fbpx

โบโกต้า, โคลอมเบีย: ประวัติศาสตร์การพัฒนาพื้นที่สาธารณะตามแนวคิดของเยอร์เก้น ฮาเบอร์มาส

ครั้งหนึ่ง โบโกต้า เมืองหลวงของประเทศโคลอมเบียเคยได้รับสมญานามว่าเป็นเมืองหลวงของการค้ายาเสพติดของโลก รวมทั้งยังประสบปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการลักพาตัว ปัญหาความรุนแรงที่มีอยู่อย่างดาษดื่น แต่หลังคริสต์ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา โบโกต้าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจนกลายเป็นเหมือน ‘ความอัศจรรย์’ ที่เกิดขึ้นชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ กล่าวคือ โบโกต้าฟื้นจากช่วงระยะเวลาแห่งการไร้เสถียรภาพทั้งทางการเมืองและสังคม กลายเป็นแม่แบบของการพัฒนาเมือง (Urban Development) ให้กับเมืองอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่แค่เมืองในภูมิภาคลาตินอเมริกาเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่ได้นำการใช้ระบบรถโดยสารสาธารณะของโบโกต้ามาปรับปรุงเป็นระบบรถโดยสาร BRT เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและมลภาวะที่เกิดตามมา ถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนักในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีสายการเดินทางที่จำกัด นอกจากนี้ยังมีการสร้างสวนสาธารณะ ห้องสมุด หรือศาลาประชาคม (Community Hall) เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะภายใต้การนำของนายกเทศมนตรีเมืองโบโกต้าสองท่าน คือ Antanas Mockus และ Enrique Peñalosa

ความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะของเมืองโบโกต้าได้รับการกล่าวถึงไปทั่วโลก ทว่าสื่อต่างๆ ที่นำเสนอปรากฏการณ์ดังกล่าวกลับเหมือนจะนำเสนอภาพการเปลี่ยนผ่านอย่างผิวเผิน โดยระบุแต่เพียงว่าเมืองโบโกต้าในขณะนี้ ‘ปราศจากความรุนแรง’ แล้ว และมองว่าความสำเร็จครั้งนี้เป็นผลมาจากโครงการการฟื้นฟูระบบโครงสร้างพื้นฐานและสถาปัตยกรรมของเมืองโดยตรง หนังสือพิมพ์ New York Times นำเสนอว่าเป็นเพราะการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทำให้อาชญากรรมลดลง ขณะที่สำนักข่าว BBC ได้เชิดชูเมืองโบโกต้าว่ามี ‘การฟื้นฟูเมืองที่โดดเด่น’ ซึ่งตรงกันข้ามกับการพยายามฟื้นฟูและพัฒนาเมืองคู่แข่งอย่างเมะเดยีน ส่วนหนังสือพิมพ์ The Washington Post ก็ได้บรรยายการเปลี่ยนผ่านของเมืองโบโกต้าไว้อย่างน่าชื่นชมว่า สามารถแปรจากเมืองแห่งความรุนแรงและยาเสพติดให้กลายเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่สำคัญ ความสำเร็จของโบโกต้าถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ (Rebranding) ให้โคลอมเบีย ส่งเสริมให้โลกภายนอกได้สัมผัสความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศ รวมทั้งขจัดภาพลักษณ์ที่ชาติตะวันตกมักมองว่าโคลอมเบียเป็นแหล่งการค้ายาเสพติด

โบโกต้ามีแนวคิดการพัฒนาเมืองอย่างไรถึงทำให้เมืองได้รับการฟื้นฟูจนสามารถพลิกฟื้นภาพลักษณ์ของประเทศได้ และยังเป็นต้นแบบของหลายๆ ประเทศทั่วโลกด้วย – บทความนี้จะฉายภาพแนวคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะ ของเยอร์เก้น ฮาเบอร์มาส ซึ่งมีส่วนสำคัญในนโยบายการพัฒนาพื้นที่สาธารณะซึ่งถูกนำมาใช้พัฒนาเมืองโบโกต้า ประเทศโคลอมเบีย

พื้นที่ – สาธารณะ

คำว่า ‘พื้นที่’ (Space หรือ Sphere) หมายถึง อาณาบริเวณที่ซึ่งสมาชิกในสังคมสามารถสรรสร้างหรือแลกเปลี่ยนความคิด เป็นพื้นที่ในโลกทางสังคมซึ่งปัจเจกบุคคลมาพบปะพูดคุยและอภิปรายกันอย่างเสรีในประเด็นปัญหาทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ ประเด็นจากการอภิปรายโต้เถียงปัญหาและข้อมูลข่าวสารต่างๆ จะถูกตีแผ่แลกเปลี่ยนกันในพื้นที่สาธารณะ ก่อให้เกิดการรับรู้ร่วมกันและนำไปสู่การตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมทางการเมืองของสาธารณชนในอันดับต่อไป

คำว่า ‘สาธารณะ’ หมายถึง กลุ่มคนที่มีความสนใจร่วมกัน กระทํา/แสดงออกเพื่อสังคมส่วนรวมหรือสาธารณชน ใน ภาษาอังกฤษใช้ public, public space, public place, public sphere, public realm, public activities, publicness เป็นความหมายที่มีความสัมพันธ์กับแนวคิดและทฤษฎีในหลากสาขาวิชา เช่น รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มีการนําคําว่า ‘นโยบาย’ มารวมกับ ‘สาธารณะ’ ซึ่งแปลโดยตรงมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Public Policy อันมีหลายความหมาย แต่ความหมายซึ่งเป็นที่ยอมรับกันมากที่สุด คือ กิจของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ ที่เลือกที่จะทําหรือไม่ทํา เป็นทั้งกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นประจําวันหรือเฉพาะโอกาส และกิจกรรมนั้นๆ จะเกี่ยวข้องกับประชาชนคนหมู่มากซึ่งเป็นสมาชิกของสังคม มีผลต่อการพัฒนาประเทศ ขณะที่ในศาสตร์ของทางสื่อสารมวลชนและนิเทศศาสตร์ก็กล่าวถึงการประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับมวลชนและสาธารณะ (Public Relation) เช่นเดียวกับในทางสังคมศาสตร์ซึ่งมีการกล่าวถึง ‘สาธารณะ’ ในแง่สังคมไว้โดยมีพัฒนาการมานาน และเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบสังคมและการปกครองแบบประชาธิปไตยในปัจจุบัน 

การให้ความหมายคำว่า พื้นที่สาธารณะ (Public sphere) เยอร์เก้น ฮาเบอร์มาส (Jürgen Habermas) นักทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ชาวเยอรมัน ได้กล่าวว่า เป็นพื้นที่ของชีวิตสังคมที่เปิดกว้างให้แก่ทุกคน เพื่อเข้ามาร่วมกันสร้าง ‘ความคิดเห็นสาธารณะ’ พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงสังคมกับรัฐ เป็นพื้นที่ที่ผู้คนในสังคมมาร่วมกันทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์และควบคุมการทำงานของอำนาจรัฐ ลักษณะเด่นของพื้นที่สาธารณะ คือ การสนทนา/อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม เกิดขึ้นโดยไม่มีการบังคับข่มขู่ ชักจูง คุกคาม หรือออกคำสั่ง ตามความคิดของ ฮาเบอร์มาส พื้นที่สาธารณะจึงมีความสำคัญมาก โดยทำหน้าที่เป็นสื่อเชื่อมโยงระหว่าง ‘รัฐ’ และ ‘สังคม’ นอกจากนี้ พื้นที่สาธารณะยังมีอีกหลายแบบหลายประเภท เช่น พื้นที่สาธารณะทางศิลปวัฒนธรรม พื้นที่สาธารณะทางวรรณกรรมโดยเฉพาะ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ฮาเบอร์มาสให้ความสำคัญ คือ พื้นที่สาธารณะทางการเมือง (Political public sphere) ซึ่งมีความหมายต่อการพัฒนาระบบประชาธิปไตย เพราะอำนาจรัฐจะเป็นพื้นที่สาธารณะก็ต่อเมื่อถูกวางนโยบายสาธารณะและดำเนินมาตรการสาธารณะ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมและอยู่ภายใต้การควบคุมหรือตรวจสอบของประชาชนที่อยู่ภายในพื้นที่สาธารณะทางการเมือง ในขณะที่ปัจจุบัน เมืองเป็น ‘พื้นที่แบบอารยะ’ ภายในเมืองจะมีหอการค้าตามถนนสายต่าง ๆ มีการจัดแบ่งพื้นที่กันปกครองดูแลรักษา และมีพื้นที่สาธารณะ เช่น ลานคนเมือง เพื่อส่งเสริมความเป็นประชาคม เช่นเดียวกับร้านเหล้าของชาวอังกฤษ ที่เรียกว่า Pub ซึ่งคํานี้เป็นคําย่อมาจาก Public-house เป็นพื้นที่สำหรับผู้คนที่ต้องการพบปะสังสรรค์กัน พื้นที่สาธารณะจึงหมายรวมถึงที่สําหรับผู้คนมาพบปะกัน เพื่อรับอากาศ แสงแดด เพื่อให้ความชุ่มชื่นมีชีวิต ชีวาของเมือง เน้นถึงความเป็นสาธารณะ และการพัฒนาวัฒนธรรมของกลุ่มคนให้เจริญงอกงาม นักออกแบบชุมชนเมืองและภูมิสถาปนิกจึงให้ความสำคัญกับลักษณะของพื้นที่สาธารณะเป็นพิเศษ และไม่ใช่แค่เพียงความหมายทางกายภาพ แต่เป็นความหมายเชิงมนุษยศาสตร์และพฤติกรรม 

สรุปคือคำว่า พื้นที่สาธารณะ หมายถึงพื้นที่ที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปพบปะพูดคุยกันในประเด็นหรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ โดยความคิดเห็นสาธารณะจะถูกสร้างขึ้นภายใต้อาณาเขตของชีวิตทางสังคม การเข้าถึงพื้นที่นี้จะมีหลักการ และ ระบบระเบียบที่เปิดกว้างให้แก่กลุ่มคนหรือพลเมืองทุกคนได้มีส่วนร่วม พื้นที่สาธารณะจึงเป็นอาณาบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร การสร้างความรู้สึกเป็นส่วนรวม (Sense of public) และผลประโยชน์ของพื้นที่สาธารณะ เป็นได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรม กล่าวคือ รูปธรรมของพื้นที่สาธารณะ คือ พื้นที่ทางกายภาพที่กำหนดขอบเขตไว้แน่นอน เช่น สวนสาธารณะ ลานประชาชน จัตุรัสกลางเมือง ตลาดนัด ร้านกาแฟ เป็นต้น ส่วนพื้นที่นามธรรม คือ พื้นที่ที่ไม่มีขอบเขตแน่นอน เช่น พื้นที่ทางวัฒนธรรม สังคมออนไลน์ กลุ่มทางสังคม สื่อมวลชน เป็นต้น

อันที่จริงแล้ว คำว่า พื้นที่สาธารณะ (Public Sphere) ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในผลงานของอิมมานูเอล เคนท์ (Immanuel Kant , 1724-1804) นักปรัชญาสมัยใหม่ชาวเยอรมัน ทว่าถูกนำมาศึกษากันอย่างกว้างขวางในทางสังคมศาสตร์โดยฮาเบอร์มาส ในผลงานชื่อ ‘การแปลงรูปเชิงโครงสร้างของพื้นที่สาธารณะ’ (The Structural Transformation of the Public Sphere : an Inquiry into a Category of Bourgeois Society) ใน ค.ศ. 1962 ซึ่งฮาเบอร์มาสเป็นสมาชิกของสำนักแฟรงเฟิร์ตที่สนใจการวิพากษ์วิจารณ์ระบบและโครงสร้างทางสังคม นักวิชาการในกลุ่มนี้สร้างผลงานไว้มากมายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะทฤษฎีแนววิพากษ์ (Critical theory) โดยเห็นว่า ทัศนะพื้นฐานในเรื่องของความมีเหตุมีผล (Rationality) ของมนุษยชาติที่พัฒนามาจากความป่าเถื่อนไร้เหตุผลเป็นทัศนะที่ผิดพลาด เพราะความขัดแย้งสับสนของสังคม สงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งมนุษยชาติยังไม่มีเหตุมีผลมากนัก โดยเฉพาะระบบทุนนิยมซึ่งเป็นระบบที่ไร้เหตุผลมากที่สุด แต่ฮาเบอร์มาสมีความเห็นต่าง โดยเขาเห็นว่าการที่ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่ไร้เหตุผล เนื่องมาจากเส้นทางการพัฒนาความมีเหตุมีผลของมนุษยชาติยังไม่สมบูรณ์ ทำให้เป็นที่มาของข้อเสนอเรื่อง ‘พื้นที่สาธารณะ’ ซึ่งเป็นข้อเสนอเชิงรูปธรรมอย่างหนึ่งที่ทุกคนสามารถดำเนินการตามเหตุและผลได้

ฮาเบอร์มาสอธิบายถึงกระบวนการเกิดสำนึกสาธารณะ (สำนึกส่วนรวม) ว่ามาจากการที่ปัจเจกบุคคลใช้ความรู้และแสดงออกทางความคิดอย่างมีเหตุผลและเปิดเผยในที่สาธารณะ ส่งผลให้สาธารณชนเริ่มสามารถเข้าถึงและยึดครองอาณาเขตสาธารณะที่เคยถูกควบคุมโดยรัฐได้ ต่อมา พื้นที่ดังกล่าวได้แปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่ของการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์การเมือง รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ตัวอำนาจรัฐด้วย พื้นที่สาธารณะจึงกลายเป็นอำนาจใหม่ที่ท้าทายอำนาจเดิมของสังคมศักดินาในยุโรป

พื้นที่สาธารณะ: จากพื้นที่ ‘ผูกขาด’ สู่พื้นที่สำหรับ ‘มวลชน’

คำถามสำคัญต่อมา พื้นที่สาธารณะซึ่งเคยถูกผูกขาดอยู่แต่เฉพาะกับคนบางกลุ่มในอดีต ได้เกิดการแปลงรูปมาเป็นพื้นที่ของมวลชนโดยทั่วไปได้อย่างไร? ฮาเบอร์มาสตอบคำถามนี้โดยการศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของยุโรปตะวันตกนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา และพบว่าในช่วงเวลานั้น สังคมยุโรปมีแต่สถาบันกษัตริย์และสถาบันศาสนาเท่านั้นที่มีอภิสิทธิ์ในการเข้าถึงและครอบครองพื้นที่ทางการเมือง ชนชั้นกษัตริย์ขุนนางชั้นสูงและพระเท่านั้นที่มีอำนาจในการตัดสินใจกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะหรือคนหมู่มาก เช่น การออกกฎหมาย การถืออำนาจครอบครองที่ดิน การผูกขาดความรู้และอำนาจ การผูกขาดการโฆษณาเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณะ เป็นต้น การปรากฏตัวเพื่อให้เป็นที่รู้จักในสังคมจึงไม่ใช่เรื่องที่ใครก็สามารถกระทำได้ แต่บุคคลนั้นจะต้องมีสถานภาพทางสังคมเพียงพอในฐานะที่เป็น ‘บุคคลสาธารณะ’ และเพื่อที่จะรักษาอภิสิทธิ์ในพื้นที่สาธารณะทางการเมืองของตน รัฐยังกำหนดอำนาจที่จะใช้ความรุนแรงปราบปรามคนกลุ่มอื่นที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่สาธารณะดังกล่าวได้ด้วย

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คือราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 เกิดการขยายตัวของการค้าทางทะเลและการตื่นตัวทางศิลปะวิทยาการต่างๆ ก่อให้เกิดกลุ่มพ่อค้า นักคิด ปัญญาชนมากมาย เศรษฐกิจและความรู้ไม่ได้ถูกผูกขาดไว้ที่ชนชั้นสูงหรือพระบาทหลวงอีกต่อไป แต่เกิดเป็นชนชั้นใหม่ในสังคมที่อยู่กึ่งกลางระหว่างชนชั้นศักดินากับสามัญชนชั้นล่างที่เรียกว่า ชนชั้นกลาง (Bourgeois) ประกอบกับยุคสมัยดังกล่าวเป็นช่วงของการพัฒนาความเป็นเมืองหรือมหานคร (Urbanization) ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฮอลแลนด์ ฯลฯ เริ่มปรากฏพื้นที่สาธารณะใหม่ของคนกลุ่มใหม่ที่มาพบปะสังสรรค์ เสวนากันตามร้านกาแฟ โรงเหล้า ห้องโถง หรือห้องรับแขกของเหล่าชนชั้นกลางอันเป็นพื้นที่ที่ปลอดจากอำนาจราชสำนักและศาสนา กิจกรรมที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวกระทำ คือ การนัดพบปะกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการค้า ความรู้และประสบการณ์ใหม่จากการเดินทางไปยังดินแดนไกลโพ้น ข้อเขียนหรือบทความทางปรัชญา วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ขณะที่วรรณกรรมแพร่กระจายอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ที่พัฒนาขึ้น มีการพูดคุย ถกเถียงกันอย่างมีอิสระเสรีและมีเหตุผลในเรื่องต่างๆ เช่น กฎหมาย การเมืองการปกครอง ปรัชญา การวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกันนี้ดำเนินไปบนหลักของความเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยมีบทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์เป็นองค์ประกอบสำคัญ กล่าวคือ เรื่องที่พูดคุยกันจะเป็นประเด็นของผลประโยชน์ร่วมกันที่สมาชิกแต่ละคนได้รับข่าวสารมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ใบประกาศ ฯลฯ

นี่เองคือช่วงเวลาที่ฮาเบอร์มาสมองว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการที่อาณาเขตหรือพื้นที่ส่วนตัว (Private sphere) เคลื่อนออกมาสู่มณฑลสาธารณะ และบางเรื่องก็ได้หลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกันโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับชีวิตการเมือง นอกจากนี้ การศึกษาและความรู้หนังสือของประชาชนที่ขยายวงกว้างมากขึ้นนำไปสู่หลักของการคัดเลือก (Principle of selection) ไม่ว่าจะเป็นการเลือกข่าวสาร ความรู้วิทยาการ การคัดสรรผู้มีความรู้ ผู้มีอำนาจ และนำไปสู่การจัดโครงสร้างใหม่ทางสังคมแบบใหม่และการครอบครองทรัพย์สินของคนกลุ่มใหม่ในยุคสมัยนั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงกล่าวได้ว่า พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นกลาง เพราะนอกจากการพูดคุยดังกล่าวจะเป็นช่องทางให้สมาชิกในสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตสาธารณะแล้ว ยังสามารถตรวจสอบรัฐบาลที่กำลังปกครองอยู่ในขณะนั้นได้ด้วย และผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ กลุ่มพื้นที่สาธารณะนั้นจะนำข้อสรุปหรือข้อเสนอไปต่อรองกับชนชั้นกษัตริย์หรือขุนนาง พื้นที่สาธารณะจึงเท่ากับเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ชนชั้นกลางได้แสดงตัวในฐานะ ‘พลเมือง’ และได้รวมตัวกันเพื่อเป็นช่องทางเข้าไปร่วมกับชีวิตสาธารณะของสังคม

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 บทบาทของพื้นที่สาธารณะในฐานะพื้นที่ของ ‘เหตุผล’ ตามความหมายของฮาเบอร์มาสกลับเริ่มถดถอยลง การเผยแพร่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้แปรเปลี่ยนไปสู่การสนองตอบผลประโยชน์ทางการค้ามากกว่าทางการเมือง ทำให้ข้อมูลข่าวสารแปรรูปจากความรู้ข่าวสารไปสู่การโฆษณาสินค้า การโฆษณาชวนเชื่อและการบิดเบือน ฮาเบอร์มาสแสดงให้เห็นว่าพื้นที่สาธารณะของชนชั้นกลางได้กลายเป็นพื้นที่ทางสังคมที่มีลักษณะเฉพาะอันเกิดจากการเติบโตของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมในยุโรปตะวันตก และเช่นเดียวกัน เขาได้แสดงให้เราเข้าใจถึงความขัดแย้งกันระหว่างอุดมคติของความเท่าเทียมกันบนฐานของแนวคิดเสรีนิยมกับความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมที่ถูกกำหนดโดยกลไกหรือความสัมพันธ์ของการค้าการตลาด

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 1970 ฮาเบอร์มาสเริ่มให้ความสำคัญในเรื่อง ‘ภาษาศาสตร์’ (Linguistic) ซึ่งเป็นสถานการณ์ทางภาษาแบบอุดมคติ (Ideal speech situation) ซึ่งทุกสังคมใช้ เพราะมนุษย์ทำการสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และนำแนวคิดนี้มาเป็นบรรทัดฐานในการวิจารณ์สังคมว่าเป็นอิสระหรือไม่ (Social criticism) ในขณะเดียวกัน ก็ใช้แนวคิดนี้เป็นแบบจำลองในการสร้างสังคมใหม่ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความสามารถและเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ก็มีข้อจำกัดในการปลดปล่อยสังคม (Social emancipation) เนื่องจากระบบสังคมสมัยใหม่มีแนวโน้มวิวัฒนาการไปสู่ความซับซ้อนมากขึ้น (Systematic complexity) จึงเป็นการยากที่จะมองเห็นความโปร่งใสทางวาทกรรมในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เมื่อเป็นเช่นนี้ สถานการณ์ทางภาษาแบบอุดมคติที่มนุษย์สื่อสารกันอย่างอิสระเสรี ไร้การควบคุม อาจจะไม่สามารถนำมาเป็นหลักการที่ใช้ในการจัดการระบบสังคมได้ ทว่าต้องอาศัยมิติอื่นๆ มาสนับสนุน โดยการเชื่อมโยงหลากหลายแนวคิดเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้เกิดพลังมากขึ้นในการสร้างแบบจำลองอันเป็นอุดมคติ (Normative model) นั่นคือพื้นที่สาธารณะ วาทกรรม และเหตุผล

ในผลงานเรื่อง ทฤษฎีปฏิบัติการด้านสื่อสาร (The Theory of Communicative Action) ฮาเบอร์มาสนำแนวคิด 2 เรื่องมาเชื่อมโยงกันคือ โลกชีวิต (Life-world) กับระบบ (System) เช่น ระบบทุนนิยมสมัยใหม่มีสื่อหลายอย่าง เช่น เงินตรา กฎหมาย อำนาจ ทำหน้าที่เป็นกลไกในการทำให้ระบบดำรงอยู่ได้อย่างเป็นปึกแผ่น ขณะเดียวกัน สื่อก็มีแนวโน้มในการคุกคาม ‘โลกชีวิต’ ของผู้คน โดยการครอบงำและทำลายพื้นฐานของชีวิต ไปจนถึงบิดเบือนวิถีการสื่อสารระหว่างมนุษย์ ซึ่งฮาเบอร์มาสใช้คำว่า ‘การตั้งรกรากของโลกชีวิต’ (Colonization of the life-world) กล่าวคือ พื้นที่สาธารณะที่เรากำลังพูดถึงนี้มีแนวโน้มที่จะถูกรุกล้ำโดยสื่อ อย่างเช่นเงินตรา อำนาจ และกฎหมาย ซึ่งจำกัดศักยภาพในการแสดงความคิดเห็น ปัญหาสำคัญคือ เราจะมีวิธีการป้องกันอย่างไรไม่ให้อำนาจรัฐและทุนนิยมรุกล้ำเข้ามาควบคุมโลกชีวิตและพื้นที่สาธารณะได้โลกชีวิตและพื้นที่สาธารณะจะสามารถป้องกันตัวเองได้หรือไม่ และจะยับยั้งการคุกคามของระบบได้อย่างไร ซึ่งฮาเบอร์มาสชี้ให้เห็นคำตอบอย่างชัดเจนว่า ศักยภาพในการต่อต้านโลกชีวิตต้องใช้กลไกทางด้านปฏิบัติการด้านสื่อสาร (Communicative action) โดยดำเนินการอภิปรายอย่างอิสระเสรีผ่านกระบวนการเคลื่อนไหวสังคมแนวใหม่ (New social movement) ใช้พื้นที่สาธารณะที่หลากหลาย เพื่อผลิตซ้ำทางการสื่อสารอย่างต่อเนื่องเพื่อคานอำนาจกับระบบ

ต่อมา ฮาเบอร์มาสได้นำเสนอทฤษฎีสำคัญที่เรียกว่า จริยศาสตร์แนววาทกรรม (Theory of discourse ethics) คือการวิเคราะห์สังคมสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับโครงสร้างทางจริยธรรมและศีลธรรม และต้องใช้แนวคิดทางด้านนิติศาสตร์มาผสมผสานด้วย การนำทฤษฎีวาทกรรมมาวิเคราะห์กฎหมายและประชาธิปไตย (Contributions to Discourse theory of Law and Democracy) ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานของเขาที่ให้คำตอบด้วยว่า ทำอย่างไรจึงจะควบคุมการแผ่อำนาจของระบบได้ ซึ่งคำตอบคือ กฎหมายไม่ใช่กฎหมายที่มาจากข้างบน หากแต่เป็นกฎหมายที่ผ่านกระบวนการทางวาทกรรมของสาธารณะ ผ่านอำนาจทางการสื่อสารจากผู้คนที่อยู่ข้างล่างส่งไปสู่ข้างบน และนิติรัฐที่เป็นประชาธิปไตยพร้อมด้วยหลักการที่สำคัญต่างๆ เช่น อำนาจตุลาการ และหลักสิทธิมนุษยชนในการควบคุมอำนาจทางการเมืองของฝ่ายบริหาร

หากกล่าวโดยสรุปคือ พื้นที่สาธารณะ (Public sphere) จะส่งข้อมูลข่าวสารไปยังพื้นที่สาธารณะทางการเมืองผ่านระบบประชาธิปไตยที่มีการอภิปราย การถกเถียง การแสดงออกทางความคิดอย่างอิสระเสรีและกว้างขวาง (Deliberative democracy) และกลไกที่สำคัญคือ วาทกรรมสาธารณะ (Public discourse) นั่นเอง

ปัจจุบัน แนวคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะของฮาเบอร์มาสถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในศาสตร์ต่างๆ อาทิ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ สารสนเทศศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งนโยบายการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ (Development of  Public Sphere) ได้เริ่มนำมาใช้ในเมืองโบโกต้าในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา โดยมีที่มาจากสองแนวความคิด ดังนี้:

ประการแรกคือ แนวคิดเกี่ยวกับพันธะความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ที่คนรวยในเมืองจะต้องรับผิดชอบคนที่ด้อยโอกาสกว่า ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ถูกเพิกเฉย ไม่ได้รับความใส่ใจจากนโยบายการพัฒนาเมืองที่มีมาแต่ในอดีต

ประการที่สองคือ ความตระหนักว่าปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงที่สั่งสมมานานในเมืองโบโกต้าจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยงานวิจัยที่ผ่านมาในอดีตมักจะเน้นศึกษาเน้นหนักไปทางใดทางหนึ่ง อาทิ การศึกษาของ M. Arbeláez, J. Echavarría, A. Gaviria and C. Vélez (2001). Colombian long run growth and the crisis of the 1990s และ Barcelona Metropolis (2010). Urbanismo social: la metamorphosis de Bogotá จะเน้นศึกษาในเรื่องความเหลื่อมล้ำของการพัฒนา ขณะที่งานของ L. Bernal-Franco and C. Navas-Caputo (2013). Urban violence and humanitarian action in Bogotá และ R. Ceballos Melguizo and F. Cronshaw (2001) “The evolution of armed conflict in Bogotá: an analysis of the major actors” Latin American Perspectives 28(1): 110-131 จะเน้นศึกษาเรื่องปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงในเมืองโบโกต้าเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีงานการศึกษาใดที่ศึกษาสองแนวความคิดหลักที่มาของแนวนโยบายการการพัฒนาพื้นที่สาธารณะไปพร้อมๆ กัน จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อนักวิชาการที่สนใจศึกษาในประเด็นดังกล่าวควบคู่กันไปในอนาคต  

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save