fbpx

ถอดบทเรียนสองปีกับโควิด เราทำดีแล้วหรือไม่ แล้วจะดีกว่าเดิมได้อย่างไรอีก

ล่วงเข้าปีที่สามแล้วที่ประชากรโลกอยู่ร่วมกับไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดมาตั้งแต่ต้นปี 2020 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พัฒนาสายพันธุ์สลับซับซ้อน ขณะที่มนุษยชาติเองก็หาทางป้องกันด้วยการผลิตวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากไวรัส

แน่นอนว่าเวลานี้สงครามยังไม่จบ และหากดูจากยอดรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นตกวันละสองหมื่นคน คงพออนุมานได้ว่าน่าจะกินเวลาอีกยาวนาน และประเทศไทยเองก็พยายามประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้ร่วงหล่นไปกว่าที่เป็นอยู่มาโดยตลอด ไม่ว่าจะการระดมฉีดวัคซีน, สนับสนุนให้คนมาฉีดเข็มกระตุ้นหรือการเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลสนาม แต่ใช่หรือไม่ว่าถึงที่สุดแล้ว การสู้รบดังกล่าวนั้นก็ยังมีช่องโหว่ปรากฏอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสารระหว่างรัฐต่อประชาชน, ความรวดเร็วในการดำเนินการ หรือการจัดการกระจายงานเพื่อไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องรับภารกิจอย่างหนักจนเกินขีดความสามารถ 

งานเสวนาวิชาการ ‘บทเรียนจากกระบวนการนโยบายสาธารณะ ในภาวะวิกฤตการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19’ โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ณ ห้องอินฟินิตี้ 1 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ

เสวนาวงแรก หัวข้อ ‘นโยบายการจัดการโรคโควิด-19 ในระยะที่ผ่านมาทำให้เราสูญเสียโอกาสอะไรบ้าง?: บทเรียนราคาแพงจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 กับการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย’ ชวนสรุปบทเรียนในช่วงสองปีที่ผ่านมาโดย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย, นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขและ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

สองปีที่ผ่านมาเราเรียนรู้บ้าง มีหนทางใดอีกหรือไม่ในการจะปรับปรุงแผนการดำเนินงานซึ่ง ‘ดีอยู่แล้ว’ ให้ ‘ดีกว่าเดิม’ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสงครามระลอกใหม่ที่อาจมาถึงในวันข้างหน้า

“เราทำดีแล้ว แต่สิ่งที่เราทำนั้นยังดีได้อีก”

“เราทำได้ดีแล้ว แต่สิ่งที่เราทำนั้นยังดีได้อีก” นพ.สมศักดิ์กล่าวสรุปการรับมือสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ในรอบสองปีที่ผ่านมาของไทยอย่างรวบรัด เพราะถึงที่สุดแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระดมฉีดวัคซีน, กระจายข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด ตลอดจนมาตรการต่างๆ ของรัฐนั้นยังผลให้การระบาดของโรคทุเลาลง กระทั่งเมื่อโอมิครอนซึ่งเป็นเชื้อกลายพันธุ์ถาโถมเข้าไทยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา การสาธารณสุขไทยก็ยังรับมือได้ดีอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากที่ประชากรหลายส่วนได้รับวัคซีนแล้ว

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ก็ไม่อาจมองข้ามช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยบาดแผลเมื่อสายพันธุ์เดลต้าระบาดเมื่อกลางปี 2021 ขณะที่เรายังไม่มีวัคซีนในมือมากพอจะตั้งรับการโจมตีครั้งนี้ และเพื่อจะถอดบทเรียนสำหรับการจู่โจมระลอกต่อๆ ไปของโควิด นพ.สมศักดิ์แบ่งสิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมออกเป็นสี่ประการ ดังนี้ 

“ประการแรกคือ ระบบสนับสนุนด้านความรู้ (intelligence support) ด้านการควบคุมโรค ซึ่งอันที่จริงต้องกล่าวว่าเราทำได้ดีมากแล้ว แต่ยังดีได้กว่านี้อีกเยอะ มีการวางรากฐานการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนาม (FETP) ของกรมควบคุมโรค แต่เราไม่ได้ต้องการเฉพาะคนที่ไปคุมโรค จะต้องเข้าถึงระบบความรู้ (Intelligence System) จุดที่สำคัญคือความสามารถของระบบในการสร้างความรู้” นพ.สมศักดิ์กล่าว “สิ่งที่สามารถพัฒนาและต่อยอดไปได้คือการคำนึงถึงเรื่องแล็บวิจัย เดิมทีประเทศไทยไม่ค่อยพิจารณาว่าผลการวิจัยและการทดลองจากแล็บนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสอบสวนโรค ซึ่งเราก็พยายามพัฒนามาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะพอเกิดโควิดขึ้น เรามีแล็บทางจีโนมิกส์ และโมเลกุล (Genomics and molecular labs) ที่รับลูกได้ทันการณ์ แต่ยังทำให้ดีขึ้นได้อีกมาก”

“สิ่งที่เราต้องคำนึงคือ โควิดนั้นเป็นโรคที่ใหม่มาก ทั้งยังมีการพัฒนาสายพันธุ์ตลอดเวลา จึงยังไม่มีใครมี ‘ความรู้’ แบบจริงๆ ว่าควรรับมืออย่างไร” 

“และการที่โควิดไม่มีแนวทางในการรับมือที่แท้จริงเช่นนี้เอง เราต้องใช้วิธีการสร้างความรู้แบบใหม่ (new ways of intelligence generation) เช่น การสร้างแบบจำลอง (modelling) ต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์โควิด หาทางรับมือให้ได้ แม้ในแบบจำลองที่ยังไม่แม่นยำก็ยังเป็นประโยชน์ต่อการจัดการได้ นอกจากนี้ ช่วงโควิดก็ยังมีความรู้ในระดับโลก (global intelligence) เกิดขึ้นเยอะมาก ประเทศไทยสามารถย่อย สังเคราะห์และทำแบบจำลองขึ้นมาประยุกต์ใช้ได้มากแค่ไหน เห็นได้ชัดที่สุดคือความรู้เรื่องวัคซีน

สำหรับประการที่สอง นพ.สมศักดิ์กล่าวว่าคือ กลไกในการตัดสินใจหรือการอภิบาล (decision-making mechanism หรือ governing mechanism) ประเทศไทยมี พ.ร.บ. โรคติดต่อ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการตัดสินใจและดำเนินการได้ เช่น สามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลบางอย่างเพื่อการควบคุมโรคได้ แต่สำหรับโควิดนั้นไม่ใช่เรื่องของสาธารณสุขเท่านั้น ยังมีเรื่องของเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เราต้องกลับมาตั้งคำถามต่อกลไกที่มี ว่าจะสามารถผสมผสานด้านสุขภาพรวมกับด้านเศรษฐกิจได้อย่างไร คือเอา intelligence ทั้ง 2 ด้านมาชนกัน ซึ่งจะต้องพิจารณาดูต่อไปว่าจะเป็นการแก้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว หรือต้องตั้งใหม่อย่าง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

“ประการที่สามคือ ระบบบริการสุขภาพ (healthcare system) ที่มีการพัฒนามาดีมาก แต่โควิดช่วยยืนยันว่ายังดีกว่านี้ได้อีกเยอะ” นพ.สมศักดิ์กล่าว เช่น ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีเงื่อนไขที่ผู้เข้าระบบต้องเป็นคนไทย สัญชาติไทยเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาเมื่อต้องควบคุมโรค โดยเห็นได้ชัดจากกรณีคลัสเตอร์แรงงานข้ามชาติซึ่งไม่ถูกนับรวมอยู่ในประกันสุขภาพ ทำให้เกิดความยากลำบากในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในเวลาต่อมา 

“นอกจากนี้ เรายังต้องเชื่อมต่อการทำงานของสถานพยาบาลทั้งเล็กและใหญ่ (ขั้นปฐมภูมิถึงตติยภูมิ) เพื่อให้การรับมือโรคเป็นไปตามความสามารถของสถานพยาบาลแต่ละระดับ ไม่เช่นนั้นโรงพยาบาลใหญ่จะต้องรักษาผู้ป่วยอาการเบา ขณะที่โรงพยาบาลขนาดเล็กต้องรับมือกับผู้มีอาการรุนแรงแล้วไม่สามารถส่งต่อได้ 

และประการสุดท้ายที่นพ.สมศักดิ์ทิ้งไว้คือ การวิจัย (research) ที่เรามีระบบใหม่ ๆ เข้ามา เช่น การวิจัยด้านจีโนมิกส์ (Genomics) ที่ประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทยพอจะมีความสามารถในการทำแล็บ แต่การนำความรู้จากการวิจัยประเภทนี้มาใช้มีความซับซ้อนมาก สิ่งเหล่านี้ควรจะเชื่อมต่อถึงนโยบายได้แค่ไหนเพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ทั้งการควบคุมโรคและด้านการแพทย์สาขาอื่น 

ในภาวะฉุกเฉิน สิ่งที่จำเป็นคือความเร็ว

นพ.ทวีทรัพย์ชี้ว่า จากปัญหาของการระบาดและการมีระบบการทำงานขนาดใหญ่ ทำให้สิ่งที่ต้อองปรับปรุงคือเรื่องความเร็ว เพราะเมื่อตกอยู่ในสภาวะฉุกเฉินนั้น สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือความเร็ว ไม่ใช่เรื่องของความแม่นยำหรือความถูกต้องสมบูรณ์แบบ

“ดังนั้นแล้ว ทั้งหมดนี้จึงขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้ข้อมูลในมือซึ่งเป็นข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์ในการตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะให้เกิดกระบวนการสนับสนุนทางวิชาการซึ่งมีหลายสาขา ได้สังเคราะห์ ผลิตชุดความรู้และเผยแพร่ความรู้แก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อหาคำตอบต่อคำถามเรื่องโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต คิดว่าส่วนนี้เป็นส่วนที่ท้าทายและสมควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

“นอกจากนี้ สาเหตุที่เรารับมือกับโควิดได้ดีนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนทางสุขภาพในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนกับการศึกษาด้านระบาดวิทยา ซึ่งเราได้สร้าง epidemic intelligence และนักระบาดวิทยาภาคสนาม (FETP) ขึ้นมาตั้งแต่ปี 1980 จนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังเป็นปริมาณที่รองรับกับโรคอุบัติใหม่ๆ ซึ่งเต็มไปด้วยความผันผวนไม่ได้ เนื่องจากโรคที่อุบัติใหม่นั้นมีการระบาดปริมาณมหาศาล” นพ.ทวีทรัพย์กล่าว

โดยนพ.ทวีทรัพย์ชี้ว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยรับมือกับการระบาดของโควิดในระยะแรกได้ดีเนื่องจากยังมีจำนวนเคสไม่มากนัก แต่เมื่อเจอระลอกต่อๆ มาเราก็รับมือได้ยากขึ้น แสดงให้เห็นว่าการลงทุนด้านสุขภาพ ด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะในด้านระบาดวิทยาหรือการแพทย์ ตลอดจนสาธารณสุขชุมชนของไทยนั้นยังไม่ดีนัก

“แม้ว่าประเทศไทยจะมีระบบสุขภาพที่เราภูมิใจมาก ตั้งแต่ระดับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไปจนถึงสถานพยาบาลขั้นตติยภูมิที่มีศักยภาพสูงมาก อสม. มีความเข้มแข็งและทำงานอย่างได้ผลในภาคชนบททุกจังหวัด เว้นแต่ในเขตเมืองใหญ่ อย่างเช่นกรุงเทพฯ ที่เคยมองว่าระบบสุขภาพมีความสมบูรณ์ มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่จำนวนมาก และมีอาสาสมัครชุมชน (อสส.) แต่ปัญหาคือมีพื้นที่หนาแน่นสูงจำนวนมาก เป็นแหล่งชุมชน ตลาด สลัม ตึกแถวหรือสำนักงานขนาดใหญ่ที่มีพนักงานอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันจำนวนหลายหมื่นคน ทำให้ดูแลได้ไม่ทั่วถึง ดังนั้น สิ่งที่เราควรพัฒนาในระดับต่อไปคือระบบสาธารณสุขในเขตเมืองใหญ่เพื่อเตรียมรับมือกับการระบาดในอนาคต 

“สุดท้าย สิ่งที่เราเรียนรู้จากการจัดการในสถานการณ์ฉุกเฉินคือ ที่เรารับมือกับสิ่งต่างๆ ในครั้งนี้ได้นั้นเป็นผลมาจากการลงทุนเรื่องการจัดการภาวะฉุกเฉินในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ระบบดังกล่าวนี้ต้องอาศัยเวลาเตรียมการ ต้องเป็นการลงทุนในลักษณะพิเศษ มีช่องทางบางอย่างสำหรับสภาวะฉุกเฉิน โดยเฉพาะปัญหาการระบาดขนาดใหญ่เช่นนี้ หากจะทำวิจัยตามกระบวนการขั้นตอนปกติคงไม่สามารถจัดการอะไรได้ทัน เพราะความฉุกเฉินนั้นต้องอาศัยการตัดสินใจที่รวดเร็วและพึ่งกระบวนการสื่อสารข้อมูลทางวิชาการที่นำไปสู่การตัดสินใจได้ 

“พวกเราซึ่งเป็นนักวิชาการมีจุดอ่อนคือระแวดระวังเกินไป จึงไม่กล้าเสนอมาก แต่การตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นไม่ต้องการข้อมูลที่สมบูรณ์แบบ แต่ขอให้มีข้อมูลบางอย่างออกมาเพื่อประกอบการตัดสินใจ เราจึงต้องหาสมดุลนี้ให้ได้ ผ่านการพัฒนาระบบและปรับปรุงกระบวนการต่อไป”

การดำเนินการที่ต้องยืดหยุ่นสอดรับกับความรวดเร็วของข้อมูลชุดใหม่

สำหรับ ผศ.นพ.กำธร ผู้ออกตัวว่า “ไม่มีตำแหน่งแห่งที่ที่ชัดเจนในกระบวนการจัดการเรื่องโควิด” แต่ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เห็นองค์รวมของการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศไทยอย่างครบถ้วน อันเนื่องมาจากมีคนรู้จัก -ทั้งในฐานะลูกศิษย์ รุ่นพี่และรุ่นน้อง- ในแวดวงต่างๆ ตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์ นักวิชาการในมหาวิทยาลัยและผู้คนในกระทรวง จึงสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์จากคนทำงานด้านนโยบาย และคนทำงานด้านวิชาการหลากหลายแง่มุม

“เมื่อโควิดเข้ามา ข้อมูลเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ข้อมูลที่เสนอจึงต้องฉับไวและเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาล ที่ผ่านมา ข้อมูลของเรามีความเข้มแข็งอยู่ระดับหนึ่งแม้ว่าอาจจะสะดุดเมื่อถึงขั้นต่อเชื่อมต่อกับการดำเนินนโยบาย หากแต่นั่นก็เป็นปกติของการทำงานด้านนี้อยู่แล้ว 

“ประเด็นที่ต้องสนใจคือการดำเนินงานรับข้อมูลใหม่ได้รวดเร็วพอไหม เช่น การตัดสินใจเรื่องวัคซีนของไทย ซึ่งข้อมูลทางวิชาการชี้ไปทางหนึ่ง แต่กระบวนการตัดสินใจทางนโยบายกลับไปอีกทาง นอกจากนี้ กฎระเบียบข้อจำกัดทางราชการก็ทำให้กระบวนการต่างๆ ขยับได้ยากมาก และจะยากยิ่งกว่าเมื่อหมอ พยาบาล พยายามทำตัวเป็นนักกฎหมาย กล่าวคือมาห่วงและกลัวลายลักษณ์อักษรในข้อกำหนดตลอดเวลา ทั้งที่หากใช้ความรู้ต่างๆ ที่ร่ำเรียนมาโดยไม่มีกฎระเบียบนี้ก็จะตัดสินใจได้”

อย่างไรก็ดี ผศ.นพ.กำธรชี้ว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมานั้นการตัดสินใจโดยใช้ความรู้ทางวิชาการก็มีพัฒนาการและมีการปรับตัวให้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากช่วงแรงที่มีการติดขัดในกฎระเบียบก็ลดลงในช่วงหลัง จึงสามารถดำเนินการไปได้ กระบวนการตัดสินใจสำคัญในสังคมก็ควรจะต้องปรับด้วย เช่นจริยธรรมในการวิจัย และการให้ทุนวิจัย ให้ไหลลื่นมากขึ้นและทำให้การวิจัยเรื่องโควิดไปได้รวดเร็วพอ

“อย่าลืมว่างานวิจัยก็มีหลายรูปแบบรวมทั้งแบบที่สามารถนำไปใช้งานได้ในทันทีก็มี และงานวิจัยที่มีลักษณะเป็นงานวิจัยพื้นฐานนั้นเป็นรากของงานวิจัยอื่นๆ ซึ่งก็สำคัญมากเช่นกัน เวลานี้เราสนับสนุนแต่งานวิจัยสำเร็จรูปโดยละเลยการสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานหลายอย่าง ในอนาคต เห็นว่าจำเป็นต้องมีการสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยอันจะเป็นรากขององค์ความรู้ต่างๆ ในอนาคต เพื่อเป็นฐานข้อมูลและรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดได้ในภายภาคหน้าได้มากกว่านี้” ผศ.นพ.กำธรกล่าว

นอกจากนี้ ในเชิงระบบบริการสุขภาพ หน่วยสุขภาพ เช่น อสม. จะต้องปรับบทบาทไปตามสถานการณ์ จากเดิมซึ่งทำหน้าที่ได้ดีในการดักจับคนป่วยที่เดินทางกลับบ้านเพื่อการกักกันโรคในชุมชน แต่เมื่อมีจำนวนเคสเพิ่มขึ้นมาก บทบาทหน้าที่จะต้องเปลี่ยนไปสู่การให้ความรู้พื้นฐานทางสุขภาพ (Health Literacy) เพื่อถ่ายทอดความรู้ไปสู่คนในชุมชนมากขึ้น เช่น การฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ กระบวนการนี้ยังต้องพัฒนาอีกมากโดยเฉพาะในเขตเมืองซึ่งเป็นพื้นที่อุดมคติสำหรับการแพร่ระบาด ระบบสาธารณสุขในเขตเมืองจึงเข้มแข็งขึ้นในเชิงป้องกัน

อย่ารอจนไม่เหลือทางเลือก

ดร.วิโรจน์ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา เรามักจะดีใจเมื่อองค์กรต่างประเทศให้คะแนนการรับมือโควิดของเราว่าดีมาก แต่การประเมินขององค์กรต่างประเทศเหล่านี้ก็ทำได้หยาบๆ เพราะการเทียบเคียงระหว่างประเทศนั้นทำได้ยาก เมื่อมองดูประเทศไทยจริงๆ แม้จะเห็นว่าเราใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นตามความรุนแรงใน 4-5 ระลอกที่ผ่านมา แต่เราก็ยังทำคล้ายๆ เดิมอยู่ในหลักการพื้นฐาน 

“สังเกตว่าสิ่งที่เราทำได้ดีก็มักมีพื้้นฐานดีอยู่แล้ว เช่น วัคซีนที่อาจได้ช้าแต่เมื่อมาแล้วคนก็ฉีด, การติดตามผู้ระบาดในชุมชน รวมทั้งการร่วมมือของประชาชนที่ได้รับการร้องขอให้ตั้งการ์ดเรื่อยๆ ทั้งที่บางครั้งก็เป็นการร้องขอที่ไม่มีการสนับสนุนทางวิชาการหนักแน่นนัก”

เรื่องพื้นฐานที่เราเคยมีบางเรื่องได้ยกระดับขึ้นค่อนข้างชัดเจน เช่น ศักยภาพการวิจัยด้านจีโนมิกส์ การตรวจสายพันธุ์เชื้อไวรัส ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากอดีต แต่เรื่องที่พื้นฐานเดิมไม่แน่น ก็มักจะไม่สำเร็จเร็วอย่างที่หวัง เช่นวัคซีนใน 4 แพลตฟอร์มที่ต้องเผชิญอุปสรรคกันทั้งหมด ตลอดจนการเปลี่ยนวิธีการทำงานและการตัดสินใจใหม่ที่ยังปรับตัวได้น้อย

“สิ่งที่เราต้องปรับปรุงเป็นลำดับต่อไปคือกระบวนการที่จะนำไปสู่การตัดสินใจ ที่ผ่านมา เรามักขยับได้ยากและค่อนข้างช้า หลายครั้งเราต้องรอ รอจนไม่เหลือทางเลือก จนต้องประกาศมาตรการอย่างปุบปับ บางครั้งการที่เรารอทำให้เราต้องเลือกในสิ่งที่สวนทางกับหลักการที่เคยประกาศ เช่น บอกว่าต้องรอวัคซีนที่ได้รับการรองรับแล้วว่าปลอดภัยเสียก่อน ให้ต่างชาติฉีดไปก่อน แต่ที่สุดเราต้องหันมาใช้วัคซีนที่องค์กรอนามัยโลก (WHO) ไม่รับรองเป็นตัวแรก ซึ่งเราอาจได้วัคซีนน้อยและช้ายิ่งกว่านี้หากภาคเอกชนไม่ผลักดัน”

ดร.วิโรจน์ยังเสริมในแง่มุมที่ไทยไม่ได้ปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาเรื้อรัง เช่น ระบบ ศบค. ที่มีอำนาจตามพ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เราไม่อาจอุดช่องโหว่ทางชายแดน ไม่ว่าจะเรื่องการข้ามแดนผิดกฎหมายหรือธุรกิจใต้ดินต่างๆ เช่น บ่อน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของบางคลัสเตอร์ ซึ่งรวมถึงปัญหาที่มีการถอดบทเรียนน้อยเกินไป เช่น การทำการกักตัวควบคุมโรคที่บ้านและชุมชน ซึ่งเมื่อการแพร่ระบาดลดลงก็พักไป จนเมื่อเกิดระลอกใหม่ขึ้นก็คล้ายกับว่าเราต้องเริ่มต้นใหม่ ซึ่งยิ่งยากเมื่อโอมิครอนทำให้มีผู้ติดเชื้อมากยิ่งขึ้น

ดร.วิโรจน์ยังเสนอว่าเครื่องมือหรือตัวชี้วัดสำหรับการตัดสินใจเชิงนโยบายยังขาดไปหรือคุณภาพยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก เช่น การวัดการเสียชีวิตด้วยการตายส่วนเกิน (Excess Death) อาจให้ค่าที่สูงเกินไป และยอดการเสียชีวิตจากวัคซีนไม่ยอมรับการเสียชีวิตที่วัคซีนอาจเป็นปัจจัยร่วมออกเกือบทั้งหมด

ทั้งนี้ การดำเนินการเรื่องโควิดนั้นก็ส่งผลทางอ้อมต่อประเทศ ทั้งรัฐบาลและระบบสุขภาพองค์รวม ผ่านการกู้เงินเพิ่มซึ่งภาระหนี้ก็ส่งผลให้โครงการอื่นๆ ของรัฐนอกเหนือจากเรื่องสุขภาพลดน้อยลงไป ขณะที่ตัวโควิดเองนั้นเป็น disruption หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง พร้อมกันนั้นมันก็ได้สร้าง disruption ในมิติอื่นๆ ของสังคมด้วย เห็นได้ชัดจากประเด็นการท่องเที่ยว เวลานี้หลายประเทศเห็นแล้วว่าการจัดประชุมทางไกลร่วมกันนั้นอาจได้ผลเช่นเดียวกับการบินข้ามประเทศเพื่อมาประชุม แต่ประหยัดกว่ามาก ยังผลให้การเดินทางเพื่อประชุมต่างๆ ของแต่ละประเทศลดลงซึ่งส่งผลต่อรายได้การท่องเที่ยวของไทยด้วย สำหรับผลกระทบทางตรง เวลานี้เราไม่อาจรู้หรือคาดเดาได้ว่า burden of long covid หรือผลกระทบในระยะยาวจากโควิดนั้นจะเป็นอย่างไร ผู้ติดเชื้อในเวลานี้จะยังมีอาการแทรกซ้อนใดหรือไม่

“สำหรับเรื่องการออกแบบระบบเพื่อรับมือภาวะวิกฤตในอนาคต ที่ผ่านมาเราใช้ระบบรวมศูนย์อำนาจที่ปรับมาตรการได้รวดเร็ว แต่เป็นแบบตั้งรับเป็นหลัก มีการออกประกาศอย่างปุบปับ ทำให้หลายคนเตรียมมาตรการรองรับไม่ทัน ข้อเสนอใหม่ที่ต่างจากเดิม เช่น มาตรการเยียวยาที่ช่วยควบคุมโรคในชุมชนรายได้น้อย จะผลักดันได้ยาก ขณะที่มาตรการตั้งคณะกรรมการมาดูแลกรุงเทพและปริมณฑลได้รับการตอบสนองและตั้งขึ้นมาจำนวน 3 ชุด”

ดร.วิโรจน์ตั้งข้อคำถามต่อหน่วยงานที่มีโครงสร้างใหม่ อย่าง ศบค. ซึ่งยังใช้ระบบคณะกรรมการค่อนข้างมากนี้ ช่วยให้ทำงานได้เร็ว ครอบคลุม หรือมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมจริงหรือไม่ รวมทั้งเมื่อเกิดการรวบอำนาจตัดสินใจมาไว้ที่ ศบค. แล้วจะก่อให้เกิดเกียร์ว่างในหน่วยงานที่รับผิดชอบเดิมขนาดไหน 

ทั้งนี้ ดร.วิโรจน์เสนอให้ไทยมีหน่วยงานด้านวิชาการและการควบคุมโรคที่มีการติดตามสถานการณ์เป็นงานหลักตลอดเวลาและมีกลไกอัตโนมัติในการยกระดับการสั่งการตามความรุนแรงของสถานการณ์ คล้ายคลึงกับกลไกตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อที่กำลังมีการแก้ไขกันอยู่ ที่สำคัญคือไม่ใช่การเริ่มต้นใหม่โดยใช้หน่วยงานที่ไม่ได้ทำงานด้านนี้มาก่อน เช่นการนำสภาความมั่นคงแห่งชาติเข้ามาเป็นแกนกลางในการบริหาร ศบค.

“ในที่สุดแล้ว ในระบบการเมืองแบบเลือกตั้ง บทบาทของฝ่ายการเมืองก็ยังส่งผลต่อการดำเนินการด้านสาธารณสุขเสมอ แต่หากเรามีระบบทางการเมืองที่รัดกุม การตัดสินใจแย่ๆ จากรัฐบาลก็จะเกิดขึ้นได้ยาก เป็นต้นว่า ถ้าเรามีระบบวิชาการที่เข้มแข็ง รัฐบาลจะเสนออะไรออกนอกลู่นอกทางก็ยากขึ้นมาระดับหนึ่ง” ดร.วิโรจน์กล่าว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save