fbpx
BALENCIAGA ราชาแห่งกูตูริเยร์

BALENCIAGA ราชาแห่งกูตูริเยร์

เมื่อทราบข่าวว่า คริสโตบัล บาเลนเซียก้า (Cristóbal Balenciaga) (1895-1972) กูตูริเยร์ (Couturier) ชั้นนำของโลกจะ ‘ปิด’ ห้องเสื้อชั้นสูงของเขาอย่างแน่นอนในปลายทศวรรษ 60s โมนา บิสมาร์ก เศรษฐินีผู้แต่งกายด้วยผลงานอันเลอล้ำของกูตูริเยร์ท่านนี้เสมอ ถึงกับปิดประตูขังตัวเองอยู่ในห้องนอนถึงสามวัน ไม่ยอมให้ใครเข้าพบ (แต่ก็คงให้คนรับใช้จัดน้ำและอาหารให้แหละนะ) แสดงถึงความโทมนัสใจอย่างที่สุด

 

การปิดตัวของห้องเสื้อบาเลนเซียก้า ในครั้งนั้นถึงกับมีคำกล่าวว่า นี่คืออวสานแห่งโอ๊ตกูตูร์ (Haute Couture) หรือห้องเสื้อชั้นสูงกันเลยทีเดียว

แม้แต่แกเบรียล หรือโกโก้ ชาเนล กูตูริเยร์แห่ง Chanel ผู้ไม่เคยกล่าวยกย่องกูตูริเยร์คนอื่นเลย ก็ยังกล่าวชื่นชมบาเลนเซียก้าว่าเขาคือกูตูริเยร์ที่แท้จริง

บาเลนเซียก้าสร้างสรรค์งานจากการตัดผ้า เขารู้ ‘ทางผ้า’ และสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นรูปทรงที่คนที่เข้าใจถึง ‘ทางของผ้า’ เท่านั้นจะสามารถทำได้ นอกจากชาเนลแล้ว แม้แต่คริสเตียน ดิออร์ ก็ยังยกย่องว่าเขาคือเทพแห่งโอ๊ตกูตูร์

ว่าแต่ ‘ทางผ้า’ คืออะไร?

ผ้าแต่ละผืนล้วนผ่านการทอด้วยเทคนิคต่างๆ ชนิดของเส้นใย การใช้เส้นยืนและเส้นพุ่งที่ต่างกัน ทำให้ได้ผ้าที่มีผิวสัมผัสและความยืดหยุ่นที่ต่างกัน นี่คือลักษณะเฉพาะตัวของผ้าแต่ละชิ้น นี่คือ ‘ทางผ้า’ นักออกแบบเสื้อที่สเก็ตช์แบบเสื้อบนกระดาษโดยไม่ได้จับสัมผัสหรือตัดผ้าวางแพทเทิร์นเอง ไม่มีทางทำเสื้อผ้าได้สร้างสรรค์เท่านักออกแบบที่เริ่มงานออกแบบด้วยผืนผ้าโดยตรง

ในยุคหนึ่ง กูตูริเยร์มักจะขึ้นแบบของดีไซน์ด้วยการใช้ผ้าตอยล์ (Toile) คือผ้าป่านหรือผ้ามัสลินสีขาว โดยตัดและจับเป็นชุดขึ้นมาบนหุ่น หรือจะคิดแพทเทิร์นก็จะทำบนผ้าชนิดนี้ก่อน เมื่อเห็นว่าลงตัวดีแล้ว จึงนำไปทาบแล้วตัดผ้าจริงตามแบบ แต่บาเลนเซียก้านิยมใช้ผ้าตอยล์สีดำเสมอ คงไม่ใช่เพราะความชอบในสีดำอย่างเดียว แต่เพราะการขึ้นแบบด้วยผ้าป่านสีดำ จะทำให้เขาเห็น ‘มวล’ ของชุดได้ใกล้เคียงกับชุดจริงที่สุด

ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นผลงานของคริสโตบัล บาเลนเซียก้าในทศวรรษ 60s ในรูปทรงที่แปลกแหวกแนว จนสามารถเรียกว่า Avantguard ก็ได้ แต่น่าแปลก ที่ความอวองการ์ดของบาเลนเซียก้านั้น ไม่ว่าใครมาสวมใส่ก็ดูเหมาะเจาะทั้งสิ้น ไม่มีปัญหาว่าจะ ‘carry’ ไม่ได้

คำว่า carry เป็นแสลงในแวดวงแฟชั่น หมายถึง แต่งชุดใดๆ ที่แบบเสื้อหวือหวาแล้วชุดเด่นเกินไปจนไม่เข้าบุคลิกของคนสวม พูดง่ายๆ คือถ้า carry ไม่ได้ ก็คือแต่งตัวแล้วไม่รอดนั่นแหละ เหมือนแฟชั่นนิสต้ายุคนี้ที่ต้องเลือกชุดที่สะดุดตาบ่งบอกถึงความกล้า (ที่จะใส่) ไว้ก่อน เพื่อให้สะดุดตากับตากล้องปาปาราซซี่ และอัปรูปลงโซเชียลมีเดียพื่อเรียกยอดไลก์จากสาวก เรียกสั้นว่าๆ ‘แต่งเรียกไลก์’

ด้วยเหตุนี้ นิทรรศการ Balenciaga: L’Oeuvre au Noir จึงเป็นนิทรรศการที่มีแก่นแกนหลักอยู่ที่การทำงานโดยใช้ ‘สีดำ’ (au Noir) ของบาเลนเซียก้า การเติบโตในสเปน การผูกพันกับขนบวัฒนธรรมที่เข้มข้นของสเปน ทำให้เขามองว่าสีดำคือสีที่ศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้สีดำยังถ่ายทอดผลงานรังสรรค์ของเขาได้โดยไม่มีจุดสนใจในเรื่องสีสันมาแย่งความเด่นไปจากลักษณะของเนื้อผ้า รูปทรงของชุดที่เกิดจากความพิเศษของเนื้อผ้านั้นๆ นี่จึงอาจเป็นเคล็ดลับที่ทำให้เสื้อผ้าของบาเลนเซียก้านั้นโดดเด่นล้ำเลิศ

แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ชอบสีสัน แต่เขาซ่อนไว้ในสีดำ เช่นชุดราตรีลูกไม้สีแดงสวยงาม ด้านในบุด้วยผ้าซาตินหรือผ้าไหมสีแดงเข้ม โดยจะมองเห็นเวลาสาบเสื้อตลบเวลาผู้สวมเคลื่อนไหวเท่านั้น แต่ไม่ใช่การตั้งใจให้เห็นถึงสีของผ้าที่บุด้านในของชุด

เทคนิคการสร้างสรรค์แพทเทิร์นของชุดบาเลนเซียก้านั้นซับซ้อนมาก แทบไม่มีใครรู้ว่าเขาออกแบบได้อย่างไร จนกระทั่งในยุคหลัง ต้องนำบางชุดที่ซับซ้อนมากๆ ไปสแกน อย่างชุดของมาดามแกรส์ (Madame Grès) ที่จับพลีทหรือเดรปทั้งตัวจนไม่มีใครทราบได้ว่าจุดเริ่มและจุดจบของการเดรปนั้นอยู่ที่ใด การนำเอาชุดของกูตูริเยร์ที่เป็นมาสเตอร์พีซเข้าเครื่องสแกนเพื่อคลี่คลายปริศนาของแพทเทิร์น จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำเพื่อการศึกษาโดยเฉพาะ

ผู้เขียนเคยชมนิทรรศการของบาเลนเซียก้าที่ปารีสเมื่อหลายปีก่อน ชุดเจ้าสาวที่แสนเรียบ แต่มีหมวกคลุมเหมือนได้แรงบันดาลใจจากหมวกนางชีนั้น มีแพทเทิร์นที่ซับซ้อนมหัศจรรย์อย่างที่สุด ในนิทรรศการนั้น มีการจำลอง ‘แบบพิมพ์เขียว’ ของชุดมาจัดแสดงด้วย ซึ่งถ้าไม่เห็นแบบลายเส้นที่เขาแกะแบบออกมา เราจะไม่มีวันเข้าใจว่าชุดที่ดูเรียบๆ นี้มีอะไรพิเศษ แต่ถ้ามองด้วยสายตาของช่างเสื้อ จะบอกได้เลยว่าไม่ใช่ใครๆ ก็ทำผ้าให้เป็นทรงแบบนี้ได้ นั่นคือการเข้าใจทางผ้าของคนออกแบบ และทำแพทเทิร์นที่ซับซ้อนเพื่อทำให้เกิดทรงหรือ Silhouette ใหม่ๆ จึงไม่แปลกใจที่คนจะเปรียบเทียบว่า งานของเขาคือประติมากรรมแห่งผืนผ้า

นิทรรศการ Balenciaga: L’Oeuvre au Noir จึงจัดขึ้นที่ musée Bourdelle ซึ่งเป็นสตูดิโอและโรงหล่อของประติมากรที่มีชื่อเสียงระดับโลกในต้นศตวรรษที่ 20 คือ Antoine Bourdelle(1861-1929) และไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการจัดแสดงแฟชั่นที่นี่ หกปีก่อนได้มีการจัดนิทรรศการของมาดามแกรส์ (Madame Grès : 1903–1993) ขึ้นที่นี่เช่นกัน ผลงานของเธอก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นประติมากรรมแห่งผืนผ้าด้วย

นิทรรศการนี้แบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ คือ ‘Silhouette & Volumes’, ‘Noirs & Lumières’ (‘Black & Light’), และ ‘Noirs et Couleurs’ (‘Blacks & Colours’) การจัดแสดงกระจายอยู่ตามห้องต่างๆ ในมิวเซียม โดยมีประติมากรรมที่เป็นผลงานของบรูเดลล์จัดวางเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงด้วย ต้องมาชม ว่าเขานำงานศิลปะกับแฟชั่นมารวมกันได้ลงตัวมากเพียงใด

‘สีดำ’ คือ ‘สีที่ไม่มีสี’ ที่บาเลนเซียก้าเห็นว่าสร้างพลังในงานออกแบบได้ ใครที่เรียนวิทยาศาสตร์มาจะทราบดีว่าสีดำเกิดจากวัตถุนั้นๆ ดูดกลืนทุกสีในสเปกตรัม จนไม่สะท้อนแสงสีใดสีหนึ่งออกมา แต่ในความดำมืดของผ้าสีดำ ก็มีมิติที่เกิดจากความทึบกับความโปร่งใส ผิวผ้าที่ด้านกับมันแวววาว การล้อแสงของเนื้อผ้าสีดำแต่ละชนิดก็ต่างกัน ซึ่งแสดงถึงความหรูหราของผ้าชนิดนั้นๆ อย่างผ้ากำมะหยี่ ผ้าไหม ผ้าซาติน ฯลฯ ถึงแม้จะสีดำแต่ก็ดูสวยงามต่างกัน แล้วแต่นักออกแบบจะเข้าใจและนำมาใช้อย่างไร

ไม่แปลกใจที่ผลงานของคริสโตบัล บาเลนเซียก้า จะถูกนำมาบอกเล่าในรูปแบบนิทรรศการครั้งแล้วครั้งเล่า และยากที่จะมีครั้งสุดท้าย แม้ปัจจุบันแบรนด์นี้จะมีชื่อเสียงเป็นแบรนด์หรูหราระดับโลก แต่ก็ยังไม่มีนักออกแบบคนใดของแบรนด์จะรังสรรค์ผลงานของมาได้เทียบเท่าผู้ก่อตั้ง

 

ผลงานของเขายังจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังต่อไป ไม่ว่าจะอีกกี่ร้อยปีก็ตาม

 

นิทรรศการ Balenciaga: L’Oeuvre au Noir จัดแสดงไปจนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 2017 ที่ Musée Bourdelle ย่านมงต์ปานาส (Montpanasse) ปารีส เปิดให้ชมทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น.

ที่อยู่ 18 Rue Antoine Bourdelle, Paris (www.bourdelle.paris.fr)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save