fbpx

Black Miseria

ผมสะสมหนังสืองานศพไว้นับพันเล่ม ในโอกาสนี้ผมขอกล่าวถึงเหตุผลหนึ่งของการสะสมเพื่อเชื่อมโยงกับหนังสือที่ผมจะกล่าวถึงต่อไป เหตุผลสำคัญที่ว่านั้นคือการอ่านถ้อยคำอำลาอาลัย ในช่วงเริ่มต้น ผมสนใจในประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนที่มีต่อผู้ที่จากไป เพราะมันคือริ้วรอยเล็กๆ น้อยๆ ของภาพใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้น หลายครั้งในการอ่าน ผมรู้สึกว่านี่เป็นกลวิธีการนินทาอย่างเปิดเผยอันแยบยลของคนไทยที่พุ่งชนต่อการสร้างภาพ (กระซิบดังๆ ว่าของพวกชนชั้นยกตัวสูงส่งนี่แหละสนุกที่สุด)

แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่ดึงดูดใจผมผ่านถ้อยคำเหล่านั้นคือวิธีการรับมือกับความวิปโยคของแต่ละบุคคลที่ซ่อนอยู่ในข้อเขียน ยิ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้ที่จากไปมากเท่าไหร่ ห้วงอารมณ์อันลึกซึ้งจะยิ่งละเอียดอ่อน และนำไปสู่การทำความเข้าใจความรู้สึกอันยากจะรับมือที่สุดของผู้เขียนมากยิ่งขึ้น เพราะโดยธรรมชาติของคนแล้วไม่มีใครอยากเปิดเผยให้เห็นความอ่อนแอ

แต่เราจะอยากรับรู้ความเจ็บปวดของผู้อื่นไปเพื่ออะไร?

James Nwoye Adichie (JNA) เป็นศาสตราจารย์ทางด้านสถิติคนแรกของประเทศไนจีเรีย เขาเสียชีวิตจากการติดเชื้อซึ่งนำไปสู่ภาวะไตล้มเหลวเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2020 ในห้วงยามที่การแสดงความรักต่อกันคือการเว้นระยะอันห่างไกล ในห้วงยามแห่งความไม่คาดฝันจากอาการที่ทรุดลงอย่างรวดเร็วและเงียบงัน โลกใบเดิมของ Chimamanda Ngozi Adichie (CNA) ลูกสาวของเขาได้แหลกสลายลงไป

โรคระบาดใหญ่ทำให้ชีวิตช่วงท้ายๆ ของ CNA ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับพ่อของเธอ เหมือนแต่ก่อนที่เธอเดินทางไปมาระหว่างสหรัฐอเมริกากับไนจีเรีย วิธีการเดียวที่เธอจะติดต่อกับครอบครัวใหญ่ของเธอที่แยกกันอยู่ในหลายประเทศอย่างใกล้ชิด คือการมาพบปะกันอย่างพร้อมหน้าผ่าน Zoom

แล้ววันหนึ่ง Zoom ที่เปรียบเสมือนความสุขก็กลายเป็นเครื่องมือหยิบยื่นความทุกข์ เมื่อพี่ชายของเธอเรียกมาเพื่อบอกข่าวร้าย และหลังจากนั้นช่องสี่เหลี่ยมที่เคยเป็นความสุขของเธอในจอก็กลายเป็นความว่างเปล่า เป็นความโศกเศร้า และเป็นการยืนยันถึงความจริง

ก่อนหน้านี้เธอประสบปัญหาในการรับมือกับชื่อเสียงที่ถาโถมเข้ามาอย่างบ้าคลั่ง ทั้งจากนวนิยายที่เธอเขียนถึงไนจีเรียประเทศบ้านเกิด และจากนวนิยายที่นำเสนอความย้อนแย้งระหว่างความเป็นไนจีเรียนอเมริกันและอเมริกันไนจีเรียน รวมไปถึงจากตัวเธอ และความเห็นของเธอเรื่องความเป็น Feminist ในยุคสมัยที่การแข่งขันกันตัดสินความ ‘ถูกผิด’ และ ความ ‘กว่ากัน’ แบบตามใจฉันใน social media ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่ไปกว่าแกนความคิดหลักของ Feminism และ Identity Politics แม้จะซวนเซ แต่เธอก็ประคองตัวอยู่ท่ามกลางกระแสเหล่านั้นมาได้ เพราะท้ายที่สุด เรื่องราวเหล่านี้ก็คือการยืนยันความคิดและความเชื่อในหลักการของตัวเอง

แต่การสูญเสียบุคคลที่รักยิ่งในครอบครัวนั้นเป็นอีกเรื่อง พ่อของเธอเป็นเหมือนทุกอย่างในชีวิต เปรียบเสมือนภาพอุดมคติในการปฏิบัติตน ความรักและศรัทธาที่เธอมีต่อพ่อนั้นเปิดเผยชัดเจน จนบ่อยครั้งที่ญาติของเธออำอย่างเอือมระอาว่าเธอควรจะแต่งงานกับพ่อของตัวเอง

เมื่อแสงสว่างดับลงไป ความมืดมิดทำให้สภาวะจิตใจของเธอแหลกสลาย แม้แต่ถ้อยคำปลอบโยนของผู้อื่นก็นำมาซึ่งความเกลียดชัง เธอมองการแสดงออกเหล่านั้นเป็นสิ่งสาธารณ์ ไร้น้ำหนัก ขอไปที ความวิปโยคนำเธอเข้าไปสู่ความทุกข์ระทมและหดหู่ ในหนทางอันหลากหลายที่จะเผชิญหน้ากับความวิปโยคเพื่อไม่ให้ชีวิตถูกกลืนกิน หนทางที่ดีที่สุดคือการเผชิญหน้ากับมันอย่างไม่ลดละสายตา และในกรณีของเธอ การเขียนคือการสร้างรอยปริแตกให้แก่ความโศกเศร้าเพื่อที่จะนำแสงสว่างกลับมา แม้จะเป็นเพียงเสี้ยวแห่งแสงรำไร แต่อย่างน้อยเธอก็กลับมามองเห็นเส้นทาง



Notes on Grief (2021) เขียนขึ้นด้วยรูปแบบเศษเสี้ยวของข้อเขียนสั้นๆ 30 ชิ้นเรียงร้อยเข้าหากัน แต่ละชิ้นคือการหวนระลึกถึงเหตุการณ์ในห้วงต่างๆ จากความทรงจำของตัว CMA ที่มีต่อพ่อ ในระหว่างที่แง่มุมอันเป็นเรื่องส่วนตัวหรือประวัติศาสตร์ของครอบครัวค่อยๆ เปิดเผยออกมานั้น ภาพที่สะท้อนออกมาเป็นฉากหลังคือประวัติศาสตร์ของไนจีเรียตั้งแต่ยุคศาสนาคริสต์เข้ามามีอิทธิพลในแอฟริกา ที่ทำให้พ่อของเธอได้รับการช่วยเหลือจากการอุปถัมภ์ค้ำจุนของโบสถ์จนได้รับการศึกษาแบบตะวันตก ความภาคภูมิใจในเผ่าพันธุ์อิกโบของเธอที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามแบ่งแยกสาธารณรัฐบิอาฟราถูกนำเสนอให้เห็นว่าผู้คนในแต่ละรุ่นตั้งแต่ปู่ของเธอมาจนถึงตัวเธอนั้นมีความเห็นอย่างไรต่ออัตลักษณ์ของตนเองในปัจจุบัน

สิ่งที่เห็นได้ชัดอีกประการในการเล่าเรื่องแบบ ‘ฉันเป็นลูกสาวของพ่อ’ ที่มีลักษณะกึ่งภาพร่างชัดเจนบ้างไม่ชัดเจนบ้าง บางครั้งก็คล้ายไม่ปะติดปะต่อ คือการสำรวจสภาพจิตใจและบุคลิกลักษณะของตัวเธอเองว่าเธอได้รับมรดกทางตัวตนอะไรมาจากพ่อบ้าง หนึ่งในเรื่องที่น่าจะเป็นประเด็นสนทนาต่อสำหรับผู้ที่สนใจเรื่อง Feminism คือการสร้างความมั่นใจในความคิดให้ตัวลูกสาว สำหรับเธอแล้ว พ่อของเธอคือผู้ที่ทำให้เธอไม่เกรงกลัวต่อการไม่ถูกยอมรับในทัศนคติของผู้ชาย

ข้อสังเกตอีกประการที่ควรเอ่ยถึงจากบันทึกแห่งความวิปโยคเล่มนี้ คือการเปลี่ยนแปลงวิธีการเขียน ความสูญเสียทำให้เธอตระหนักถึงผลของการล่วงลับ ในขณะที่ตัวตนแห่งความรักสูญหายไปพร้อมกับตัวบุคคล สิ่งที่เกิดใหม่ในความมืดมิดคือการเข้าถึงรสชาติที่แท้จริงของการสูญเสีย ความตายทำให้มุมมองของเธอที่มีต่อเวลาที่เหลืออยู่ถูกพิจารณาใหม่ สิ่งที่เราได้อ่านจากบันทึกนั้นบางครั้งก็ชวนให้นึกถึง Camera Lucida ของ Roland Barthes ซึ่งเป็นการหวนระลึกถึงคุณงามความดีของผู้ให้กำเนิดอันเป็นที่รัก ต่างกันแต่เพียง Barthes ใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อกลางทางความคิด แต่สำหรับเธอเป็นตัวตน เป็นรากเหง้า และพลังของการบอกเล่าแห่งภาษา

เธอจบบทบันทึกแห่งความวิปโยคว่า “I am writing about my father in the past tense, and I cannot believe I am writing about my father in the past tense.” การจบบทบันทึกของเธอด้วยการใช้ความพิเศษที่ไม่มีในไวยากรณ์ไทยด้วย tenses คือการตอกย้ำความสำคัญของ ‘เวลา’ ที่ทุกคนมีและเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างวรรณกรรม

อดีตที่เธอย้ำผ่าน present tense, past tense และ present continuous ในประโยคสั้นๆ เพิ่มความหนักหน่วงให้หนังสือเล่มเล็กเบาบาง และสำหรับผม มันทำให้ภาพความทรงจำเกี่ยวกับพ่อของเธอกลายรูปไปสู่ภาพของถุงพลาสติกลอยไปกับสายลมที่ถูกบันทึกการเคลื่อนไหวไว้ใน American Beauty และกลายไปเป็นความหมายในคำถามเชิงปรัชญาของการมีอยู่และการจากไปในบทกวี A Song ของ Joseph Brodsky

และถ้ากลับมาถามซ้ำอีกครั้งว่าเราจะอยากรับรู้ความเจ็บปวดของผู้อื่นไปเพื่ออะไร?

คำตอบคือเพราะการพลัดพรากจากคนที่เรารักนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บางครั้งก็ฉับพลัน และหลายต่อหลายครั้ง การทำความเข้าใจความคิดในเรื่องบางอย่างของผู้อื่นคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุดเพื่อทำความเข้าใจกับความคิดของเราเอง

และเพราะความวิปโยคนั้นเยียบเย็นและคมกริบราวกับมีดโกนที่บาดลึกลงไปบนเส้นชีพจรของเราในทุกทั่วขณะจิต และความคิดของเราอาจตระหนักรู้ไม่ทันความคิดของตัวเอง แต่อย่างน้อยเราก็รู้ว่าบนเส้นทางที่ไม่มีใครหลีกพ้นได้นั้น ประสบการณ์ของผู้อื่นอาจเป็นสถานที่แห่งการปลอบประโลม




หมายเหตุ – ภาพประกอบบทความและหนังสือคือผลงานภาพวาดของ Lossapardo

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save