fbpx
12 ชั่วโมง ก่อนเรือเล็กออกจากฝั่ง (ประชาธิปัตย์)

12 ชั่วโมง ก่อนเรือเล็กออกจากฝั่ง (ประชาธิปัตย์)

พริษฐ์ วัชรสินธุ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

12 ชั่วโมง

ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่า 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลาที่สั้นมาก

12 ชั่วโมง เป็นความยาวของวันทำงาน สมัยผมเป็นพนักงานบริษัทเอกชนที่ McKinsey & Company

12 ชั่วโมง เป็นความห่างระหว่างรอบแรกที่ผมออกวิ่งทุกเช้ากับรอบสุดท้ายก่อนหมดวัน ในช่วงที่ผมฝึกเป็นทหารเกณฑ์

12 ชั่วโมง เป็นจำนวนชั่วโมงต่อวัน ที่ผมและทีมลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาประชาชนในช่วงก่อนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

บางครั้ง เวลา 12 ชั่วโมงผ่านไปเร็ว จนผมรู้สึกว่ายังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

แต่ในค่ำคืนวันที่ 4 มิถุนายน 2562 — 12 ชั่วโมง ช่างเป็นระยะเวลาที่แสนยาวนาน

 

“ไอติมยังไงต่อ?”

“พูดไรหน่อย ใจคอไม่ดี”

“ดีแต่พูดนี่หว่า สุดท้ายก็ไม่กล้าลาออก”

ข้อความเหล่านี้ (และอีกหลายข้อความที่ใช้ภาษามากสีสันกว่านี้) หลั่งไหลเข้ามาในทุกช่องทางสื่อสารของผมอย่างไม่หยุดหย่อน ในห้วงเวลาเพียง 12 ชั่วโมง ระหว่างวินาทีที่พรรคประชาธิปัตย์แถลงมติร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ กับวินาทีที่ผมประกาศลาออกจากพรรคประชาธิปตย์

ผมยังจำได้แม่นถึงทุกรายละเอียดในวันนั้น

 

18.30 น.

ผมนั่งอยู่กับน้องในทีมคนหนึ่ง ที่ร้านกาแฟไม่ไกลจากสำนักงานพรรค พวกเรามานั่งทำงานอยู่ที่ร้านตั้งแต่ช่วงเที่ยง เพื่อรอฟังข่าวจากการประชุมภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะกำหนดทิศทางของพรรค และที่สำคัญกว่า คือทิศทางของประเทศ

ผมใช้เวลาในช่วงเช้าของวันสุดท้ายที่ผมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมงานเสวนาที่จัดโดยกลุ่มญาติวีรชนพฤษภา 35 เพื่อถอดบทเรียนจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่มีความสำคัญมากต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ถึงแม้ผมอาจจะเกิดไม่ทันเหตุการณ์ในปีนั้น แต่หลังจากที่ได้ลุกขึ้นพูดเพื่อแสดงจุดยืนและความเห็นของตัวเองต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ผมก็ได้ค้นพบว่าผมไม่ใช่คนเดียวในห้องที่มองเห็นถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ใน พ.ศ. 2535 กับ สิ่งที่ประชาธิปัตย์ต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใน พ.ศ. 2562

และผมก็ไม่ใช่คนเดียวในห้องที่กังวลว่าประชาธิปัตย์กำลังจะตัดสินใจคนละแบบกับที่เคยตัดสินใจไว้ใน พ.ศ. 2535

มาถึงวินาทีนั้น ผมรู้ว่าโอกาสเหลือน้อยมากที่พรรคจะตัดสินใจประกาศตัวเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” ตามแนวทางที่ผมอยากเห็น แต่ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ผมรู้สึกว่าตัวเองได้ทำเต็มที่แล้วในการนำเสนอเหตุผลและชี้แจงข้อกังวลให้พรรคได้รับฟัง

ความรู้สึกของผมในวันนั้นแทบไม่แตกต่างจากตอนรอผลการนับคะแนนในการเลือกตั้งเมื่อสามเดือนก่อนหน้า ที่เรายังแอบมีความหวังอยู่ลึกๆ ถึงแม้จะรู้ว่าโอกาสเผชิญความผิดหวังมีความเป็นไปได้มากกว่า

เพื่อเป็นการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ผมใช้เวลาหลายชั่วโมงที่นั่งรอในการร่างจดหมายลาออกที่ตัวเองหวังว่าจะไม่ต้องใช้ ผมมองว่าการเรียบเรียงความคิดในหัวให้ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากในการไตร่ตรองพิจารณาความคิดของตัวเองให้รอบคอบที่สุด

 

19.30 น.

โทรศัพท์ยังไม่มีสายเข้า ฟีดในทวิตเตอร์ยังไม่มีความเคลื่อนไหว

“ร้านปิดแล้วนะคะ” พนักงานร้านกาแฟเดินมาพูดกับผม พร้อมรอยยิ้มที่เหมือนจะรู้ว่าผมรออะไรอยู่

ผมกับน้องในทีมตัดสินใจย้ายไปปักหลักใหม่ที่ร้านเหล้าแถวอารีย์ (ซึ่งอาจจะเข้ากับสภาพอารมณ์และสถานการณ์มากกว่า!)

แต่ทันทีที่พนักงานวางแก้วเบียร์บนโต๊ะ เสียงโทรศัพท์มือถือก็ดังขึ้น มีสายเข้าจากเพื่อนที่รายงานตรงจากที่ทำการพรรค

จากน้ำเสียงปลายทาง ผมพอรู้แล้วว่ามติออกมาอย่างไร และผมต้องตัดสินใจอย่างไร

“เดี๋ยวขอตัวไปก่อน พี่ยกเบียร์ให้” ผมบอกน้องในทีม

 

20.00 น.

ผมไม่อยากเล่ารายละเอียดซ้ำถึงเหตุผลว่า ทำไมถึงตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ (อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่)

แต่ ณ เวลานั้น ผมถามเพื่อนเพียง 3 คำถาม เพื่อยืนยันการตัดสินใจของตัวเอง

หนึ่ง “ตกลง ร่วมใช่ไหม?”

ในขั้นพื้นฐานที่สุด ไม่ว่าจะในสถานการณ์ไหน ผมมองว่าการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลเป็นการผิดคำพูด (หน้าตาของลุงป้าน้าอาในบางกะปิหลายคนที่ผมเคยหาเสียงไว้ ว่าเราจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ตามคำพูดของหัวหน้าพรรค ลอยขึ้นมาทันที)

การอ้างถึงความชอบธรรมและความเป็น “ประชาธิปไตย” ของมติพรรค ที่เสียงส่วนใหญ่ตัดสินใจกลับลำ ก็ฟังดูย้อนแย้งในความเห็นของผม เนื่องจากอำนาจที่ ส.ส. 53 คนได้มา (อำนาจที่ทำให้พวกเขามีสิทธิ์ลงคะแนนในที่ประชุมวันนั้น) ก็มาจากคะแนนเสียงที่ได้รับในวันเลือกตั้ง

ไม่ว่าผู้ใช้สิทธิ์บางคนจะเลือก เพราะ คำพูดของหัวหน้าพรรค หรือ บางคนจะเลือก ถึงแม้ไม่ถูกใจ คำพูดของหัวหน้าพรรค แต่ทุกคนที่กาให้พรรคประชาธิปัตย์ในวันเลือกตั้ง ตัดสินใจเลือกบน ความหวัง หรือ ความเสี่ยงอย่างสูง ที่พรรคจะดำเนินการตามทิศทางที่หัวหน้าพรรคประกาศไว้อย่าง “ช้าๆ ชัดๆ”

สำหรับผมแล้ว ถึงแม้หัวหน้าพรรคจะไม่ออกคลิปประกาศก่อนการเลือกตั้ง ผมมองว่าการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ถือเป็นการกระทำที่ผิดอุดมการณ์ดั้งเดิมของพรรคอยู่ดี (ข้อที่ 4 ที่เขียนไว้ว่า “พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ”) หรืออย่างน้อยก็ผิดต่ออุดมการณ์ที่พรรคมักพูดถึงในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะในช่วงไหนของประวัติศาสตร์หรือในประเทศใด “อุดมการณ์” ของพรรคการเมือง ไม่ควรยึดโยงเข้ากับการต่อสู้กับ “บุคคล” ใดบุคคลหนึ่ง แต่ “อุดมการณ์” ของพรรคการเมือง ต้องยึดโยงเข้ากับการต่อสู้กับ “ความไม่ถูกต้อง” บางอย่าง ถ้าประชาธิปัตย์จะยังคงนิยามตัวเองว่าเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ “เสรีนิยมประชาธิปไตย” (liberal democracy) ที่ต่อสู้กับ “ความไม่ถูกต้อง” ในรูปแบบของการทุจริตหรือการทำลายกลไกตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ควรปิดตาข้างเดียวกับพฤติกรรมที่หลายคนตั้งข้อสงสัย เช่น การจัดการเลือกตั้งหรือประชามติที่ทุกฝ่ายไม่ได้แข่งขันบนกติกาเดียวกัน การแทรกแซงองค์กรอิสระและสื่อ การใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบเพื่อความได้เปรียบทางการเมือง หรือการละเลยต่อกระบวนการคัดสรรบุคลากรเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน

การร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐจึงเป็นการตัดสินใจที่ผมมองว่าอธิบายได้ยาก สำหรับพรรคที่ยังต้องการเรียกตัวเองว่าเป็นตัวแทนอุดมการณ์ “เสรีนิยมประชาธิปไตย” อยู่

สอง “ข้อสรุปเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นยังไง เงื่อนไขชัดไหม?”

บางคนพยายามให้เหตุผลกับผม ว่าการร่วมรัฐบาลเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการแก้รัฐธรรมนูญตามกลไกที่มีอยู่ ต้องได้รับการเห็นชอบจาก ส.ว. 84 คนขึ้นไป และมีเพียงพรรคเดียว (หรือถ้าให้พูดชัดขึ้นไปอีก – นายกฯ คนเดียว) ที่อาจ “โน้มน้าว” ส.ว. เหล่านั้นได้

แต่ในความเป็นจริง ผมมองว่าตราบใดที่ ส.ว. ไม่มาเซ็นสัญญาข้อตกลงโดยตรงในวันนั้น ก็ไม่มีอะไรมารับรองได้เลยว่าในภายภาคหน้าเราจะไม่ได้ยินรัฐบาลหรือพรรคพลังประชารัฐกล่าวทำนองว่า “พวกเราพร้อมแก้รัฐธรรมนูญตามที่สัญญาไว้ แต่พวก ส.ว. เขาไม่เห็นด้วย”

มาถึงวันนี้ ผมคาดเดาไว้ไม่ผิด เพราะผ่านมาเกือบ 3 เดือนหลังจากการตั้งรัฐบาล ก็ยังไม่เห็นการขยับของรัฐบาลเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นรูปธรรม

สาม “คะแนนสูสีไหม?”

การที่ 61 คน (80%) โหวตร่วมรัฐบาล ต่อ 16 คน (20%) ที่โหวตไม่เข้าร่วม เป็นคะแนนที่สะท้อนอย่างชัดเจนมากว่าพรรคประชาธิปัตย์กับผมมีอุดมการณ์หรือจัดลำดับความสำคัญในแนวทางที่แตกต่างกันแล้วอย่างสิ้นเชิง โอกาสที่ชุดความคิดที่เหมือนหรือคล้ายกับผมจะขึ้นมาเป็นชุดความคิดหลักของพรรคในเร็ววันนี้ คงเป็นได้เพียงสิ่งที่เราคาดหวัง แต่ไม่สามารถเป็นสิ่งที่เราคาดหมาย ได้

เนื่องจากพรรคมีบุคลากรเก่งๆ อีกหลายคนที่เห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนี้ และพร้อมจะเป็นตัวแทนของชุดความคิดนี้ ผมก็มองว่า การเคารพมติและทิศทางของพรรคที่ดีที่สุด คือการที่ผมไม่เป็น “ตัวขวางโลก” ภายในพรรค แต่ออกมาพยายาม “สร้างโลกใหม่” ไปพร้อมกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์คนอื่นที่เห็นตรงกัน

จะเห็นได้ว่า คำตอบที่ได้จากทั้ง 3 คำถามในวันนั้น ไม่ได้ทำให้ผมลังเลใจแม้แต่น้อยในการตัดสินใจครั้งนี้

แต่ในประสบการณ์ทางการเมืองเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่มี ผมเรียนรู้ว่าการตัดสินใจอยากทำอะไรสักอย่างหนึ่ง กับการลงมือทำสิ่งนั้น ไม่เหมือนกัน

หลายชั่วโมงหลังจากนั้น ไม่ได้ถูกใช้ไปกับการทบทวนการตัดสินใจ แต่ถูกใช้ไปกับการรีบดำเนินการตามสิ่งที่ได้ตัดสินใจไปเรียบร้อยแล้ว

 

20.30 น.

ผมรู้ถึงความจำเป็นที่ต้องรีบฉุดตัวเองขึ้นมาจากความผิดหวังต่อมติพรรค เพื่อดำเนินการลาออกจากพรรคที่ผมมีความผูกพันตั้งแต่ครั้งเป็นเด็กฝึกงานเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว แม้จะมีหลายเหตุการณ์ในช่วงหลังที่ผมเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการตัดสินใจของพรรค (เช่น การบอยคอตเลือกตั้งใน พ.ศ. 2557)

“มติพรรคออกมาแบบนี้แล้ว พี่ไอติมจะทำอย่างที่เคยพูดไว้ไหม?” ข้อความเด้งขึ้นมาจากน้องคนหนึ่งที่ผมเคยเจอตามเวทีเสวนา เมื่อปีก่อน

ยิ่งพอมีข่าวปรากฏว่าสมาชิกและอดีตผู้สมัคร ส.ส. หลายคนเริ่มลาออก (ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าหลายคนจะตัดสินใจเหมือนผม) ข้อความในมือถือของผมก็ยิ่งเด้งอย่างถี่ขึ้น

เหตุผลที่ผมไม่ได้รู้สึกกดกันอะไรจากข้อความเหล่านี้ อาจเป็นเพราะตัวเองได้ตัดสินใจมาก่อนหน้านี้นานแล้วว่า จะทำอย่างไรหากมติพรรคออกมาเช่นนี้

ความจริงอย่างหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับงานทางการเมือง คือ เป็นไปไม่ได้ที่เราจะพูดหรือทำอะไรที่ “ถูกใจ” คนทุกคนในทุกช่วงเวลา แต่สิ่งสำคัญกว่า คือเราต้องเลือกเดินบนทางที่เราเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า “ถูกต้อง” บนพื้นฐานประโยชน์ส่วนร่วมของประชาชน

ถึงแม้ผมอยากจะรีบตอบกลับทุกคนที่ถามเข้ามาว่าผมจะเดินหน้าอย่างไรต่อตั้งแต่ตอนนั้น แต่อาจเป็นเพราะความ “ผูกพัน” ส่วนหนึ่ง ผสมผสานกับความ “รู้สึกผิด” ที่มีกับหลายคนในพรรคที่ให้ทั้งความรู้และโอกาสในการทำงาน ทันทีที่ผมร่างจดหมายลาออกเสร็จ ก็เลยไม่ได้กดโพสต์ประกาศลงเพจ แต่กลับกด Grab เรียกรถแท็กซี่ไปที่สำนักงานพรรคเพื่อเข้าพบคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคคนใหม่

ระหว่างนั่งรถไปที่พรรค ผมนั่งเขียนรายชื่อคนอื่นในพรรคที่รู้สึกว่าต้องบอกการตัดสินใจของผมเป็นการส่วนตัว ก่อนที่จะประกาศต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นพี่ณัฏฐ์ บรรทัดฐาน (อดีต ส.ส. ในเขตพื้นที่บางกะปิที่ผมลงสมัคร ซึ่งช่วยผมหาเสียงมาตลอด) ผู้ใหญ่ที่ผมเคยทำงานด้วย (เช่น คุณกรณ์ จาติกวณิช) เพื่อนๆ New Dem ที่ร่วมต่อสู้เหน็ดเหนื่อยกันมา หรือแม้กระทั่งสมาชิกพรรคบางคนที่ผมเคยสัญญาไว้ว่าจะบอกเขาก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร

ผมท่องกับตัวเองตลอดทางว่า ไม่ว่าคนจะส่งข้อความมาถามผมมากขึ้นเท่าไหร่ ตราบใดที่ผมยังไม่ได้อธิบายกับทุกคนในรายชื่อที่เขียนไว้ ผมจะยังไม่ประกาศลาออก

 

21.00 น.

ผมเดินทางมาถึงหน้าห้องทำงานของหัวหน้าพรรค

ต้องยอมรับว่า ตลอดหนึ่งปีที่ทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสคุยหรือทำงานกับคุณจุรินทร์มากนัก นอกจากการขึ้นเวทีร่วมกันในงานปราศรัยใหญ่คืนวันก่อนเลือกตั้งที่ลานคนเมือง

ในห้องมีคุณจุรินทร์นั่งคุยอยู่กับผู้ใหญ่ในพรรคอีก 2 คน ทุกคนมีสีหน้าเคร่งเครียด อาจเพราะควันหลงจากการตอบคำถามสื่อมวลชนในการแถลงข่าวที่เพิ่งจบไป หรืออาจเพราะการถกเถียงเพื่อเตรียมตัวตอบคำถามในสภาในวันรุ่งขึ้น

ผมลำบากใจมากที่ต้องมาเพิ่มเรื่องปวดหัวอีกเรื่องให้กับหัวหน้าพรรคในช่วงเวลาที่เขาอาจเคร่งเครียดที่สุด แต่ถ้าผมมาบอกช้ากว่านี้ ก็จะขัดต่อจิตสำนึกผม และถ้าผมมาเร็วกว่านี้ (ตั้งแต่ก่อนมติพรรคจะออก) ก็เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะเหมือนไปสร้างเงื่อนไขให้พรรคโดยขู่ลาออก

ไม่ว่าพรรคจะคิดต่างจากเราแค่ไหน ผมเชื่อว่าเรามีสิทธิ์ในการนำเสนอความคิดด้วยเหตุและผล แต่ผมไม่คิดว่าใครควรมองว่าตัวเองว่าสำคัญกว่าหรืออยู่เหนือพรรค

หลังจากที่ผมได้อธิบายเป็นที่เรียบร้อยถึงเหตุผลในการตัดสินใจของผม ผ่านน้ำเสียงที่สั่นขึ้นในทุกๆ ประโยค ทุกอย่างก็เงียบกริบ

“ตกลงคือจะลาออกจากพรรคเลยใช่ไหม?” คุณจุรินทร์ถาม

“ใช่ครับ” ผมตอบด้วยความพยายามที่จะหนักแน่นในจุดยืน แต่อ่อนน้อมในท่าที

ทุกอย่างเงียบไปอีกรอบหนึ่ง

“คุณจุรินทร์จะโมโหผมหรือเปล่า?” ผมคิดอยู่ในใจ

“แต่เขาเชื่อของเขาอย่างนี้จริงๆ นะ” ผู้ใหญ่คนหนึ่งในห้องพูดแทรกขึ้นมา

“เขาพูดตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาที่นี่แล้ว”

ประโยคสั้นๆ นี้เอง เป็นประโยคที่ช่วยชีวิตผม และเป็นประโยคที่ผมคิดว่าสะท้อนถึงความเข้าใจที่หลายคนในพรรคมีต่ออุดมการณ์ส่วนตัวของผม

มันทำให้ผมสบายใจได้ว่า ถึงแม้เราอาจเห็นต่างกันว่าพรรคและประเทศควรเดินไปในทางไหน ความสัมพันธ์และมิตรภาพส่วนตัวที่ผมมีกับหลายคนในพรรคยังไม่ถูกทำลาย

ตราบใดที่เราทำงานการเมืองโดยมีอุดมการณ์เป็นที่ตั้ง ผมคิดว่าคนที่เห็นต่างกับเราแค่ไหน ก็เข้าใจและพร้อมให้โอกาสเราเสมอ

 

21.30 น.

หลังจากเดินออกจากห้องคุณจุรินทร์ ผมได้เข้าพบผู้ใหญ่อีก 2-3 คนที่ยังอยู่ในพรรค ก่อนจะขึ้นแท็กซี่กลับบ้าน

“อ้อ นี่คุณไอติมใช่ไหมครับ? ตกลงจะยังไงต่อครับ?” คนขับถาม ก่อนผมก้าวลงจากรถ

“ออกครับ แต่อย่าพึ่งบอกใครนะ” ผมแซวพี่เขาเล่น

หลังกลับถึงบ้าน ผมก็ลุยต่อสายคุยกับทุกๆ คนที่เหลือในรายชื่อผม บางคนก็ตกใจ บางคนก็คาดเดาได้ บางคนพยายามแนะนำให้ผมทบทวน บางคนก็ยอมรับการตัดสินใจ

“ผมอาจจะทำอะไรคล้ายๆ กัน” คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พูดทิ้งท้ายกับผมทางโทรศัพท์ หลังได้รับแจ้งเรื่องการลาออก

 

24.00 น.

ระหว่างเตรียมตัวเข้านอน คำพูดของทุกคนก็ยังคงวนเวียนอยู่ในหัวผม

ทุกคนคุยกับผมด้วยความหวังดี แม้ไม่ได้ทำให้ผม “เปลี่ยนใจ” แต่ทำให้ผม “ตื้นตันใจ” และ “สะเทือนใจ”

“พี่ไม่รับได้มั้ย?” ประโยคที่สะเทือนใจผมที่สุด มาจากพี่พนักงานฝ่ายทะเบียนของพรรคที่พูดกับผมตอนเข้าไปยื่นใบลาออก

ผมบอกกับตัวเองเป็นครั้งสุดท้ายว่า ถ้าตื่นมาแล้วยังไม่เปลี่ยนใจ ผมก็จะประกาศให้ทุกคนได้ทราบทันที

 

08.00 น.

ผมตื่นขึ้นมา และมุ่งหน้าตรงไปที่คอมพิวเตอร์

ผมหายใจเข้าลึกๆ หนึ่งครั้งก่อนกดโพสต์ข้อความลาออกไปในเพจเฟสบุ๊คของตัวเอง ทันทีที่ข้อความยืนยันขึ้น ผมปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์ ลากตัวเองออกจากลุ่มไลน์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพรรค ปิดเสียงมือถือ และลงไปทานอาหารเช้า พร้อมความรู้สึกใจหายและโล่งอกในเวลาเดียวกัน

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ได้เพื่อต้องการให้ใครรู้สึกเห็นใจหรือเห็นชอบกับการตัดสินใจของผม เป็นเรื่องปกติของนักการเมืองที่จะมีคนทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับจุดยืนหรือการกระทำของเรา

แต่ที่ผมเล่าทั้งหมดนี้ เพียงเพราะอยากให้ทุกคนเห็นว่า เบื้องหลังการตัดสินใจทางการเมืองหลายครั้งไม่ได้เป็นเรื่องเรียบง่าย เราจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญว่าอะไรที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา หรือกัดฟันเลือกว่าพร้อมจะเสียอะไรเพื่อแลกกับอะไร

ถ้าการเมืองของผมเป็นเรื่องของ “มิตรภาพ” วันนั้นผมคงเลือกอยู่ต่อ เพื่อได้สานต่อความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนๆ และผู้ใหญ่หลายคนในพรรค

ถ้าการเมืองของผมเป็นเรื่องของ “ความก้าวหน้าทางอาชีพ” วันนั้นผมคงเลือกอยู่ต่อ เพื่อได้สานต่อหลายโครงการที่ได้ริเริ่มไว้ พร้อมกับหาโอกาสเรียนรู้งานในสภากับบุคลากรหลายคนที่พร้อมไปด้วยประสบการณ์และความสามารถ

แต่ในเมื่อผมตัดสินใจตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานการเมืองแล้วว่า การเมืองของผมต้องเป็นเรื่องของ “อุดมการณ์” …

วันนั้นผมมีแค่ทางเลือกเดียว

ทางเลือกที่ – ถ้ามองจากภายนอก – อาจดูเหมือนการเดินทางเกือบ 2 ปี วกกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในฐานะอิสรชนคนหนึ่งที่สนใจการเมือง แต่ไร้งานและไร้ต้นสังกัด

แต่เป็นการเดินทางที่ – ถ้ามองจากภายใน – ทำให้ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเมืองไทยมากขึ้น ค้นพบตัวเองมากขึ้น และพัฒนาตนเองให้เป็นนักการเมืองที่มีความพร้อมมากขึ้น เพื่อรอโอกาส ในวันที่ “มิตรภาพ” “ความก้าวหน้าทางอาชีพ” และ “อุดมการณ์” โคจรมาพบกันอีกครั้งหนึ่ง

 

18.00 น.

ผมหยิบมือถือขึ้นมาเช็คข้อความต่างๆ ในไลน์

ข้อความส่วนมากมาจากคนรู้จักที่เคยคุยกันอยู่เรื่อยๆ เป็นประจำอยู่แล้ว

แต่มีข้อความหนึ่งโดดเด้งขึ้นมาจากข้อความอื่น

เพราะมาจากอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกท่านหนึ่ง (ที่ผมไม่ทราบมาก่อนด้วยซ้ำว่าท่านมีไลน์)

“ไปแล้ว อย่าไปลับนะครับ”

ถ้าหมายถึงการกลับมาร่วมพัฒนาประเทศผ่านการอาสาเข้ามาทำงานการเมือง ผมพูดได้อย่างมั่นใจว่าผมไม่หายไปถาวรแน่นอน

วันไหนที่ผมพร้อมจะขอโอกาสจากประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ผมจะกลับมา

แต่สิ่งที่ผมพูดไม่ได้ คือผมจะกลับมาอยู่บ้านเดิม

เพราะเรือเล็กๆ ลำนี้ ได้ออกจากฝั่งไปเรียบร้อยแล้ว.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save