fbpx
เบสเมนต์ มูน: ไซไฟในสังคมไม่เสรี

เบสเมนต์ มูน: ไซไฟในสังคมไม่เสรี

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ เรื่อง

ตอนอยู่โรงเรียน ผมมักลองถามนักเรียนทีเล่นทีจริงทั้งในและนอกคาบเรียนว่าพวกเขาคิดว่าอะไรจะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่สังคมไทยเผชิญอยู่ตอนนี้ หรืออะไรที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศของเราได้บ้าง อาจเพราะโรงเรียนที่ผมสอนอยู่เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ คำตอบที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ และมักถูกเอ่ยขึ้นมาก่อนคำตอบอื่นๆ ก็คือ ‘วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี’

คำตอบนี้น่าสนใจ แต่ผมมักถามนักเรียนกลับไปเสมอว่า พวกเขามั่นใจได้ยังไงว่าลำพังวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสังคมเรา และทำให้ชีวิตของผู้คนมากมายดีขึ้นได้จริงๆ

ในวิชาหนึ่ง ผมลองชวนนักเรียนคิดเรื่องนี้ให้ละเอียดขึ้นผ่านภาพยนตร์ไซไฟสองสามเรื่อง เช่น 2012 (2009) หรือ Elysium (2013) ซึ่งวาดภาพอนาคตที่โลกเต็มไปด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย แต่แทนที่จะถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของคนทั่วไป มันกลับถูกใช้เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของคนชั้นนำบางกลุ่มมากกว่า ในอีกวิชา ผมชวนนักเรียนดูซีรีส์ชื่อดังอย่าง Black Mirror (2011- ) ซึ่งมักพูดถึงผลกระทบด้านมืดของเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าและก่อให้เกิดข้อถกเถียงเชิงจริยศาสตร์มากมายตามมา

เฮลกา โนวอทนี (Helga Nowotny) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาของวิทยาศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยซูริค เคยอธิบายไว้อย่างน่าคิดครับว่า ความเคลือบแคลงสงสัยต่อประโยชน์และโทษจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแบบนี้เริ่มก่อตัวขึ้นยาวนานตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ก็เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่เพียงช่วยมนุษย์รับมือกับอนาคตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่ตัวมันเองยังสร้างความไม่แน่นอนใหม่ๆ ที่ยากเกินกว่าที่เราจะคาดเดาได้ด้วย

“ความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่เพียงเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของเรากับโลกทางวัตถุรอบตัว แต่ที่สำคัญ มันยังเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับตัวเราเองด้วย” โนวอทนีบอกไว้อย่างนั้น

อนาคตที่ไม่แน่นอนนี้เองที่ชวนให้บางคนจินตนาการว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…”

อนาคตเว้นที่ว่างให้กับความเคลือบแคลงสงสัยและความเป็นไปได้ที่ไม่สิ้นสุด นำมาสู่การทดลองเสนอคำตอบทั้งในรูปของงานเขียน วรรณกรรมไซไฟ และภาพยนตร์ที่ชวนคิดว่า ความรุ่งเรืองทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะสร้างอนาคตแบบไหนให้เรากันแน่ ระหว่างรุ่งเรืองและสวยสด หรือชวนหดหู่และหม่นเศร้า

ใน เบสเมนต์ มูน (2018) นวนิยายเล่มล่าสุดของปราบดา หยุ่น นักเขียนและผู้กำกับภาพยนตร์ที่ร้างราจากผลงานนวนิยายไปพักใหญ่ ผู้เขียนชวนเราใคร่ครวญถึงอนาคตระยะใกล้ของสังคมอำนาจนิยมที่ดูเหมือนพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะไม่ได้สร้างประโยชน์โพดผลใดๆ นอกเสียจากช่วยรักษา ‘ระเบียบ’ และ ‘ความมั่นคง’ ของรัฐ ซึ่งจริงๆ แล้วก็หมายถึงการสอดแนมและกวาดล้างกลุ่มคนที่กระด้างกระเดื่องและตั้งคำถามกับความชอบธรรมของผู้ปกครอง

นิยายเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ใน ค.ศ. 2016 เมื่อ ‘ปราบดา หยุ่น’ นักเขียนวัยกลางคนได้รับข้อความปริศนาชักชวนให้เขาทำภารกิจลับที่อาจเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้นได้ ภารกิจนั้นพาเขาไปรับฟังเรื่องราวแปลกประหลาดของโลกอนาคตใน ค.ศ. 2069 ซึ่งวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าจนถึงขั้นที่สามารถพัฒนา ‘จิตสำนึกประดิษฐ์’ (artificial consciousness) ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถตระหนักรู้ถึงตัวตนของคนอื่นและตัวเองได้ และผนวกรวมเข้ากับจิตสำนึกของมนุษย์จนเกิดไปตัวตนใหม่ที่เรียกว่า ‘สำเนาสำนึก’ ซึ่งสามารถถ่ายโอนไปอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือเรือนร่างที่แตกต่างกันไปได้อีกทีหนึ่ง

เทคโนโลยีล้ำสมัยเหล่านี้เป็นที่หมายตาของกลุ่มประเทศเผด็จการ เช่น จีน เกาหลีเหนือ ซาอุดิอาระเบีย และไทย ซึ่งหวังจะใช้สำเนาสำนึกเพื่อแทรกแซงและกวาดล้างกลุ่มขบวนการใต้ดินที่ยึดมั่นในคุณค่าแบบเสรีนิยมและพยายามต่อต้านอำนาจการปกครองแบบเบ็ดเสร็จของรัฐบาลอย่างลับๆ

เบสเมนต์ มูน

เบสเมนต์ มูน พูดถึงโลกดิสโทเปียผ่านมุมมองของตัวละครต่างๆ กัน ก่อนขมวดปมตอนจบด้วยน้ำเสียงของปราบดา หยุ่น ผู้ที่กำลังต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับความรู้เกี่ยวกับอนาคตอันมืดมนที่ตัวเองได้รับรู้มา

แม้ตัวมันเองจะเป็นไซไฟ-แฟนตาซีโลกอนาคต แต่จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้กลับอยู่ที่เส้นเวลาที่ตัดสลับและอ้างอิงไปมาระหว่างโลกอนาคตและโลกปัจจุบัน รวมทั้งยังเสียดสีสังคมที่เราอยู่อย่างเจ็บแสบ

ผู้เขียนเล่าเรื่องของสังคมไทยในอนาคตที่รัฐบาลเผด็จการทหารพยายามกวาดล้างกลุ่มคนเห็นต่างและลบเลือนความทรงจำของโศกนาฏกรรมเหล่านั้นด้วยการประดิษฐ์ภาษาที่บิดเบือนความจริง เช่น เรียกการปราบปรามประชาชนว่า ‘ปฏิบัติการแฮปปี้เอนดิ้ง’ รณรงค์ให้ประชาชนลบล้างความทรงจำที่ส่งผลเสียต่อชีวิต รวมทั้งแต่งเพลงเพื่อ ‘ปลุกใจปลอบประโลม’ ผู้คนมากมาย “จนได้ชื่อเรียกเล่นจากชาวต่างชาติว่า ‘มิวสิคัล คันทรี’, ประเทศละครเพลง” (62) นอกจากนี้ รัฐไทยยัง “นำทุกแนวทางของการควบคุมจิตสำนึกมาทดลองใช้, ตั้งแต่สะกดจิตหมู่ผ่านรายการโทรทัศน์ด้วยถ้อยคำและการจัดภาพโดยทีมงานที่ได้แรงบันดาลใจจากกลวิธีของเกาหลีเหนือและรัสเซีย” (135)

กระบวนการควบคุมความทรงจำและจิตสำนึกของผู้คนในรัฐไทยในอนาคตไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่เราพบเห็นกันอยู่ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

“นั่นคือแต่งกลอนสั่งสอนและกรอกจิตสำนึกด้วยบทเพลง, สร้างภาพยนตร์ปรนนิบัติอุดมการณ์ชาตินิยม, จัดทำรายการทีวีที่นำเสนอภาพลักษณ์เลวร้ายของฝ่ายเสรี. กลยุทธ์ส่วนใหญ่เป็นไปราวกับฉายหนังเก่า, แต่ความสำเร็จลุล่วงของมันมาจากการได้เทคโนโลยีเข้าช่วย. เครือข่ายไซเบอร์, ความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์และวัสดุนาโน, ความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับการทำงานของเซลล์ประสาทและพัฒนาการของกลศาสตร์ควอนตัม, ช่วยให้ระบอบอำนาจนิยมมีเครื่องมือมากมายในการควบคุมจิตสำนึกหมู่ที่เปราะบาง” (138)

อนาคตในเบสเมนต์ มูน จึงเป็นอนาคตที่ผูกพันกับปัจจุบันอย่างแนบแน่นทั้งในแง่เนื้อหาและกระบวนการ

ว่ากันว่าใครควบคุมปัจจุบันได้ก็ควบคุมอดีตได้และใครคุมอดีตได้ก็คุมอนาคตได้ด้วย แต่ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ดูเหมือนสิ่งที่ระบอบอำนาจนิยมที่ต้องการให้ประชาชนทุกคนจดจำรำลึกถึงยุคสมัยและอยู่ภายใต้กรอบอ้างอิงทางเวลาแบบเดียวกัน จำเป็นต้องทำไม่ใช่การควบคุมเวลา แต่ต้องครอบงำ ‘ภาษา’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์สร้างและเข้าใจโลก

“ไม่มีสิ่งประดิษฐ์ในล้ำหน้าไปกว่าภาษาอีกแล้ว, มันประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างโลกอันซับซ้อนให้มนุษย์, ในการเร่งอัตรากระจายมายาจนจิตสำนึกของมนุษย์กลายเป็นมิติใหม่ของจักรวาล. กล่าวอีกอย่าง, เวลาในแบบที่มนุษย์ถูกทำให้เข้าใจว่ามีแต่ไม่มีอยู่จริงนั้น มีอยู่จริงในมิติใหม่นี้, มิติซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับเวลาแนบแน่นลึกซึ้งอย่างยากจะแยกจากกัน.” (90)

ภาษาคืออำนาจ และสังคมอำนาจนิยมก็ใช้ภาษานี่เองในการควบคุมจิตสำนึกของผู้คนให้เชื่อเชื่องเซื่องซึม ให้เป็น ‘สุญชน’ ที่หมดอาลัยตายอยากกับชีวิตจนพร้อมยอมขายตัวเองให้เป็นที่อาศัยของจิตสำนึกประดิษฐ์ เป็น ‘แบล็งเกอร์’ ที่ถูกโปรแกรมไว้แล้วให้สงสัยได้เฉพาะสิ่งที่ควรสงสัย ตั้งคำถามได้เฉพาะกับสิ่งที่รัฐอยากให้ถาม คิดวิพากษ์ได้เฉพาะเรื่องที่ว่ากันว่าควรวิพากษ์

แต่ในความเป็นจริง พวกเขาแทบไม่ได้คิด เพียงทำในสิ่งรัฐบอกให้ทำ เดินตามสิ่งที่ “จัดเตรียมโดยทางการ” และ “เลือกเองจากสิ่งที่ถูกเตรียมไว้ให้” พวกเขาเพียงคิดเอาเองว่าได้เห็นดวงจันทร์ ทั้งที่ตัวเองอยู่ใต้ดินที่ถูก “บดบังจนไม่มีช่องเหลือให้มองเห็นผืนฟ้า” (168-9)

อย่างไรก็ตาม เบสเมนต์ มูน ไม่ใช่โลกที่ไร้ความหวังซะทีเดียว เพราะผู้เขียนไม่ได้มองภาษาเป็นแค่กรงขังหรือเครื่องมือของอำนาจ แต่เช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่นๆ ภาษาเปิดพื้นที่ความเป็นไปได้ให้กับการต่อสู้ท้าทายอำนาจ หากเราใช้งานมันอย่างเหมาะสม

ด้วยเหตุนี้ การต่อสู้ของขบวนการใต้ดินเพื่อต่อต้านรัฐเผด็จการจึงขับเคลื่อนด้วยการ ‘แฮกระบบ’ เพื่อค้นหาและเผยแพร่วรรณกรรม กวีนิพนธ์ ภาพยนตร์ งานศิลปะ และผลงานต้องห้ามอื่นๆ ที่ “ท้าทายแนวคิดอนุรักษ์นิยม, ตั้งคำถามกับมายาคติของขนบ, ต่อต้านระบอบปกครองแบบเผด็จการ” (59)

ความที่เป็นไซไฟที่ยั่วล้อเหตุการณ์ในปัจจุบันพอๆ กับการพรรณนาถึงอนาคต ทำให้นวนิยายเรื่องนี้สามารถอ่านได้หลายแบบ แต่ดูเหมือนแบบที่จะอ่านไม่ได้ คืออ่านเป็นนิยายไซไฟสุดกู่โดยไม่คำนึงถึงสารทางสังคมที่ผู้เขียนถ่ายทอดมาให้เราตรงๆ ชัดเจน ไม่อ้อมค้อม

พูดอีกอย่างคือความเป็นไซไฟในโลกอนาคตหลายทศวรรษข้างหน้าไม่ได้ลดทอนความเป็นการเมืองของนิยาย แต่กลับทำให้ประเด็นทางการเมืองนี้ชัดเจนขึ้นจนไม่ผิดนักถ้าใครจะอ่านนิยายเล่มนี้ในฐานะข้อเขียนทางการเมืองที่ตักเตือนเราว่า เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไม่เคยการันตีว่าจะนำมาซึ่งประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ หากเราเพิกเฉยต่อการหลักการหรือคุณค่าบางอย่างที่ช่วยยืนยันให้ผู้นำประเทศเห็นว่าความอยู่ดีมีสุขของคนส่วนใหญ่สำคัญและมีความหมาย

ขณะเดียวกัน สังคมที่มีเป้าหมายอยู่ที่ ‘ความสุขตราบนานเท่านาน’ ก็อาจไม่ใช่สังคมที่น่าถวิลหานัก หากว่าความสุขนั้นเกิดขึ้นจากการบังคับให้เป็นสุข กล่อมเกลาให้คิดว่ามีความสุข ป่าวประกาศว่าสังคมของเราดีเพียงใด แต่กลับตรวจสอบไม่ได้จริงๆ ว่าดีจริงหรือไม่ หรือทำไปก็ไร้ผล

โลกดิสโทเปียในเบสเมนต์ มูน จึงเป็นโลกที่พัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์และจิตสำนึกประดิษฐ์ดูจะไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมนี้อย่างมีนัยสำคัญมากนัก เพราะดูเหมือนรัฐเผด็จการหรือที่ในหนังสือเรียกว่า ‘ระบอบรัฐบริการ’ อย่างประเทศไทย ยังคงประสบความสำเร็จในกล่อมเกลาประชาชนในเชื่อเชื่องและกำจัดกลุ่มคนที่ท้าทายได้เป็นอย่างดี

ทุกอย่างจึงอาจจะยังคงเหมือนเดิม เหมือนจนแม้แต่ปัญญาประดิษฐ์ที่ล้ำยุคก็ยัง “ไม่อาจหาคุณสมบัติแตกต่างอย่างแท้จริง” ระหว่างการปกครองใน ‘ปัจจุบัน’ กับ ‘อดีต’ ได้เลย (69)

เบสเมนต์ มูนจึงอาจไม่ได้เป็นนวนิยายไซไฟ-แฟนตาซีในแบบที่หลายคนนึกภาพไว้ คือไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวของสงครามอวกาศ การผจญภัยนอกโลก หรือการเผชิญหน้ากับสิ่งมีชีวิตจากดาวอื่น

แต่มันเป็นนิยายไซไฟที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมด้วยเสียงของตัวเองผู้เจ็บปวดเพราะรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรได้ไม่มากนักในเมืองนิทานที่กล่อมผู้คนด้วยเสียงดนตรีว่าเราจะมีความสุขตราบนานเท่านาน หากไม่ดื้อ ไม่ต่อต้าน และยอมเป็นลูกๆ ที่ดีไปสักสิบหรือยี่สิบปี

ความหดหู่ที่ถ่ายทอดจากปากคำของตัวละครที่ใช้ชื่อเดียวกับตัวผู้นี้ยังชวนให้เราคิดต่อว่า ‘ปราบดา หยุ่น’ อาจไม่ได้หมายถึงตัวผู้เขียนเอง แต่อาจหมายรวมถึงพวกเราอีกหลายคนที่ “คับแค้นใจต่อความเป็นไปในสังคม, ต่อความเพี้ยนทางตรรกะและการสนับสนุนความอยุติธรรม, ต่อการเชิดชูสรรเสริญและงมงายในทัศนคติอำนาจนิยมที่อนุญาตให้คนบางกลุ่มอยู่เหนือกฎหมาย” แต่กลับไม่กล้าพอจะลงมือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน (28)

การตัดสินใจตอนท้ายของตัวละครเอกจึงสำคัญ เพราะเขาเลือกแล้วที่จะเข้าร่วมการต่อสู้ในครั้งนี้ เป็นการมีส่วนร่วมที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงเช่นกัน

การเลือกจะทำหน้าที่ “รับและส่งสาร, แม้ไม่อาจบ่งบอกชัดเจนว่าเป็นสารที่รับมาจากใครและต้องส่งมอบให้ใครกันแน่ก็ตาม” (189) เป็นโอกาสให้ ‘ปราบดา’ ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ร่วมของผู้คนมากหน้าหลายตาที่ถูกหลงลืมไปท่ามกลางกาลเวลา ผู้คนที่ต่อให้ไม่มีใครจดจำชื่อเสียงเรียงนามหรือสิ่งที่พวกเขาทำได้ แต่ก็เป็นตัวแทนของสิ่งเดียวกัน นั่นคือจิตสำนึกของการยืดหยัดต่อสู้กับสังคมที่ไม่เสรี และยืนยันในคุณค่าของเสรีภาพและความเสมอภาค ซึ่งจะตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น

ด้วยเหตุนี้ “ชื่อ[จึง]ไม่มีความสลักสำคัญอะไรต่อเรื่องเล่าที่เขาทำหน้าที่เขียนออกมา เราต่างหากที่เป็นเจ้าของเรื่องเล่านี้ มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเราแม้จะไม่เกี่ยวกับเรา” (111)

เรา ใน ค.ศ. 2018 และปีต่อไปๆ

เราที่เป็นเช่นเดียวกับ ‘ปราบดา’

เราที่มีโอกาสได้รับรู้ข้อความปริศนาทั้งหมดจากเบสเมนต์ มูน.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save