fbpx

พลังงานสะอาดเป็นไพ่ยุทธศาสตร์ใบใหม่ของจีน

ถ้ามีใครถามว่าตอนนี้เป้าหมายในเชิงยุทธศาสตร์ภายในที่สำคัญที่สุดของจีนคืออะไร ต้องตอบว่าไม่ใช่ตัวเลขจีดีพีอีกต่อไปแล้วครับ แต่เป็นเป้าหมายว่า ในปี 2060 จีนจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ให้สำเร็จให้ได้

เป้าหมายนี้เป็นวาระแห่งชาติ ส่งผลให้ดัชนีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดของจีนในแผนพัฒนาฉบับใหม่กลายมาเป็น ‘เป้าหมายแข็ง’ คือทุกภาคส่วนต้องทำให้ได้ตามที่ตั้งไว้ ห้ามพลาดเป้าเด็ดขาด

นี่เป็นเรื่องระดับยุทธศาสตร์ เพราะมองจากมุมของจีน การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดเป็นเสมือนยิงนัดเดียวได้นกหลายตัวพร้อมกัน เพราะกำหนดทั้งอนาคตเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของชาติ

ลองมามองภาพระยะยาวกันดูครับว่า หากรัฐบาลจีนสามารถบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้ในปี 2060 ตามที่ประกาศ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับมหึมาอะไรบ้าง

หนึ่ง การขยายตัวของอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดจากเดิมหลายสิบเท่าตัว มีการประเมินว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายในปี 2060 ภายในช่วง 40 ปี ต่อจากนี้ กำลังการผลิตจากพลังงานนิวเคลียร์ของจีนจะเพิ่มขึ้น 5 เท่า จากพลังงานลมจะเพิ่มขึ้น 12 เท่า จากพลังงานแสงอาทิตย์จะเพิ่มขึ้น 70 เท่า ดังนั้น ศักยภาพในการเติบโตของอุตสาหกรรมเหล่านี้ของจีนจึงมีมหาศาล

สอง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยของอุตสาหกรรมรถยนต์ รถยนต์น้ำมันจะกลายเป็นเหมือนรถม้าในอดีต ยุคสมัยของรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากำลังจะมาถึงอย่างรวดเร็ว จีนตั้งเป้าในระยะสั้นว่าภายในปี 2030 ยอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าต้องคิดเป็นร้อยละ 40 ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในจีน อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะทำให้เกิดห่วงโซ่การผลิตใหม่ทั้งหมดในอุตสาหกรรมรถยนต์โลก

สาม สิ่งแวดล้อมของจีนจะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งจากการปลูกป่าเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจีนตั้งเป้าหมายว่าพื้นที่ป่าต้องคิดเป็นร้อยละ 26 จากพื้นที่ทั้งประเทศ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดยังจะช่วยเรื่องคุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ของจีนด้วย

สี่ ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจภายในของจีนจะมีการเปลี่ยนแปลง ภาคกลางและภาคตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ตอนในของจีนจะเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดที่สำคัญ และจะเพิ่มความสำคัญขึ้นในทางเศรษฐกิจ เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมักกระจุกอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังสะอาดจึงมีผลช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาค

ห้า จีนจะมีความมั่นคงด้านพลังงาน สามารถลดการพึ่งพาพลังงานจากภายนอก ลดความเสี่ยงในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ต้องกลัวว่าถ้าหากสหรัฐฯ เอาเรือรบมาปิดช่องแคบมะละกา จีนจะเกิดวิกฤตพลังงานทันที เพราะไม่สามารถขนส่งพลังงานจากภายนอกเข้าจีนได้

ในยุคพลังงานถ่านหินและน้ำมัน พลังงานเป็นเรื่องของทรัพยากร แต่ในยุคพลังงานสะอาด พลังงานกลายมาเป็นเรื่องความสามารถของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีการผลิต กล่าวคือ ศักยภาพด้านพลังงานสะอาดไม่ได้อยู่ที่ปริมาณลมหรือแสงอาทิตย์ เพราะที่ไหนก็มี แต่อยู่ที่ความสามารถทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในการแปลงลมและแสงอาทิตย์เป็นพลังงาน

ความสามารถในการผลิตและเรื่องต้นทุนนับเป็นจุดแข็งของจีน ในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดก็เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น มีหลากหลายวิธีที่จะลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอายุการใช้งานของแบตเตอรีพลังงานแสงอาทิตย์ ลดต้นทุนการผลิตแบตเตอรี เพิ่มศักยภาพความจุของแบตเตอรี ไปจนถึงการทำระบบการใช้พลังงานแบบสมาร์ต ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อช่วยประหยัดการใช้พลังงาน จะเห็นว่าหัวใจอยู่ที่การปรับปรุงเทคนิคในกระบวนการผลิตในแต่ละขั้นตอน

เทคนิคในการผลิตเหล่านี้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์เช่นแผงโซลาเซลล์และแบตเตอรี จีนสามารถส่งออกไปขายทั่วโลก ยิ่งรัฐบาลจีนสามารถขยายขนาดของอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด พร้อมยกระดับเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนการผลิตก็จะยิ่งถูกลง เมื่อต้นทุนถูก ก็จะยิ่งสามารถเข้ายึดครองส่วนแบ่งการตลาดโลกได้มากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ส่งผลให้ต้นทุนยิ่งถูกลงอีก เป็นวงจรต่อเนื่องไป ดังจะเห็นตัวอย่างจากอุตสาหกรรมโซลาเซลล์ในปัจจุบันที่ในบรรดาบริษัทใหญ่ 20 อันดับแรก ถึงร้อยละ 80 เป็นบริษัทจีน

ยุคถ่านหินทำให้เกิดมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ยุคน้ำมันทำให้เกิดมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ยุคพลังงานสะอาดจะเป็นโอกาสของมหาอำนาจจีนหรือไม่ บัดนี้ จีนได้เปิดไพ่ใบใหม่ออกเล่นอย่างเต็มตัวในเกมเดิมพันเจ้าพลังงานแห่งอนาคต

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save