fbpx
Social Media ทำให้เราชินชากับข่าวเลวร้าย – เรื่องราวหวาดกลัวที่มากเกินไป ทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาและไม่สำคัญ?

Social Media ทำให้เราชินชากับข่าวเลวร้าย – เรื่องราวหวาดกลัวที่มากเกินไป ทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาและไม่สำคัญ?

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ปี 1999 วัยรุ่น 2 คนได้ลงมือสังหาร 13 ชีวิตและทำให้คนบาดเจ็บอีกกว่า 24 คน ซึ่งกลายเป็นข่าวที่ได้รับการติดตามเป็นอันดับต้นๆในช่วงทศวรรษต่อมา

ในเวลานั้นนับเป็นความเสียหายที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การยิงกันในโรงเรียนของประเทศอเมริกา  ‘Columbine High School Massacre’ กลายเป็นข่าวที่ดึงความสนใจของคนทั้งประเทศ

ผ่านมาเกือบ 20 ปีให้หลัง ในปี 2018 มีเหตุการณ์คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นถึง 3 ครั้ง

23 มกราคม : 2 คนถูกฆ่าและ 15 คนบาดเจ็บที่ Marshall County High School in Benton รัฐ Kentucky

14 กุมภาพันธ์ : 17 คนถูกฆ่าและ 17 คนบาดเจ็บที่ Marjory Stoneman Douglas High School in Parkland รัฐ Florida

18 พฤษภาคม : 10 คนถูกฆ่าและ 13 คนบาดเจ็บที่ Santa Fe High School in Santa Fe รัฐ Texas

ทั้ง 3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้รับความสนใจเพียงระยะสั้นๆ (ที่ Parkland อาจจะได้รับความสนใจมากหน่อย เพราะเด็กนักเรียนพยายามใช้สื่อสร้างความเคลื่อนไหว) ซึ่งกลายวงจรชีวิตของข่าวโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในตอนนี้

อย่างแรก วีดีโอจะถูกอัพโหลดขึ้นมาก่อน คนที่อยู่ในเหตุการณ์ล้วงเข้าไปในกระเป๋าเพื่อดึงสมาร์ทโฟนออกมาอัดวีดีโอเอาไว้เมื่อเสียงปืนดังขึ้น หรือผู้ก่อการร้ายที่ก่อเหตุอาจจะถ่ายทอดสดการยิงเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายผ่านทางโซเชียลมีเดียอย่างเหตุการณ์ที่ Christchurch ประเทศ New Zealand แล้วหลังจากนั้นก็มีการแชร์การก่อการร้ายอันน่าหวาดกลัวไปทั่วอินเทอร์เน็ต เพิ่มความรุนแรงและทวีความกลัวตามที่ผู้ก่อเหตุต้องการ

เราหยุดอึ้งกับความกลัว แต่กลับไม่รู้สึกแปลกใจกับเรื่องแบบนี้ คลื่นของโพสต์ต่างๆ จะเกิดขึ้น ทั้งความคิดเห็น คำสวดอธิษฐาน การรวมตัวกันคอมเม้นต์อย่างเป็นนำ้หนึ่งใจเดียวกัน และคำพูดด่าทอต่างๆ นานาที่ซ้ำไปซ้ำมา

ต่อมาก็พยายามหาผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พิพากษา ประณามความเลวร้าย บางผิวสีหรือบางศาสนาอาจจะโดนหนัก ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม สร้างความไม่พอใจต่อกัน จนกลายเป็นสงครามโต้เถียงที่ลากยาวไปหลายวัน …แล้วอาทิตย์หนึ่งก็ผ่านไป เราก็ลืม จนกระทั่งเหตุการณ์เลวร้ายครั้งใหม่วนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ทุกอย่างก็เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

จะไม่เกิดการถกเถียงเรื่อง ‘ความเป็นชาย’ (masculinity) ที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์และรากฐานที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง จะไม่เกิดบทสนทนาที่หาทางออกของกฎหมายการพกอาวุธปืน หรือการหาจุดสมดุลระหว่างการลดความรุนแรงและสิทธิในการปกป้องตัวเอง

หากมีใครเสนอว่า “เราต้องยกเลิกกฎหมายพกพาอาวุธ” ก็จะถูกตอบโต้ด้วย “ม่ายย ที่เราต้องการคือคนดีๆ ที่ถือปืนเยอะขึ้น” แล้วทุกคนก็รุมกันกดไลก์ แบ่งฝ่าย ‘เห็นด้วย’ กับ ‘ไม่เห็นด้วย’ เรียบร้อย

วันต่อมา นักข่าวนักเขียนผู้เชี่ยวชาญจะออกมาเตือนว่า “อย่าแชร์วิดีโอต่อ” (แม้ว่าทุกคนจะเห็นแล้วก็ตาม) สำนักข่าวต่างๆ ก็เอาข่าวเก่าๆ ออกมาแล้วเปลี่ยนชื่อและสถานที่เกิดเหตุเพื่อตีพิมพ์ใหม่

อาทิตย์ต่อมาทุกอย่างกลับไปเป็นเหมือนเดิม เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เรารู้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แล้วก็เรียนรู้ว่า เรารู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นแต่ “ก็เท่านั้น ช่วยไม่ได้”

ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นความจริงหรือสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น แต่เป็นเพราะเราเฉยชาและดื้อด้านไม่ยอมผลักดันเรื่องกฎหมายให้เห็นทางออก และก็อย่างที่เห็นกันอยู่ว่าเราจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบจริงๆ จังๆ ได้ยังไง ขนาดการโต้เถียงสนทนาออนไลน์ยังแตกแยกและไม่นำไปสู่อะไรที่เป็นประโยชน์ได้เลย

“ผมไม่รู้สึกแปลกใจเลย…”

Waleed Aly ผู้อ่านข่าวคนหนึ่งของ The Project กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ Christchurch

“เรื่องที่น่าจะไม่ซื่อสัตย์ที่สุดที่ผมจะบอกได้ก็คือผมรู้สึกแปลกใจ และถ้าเราซื่อสัตย์จริงๆ เราก็รู้แล้วว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้น”

และแน่นอนว่าต่อจากนี้ไม่นาน อาจจะอาทิตย์หรือหลายเดือน (ถ้าโชคดี) เหตุการณ์น่าสลดคล้ายคลึงกันแบบนี้ก็จะกลับมาชวนหดหู่อีกครั้ง

ความจริงก็คือ เราถูกทับถมด้วยข่าวที่น่าเศร้าและความโหดร้ายรุนแรงซึ่งกลายเป็นสถานการณ์ที่เป็นอยู่ไปโดยปริยาย เราไม่มีสิทธิ์ที่จะรู้สึกประหลาดใจเพราะครั้งแล้วครั้งเล่าเราเลือกที่จะไม่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์จากเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้น

Aly พูดถูกที่บอกว่าความรุนแรงจากกลุ่มหัวรุนแรง (อย่างการเพ่งเล็งกลุ่มชาวมุสลิม) นั้นมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ Southern Poverty Law Center (กลุ่มที่คอยรวบรวมข่าวสารและการเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวรุนแรง) ได้รายงานว่าจำนวนสมาชิกของกลุ่มเกลียดชัง (hate groups) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2014 และจำนวนกลุ่มเหล่านี้ก็มีมากที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง, ถ้ามองไปที่ประวัติศาสตร์ของนิวซีแลนด์ เหตุการณ์กราดยิงแบบนี้ไม่เกิดขึ้นมานานกว่า 20 ปีแล้ว มันอาจจะส่งผลกระทบต่อชาวกีวีและสร้างแรงสะเทือนไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายก็เป็นได้

หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น Jacinda Ardern นายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์กล่าวอย่างเฉียบขาดเลยว่า “กฎหมายเกี่ยวกับปืนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง​“ เขาถึงขั้นเสนอว่าจะมีการแบนอาวุธแบบกึ่งอัตโนมัติ  5 วันต่อมารายละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอนั้นก็ถูกเปิดเผย หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงนั้นคือการแบนปืนไรเฟิลแบบกึ่งอัตโนมัติทางทหาร และต่อมาเพียง 1 อาทิตย์ทุกอย่างก็ถูกจัดการเรียบร้อย

การแบนครั้งนี้แม้จะเป็นเรื่องชั่วคราว แต่การออกกฎหมายให้กลายเป็นถาวรนั้นจะถูกนำมาพูดถึงกันอีกครั้งในช่วงเดือนเมษายน มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจในบทสัมภาษณ์กับ NPR ของชาวนิวซีแลนด์ที่ชื่นชอบปืน เขาบอกว่าไม่ได้ติดขัดอะไรกับการปรับกฎหมายครั้งนี้ “การครอบครองอาวุธปืนนั้นควรเป็นเอกสิทธิ์ ไม่ใช่สิทธิ์โดยพื้นฐาน” และ “ถ้าต้องให้บอกตามตรง ผมคิดว่าอาวุธปืนแบบกึ่งอัตโนมัติทางทหารนั้นควรถูกแบน ไม่ได้มีความต้องการมัน และอาจจะรวมไปถึงปืนพกด้วยเช่นกัน”

โซเชียลมีเดียและโลกที่เชื่อมต่อกันทำให้เหตุการณ์น่าหดหู่ที่เกิดขึ้นแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ฝั่งหนึ่งของโลกอาจจะไม่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับการยิงกันที่ Christchurch เลยก็เป็นได้ หรือทางกลับกัน เด็กรุ่นก่อนๆ ที่นิวซีแลนด์ก็อาจจะไม่เคยได้ยินเรื่องราวของ Squirrel Hill เลยเช่นเดียวกัน ข่าวสารไม่เคยถูกกระจายได้อย่างรวดเร็วแบบนี้มาก่อน

การกระจายไปทั่วโลกในพริบตารวมกับความหิวกระหายของสื่อที่อยากได้ข่าวที่น่าตื่นเต้น ทำให้โลกตื่นตัวไปกับเรื่องราวอันเลวร้ายจากทุกหนแห่งทั่วโลก คล้ายกันกับ Twitter หรือ YouTube ที่ทำให้คนธรรมดาทั่วไปกลายเป็นตัวกลางผู้ส่งข่าวไปด้วยในเวลาเดียวกัน แต่สิ่งที่พวกเขาไม่มีคือการฝึกสอน จริยธรรมของสื่อ หรือแม้แต่คนที่คอยควบคุมอย่างกองบรรณาธิการก่อนการแพร่กระจายข่าวสารในแต่ละครั้ง

การรับรู้ในระดับที่ใหญ่ขึ้นรวมไปถึงจำนวนประชากรที่ล้นหลาม หมายถึงว่าแต่ละคนจะได้รับข่าวอันเลวร้ายในจำนวนที่มากขึ้น ถึงแม้ว่าเหตุฆาตกรรมหรือความยากจนทั่วโลกได้ลดลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรก็ตามที

คลื่นของข่าวร้ายบั่นทอนความสำคัญของมันแทนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง คล้ายว่าความรุนแรงไม่เคยหยุด และเราก็รู้สึกไร้อำนาจต่อรอง ด้วยจำนวนที่มากมายของความรุนแรงทำให้เราตอบสนองน้อยลง กลายเป็นเฉยชา ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นโหดเหี้ยมและไร้ความปราณี

แล้วเราจะทำอะไรได้?

งานวิจัยหลายๆ ชิ้นบ่งบอกว่าการเสพข่าวท้องถิ่นทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ผู้คนที่ตื่นตัวและออกมาร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้มีการพัฒนาคือกลุ่มคนที่โฟกัสในขอบเขตที่ตนเองสามารถทำได้ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ตนเองอยู่ แต่ข่าวพื้นที่นั้นโดยส่วนมากแล้วไม่ได้ไวรัล เป็นเรื่องที่กลุ่มคนจำเพาะให้ความสำคัญ แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะการมองแต่ภาพใหญ่หรือข่าวดังจากทั่วโลกเพียงอย่างเดียว อาจทำให้เรากำลังพลาดโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่เราควรใส่ใจ

แน่นอนว่าการติดตามข่าวระดับโลกหรือประเทศนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ได้หมายความว่าเราต้องตัดขาดตัวเองออกจากโลกเพียงเพราะรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าเราหันกลับมาโฟกัสในพื้นที่ของตัวเอง ให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่รอบตัวเราให้มากขึ้น ในสังคมที่เราสามารถเป็นส่วนร่วมและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ มันจะทำให้เราเห็นความสำคัญของตัวเองและรู้สึกมีพลังมากขึ้น

หรี่เสียงของเรื่องราวความโหดร้ายที่เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งบนโลกใบนี้ลงอีกหน่อย ลุกมาช่วยเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราสามารถทำได้ จะช่วยทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นและไม่รู้สึกชินชาจนไร้เรี่ยวแรงและหดหู่ ผลที่ตามมาคือสังคมที่น่าอยู่ขึ้นจากการร่วมมือกันของคนที่อยู่ในพื้นที่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save