fbpx
คิวบากับนโยบายการทูตด้านสาธารณสุข

คิวบากับนโยบายการทูตด้านสาธารณสุข

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ในช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้เริ่มแพร่ระบาดในช่วงปลายปีที่ผ่านมาและสถานการณ์ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบันโดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ‘คิวบา’ ประเทศเล็กๆ ในทะเลแคริบเบียนได้ส่งทีมแพทย์และพยาบาลจำนวน 52 คน ไปยังอิตาลีซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา 2019 สูงเป็นลำดับหนึ่งของยุโรป ซึ่งทีมสาธารณสุขของคิวบานี้มีความชำนาญและผ่านประสบการณ์การต่อสู้กับสถานการณ์โรคระบาดมานับครั้งไม่ถ้วน

ข่าวนี้ได้รับการนำเสนอโดยสื่อต่างประเทศจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น CNN หรือ BBC นอกจากอิตาลีแล้ว คิวบายังส่งทีมสาธารณสุขไปช่วยแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศเวเนซุเอลา นิการากัว สุรินัม จาไมกา และเกรนาดา อีกด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อมนุษยธรรม แต่ขณะเดียวกันทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับคิวบาได้ออกมาโจมตีการกระทำดังกล่าวของคิวบาว่าเป็นการหาเงินเข้าประเทศ และพยายามลบภาพลักษณ์ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในคิวบาเสียมากกว่า ดังนั้นในคราวนี้ผมจะนำเสนอนโยบายการทูตทางด้านการสาธารณสุขของคิวบาซึ่งมีมากว่า 60 ปีแล้วว่ามีที่มาและที่ไปอย่างไร รวมถึงผลกระทบของนโยบายดังกล่าวในมิติต่างๆ

นโยบายการทูตทางด้านสาธารณสุขนั้น เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมสุขภาพและอนามัยของประชาชน ถือเป็นนโยบายทางการทูตแบบ soft power ตามแนวคิดของ Joseph Nye คือ อำนาจที่เกิดจากการสร้างเสน่ห์หรืออำนาจในการโน้มน้าวด้วยทรัพยากรเชิงอำนาจที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยม และนโยบายต่างประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศทั้งสองฝ่าย โดยไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเสียผลประโยชน์หรือถูกบังคับขู่เข็ญให้ต้องทำตาม

นโยบายการทูตด้านสาธารณสุขของคิวบา ทำให้ภาพลักษณ์ของคิวบาในสายตาโลกดีขึ้นเป็นอย่างมาก และทำให้คิวบามีตัวตนเป็นที่รู้จักในทางการเมืองโลก นอกจากนี้ภาพลักษณ์ทางด้านสาธารณสุขที่ดีของคิวบาก็จะส่งผลให้คิวบาเองในทางกลับกันได้รับความช่วยเหลือจากมิตรประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของเงินช่วยเหลือ เครดิตในการค้าและการลงทุน รวมถึงนโยบายทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

คิวบาได้นำนโยบายดังกล่าวมาใช้ตั้งแต่สิ้นสุดการปฏิวัติคิวบาในปี 1959 ภายใต้การนำของฟิเดล คาสโตร ซึ่งทำให้คิวบากลายเป็นประเทศสังคมนิยมแห่งแรกในซีกโลกอเมริกา ถึงแม้ว่าหลังการปฏิวัติคิวบาใหม่ๆ จะมีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนกว่าครึ่งขอลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกา แต่ในปี 1960 คิวบาก็ได้ดำเนินการส่งบุคลากรทางการแพทย์ไปช่วยชิลีที่ประสบหายนะจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ต่อมาในปี 1963 ที่ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับคิวบาไปก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในของคิวบาเป็นอย่างมาก เพราะในอดีต คิวบาก่อนการปฏิวัตินั้นมีสหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าหลักที่สำคัญ คิวบาได้ส่งทีมแพทย์และพยาบาลเกือบ 100 คนไปยังอัลจีเรีย ประเทศในแอฟริกาที่กำลังเผชิญสงครามกับโมร็อกโกเพื่อช่วยเหลือทางด้านการสาธารณสุขเป็นเวลากว่า 14 เดือน

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันคิวบาได้ส่งบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 400,000 คน ไปยัง 164 ประเทศทั่วโลก เพื่อช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุขในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ การส่งเสริมการสาธารณสุขในเขตทุรกันดาร อาทิ เวเนซุเอลาและบราซิล

ในปี 2019 เพียงปีเดียว มีบุคลากรทางการแพทย์ของคิวบากว่า 28,000 คน ทำงานอยู่ในประเทศต่างๆ 59 ประเทศ ก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ยิ่งไปกว่านั้นคิวบายังเปิดให้นักศึกษาทั่วโลกหลายหมื่นคนเข้าไปศึกษาทางด้านการแพทย์ในคิวบาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

สาเหตุที่คิวบาดำเนินการทูตทางด้านการสาธารณสุขนั้น เป็นผลมาจากการที่คิวบาได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศในการปฏิวัติปี 1959 รัฐบาลของฟิเดล คาสโตรตระหนักและรู้สึกซาบซึ้งต่อความช่วยเหลือดังกล่าว และถือเป็นความรับผิดชอบที่คิวบาจะต้องตอบสนองต่อบุญคุณที่ประเทศเหล่านั้นให้การสนับสนุนคิวบา คิวบายังถือว่านโยบายการทูตทางด้านการสาธารณสุขเป็น soft power ในการเอาชนะใจทั้งประชาชนและประเทศที่คิวบาได้เข้าไปช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ การแสวงหามิตรเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคิวบา เพราะคิวบามีประเทศเพื่อนบ้านอย่างสหรัฐอเมริกาที่ถือเป็นคู่ขัดแย้งกันโดยตรง ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมภาพลักษณ์ของคิวบาโดยเฉพาะเรื่องความก้าวหน้าในระบบสาธารณสุขและวิทยาการทางด้านการแพทย์

ปัจจัยหลักที่ส่งเสริมให้คิวบาดำเนินนโยบายทางการทูตด้านสาธารณสุขนั้นมีอยู่ 4 ประการ

ประการแรก เป็นมุมมองทางด้านการเมืองที่มองว่าการมีสุขภาพดีนั้นเป็นเครื่องการันตีของการเป็นมนุษย์และถือเป็นหน้าที่โดยตรงที่รัฐจะต้องจัดการเรื่องนี้ ฟิเดล คาสโตรถึงกับประกาศว่าสุขภาพที่ดีของประชาชนสะท้อนถึงการเมืองที่เข้มแข็งมั่นคง

ประการที่สอง คิวบาพุ่งเป้ามองว่าระบบสาธารณสุขของคิวบาจะต้องเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา โดยเน้นว่าจะต้องมีอัตราการตายของทารกแรกเกิดที่ต่ำ ขณะเดียวกันประชากรก็มีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดการพัฒนาในคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ซึ่งคิวบาใช้เวลาไม่นานนักก็สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ประการที่สาม การให้บริการสาธารณสุขฟรี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ จากประชาชนทุกคน ซึ่งถือเป็นหลักการเดียวกันกับองค์การอนามัยโลก health for all declaration ถึงแม้ว่าโครงการของคิวบาจะไม่สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ มีการขาดตกบกพร่องไปบ้าง แต่นโยบายสาธารณสุขของคิวบาเน้นการป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคและส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง ถือเป็นนโยบายในเชิงรุกมากกว่าการตั้งรับ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง

ประการสุดท้าย การเร่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอทั้งต่อการบริการภายในประเทศและการส่งไปช่วยเหลือต่างประเทศ มีการส่งเสริมการผลิตบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนหน้าด่านในการที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลหรือในประเทศที่ยังมีระบบสาธารณสุขที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยบุคลากรทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวนี้สามารถปฏิบัติงานในสถานที่ที่อาจจะไม่ต้องมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ซับซ้อนนัก ก็สามารถที่จะให้บริการผู้ที่เข้ามารับการรักษาได้

ในทางกลับกันสำหรับประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือจากนโยบายทางการทูตทางด้านสาธารณสุขของคิวบานั้น สาเหตุหลักมาจากการขาดบุคลากรทางการแพทย์ที่เพียงพอ การกระจุกตัวของแพทย์ในเฉพาะบางพื้นที่ เช่น ในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ตามภูมิภาค ไม่มีหมอในชุมชนท้องถิ่นที่ห่างไกล แต่บุคลากรทางการแพทย์ของคิวบานั้นมีความพร้อมในการเผชิญกับทุกสถานการณ์และทุกพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่ไม่สูงนัก

นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมาหลังจากสั่งสมประสบการณ์การดำเนินนโยบายทางการทูตทางด้านสาธารณสุขจนได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ส่งผลให้เวเนซุเอลาในสมัยประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ ได้ให้การสนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการกับนโยบายดังกล่าว โดยผ่านโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างน้ำมันที่เวเนซุเอลาจะส่งให้คิวบา ขณะที่คิวบาต้องส่งบุคลากรทางสาธารณสุขไปช่วยพัฒนาการแพทย์ในเวเนซุเอลาเป็นการตอบแทน ขณะเดียวกันประเทศแอฟริกาใต้ก็ให้เงินสนับสนุนแก่คิวบา โดยขอให้คิวบาส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านของแอฟริกาใต้ที่ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ยิ่งไปกว่านั้นองค์การระดับสากล เช่น องค์การอนามัยโลก รวมทั้ง NGOs ต่างๆ จำนวนมาก ก็ได้ให้การสนับสนุนนโยบายทางการทูตด้านสาธารณสุขของคิวบา

ตัวอย่างของการดำเนินงานนโยบายทางการทูตด้านสาธารณสุขของคิวบา คือ คิวบาเข้าไปมีบทบาทส่งเสริมการสาธารณสุขแก่ประเทศต่างๆ ในแอฟริกาและลาตินอเมริกามาเป็นเวลานาน มีการจัดตั้งโครงการเวชศาสตร์ชุมชนในหลากหลายประเทศ เช่น บอตสวานา บุรุนดี กาบอง แกมเบีย กานา มาลี นามิเบีย รวันดา สวาซิแลนด์ ซิมบับเว เบลิซ โบลิเวีย โดมินิกา กัวเตมาลา เฮติ ฮอนดูรัส นิการากัว ปารากวัย และเวเนซุเอลา เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์อนามัยใน แอนติกัวและบาบาดอส มีการทำความตกลงระหว่างคิวบากับสุรินัมและจาไมกาในการที่จะพัฒนาแผนการสาธารณสุขร่วมกัน แม้กระทั่งในเอเชียเอง คิวบาก็ส่งเจ้าหน้าที่การแพทย์มายังติมอร์ตะวันออก

ภายใต้โครงการ operation miracle ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวเนซุเอลา ทีมแพทย์คิวบาได้ทำการผ่าตัดรักษาตาของประชาชนในลาตินอเมริกาและแคริบเบียนกว่าหลายหมื่นคน โครงการนี้ได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมากเพราะเปิดโอกาสให้คนยากจนที่ประสบปัญหาเรื่องตา เช่น ต้อกระจก ได้กลับมามองเห็นได้ชัดอีกครั้งหนึ่ง แม้กระทั่งทหารในกองทัพของโบลิเวียที่มีส่วนในการสังหารเช เกวารา หนึ่งในผู้นำสำคัญของการปฏิวัติคิวบาเองก็ได้ออกมายอมรับในความสามารถของทีมแพทย์จากคิวบาและหันมามีทัศนคติที่ดีต่อคิวบาในภาพรวม และเมื่อมีเหตุการณ์ระเบิดที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิลในปี 1986 คิวบาได้รับตัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวกว่า 18,000 คน มารักษาตัวที่คิวบาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และการที่ประเทศเล็กๆ อย่างคิวบายื่นมือเข้าช่วยเหลือประเทศมหาอำนาจอย่างสหภาพโซเวียตในขณะนั้น ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของคิวบาในประชาคมโลกดียิ่งขึ้นไปอีก

สำหรับนโยบายน้ำมันแลกหมอระหว่างเวเนซุเอลากับคิวบานั้น มีการลงนามเป็นครั้งแรกในปี 2000 และต่อสัญญากันอีกครั้งในปี 2005 ตามข้อตกลงดังกล่าว คิวบาส่งบุคลากรทางการแพทย์กว่า 30,000 คน ช่วยจัดตั้งคลินิกอนามัยชุมชนกว่า 600 แห่ง สถานที่พักฟื้นอีก 600 แห่ง สถานพยาบาลขั้นสูง 35 แห่ง และดำเนินการผ่าตัดตาให้กับผู้ยากไร้ในเวเนซุเอลาไปกว่า 100,000 คน นอกจากนี้ยังดำเนินการในลักษณะเดียวกันที่โบลิเวีย โดยที่มีเวเนซุเอลาเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ ภายใต้ข้อตกลงความเป็นพันธมิตร The Bolivarian Alternative for Latin America ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มประเทศในลาตินอเมริกาและแคริบเบียนที่มีแนวคิดเอียงซ้าย เพื่อเป็นการตอบโต้และความพยายามในการหลุดพ้นการครอบงำของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อภูมิภาคนี้มาอย่างยาวนาน ต่อมามีการตั้งเป้าหมายที่จะขยายการผ่าตัดรักษาผู้มีปัญหาทางสายตาให้ครบ 600,000 คนภายในระยะเวลา 10 ปี

การจัดตั้งคลินิกอนามัยชุมชนในเวเนซุเอลา ส่งผลให้มีประสิทธิภาพทางสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น ในแต่ละชุมชนจะมีคลินิกอย่างน้อย 1 แห่งทำหน้าที่ไม่เพียงดูแลให้การรักษาเบื้องต้นเท่านั้น แต่ยังคอยไปเยี่ยมเยียนแต่ละบ้านเพื่อสอบถามเรื่องสุขภาพและอนามัย มีการจัดทำคำแนะนำคู่มือสาธารณสุขเบื้องต้นแจกจ่ายให้กับแต่ละครัวเรือน ให้คำแนะนำในเรื่องการพัฒนาสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน รวมทั้งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานค่อยส่งต่อผู้ป่วยที่มีการรักษาซับซ้อนไปสู่โรงพยาบาลต่างๆ ขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาบุคลากรทางการสาธารณสุขของเวเนซุเอลาให้มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้นจากการทำงานร่วมกันกับทีมสาธารณสุขของคิวบา

นอกจากนั้นคิวบายังขยายโอกาสการศึกษาทางการแพทย์ให้กับบุคคลต่างๆ ที่มีคุณสมบัติครบ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ส่งผลให้อัตราของแพทย์ที่เป็นผู้หญิงในปัจจุบันของคิวบามีอัตราส่วนสูงกว่าผู้ชาย ซึ่งต่างไปจากเดิมที่แพทย์มักเป็นผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นกลุ่มลูกผสมแอฟริกันซึ่งไม่เคยมีโอกาสในการเข้ารับการศึกษาทางด้านการสาธารณสุขก็ได้เพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นการศึกษาได้รับการสนับสนุนจากรัฐ โดยที่ผู้เรียนไม่ต้องเสียเงินค่าเล่าเรียน คิวบายังเปิดโอกาสให้นักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนรู้ในระบบสาธารณสุขของคิวบาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน จำนวนนักศึกษาต่างชาติเพิ่มมากขึ้นภายหลังจากการเกิดเหตุการณ์พายุเฮอริเคน Mitch ในอเมริกากลางเมื่อปี 1998 โดยมีสาเหตุหลักคือคิวบาต้องการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ให้กับอเมริกากลางเพื่อเตรียมพร้อมกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ในปี 1999 คิวบาเปิด The Latin American Medical School (ELAM) ที่กรุงฮาวานา เมืองหลวงของคิวบา นับถึงปัจจุบันมีนักศึกษาที่ผ่านการศึกษาจากสถาบันนี้ไปกว่า 60,000 คน โดยสถาบันจะไม่เรียกเก็บเงินจากนักศึกษาที่ตั้งใจจะกลับไปทำงานในพื้นที่ทุรกันดารในประเทศของตนเอง

คิวบายังจับมือกับเวเนซุเอลาในความร่วมมือทางด้านการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุข โดยคิวบาตกลงว่าจะผลิตแพทย์ชาวเวเนซุเอลาให้ได้ 40,000 คน บุคลากรทางการแพทย์สายสนับสนุนอีก 5,000 คน รวมถึงให้ทุนการศึกษา 10,000 ทุนแก่บุคลากรทางการแพทย์ของเวเนซุเอลาได้เข้ามามีโอกาสเรียนในคิวบา โดย อูโก ชาเวซ และ ฟิเดล คาสโตร ได้ประกาศร่วมกันว่าภายในปี 2015 ทั้งสองประเทศจะร่วมมือให้ทุนสนับสนุนการผลิตแพทย์ไม่ต่ำกว่า 100,000 คนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งนโยบายดังกล่าวนอกจากจะช่วยในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของทั้งสองประเทศ ในระยะยาวบุคลากรเหล่านี้เมื่อมีตำแหน่งสูงขึ้นในประเทศเป็นระดับผู้บริหารก็ยิ่งเป็นการส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ของคิวบากับเวเนซุเอลากับประเทศต่างๆ เหล่านั้น

นโยบายการทูตด้านสาธารณสุขของคิวบายังครอบคลุมไปถึงการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในวงกว้าง เมื่อเกิดแผ่นดินไหวและแผ่นดินถล่มในนครเฉิงตู ประเทศจีน ในปี 2008 คิวบาได้ส่งบุคลากรทางการแพทย์ไปกว่า 35 คน รวมถึงเวชภัณฑ์กว่า 4.5 ตันเพื่อไปช่วยกอบกู้วิกฤดังกล่าว ในปี 2007 เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในชวา ประเทศอินโดนีเซีย คิวบาได้ส่งทีมแพทย์ไป 135 คน และเวชภัณฑ์ต่างๆ เพื่อไปจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้น 2 แห่งในที่เกิดเหตุ คิวบายังส่งทีมแพทย์ไปกว่า 2,500 คนเพื่อสร้างโรงพยาบาลสนามรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปากีสถานเมื่อปี 2005 และเมื่อเกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิในปี 2004 คิวบาได้ส่งแพทย์ไปยังอินโดนีเซียและศรีลังกาเพื่อช่วยในภัยพิบัติดังกล่าว และยังคงทีมแพทย์ไว้เพื่อทำหน้าที่ฟื้นฟูจิตใจให้กับประชาชนในประเทศดังกล่าวอีกระยะหนึ่งด้วย

แม้กระทั่งเมื่อเกิดพายุเฮอร์ริเคน Katrina ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา คิวบาได้เสนอตัวที่จะส่งทีมแพทย์กว่า 1,500 คน ไปช่วยเหลือสหรัฐอเมริกาก่อนที่จะถูกปฏิเสธโดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช การยื่นข้อเสนอของคิวบาดังกล่าวสร้างความประทับใจให้กับทั่วโลก เพราะเป็นการยื่นมือให้ความช่วยเหลือจากประเทศที่เล็กกว่า ด้อยกว่า เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา กับศัตรูที่เป็นอภิมหาอำนาจทางการเมืองโลก

อย่างไรก็ดี มีข้อท้วงติงในนโยบายการทูตด้านสาธารณสุขของคิวบาว่า ในปัจจุบันนั้นคิวบาเน้นการหาผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินจากประเทศที่คิวบาส่งทีมสาธารณสุขเข้าไปช่วย รวมถึงเป็นการสร้างภาพเพื่อให้เกิดการมองข้ามปัญหาเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองที่ยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากคิวบายังปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนบุคลากรทางสาธารณสุขที่ให้บริการในคิวบาเองว่าจะลดลงไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนคิวบาที่เคยได้รับการปฏิบัติอย่างใกล้ชิดและทั่วถึงจากบริการดังกล่าวในอดีต เนื่องจากปัจจุบันมีบุคลากรสาธารณสุขเป็นจำนวนมากที่ขันอาสาจะไปทำงานยังต่างประเทศ เนื่องจากได้รับผลตอบแทนไม่ว่าจะเป็นในรูปตัวเงินค่าจ้างที่สูงกว่าหรือโอกาสในหาสิ่งของที่หาไม่ได้ในคิวบา เช่น ตู้เย็น เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ส่งกลับมาให้ญาติพี่น้องของตนในคิวบา รวมทั้งโอกาสในการได้พัฒนาทักษะและความรู้ในการทำงานกับทีมแพทย์ต่างชาติ

นอกจากนี้ยังมีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนไม่น้อยที่ใช้โอกาสในการไปทำงานต่างประเทศขอลี้ภัยทางการเมือง โดยมีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่สหรัฐอเมริกา มีตัวเลขสถิติชี้ให้เห็นว่าระหว่างปี 2006 ถึง 2016 มีแพทย์ชาวคิวบากว่า 6,000 คนขอลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save