fbpx
สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

 

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เมื่อสีจิ้นผิงเพิ่งขึ้นรับตำแหน่งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่มีใครคาดหวังว่าเขาจะมีอำนาจอะไรมากมายนัก หลายคนในตอนนั้นเชื่อว่า การเมืองจีนยุคใหม่ซับซ้อนและมีการคานอำนาจกันภายใน จนพัฒนาเป็นการบริหารโดยหมู่คณะ หมดยุคผู้นำโชว์เดี่ยวแบบในสมัยก่อน

นอกจากนั้น ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ย่อมกดดันให้ต้องมีการเปิดกว้างทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญกว่า หลายคนเชื่อว่า ถ้าวันใดที่จีนกลับไปมีผู้นำเผด็จการเต็มใบ วันนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็คงพินาศ และเศรษฐกิจจีนก็คงพังไปด้วย

วันนี้ เรากลับพบว่าความเชื่อเหล่านี้ผิดทั้งหมด บัดนี้ทุกคนรู้ดีว่า สีจิ้นผิงได้กลายเป็นผู้นำที่มีอำนาจและมีอิทธิพลสูงสุดแบบโชว์เดี่ยว เขายังปกครองด้วยการปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองอย่างยิ่ง และกำลังจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจีนเพื่อครองตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ฉีกทิ้งธรรมเนียมปฏิบัติที่ผู้นำจีนต้องลงจากตำแหน่งหลังครบ 10 ปี แต่ถึงอย่างนั้น เขากลับเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมสูงมากจากประชาชนโดยเฉพาะคนรากหญ้า และเศรษฐกิจจีนก็ดูจะเดินหน้าต่อไปอย่างไม่สะดุด จนเริ่มเทียบชั้นมหาอำนาจ

คำถามคือ สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? และสุดท้ายเขาจะพาจีนพังกันหมดหรือไม่?

 

กลยุทธ์ยิงนัดเดียวได้นกสองตัว

 

แต่เดิมหลายคนมองว่าสีจิ้นผิงเป็นตัวเลือกจากการประนีประนอม เพราะทั้งสองค่ายใหญ่ในการเมืองจีน (ค่ายของอดีตประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน และค่ายของอดีตประธานาธิบดีหูจินเทา) ต่างนึกว่าเขาไม่น่ามีพิษสงมากนัก เพราะไม่ได้สังกัดทั้งสองค่ายโดยตรง และไม่มีพรรคพวกเป็นกลุ่มก้อนของตัวเอง

หลายคนตอนนั้นหลงนึกว่า สีจิ้นผิงขึ้นมาแล้วคงต้องเกรงใจ รับฟังและประสานประโยชน์ระหว่างสองค่ายใหญ่ แต่ที่ไหนได้ สีจิ้นผิงเข้ารับตำแหน่งไม่นาน ก็เริ่มมหกรรมปราบคนโกงด้วยความเร็วสายฟ้าแลบ เด็ดหัวตัวบิ๊กจากทั้งสองค่ายอย่างไม่เกรงใจ รู้ตัวอีกที ก็ไม่เหลือแล้วทั้งสองค่าย เหลือแต่ค่ายใหม่ของสีจิ้นผิง

นี่คือกลยุทธ์ “ยิงนัดเดียวได้นกสองตัว” คือปราบคอร์รัปชัน — ทำสิ่งนี้อย่างเดียว เกิดผลสองอย่าง คือ สลายค่ายการเมืองเก่าจนไม่เหลือ ขณะเดียวกันก็ได้ใจประชาชนไปเต็มๆ

สีจิ้นผิงใช้กลไกระบบวินัยพรรคเป็นหลัก ดังนั้น จึงจับกุมและปลดคนได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมายแบบทางการที่อาจยุ่งยากซับซ้อน จนมีหลายฝ่ายวิจารณ์ว่า เป็นการละเมิดสิทธิและมีเป้าหมายซ่อนเร้นเพื่อปราบศัตรูทางการเมือง แต่ทุกคนก็รู้กันและยอมรับว่า ที่เด็ดหัวไปแต่ละคนนั้นก็โกงกินชาติจริงๆ

การปราบคอร์รัปชันของสีจิ้นผิงยังขยายไปถึงการปลดผู้นำระดับสูงของกองทัพ สีจิ้นผิงยังประกาศปฏิรูปกองทัพ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารกองทัพใหม่ ไม่ให้กระจายมีหลายศูนย์อำนาจดังในอดีต สีจิ้นผิงเอาจนให้มั่นใจว่าตัวเขาสามารถคุมกองทัพได้เบ็ดเสร็จ

ทั้งหมดนี้ ปัญญาชนจีนอาจหวาดกลัวและเห็นว่าอันตราย แต่กลับถูกใจและได้รับความชื่นชอบจากประชาชนทั่วไปอย่างยิ่ง การดำเนินงานปราบคอร์รัปชันครั้งมโหฬาร ซึ่งมีสมาชิกพรรคถูกลงโทษทางวินัยมากกว่า 1 ล้านคน สงบเรียบร้อยอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนหนึ่งเพราะสีจิ้นผิงเลือกใช้คนเป็น คือ มอบหมายให้หวางฉีชาน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนตรงและทำงานเก่งมาก ดูแลหน่วยวินัยพรรค

 

Marketing และ Market Research ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

ถ้ามองพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีนว่าเป็นเหมือนบริษัท ก็ต้องยอมรับว่า พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนมีความเก่งกาจทั้งในเรื่อง Marketing และ Market Research

ในด้าน Marketing รัฐบาลจีนคุมสื่อและคุมสารอย่างรัดกุม สื่อมวลชนจีนเป็นกระบอกเสียงในการประชาสัมพันธ์นโยบายและผลงานของรัฐบาล ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนเองก็มีความละเอียดอ่อนในการสื่อสาร สิ่งที่แตกต่างจากรัฐบาลเผด็จการทั่วไปก็คือ รัฐบาลจีนเลือกทำตัวเป็นนักวิจารณ์ตนเอง เวลาอ่านข่าวหนังสือพิมพ์หรือคำแถลงของรัฐบาลจีน มักเริ่มต้นว่ารัฐบาลตระหนักว่ามีปัญหาใหญ่ปัญหานี้ หรือตระหนักว่าที่ผ่านมายังทำเรื่องนี้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร จากนั้นก็จะแถลงนโยบายหรือมาตรการรับมือ และสัญญาว่าจะมุ่งมั่นแก้ปัญหาต่อไปให้สำเร็จ

สีจิ้นผิงเองใช้สื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าผู้นำคนก่อนๆ เขาสื่อสารวิสัยทัศน์และภาพลักษณ์ที่ชัดเจน นั่นคือ เป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง จริงจังในการแก้ปัญหาชาติ รังเกียจคนโกง ใส่ใจชาวบ้าน และโดดเด่นในเวทีโลก

เมื่อเปรียบเทียบกับอดีตประธานาธิบดีหูจินเทาแล้ว สีจิ้นผิงเป็นผู้นำที่มีเสน่ห์ ดูมีชีวิตชีวา และเข้าถึงชาวบ้านกว่ามาก นอกจากนั้น เขายังดูสง่างามในเวทีโลกด้วย วิสัยทัศน์ของเขาก็ชัดเจน คือ กลับมาปลุกกระแสชาตินิยม ส่งสารว่าพรรคและผู้นำที่แข็งแกร่งย่อมจะพาจีนแข็งแกร่งไปด้วย (คนจีนมีแนวโน้มชอบผู้นำที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ในประวัติศาสตร์จีน จักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ล้วนเป็นจักรพรรดิที่เด็ดขาดและแข็งแกร่ง) สีจิ้นผิงยังขายฝันว่า ภายในปี ค.ศ. 2020 จะปราบความยากจนให้สิ้นซาก และภายในปี ค.ศ. 2050 จะพาจีนแข็งแกร่งในทุกด้านอย่างเต็มภาคภูมิ

ถ้าทุกวันมีแต่ข่าวดี ข่าวเด่น ข่าวความพยายามแก้ไขปัญหาชาติของสีจิ้นผิง จะไม่ให้คนจีนรากหญ้าหลงรักท่านผู้นำได้อย่างไรล่ะครับ

ส่วนในด้าน Market Research ก็คือ การรวบรวมข้อมูลความต้องการและความนิยมของประชาชน รัฐบาลจีนเป็นนักทำโพลตัวยง เพื่อดูว่าประชาชนกังวลเรื่องอะไร ไม่พอใจรัฐบาลเรื่องอะไร ซึ่งเรื่องหลักๆ ที่พบก็คือ ปัญหาคอร์รัปชัน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งสามเรื่องนี้ สีจิ้นผิงก็ให้ความมั่นใจทุกวันว่ารัฐบาลจีนจริงจังในการแก้ไขปัญหา และเอาอยู่แน่

นักรัฐศาสตร์มักมองว่า จุดบอดของระบบเผด็จการ คือการขาดกลไกรับทราบข้อมูลความต้องการของประชาชนและปัญหาของประเทศ เพราะเมื่อผู้นำสูงสุดใหญ่คับฟ้า (และมักมีอารมณ์ร้าย) ใครจะกล้ารายงานปัญหาจากเบื้องล่าง สุดท้ายปัญหาต่างๆ ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข จนลามเป็นวิกฤต ในงานวิจัยของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ศึกษาการล่มสลายของสหภาพโซเวียตก็มองว่านี่เป็นจุดอ่อนสำคัญของระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์

แต่ในปัจจุบัน พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ปรับตัวเป็นเผด็จการที่มีระบบการประมวลข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ นอกจากจะมีการสำรวจความคิดเห็นประชาชนอยู่ตลอด พร้อมกับเปิดพื้นที่ให้คนแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียเพื่อจับกระแสสังคม ยังมีการพัฒนาระบบ Big Data ประมวลข้อมูลจากประชาชน เพื่อดูสภาพเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอย

ถึงแม้นักวิเคราะห์หลายคนจะวิจารณ์ว่า การรายงานข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจหลายอย่างของรัฐบาลท้องถิ่นหรือรัฐวิสาหกิจจีนมีการบิดเบือนหรือปิดบังข้อมูล แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพของข้อมูล และพยายามพัฒนาระบบการเก็บและประมวลข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอยู่ตลอด

การประมวลข้อมูลเหล่านี้ทำให้รัฐบาลพอรู้ได้ว่าความเสี่ยงที่จะนำไปสู่วิกฤตอยู่ตรงไหนบ้าง ส่วนการควบคุมสื่อ ก็สามารถควบคุมข่าวที่ออกไป ไม่ให้มีข่าวในเชิงลบที่อาจกระทบความเชื่อมั่นของธุรกิจหรือผู้บริโภคจนลุกลามเป็นวิกฤตได้ ขณะเดียวกัน การรวบอำนาจของสีจิ้นผิง ก็ทำให้สามารถสั่งการปรับนโยบายเพื่อจัดการความเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที โดยที่รัฐบาลท้องถิ่นยิ่งต้องสนองนโยบายและไม่กล้าเข้าเกียร์ว่าง ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ความสำเร็จในการลดการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรมหนักของจีนในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

 

บทสรุป : ความเสี่ยงทางการเมืองในอนาคต

 

ข่าวตะวันตกมักเปรียบเทียบสีจิ้นผิงกับเหมาเจ๋อตง แต่สีจิ้นผิงไม่ใช่เหมาเจ๋อตง หลายคนกลัวว่า ถ้าสีจิ้นผิงซึ่งบัดนี้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ เกิดดำเนินนโยบายผิดพลาดแบบเหมาเจ๋อตง ประเทศจีนคงถึงคราวพังแน่ แต่จนบัดนี้ สีจิ้นผิงยังไม่ได้ดำเนินนโยบายอะไรที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงเลย ตรงกันข้าม นโยบายของสีจิ้นผิงล้วนเป็นนโยบายกระแสหลัก สีจิ้นผิงยังคงเดินหน้าเศรษฐกิจกลไกตลาดของจีน (ไม่มีทีท่าจะบ้ากลับไปเศรษฐกิจคอมมูนแบบเหมา) และยังเดินหน้าพาจีนเข้าสู่สมัยใหม่ (ไม่มีทีท่าจะบ้ากลับไปปฏิวัติวัฒนธรรมแบบเหมา)

การกระชับอำนาจของสีจิ้นผิง ดูจะสะท้อนเทรนด์การเมืองที่หมุนไปในทิศทางอำนาจนิยม ชาตินิยม และเผด็จการมากขึ้นทั่วโลก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีต้นทุนมนุษย์และต้นทุนเสรีภาพที่ต้องจ่าย ตัวอย่างจากจีนให้ข้อคิดว่า สำหรับผู้รักประชาธิปไตยและเสรีภาพแล้ว อย่าคิดง่ายๆ ว่าเผด็จการย่อมจะทำลายตัวเองโดยอัตโนมัติแบบในอดีต เผด็จการพันธุ์ใหม่สามารถอยู่และปักหลักได้อย่างยืนยาว แถมยังอาจจะได้รับเสียงเชียร์จากคนไม่น้อยในสังคมด้วย ในขณะเดียวกัน ประชาธิปไตยในหลายที่ทั่วโลกกลับดูล้มเหลวไม่เป็นท่า ดังนั้น คนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจึงต้องคิดให้กว้างขึ้นทั้งในเชิงกลยุทธ์ในการต่อสู้กับเผด็จการ และในเชิงการเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาที่แท้จริงของประชาชน

ส่วนเผด็จการจีนเองก็ไม่ใช่จะไม่มีความเสี่ยง เอาเข้าจริง ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดในตอนนี้ของจีน ไม่ใช่ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือวิกฤตสังคม (เพราะรัฐบาลจีนดูจะเอาอยู่ด้วยการคุมสื่อ การประมวลปัญหา และดำเนินนโยบายสาธารณะเพื่อรับมือ) แต่ความเสี่ยงที่แท้จริงคือ ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการเมืองโดยไม่คาดคิด ซึ่งมีระเบิดเวลาก้อนใหญ่สองลูก

ระเบิดลูกแรกคือ จะมีใครเดินเกมโค่นสีจิ้นผิงหรือไม่? และถ้ามี จะใช้วิธีการอะไร? ในสมัยของประธานาธิบดีหูจินเทา ซึ่งเป็นการบริหารงานเป็นทีม ไม่มีอะไรหวือหวา พยายามประสานประโยชน์ทุกฝ่าย แม้จะดูไม่เร้าใจ ไม่โดดเด่น แต่ก็ไม่เสี่ยงที่จะเกิดอะไรที่ไม่คาดฝันมากนัก แต่มาบัดนี้ สีจิ้นผิงฉีกแนวใหม่ ขอเป็นผู้นำโดดเด่นคนเดียว รับภารกิจพาจีนสู่ความยิ่งใหญ่ แม้ว่าความสำเร็จอาจสูง แต่ความเสี่ยงก็สูงเช่นกัน

หลายคนมองว่า สาเหตุหนึ่งที่สีจิ้นผิงต้องครองอำนาจต่อ และต้องรีบกระชับอำนาจขณะที่ตัวเองกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เป็นเพราะลงจากหลังเสือไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าถ้าลงจากตำแหน่งแล้ว จะถูกล้างแค้นเอาคืน หรือจะถูกกลับลำนโยบายทั้งหมดหรือไม่

ผู้นำรุ่นเด็กที่กระหายอำนาจ ถ้าอยากขึ้นมา ก็อาจต้องอาศัยวิธีการนอกระบบ เพราะไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าสีจิ้นผิงจะยอมวางมือเองเมื่อไร ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดความผันผวนทางการเมืองได้อย่างไม่คาดคิด

ระเบิดลูกที่สองก็คือ สีจิ้นผิงกำลังสร้างบรรทัดฐานที่อันตรายหรือไม่? สีจิ้นผิงรวบอำนาจจนตำแหน่งผู้นำสูงสุดมีอำนาจมากล้น แม้ว่าวันนี้ เราอาจจะไว้ใจสีจิ้นผิง แต่เราจะไว้ใจผู้นำสูงสุดถัดจากสีจิ้นผิงได้เหมือนกันไหม

เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ ปัญหาของระบบสหรัฐฯ ก็คือ ผู้นำสูงสุดที่อาจยอดเยี่ยมอย่างบารัก โอบามา อาจไม่สามารถทำทุกอย่างที่อยากทำได้ตามใจ แต่อัจฉริยภาพของระบบสหรัฐฯ ก็คือ ผู้นำที่มีลูกบ้าและคาดเดาไม่ได้อย่างทรัมป์ ก็ทำอะไรไม่ได้ตามใจชอบเช่นกัน เพราะมีการคานและถ่วงดุลอำนาจในระบบ แล้วถ้าวันหนึ่งจีนเกิดมีผู้นำที่บ้าและคาดเดาไม่ได้ โดยไม่มีระบบคานและถ่วงดุลหลงเหลือ จะทำอย่างไร

ใช่ครับ บัดนี้ สีจิ้นผิงมาถึงจุดสูงสุด แต่ภาษิตจีนเตือนว่า ยิ่งสูงยิ่งหนาว

หนาว… ทั้งสี ทั้งพรรค ทั้งจีน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020