fbpx
บิ๊กโจ๊ก นายกฯ คนนอก และชุดขาวคอตั้ง : อำนาจนิยมยอกย้อนซับซ้อนกว่าที่คาดคิด

บิ๊กโจ๊ก นายกฯ คนนอก และชุดขาวคอตั้ง : อำนาจนิยมยอกย้อนซับซ้อนกว่าที่คาดคิด

อายุษ ประทีป ณ ถลาง  เรื่อง

 

เดือนสองเดือนที่ผ่านมาปรากฏเหตุการณ์บ้านเมืองอะไรหลายอย่าง สะท้อนให้เห็นว่าสังคมประชาธิปไตยในบ้านเมืองของเรายังคงเป็นเพียงแค่อุดมคติในความคิดของใครบางคนเท่านั้น โดยบางคนที่ว่าดังกล่าว ดูจะเป็นชนส่วนน้อยในประเทศนี้เสียด้วย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก” อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่ทุกวันนี้ยังไม่มีประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศคนใดล่วงรู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับนายตำรวจซึ่งเปรียบเสมือนดังอัศวินคู่ใจของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

จากคนที่ถูกมองว่าอนาคตรุ่งโรจน์ ทำงานเป็นมือไม้รับใช้รัฐบาลสารพัดนึกราวกับแมวโดราเอม่อน

ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่บิ๊กโจ๊กทำไม่ได้

เคยมีอำนาจล้นฟ้า จะจับกุมคุมขังใครก็ได้ จะเป็นมิจฉาชีพหรือสุจริตชน ล้วนไม่พ้นเงื้อมมือ “บิ๊กโจ๊ก” มีข่าวคราวออกทีวีอวดผลงานให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน

แต่แล้วจู่ๆ กลับล่องหนหายตัวเป็นปริศนา พร้อมกับเพจเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ก่อนจะปรากฏคำสั่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ย้ายไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม

สำทับตามมาด้วยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้ขาดจากตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิมในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อโอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง)

ซักถามใครก็ได้แต่อ้ำอึ้งอมพะนำ ไม่มีผู้ใดให้คำตอบ อรรถาธิบายได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ปล่อยให้ประชาชนงุนงงสงสัยกันทั้งประเทศ

จะว่าเป็นการปูนบำเหน็จความชอบคงไม่ใช่ จะบอกว่าลงโทษก็ไม่เชิง เพราะหาได้มีการตั้งข้อกล่าวหา หรือสอบสวนเอาผิดแต่ประการใดไม่

ปรากฏก็แต่เพียงข่าวลือ ผู้คนกระมิดกระเมี้ยนซุบซิบพูดคุยกันถึงความไม่พึงพอใจของใครบางคน โดยมีภาพข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กระซิบกระซาบปรึกษาหารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ด้วยสีหน้าท่าทางเคร่งเครียด เต็มไปอารมณ์ด้วยความรู้สึกหนักอกหนักใจ

ประกอบกับปรากฏการณ์มากมายที่เกิดขึ้นให้เห็น อยู่ไปนานวันเข้า ใครคือรัฏฐาธิปัตย์จริงแท้แน่นอนยังเป็นที่น่าสงสัย ซึ่งเรื่องราวเช่นนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย ประเทศที่ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตย สามารถตรวจสอบบุคคลสาธารณะและอำนาจรัฐได้เป็นอันขาด

หลายคนแสดงความสะใจ ไม่มีใคร #SAVEBIGJOKE ให้เห็นเหมือนเช่นที่นิยมแฮชแทก เที่ยวเซฟคนนั้นทีคนนี้ที ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาประชาธิปไตยร้ายแรงยิ่งกว่าเสียด้วยซ้ำ

เช่นเดียวกับกระแสข่าวเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีคนกลางที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองใด ผู้นำฝ่ายบริหารซึ่งเป็นคนนอกมาจากบางสถาบัน ครม.ปรองดองหรือรัฐบาลแห่งชาติ ฯลฯ ที่มักจะมาเหนือเมฆผลุบๆ โผล่ๆ ให้เห็นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปแทบทุกครั้ง ซึ่งหากเป็นประเทศประชาธิปไตยแล้ว ไม่มีหรอกที่จะเป็นประเด็นขึ้นมาได้เลย

อยู่ๆ จะมีใครเหาะเหินเดินอากาศ อวตารลงมาเป็นผู้ปกครองโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งของประชาชน

แค่คิดยังไม่กล้า ทว่าบ้านเมืองเรากลับพูดจากันราวกับเป็นสิ่งดีงาม เป็นความถูกต้อง โก้เก๋ เท่เสียเหลือเกินกับการได้โอภาปราศรัยถึงคำว่า นายกรัฐมนตรีคนกลาง รัฐบาลแห่งชาติ ฯลฯ

คนพูดเหมือนได้บรรลุอะไรสักอย่าง คนฟังก็เคลิบเคลิ้มค่อนประเทศ

เอาเข้าจริงแล้ว อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยก็แต่เพียงลายลักษณ์อักษร ผ่านตัวหนังสือที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น

เช่นเดียวกับสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

จะคิด จะพูด จะแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตยังไม่อาจกระทำได้ แล้วนับประสาอะไรอื่น

วัฒนธรรมประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือก็ไม่เคยปรากฏให้เห็นแม้แต่น้อย ไม่เช่นนั้นคงไม่ร้องขอนายกรัฐมนตรีคนนอก รัฐบาลแห่งชาติ ฯลฯ ให้เห็นหรอก

แม้กระทั่งการเลือกตั้งที่ผู้ปกครองตลอดจนสมุนบริวารมักจะหยิบยกนำเอาไปตีขลุม แอบอ้างแสดงความเป็นประชาธิปไตย ก็ยังเป็นการเลือกตั้งที่หาได้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมแต่อย่างใดไม่

ทุกคนรู้ ทุกคนเห็น ถึงกระบวนการสืบทอดอำนาจเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งภายหลังการเลือกตั้งกำมะลอ

มีใครใสซื่อบริสุทธิ์ ไม่รู้เลยว่ากติกาบ้านเมืองไม่เป็นธรรม เต็มไปด้วยหมากกลฉ้อฉลอย่างแยบยล เลือกตั้งอย่างไรก็ไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ ตามมา

มีใครไม่ทราบเลยว่า การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา หมายความว่า นอกเหนือไปจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว ยังมีสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่มาจากการเลือกจิ้มโดย คสช. เป็นผู้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

มิพักพูดถึงธงที่อยู่ภายในใจใครหลายคน

ท่ามกลางความเป็นจริงบนความแตกแยกในหมู่นักการเมืองและประชาชน การปูทางวางแผนสืบทอดอำนาจมาอย่างแยบคาย ทำให้แทบจะไม่มีหนทางอื่นใดเลยที่นายกรัฐมนตรี หัวหน้ารัฐบาลคนต่อไป จะไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตราบเท่าที่เจ้าตัวยังมีลมหายใจ ไม่ปุบปับเป็นลมปัจจุบันทันด่วนจนสิ้นใจไปเสียก่อน

เป็นเรื่องประหลาด ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่ากติกาไม่เป็นธรรม เลือกตั้งอย่างไรก็ไม่สามารถเอาชนะระบอบ คสช. ได้ก็ตามที ทว่าผู้คนจำนวนมากก็ยังคงให้ความสนใจ พาเหรดลงสนามเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก ชูคนนั้นคนนี้เป็นนายกรัฐมนตรีกันเอิกเกริกครึกโครม

สำหรับนักเลือกตั้งซึ่งมีเป้าประสงค์ต้องการเข้าไปหาบหามผู้นำระบอบ คสช. เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้

แปลกกลับเป็นนักการเมืองทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ซึ่งอ้างตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ที่ต่างโดดกระโจนลงไปร่วมเล่นในเกมที่ระบอบ คสช. เป็นผู้กำหนด ปราศรัยหาเสียงด่าทอเผด็จการกันอย่างเมามัน ชักชวนประชาชนรณรงค์เข้าคูหาฆ่าเผด็จการ หรือจับปากกาฆ่าเผด็จการ

ทำราวกับเผด็จการทรราชกำลังจะสิ้นฤทธิ์หมดสภาพนอนพะงาบๆ ใกล้ตายในวันนี้วันพรุ่ง

สุดท้ายผลเป็นเช่นไรก็เห็นกันอยู่

ออกมาเอะอะโวยวายตีโพยตีพายกันไปต่างๆ นานา ก่อนจะมีข้อเสนอใหม่ขายฝันผ่านไอเดียปิดสวิทช์ ส.ว. บ้าง ผลักดันหัวหน้าพรรคการเมืองขั้วที่ 3 ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีบ้าง

เป็นจริงเป็นจังหรือไม่ ทำได้หรือเปล่า รู้แก่ใจกันเป็นอย่างดี

ล่าสุดหลายคนอาจจะตื่นเต้นไปกับภาพข่าวว่าที่ ส.ส. หน้าใหม่ โหนรถเมล์เข้ารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ซึ่งผ่านประสบการณ์ เคยเห็นข่าวผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ขี่ควายเข้ารายงานตัวต่อสภาผู้แทนราษฎรอาจจะรู้สึกเฉยๆ

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น กลับเป็นรูปหนุ่มสาวอุดมการณ์แรงกล้า ว่าที่ ส.ส. ซึ่งได้รับเลือกเข้าสภาเป็นสมัยแรก ถ่ายภาพอวดรูปขณะกำลังลองสวมใส่เครื่องแบบข้าราชการชุดขาวคอตั้ง ติดบั้งอินธนู ประดับแถบแพรเหนืออก อันเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยปรากฏเผยแพร่สู่สาธารณะให้เห็นกันง่ายๆ

เปล่งประกายฉายภาพบุญญาวาสนา ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับรูปโหนรถเมล์เข้าสภา

อำนาจนิยมยอกย้อนซับซ้อนกว่าที่ใครจะคาดคิดจริงๆ

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save