fbpx
เปิดปฏิทินจีน 2019: ปีแห่งการเฉลิมฉลอง หรือปีแห่งการทบทวนแผลเก่า

เปิดปฏิทินจีน 2019: ปีแห่งการเฉลิมฉลอง หรือปีแห่งการทบทวนแผลเก่า

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

คนจีนชอบจัดงานเฉลิมฉลองและรำลึกวาระสำคัญ โดยจะต้องจัดงานให้ใหญ่โต แถมท่านผู้นำประเทศจะต้องออกมาพูดอะไรให้เป็นข่าวสะเทือนไปทั่วโลก

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ปีที่แล้ว เป็นการเฉลิมฉลองใหญ่ 40 ปี การเปิดและปฏิรูปประเทศของจีน ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์จีนและโลก ในวันนั้น ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงก็ออกมาประกาศว่า จีนจะไม่ยอมให้ใครมาสั่งว่าจีนควรพัฒนาอย่างไร!

พอเปิดศักราชใหม่ เพียงวันที่ 2 มกราคม จีนก็จัดงานเฉลิมฉลองใหญ่อีก คราวนี้เป็นวาระครบรอบ 40 ปี การออกจดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนร่วมชาติในเกาะไต้หวัน ซึ่งจดหมายเมื่อ 40 ปีก่อน เรียกร้องให้รวมชาติอย่างสันติ ในสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงคราวนี้ ก็ทำให้ท่านเป็นข่าวหน้าหนึ่งทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อท่านประกาศยืนยันว่าจะรวมชาติอย่างสันติ แต่ก็พร้อมใช้กำลังถ้าเกิดรวมกันอย่างสันติไม่ได้!

จริงๆ วันที่ 2 มกราคม ยังเป็นวาระสำคัญอีกอย่าง คือเป็นวันครบรอบ 40 ปี การเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสหรัฐอเมริกา แต่รัฐบาลจีนไม่ได้ฉลองอะไรมาก ก็สงครามการค้ากำลังร้อนระอุอยู่นี่  

สำหรับใน ปี ค.ศ.2019 นี้ ถือได้ว่าเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองวาระสำคัญหลายอย่างของจีน แต่เมื่อเรามาดูทีละอย่าง ก็จะพบว่าภายใต้งานใหญ่ที่กำลังจะจัดขึ้น แท้จริงล้วนมีแผลเก่าซ่อนอยู่ใต้พรม

งานใหญ่งานต่อไปที่จะมาถึงก็คือ วันที่ 28 มีนาคม จะเป็นวาระครบรอบ 60 ปี การปลดปล่อยธิเบตออกจากการปกครองของดาไลลามะ รัฐบาลจีนจะต้องประกาศความสำเร็จในการปกครองธิเบต ขณะเดียวกันก็คงคาดเดาได้ว่า ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงคงออกมายืนยันว่าธิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน

แต่ในวันเดียวกัน ชาวธิเบตที่ลี้ภัยอยู่ทั่วโลกก็คงรำลึกถึงการต่อสู้ที่ล้มเหลวเมื่อ 40 ปีที่แล้ว รัฐบาลจีนเองก็คงจะต้องเพิ่มระดับการเผ้าระวังการประท้วงหรือการก่อความไม่สงบในธิเบตในช่วงวาระสำคัญนี้  

ถัดมาในเดือนพฤษภาคม ก็จะเป็นงานยักษ์ คือ การเฉลิมฉลอง 100 ปี ของขบวนการวัฒนธรรมใหม่ 4 พฤษภาคม 1919 ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของจีน นี่เป็นจุดเริ่มต้นการรณรงค์วัฒนธรรมใหม่ โดยนักศึกษาในมหาวิทยาลัยปักกิ่งในสมัยนั้น เดินขบวนเรียกร้องหา ‘คนสองคน’ ได้แก่ นายไซ กับนายเต๋อ โดยนายไซ ก็คือ Science ส่วนนายเต๋อ ก็คือ Democracy ด้วยความเชื่อว่า จีนต้องการวัฒนธรรมใหม่ คือวัฒนธรรมความคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และประชาธิปไตย

ผลของการเรียกร้องครั้งนั้น ทำให้มีการบุกเบิกการเรียนการสอนความคิดใหม่ๆ ในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มีการเปิดกว้างทางวิชาการอย่างเสรี ผลที่ตามมาก็คือ เริ่มมีการเรียนการสอนความคิดมาร์กซเป็นครั้งแรกในจีน จนสุดท้ายนำไปสู่การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี ค.ศ.1921

ดังนั้น 100 ปี ของขบวนการวัฒนธรรมใหม่ 4 พฤษภาคม 1919 จึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องเฉลิมฉลองแน่นอน แต่ทราบไหมครับว่า 4 พฤษภาคม ก็เป็นวันที่ซ่อนแผลเก่าเช่นกัน

เพราะในวันเดียวกัน ก็จะเป็นวาระครบรอบ 30 ปี ของเหตุการณ์เทียนอันเหมินอีกด้วย เมื่อ 30 ปี ที่แล้ว นักศึกษาในมหาวิทยาลัยปักกิ่งในยุคนั้นได้ใช้โอกาสวันที่ 4 พฤษภาคม เริ่มต้นประท้วงรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อมามีนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ในจีนเข้าร่วมจำนวนมาก แต่รัฐบาลจีนในสมัยนั้นไม่ยอมโอนอ่อนตามข้อเรียกร้อง จนนำไปสู่เหตุการณ์เทียนอันเหมินทมิฬ จนปัจจุบัน เหตุการณ์ดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ถูกห้ามกล่าวถึงในเมืองจีน

ส่วนการฉลองยักษ์ใหญ่ที่สุดในปี ค.ศ.2019 ก็คือ การฉลองครบรอบ 70 ปี การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (พรรคคอมมิวนิสต์จีนชนะสงครามกลางเมือง) ในวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งถือเป็นวันชาติจีน งานนี้จะมีการตรวจสวนสนามทหารครั้งใหญ่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินด้วย

งานวันชาติจีน ต้องการสะท้อนความเป็นปึกแผ่นของคนจีนและชาติจีน แต่ใต้พรมที่ซ่อนอยู่ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า จีนยังเผชิญความท้าทายทั้งในเรื่องความเหลิ่อมล้ำระหว่างชนชั้น ระหว่างภูมิภาค ความขัดแย้งระหว่างความคิดก้าวหน้าและอนุรักษนิยมในประเทศ รวมทั้งระหว่างความคิดเสรีนิยมและความคิดอำนาจนิยมด้วย

ในวันที่จีนฉลองสิ่งที่ดูเหมือนความสำเร็จ แต่แผลเก่าก็ยังคงตามหลอกหลอนอยู่นั่นเอง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save