fbpx
การต่อสู้ต่อรองใน Clubhouse

การต่อสู้ต่อรองใน Clubhouse

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

1

 

มีโอกาสเข้าไปร่วมวงในแอพพลิเคชันใหม่ที่ระบือลือลั่นเพราะอีลอน มัสก์ เอ่ยถึงอย่าง Clubhouse มาสองสามครั้ง ได้เห็นผู้คนสนุกสนานกับการตั้งห้องและพูดคุยสนทนากันในนั้นราวกับกำลังอยู่บนเวทีเสวนาไม่เว้นแต่ละวัน รวมทั้งเริ่มได้ยินเสียงบ่นมาบ้างว่า Clubhouse ไม่ค่อยเหมาะกับคนบ่นเท่าไหร่ ไม่ว่าจะต้องใช้เวลาเยอะ หรืออาจบางคนอาจ introvert เกินกว่าจะเข้าไปในนั้นแล้วพูด พูด และพูด

ที่จริงแล้ว Clubhouse ไม่ได้กำหนดว่าใครเข้าไปในห้องไหนแล้วจะต้องพูดเสมอไป จะอยู่เงียบๆ เพื่อฟังเฉยๆ ก็ได้ แต่บ่อยครั้งเหมือนกันที่พอเข้าไปในบางห้อง ก็อาจได้รับคำทักทายหรือกระทั่งถูกเรียกร้องให้แสดงความคิดเห็น สำหรับบางคน การอยู่ใน Clubhouse จึงเหมือนอยู่ในสนามประลองที่ต้อง ‘พร้อม’ จะนำเสนอความคิดในหัวอยู่ตลอดเวลา

จะว่าไป Clubhouse ก็ไม่ใช่สิ่งใหม่เสียทีเดียว มันคือโซเชียลมีเดียแบบหนึ่งที่ทำให้คนติดต่อสื่อสารกันได้ แต่ด้วยวิธีที่โซเชียลมีเดียอื่นๆ ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญนัก นั่นคือการสื่อสารด้วย ‘เสียง’

ยูทูปอาจให้ความสนใจภาพเคลื่อนไหวที่มีเสียงผสมอยู่ด้วย แต่จุดเน้นจริงๆ อยู่ที่การเป็นสื่อผสมระหว่างการถ่ายทำ การเห็นหน้าค่าตาและการใช้เสียง ซึ่งดูเหมือนว่าการใช้เสียงจะสำคัญรองลงไปจากเรื่องภาพ

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเฟซบุ๊กกับทวิตเตอร์ แม้ว่าสองแอพพลิเคชันนี้อาจมีทั้งภาพและเสียงอยู่ด้วย แต่เราก็รู้ดีว่าทั้งสองอย่างนี้มีฐานเป็น text-based ต้องสื่อสารระหว่างกันด้วยการพิมพ์ข้อความต่างๆ ส่งถึงกัน แม้จะมีภาพหรือมีความพยายามส่งเสริมให้ Live สดอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้ว น้ำหนักก็ยังอยู่ที่การ ‘เขียน’ อยู่ดี

ส่วนแอพฯ ยอดนิยมที่มาแรงตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้อย่าง TikTok ไม่ต้องพูดก็คงรู้ว่าเน้นไปที่ภาพ อย่างการเต้นหรือลีลาการพูดทับเสียงคนอื่น และที่สำคัญ ต้องเห็นการแสดงสีหน้าแววตาต่างๆ ด้วย จึงจะเสพแอพฯ นี้ได้สนุก

ด้วยเหตุนี้ การกำเนิดของ Clubhouse จึงเข้ามาเติมช่องว่างในโลกโซเชียลมีเดียในเรื่อง ‘วิธีการ’ ที่จะสื่อสารออกไป ซึ่งก็คือวิธีการพูด

ถ้าไปดูห้อง (ไม่ว่าจะเป็น Room หรือ Club) ในต่างประเทศ เราจะพบว่าจำนวนมาก (น่าจะราวร้อยละ 80) พูดจากันค่อนข้างจริงจังมาก ถกเถียงเรื่องนั้นเรื่องนี้กันอย่างถึงแก่นด้วยท่าทีราวกับว่าคนเหล่านั้นอยู่บนเวทีเสวนาโดยมีผู้ฟังเข้ามาฟังอยู่ด้านล่าง และอาจ ‘ยกมือ’ ขอแสดงความคิดเห็นได้ด้วย

ส่วนห้องในไทย กลุ่มคนแรกๆ ที่เริ่มเล่น (เรียกว่า Early หรือ First Adopters) คือกลุ่มคนที่ถนัดหรือชำนาญเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสาร เรื่องที่คุยกันจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับ Tech หรือ Start-up เสียมาก มีคนตั้งข้อสังเกตว่าถ้าเข้าไปดูโปรไฟล์ใน Clubhouse เราจะพบว่ามีแต่ CEO หรือไม่ก็ผู้ก่อตั้งองค์กรต่างๆ เต็มไปหมด ถ้าให้เดา เป็นไปได้ว่าน่าจะมาจากองค์กรประเภท Start-up เป็นส่วนใหญ่ และคนเหล่านี้ก็พูดคุยกันในลีลาแบบเดียวกับที่เราพบเห็นได้ในห้องต่างประเทศ เช่น คุยเรื่องการเงิน การลงทุน การทำธุรกิจ การรับมือกับลูกค้า มารยาทในการทำธุรกิจ ฯลฯ

นั่นทำให้เกิดปฏิกิริยาต้านกลับเล็กๆ จากกลุ่มคนที่เข้า Clubhouse มาภายหลัง จะเห็นว่าเริ่มมีการตั้งกลุ่มประเภท ‘มาอยู่ด้วยกันเงียบๆ’ ‘ฟังเสียงฉันอาบน้ำ’ ‘กลับบ้านด้วยกัน’ ‘เอาแมวมาอวดกัน’ หรือแม้กระทั่งมีบางคนปรารภว่าขอตั้งกลุ่ม ‘ด่า’ อย่างเดียวได้ไหม เพราะแต่ละกลุ่มที่เห็นมีท่าทีจริงจังเสียเหลือเกิน อยากได้กลุ่มที่เล่าเรื่องสัพเพเหระสนุกๆ บ้าง

แต่ Clubhouse ยังอยู่ในช่วงแรกเริ่มมาก จึงยังคาดเดาไม่ได้แน่ชัดว่าห้องแบบไหนจะ ‘มาแรง’ มากกว่ากันระหว่างห้องจริงจังกับห้องสนุกๆ แต่ถ้าดูจากการจุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์ม เห็นได้ชัดเลยว่า Clubhouse สร้างขึ้นมาด้วยเจตนาจะให้คนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วยการ ‘พูด’ แต่ถ้าคลื่นเสียงที่ส่งแหวกฝ่าอากาศออกมาไม่ได้เป็นคลื่นเสียงที่สมองสามารถตีความออกมาเป็นความคิดหรือตัวอักษรในหัวได้ ก็เป็นไปได้ที่คนจะหันไปพึ่งพิงแพลตฟอร์มอื่นที่ทำให้ ‘เห็นภาพ’ ได้ชัดมากกว่า อย่างการฟังเสียงแมวของคนอื่นอาจไม่บันเทิงใจเท่าการได้เห็นภาพ (และฟังเสียง) แมวในยูทูป เป็นต้น

Clubhouse ยังมีข้อเสียอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าหากจะติดตามความเป็นไปในห้องไหน ก็ต้องหาเวลาว่างให้ตรงกับห้องนั้นเพื่อเข้าไปฟังและการสนทนาอาจกินเวลายาวนานสองสามชั่วโมงก็ได้ (บางห้องอยู่ยงคงกระพันนานยาวถึงสามสิบสี่สิบชั่วโมงก็มี แต่ก็เป็นห้องที่มีผู้คนผลัดเปลี่ยนเวียนหน้ากันเข้ามา) ที่สำคัญคือ ถ้าพลาดแล้วก็พลาดเลย หากไม่มีใครบันทึกเสียงไว้ ก็ไม่สามารถไปติดตามภายหลังได้เหมือนการดู Live ทางยูทูปหรือเฟซบุ๊กที่ระบบยังเก็บรักษาข้อมูลเอาไว้ รวมทั้งถ้าเจ้าของข้อมูลยังเปิด public เอาไว้ ใครๆ ก็ตามดูได้เสมอ

 

2

 

Clubhouse เป็นแอพฯ ที่น่าสนใจ ถ้ามันถูกนำมาใช้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างมีอารยะจริงๆ แต่ก็อย่างที่เราเห็นในโซเชียลมีเดียอื่นๆ ที่มีมาก่อนหน้า โดยเฉพาะในทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊ก จะเห็นว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์ยุคแรกๆ มักบ่นถึง ‘ทวิตเตอร์สมัยก่อน’ ว่ามันเคยเป็นดินแดนที่ดีงาม ผู้คนทักทายกันด้วยดี

แต่ในปัจจุบัน ทวิตเตอร์กลายเป็นเหมือนดินแดนแดงเดือดที่ต้องเอาเลือดของอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตัวเองมาละเลงเท้าอยู่ตลอดเวลา เฟซบุ๊กเองก็เช่นเดียวกัน ในหลายๆ ข้อถกเถียง เราจะเห็น ‘ความแรง’ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งทั้งหมดนี้อาจต่างไปจากเจตนารมณ์ในการก่อตั้งเฟซบุ๊กขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ก็ได้

ในตอนนี้ Clubhouse ก็เหมือนทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กยุคแรกๆ ที่ผู้คนยังเจรจาพาทีกันด้วยดี อาจมีถกเถียงกันบ้างก็ด้วยวิธีการที่อารยะ ผลัดกันพูด ผลัดกันเงียบ ผลัดกันฟัง แต่คำถามก็คือ ถ้าหากว่า Clubhouse เติบโตต่อไปจนขยายวงกว้างเหมือนทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กในปัจจุบัน จะเกิดอะไรขึ้นกับมันบ้าง

ส่วนตัวชอบคิดว่า อาการ ‘ฉอด’ กันด้วยถ้อยคำแรงๆ ในทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กไม่ใช่อะไรอื่นเลยนอกจากการเผย ‘จิตใต้สำนึกร่วม’ ของผู้คนในสังคม ถ้ามองดูฉากหน้า เราอาจจะเห็นว่าคนในสังคมไทยนั้นเรียบร้อย น่ารัก ยิ้มง่าย เจอหน้ากันก็ทักทายด้วยดี แต่เราไม่มีโอกาสรู้ ‘ลึก’ ลงไปถึงก้นบึ้งความคิดของคนที่เรากำลังพบหน้าอยู่ได้เลยว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่กันแน่

แต่โซเชียลมีเดียทำหน้าที่ ‘เปิด’ ให้เราเห็นจิตใต้สำนึกร่วมเหล่านี้ด้วยการเปิดพื้นที่ให้การด่ากราดหรือใช้คำประเภทที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันนอกโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ซึ่งไม่ใช่อะไรอื่นเลยนอกจากถ้อยคำที่เต้นเร่าอยู่ภายในจิตใต้สำนึกของเราเอง และโซเชียลมีเดียก็เปิดโอกาสให้คำเหล่านั้นได้กระโดดโลดเต้นแสดงออกออกมา

การได้เห็นจิตใต้สำนึกร่วมขนาดใหญ่คลี่ตัวออกมาแบบนี้เป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจมาก เพราะทำให้เราเห็นว่า อ้อ –  สังคมไทยที่ว่ากันว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ในเปลือกนอก แท้จริงแล้วมีอะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีหรือไม่ดีในตัวของมันเอง แต่มันคือ ‘โอกาสที่จะได้เห็น’ ในสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเท่านั้น และเมื่อเห็น เราก็สามารถทำความเข้าใจกับมันได้ดีขึ้น มากขึ้น และลึกซึ้งขึ้น

แต่โซเชียลมีเดียเหล่านี้มีกลไกในการป้องกันเจ้าของจิตใต้สำนึกเหล่านั้น เช่น การใช้แอคหลุม การใช้ชื่อปลอม การเปลี่ยนแอคเคานต์ไปเรื่อยๆ ฯลฯ ซึ่งในแง่หนึ่ง แอคหลุมไม่ใช่อะไรอื่นเลย นอกจากการเซนเซอร์ในอีกรูปแบบหนึ่งคือไม่ได้เซนเซอร์ที่เนื้อหา แต่เซนเซอร์การเข้าถึงตัวเองไม่ให้คนรู้ว่าตัวเองเป็นใคร จะได้สามารถปลดปล่อยจิตใต้สำนึกนี้ออกมาได้

ทว่า Clubhouse ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะ Clubhouse ต้องลงทะเบียนด้วยเบอร์โทรศัพท์และอีเมล จึงสามารถระบุตัวตนได้ไม่ยากนัก ประกอบกับการพูดก็เป็นการแสดง ‘ตัวตน’ ของคนคนนั้น ผ่านน้ำเสียงที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละคนด้วย หลายคนจึงมองว่า Clubhouse อาจเป็นโซเชียลมีเดียที่ไม่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ toxic ด้วยการล้วงควักเอาจิตใต้สำนึกร่วมออกมาด่าว่ากัน แต่สามารถสื่อสารด้วยวิธีที่อารยะ (ซึ่งในอีกแง่หนึ่งก็คือ ใช้วิธีสื่อสารจาก superego หรือเปลือกนอกอันเป็นมารยาทสังคมร่วมที่อาจไม่ได้แสดงความรู้สึกจริงๆ ออกมาให้เห็น)

แต่ในอีกด้านหนึ่ง Clubhouse ก็เป็นแพลตฟอร์มที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้คนสื่อสารด้วย ‘เสียง’ ซึ่งหากมองในแง่การทำงานของสมองแล้ว การ ‘เปล่งเสียง’ ออกมา คือกลไกตอบสนองแรกๆ ของมนุษย์ที่ไม่ว่าจะกลัวหรือหนี เราก็มักเปล่งเสียงออกมาเสมอ รวมทั้งเสียงยังเป็นกลไกพื้นฐานในการสื่อสารด้วย เพราะเกิดเสียงก่อน ภาษาและตัวอักษรจึงตามมา ดังนั้น การสื่อสารด้วย ‘เสียง’ จึงเข้าใกล้กับการตอบสนองแบบฉับพลันทันทีมากที่สุด ซึ่งแปลว่าอาจไม่ได้ผ่านสมองส่วนที่คิดวิเคราะห์มากนัก

ขนาดการสื่อสารด้วยการพิมพ์ผ่านโซเชียลมีเดีย เรายังเห็นการทำงานของจิตใต้สำนึกร่วมมากขนาดนั้น แล้วหากเป็นเสียง เป็นไปได้ไหมที่เราจะได้เห็นอะไรที่ยิ่งขุดลึกลงไปในจิตใต้สำนึกมากขึ้นไปอีกในแบบที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อน

เป็นไปได้ไหมว่า สำหรับสังคมที่ถูกบ่มเพาะให้คุ้นชินกับการใช้จิตใต้สำนึกร่วมมาราวๆ 5-10 ปี และเข้มข้นขึ้นอย่างมากในระยะ 2-3 ปีมานี้ ความคุ้นชินที่ว่าจะบุกเข้าไป ‘ทลาย’ กรอบเชิง etiquette ที่ Clubhouse มีอยู่ได้หรือเปล่า เพราะปัจจุบันนี้ หลายคนก็ไม่หวั่นเกรงเรื่องระบุตัวตนอีกต่อไปแล้ว แอคหลุมหลายแอคก็เปิดตัวเองออกมาแล้วว่าเป็นใคร คำถามจึงคือ เป็นไปได้ไหมที่ความคุ้นชินนี้จะเกิดขึ้นกับ Clubhouse ในอนาคต

ถ้ามองในเชิงอำนาจ เราจะเห็นว่ากรอบที่ Clubhouse วางเอาไว้ก็คือกรอบแบบเวทีเสวนาที่มี etiquette สากลบางอย่างอยู่ เช่น คนฟังจะไม่ลุกขึ้นไปด่าทอถกเถียงคนที่กำลังพูดอยู่บนเวทีในทันที ต้องรอให้ถึงจังหวะพูดของตัวเองเสียก่อนจึงจะได้พูด

แต่ในสังคมที่กดคนมาเนิ่นนาน และเริ่มมีผู้คนที่เพิ่งได้รับการปลดปล่อยตัวเองออกมาผ่านการเมืองเชิงอัตลักษณ์ทั้งหลายจนรู้สึกได้ถึงอำนาจในตัวเอง รวมทั้งยังมีคนที่ยังอยากค้อมหัวอยู่ใต้โครงสร้างอำนาจแบบเก่าจนยอมพลีกายถวายศีรษะของตัวเองให้กับอำนาจเดิมและสามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อธำรงอำนาจเดิมไว้ แล้วยังมีคนแบบอื่นๆ อีกไม่น้อยที่คุ้นชินกับการระเบิดระบายอารมณ์ความรู้สึกออกมาตรงๆ คำถามก็คือ ถ้ามีการพูดคุยกันในเรื่องที่แหลมคมมากๆ จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้างกับสังคมที่ถูกกระทำจนเป็นแบบนี้

ต้องย้ำตรงนี้อีกครั้งว่าการได้เห็นจิตใต้สำนึกร่วมขนาดใหญ่คลี่ตัวออกมาใน Clubhouse ไม่ใช่เรื่องดีหรือไม่ดีในตัวของมันเอง แต่มันคือ ‘โอกาสที่จะได้เห็น’ ในสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และเมื่อเห็น เราก็สามารถทำความเข้าใจกับมันได้ดีขึ้น มากขึ้น และลึกซึ้งขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน การไม่ได้เห็นสิ่งนี้ใน Clubhouse ก็เป็นเรื่องน่าสนใจเช่นกัน เพราะแปลว่าอำนาจอีกแบบหนึ่งยังทำงานได้อยู่

ที่จริงแล้วต้องบอกว่ายังเร็วเกินไปกับการคาดเดาอะไรแบบนี้ เพราะ Clubhouse อาจนำไปสู่การปฏิสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ ขึ้นได้อีกมาก เช่นหากมีคนอยู่ใน Clubhouse มากเท่าไหร่ ห้องอาจยิ่งแยกย่อยซอยแบ่งไปตามความสนใจมากขึ้น จนอาจเกิด filter bubble และ echo chamber จำนวนมหาศาลจนคนที่เห็นต่างกันมากๆ มีโอกาสได้พบปะกันในแอพฯ น้อยลงก็เป็นได้

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเพียงข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องคอยจับตาดูต่อไปในอนาคตเท่านั้นเอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save