fbpx
น้ำเหลืองถึงน้ำนม

น้ำเหลืองถึงน้ำนม

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

 

ไม่แน่ใจว่าระหว่างที่น้ำนมแม่พุ่งใส่หน้าลูก กับที่ลูกกัดหัวนมแม่ อะไรเกิดก่อนเกิดหลัง แต่ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์นี้ ทั้งลูกและแม่ต่างเอะอะโวยวายไม่ต่างกัน

เห็นทีไรก็ขำ หลายครั้งหลายคราที่ลูกหิวนมในจังหวะที่นมแม่คัดพอดี ลูกยังไม่ทันจะอ้าปาก เพียงแค่หันหน้าเข้าหาเต้า น้ำนมก็พุ่งใส่หน้าเสียก่อน แต่ถ้าลูกไวกว่า และนมแม่เข้าทางขบฟันลูกมากกว่า ผสมกับฟันน้อยๆ คมๆ ที่เพิ่งขึ้นด้วยแล้ว ในฐานะที่เห็นกับตา บางครั้งพ่อก็ต้องหรี่ตาดูตอนลูกกัดและกระชากพร้อมกับหัวเราะชอบใจ

แมตช์นี้พ่อขอเป็นคนนอก ไม่เข้าข้างทั้งลูกและแม่ เพราะเดี๋ยวจังหวะลงตัว เธอทั้งคู่ก็จะกลับมาออดอ้อนออเซาะกันอีก

พ่ออยากบอกว่า ตั้งแต่ลูกเกิดมาจนเริ่มตั้งไข่เดินเตาะแตะ พ่อไม่เคยเปิดเพลงค่าน้ำนมให้ลูกฟังเลย ไม่ใช่ว่าเพลงไม่น่าฟัง ตรงกันข้าม เพลงนี้น่าฟังและน่าใคร่ครวญไม่น้อยทีเดียว

บ้านเมืองเรามีไม่กี่เพลงหรอกที่ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกจะถูกเล่าผ่านเพลงได้จับใจ หนึ่งในเพลงอันน้อยนิดก็คือเพลงค่าน้ำนม ผลงานประพันธ์โดยไพบูลย์ บุตรขัน และขับร้องโดยชาญ เย็นแข เผยแพร่ออกสู่สาธารณะในปี 2492

 

แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง

ที่เฝ้าหวงห่วงลูกแต่หลังเมื่อยังนอนเปล

แม่เราเฝ้าโอ้ละเห่

กล่อมลูกน้อยนอนเปล ไม่ห่างหันเหไปจนไกล

 

เมื่อเล็กจนโตโอ้แม่ถนอม

แม่ผ่ายผอมย่อมเกิดแต่รักลูกปักดวงใจ

เติบโตโอ้เล็กจนใหญ่

นี้แหละหนาอะไร มิใช่ใดหนาเพราะค่าน้ำนม

 

ควรคิดพินิจให้ดี

ค่าน้ำนมแม่นี้จะมีอะไรเหมาะสม

โอ้ว่าแม่จ๋า ลูกคิดถึงค่าน้ำนม

เลือดในอกผสมกลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน

 

ค่าน้ำนมควรชวนให้ลูกฝัง

แต่เมื่อหลังเปรียบดังผืนฟ้าหนักกว่าแผ่นดิน

บวชเรียนพากเพียรจนสิ้น

หยดหนึ่งน้ำนมกิน ทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย

 

พ่อกลับมาฟังเพลงนี้อีกครั้งเมื่อลุงต้อ บินหลา สันกาลาคีรี นำงานเขียนสารคดีเรื่องคีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน เขียนโดยลุงวัฒน์ วรรลยางกูร กลับมาพิมพ์ใหม่เป็นครั้งที่ 5 จากที่เคยพิมพ์ครั้งแรกไปเมื่อปี 2541 โดยแพรวสำนักพิมพ์

มีหนังสือหนาเกือบ 600 หน้าออกมาให้พ่ออ่านพร้อมคลอเพลงอื่นๆ ของไพบูลย์ บุตรขันไปด้วย นับว่าเป็นมงคลไม่น้อย

ในขณะที่ลูกกำลังหัดเดิน ช่วงเวลาที่พ่อเขียนอยู่นี้ก็ครบร้อยปีของไพบูลย์ บุตรขัน พอดี

แต่สารภาพตามตรง เพลงค่าน้ำนมที่พ่อได้ฟังก่อนหน้านี้เป็นอีกความรู้สึกหนึ่ง พ่อกับแม่คิดว่าเราก็เหมือนคนทั่วไปที่ได้ยินเพลงนี้ปีละครั้งในช่วงวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคมของทุกปี แต่เรามักไม่ได้ซาบซึ้งไปกับความรักและนมแม่ของเราเท่าไหร่ ทุกครั้งที่เพลงมา เรากลับเห็นความหลงใหลในการกราบเท้าและการมอบดอกมะลิต่อบรรดาแม่ๆ แทน

พ่อคิดว่าเพลงที่ถูกเปิดมากที่สุดในวันที่ 12 สิงหาคม นอกจากเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้ว ก็น่าจะเป็นเพลงค่าน้ำนมของไพบูลย์ บุตรขัน นี่แหละ

ก่อนหน้านี้ที่ได้ยินเพลงค่าน้ำนมทั้งจากโรงเรียนเปิดให้ฟัง หรือผ่านรายการทีวี วิทยุ แม้แต่ขณะเดินห้างฯ เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าผู้แต่งเขียนเพลงนี้เพื่อสดุดีแม่ของตัวเอง สดุดีทั้งใจและกาย ในความหมายที่กลั่นมาจากสายเลือด

เนื่องจากไพบูลย์ในวัยหนุ่ม 30 เคยป่วยเป็นโรคเรื้อน โรคที่สังคมรังเกียจ แต่นางพร้อม บุตรขัน แม่ของไพบูลย์กลับเป็นคนเดียวที่ไม่ทอดทิ้งลูกชาย

ในหนังสือที่ลุงวัฒน์เขียน บรรยายไว้ตอนหนึ่งว่า

ภาพแม่พร้อมคอยดูแลลูกชายวัยหนุ่มซึ่งป่วยด้วยโรคเรื้อน ผิวกาย มือไม้หลายส่วนมีน้ำเหลืองเน่าเฟอะ ในยุคที่โลกนี้ยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ ใครๆ ย่อมหวาดกลัวและรังเกียจที่จะเข้าใกล้

ผิวหนังที่เน่าเปื่อยเกรอะกรัง หากนอนบนฟูกหรือเสื่อธรรมดา แผลฉ่ำหนองน้ำเหลืองปนเลือดย่อมติดกับที่นอนให้ต้องเจ็บปวดทรมาน

คนป่วยเรื้อรังจึงต้องใช้ใบตองกล้วยรองนอน เพื่อไม่ให้แผลเกรอะกรังติดที่นอน

จะมีใครเล่าที่คอยไปตัดใบตองมาให้รองนอน และคอยเปลี่ยนใบตองที่เขรอะด้วยน้ำเลือดน้ำหนองให้ …แม่ แม่เพียงคนเดียวเท่านั้น

แม่ที่เคยอุ้มชูลูกตั้งแต่ยังนอนแบเบาะ และแม้เมื่อลูกโตเป็นหนุ่มแล้ว มามีอันเจ็บป่วยสังคมรังเกียจ

เหลือแม่… แม่เพียงคนเดียวที่ไม่เคยรังเกียจลูกไปตามกระแสสังคม

ลูกจะยังเป็นเด็กทารก หรือลูกโตเป็นหนุ่มแล้ว ความรักของแม่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ชีวิตจริงอันขื่นเข็ญ พลังรักอันงดงามของแม่ เหล่านี้กระมังเป็นที่มาของเพลงอย่าง ‘ค่าน้ำนม’

 

ที่ว่าน่าใคร่ครวญ เพราะมีเรื่องให้น่าใคร่ครวญปนเปกันอย่างน้อย 4 เรื่อง

เรื่องแรก ในขณะที่เพลงค่าน้ำนมของไพบูลย์ถูกใช้สร้างบรรยากาศเพื่อความซาบซึ้งในความรักระหว่างแม่ลูกในวันพิเศษแล้ว ย้อนไปก่อนหน้านี้ในปี 2496 เพลง ‘กลิ่นโคลนสาบควาย’ จากผู้แต่งคนเดียวกัน กลับถูกเซ็นเซอร์โดยทางการไทย เพราะมีเนื้อหาที่ให้ภาพเชิดชูสามัญชนจนไปขัดหูขัดตาผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองในสมัยนั้น

เรื่องที่สอง วันแม่แห่งชาติเคยตรงกับวันที่ 15 เมษายน ทางการประกาศไว้ในปี 2493 ตอนหลังมาเปลี่ยนเป็นวันที่ 12 สิงหาคม 2519 พออีก 2 เดือนต่อมาก็เกิดเหตุการณ์การล้อมฆ่านักศึกษา-ประชาชนในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม

แม้ว่าไพบูลย์ถึงแก่กรรมไปตั้งแต่ปี 2515 แต่วัฒน์ วรรลยางกูร ผู้เขียนสารคดีชีวิตคีตกวีลูกทุ่งหนาเกือบ 600 หน้า ก็เคยวิ่งหลบกระสุนปืนอยู่ในเหตุการณ์นั้นมาก่อน

พูดแบบเห็นแก่ตัวหน่อย พ่อคิดว่านับเป็นความโชคดีที่ลุงวัฒน์รอดชีวิตกลับมาจากป่าเขา จนมีโอกาสทุ่มเทเรี่ยวแรงเขียนถึงชีวิตไพบูลย์ออกมาให้เราได้เห็นความเป็นคีตกวีลูกทุ่งที่ร้อยปีมีคนเดียว

อย่างน้อยเราก็ได้เห็นถึงที่มาจริงๆ ของเพลงค่าน้ำนม

เรื่องที่สาม ในวาระสุดท้ายของไพบูลย์ ไม่มีบันทึกว่าทางการไทยได้ไปงานศพ ไม่มีบันทึกว่าทางการให้ความสำคัญใดๆ ไม่มีอย่างสิ้นเชิง แม้จะเป็นที่รู้กันว่านักร้องลูกทุ่งชื่อดังทุกรุ่นเคยผ่านการร้องเพลงของไพบูลย์มาแล้วทั้งนั้น

ที่สำคัญ ลุงวัฒน์ผู้ซึ่งใช้เวลาร่วมสิบปีในการเขียนถึงเพลงและชีวิตไพบูลย์ ทุกวันนี้ต้องหลบหนีลี้ภัยจากบ้านเกิดเมืองนอน ด้วยเหตุผลเพียงเพราะเขาเห็นต่างทางการเมือง ไม่ยอมรับอำนาจปืนของผู้ยึดอำนาจ

ความเข้มข้นของเพลง ‘ค่าน้ำนม’ อาจไม่ได้มีแค่ความรัก น้ำเหลือง โรคเรื้อน และน้ำนมของแม่เท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยเลือดเนื้อและวิญญาณอันร้าวระทมของคนไม่น้อย ที่มีชะตากรรมแหว่งวิ่นโดยที่พวกเขาไม่ได้เป็นฝ่ายเลือก

วันที่ลูกเติบโตไปเป็นสาว เพลงนี้อาจจะจางหายไปจากบรรยากาศบ้านเมืองที่ต่างเปิดฟังกันในวาระพิเศษ แต่ความเป็นเพลงคงไม่หายไปตามยุคสมัย

เรื่องสุดท้าย ลูกอาจรู้สึกว่าการพูดถึงค่าน้ำนมนั้นหมายถึงเรากำลังทวงบุญคุณจากลูกหรือเปล่า

เปล่าเลย, คำยืนยันหนึ่งที่แม่ของลูกเขียนไว้เตือนเรา เพื่อพยายามเท่าทันอนาคตที่เราอาจเปลี่ยนไป กลายเป็นคนชราที่จะเผลอมาทำร้ายโลกของลูกนั้น จะทำให้ลูกเข้าใจพวกเราว่าก่อนวันนั้น เราเคยคิดแบบนี้ พ่อถือวิสาสะเอาบันทึกของแม่มาลงไว้ตรงนี้

 

จดหมายถึงลูกในปี 2600 ถึง ‘เวลา’ ลูกแม่

แม่ไม่รู้ว่าจะเขียนเก็บไว้ที่ไหน แต่คิดว่าเขียนใส่กระดาษไว้นั้นน่าจะดีที่สุด ตอนที่แม่เขียนข้อความต่อไปนี้ หนูอายุเกือบแปดเดือนแล้ว กำลังมีแววตาซุกซน กินเก่ง ขนตางอนสวยมาก

อีก 40 ปีข้างหน้า ลูกจะกลายเป็นผู้ใหญ่ ส่วนแม่ก็อายุเข้าเลข 7 ไปแล้ว แม่อาจแก่มากจนเลอะเลือน งุ่มง่าม หรือไม่ก็อาจจะตายจากโลกนี้ไปแล้วก็ได้ แต่แม่อยากให้ลูกรู้ว่าลูกเป็นที่ 1 ในใจเสมอ

ที่พ่อกับแม่ตั้งชื่อลูกว่า ‘เวลา’ เพราะเวลาเป็นสิ่งมีค่ามาก และลูกจะมีเวลาเป็นของตัวเองเสมอ  เช่นเดียวกับที่พ่อและแม่มีลูก แต่ถึงที่สุดเวลาจะอยู่กับเราแค่ช่วงระยะหนึ่งเท่านั้น มันคือความจริงของทุกคน

ตอนนี้ลูกคงมีครอบครัวและลงหลักปักฐานไปแล้ว แม่ขอให้ลูกสุขภาพแข็งแรงและปลอดภัย มีชีวิตอย่างมีความสุขตามที่ลูกต้องการ

 


อ่านคอลัมน์ ‘เมื่อเวลามาถึง’ ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save