fbpx

ละเมิดอำนาจศาล มิใช่ละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์

การละเมิดอำนาจศาลหรือ contempt of court ถือเป็นความผิดที่ได้รับการบัญญัติไว้ในกฎหมายของประเทศต่างๆ ในประเทศไทยก็มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลไว้ในกฎหมายไทยเช่นเดียวกัน[1] แต่บทบัญญัติและการตีความเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลในระบบกฎหมายไทยกลับมีความแตกต่างไปจากนานาอารยประเทศอย่างมาก

โดยทั่วไป ความผิดฐานละเมิดศาลมีขึ้นเพื่อคุ้มครองให้การทำหน้าที่ในการพิจารณาคดีของศาลสามารถดำเนินไปได้อย่างสงบเรียบร้อย โจทก์และจำเลยสามารถใช้สิทธิในการต่อสู้ได้อย่างเท่าเทียมในกระบวนการที่โปร่งใสและเปิดให้สาธารณะสามารถเข้ารับฟังได้

หากเมื่อใดที่มีการขัดขวางอันทำการกระบวนการดังกล่าวไม่อาจดำเนินต่อไปได้ หรืออาจพอเป็นไปได้แต่เห็นได้ชัดเจนว่าอาจก่อเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น กรณีเช่นนี้ศาลก็ย่อมจะมีอำนาจในการปกป้องให้กระบวนการทำงานสามารถดำเนินต่อไปได้ เช่น หากมีบุคคลตะโกนด่าพ่อล่อแม่ผู้พิพากษาในระหว่างการพิจารณาหรือการกระโดดขึ้นไปยืนบนบัลลังก์ เป็นต้น การกระทำที่เกิดขึ้นย่อมทำให้การพิจารณาคดีไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างสงบเรียบร้อยแน่นอน

ความผิดฐานละเมิดอำนาจจึงเกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายก็เพื่อเป็นการคุ้มครองการทำหน้าที่ของศาลในระหว่างการพิจารณาเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในด้านของบทบัญญัติของความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของกฎหมายไทยจะพบว่า ในส่วนนี้ได้เปิดโอกาสให้ใช้ข้อหาดังกล่าวกับบุคคลได้อย่างกว้างขวาง ‘การประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล’ ก็สามารถกลายเป็นเงื่อนไขประการหนึ่ง คำถามสำคัญก็คือ ความไม่เรียบร้อยจะมีขอบเขตเพียงใดและการประพฤติในลักษณะดังกล่าวถ้าไม่ได้เกี่ยวกับการพิจารณาในชั้นศาลแล้วจะถูกนับว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลได้หรือไม่

มีคดีจำนวนมากที่ถูกตัดสินว่าเป็นการกระทำความผิดในข้อหานี้ เช่น ผู้ถูกกล่าวหารับเป็นทนายความและรับปากว่าจะวิ่งเต้นในชั้นศาลให้และเรียกเงินเป็นค่าใช้จ่าย 200,00 บาท แต่ผู้ว่าจ้างแพ้คดีจึงได้ติดตามทวงเงินคืนบริเวณศาล 3 ครั้ง ต่อมามีการคืนเงินกันที่บริเวณโรงรถของศาล กรณีเช่นนี้ก็ “ถือเป็นส่วนหนึ่งของการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลแล้ว การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการละเมิดอำนาจศาล”[2]

กรณีใกล้เคียงกัน ผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายหน้าในการประกันตัวให้กับผู้ต้องหาและเรียกค่าใช้จ่ายเป็นค่าตอบแทนในการดำเนินการที่สูงเกินไป ถูกพิจารณาว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้แก่ผู้มีคดีความ และได้กระทำในศาลชั้นต้นจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลจึงเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล[3]

หากพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาลที่ได้เกิดขึ้นสังคมไทย จะพบว่ามีเป็นจำนวนมากที่ห่างไกลจากการขัดขวางการพิจารณาคดีในชั้นศาล ทั้งสองตัวอย่างข้างต้นล้วนแต่ไม่ได้อยู่ในห้องพิจารณา ไม่ได้มีผลกระทบต่อการพิจารณาคดีใดๆ อีกทั้งหลายคดีก็ได้แสดงให้เห็นถึงการทำให้ความผิดฐานนี้ขยายขอบเขตออกไป ไม่ว่าจะเป็นการพกพาอาวุธหรือยาเสพติดในพื้นที่ในบริเวณศาล (ไม่ใช่ในห้องพิจารณา), การทำร้ายร่างกาย แม้กระทั่งการร้องเรียนต่อผู้พิพากษาในกรณีที่เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็อาจแปรเป็นความผิดในข้อหานี้ได้

คำถามสำคัญก็คือด้วยเหตุผลใดที่ทำให้การละเมิดอำนาจในสังคมไทยมีขอบเขตที่กว้างขวางออกไปมากกว่าการขัดขวางกระบวนการพิจารณาในชั้นศาล

ในความเห็นของผู้เขียน สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือ การอธิบายถึงสถานะของผู้พิพากษาว่าเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ ‘ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์’ อันมีความหมายว่าฝ่ายตุลาการมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษและอยู่ในฐานะที่มีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ แตกต่างไปจากข้าราชการฝ่ายอื่นๆ คำอธิบายซึ่งเป็นที่ยึดถือกันมาอย่างเปิดเผยนับตั้งแต่ทศวรรษ 2510 ที่นำโดยสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็คือ “พวกเรา (หมายถึงผู้พิพากษา) ทำงานในพระปรมาภิไธย”[4] และผู้พิพากษาในยุคหลังก็ได้ป่าวประกาศถึงความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเพราะว่า “ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว”[5]

เมื่อผนวกเข้ากับกฎเกณฑ์จำนวนมาก เช่น ก่อนการเริ่มปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษานั้นจะต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาก่อนจึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ยิ่งเป็นเงื่อนไขที่เสริมให้ผู้พิพากษาเกิด ‘สำนึก’ ต่อความสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่มีความสำคัญ นำมาสู่การจัดวางสถานะของตนเองในฐานะของผู้ใช้อำนาจแทนพระมหากษัตริย์ในการใช้อำนาจตัดสินข้อพิพาทต่างๆ

ความเข้าใจข้อนี้สะท้อนออกมาในคำพิพากษาคดีละเมิดอำนาจศาลจำนวนมากซึ่งศาลจะยืนยันถึงความวิเศษในข้อนี้ ดังเมื่อมีการใช้ภาษาในบางรูปแบบแต่ศาลเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับสถานะของตนเอง เช่น เมื่อคู่ความในคดีโต้แย้งต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลโดยเชื่อว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากมีการแสวงหาประโยชน์จากการใช้อำนาจโดยมิชอบ และได้มีการระบุถึงชื่อและตำแหน่งของผู้พิพากษาอย่างชัดเจนในคำอุทธรณ์ ศาลเห็นว่าคำอุทธรณ์ของโจทก์เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

“การระบุข้อความแนบท้ายอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการก้าวร้าวและดูหมิ่นเสียดสีศาล ซึ่งกระทำการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ การยื่นฎีกาดังกล่าวต่อศาลจึงมีผลเป็นการท้าทายอำนาจศาลยุติธรรมอย่างรุนแรงแจ้งชัด”[6]

หรือในคดีอื่น

“ผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความชั้นหนึ่งได้รับการศึกษาดี เป็นนิติศาสตรมหาบัณฑิต ได้แสดงกิริยาในลักษณะโอ้อวดไม่ให้เกียรติคู่ความที่อยู่ในห้องพิจารณาและคนอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เป็นการแสดงอาการหยิ่งยโส เยาะเย้ย และเหยียดหยามศาลผู้กระทำการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ไม่สมควรที่ผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่กับโรงศาลจะพึงกระทำ”[7]

ด้วยสถานะอันเป็นพิเศษในการจัดวางฝ่ายตุลาการกับสถาบันพระมหากษัตริย์จึงทำให้ผู้พิพากษาและศาลต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นพิเศษ ผู้พิพากษาไม่ใช่แค่เป็นข้าราชการทั่วไปเหมือนข้าราชการฝ่ายอื่นๆ หากเป็นตัวแทนของอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ หากเข้าใจในแง่นี้ จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่าบริเวณพื้นที่ของศาลก็ย่อมต้องมีความศักดิ์สิทธิ์ครอบคลุมไปด้วย การละเมิดอำนาจศาลจึงได้ถูกบัญญัติและได้รับการตีความหมายให้มีความหมายที่กว้างขวางดังที่เป็นอยู่

สิ่งที่ควรต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นต่อการพิจารณาประเด็นปัญหาละเมิดอำนาจศาลก็คือ สถานะของศาลและผู้พิพากษาในสังคมประชาธิปไตยถือเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยที่มาจากประชาชน การได้รับความคุ้มครองของศาลก็ควรเป็นไปในเฉกเช่นเดียวกันกับที่ข้าราชการฝ่ายอื่นได้รับการคุ้มครอง หากจะมีลักษณะที่แตกต่างก็ต้องเป็นผลมาจากความจำเป็นเฉพาะด้านในการปฏิบัติงาน การละเมิดอำนาจจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองก็เพื่อทำให้การพิจารณาคดีสามารถเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยมิใช่เพื่อการยกย่องหรือปกป้องเกียรติยศของศาล

ฝ่ายตุลาการในสังคมไทยมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์นี้เป็นการถวายพระเกียรติที่มีมาแต่เดิม แต่ไม่ได้มีความหมายว่าฝ่ายตุลาการทำหน้าที่แทนพระองค์อย่างแท้จริง การตัดสินคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ล้วนแต่เป็นความรับผิดชอบของผู้พิพากษาแต่ละคนทั้งสิ้น ไม่อาจที่จะปฏิเสธหรือโยนไปให้บุคคลอื่นเป็นที่รับผิดชอบ

การกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาลจึงต้องเป็นการกระทำที่ขัดขวางต่อการพิจารณาคดีเป็นสำคัญ การละเมิดใดที่เกิดขึ้นต่อศาลไม่ใช่การละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อกำหนดต่างๆ ที่ขยายความออกมานอกวัตถุประสงค์ของการละเมิดอำนาจศาลก็ควรต้องปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน เพื่อทำให้ศาลกลับไปเป็นองค์กรหนึ่งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในแบบที่ควรจะเป็น

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการโปรยกระดาษ, ชุมนุมกันหน้าบริเวณศาล, การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของศาล หรือการกระทำในลักษณะอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน หากจะมีความผิดในเรื่องอื่นก็ต้องว่ากล่าวกันไปในแต่ละเรื่อง ทั้งหมดนี้ไม่ควรเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลแต่อย่างใด    


[1] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 

“ผู้ใดกระทำการอย่างใดๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

(1) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

(2) เมื่อได้มีคำร้องและได้รับอนุญาตจากศาลให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลตามมาตรา 156/1 แล้ว ปรากฏว่าได้แสดงข้อเท็จจริงหรือเสนอพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลในการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

(3) เมื่อรู้ว่าจะมีการส่งคำคู่ความหรือส่งเอกสารอื่นๆ ถึงตน แล้วจงใจไปเสียให้พ้น หรือหาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นโดยสถานอื่น

(4) ตรวจเอกสารทั้งหมด หรือฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสำนวนความ หรือคัดเอาสำเนาเอกสารเหล่านั้นไป โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 54

(5) ขัดขืนไม่มาศาล เมื่อศาลได้มีคำสั่งตามมาตรา 19 หรือมีหมายเรียกตามมาตรา 277”

[2] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2550

[3] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2552

[4] “คำอำลาของอดีตประมุขตุลาการ” บทบัณฑิตย์ เล่ม 25 ตอน 1 (มกราคม 2511) หน้า 8-9

[5] กระหึ่มเน็ต! ปัญจพล เสน่ห์สังคม “ผมเป็นผู้พิพากษาของพระเจ้าอยู่หัว” (7 สิงหาคม 2557) 

[6] คำพิพากษาฎีกาที่ 1116/2535

[7] คำพิพากษาฎีกาที่ 3720/2528

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save