรับสารภาพเหตุการณ์วางระเบิด วินานั้นเขาไม่มีทางเลือก จะยอมรับเพื่อกลับบ้าน หรือถูกซ้อม หรืออาจถูกบังคับให้สูญหาย ศาลทหารมีคำพิพากษาให้เฉินต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 12 ปี หลักฐานชิ้นสำคัญคือคำสารภาพ (กรณีแบบนี้ ไม่ต่างจากผู้ต้องโทษรายอื่น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถหาหลักฐานใดมาเอาผิดได้ กระบวนการยุติธรรมชั้นต้นมีปัญหา เกิดการบังคับให้รับสารภาพ)

เฉินเริ่มชีวิตในฐานะนักโทษในคุกจิ๋งเหม่ย เมืองนิวไทเปซิตี้ และเป็นที่ตั้งศาลทหารในขณะนั้น (ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน) จากนั้นถูกส่งตัวลงเรือมายังเกาะเขียวเพื่อจองจำ

วันเวลาแห่งการจองจำ เขาคิดถึงแม่ และแผ่นดินแม่

เฉินในวันนั้นไม่รู้เลยว่า ผู้เป็นแม่กำลังดั้นด้นทุกวิถีทางเพื่อตามหาลูกชายที่สาบสูญ แม่ผู้ตั้งปณิธานว่า จะไม่กลับไปมาเลเซียหากไม่เจอลูกชาย แม่ผู้ไม่รู้ภาษาจีนกลาง และไม่ได้มีฐานะร่ำรวย เดินทางออกตามหาลูกชายเพียงผู้เดียว และล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน จนวันแห่งปาฏิหาริย์มาถึง

“ผมมองไปไกลๆ เห็นผู้หญิงแก่ตัวเล็กๆ รออยู่มุมประตู ตรงข้ามกระจก ผมไม่ทราบว่าเธอเป็นใคร ในขณะที่เท้าหุ้มโซ่ตรวนกำลังก้าวไปข้างหน้า หน้าของผู้หญิงคนนั้นก็ชัดเจนขึ้น เป็นใบหน้าคนเดียวกันกับที่ผมเจอตอนแรกเกิด” ฉินสั่นเทา และน้ำตาคลอ

“…แม่ผมเคยสวยมาก แต่ตอนนี้ซูบผอม เราต่างจ้องมองหน้ากัน ผมพูดอะไรไม่ออก ตอนนั้นแม่ของผมยกมือขึ้นแตะที่กระจกใส เพียงเพื่อต้องการสัมผัสตัวผม และรับรู้ว่าเป็นผมจริงๆ มันอาจเป็นช่วงเวลาที่ผมได้เข้าใกล้แม่ที่สุด มากกว่าตอนที่ยังอยู่ด้วยกันด้วยซ้ำ”

ทันทีที่จากกันกับแม่ เฉินล้มลงและร้องไห้ฟูมฟาย เป็นวินาทีที่เขาจดจำในฐานะเรื่องราวสำคัญที่สุดในชีวิต 12 ปีในคุกที่นี่ และทำให้เขาใช้ชีวิตอยู่อย่างมีหวัง เพื่อรออิสรภาพ เฉินบอกว่า นี่เป็นสาเหตุที่เขามักบอกเด็กนักเรียนประถมศึกษา หรือมัธยมศึกษาที่มาทัศนศึกษาว่า จงอยู่กับครอบครัวของตัวเองให้ได้มากที่สุด ขณะที่ผู้เยี่ยมชมที่มีอายุมากกว่ากว่านั้น เขาจะพูดคุยเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ซับซ้อนกว่า

เหนือสิ่งอื่นใด เฉินกลับเลือกที่จะใช้ชีวิตต่อในแผ่นดินไต้หวัน แผ่นดินที่สร้างบาดแผลและน้ำตาให้กับเขา เพียงเพื่อบอกเล่าบทเรียนครั้งสำคัญในคนภายนอกรับรู้ ให้บาดแผลและความทรงจำของตนเองเป็นประโยช์ต่อผู้อื่น

“ ผมยังคงอยู่ที่นี่ทุกวัน มันทำให้ผมมีชีวิตที่มีคุณค่า เป็นหน้าที่ที่จะลบล้างความทรงจำอันเลวร้าย ด้วยการสร้างคุณค่าแก่ความทรงจำนั้น ให้อภัยและมอบบทเรียนให้คนรุ่นใหม่ ปลดปล่อยความโหดร้าย และสร้างความหวังว่าอนาคตจะไม่เกิดขึ้นอีก”

ภาพแม่ของเฉิน (นั่งซ้าย) และเฉินในวัยหนุ่ม (ขวา) ที่มาภาพ upmedia.mg
ภาพแม่ของเฉิน (นั่งซ้าย) และเฉินในวัยหนุ่ม (ขวา) ที่มาภาพ upmedia.mg

 

เฉินในวัย 70 ปี ยังคงเป็นอาสาสมัครประจำที่พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน ผู้เสียสละตนเอง เฝ้ามอง และเป็นเชื้อไฟให้ประชาธิปไตยในไต้หวัน

“ แน่นอน สิ่งนี้จะเป็นผลดีต่ออนาคตประชาธิปไตยไต้หวัน คนรุ่นใหม่จะเลือกเดินอย่างไร เมื่อเขาเห็นความเลวร้ายทางประวัติศาสตร์ เขาจึงมีทางเลือกว่าความเลวร้ายที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้สังคมดีขึ้น และเราไม่ควรหันกลับไปเป็นแบบนั้นอีก”

หลังจากที่เฉินพ้นโทษ เขาเดินทางกลับไปมาเลเซียเพื่อเยี่ยมแม่และครอบครัว ภายหลังได้มอบใบรับรองวุฒิการศึกษาให้เธอสมความตั้งใจ แม้ใบปริญญานั้นจะมาช้าไปหลายปีก็ตาม เฉินแต่งงานกับหญิงชาวไต้หวัน มีลูก และใช้ชีวิตอยู่ที่ไต้หวันจนถึงปัจจุบัน

 

เฉินยังเป็นอาสาสมัครประจำที่พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน ที่มาภาพ National Museum of Human Rights
เฉินยังเป็นอาสาสมัครประจำที่พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน ที่มาภาพ National Museum of Human Rights

 

ปลดร่างกายใต้บงการ สร้างเสรีภาพจากความกลัว
‘เจิ้ง’ นักหนังสือพิมพ์ผู้เผาตัวเองเพื่อประชาธิปไตย

 

เจิ้ง หนาน หรง ที่มาภาพ Nylon Liberty Foundation
เจิ้ง หนาน หรง ที่มาภาพ Nylon Liberty Foundation

 

ที่บ้านย่านเขตเหวิ่นชาน เสียงประทัดและพลุดังกึกก้อง หลังสัปดาห์เทศกาลปีใหม่ ผู้คนในสังคมที่ได้รับการขนานนามว่า ดินแดนแห่งประชาธิปไตยเต็มใบ ต่างกุลีกุจอกลับบ้าน เพื่อเตรียมตัวเริ่มเช้าวันใหม่

กว่าจะมีไต้หวันในวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย การถอยร่นโบกมือลาแผ่นดินใหญ่เพื่อสร้างชาติ ก็มิใช่ภารกิจที่ทำเพียงครู่เดียวเสร็จ มากกว่านั้น พวกเขามีราคามหาศาลที่ต้องจ่ายตลอดเส้นทางประชาธิปไตย รวมถึงชีวิตของชาวไต้หวันจำนวนไม่น้อย

เติบโตบนบาดแผลและการสูญเสีย — เจิ้ง หนาน หรง (鄭南榕-Nylon Deng) ก็เช่นกัน เขาทิ้งลมหายใจ และมอบความหวังไว้ให้คนรุ่นหลังผ่านร่างที่ไหม้เกรียม และอนุสรณ์แห่งคราบน้ำตา

เจิ้ง เป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวไต้หวัน เขาเกิด พ.ศ.2490 เป็นปีเดียวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ 228 ในไต้หวัน และ 2 ปีก่อนจีนคณะชาติ โดยจอมพลเจียงไคเช็ก ลี้ภัยมายังไต้หวัน พร้อมประกาศกฎอัยการศึกปกครองทั่วดินแดน

เจิ้ง จึงเติบโตในยุคที่เรียกว่า ‘ความกลัวสีขาว’ (White Terror-白色恐怖 37 ปีแห่งบรรยากาศการเมืองที่ตีบตัน อันเนื่องจากการบังคับใช้กฎอัยการศึกของรัฐบาลขณะนั้น) ในสภาวะที่เสรีภาพอึดอัดและความจริงพร่ามัว มิได้ทำให้เด็กหนุ่มคนนี้ยี่หระต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ตรงกันข้ามกลับจุดประกายให้เขาทำในสิ่งที่เด็กหนุ่มควรทำ

ในปี 2527 ขณะที่การเมืองคุกรุ่น เขาก่อตั้งนิตยสารรายสัปดาห์ ‘ยุคแห่งเสรีภาพ’ (自由時代週刊) ด้วยปณิธานให้เป็นสิ่งพิมพ์ที่มีเสรีภาพการแสดงออกอย่างเต็มขั้น ในเวลานั้น มิเพียงสิทธิเสรีภาพสื่อถูกเพ่งเล็งและตรวจตราจากรัฐอย่างเข็มข้น แนวคิดการเมืองใดที่เบี่ยงเบนจากความต้องการของรัฐบาลจีนคณะชาติ ย่อมเป็นภัยต่อผู้คิดต่างเอง นั่นรวมถึงเจิ้ง ผู้สนับสนุนอย่างแรงกล้าให้ไต้หวันเป็นเอกราช พ้นไปจากการปกครองที่เขาเชื่อว่า ไม่ต่างจากเผด็จการทหาร

นิตยสารของเขาถูกสั่งห้ามตีพิมพ์หลายครั้ง แต่จนแล้วจนรอด เขาก็สามารถดั้นด้นตีพิมพ์ใหม่ได้ เนื่องจากเขาได้จดทะเบียนประกอบการสิ่งพิมพ์ไว้ประมาณ 18 ฉบับ เมื่อหัวใดหัวหนึ่งถูกแบนก็เป็นหน้าที่ของหัวที่เหลือ

เขายืนยันว่า “ความคิดต่างสามารถมีและเกิดขึ้นได้”

 

เจิ้งในบทบาทบรรณาธิการ ที่มาภาพ Nylon Liberty Foundation
เจิ้งในบทบาทบรรณาธิการ ที่มาภาพ Nylon Liberty Foundation

 

เพียง 5 ปีแห่งการยืนยันสิทธิและเสรีภาพ ท่ามกลางกฎอัยการศึก เขาถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น เป็นภัยต่อความมั่นคง หลังตีพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ ‘สาธารณรัฐไต้หวัน’ ในปี 2531 ลงนิตยสาร เจ้าหน้าที่ความมั่นคงออกหมายจับ ขณะที่เจิ้งเองปฏิเสธเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่เขามองว่าไม่ยุติธรรมตั้งแต่ต้น แม้ว่าขณะนั้น ‘เจี่ยงจิงกว๋อ’ (将经国) อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) บุตรชายของเจียงไคเช็ก จะประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก และเริ่มคลี่คลายความตีบตันทางการเมือง จนอนุญาตให้พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (民主進步黨) หรือพรรครัฐบาลปัจจุบันดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้

ในวันที่ 7 เมษายน ปี 2532 เจ้าหน้าที่ความมั่นคงบุกเข้าจับกุมเจิ้งในสำนักงาน หลังเขากระทำการอารยะขัดขืน กักบริเวณตนเองเป็นเวลา 71 วัน วินาทีนั้น เจิ้งตัดสินใจจุดไฟเผาตัวเอง เพื่อต่อต้านการยัดข้อหา เปลวเพลิงลุกโชนอย่างรวดเร็ว และโหมกระหน่ำจนร่างกายเขามอดไหม้

เจิ้งในวันนั้น เหลือไว้เพียงอิสรภาพ ความหวัง และเจตจำนงที่ปราศจากความกลัวใดๆ

เขาเสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ และผู้สังเกตการณ์ สถานีโทรทัศน์ฟาโมซ่า รายงานสถานการณ์นี้เช่นกัน

ในพิธีศพของเจิ้งเดือนถัดมา ‘จาน อี้ ฮั้ว’ หนึ่งในนักกิจกรรมผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในไต้หวันกระทำการอายะขัดขืน จุดไฟเผาตัวเองเช่นกัน หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดกั้นพิธีศพของเจิ้งที่ทำเนียบประธานาธิบดี

การพลีชีพดังกล่าวส่งผลให้สภาบริหาร (行政院 องค์กรบริหารของกิจการประเทศของไต้หวัน) ประกาศให้วันที่ 7 เมษายน เป็นวันเสรีภาพการแสดงออกของชาติ

‘เจิ้ง จู๋ เหมย’ ลูกสาวของเจิ้ง เตรียมออกหนังสือเรื่องราวของผู้เป็นพ่อ เพื่อระลึกถึงวีรกรรมอันน่ายกย่อง

 

ขบวนศพเจิ้ง ที่มาภาพ Taiwan People News
ขบวนศพเจิ้ง ที่มาภาพ Taiwan People News

 

แม้พัฒนาการประชาธิปไตยในไต้หวัน จะมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากพลพรรคผู้นำจีนคณะชาติ โดยเฉพาะหลังจอมพลเจียงถึงแก่อสัญกรรม ทว่าแรงบีบคั้นสำคัญมาจากผู้เสียสละ เหยื่อ และผู้สูญเสีย ที่มิยอมเพิกเฉยต่อสภาพความเลวร้ายที่เกิดขึ้น

ประวัติศาสตร์แห่งความเลวร้ายได้ผันผ่าน ชาวไต้หวันมีลมหายใจ สิทธิและเสรีภาพเต็มขั้น บนบาดแผลและการสูญเสีย การทำ ‘ให้รู้-ให้จำ’ และให้ความจริงปลดปล่อยสังคม ยังเป็นบทสรุปที่สำคัญต่อเส้นทางประชาธิปไตยในไต้หวัน หรือแม้แต่ชาติอื่นที่ยังคงดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้มา

บนความเชื่อที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นไปได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save