fbpx
ความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงในทะเลจีนใต้ : หมากสำคัญในเกมมหาอำนาจ จีน-สหรัฐฯ

ความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงในทะเลจีนใต้ : หมากสำคัญในเกมมหาอำนาจ จีน-สหรัฐฯ

ธีวินท์ สุพุทธิกุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ผู้เชี่ยวชาญจีน Thomas J. Christensen เสนอข้อคิดไว้ไม่นานมานี้ว่า ในการแข่งขันเอาชนะกันเชิงอำนาจแบบไม่ถึงขนาดห้ำหั่นกันในสงครามซึ่งหน้า “ดุลอำนาจทางทหารอาจไม่ใช่ตัวตัดสินสำคัญที่สุด ปัจจัยที่ดูจะมีบทบาทมากกว่าอาจมีทั้งภูมิศาสตร์ การเมือง จิตวิทยาและการรับรู้” ข้อคิดนี้เน้นย้ำความเข้าใจร่วมกันในหมู่นักยุทธศาสตร์ที่มีมานานว่า อำนาจในฐานะขุมกำลังและแสนยานุภาพในกำมือนั้น หาใช่ตัวกำหนดความสามารถที่จะบงการผลลัพธ์ให้เกิดดั่งใจ หรือทำให้ใครประพฤติตามต้องการได้อย่างเด็ดขาด ยุทธศาสตร์ความมั่นคงเป็นเกมที่ต้องเล่นกับความคิดและจิตวิทยาของผู้อื่น ยิ่งในยุคที่สงครามซึ่งหน้าอาจหมายถึงความเสียหายที่ต่างฝ่ายไม่พึงปรารถนา ‘การทูตเชิงบังคับ’ ไปจนถึง ‘การป้องปราม’ เพื่อยับยั้งการคุกคามของอริ ล้วนเป็นยุทธศาสตร์บนพื้นฐาน ‘จิตวิทยาและการรับรู้’ ทั้งสิ้น

การเมืองในทะเลจีนใต้กลายเป็นหมากตัวใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกามหาอำนาจเก่าเจ้าของระเบียบ กับจีนผู้ขึ้นมาท้าชิงความเป็นใหญ่ในเกมที่มุ่งถ่วงดุลอำนาจกันอย่างเด่นชัดมากขึ้นทุกที การมองเกมการเมืองนี้ว่าเป็นหมากตัวหนึ่ง ช่วยขยายภาพกระดานการแข่งขันใหญ่ที่กำลังดำเนินไปด้วยหมากหลากหลายตัวในหลายแนวหน้า การมองเช่นนี้ยังเน้นให้เห็นนัยที่ว่า “ภูมิศาสตร์นี้ไม่ได้สำคัญด้วยตัวมันเอง” แต่สำคัญมากกว่านั้นในการเดินเกมยุทธศาสตร์แม่ (grand strategy) ในการรักษาพื้นที่อิทธิพล สถานะอำนาจ ไปจนถึงความอยู่รอดของชาติทั้งสอง

ที่ว่าทะเลจีนใต้อาจไม่ได้สำคัญในตัวมันเองนั้นหมายความว่าอย่างไร สำหรับจีนแล้ว นอกเหนือจากเป้าหมายที่จะครอบครองทรัพยากรในทะเลและใต้พื้นสมุทร ตลอดจนเขตอำนาจอธิปไตยแบบขยายที่ถูกท้าทายเสมอมา ทั้งโดยรัฐริมฝั่งหรือกระทั่งตุลาการโลกแล้ว มีอะไรที่สำคัญกว่านั้น

สำหรับสหรัฐฯ แล้ว นอกจากเส้นทางเดินเรือและอิสรภาพในการใช้น่านน้ำอย่างที่ไม่มีผู้ใดขวาง มีสิ่งที่สำคัญเหนือจากนั้นอีกหรือ จึงทำให้ทั้งสองจำต้องขับเขี้ยวกันในพื้นที่นี้ ข้อสันนิษฐานหนึ่งที่ช่วยตอบคำถามนี้ได้ดีคือ ความกังวลเรื่องความน่าเชื่อถือ (credibility) และชื่อเสียง (reputation) ของทั้งสองฝ่าย อันเป็นปัจจัยที่ส่งผลเชิงจิตวิทยาและการรับรู้ โดยถือเป็นเครื่องมือหรือทรัพยากรสำคัญในการดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์ใหญ่ในระดับโลก เพื่อคงสถานะอำนาจของตนโดยรวมเอาไว้

ความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงกลายเป็นแรงขับสำคัญในยุทธศาสตร์ทะเลจีนใต้อย่างไร และกลายเป็นหมากในยุทธศาสตร์กระดานที่ใหญ่กว่าด้วยตรรกะและหลักเหตุผลแบบไหน เป็นประเด็นที่อยากแถลงไขให้พอเห็นภาพในที่นี้

 

ทะเลจีนใต้ในทฤษฎีมหาอำนาจ

 

เมื่อมองทะเลจีนใต้เป็นหน่วยย่อยของยุทธศาสตร์และพฤติกรรมของมหาอำนาจในภาพใหญ่แล้ว ท่าทีในพื้นที่นี้อาจอธิบายด้วยข้อเสนอที่ผู้สนใจบทบาทของมหาอำนาจอาจคุ้นกันดี นั่นคือแนวคิดของ John Mearsheimer ที่ว่าเพราะโครงสร้างระหว่างประเทศกำหนดเงื่อนไขให้รัฐต่างๆ ต้องต่อสู้เอาตัวรอดให้ได้ในสภาวะไม่แน่นอน การขยายอำนาจให้มากขึ้นหากเป็นไปได้ ย่อมช่วยรับประกันความปลอดภัยได้มากกว่า ดังนั้น ถ้าการครองโลกเป็นเรื่องยากเกินไป อย่างน้อยการเป็นใหญ่ในภูมิภาคก็เป็นสิ่งพึงปรารถนา

Graham Allison เป็นผู้รู้อีกคนที่เสนอคำอธิบายในเชิงโครงสร้าง ที่บอกว่าไม่ว่าจะรัฐอำนาจไหน เมื่อตกมาอยู่ใต้ข้อจำกัดของโครงสร้างแล้ว ย่อมมีพฤติกรรมเป็นแนวเดียวกันเสมือนว่าธรรมชาติจัดสรรไว้ตายตัว Allison มองการขับเขี้ยวระหว่างจีน-สหรัฐฯ ว่าเป็นผลจากโครงสร้างที่มีรัฐอำนาจใหม่ (the rise) ขึ้นมาท้าทายรัฐใหญ่ผู้คุ้มระบบ (the rule) พฤติกรรมเช่นนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่านับแต่อดีต เขาจึงตั้งชื่อว่า ‘กับดักทูสิดิดิส’ (Thucydides trap) รัฐทั้งสองติดกับดักนี้ที่อาจนำไปสู่การใช้กำลังห้ำหั่นกัน เมื่อรัฐผงาดใหม่ไม่อาจอดกลั้นความทะเยอทะยานของตน จนกลายเป็นความผยอง ขณะที่รัฐเจ้าของระเบียบตื่นตระหนกต่อสถานะที่ถูกสั่นคลอนและท้าทาย

คำทำนายของนักคิดทั้งสองเน้นหนักปัจจัยที่มหาอำนาจใดๆ ก็ไม่อาจเลี่ยง โดยปฏิเสธถ้อยแถลงของจีนที่ว่าตนไม่คิดแสวงหาความเป็นใหญ่ มุ่งพัฒนาอย่างสันติและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อันเป็นความพิเศษจากคุณสมบัติภายใน ไม่ว่าวัฒนธรรมหรือคติแบบขงจื่อที่ทำให้จีนประพฤติตัวต่างจากมหาอำนาจที่โลกเคยมีมา

 

ผลประโยชน์เชิงรับ มาตรการเชิงรุก

 

ทั้งสองแนวคิดมีฐานคติที่ว่ารัฐโดยธรรมชาติมีแนวโน้มขยายอำนาจ และมองพฤติกรรมจีนว่าเป็นไปเพื่อแผ่อิทธิพล อีกแนวการอธิบายที่ฟังดูสอดคล้องกับสิ่งที่จีนยืนกรานมากกว่า คือมองการกระทำทั้งหมดว่าเป็นไปเพียงเพื่อรักษาเขตอธิปไตย (defensive) หาใช่จงใจขยายเขตอำนาจ (offensive) โดยอาจมองการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนเพิ่มเติม เป็นการเรียกคืนพื้นที่ที่เชื่อโดยสุจริตใจว่าตนเป็นเจ้าของ หรืออาจมองว่าจีนมี “ผลประโยชน์แก่นหลัก” (core interest) ที่ต้องปกป้อง อย่างเกาะไต้หวัน ตลอดจนเขตพรมแดนอันกว้างใหญ่ การเรียกร้องพื้นที่เกินออกไปอาจเป็นมาตรการเชิงรับ คือการสร้างฉนวน หรือ ‘เขตกันชน’ เผื่อเอาไว้ เพื่อ ‘ประกันความปลอดภัยให้ชายแดน’ (pacify periphery) อาจมองได้อีกอย่างว่าคือวิธีการ ‘โก่งราคา’ เผื่อให้ต่อรองในการเจรจา เพื่อรักษาบริเวณที่สำคัญกว่าไว้

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วย แม้แรงจูงใจเริ่มแรกของจีนอาจมุ่งเพียงดำรงสถานะเดิม แต่ตรรกะและประวัติศาสตร์โลกก็ชี้ให้เห็นว่า มาตรการเชิงรับทั้งสองก็สุ่มเสี่ยงต่อการถลำสู่การขยายดินแดนอยู่ดี กล่าวคือแนวกันชนที่ขีดเผื่อไว้คุ้มกันชายแดน เมื่อลงทุนลงแรงเข้าจับจองและพัฒนา พอเวลาผ่านไปอาจกลายสถานะเป็นชายแดนใหม่ที่ต้องปกป้อง และต้องการแนวกันชนใหม่ขยายออกไปเพิ่มเติมอีก และวงจรเช่นนี้ก็ดำเนินไปเรื่อยๆ

ในอีกแง่ พื้นที่ที่อ้างกรรมสิทธิ์เผื่อไว้ต่อรอง อาจกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่อาจต่อรองได้ เมื่อกระแสชาตินิยมค้ำคอผู้นำไม่ให้แสดงท่าทีอ่อนข้อ การสละบางส่วนในเชิงกลยุทธ์อาจถูกเข้าใจว่ารัฐบาลไม่สามารถคุ้มครองอธิปไตยและกลายเป็นพลังต่อต้านจากภายใน รัฐบาลจึงต้องยืนกรานว่า “แม้เพียงหนึ่งตารางนิ้ว ก็ไม่ยอมให้ใครที่ไหนแตะต้อง”

เห็นได้ว่า แม้ด้วยวัตถุประสงค์ขั้นต่ำสุดคือเพื่อรักษาเขตอธิปไตย รัฐอาจติดกับดักที่ผลักให้ต้องแสดงท่าทีแข็งกร้าวและคงความหนักแน่นในการปกป้องพื้นที่ที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์เผื่อเอาไว้ แม้ต้องแลกด้วยการเสียภาพลักษณ์การเป็นรัฐพัฒนาอย่างสันติ และทำลายบรรยากาศไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐด้วยกัน แนวโน้มเหล่านี้ยิ่งหลีกเลี่ยงได้ยาก เมื่อพิจารณาเข้ากับตัวแปรสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ที่ได้โปรยไว้แต่เริ่มแรก นั่นคือความกังวลต่อผลกระทบเชิงจิตวิทยาและการรับรู้ ในแง่ความน่าเชื่อถือและชื่อเสียง

 

จิตวิทยาของจีน และปัญหาทะเลจีนใต้

 

ความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงเป็นตัวแปรที่ทำให้การแสดงออกใดๆ ในทะเลจีนใต้ ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะการเมืองในพื้นที่ หรือกระทบเพียงชายขอบของผลประโยชน์ แต่หากบริหารสถานการณ์ไม่ดีแล้ว ปัจจัยทั้งสองอาจส่งผลเสียหายต่อยุทธศาสตร์แม่และพื้นที่ผลประโยชน์หลักได้ ไม่เพียงในกรณีของจีนแต่รวมถึงสหรัฐฯ ด้วย ปัจจัยเชิงจิตวิทยานี้ทำงานอย่างไร จึงได้มัดสองมหาอำนาจเก่าและใหม่ให้เข้ามาเผชิญหน้าในผืนน้ำแห่งนี้อย่างที่ต่างฝ่ายต่างไม่อาจอ่อนข้อ หรือยอมล่าถอยละทิ้งบทบาทออกไปจากพื้นที่โดยง่าย

ประเด็นความน่าเชื่อถือผูกรัดทะเลจีนใต้เข้ากับยุทธศาสตร์ใหญ่ของจีนที่ชัดเจนว่า มุ่งพิทักษ์เขตอธิปไตยและดินแดน ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะทะเลจีนใต้ จีนเผชิญปัญหาอธิปไตยจากการเป็นรัฐที่มีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อยที่กระจุกตัวในหลายพื้นที่แม้จะได้สถานะ ‘ปกครองตนเอง’ (autonomous regions) พร้อมสิทธิพิเศษบางอย่าง แต่ความสัมพันธ์กับรัฐบาลกลางก็ไม่สู้ดีนัก เสียงเรียกร้องอิสระในการปกครองปะปนกับความต้องการแบ่งแยกดินแดน เช่นกรณีทิเบตและซินเจียง

จีนยังเผชิญปัญหาพื้นที่ที่เติบโตแยกส่วนจากแผ่นดินใหญ่ ไม่ว่าฮ่องกงหรือไต้หวัน อันเป็นผลพวงจากยุคสมัยที่พรรคคอมมิวนิสต์เรียกขานว่า ‘ร้อยปีแห่งความอัปยศ’ พัฒนาการประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าในสองพื้นที่ทำให้มีแนวการปกครองเหินห่างจากระบอบที่พบเห็นในจีน เกิดการบ่มเพาะชาตินิยมที่ยึดอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกันเป็นอัตลักษณ์และหลักคุณค่า (civic nationalism) และต่อต้านการเข้ามาครอบงำของจีน

น่าสังเกตว่าแม้รัฐบาลจีนจะอ้างแนวทางประนีประนอมและอาศัยไม้นวมเพื่อแก้ปัญหา เช่น ใช้การพัฒนาและความมั่งคั่งโน้มน้าวจูงใจ แต่ก็ไม่อ้อมค้อมที่จะใช้ไม้แข็งอย่างมาตรการ ‘ทุบให้หนัก’ (strike hard) ในซินเจียง จนถึงการขู่ใช้กำลังหากไต้หวันประกาศเอกราช จุดยืนของจีนคือแข็งกร้าวและไม่ยอมอ่อนข้อ ในทะเลจีนใต้ก็เช่นกัน แม้จีนมักอ้างว่าการก่อสร้างในพื้นที่ยังประโยชน์สาธารณะแก่นานาประเทศ แต่ในหลายกรณีจีนก็ใช้กำลังข่มขู่ชาติที่ท้าทายอำนาจตน นานาชาติกำลังมองว่าจีนปรับแปลงทะเลจีนใต้จนกลายเป็น ‘พื้นที่ทหาร’ (militarize) แต่จีนก็ไม่เคยละทิ้งโวหารที่ว่า “ทะเลจีนใต้คือเขตอธิปไตยของตน” อันมีนัยชัดเจนว่า จีนเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว

 

หนึ่งชิ้นโดมิโน่ที่อาจล้มในปมปัญหาความมั่นคง

 

จีนถอยจากจุดยืนนี้ได้ยากเพราะจะส่งผลต่อ ‘ความน่าเชื่อถือ’ ในแง่ความเด็ดขาดต่อประเด็นอธิปไตย เป็นไปได้สูงว่าจีนกังวลว่าท่าทีประนีประนอม จะส่งสัญญาณทางจิตวิทยา กล่าวคือเมื่อแรงกดดันยกระดับถึงจุดหนึ่งจะทำให้ผู้นำยอมโอนอ่อนผ่อนตาม ภาวะเช่นนี้อาจส่งผลไม่พึงประสงค์ 2 ทาง

ทางแรก ขณะที่การยอมถอยอาจช่วยลดข้อพิพาท แต่ก็อาจเสี่ยงทำให้ปัญหาบานปลาย หากทำให้อีกฝ่ายเข้าใจว่ามีโอกาสเรียกร้องได้สำเร็จ จึงอาจอยากเรียกร้องให้ได้มากขึ้น แบบ ‘ได้คืบจะเอาศอก’ เป็นผลร้ายของการตกหลุมพลางทางนโยบายที่รู้จักกันว่า ‘appeasement’ นั่นคือการยินยอมต่อข้อเรียกร้องกลับกลายเป็นส่งเสริมให้อีกฝ่ายยิ่งฮึกเหิมทะเยอทะยาน โดยเข้าใจว่าการยอมตามสะท้อนถึงความอ่อนแอและไม่กล้าเอาจริง การที่จีนอ่อนข้อแก่ชาติอื่นในทะเลจีนใต้หรืออเมริกาแม้แต่น้อย จึงอาจยิ่งทำให้เกิดข้อเรียกร้องอื่นๆ ต่อเนื่องตามมา

ในอีกทางหนึ่ง ตัวแปรจิตวิทยาอาจสร้างปัญหาที่กระทบเป็นทอดๆ เสมือน ‘โดมิโน่’ ที่ล้มต่อกันไปถึงส่วนอื่นและพื้นที่สำคัญ ตรรกะคือการยอมถอยในกรณีเฉพาะอย่างทะเลจีนใต้ อาจกลายเป็นการสร้าง ‘แบบอย่าง’ (precedent) แก่พื้นที่อ่อนไหวอื่นให้เลียนแบบการเรียกร้องกดดัน ท่าทีที่โอนอ่อนในกรณีหนึ่งอาจถูกตีความหรือเข้าใจว่าสะท้อน ‘บุคลิก’ ของรัฐหรือผู้นำในการจัดการปัญหา ท่าทีอ่อนแอไม่แน่วแน่อาจสั่งสมเป็น ‘ชื่อเสียง’ (reputation) ที่ส่งผลต่อการคำนวนยุทธวิธีของอีกฝ่าย

การผ่อนคลายความแข็งกร้าวและเด็ดขาด จึงอาจส่งผลต่อยุทธศาสตร์ใหญ่ในการปกป้องบูรณภาพทางดินแดนโดยรวมของจีน เมื่อชื่อเสียงลักษณะนี้กระตุ้นความฮึกเหิมให้กับกลุ่มผู้เรียกร้องในพื้นที่อ่อนไหวอื่นให้ลุกฮือ และท้าทายรัฐบาลเพื่อบรรลุสิ่งที่ตนต้องการบ้าง ความกังวลของจีนต่อสถานการณ์และวิกฤตที่อาจแผ่ขยายไปทั่วเช่นนี้ ทำให้การประนีประนอมในข้อพิพาทเป็นเรื่องยาก

 

ทะเลจีนใต้ในยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐฯ

 

เมื่อพิจารณาในแง่นี้ สหรัฐฯ ดูจะมีส่วนได้ส่วนเสียในทะเลจีนใต้และการแสดงบทบาทในพื้นที่นี้ไม่น้อยไปกว่ากัน หรือมากกว่าจีนเสียด้วยซ้ำ ประการแรก เพราะสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องปกป้องด้วยจิตวิทยา คือสถานะผู้นำและผลประโยชน์ระดับโลก ประการที่สอง เพราะสหรัฐฯ ต้องคำนึงไม่เพียงการรับรู้ของคู่อริ แต่ต้องระวังผลกระทบต่อพันธมิตรที่มีอยู่มากมายกว่าจีน ประการที่สาม เพราะความเสื่อมศรัทธาและความน่าเชื่อถือจะกระทบต่อระเบียบโลกที่สหรัฐฯ พิทักษ์ปกป้องเสมอมา

แม้อาจมีผู้เถียงว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังตั้งข้อกังขาต่อบทบาทที่เป็นมาของอเมริกาในเอเชีย แต่เห็นชัดว่าการคำนึงถึงข้อกังวลข้างต้น ทำให้สหรัฐฯ ยังคงย้ำจุดยืนเชิงคุณค่าและกฎเกณฑ์สากลอย่าง ‘เสรีภาพในการเดินเรือ’ และปฏิบัติการ Freedom of Navigation Operation เพื่อแสดงว่าสหรัฐฯ เอาจริงและไม่เกรงกลัวต่อท่าทีแข็งกร้าวของจีน

สหรัฐฯ เผชิญกับการต้องพิสูจน์ความน่าเชื่อถือในหลายวาระย้อนไปตั้งแต่สมัยสงครามเย็น การแสดงให้เห็นปณิธาน ความแน่วแน่ ส่งผลให้คำพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘คำขู่’ ยังประสิทธิผลในการสกัด ยับยั้ง หรือป้องปรามพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของฝ่ายตรงข้ามไม่ให้บังเกิด ซึ่งหมายถึงการต้อง ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ เป็นบางครั้งเพื่อรักษาความน่าเกรงขาม หลายคราวที่ความลังเลใจ หรือละเลยที่จะตอบโต้ตามที่ขู่ไว้ สั่นคลอนความน่าเชื่อถือ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องแบบข้ามพ้นสถานการณ์ สถานที่และเวลา ทำให้จุดอ่อนไหวในที่ต่างๆ ของโลกที่มีพลังอำนาจของสหรัฐฯ คอยค้ำยันและสร้างสมดุลอยู่เกิดภาวะระส่ำระสาย

การที่สหรัฐฯ เมินเฉยหรือปล่อยผ่านพฤติกรรมละเมิด อาจส่งสัญญาณเชิงจิตวิทยาให้ฝ่ายตรงข้ามได้ใจ และทำให้ศัตรูในที่ต่างๆ ฮึกเหิม เมื่อหลายเหตุการณ์ผนวกเข้ากันอาจสั่งสมเป็นชื่อเสียงว่า อเมริกาก็แค่ ‘เสือกระดาษ’ ส่วนพันธมิตรหลายแห่งที่อาศัยศักยภาพและความแน่วแน่ของสหรัฐฯ รับประกันความมั่นคงของตน อาจตั้งข้อสงสัยว่าจะพึ่งสหรัฐฯ ได้สักแค่ไหน เมื่อใดที่วิกฤตเกิดขึ้นอเมริกาจะยังคงคำมั่นปกป้องรัฐตนหรือไม่ หากคำขู่ต่อศัตรูของอเมริกาด้อยความน่าเชื่อถือ ก็หมายความว่าประสิทธิภาพในการป้องปราม หรือยับยั้งการคุกคามไม่ให้เกิดแก่พันธมิตรย่อมลดลงไปด้วย นี่อาจทำให้ชาติพันธมิตรต้องทบทวนยุทธศาสตร์ของตน และหาหนทางเผื่อไว้ในกรณีถูกสหรัฐฯ ทอดทิ้ง

 

ยุทธศาสตร์ระดับโลกกับความน่าเชื่อถือและชื่อเสียง

 

นี่ช่วยไขปัญหาที่ว่าเหตุใดการนิ่งเฉยหรือไม่ยืนหยัดจัดการกับกรณีละเมิด อย่างในซีเรียหรือไครเมีย ทางฝั่งตะวันออกกลางและยุโรป จึงกระเทือนถึงพันธมิตรอย่างญี่ปุ่นและไต้หวัน ที่ต้องอาศัยพึ่งพิงความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ เสมอมา เพื่อคานอำนาจกับศัตรู และรักษาเสถียรภาพด้วยการทัดทานอริมิให้กล้าเปิดศึก

รัฐพันธมิตรวิตกว่าปัญหาของตนอาจถูกอเมริกาเมินเฉย และกังวลว่าท่าทีของสหรัฐฯ อาจส่งสัญญาณให้จีนและเกาหลีเหนือยิ่งทวีความบุ่มบ่ามกระทำตามอำเภอใจ การที่ทรัมป์ตั้งแง่ต่อบทบาทผู้นำโลกและขู่จะทบทวนคำมั่นทั้งกับ NATO และพันธมิตรในเอเชีย จึงกระทบต่อยุทธศาสตร์ของชาติพันธมิตร ทำให้รัฐเหล่านี้ต้องคิดปรับแนวทางการจัดการความมั่นคง ไม่ว่าจะด้วยการเพิ่มแสนยานุภาพให้แก่ตนเอง ตลอดจนคิดย้ายข้างเปลี่ยนฝักฝ่ายเพื่อหาที่พึ่งพิงใหม่ จึงอาจส่งผลเปลี่ยนแปลงระเบียบและเสถียรภาพที่เป็นอยู่ของภูมิภาคได้อย่างใหญ่หลวง

แต่เราก็เห็นเช่นกันว่า อเมริกาก็ไม่ได้ละทิ้งบทบาทดั้งเดิมของตนไปเสียทีเดียว แม้การส่งสัญญาณในรัฐบาลทรัมป์จะทำให้หลายฝ่ายงงงวย แต่การเน้นย้ำปณิธานและความแน่วแน่ก็ยังคงเห็นชัดในการสนับสนุนไต้หวัน กดดันจีน และปฏิบัติการในทะเลจีนใต้ เมื่อมองในแง่นี้ทะเลจีนใต้จึงกลายเป็นอีกบทพิสูจน์ความน่าเชื่อถือในความเอาจริงเอาจัง เพื่อคานอำนาจและรักษากฎเกณฑ์ ไม่ให้รัฐอำนาจไหนสามารถใช้กำลังเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่ได้โดยง่าย ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณทางจิตวิทยาให้แก่ทั้งพันธมิตรและศัตรูในกรณีและที่อื่นๆ ในโลกไปพร้อมกันด้วย

เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ จะเห็นได้ว่าทะเลจีนใต้เป็นเวทีหนึ่งที่มหาอำนาจทั้งสองตอกย้ำความน่าเชื่อถือ การเมืองและท่าทีในทะเลจีนใต้จึงมีนัยสำคัญที่ขยายไปกว่าภูมิศาสตร์ ทรัพยากรและการปกป้องอธิปไตยในพื้นที่ การคำนึงถึงการส่งสัญญาณทางจิตวิทยาและการรับรู้ ทำให้ยุทธวิธีในทะเลจีนใต้ประกอบเป็นหน่วยหนึ่งของยุทธศาสตร์ใหญ่ของมหาอำนาจทั้งสอง

เท่าที่เสนอมา ผู้อ่านอาจสังเกตได้ว่าความน่าเชื่อถือที่เน้นย้ำในเกมยุทธศาสตร์ มักเป็นไปในด้านการใช้ ‘ไม้แข็ง’ คือมุ่งเน้นการทำให้อีกฝ่ายเกรงกลัวและไม่กล้าลุกขึ้นมาท้าทาย แต่ความน่าเชื่อถืออีกแง่ที่ไม่อาจละเลยได้ และจะต้องสร้างให้เกิดสมดุลที่เหมาะสมด้วยความสำคัญไม่แพ้กัน คือความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงแห่งสัญญา ที่จะทำตนเป็นมหาอำนาจที่ไม่คุกคามหรือครอบงำตามอำเภอใจ ซึ่งจำเป็นอย่างมากในการรักษาพันธมิตร สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และผ่อนคลายความหวาดระแวงในหมู่ประชาคมรัฐ

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าในการต่อกรกันในเวทีต่างๆ ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ต่างฝ่ายต่างพากันลดความสำคัญต่อจิตวิทยาในแง่หลัง และกำลังสูญเสียความน่าเชื่อถือลักษณะนี้ไปทุกทีหรือไม่

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save