fbpx

เด็กแว้น การเมือง และเลือกตั้ง: ฟังเสียงสะท้อนจากปลายท่อของวัยรุ่นท่อดัง

ที่ตามเสียงกรีดร้องโหยหวนของเครื่องยนต์คือกลิ่นยางไหม้แสบจมูก ลับสายตาไปคือใครสักคนที่ถูกความมืดมิดของท้องถนนกลืนกินทั้งร่าง ทิ้งไว้เพียงแสงวอมแวมของไฟข้างถนนเก่าแก่

ใครคนหนึ่งตวัดขาลงจากรถมอเตอร์ไซค์ เอื้อมมือ ส่องสายตาสำรวจป้ายหาเสียงของสองข้างทาง -คงโดนหมาสักตัวเยี่ยวรดจองที่มาแล้ว

ร้อนอ้าวของเมษายนฉกาจฉกรรจ์ ถางหนังเถือกบาลเหมือนจะเอากันให้ตาย แต่พร้อมกันนั้น ร้อนนี้ก็ต่างไปจากร้อนก่อนๆ มันมาพร้อมความระทึก ความเดือดดาลและความหวังของการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในประเทศไทย ยื่นนโยบาย ยื่นอนาคตให้คนมองเห็นก่อนเข้าไปเลือกในคูหา

เขาพิงมอเตอร์ไซค์ไว้กับป้ายหาเสียงของพรรคหนึ่ง จุดบุหรี่ดูด นิ่งเงียบ ไม่พูดจา กลิ่นยาง กลิ่นน้ำมันรถ กลิ่นเหงื่อผสมผสานกับกลิ่นบุหรี่

‘เด็กแว้น’ กลุ่มคนผู้ใช้ความเร็วแสวงบุญให้ชีวิต ถนนคือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และคำประณามของชาวบ้านคือเสียงสวดหล่อจรรโลงหัวใจ

การเลือกตั้งมีความหมายกับพวกเขาไหม การเมืองจะช่วยผลักดันชีวิตให้ดีได้มากขึ้นหรือเปล่า หรือถึงที่สุดแล้วก็อาจไม่เคยเห็นตัวเองอยู่ในสมการใดเลยของพื้นที่ทางสังคม 

บุหรี่ยังไม่ดับ คาบคาอยู่ที่ริมฝีปาก เหวี่ยงขาคร่อมมอเตอร์ไซค์แล้วกระชากบิดลับหายไปกับความมืด

เรื่องของต้า

ชายหนุ่มบอกเราว่า ชีวิตเขาไม่ค่อยมีอะไรมากมายนัก หนึ่งวันเลื่อนไหลผ่านเรียบง่ายอยู่บนเบาะมอเตอร์ไซค์ หรือไม่ก็อู่รถซึ่งเขาเป็นลูกจ้างอยู่ ตกค่ำค่อยแนบตัวกับเบาะ เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปลายทางเป็นแห่งหนไหนสักที่ -ไม่จำเป็นต้องคิดในเวลานั้น เหนื่อยล้า สาแก่ใจ ค่อยผ่อนความเร็วแล้วหาที่ร่อนลงจอดซึ่งอาจจะเป็นบ้านเพื่อนสักคน

ใช้ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวเข้าเบญจเพส ต้าไม่มีบ้านเป็นหลักแหล่ง และเขาไม่คิดว่าต้องมี คืนไหนเพื่อนหรือใครสักคนที่เขาหมายใจจะขอพักพิงกายลงนอนกลับช้า เขาก็แค่รอ นั่งเอนกายอยู่บนมอเตอร์ไซค์ที่ไหนสักแห่ง สูบบุหรี่แบ่งขายฆ่าเวลา -เวลา ต้าร่ำรวยเวลามากมายมหาศาล ผลาญใช้เหมือนไม่มีวันหมด

กลางเดือนเมษายน ชุมชนคลองเตยร้อนระอุ ร้อนเสียจนเหงื่อไม่ทันซึมออกจากผิวหนังก็คล้ายว่าระเหยหายไปกับละอองแดด ทิ้งไว้แค่กลิ่นแสบจมูกของเนื้อเปลือยโดนแดดเผา ต้าบอกว่าบ้านของเพื่อนคนหนึ่งของเขาอยู่ที่นี่ และหากเราโชคดีก็อาจขออนุญาตให้เข้าไปนั่งหลบแดดพูดคุยกันด้านในได้

น่าเสียดาย พระเจ้าไม่ทรงโปรดให้เราได้รับโชคนั้น แม้กระทั่งเมื่อต้าพาเราออกจากคลองเตย ตระเวนไปยังย่านเพชรบุรีเพื่อขอหยิบยืมห้องของเพื่อนอีกคน ถนนคอนกรีตกับแดดจ้าก็ยังเป็นคำตอบของเราอยู่ดี

ต้าดูไม่ยี่หระตามประสาคนที่ชินกับการรอคอย 

“ชีวิตผมไม่ค่อยมีอะไรว่ะ” เขาบอก “วันๆ นึงผมก็อยู่ที่อู่ กินข้าว ฟังเพลง แค่นี้เอง”

ปลายทางของเด็กแว้นส่วนมากมักลงเอยที่อู่ซ่อมรถ จะทั้งเปิดกิจการเองหรือเป็นลูกจ้างเขาก็แล้วแต่สะดวก -สำหรับต้านั้นเป็นอย่างหลัง- จบชั้นมัธยมปีที่สาม แน่วแน่แล้วว่าไม่อยากสำมะหาอันใดกับระบบการศึกษาไทย เขาเบี่ยงชีวิตเข้าสู่โลกของน้ำมันรถ โลหะและยาง เท่านี้ชีวิตก็เป็นอันน่ารื่นรมย์

ถนนที่คนกรุงชิงชังต้องใช้ชีวิตอยู่วันละหลายชั่วโมง ตกกลางคืนก็คายความเงียบอันเหว่ว้า เป็นต้าที่ได้กำซาบรสนั้น “ขับเร็วๆ มันทำให้สมองเราโล่งดีพี่ ไม่วุ่นวาย พอเร่งจนเร็วมากๆ ก็เหมือนเรามีพื้นที่ว่างในหัว” 

วัยนมยังไม่แตกพาน ต้าก็ขับมอเตอร์ไซค์คล่อง ลัดเลาะไปตามถนนเล็กใหญ่ของบุรีรัมย์อันเป็นบ้านเกิด -ก่อนชีวิตจะกระชากให้ต้องมาหาเลี้ยงปากท้องในเมืองใหญ่- ค่ำคืนไหนเปลี่ยวก็ออกตระเวนทักทายความเงียบข้างถนนด้วยสองล้อคู่ใจที่เขาประกอบสร้างเอง หมกมุ่น-หลงใหล-สรรหาจะใช้คำไหนมาบรรยายก็เอา แต่สิ่งที่ต้ามีต่อเครื่องยนต์ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ 

“มันจะมีสักกี่อย่างเชียวพี่ที่ผู้ชายชอบ ก็มีรถ ปืน นาฬิกา ผู้หญิง” 

“เอ็งมีกี่อย่างแล้ว”

“อย่างเดียว” ยิ้มเขิน ตบเบาะมอเตอร์ไซค์ 

กับเรื่องมอเตอร์ไซค์ ต้าคุยได้เป็นชั่วโมง ชำแหละเรือนร่างเครื่องยนต์แม่นยำ แต่กับเรื่องการเมือง เขาดูไม่โปรดนัก 

“ก็มันไกลตัว” จริงใจ ชัดเจน “ผมสนของผมแต่เรื่องรถ”

ไกลลิบในความทรงจำ บอร์ดทำเนียบนายกฯ ของโรงเรียนระบุว่าครั้งหนึ่งไทยเคยมีอดีตนายกฯ ที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ก่อนจะถูกรัฐประหาร -คำใหญ่คำโตที่เขาในวัยเพียงจะพ้นเลขหลักเดียวมาไม่นานไม่เข้าใจ- ก่อนที่คำนี้จะโผล่เข้ามาในชีวิตอีกครั้งก่อนหน้าอายุขึ้นด้วยเลขสองเพียงปีเดียว ประเทศแบบไหนสร้างภาพจำให้รถถังและการคว่ำกระดานเป็นเรื่องอันสามัญ

“มันรัฐประหารกันเป็นปกติแล้วมั้งผมว่า อย่างถ้าเป็นการเมืองของต่างประเทศนี่มันไม่ปกติตั้งแต่มีรัฐประหารแล้ว” 

ในความไกลตัว มีไม่กี่อย่างที่เชื่อมร้อยระหว่างชีวิตเขากับการเมือง โลดโผนบนอานมอเตอร์ไซค์ ใช้ชีวิตสบตากับความเร็วเกือบทุกคืน มีบ้างพลาดพลั้งเสียหลักล้มให้ได้เลือดตกยางออก หากปราศจากบัตรทอง 30 บาท เขามีแต่ต้องจ่ายค่ารักษาหลักหมื่นเป็นจำนวนเต็ม

“มี 30 บาทก็ไม่ได้ทำให้คนอยากป่วยกันหรอกพี่” พูดดักคอ เข้าใจว่าคงเคยอ่านความเห็นประเภทไม่ผ่านทั้งสมองและหัวใจของคนบางกลุ่มที่เชื่อว่ามีบัตรทองจะทำให้คนอยากเข้าโรงพยาบาล “ไม่มีใครอยากเข้าโรงพยาบาลกันเล่นๆ หรอก”

ไม่ได้มองตัวเองรวยเท่ากับที่ไม่ได้มองตัวเองจน สำหรับต้า การมีข้าวสารกรอกหม้อแต่ละมื้อก็เป็นชีวิตที่สมบูรณ์แบบดี พื้นที่ทางจินตนาการในอันจะมีชีวิตที่ดีกว้างใหญ่เท่าชีวิตปัจจุบันที่เขาเป็น มีมอเตอร์ไซค์-มีที่นอน-มีข้าวกิน-มีเพื่อนฝูงให้ไปเยือนหา เก็บเกี่ยวรายละเอียดชีวิตระยะสั้น อนาคตอีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้าเป็นสิ่งไม่อาจจินตนาการ คล้ายพยายามบรรยายรสหวานดิบของเหล้าให้นักบวชผู้เคร่งครัดสดับ รอยเหลื่อมของชีวิตกับการเมืองแทบไม่ทาบทับ

จริงๆ เรื่องมันอาจจะง่ายแค่ว่า เขาไม่เคยเห็นตัวเองได้ประโยชน์จากการเมืองแต่ไหนแต่ไร หรือกระทั่งว่า ลงคะแนนเสียงไปถึงอย่างไรโอกาสที่จะถูกฉีกทิ้งด้วยกองทัพก็ไม่เคยเป็นศูนย์

จะว่าสิ้นหวังก็คงใช่ หรือจะบอกว่าแค่เป็นคนไม่สนใจอะไรนอกจากมอเตอร์ไซค์ ก็ใช่อีกเหมือนกัน

“ถ้าวันเลือกตั้งมันตรงกับวันทำงาน ผมก็เลือกทำงานนะ”

คำตอบนั้นฟังดูแสลงหู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่แวดล้อมไปด้วยบรรยากาศตื่นตัวทางการเมืองเช่นนี้

“ไม่ลองไปหน่อยเหรอ”

“ถ้าไปแล้วมันยังเหมือนเดิม เท่ากับว่าวันนั้นผมเสียเงินค่าแรง เสียการทำงาน เสียค่าน้ำมันรถสิ” ตรงไปตรงมา ไม่มากน้อยไปกว่านั้น “พอรัฐบาลไม่ฟังเสียงเรา มันทำให้ผมไม่รู้สึกอยากยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเท่าไหร่”

ช่วยไม่ได้ นึกย้อนไปถึงเลือกตั้งครั้งล่าสุดกับสารพัดกติกานอกเหนือความคุ้นชิน ลงเอยที่ไม่มีใครได้คำตอบโปร่งใสอะไรสักอย่าง การที่ใครสักคนจะเลือกค่าแรงรายวันมากกว่าไปลงคะแนนเสียงก็ถือเป็นเรื่องเข้าใจได้ง่ายมากกว่าเหตุผลของเงื่อนไขแปลกประหลาดเหล่านั้น

ค่ำแล้ว พื้นถนนคายเปลวร้อนแดดที่กอดไว้ทั้งวันคืนสู่อากาศ คืนนี้ต้าไม่ได้ออกไปไหน คงใช้เวลาช่วงฟ้ามืดอยู่ในห้องของเพื่อนสักคน

กระซิบถามเขาว่าลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าหรือยัง

“ลงไม่ทันว่ะพี่ ไม่เห็นเขาประชาสัมพันธ์อะไรเลย”

หรือจะไปเลือกตั้งวันจริงที่บุรีรัมย์ทีเดียวเลย -เอ็งว่ายังไง

หนุ่มไม่ว่ายังไง 

ยิ้มติดมุมปากนิ่งเงียบเป็นคำตอบ

เรื่องของเต้ง

มือเขาเหนียวหนับด้วยน้ำมันเครื่อง ประคบประหงมเสื้อสูบรถที่เพิ่งถูกชำแหละออกมาจากเรือนร่างมอเตอร์ไซค์ ชำนิชำนาญในลักษณะเดียวกันกับที่หมอพินิจความป่วยไข้ของผู้ป่วย 

เต้งยิ้มสุภาพตอนเราถามไถ่เขาถึงเรื่องรถยนต์ ชีวิตที่ลืมตาในบ้านที่เป็นอู่ซ่อมรถ ใกล้ชิดกับเสียงท่อและยางในมากกว่าหุ่นกันดั้ม ไม่ยากไม่เย็นที่เขาจะจำแนกประเภทเครื่องยนต์ต่างๆ ที่ถือเป็นความชำนาญส่วนตัวในฐานะช่าง พ้นไปจากนี้ มันยังเป็นความชำนาญที่เขาเก็บเกี่ยวมาจากสองข้างถนน ช่วงวัยที่เคยเอนร่างแนบเบาะรถ วัดใจคู่แข่งบนถนนพระรามห้าไกลตาตำรวจ

“สมัยนั้นแว้นมันก็เท่ดี” ยิ้มเขิน “ขับรถเร็วๆ มันก็ได้ความท้าทายอยู่”

แต่ชีวิตการเป็นเด็กแว้นอยู่กับเขาไม่กี่ปี ให้หลังจากวันที่เรียนพ้นชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เมื่อรู้แน่ชัดแล้วว่าหัวใจไม่ได้วิ่งไปบนถนนสายเดียวกันกับการศึกษา กินเวลายาวถึงช่วงขวบปีที่เป็นผู้ใหญ่ตามกฎหมายพร้อมตำแหน่งใหม่ของชีวิตอย่างการเป็นพ่อคน จะความรับผิดชอบหรือสัญชาติญาณใดก็ตาม บีบหลังบีบไหล่ให้เขาหยุดออกตระเวนกลางค่ำกลางคืน แล้วหันมารับไม้ต่อกิจการอู่ซ่อมรถจากที่บ้านแทน นับตั้งแต่วันนั้นก็ล่วงหน้ามาปีที่ห้าแล้ว

สาละวนกับเสื้อสูบรถ แบมือขอประแจโดยแทบไม่ต้องเอ่ยคำ ลูกมือวัยเพิ่งจะใช้คำนำหน้าว่านายได้ไม่กี่เดือนส่งอุปกรณ์ให้ แม่นยำเหมือนพยาบาลกับนายแพทย์ในห้องผ่าตัด

“ผมจะบอกนะพี่ ตอนซิ่งเนี่ย คนขับเขาต้องตัวเบาๆ” ไอ้หนูบอกหลังแนะนำชื่อเสียงเรียงนามตัวเองเสร็จสรรพ เปรียวเหมือนแมวป่า

“ชอบแว้นเหรอเรา”

“ชอบแว้นสิ”

เช่นเดียวกับต้า เต้งผละตัวเองจากระบบการศึกษาเพราะไม่เห็นที่ทางอนาคตตัวเองในนั้น กระโจนเข้าตลาดแรงงานเร็วกว่าที่รัฐบาลคุ้นชิน 

เต้งพยักพเยิด ยิ้มให้ลูกมือที่ทำท่าจะเดินสายเดียวกันกับเขา “มันเป็นลูกมือได้สักพักแล้ว เก่งนะ” 

เด็กยิ้มรับคำชมแล้วกระวีกระวาดไปช่วยผู้ใหญ่คนอื่นๆ ถอดรื้อเครื่องยนต์รถบรรทุกที่จอดแช่อยู่หน้าอู่ หมุนล้อขนาดเท่าตัวคนออกมานอนแนบกับพื้น มือหนึ่งถือชะแลง อีกมือถือบุหรี่ ชีวิตเสพรสขมกันตั้งแต่เสียงยังไม่แตกหนุ่มดี 

“ช่วงนี้มันฤดูส่งผลไม้ รถบรรทุกเลยเยอะหน่อย เขาวิ่งเยอะก็ต้องซ่อมเยอะ” เต้งอธิบาย

“รายได้ดีสิ”

“พอมี ไม่ถือว่าลำบาก”

“เคยมีช่วงไหนดีจัดๆ เลยบ้างไหม”

นิ่งคิด เงียบและนาน ก่อนคำตอบจะร่วงหล่น “ตอนผมยังเด็กมากๆ คือสมัยทักษิณมั้ง ตอนนั้นลูกค้าแน่นจนไม่มีที่จอด ต้องเลยไปจอดบนถนนก็มี เศรษฐกิจมันดี คนมันส่งของกันเรื่อยๆ แล้วพอเขาวิ่งรถบ่อยรถมันก็พังมั่ง เสียมั่ง ก็ต้องเข้าอู่มาตรวจตลอด”

เวลานั้นเต้งเพิ่งเข้าเรียนชั้นประถม ในลิ้นชักความทรงจำเก่าเก็บ มีไม่กี่อย่างที่ชัดเจน นอกจากภาพรถบรรทุกเรียงรายเข้าอู่จนพ่อทำงานแทบไม่ทัน อีกภาพคือคนมีเงินไปซื้อรถกระบะ “เหมือนคนมันมีเงินน่ะพี่ เขาก็เอาไปซื้อทอง ไปซื้อกระบะกัน”

เทียบกันกับเรื่องรถแล้ว เต้งคุยเรื่องการเมืองไม่เก่ง เส้นตัดที่ชัดเจนระหว่างชีวิตกับ ‘การเมือง’ ที่เขาเข้าใจคือคืนรัฐประหาร 2557 เมื่อ คสช. ประกาศเคอร์ฟิว หนุ่มเต้งกับมอเตอร์ไซค์คู่ใจถูกทหารเรียกให้จอดกลางถนน ไล่กลับบ้าน ชีวิตที่ผลิบานยามดึกและเติมเต็มด้วยความเร็ว 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นต้องชะงักเพราะทหารห้ามออกจากบ้านหลังสี่ทุ่ม

แปดปีแล้วหลังเหตุการณ์นั้น

“ก็อยู่กันไป” เขาสรุปชีวิต นิ่งเนิบ 

การเลือกตั้งครั้งก่อนในขวบปีที่ 20 ของชีวิต เต้งลากปลายปากกาตามที่พ่อบอก สี่ปีให้หลัง วิธีการเลือกคนเข้าไปทำงานในสภาของเขายังเหมือนเดิม -และเขาว่ามันเหมาะสมแล้ว “ผมไม่ค่อยสนเรื่องการเมือง มันเรื่องของผู้ใหญ่” เขาบอก ก็จริงว่า 24 หลุดจากเขตแดนความเป็นเด็กแล้วในแง่ของกฎหมาย แต่สำหรับเต้ง พื้นที่ทางการเมืองและการเลือกตั้งเป็นเรื่องของคนที่ผ่านโลกมานานกว่าเขา “ไม่มีพรรคที่ชอบหรอก ผมเลือกตามพ่อ พ่อให้เลือกพรรคไหนผมก็เลือกตามเขาว่า”

“ไม่อยากลองเลือกเองเลยงั้นสิ”

“ไม่เลย ผมไม่สนใจเลย”

เสียงเติมลมรถบรรทุกดังสนั่นจากบ้านนอก ไอ้หนูคนเดิมใช้แรงทั้งตัวพลิกล้อยางขึ้นมา ฝุ่นคลุ้งตลบลอยปนไปกับควันบุหรี่ในมือ

เรื่องเงินเด็กแรกเกิด เรื่องเงินจากหวย ถือว่าเข้าตา แต่ยังห่างไกลหัวใจของเต้ง “ผมเลือกตามที่คนโตๆ เขาบอกให้เลือก”

“การเมืองมันดูวุ่นวาย ผมเลยไม่ค่อยชอบ แล้วมันก็เซ็ง มีแต่อะไรเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา ผมไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนไปสักอย่าง” มือยกสูบเสื้อตรงหน้าไปวางไว้ข้างตัว “พูดจริงๆ นะ พอเป็นเรื่องการเมืองแล้วผมไม่ค่อยสนใจเลย”

แดดของบ่ายแก่โรยตัวเงียบเชียบ งานของเต้งเพิ่งเสร็จ หนึ่งวันกำลังเคลื่อนผ่านท่ามกลางความไม่เปลี่ยนแปลงใดทั้งมวล

“งั้นที่เขาว่ากันว่า การเมืองดี ชีวิตดีนี่เราไม่เชื่อเลยสิ”

คนถูกถามนิ่งคิด คล้ายควานหาข้อต่อเชื่อมกันระหว่างสองประโยคนั้น -ไม่พบ ส่ายหัวเป็นคำตอบ

“มันจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จะรัฐบาลไหนชีวิตผมก็เหมือนเดิม” เขาบอก “ทำงานหนักเหมือนเดิม -มันก็ต้องอยู่กันไปพี่”

คล้ายว่าเปลวร้อนของเมษาเขมือบกลืนกิน คำตอบสามัญแต่ใครฟังแล้วไม่เศร้าบ้าง คนพูดลุกขึ้นดึงประตูเหล็กลงบังแดด ใกล้จะหมดวัน แดดเปลี่ยนทิศรุกคืบเข้าอู่รถ เสียงสูบลมเข้ายางรถบรรทุกยังสนั่นบาดแก้วหู ไอ้หนุ่มลูกมือต้องวางบุหรี่ลง ทุ่มทั้งเนื้อทั้งตัวเอาชะแลงงัดยางขึ้น ไม่กี่ชั่วฝุ่นตลบ เต้งสาวเท้าเข้าไปช่วยรุ่นน้อง แล้วเสียงใหญ่โตของล้อ ของเครื่องจักรก็ดังกลบเสียงอื่นทั้งมวล เป็นการงาน เป็นจักรวาล เป็นชีวิตเล็กจ้อยที่อาจไม่เคยถูกให้ความสลักสำคัญเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แล้วอย่างนั้น อะไรจะยังสำคัญ

เรื่องของแบงค์

มืดมิดบนมอเตอร์เวย์สาย 7 กลืนกินร่างเด็กหนุ่มหายลับไปจากสายตา เหลือไว้แต่เสียงอวลอื้อของรูหูผู้ทุกข์ระทมจากท่อโลหะ 

ความเร็วกี่กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นไม่อาจทราบได้ แต่น่าจะพอเรียกความระทึกหัวใจให้มาสบตากันสักหนสองหน

ร้อนของชลบุรีไม่เหมือนร้อนในกรุงเทพฯ ทะเลทำให้มันอบอ้าว เหนียวตัวเท่ากับที่ก็เป็นร้อนอันปลอดโปร่งกว่า เช่นเดียวกันกับถนน คอนกรีตมากมายเหมือนในกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่มีอะไรเหมือนเลยอีกเช่นกัน ถนนกว้างกว่า รถขนส่งเยอะกว่า กระหึ่มของเครื่องยนต์จึงไม่เคยเงียบหายจากถนนทั้งสาย

แบงค์เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา การเลือกตั้งก็ไม่ใช่เรื่องของพ่อแม่และผู้ใหญ่อีกต่อไป -ก็เขาเป็นผู้ใหญ่เสียเอง

ความเป็นผู้ใหญ่ ด้านหนึ่งวัดจากการที่เขาเพิ่งออกจากบ้านมาเช่าหอเล็กๆ อยู่ด้วยกันเองกับเพื่อน ห้องนั้นแทบไม่มีเครื่องเรือน เก้าอี้เป็นเก้าอี้เดินป่าแบบพับได้ที่มีเพื่อนคนหนึ่งของเขานั่งอยู่ก่อนแล้ว คนหนุ่มไม่พูดไม่จา เฝ้าสังเกตเงียบเชียบ ใกล้กันคือตู้เสื้อผ้าขนาดกลาง หลังตู้มีหวีเล็กๆ แป้งฝุ่นและหมวกแก็ปหนึ่งใบ

ชีวิตที่ล่วงผ่านร้อนมา 18 ครั้ง เทียบสมการกันแล้ว ถือว่าอยู่กับร้อนที่มีประยุทธ์ จันทร์โอชาแล้วแปดปีเต็ม ประถมสี่ สะพายกระเป๋าไปโรงเรียนก็เห็นหน้าการประกาศล้มกระดานการเมืองของกองทัพ

“จำได้ว่าตอนเด็กๆ เขามีโฆษณาที่มาทุกวันศุกร์ การ์ตูนที่ผมดูมันก็ต้องเลื่อนไป กว่าจะได้ดูก็สี่ทุ่ม” เขาบอก “แค่นี้ผมก็ไม่ชอบเขาแล้ว อยู่มาแปดปี ผมไม่เห็นเคยได้อะไรจากเขาเลย”

อยากให้ท่านผู้เจริญได้ฟัง การขัดขวางเด็กไม่ให้ดูการ์ตูนด้วย ‘โฆษณา’ ที่ท่านแพล่มพูดอยู่คนเดียวนานเป็นชั่วโมงนั้น บาปหนาเสียจนแม้แต่ยมบาลยังต้องสาปส่ง ยิ่งกินเวลานานหลายปี เด็กที่ไหนยังเปิดพื้นที่ในหัวใจให้ท่านยื่นมือเหี่ยวย่นไปให้อยู่กัน

ยิ่งโต ยิ่งรู้ความ ยิ่งสงสัยในสารพัดยุทโธปกรณ์ที่พระเดชพระคุณท่านขยันซื้อ “ผมไม่ค่อยรู้อะไรมากนะ แต่ก็สงสัยว่าทำไมเขาไม่เอาเงินตรงนั้นไปช่วยคน พี่นึกออกใช่ไหม บางครอบครัวที่เขารายได้ไม่ค่อยพอใช้ หรือเอาไปช่วยเรื่องการศึกษาก็ได้”

“โกรธไหมนี่”

“โกรธสิพี่ มันก็เงินภาษีประชาชน” 

เกือบครึ่งชีวิต คนรุ่นแบงค์คือคนที่โตมากับแวดล้อมที่รัฐบาลประยุทธ์ควบคุมไว้ ตั้งแต่โฆษณาที่ว่าไปจนถึงแบบเรียนคล้ายกรงเล็บใหญ่ยักษ์เอื้อมมาบีบคอเล็กๆ ของเด็กให้เห็นและคิดในสิ่งที่รัฐอยากให้เห็นและคิด

แต่ก็ยังพ่ายแพ้ให้แก่เทคโนโลยี 

ความรุนแรงทางการเมือง ประวัติศาสตร์การใช้รถถังรบกับคนในประเทศตัวเองมากกว่าศัตรู -ที่ไม่มีอยู่จริง- แม้ไม่ปรากฏในแบบเรียนอย่างที่ควรเป็น ก็ไปปรากฏในรูปลักษณ์อื่น “ผมเคยเห็นพวกรูป พวกวิดีโอของพวกคนสมัย 6 ตุลา หรือพวกที่นักศึกษาสมัยนั้นเขาถูกทำร้าย”

คำตอบซื่อ ตรงไปตรงมาและไม่ปิดบังความพิศวงที่คนกระทำต่อคนด้วยกันได้ถึงขนาดนั้น 

“อันที่จริง ผมยังเข้าใจไอ้รัฐประหารอะไรนี่ไม่เต็มร้อยหรอก แต่ก็กลัว กลัวมากเลย”

คำตอบเศร้า แต่คุณจะไปคาดหวังคำตอบชวนชื่นมื่นหัวใจจากเด็กที่โตมาในประเทศที่มีรัฐประหาร 13 ครั้งเพื่ออะไรกัน “อย่างถ้าเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคที่เราเลือกเขาเกิดชนะแล้วแต่ถูกทหารมายึด ผมว่ามันก็คงน่าเสียดายมากๆ เลยเพราะประเทศมันจะได้เปลี่ยนไปได้สักทีแท้ๆ”

อีกไม่กี่วันแบงค์จะได้กำปากกาไปเลือกตั้งครั้งแรก จุดวัดใจของเขากับพรรคที่เลือกมีอยู่ไม่กี่เงื่อนไข พ้นไปจากนโยบายลดราคาน้ำมันที่เขาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้รถมอเตอร์ไซค์ -อันเป็นแหล่งเชื้อเพลิงของหัวใจอีกที- แล้ว เขาก็ปักหลักอยู่ที่นโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารกับแก้ไขมาตรา 112

เรื่องการไม่อยากเกณฑ์ทหารนั้นเข้าใจไม่ยาก ภาพคนหนุ่มที่งานมีการดีๆ ทำมากมายจับใบแดงแล้วเป็นลมให้คนรอบข้างโห่ร้องเยาะเย้ยหลายต่อหลายปีน่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนมากพอ ยังไม่ต้องนับเรื่องการใช้ความรุนแรงหรือถูกส่งไปเป็นคนดูแลบ้านนายทหารใหญ่โตให้เศร้าหัวใจเล่น 

แต่กับอีกเรื่อง ถือเป็นประเด็นใหม่แม้กระทั่งในพื้นที่ทางการเมืองไทยเอง เมื่อที่ผ่านมา มาตรานี้แทบไม่เคยถูกพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาเลย

“ผมอยากรู้ว่าเขาจะแก้ยังไง ดีขึ้นกว่าเดิมได้มากแค่ไหน อยากรู้ว่าเขาจะทำให้ระบบประเทศมันดีขึ้นได้จริงหรือเปล่า” คนตอบตอบกระชับ

ใช่ไหม ว่าวาดหวังและมองเห็นอนาคตที่ดีกว่าของตัวเอง

“การเมืองดี ชีวิตมันก็ดีแหละพี่ รัฐบาลมันก็มีส่วนช่วยเราตรงนี้ได้”

“แล้วชีวิตที่ดีของแบงค์คือแบบไหน”

ช่วยไม่ได้ เวลานั้นนึกไปถึงคำพูดของเหล่าคนรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ มากมายที่เคยสดับผ่านรายการโทรทัศน์หรือกวาดตาอ่านในสเตตัสเฟซบุ๊ก ความรุ่งโรจน์เจิดจรัสและความเป็นไปได้นานับประการของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต -อันเป็นเรื่องที่หลายคนทิ้งขว้างไปแล้วด้วยแรงกระชากทางการเมืองชั่วแปดปีที่ผ่านมา

“ชีวิตที่ดีเหรอพี่” เขาทวนคำถาม ยิ้ม “มีบ้าน มีเงินเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ก็พอแล้วครับ”

คืนนั้น แบงค์ระเบิดความอัดอั้นกราดเกรี้ยวของคนหนุ่มบนมอเตอร์เวย์สาย 7 ทิ้งกลิ่นยางไหม้แสบจมูก 

ไฟหลังรถกะพริบแดงฉานแล้วหายลับไปจากความมืด

เรื่องของใคร

อีกไม่นาน ป้ายหาเสียงคงถูกรื้อถอน เป็นกำรี้กำไรให้ลุงซาเล้งสักคน 

วอมแวมแสงจากท้ายรถมอเตอร์ไซค์กะพริบให้เห็น แล้วไล่มาด้วยเสียงกรีดสนั่นของตัวเครื่องฉีกอากาศ คนขับแนบตัวลงลู่กับเบาะรถ

หายลับไปจากสายตา 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save