fbpx

การประท้วงที่หยุดนิ่งใน ‘เบลารุส’ กับคลื่นใต้น้ำที่รอวันปะทุอีกครั้ง

1.

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2020, ถนนวิกเตอร์ส, กรุงมินสก์, เบลารุส.

“Sveta! Sveta! Sveta! Sveta! Sveta!” (“ออกไป! ออกไป! ออกไป! ออกไป! ออกไป!”)

เสียงตะโกนโห่ไล่อเลียกซันดรา ลูกาเช็งกา หรือที่รู้จักกันในนาม ‘เผด็จการคนสุดท้ายแห่งยุโรป’ (Europe’s last dictator) ของมวลชนเบลารุสร่วมสองแสนคนดังกระหน่ำ ท้องถนนเส้นหลักใจกลางกรุงมินสก์ถูกย้อมและแต่งแต้มไปด้วยสีขาว-แดงจากดอกไม้ ลูกโป่ง และธง ‘ชาติ’ เบลารุสที่โบกสะบัดไปทั่ว – ณ ห้วงเวลานี้ ธงอันเป็นสัญลักษณ์แห่งเอกราชที่ครั้งหนึ่งลูกาเช็งกาแทนที่ด้วยธง ‘เบลารุสเซีย’ สีแดง-เขียวจากสมัยโซเวียตได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยและจินตนาการใหม่ของความเป็นชาติที่กำลังก่อตัวไปแล้ว

อะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น – ประชาชนแทบทั่วเบลารุส ทั้งในกรุงมินสก์และเมืองใหญ่พร้อมใจกันลงถนนประท้วงต่อต้านระบอบเผด็จการอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตลอดช่วงเวลา 26 ปีที่ลูกาเช็งกาครองอำนาจ

เบลารุสไม่เคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาก่อนเช่นนี้

“สถานการณ์ตอนนี้เหมือนหม้อต้มน้ำเดือด” อเลนา ชีเล็งกา วิศวกรหญิงประจำโรงงานผลิตรถยนต์มินสก์ โรงงานรถยนต์ของรัฐวัย 56 ปี หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมวันที่ 16 สิงหาคม กล่าว

อุณหภูมิความไม่พอใจของสังคมเบลารุสต่อระบอบลูกาเช็งกาที่สะสมมาตลอดทะลุจุดเดือด เมื่อลูกาเช็งกาฉวยขโมยชัยชนะจากสเวียตลานา ทีคานอฟสกายา ผู้ลงสมัครท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสายเสรีประชาธิปไตยไปในการเลือกตั้งในวันที่ 9 สิงหาคม 2020 ไปด้วยคะแนนนำแบบขาดลอย และยิ่งทวีความเดือดดาลมากขึ้นเมื่อรัฐบาลโต้กลับประชาชนที่ออกมาชุมนุมสนับสนุนทีคานอฟสกายาด้วยกระสุนยาง แก๊สน้ำตา ไม้กระบอง และการจับกุมคุมขัง

ว่ากันว่านี่คือการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

การประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 16 สิงหาคม 2020 | ภาพโดย Homoatrox

สิงหาคม 2021, กรุงมินสก์, เบลารุส.

1 ปีล่วงผ่าน เสียงตะโกนโห่ของมวลชนเหลือเพียงแต่ความเงียบ เสียงแตรรถยนต์ที่เคยเซ็งแซ่ไปทั่วถนนกลับสงัด ถนนวิกเตอร์สที่เคยถูกย้อมไปด้วยสีขาว-แดงเหลือแค่เพียงความว่างเปล่า มีเพียงแต่เสาโอเบลิสก์สไตล์โซเวียตที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางถนน ธงสีขาว-แดงที่เคยประดับประดาตามบ้านเรือนถูกปลดออกไปราวกับว่าไม่เคยมีอยู่ กระทั่งเสื้อผ้าสีขาว-แดงยังต้องถูกเก็บไว้ในส่วนที่ลึกที่สุดของตู้เสื้อผ้า

ยังไม่หมดลมหายใจ แต่คลื่นลมประชาธิปไตยเริ่มอ่อนแรงตั้งแต่ปลายฤดูใบไม้ร่วงปี 2020

ผู้ร่วมชุมนุมรวมกว่า 38,000 คนถูกจับกุม กว่า 500 คนกลายเป็นนักโทษทางการเมือง – ที่เลวร้ายยิ่งกว่า หลายรายถูกเจ้าหน้าที่รัฐทรมาน ทำร้ายร่างกาย หรือกระทั่งฆาตกรรม ทีคานอฟสกายาถูกบีบให้ลี้ภัยการเมืองไปยังลิทัวเนียทันทีในหนึ่งวันหลังลูกาเชงกาประกาศชัยชนะ เวโรนิกา เซปกาโล หนึ่งในแกนนำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจำต้องลี้ภัยไปยังลัตเวียเช่นกัน ส่วนมาเรีย โคเลสนิคาวา อีกแกนนำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคนสำคัญตัดสินใจฉีกพาสปอร์ตทิ้งตรงพรมแดนยูเครนก่อนจะถูกเนรเทศ สุดท้ายเธอถูกจับกุมและคุมขังนานกว่า 1 ปีก่อนจะถูกตัดสินโทษจำคุก 11 ปีด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ

และแน่นอน ลูกาเช็งกาก็ยังคงกุมอำนาจในเบลารุสต่อไปอย่างมั่นคง ด้วยการวางเดิมพันไว้กับกลไกความมั่นคงรัฐและการหนุนหลังจากรัสเซีย

1 ปีล่วงผ่าน ไร้เงาของความเปลี่ยนแปลง

แต่เบลารุสไม่เหมือนเดิม และไม่มีวันหวนกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป

เกิดอะไรขึ้นกับเบลารุส?

2.

หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 เส้นทางที่เบลารุสเลือกหลังได้รับอิสรภาพและประกาศเอกราชเป็นไปตามสูตรสำเร็จไม่ต่างจากรัฐหลังโซเวียต (post-soviet state) อื่นๆ คือ เปลี่ยนผ่านการเมืองไปสู่ระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย และเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไปสู่ระบบเสรีนิยมใหม่

การเปลี่ยนผ่านประสบความสำเร็จไปตามที่ระบบสัญญาไว้ว่าจะนำความทันสมัย ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตที่ดีและความกินดีอยู่ดีมาสู่เบลารุส ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่รับไม้ต่อในการพัฒนาภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมอันเป็นมรดกตกทอดจากสมัยสหภาพโซเวียตได้ค่อนข้างราบรื่น ส่วนช่องว่างความเหลื่อมล้ำก็อยู่ในระดับที่ไม่ได้มากนัก – แต่ผ่านไปไม่นาน คำสัญญาก็ขาดสะบั้น

เมื่อถึงคราวเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกในปี 1994 คำมั่นสัญญาต่อประชาชนเบลารุสว่าจะขจัดชนชั้นนำที่ฉ้อฉลและไร้ศีลธรรม และจะพิทักษ์เศรษฐกิจเบลารุสไม่ให้เผชิญความยากลำบากอย่างที่ผ่านมา ผ่านการจัดสวัสดิการสังคมอย่างกว้างขวางและประกันการจ้างงานทำให้อเลียกซานดรา ลูกาเช็งกา อดีตผู้อำนวยการฟาร์มรวม (collective farm) ได้ใจประชาชนเบลารุสไปอย่างล้นหลามจนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายระดับได้รับการขนานนามว่า ‘พ่อ’ (‘Bakta’)

อเลียกซันดรา ลูกาเช็งกา | ภาพจาก The Presidential Press and Information Office

ไม่มีใครคาดคิดว่านี่คือการเลือกตั้งเสรีครั้งแรก ครั้งเดียว และครั้งสุดท้ายของเบลารุส

การก้าวสู่อำนาจของลูกาเช็งกาย่อมมีราคาที่เบลารุสต้องจ่าย ลูกาเช็งกาเริ่มปฏิบัติการกระชับอำนาจ การลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญสองครั้งในปี 1995 และปี 1996 เปิดทางให้ประธานาธิบดีมีอำนาจเหนือรัฐสภาและศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมาในปี 2004 การลงประชามติปลดล็อกกรอบจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็ได้ตอกฝาโลงการเมืองประชาธิปไตยเบลารุสลง กลไกการเลือกตั้งเช่นกันที่ย่อมหนีไม่พ้นจากการควบคุมของอำนาจรัฐ จนกลายเป็นเพียงแค่ละครการเมืองฉากหนึ่งที่เล่นวนซ้ำทุก 5 ปีเท่านั้น และใครที่คิดจะออกมาเปลี่ยนฉากจบของละคร ย่อมต้องเผชิญต่อการกดปราบและปราบปรามอย่างรุนแรงระดับพรากเอาชีวิตไปได้

เฉกเช่นเดียวกัน การเปิดทางให้รัฐและรัฐวิสาหกิจเล่นบทบาทพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเต็มขั้นที่ฝากชะตากรรมไว้กับการอุดหนุนราคาพลังงานจากรัสเซีย ไม่ช้าก็เร็ว – ก็ย่อมต้องจ่ายด้วยการพัฒนาและความเจริญที่ก้าวสู่จุดอิ่มตัว กระจุกตัวอยู่เพียงแค่ในมินสก์ นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน และคุณภาพชีวิตของชาวเบลารุสที่ค่อยๆ ตกต่ำลง ยิ่งราคาพลังงานโลกผันผวน ชะตากรรมทางเศรษฐกิจที่แขวนไว้กับราคาพลังงานและอำนาจของรัสเซียยิ่งสั่นคลอน

ความเป็นจริงของสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปกำลังจะไม่สามารถแลกกับการลิดรอนสิทธิเสรีภาพเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองได้อีกต่อไป

ความไม่พอใจเริ่มค่อยๆ ก่อร่างขึ้นอย่างเงียบงัน

แต่ความไม่พอใจก็ยังไม่มากพอจะกลายเป็นแรงต้าน ความนิยมและความศรัทธาในตัวผู้นำแบบโซเวียตขนานแท้อย่างลูกาเช็งกายังคงพอมีอยู่บ้าง

จนกระทั่งคลื่นใต้น้ำปรากฏออกมาในปี 2020

3.

“คุณทำอะไรเพื่อความรักได้บ้าง? ชายที่ฉันรักพยายามโค่นล้มเผด็จการและถูกจำคุก ฉันจึงทำในสิ่งที่ไม่ว่าภรรยาที่ภักดีคนไหนย่อมทำ ฉันลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีแทนเขา ฉันไม่สนใจการเมือง ฉันฝันเพียงแค่อยากเป็นแม่และภรรยาที่ดีเท่านั้น แล้วตอนนี้ ฉันกำลังนำการปฏิวัติล้มเผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป”

เธอเองไม่คาดคิด และก็ไม่มีใครคาดคิดว่าเธอจะกลายมาเป็นโฉมหน้าของการท้าทายอำนาจเผด็จการครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์เบลารุส

สเวียตลานา ทีคานอฟสกายา คือความหวังของเบลารุสในการปฏิวัติผ่านปลายปากกาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 – แม้การเลือกตั้งประธานาธิบดีหลายครั้งที่ผ่านมาจะพอเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้เสนอทางเลือกทางการเมืองได้บ้าง แต่การเลือกตั้งก็ไม่เคยเป็นความหวังมากเท่าครั้งนี้มาก่อน

ไม่ต่างจากทั่วโลก ปี 2020 ถือเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับเบลารุส และอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘จังหวะนรก’ สำหรับลูกาเช็งกา

สังคมเบลารุสกำลังเริ่มตื่นจากภวังค์

เมื่อไวรัสโควิด-19 ระบาดสู่เบลารุส มาตรการควบคุมและรับมือการระบาดของรัฐบาลนับได้ว่ายิ่งกว่าล้มเหลว เพราะไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาทั้งสิ้น สำหรับลูกาเช็งกา โควิด-19 ไม่มีอยู่จริงเสียด้วยซ้ำ “คุณเห็นเชื้อโควิดไหมล่ะ ผมไม่เห็น งั้นก็แปลว่ามันไม่มีอยู่จริง” เขากล่าว และยังแนะนำประชาชนอีกว่าให้ดื่มวอดก้า ออกไปขี่รถแทรกเตอร์ และเข้าซาวน่าบ่อยๆ ร่างกายจะได้แข็งแรงสู้ไวรัสได้ แต่ความจริงในสายตาของลูกาเช็งกาสวนทางกับความจริงในสายตาของประชาชนเบลารุส ทางออกจากวิกฤตโรคระบาดของประชาชนมีอยู่ไม่กี่ทางนัก นั่นคือต้องช่วยเหลือดูแลกันเอง – ช่องว่างที่รัฐปล่อยทิ้งไว้ก็เปิดพื้นที่ให้สังคมเบลารุสเชื่อมต่อความรู้สึกที่ยากลำบากและความโกรธเคืองผ่านโลกออนไลน์

ไม่เพียงเท่านั้น ความไม่พอใจต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่สะสมมานานถูกกวาดออกมาจากใต้พรมจนแทบจะหมดจด ไม่เว้นแม้แต่ในชนบทและเมืองขนาดเล็กที่เป็นฐานเสียงอันเหนียวแน่นของลูกาเช็งกา

เซอร์เก ทีคานอฟสกี ยูทูบเบอร์ยอดนิยมเจ้าของช่อง ‘A Country for Life’ คือผู้ที่จับมวลอารมณ์และเข้าถึงหัวใจของคนธรรมดาเดินดินได้อย่างถึงที่สุด เขาและทีมขับรถคาราวานแปะป้าย ‘ข่าวจริงเบลารุส’ (‘Real News of Belarus’) ตระเวนสัมภาษณ์ผู้คนตามเมืองต่างๆ ทั่วเบลารุส หลายคนเล่าปนระบายเรื่องราวความทุกข์ยากในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ ค่าจ้างที่ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตและการมีคุณภาพชีวิตที่ดี อาคารและถนนที่ผุพัง โรงงานของรัฐและฟาร์มรวมที่ใกล้จะล่มเต็มที หรือความร่ำรวยที่อยู่แต่เพียงในมือของข้าราชการเท่านั้น “ทุกคนรู้ดีว่ารัฐบาลไม่ชอบธรรม ประธานาธิบดีไม่มาจากการเลือกตั้ง ฉันไม่ได้เลือกเขามา” บางคนถึงขั้นไต่ระดับไปวิพากษ์ลูกาเช็งกาออกสื่ออย่างดุเดือด

เซอร์เก ทีคานอฟสกี สัมภาษณ์สุภาพสตรีชาวเมือง Glubokoye ซึ่งเธอวิพากษ์ความเป็นอยู่ภายใต้การปกครองของลูกาเช็งกาอย่างเผ็ดร้อน

แล้วเขาก็กลายเป็นเสียงสะท้อนความคับข้องขุ่นเคืองใจและความยากลำบากของคนธรรมดาต่อระบอบลูกาเช็งกาที่ไม่เคยได้ส่งเสียงดังกึงก้องเช่นนี้มาก่อน – ทีคานอฟสกีตัดสินใจประกาศลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี ฝ่าปราการทางการเมืองที่สามัญชนไม่เคยย่างกรายไปถึง

สัญญาณแห่งการต่อต้านไม่ได้มาจากเพียงสามัญชนเท่านั้น แต่ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจก็เริ่มหันหลังให้ลูกาเช็งกาเช่นกัน และผันตัวมาเป็นทางเลือกทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ไปได้ไกลกว่าเศรษฐกิจติดกลิ่นอายแบบโซเวียต

วิกเตอร์ บาบาริกา นายธนาคารจากเบลกาซพรอมแบงค์ ธนาคารสัญชาติรัสเซีย และวาเลรี เซปกาโล ชนชั้นนำที่อยู่ในวงโคจรชั้นในของลูกาเช็งกา ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้อำนวยการ Hi-Tech Park ซิลิคอนวัลเลย์แห่งเบลารุส แหล่งพลังขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจภาคไอทีของเบลารุสจนกลายเป็นหนึ่งใน Tech Hub ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคยุโรปตะวันออก ต่างก็ประกาศสมัครลงแข่งชิงชัยในสนามเลือกตั้งประธานาธิบดี และเสนอทางเลือกทางเศรษฐกิจใหม่ที่ได้ใจชนชั้นสร้างสรรค์ (Creative class) ไป

มีความเป็นไปได้มากที่สุดแล้วที่จะล้มลูกาเช็งกาได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทีคานอฟสกี บาบาริกา และเซปกาโลคือพลังสามประสานที่คาดว่าน่าจะเติมเต็มความปรารถนาที่เปลี่ยนไปของผู้คนส่วนมากในสังคมเบลารุส ซึ่งคือความปรารถนาที่จะหลุดพ้นออกจากระบอบที่ไม่สามารถมอบความก้าวหน้า โอกาส หรือตอบสนองความต้องการได้ และนับวันมีแต่จะยิ่งไม่สัมพันธ์กับกาลเวลาที่ไม่หยุดหมุนไปข้างหน้า ลูกาเช็งกาไม่สามารถหยุดเวลาได้อีกต่อไปแล้ว

แต่แล้วความหวังก็ดับมอด ทีคานอฟสกี บาบาริกา และเซปกาโล ไม่มีใครที่ได้ก้าวลงสู่สนามเลือกตั้ง ทีคานอฟสกีถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมตัวก่อนจะได้ยื่นใบสมัครเสียอีก บาบาริกาโดนตัดสินโทษจำคุก 14 ปีจากข้อหาติดสินบนและฟอกเงิน ส่วนเซปกาโลชิงหลบหนีไปยังรัสเซียก่อนที่จะถูกจับกุม – คงเป็นเรื่องโกหกคำโตหากจะบอกว่านี่ไม่ใช่การเล่นงานทางการเมือง

เมื่อสามีของเธอถูกกีดกันออกจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี เธอเพียงแค่ต้องการแสดงว่าเธออยู่เคียงข้างสามีของเธอเท่านั้น แต่นั่นนำไปสู่การตัดสินใจครั้งใหญ่ที่อยู่เหนือความคาดหมายทั้งปวง สเวียตลานา ทีคานอฟสกายา ภรรยาของทีคานอฟสกี ยื่นใบสมัครลงเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีในนามของเธอเอง

และคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ตอบรับใบสมัครของทีคานอฟสกายา

ในสายตาของลูกาเช็งกา การลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีของอดีตครูภาษาอังกฤษที่ผันตัวไปเป็นแม่บ้านผู้ไม่ประสาการเมืองคงเป็นเพียงเรื่องขำขันชวนหัว แต่ผิดมหันต์ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการโค่นล้มเผด็จการ และการก่อร่างของขบวนการประชาธิปไตย-ต่อต้านรัฐบาลอำนาจนิยมที่เกิดขึ้นแทบจะทุกหย่อมหญ้าของเบลารุส

มาเรีย โคเลสนิคาวา – สเวียตลานา ทีคานอฟสกายา – เวโรนิกา เซปกาโล | ภาพจาก ทวิตเตอร์ Sviatlana Tsikhanouskaya

มาเรีย โคเลสนิคาวา ผู้จัดการแคมเปญเลือกตั้งของบาบาริกา และเวโรนิกา เซปกาโล ภรรยาของเซปกาโลตัดสินใจร่วมลงเรือลำเดียวกันกับทีคานอฟสกายา รวมพลังหนุนทีคานอฟสกายาในสมรภูมิการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง พวกเธอทั้งสามคนร่วมเดินทางหาเสียงทั่วประเทศ ร่วมระดมมวลชนให้สนับสนุนและโหวตทีคานอฟสกายา

ข้อเสนอทางการเมืองของทีคานอฟสากายานั้นเรียบง่าย: ปล่อยนักโทษการเมือง, แก้รัฐธรรมนูญ, เปิดให้มีการเลือกตั้งที่เสรีอย่างแท้จริง

หากประชาชนเบลารุสตัดสินใจลงคะแนนให้เธอจริง ทีคานอฟสกายาตั้งใจว่าจะอยู่ในอำนาจเพียงแค่ 6 เดือนเพื่อเปลี่ยนผ่านการเมือง

ไม่มีการเมืองเรื่องอำนาจมาพันเกี่ยวแต่อย่างใด มีเพียงแค่ความหวังที่จะคืนอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเองกลับสู่มือประชาชนเบลารุส และพาประเทศกลับสู่วงจรการเมืองประชาธิปไตยเท่านั้น

ผลการตอบรับกลับมาอย่างดีเยี่ยม ผู้คนเริ่มให้ความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น และออกมาร่วมเดินขบวนแสดงพลังสนับสนุนทีคานอฟสกายาหลายคราในหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2020 ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ประชาชนร่วมหลักหมื่นออกมาแสดงพลังสนับสนุนเธอที่สวนสาธารณะเคียฟ กลางกรุงมินสก์ – นี่คือสัญญาณที่ประกาศว่าประชาชนเบลารุสจะไม่ทนอีกต่อไป และพร้อมจะสั่นคลอนอำนาจของลูกาเช็งกาแล้ว

การเมืองเคยเป็น ‘ดินแดนต้องห้าม’ ที่ประชาชนคนธรรมดาเพิกเฉยและเอาตัวออกห่างให้มากที่สุด แต่วัฒนธรรมการเมืองแบบโซเวียตเช่นนี้กำลังค่อยๆ สูญสลาย nostalgia ที่หลงเหลือมาจากสมัยโซเวียตและความหวาดกลัวต่อเขี้ยวเล็บอำนาจนิยมเริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำร่วมของเบลารุส

ในครั้งนี้ กระทั่งชนชั้นกลางที่ได้ชื่อว่า ‘ไม่แยแสการเมือง’ (apolitical) มาตลอด เพราะความมั่งคั่งและความกินดีอยู่ดีทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันจากความไร้เสรีภาพและไร้ประสิทธิภาพของระบอบก็ก้าวข้ามจุดแตกหักไปแล้ว

‘เบลารุสใหม่’ ที่ถวิลหา ‘ความเปลี่ยนแปลง’ กำลังจะปะทะกับ ‘เบลารุสเก่า’ ที่ยังคงติดอยู่ในอดีต

การปฏิวัติผ่านบัตรเลือกตั้งกำลังจะเริ่มขึ้น

4.

ไม่เหนือความคาดหมาย – ละครการเลือกตั้งดำเนินไปตามบทที่เขียนเตรียมไว้ก่อนแล้ว

แต่นับตั้งแต่วินาทีที่ผลโพลการเลือกตั้งส่อเค้าลางแห่งชัยชนะของลูกาเช็งกาล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้งสามวัน การประท้วงโหมโรงด้วยเสียงแตรรถยนต์เซ็งแซ่และผู้คนที่ออกมาประท้วงบนท้องถนนยามค่ำคืนในกรุงมินสก์

และในค่ำวันที่ 9 สิงหาคม 2020 ทันทีที่ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการประกาศส่งมอบชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ให้ลูกาเช็งกาได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 6 ด้วยคะแนนโหวตราว 80% ในขณะที่ทีคานอฟสกายาได้รับคะแนนเพียงแค่ 10% ฟางเส้นสุดท้ายก็ได้ขาดลง เสียงบีบแตรดั่งสนั่นทั่วกรุงมินสก์ ความโกรธเคืองส่งแรงผลักให้ประชาชนร่วมหลักหมื่นตัดสินใจประท้วงเรียกร้องการเลือกตั้งใหม่ที่เสรีและพิสูจน์ได้จริงว่าประชาชนต้องการใครกันแน่ การลงถนนครั้งนี้คือการพยายามส่งเสียงของประชาชนฝ่ายต่อต้านว่า “การเลือกตั้งถูกขโมย!”  

ไม่ช้า สัญญาณอินเทอร์เน็ตถูกตัด สัญญาณโทรศัพท์เริ่มไม่เสถียร เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนและเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงลงพื้นที่สลายการชุมนุมทั่วมินสก์อย่างรุนแรง หลายบริเวณในเมืองที่มีการประท้วงถูกสาดไปด้วยแสงสว่างจ้าจากระเบิดแสงและประกายไฟจากกระบอกปืน คละคลุ้งไปด้วยควันจากแก๊สน้ำตา พื้นกลาดเกลื่อนไปด้วยกระสุนยาง กลุ่มผู้ชุมนุมวิ่งหนีหาที่หลบจากตำรวจควบคุมฝูงชนที่วิ่งไล่ตามจับไม่เลือก บางส่วนที่หนีไม่ทันถูกจับกุม รุมกระทืบ ฟาดตีด้วยไม้กระบองอย่างรุนแรง และคุมขังในรถตู้เตรียมส่งไปกักขังต่อในอาคารกักกัน – ในความมืดมิด ผู้ชุมนุมถูกจับกุมราว 6 พันคน หลายคนถูกทำร้ายร่างกายระหว่างคุมขัง  

การปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรงนำมาสู่ปฏิกิริยาโต้กลับ ความโกรธและความไม่พอใจต่อระบอบลูกาเช็งกายยกระดับและลุกลามไปทั่วสังคม นับแต่นั้น ประชาชนที่ตัดสินใจลงถนนไล่เผด็จการคนสุดท้ายแห่งยุโรปเพิ่มมากขึ้นทุกค่ำคืน กระทั่งคนงานในโรงงานรัฐที่เคยเป็นฐานเสียงผู้ภักดีของลูกาเช็งกาก็ประกาศสไตรก์หยุดงานและร่วมลงถนนเรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพและสันติภาพ นับคืน คนยิ่งมาก ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเบลารุสยิ่งแข็งแกร่ง แล้วเสียงขับไล่รัฐบาลก็ไปสู่จุดที่ดังที่สุดในบ่ายวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2020 ประชาชนราวกว่าสองแสนคนออกมาสัมผัสเสรีภาพ โต้ตอบกระสุนปืนด้วยดอกไม้ และตอบโต้ความกลัวด้วยความหวังและสันติภาพ

การประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 16 สิงหาคม 2020 | ภาพโดย Homoatrox

ณ ห้วงเวลานั้น ราวกับว่าเสียงของประชาชนจะสั่งให้ระบอบลูกาเช็งกาล่มได้

แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ไม่มีแม้แต่สัญญาณการต่อรองเจรจาจากรัฐบาล

การประท้วงยังดำเนินต่อไปจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะหมดแรง ทุกวันอาทิตย์ มวลชนฝ่ายประชาธิปไตยจะออกมาลงถนนทวงคำตอบจากลูกาเช็งกาว่าจะยอมลงจากอำนาจหรือไม่

แต่ยิ่งการประท้วงบนท้องถนนดำเนินต่อไป ยิ่งมีแต่เพียงการใช้กำลังกดปราบอย่างไม่เลือกหน้า ใช้กลไกกฎหมายเล่นงานตัดกำลังการเคลื่อนไหว และใช้กลไกความมั่นคงอย่าง KGB สอดส่อง คุกคาม และข่มขู่ประชาชนให้หยุดต่อต้านและยอมสยบต่อรัฐบาลอย่างไม่มีทางเลือก

แน่นอนว่าหัวหอกฝ่ายต่อต้านคือรายแรกๆ ที่หนีไม่พ้นจากเงื้อมมือของรัฐ ในช่วงบ่ายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ทีคานอฟสกายาถูกเนรเทศไปยังลิทัวเนียทันทีหลังจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงข่มขู่ว่า หากเธอยังคงเดินหน้าท้าทายอำนาจลูกาเช็งกาต่อไป เธอจะต้องถูกจับกุมและลูกๆ ของเธอจะตกอยู่ในการดูแลของรัฐ แต่แน่นอนว่านั่นก็หยุดเธอไม่ได้ หากแต่เปลี่ยนยุทธศาสตร์ไปเคลื่อนไหวจากนอกประเทศ สร้างเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลกเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยในเบลารุส

ส่วนโคเลสนิคาวา หนึ่งในสามหญิงแกร่งคนสุดท้ายที่ยืนยันจะต่อสู้ต่อเพื่อผลักดันกรอบการเปลี่ยนผ่านและยุติวิกฤตการเมืองในเบลารุสหลังจากถูกฝ่ายความมั่นคงบีบบังคับให้เนรเทศออกนอกประเทศ สุดท้ายก็ถูกออกหมายจับ และคุมขังนานกว่าครึ่งปีก่อนจะพิจารณาคดีตัดสินจำคุกนาน 11 ปี – แม้สำหรับโคเลสนิคาวา นั่นจะไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกเสียใจแม้แต่น้อยที่ออกมาเคลื่อนไหว

ความกลัวเริ่มกัดกินความหวัง เสียงแห่งความไม่พอใจและเสียงแห่งการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงที่เคยดังสนั่นแผ่วเบาลงในช่วงระยะเวลาเพียง 3 เดือนจนเหลือเพียงแต่ความเงียบ

และแล้ว ลูกาเช็งก็ตอกฝาโลงเสรีภาพอีกครั้งด้วยการผ่านกฎหมายจำกัดสิทธิการรวมตัวและการชุมนุม ควบคุมองค์กรภาคประชาสังคม และจำกัดเสรีภาพสื่อชุดใหญ่ออกมาในเดือนพฤษภาคม 2021 พื้นที่เสรีภาพในเบลารุสหดแคบจนเหมือนจะไร้สิ้นหนทางไปต่อ

แต่เสียงที่เคยดังแล้ว จะเงียบต่อไปตลอดได้หรือ

5.

กว่า 1 ปีล่วงผ่าน ไร้เงาของความเปลี่ยนแปลง

ชัดเจนว่า ณ ห้วงเวลานี้ ความกลัวปกคลุมทั่วเบลารุส

ลูกาเช็งกายังคงรักษาอำนาจไว้ได้อย่างมั่นคง ชนชั้นนำทางการเมืองยังคงอยู่ในวงโคจรของลูกาเช็งกา ยิ่งไปกว่านั้น อำนาจการควบคุมกลไกความมั่นคงอยู่ในมือของลูกาเช็งกาได้แน่นขึ้นยิ่งกว่าที่เคย – เดิมพันกระชับอำนาจต่อไปอยู่ที่ครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์ 2022 — การลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อาจเป็นความจริงที่ไม่น่าสะดวกใจ แต่ยิ่งฝ่ายประชาธิปไตยต้องการสั่นคลอนระบอบลูกาเช็งกาอย่างถอนรากถอนโคนมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องการเบลารุสที่เสรี ก้าวหน้า เป็นประชาธิปไตย และเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงมากแค่ไหน การปฏิวัติประชาธิปไตยยิ่งเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนัก และเผด็จการคนสุดท้ายแห่งยุโรปก็คงจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เช่นกัน  

แต่ความจริงไม่ได้มีเพียงแค่หนึ่งเดียว – ความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่ไม่มีวันหยุดยั้งได้

เฉกเช่นเดียวกันกับความเสื่อมถอยและความเสื่อมความชอบธรรมของระบอบลูกาเช็งกา สำนึกทางการเมืองที่กำลังก่อตัว และความต้องการอำนาจในการกำหนดชะตาชีวิตทางการเมืองของชาวเบลารุสคือสิ่งที่ไม่มีทางย้อนกลับ – Homo Sovieticus ที่สยบยอมต่ออำนาจและไร้จินตนาการทางการเมืองได้ตายลงแล้ว

ภายนอกอาจดูเสมือนว่าหยุดนิ่ง แต่เบลารุสไม่เหมือนเดิม และไม่มีวันหวนกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป

เพียงแค่ว่าคลื่นใต้น้ำจะปะทุอีกครั้งเมื่อไหร่ก็เท่านั้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save