fbpx
ลองเป็นฉัน แล้วเธอจะรู้สึก : รู้จัก ‘BeAnotherLab’ ห้องทดลองประสบการณ์ของการเป็นคนอื่น

ลองเป็นฉัน แล้วเธอจะรู้สึก : รู้จัก ‘BeAnotherLab’ ห้องทดลองประสบการณ์ของการเป็นคนอื่น

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคนผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill


ใครที่ได้ดูเรื่อง Soul แอนิเมชันจากค่าย Pixar Studios ที่เข้าฉายเมื่อปลายปีที่ผ่านมาคงมีมุมมองและความประทับใจแตกต่างกันไป สำหรับผมเรื่องราวของนักเปียโนผู้หลงทางกับชีวิตที่จู่ๆ เกิดไปสลับร่างกับแมวตัวหนึ่ง ทำให้นึกถึงสำนวน ‘Put yourself in someone’s shoes’ การยืนอยู่ในรองเท้าของคนอื่นนอกจากจะทำให้เราเข้าอกเข้าใจคนคนนั้นมากขึ้น ยังเป็นโอกาสให้ตัวเราเองได้มองชีวิตตัวเองใหม่ผ่านสายตาของคนอื่น และอาจทำให้เราเรียนรู้และเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับตัวเรามากขึ้น อย่างที่นักเปียโนในหนังเข้าใจและถึงขั้นเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับชีวิตของตัวเองไปเลยหลังจากนั้น

“โลกนี้จะเป็นอย่างไร เมื่อมองผ่านสายตาของคนอื่น” คือคำถามที่เป็นจุดเริ่มต้นของ BeAnotherLab กลุ่มนักวิจัยที่รวมคนหลายศาสตร์จากหลากประเทศมาทำงานร่วมกัน ตั้งแต่นักสังคมศาสตร์ นักจิตวิทยา นักออกแบบเชิงปฏิสัมพันธ์ ศิลปินดิจิทัลอาร์ต และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โดยนักวิจัยทั้งหมดต่างสนใจเรื่องเดียวกัน คือการค้นหาความหมายของคำว่า ‘empathy’ คำคำนี้มีความหมายอย่างไรต่อมนุษยชาติ

‘empathy’ หรือการรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น เรียกได้ว่าเป็นคำแห่งยุคสมัย ช่วงเวลาที่โลกยังคงอยู่ในบทเรียนใหญ่ร่วมกันในเรื่องของการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย มีเส้นแบ่งมากมายขีดกั้นระหว่าง ‘พวกเรา’ และ ‘พวกเขา’ หลายครั้งเส้นแบ่งนี้นำเราไปสู่ความขัดแย้งและกลายเป็นความรุนแรง

empathy จึงถูกพูดถึงในฐานะของหนึ่งทักษะที่ช่วยสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ด้วยการแทน ‘เรา’ เป็น ‘เขา’ ทว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องที่สอนและถ่ายทอดให้เข้าใจกันง่ายๆ และแน่นอนว่าสถานการณ์สุดอัศจรรย์อย่างหนังเรื่อง Soul คงไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้บนโลกมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เทคโนโลยีจึงเข้ามามีส่วนช่วย

‘Empathetic Technology Design’ หรือ ‘การออกแบบเทคโนโลยีที่มีหัวใจ’ คือภารกิจใหญ่ในปัจจุบันของ BeAnotherLab เพื่อช่วยสร้างประสบการณ์ให้ผู้คนสัมผัสและเรียนรู้คำนี้

ในปี 2012 ที่บาร์เซโลนา แล็บแห่งนี้สร้างสรรค์ประสบการณ์ของการ ‘สลับร่างเสมือน’ หรือ ‘Body Transfer Illusion’  ขึ้นมา ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยี Virtual Reality หรือ VR 

อย่างที่รู้กันว่าศักยภาพของ VR คือการสร้างภาพเสมือนแบบ 360 องศา ราวกับเราได้เข้าไปยืนอยู่ในนั้นจริงๆ หลายครั้งถูกใช้เพื่อสร้างโลกเหนือจินตนาการที่ห่างไกลจากความเป็นจริง เช่นในภาพยนตร์หรือเกม แต่สำหรับ BeAnotherLab พวกเขาใช้มันสร้างโลกธรรมดาๆ ที่อยู่ใกล้ตัวเราแต่ไม่มีใครเคยเข้าไปสัมผัส – โลกผ่านสายตาของคนอื่น

The Machine To Be Another

The Machine To Be Another จะเรียกว่าเป็น performance art ก็ได้ เรียกว่าการทดลองก็ได้ หรือจะเรียกว่าเป็นระบบที่ BeAnotherLab ออกแบบขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์การมองโลกผ่านสายตาของคนอื่นก็ได้เหมือนกัน ระบบนี้ประกอบด้วยฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ วิธีการติดตั้งและใช้งาน ไปจนถึงลำดับขั้นตอนในการสร้างประสบการณ์ของการเป็นคนอื่น นอกจากนี้ตัวระบบยังเป็นระบบแบบ creative commons ที่ใครก็สามารถนำ ‘พิมพ์เขียว’ ของระบบและกระบวนการนี้ไปทำการทดลองได้

The Machine To Be Another แบ่งออกเป็นสองหัวข้อคือ The Body Swap ว่าด้วยการสลับร่างระหว่างคนที่มีร่างกาย เชื้อชาติ สีผิว ช่วงวัยที่แตกต่าง และ The Gender Swap ว่าด้วยการสลับร่างระหว่างคนที่มีเพศแตกต่าง ประสบการณ์ทั้งหมดใช้เวลาราวๆ 10-15 นาที โดยเริ่มจากให้ผู้ทดลองจำนวน 2 คนสวมแว่น Virtual Reality ภาพที่พวกเขาจะได้เห็นคือภาพที่มองผ่านสายตาของคนอีกคนที่เข้าร่วมกระบวนการด้วยกัน (เผื่อใครสงสัยกลไกเบื้องหลัง – แล็บติดกล้องเล็กๆ ไว้ด้านหน้าแว่นของทั้งคู่เพื่อให้ได้มุมภาพแทนสายตา โดยสลับสัญญาณให้ภาพจากกล้องของอีกคนมาปรากฏในแว่นของฝ่ายตรงข้าม)

กติกาไม่มีอะไรซับซ้อน แค่ทั้งคู่ขยับร่างกายให้เป็นหนึ่งเดียวกับอีกคนมากที่สุดและพยายามเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวเองบ้างในบางจังหวะ เวลาในช่วงแรกจะใช้ไปกับการปรับตัวเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับร่างกายใหม่ และถึงจุดหนึ่งการเคลื่อนไหวของทั้งคู่ก็เชื่อมโยงกันจนดูไม่ออกว่าใครนำหรือใครตามเมื่อมองจากภายนอก

สำหรับ The Gender Swap กระบวนการในช่วงแรกจะต่างออกไปตรงที่ทั้งสองฝ่ายจะเหลือเสื้อผ้าบนร่างกายน้อยที่สุด โดยให้ทั้งคู่ใช้เวลาสำรวจเรือนร่างที่แตกต่าง สร้างความเคารพขอบเขตร่างกายและความยินยอมซึ่งกันและกัน

The Machine To Be Another

หลังจากทั้งคู่เริ่มคุ้นเคยกับร่างกายของอีกคน ทีมงานก็จะส่งวัตถุหน้าตาและรูปทรงเหมือนกันให้ทั้งคู่ลองหยิบจับ และส่งทีมงานเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับทั้งสองฝั่งด้วยท่าทางเดียวกัน ก่อนจะนำกระจกบานใหญ่ไปวางตรงหน้าเพื่อให้ทั้งสองเห็นตัวเองอยู่ในร่างกายของอีกคนยามส่องกระจก

ขั้นตอนสุดท้ายที่ถือได้ว่าเป็นไคลแม็กซ์ คือทีมงานจะย้ายฉากที่กั้นกลางระหว่างทั้งคู่ออก ตรงนี้ทั้งสองคนจะพบกับ ‘ตัวเอง’ ยืนอยู่ตรงหน้า ก่อนทั้งคู่จะเดินเข้ามาใกล้กัน ยื่นมือออกมาสัมผัสตัวเองไปจนถึงกอดตัวเองผ่านสายตาของคนอื่น ต้องบอกว่าแม้จะดูจากวิดีโอและยังไม่เคยเข้าร่วมกระบวนการจริง แต่ขั้นตอนนี้ก็ทำเราขนลุกไปแล้ว เพราะการได้มองตัวเองจากข้างนอก และสัมผัสร่างกายตัวเราในบทบาทของบุคคลที่ 3 ที่ดูจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่กลับเป็นประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่มากของหลายคน

The Machine To Be Another
The Machine To Be Another

The Machine To Be Another ตระเวนจัดไปแล้วมากกว่า 100 ที่ ในกว่า 30 ประเทศ และมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 5,000 คน คำที่ผู้เข้าร่วมกระบวนการบอกมีตั้งแต่สนุก เหมือนฝัน ผ่อนคลาย น่ากลัว ตื่นเต้น กระเจิงความคิด ฯลฯ

นอกจากนี้ระบบของ The Machine To Be Another ยังถูกนำไปต่อยอดเป็นการแสดงสดชื่อ Embodied Narratives ที่ใช้กระบวนการคล้ายกัน แต่แบ่งบทบาทของทั้งสองออกเป็น ‘ผู้เล่าเรื่อง’ และ ‘ผู้ชม’ โดยฝั่งผู้ฟังจะได้ฟังเรื่องราวจากผู้เล่า (ซึ่งเป็นอาสาสมัครในพื้นที่ที่การแสดงตระเวนไปจัด) และอยู่ในร่างกายของผู้เล่าไปพร้อมกัน

โปรเจ็กต์ของ BeAnotherLab ยังไม่จบแค่นั้น ในขณะที่ The Machine To Be Another มีข้อจำกัดอยู่ตรงที่ผู้เข้าร่วมกระบวนการทั้งสองฝ่ายต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือไม่ไกลจากกันนัก ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า แม้จะไม่รู้จักกันแต่ทั้งคู่อาจมีบางอย่างเชื่อมโยงกันผ่านพื้นที่ที่อยู่ แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเราสามารถสลับร่างกับคนที่อยู่ในอีกซีกโลก อย่างค่ายผู้ลี้ภัย ประเทศห่างไกล พื้นที่ที่ความเป็นอยู่ยากลำบากเหนือจินตนาการ หรือประเทศที่ผู้คนมีความคิดแตกต่างกับเราอย่างสุดขั้ว

Library of Ourselves คือโปรเจ็กต์ที่แล็บนำชุดอุปกรณ์เดียวกันไปใช้บันทึกภาพผ่านสายตาผู้เล่าเรื่องใน 12 พื้นที่ทั่วโลกที่มีความแตกต่างทางชีวิตความเป็นอยู่ สังคม วัฒนธรรม เพื่อนำมาให้ผู้ชมที่อยู่ไกลกันชนิดข้ามทวีปสัมผัสประสบการณ์การ ‘ยืนอยู่ในรองเท้า’ ของคนเหล่านั้นผ่าน Virtual Reality

Library of Ourselves

นอกเหนือจากการทดลองเป็นคนอื่นของ The Machine To Be Another ยังมีการใช้ VR ทำงานเกี่ยวกับ Empathy อีกมากมายอย่างภาพยนตร์ Clouds Over Sidra โดย Chris Milk ที่ถ่ายทอดชีวิตเด็กหญิงผู้ลี้ภัยชาวซีเรียราวกับเราไปยืนอยู่กับเธอจริงๆ หรือแม้แต่การใช้ VR เพื่อฝึกฝนคนทำงานที่ต้องใช้ทักษะด้านอารมณ์และความเป็นมนุษย์หรือ Soft Skill เช่น งานบริการลูกค้า การประเมินผู้ร่วมงาน การพูดในที่สาธารณะ ฯลฯ จน Virtual Reality ถูกเรียกว่าเป็น ‘Empathy Machine’ และตามคำพูดของ Chris Milk เขามองว่ามันคือเครื่องมือที่เปลี่ยนโลกได้

แต่ในอีกมุม งานวิจัย Staged Empathy โดย Ainsley Sutherland ได้ให้ความคิดเห็นว่า แม้ VR จะสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับตัวตน การรับรู้ หรือแม้แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘เรา’ และ ‘เขา’ ได้ดีมากๆ แต่มันก็ไม่ได้มอบ empathy ให้เราได้จริงๆ เพราะประสบการณ์ทั้งหมดก็ยังคงพึ่งพาพลังของการรับรู้ ‘ภาพ’ มากกว่าใช้ความรู้สึก

แน่นอนว่าเรามี empathy ต่อกันยามสวมแว่นและอยู่ในพื้นที่การทดลอง แต่เมื่อถอดแว่นออก ต่างคนต่างกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน เราจะยังเข้าถึงความรู้สึกนั้นได้อยู่อีกไหม

คงคล้ายกับการใช้ยาเพื่อเป็นทางลัดสัมผัสกับนิพพานและความสุขสุดยอด แต่ก็ไม่ได้ความว่าเราจะรู้วิธีรักษาความสุขนั้นไว้ในชีวิตประจำวัน empathy machine อย่าง VR อาจเป็นตัวช่วยหรือทางลัดพาเราไปสัมผัสความรู้สึกของผู้อื่นและทำให้เรา ‘เห็นภาพ’ ของความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น แต่การเข้าอกเข้าใจกันในชีวิตประจำวันก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการปฏิบัติและฝึกฝนในระยะยาว 

อย่างไรก็ตาม Philippe Bertrand หนึ่งในผู้ก่อตั้ง BeAnotherLab บอกว่าในอนาคตแล็บมีแผนที่จะพัฒนาประสบการณ์ของ empathy โดยไม่พึ่งพาเทคโนโลยีใดๆ เพราะเป้าหมายของแล็บชัดเจนตั้งแต่แรก พวกเขาอยากเห็นว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร หากผู้คนเข้าอกเข้าใจกัน

Machine หรือเครื่องมือจึงเป็นแค่ระหว่างทาง เพราะปลายทางของเราคือ empathy นั่นเอง


อ้างอิง :
beanotherlab
Is Virtual Reality the Ultimate Empathy Machine?

สามารถรับชมวิดีโอเพิ่มเติมได้ที่ : BodySwapCCCB2016

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save