fbpx
ประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา

ประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมามีการแบ่งข้างของสองขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจน คือฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตยกับฝ่ายที่ต้องการสืบทอดอำนาจของ คสช. คำถามพื้นฐานที่เกิดขึ้นคือ ‘ประชาธิปไตยคืออะไร’ ดังนั้นในคราวนี้ผมจะนำเสนอแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยโดยสะท้อนบริบททางประวัติศาสตร์ของลาตินอเมริกา

คำนิยามอย่างกว้างของประชาธิปไตยหมายถึงรูปแบบการปกครองที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง แต่การตีความลักษณะอื่นก็มีอย่างหลากหลาย อาทิ กลุ่มอนุรักษนิยมฝ่ายขวาที่มีลักษณะเป็นชาตินิยมมักกล่าวอ้างว่าตัวเองก็เป็นประชาธิปไตยผ่านตัวแทนของกลุ่มชนชั้นนำของสังคม หรือกระทั่งคิวบาเองก็ประกาศตนว่าเป็น ‘สังคมนิยมประชาธิปไตย’ เพราะมีการเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าจะเป็นการเลือกตั้งของผู้สมัครที่ต่างก็มาจากพรรคการเมืองเดียวกันก็ตาม ในขณะที่กลุ่มกบฏฝ่ายซ้ายเหมาอิสต์ในเปรู Sendero Luminoso ก็ประกาศว่าจะสร้างประชาธิปไตยแบบใหม่ จะเห็นได้ว่าคำนิยามประชาธิปไตยนั้นมีได้หลายลักษณะมากกว่าคำนิยามกว้างๆ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น[1]

ข้อกังวลแรกเริ่มของการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาคืออย่างน้อยควรมีหลักการสำคัญที่เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยในฐานะระบอบการเมืองที่เป็นตัวแทนของเจตจำนงของประชาชนเป็นอย่างน้อย โดยผ่าน ‘กระบวนการ’ ต่างๆ อาทิ การเลือกตั้ง ‘กระบวนการ’ ทางประชาธิปไตยนั้นประกอบไปด้วยสถาบันทางการเมืองอย่างเป็นทางการและการเลือกตั้ง รวมทั้งกติกาที่เป็นสากลอย่างรัฐธรรมนูญ สะท้อนหลักการเป็นรัฐบาลที่มาจากปวงชนอย่างแท้จริง[2] หลักการขั้นพื้นฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นโดยการยึดโยงกับรัฐธรรมนูญ ประชาชนมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอย่างเสรีและไม่มีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรค การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมภายใต้กติกาที่เป็นกลาง การแข่งขันทางนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงหลักประกันว่าทุกฝ่ายจะต้องเคารพในผลของการเลือกตั้ง เพื่อให้กระบวนการทางรัฐสภาและการดำเนินงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

กระบวนการและหลักการดังกล่าวสะท้อนถึงเสรีภาพทางการเมืองในการมีส่วนร่วมและในการแสดงความคิดเห็น เป็นระบบตัวแทนที่เปิดกว้างเพื่อให้ครอบคลุมผู้ที่ออกเสียงเป็นส่วนใหญ่ (polyarchy) ตามแนวคิดของ Robert A. Dahl[3] ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยที่คำนึงถึงความเป็นพหุการเมืองที่เกิดจากการแข่งขันกันอย่างเสรีของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ดังนั้นด้วยกระบวนการและกติกาดังกล่าว ผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปสู่การเป็น ‘ประชาธิปไตย’ ในที่สุด

เป็นที่ยอมรับกันว่าการเลือกตั้งนั้นมีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย เพราะถือเป็นการสร้าง ‘ความชอบธรรม’ ให้กับผู้ชนะ รวมไปถึงกำหนดผู้ที่จะมาเป็นรัฐบาลที่ทำหน้าที่ปกครอง การเลือกตั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นผ่านการลงคะแนน โดยไม่เป็นการทำลายกติกาการปกครองที่เป็นบรรทัดฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของคนในสังคม นอกจากนั้นการเลือกตั้งยังสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนที่มีต่อนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่ลงแข่งขัน อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำมาซึ่งประชาธิปไตยที่มีคุณภาพได้ ในปัจจุบันมีข้อตระหนักว่าเราอาจได้ประชาธิปไตยที่ไม่มีคุณภาพ ถ้าการเลือกตั้งนั้นขาดการมีส่วนร่วม การแข่งขันที่บริสุทธิ์ยุติธรรม รวมไปถึงการโกงการเลือกตั้ง ดังที่เห็นอยู่ดาษดื่นในประเทศต่างๆ

ดังนั้นจึงมีความแตกต่างระหว่าง ‘ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง’ ที่ดำเนินการตามกระบวนการทางประชาธิปไตย กับ ‘เสรีประชาธิปไตย’ ที่เน้นถึงจิตวิญญาณเสรีที่คำนึงถึงเสรีภาพของปัจเจกบุคคล[4] อย่างไรก็ตาม ‘เสรีภาพ’ กับ ‘ประชาธิปไตย’ นั้นเป็นคนละประเด็นกัน ถึงแม้ว่าทั้งสองคำมักจะถูกใช้สลับไปสลับมา กล่าวคือถึงแม้ในบางกรณีจะมีเสรีภาพ แต่ก็อาจไม่เป็นประชาธิปไตยก็ได้ถ้าไม่เกิดการแบ่งสรรอำนาจอย่างเป็นธรรมอันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำที่ฝังลึกอยู่ในสังคม เช่นการเกิดความไม่เชื่อถือในระบอบประชาธิปไตยในกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองที่นำไปสู่การรัฐประหารในฮอนดูรัสในปี ค.ศ. 2009[5]

ดังนั้นทางเลือกในการอธิบายความหมายของกระบวนการทางประชาธิปไตยคือการนำปัจจัยทางสังคมเข้ามาผสมผสานกลายเป็น ‘สังคมประชาธิปไตย’ (Social Democracy) ที่มีฐานคติการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขระหว่างชนชั้นในรัฐที่เป็นทุนนิยมประชาธิปไตย ลักษณะคำนิยามประชาธิปไตยเช่นนี้มีความสอดคล้องกับลาตินอเมริกาซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความเหลื่อมล้ำในทุกมิติเป็นอย่างยิ่ง การเกิดขึ้นของรัฐบาลเอียงซ้ายเป็นจำนวนมากในลาตินอเมริกาที่มาจากการเลือกตั้งในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ปลุกจิตสำนึกของประชาชนให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคมที่อยู่ในขั้นวิกฤต

สังคมประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับมากกว่ากระบวนการในการได้มาซึ่ง ‘รัฐบาลประชาธิปไตย’ (Democratic Governance) โดยรัฐบาลในที่นี้หมายถึงการที่ขบวนการทางสังคมต่างๆ สามารถที่จะมีบทบาทและเป็นผู้ผลักดันนโยบายการดำเนินงานที่สำคัญในการบริหารทรัพยากรของประเทศ รัฐบาลที่ดีจะต้องมีความสามารถในการขับเคลื่อนประเทศ โดยมีที่มาด้วยความโปร่งใส เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบ รวมถึงการถอดถอน นอกจากนี้ยังดำเนินนโยบายบริหารประเทศที่มีประสิทธิภาพ เคารพในสิทธิมนุษยชนและความหลากหลาย การจะบรรลุธรรมาภิบาลได้นั้น ผู้ปกครองจะต้องมีหลักประกันใน ‘สิทธิ’ ของประชาชน โดยอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

แนวความคิดว่าด้วย ‘รัฐบาลประชาธิปไตย’ อธิบายถึงองค์ประกอบต่างๆ ของหลักการธรรมาภิบาลที่มักเกิดขึ้นภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อาทิ การมีความรับผิดชอบของผู้นำทางการเมือง การมีเสรีภาพในการเข้าร่วมชุมนุมอย่างสงบ การมีระบบยุติธรรมที่โปร่งใสตรวจสอบได้[6] ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลประชาธิปไตยยังหมายถึงการมีส่วนร่วมเป็นอย่างยิ่งของทั้งภาคการเมืองและภาคประชาสังคมในกระบวนการตัดสินใจเพื่อนำมาซึ่งนโยบายต่างๆ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันถึงแม้รัฐบาลส่วนใหญ่ในโลกจะประกาศตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย แต่การเป็นประชาธิปไตยนั้นไม่ได้หมายความรวมถึงจะต้องมีธรรมาภิบาลอยู่ด้วยเสมอไป[7] Fukuyama ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในปัจจุบันล้มเหลวในการก่อให้เกิดธรรมาภิบาลสมัยใหม่ เห็นได้จากการล่มสลายของแนวคิดเสรีประชาธิปไตยที่ปรากฏอยู่ทั่วโลก[8] นับตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษที่ 2000 นักวิจัยของธนาคารโลกได้จัดทำดัชนีของการบริหารรัฐเปรียบเทียบทั่วโลก ซึ่งได้ใช้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศต่างๆ มาทำการวิเคราะห์[9] ไม่ว่าจะเป็นการจัดการปัญหาคอร์รัปชัน ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการดำเนินนโยบาย หลักนิติธรรม การมีเสรีภาพของประชาชน และความรับผิดชอบของรัฐต่อการปฏิบัติงาน อนึ่งดัชนีของธนาคารโลกชี้ให้เห็นถึงความพยายามขององค์กรโลกบาลที่จะใช้เครื่องมือตัวชี้วัดเป็นมาตรฐานในการดำเนินงาน และยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทของสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศในการส่งเสริมแนวทางการบริหารรัฐอีกด้วย

ในช่วงเวลาไม่นานมานี้เอง ได้มีความพยายามทั้งจากส่วนกลางและที่สำคัญคือจากหน่วยงานท้องถิ่นในการส่งเสริมแนวคิด ‘ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม’ (Participatory Democracy) ให้เกิดขึ้นในลาตินอเมริกา และถือเป็นรากฐานสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญของเวเนซุเอลาในปี ค.ศ. 1999[10] ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมนี้ได้รับแรงผลักดันจากชนชั้นรากหญ้าในสังคม แตกต่างจากระบอบประชาธิปไตยอื่นที่ถูกกำหนดโดยชนชั้นผู้ปกครอง ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างรูปแบบของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมกับประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน (Representative Democracy) ที่ประชาชนมีความเชื่อมโยงน้อยกว่า[11] อย่างไรก็ตามไม่มีหลักประกันว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมจะบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ เช่นในเวเนซุเอลา อดีตประธานาธิบดี Hugo Chávez (1999-2013) พยายามผลักดันหลายโครงการตามแนวทางประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่จากการศึกษาประชาชนพบว่าตัวเองมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าวน้อยมาก นโยบายส่วนใหญ่ถูกกำหนดมาจากทำเนียบประธานาธิบดีแทนที่จะมาจากการปรึกษาหารือกับประชาชน[12]

นโยบายงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) ในบราซิลถือเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในนโยบายของรัฐ นอกจากนี้ยังมีปรากฏการมีส่วนร่วมในลักษณะดังกล่าวในเม็กซิโก โบลิเวีย ชิลี และอาร์เจนตินา[13] แม้กระทั่งในเวเนซุเอลาเอง ในสมัยของ Hugo Chávez ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องงบประมาณการศึกษาและการสาธารณสุข ถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในการพัฒนาประชาธิปไตยที่มีอยู่อย่างจำกัดในกรณีดังกล่าว[14]

เอกสารสำคัญที่ถือเป็นหมุดหมายสำหรับผู้สนใจพัฒนาการทางประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาคือ The Inter-American Democratic Charter ที่ได้รับการลงนามร่วมกันของประเทศสมาชิกในระหว่างการประชุมขององค์การรัฐอเมริกัน (The Organization of American States) ที่กรุงลิมา ประเทศเปรูในปี ค.ศ. 2001 อนุสัญญาฉบับนี้ถือว่าเป็นอนุสัญญาสำคัญที่สุดขององค์การรัฐอเมริกันนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมาในปี ค.ศ. 1948 สาระสำคัญของอนุสัญญาดังกล่าวนอกจากระบุไว้อย่างชัดเจนว่าประชาธิปไตยถือเป็นรากฐานของสังคมลาตินอเมริกาแล้วยังกำหนดให้รัฐทุกรัฐในลาตินอเมริกาต้องเคารพและยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย อนุสัญญายังได้ให้ความหมายของประชาธิปไตยไว้อย่างกว้างๆ อาทิ การมีการเลือกตั้งอย่างเสรี ธรรมเนียมปฏิบัติในระบอบประชาธิปไตย การแบ่งแยกอำนาจของรัฐเพื่อการถ่วงดุลและตรวจสอบ ความเป็นอิสระของพรรคการเมือง

นอกจากนี้เอกสารสำคัญอีกชุดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อผู้สนใจพัฒนาการทางประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา ได้แก่รายงานผลสำรวจคุณภาพประชาธิปไตยและอุปสรรคที่สำคัญในลาตินอเมริกาโดย The International Institute for Democracy and Electoral Assistance[15] ร่วมมือกับนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักวิเคราะห์การเมือง และผู้ปฏิบัติงานจริง รายงานฉบับนี้มุ่งศึกษากระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสาธารณรัฐโดมินิกันในปี ค.ศ. 1978 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสคลื่นลูกที่สามตามแนวคิดของ Huntington ในบริบทของลาตินอเมริกา รายงานของ IDEA ระบุว่าถึงแม้จะมีความหลากหลายอย่างมีนัยสำคัญในภูมิภาค แต่ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมาลาตินอเมริกาได้เผชิญกับช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของการพัฒนาประชาธิปไตย (ในบางกรณีการเริ่มต้นพัฒนาประชาธิปไตยไม่ได้มีเพียงครั้งเดียว เพราะในระหว่างนั้นเกิดการถอยกลับด้วยเช่นกัน) กว่าจะได้มาซึ่งการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม รวมถึงการตระหนักในคุณค่าของสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้รายงานฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นว่าประชาชนเกินครึ่งหนึ่งของภูมิภาคสนับสนุนประชาธิปไตย การเลือกตั้งกลายเป็นเครื่องมือของการเปลี่ยนถ่ายอำนาจที่ทรงอำนาจ ยิ่งไปกว่านั้น IDEA ระบุว่าในขณะที่มีความเห็นพ้องกันในความหมายของประชาธิปไตยในสังคมลาตินอเมริกาในปี ค.ศ. 2001 แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปในปี ค.ศ. 2014 กลับกลายเป็นว่าประชาธิปไตยในแต่ละประเทศต่างก็มีความหมายเฉพาะในตัวของมันเอง แม้ว่าการเลือกตั้งจะยังถือเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย แต่การจะเลือกอย่างไร ภายใต้กฏกติกาแบบไหน กลายเป็นเรื่องที่ประชาชนในแต่ละประเทศเห็นไม่เหมือนกัน

ขณะที่รายงานก่อนหน้านั้นหลายๆ ฉบับของ The United Nations Development Program[16] สรุปว่าลาตินอเมริกานั้นมีความเข้าใจร่วมกันในความหมายของประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในแต่ละภูมิภาคย่อย ไม่ว่าจะเป็นใน Central America, Andean Region หรือ The Southern Cone ที่ประกอบด้วยบราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัยและปารากวัย นับถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 กองทัพได้ออกไปจากสนามการเมืองในกลุ่มประเทศ The Southern Cone ขณะที่ประเทศในกลุ่ม Central America กำลังตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยควบคู่ไปกับความพยายามในการเจรจาสันติภาพ ในช่วงเวลาเดียวกันสำหรับประเทศในกลุ่ม Andean Region ต่างตกอยู่ในภาวะวิกฤตทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตย ในเม็กซิโกกว่าประชาธิปไตยจะหวนกลับคืนมาเต็มรูปแบบก็เกือบปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990 แล้ว

ความแตกต่างที่เกิดขึ้นดังกล่าวมีสาเหตุจากการที่แต่ละประเทศต่างก็เผชิญรูปแบบที่หลากหลายของการปกครองในระบอบเผด็จการที่ผ่านมาก่อนหน้า ส่งผลต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศขึ้นอยู่ว่าผ่านประสบการณ์ของการมีประชาธิปไตยมามากน้อยเพียงใด นักวิชาการอย่าง PérezLiñám และ Mainwaring ชี้ว่าขณะที่ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยจะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่ประเทศที่เคยมีประชาธิปไตยที่ลงหลักปักฐานมั่นคงในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 19001977 อาทิ ชิลี คอสตาริกา และอุรุกวัย ต่างก็มีระบอบประชาธิปไตยที่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน[17]

คอสตาริกาเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีระบอบประชาธิปไตยสืบเนื่องเข้มแข็งมาโดยตลอดนับตั้งสิ้นสุดสงครามกลางเมืองในปี ค.ศ. 1948 ขณะที่ชิลีและอุรุกวัยต่างก็ตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 หลังจากที่มั่นคงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยมาเป็นเวลายาวนานก่อนหน้านั้น สำหรับประเทศอื่น ๆ ในลาตินอเมริกาซึ่งมีระดับการพัฒนาประเทศที่ช้ากว่าและมีอัตราความยากจนในระดับสูงต่างก็ตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการในรูปแบบต่างๆ ในช่วงเวลาที่ยาวนานกว่า อาทิ นิคารากัวตกอยู่ภายใต้การปกครองของตระกูล Samoza ระหว่างปี ค.ศ. 19371979 ขณะที่ Alfredo Stroessner ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของปารากวัยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1954 ถึงปี ค.ศ. 1989 บราซิลและอาร์เจนตินามีรัฐบาลเผด็จการทหารระหว่างคริสต์ทศวรรษที่ 19601980

โมเดลรูปแบบการปกครองแบบรัฐเผด็จการราชการ (The Bureaucratic Authoritarianism) ของ ODonnell อธิบายว่าการปกครองในลักษณะนี้มีเป้าหมายในการมุ่งพัฒนาระบบเศรษฐกิจ โดยการกดค่าจ้างแรงงานให้อยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกันก็พยายามปราบปรามผู้เห็นต่างที่มีแนวคิดสังคมนิยมในระหว่างช่วงสงครามเย็น[18] อย่างไรก็ตามระบอบเผด็จการทหารในเปรู (ค.ศ. 19681978) โบลิเวีย (ค.ศ. 19641982) และเอกวาดอร์ (ค.ศ. 19721979) มีลักษณะของการเมืองแบบประชานิยมที่เน้นการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ[19] ส่วนในกัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส ชนชั้นนำหัวอนุรักษนิยมใช้กำลังผสมกับการติดสินบนในการสืบทอดอำนาจภายใต้มายาคติของการแข่งขันในระบอบประชาธิปไตย ขณะที่พรรคปฏิวัติสถาบัน (The Institutional Revolutionary Party, PRI) ในเม็กซิโกชนะการเลือกตั้งมาตลอดนับตั้งแต่ ค.ศ. 1929 ก่อนที่จะสูญเสียอำนาจเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2000 เช่นเดียวกันกับพรรคคอมมิวนิสต์ในคิวบาที่อยู่ในอำนาจตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959 จวบจนกระทั่งในปัจจุบัน

 


[1] Patrick Chalmers, “The People Trying to Save Democracy from Itself,” Guardian, 2 July 2016, online: www.theguardian.com/world/2016/jul/02/democracy-tarnished-brand-desperate-need-reinvention [เข้าถึง 14 กันยายน 2561]

[2] Jonathan Hartlyn and Arturo Valenzuela, “Democracy in Latin America Since 1930,” in Leslie Bethell (ed.), The Cambridge History of Latin America, vol. VI, part 2: Politics and Society (Cambridge: Cambridge University Press, 1994).

[3] Robert A. Dahl, Polyarchy: Participation and Opposition (New Heaven: Yale University Press, 1971).

[4] Joe Foweraker, Todd Landman, and Neil Harvey, Governing Latin America (Cambridge: Polity Press, 2003).

[5] Mark J. Ruhl, “Trouble in Central America: Honduras Unravels.” Journal of Democracy 21, no. 2 (2010): 93-107.

[6] Scott Mainwaring, and Timothy R. Scully (eds.), Democratic Governance in Latin America (Stanford: Stanford University Press, 2009).

[7] Marc F. Plattner, “Reflections on ‘Governance.’” Journal of Democracy 24, no. 4 (2013): 17-28.

[8] Francis Fukuyama, “Why Is Democracy Performing So Poorly?” Journal of Democracy 26, no. 1 (2015): 11-20.

[9] Daniel Kaufmann, Aart Kraay, and Massimo Mastruzzi, Governance Matters VIII: Aggregate and Individual Governance Indicators, 1996-2008. Policy Research Working Paper 4978 (Washington D.C.: World Bank Development Research Group, 2009).

[10] Gregory Wilpert, Changing Venezuela by Taking Power (London: Verso, 2006); Kirk A. Hawkins, “Who Mobilizes? Participatory Democracy in Chávez’s Bolivarian Revolution,” Latin American Politics and Society 52, no. 3 (2010): 31-66; and Stephanie L. McNulty, “Participatory Democracy? Exploring Peru’s Efforts to Engage Civil Society in Local Governance,” Latin American Politics and Society 55, no. 3 (2013): 69-92.

[11] Andrew D. Selee, and Enrique Peruzzotti (eds.), Participatory Innovation and Representative Democracy in Latin America (Baltimore: Johns Hopkins University Press, and Woodrow Wilson Center Press, 2009).

[12] Damarys Canache, “The Meanings of Democracy in Venezuela: Citizen Perceptions and Structural Change,” Latin American Politics and Society 54, no. 3 (2012): 95-122.

[13] Leonardo Avritzer, Participatory Institutions in Democratic Brazil (Baltimore: The Johns Hopkins University Press, and Woodrow Wilson Center Press, 2009); and Andrew D. Selee, and Enrique Peruzzotti (eds.), Participatory Innovation and Representative Democracy in Latin America.

[14] Geraldine Lievesley, and Steve Ludlam, “Introduction: A Pink Tide?,” in Geraldine Lievesley, and Steve Ludlam (eds.), Reclaiming Latin America: Experiments in Radical Social Democracy (London: Zed Books, 2009).

[15] IDEA, The Quality of Democracies on Latin America (Stockholm: IDEA, 2016).

[16] UNDP, Democracy in Latin America: Towards a CitizensDemocracy (New York, and Buenos Aires: United Nations Development Program, and Alfaguara, 2004a); UNDP, Democracy in Latin America: Towards a CitizensDemocracy. Statistical Compendium (New York, and Buenos Aires: United Nations Development Program, and Alfaguara, 2004b); and UNDP, Democracia/Estado/Ciudanía: Hacia un Estado de y para la Democracia en América Latina (Lima: UNDP, 2008).

[17] Aníbal Pérez-Liñan, and Scott Mainwaring, “Regime Legacies and Levels of Democracy: Evidence from Latin America,” Comparative Politics 45, no. 4 (2013): 379-397.

[18] Guillermo O’Donnell, Modernization and Bureaucratic Authoritarianism: Studies in South American Politics (Berkeley: Institute of International Studies, University of California, 1973).

[19] Guillermo O’Donnell, “Introduction to the Latin American Cases,” in Guillermo O’Donnell, Philippe C. Schmitter, and Laurence Whitehead (eds.), Transitions from Authoritarian Rule: Latin America (Baltimore: Woodrow Wilson International Center for Scholars, and The Johns Hopkins University Press, 1986).

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save