fbpx
การเมืองอวกาศ: ฤาการเมืองจะไปเหยียบดาวอังคาร?

การเมืองอวกาศ: ฤาการเมืองจะไปเหยียบดาวอังคาร?

ขวัญข้าว คงเดชา เรื่อง

‘Touchdown confirmed’

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (2021) เสียงประกาศในห้องควบคุมบ่งบอกถึงความสำเร็จของภารกิจ Mars 2020 หรือภารกิจวางรากฐานเพื่อพัฒนาความเป็นไปได้ในการย้ายถิ่นของมนุษย์โลกไปยังดาวอังคาร

การลงจอดบนพื้นที่นอกโลกอีกครั้งนำไปสู่คำถามและภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก (dilemma) ในทุกมิติ ไม่ว่าจะทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่ภูมิศาสตร์ เพราะมันคือการขยับขยายขอบเขตพื้นที่ของมนุษย์ไปสู่นอกโลก (extra-terrestrial) ฉะนั้น ปฏิบัติการหรือภารกิจที่ออกไปสำรวจนอกโลกจะไม่จบเพียงแค่ความสำเร็จในการนำยานลงจอดหรือนำตัวอย่างจากนอกโลกกลับมาทดสอบอีกต่อไป แต่ยังเป็นการสร้างการเมืองการอวกาศ หรือที่เรียกกันว่าอวกาศรัฐศาสตร์ (astropolitics) อีกด้วย

ต่างจากภาพจำที่หลายคนมี อวกาศคือประเด็นล้ำสมัย ก้าวหน้า เต็มไปด้วยนวัตกรรม และเป็นภาพจำของศาสตร์บริสุทธิ์หรือศาสตร์แข็ง (Pure Science/Hard Science) แต่นอกจากจะเป็นเรื่องลึกลับที่เต็มไปด้วยคำถามแล้ว อวกาศยังเป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อยที่มีศักยภาพพอจะเข้าใจศาสตร์แขนงที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ฉะนั้นแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไรหากพบว่าประชาชนส่วนมากมองว่าอวกาศเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องที่ไม่อาจทำความเข้าใจได้อย่างง่ายดายนัก

ทว่าความสนใจเรื่องอวกาศไม่ได้จำกัดไว้เพียงแค่ในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ในแวดวงสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ให้ความสนใจต่อพื้นที่นอกโลกเช่นเดียวกัน กล่าวได้ว่า ศาสตร์สายอ่อน (Soft Science) กำลังกลับเข้ามามีอิทธิพลสำคัญต่อประเด็นอวกาศจนไม่อาจเพิกเฉยได้ เพราะหากเมื่อย้อนกลับไป จุดเริ่มต้นของโครงการอวกาศในโลกก็เกิดขึ้นได้จากเหตุผลทางการเมืองและการช่วงชิงอำนาจในเวทีโลก

Space Race: สมรภูมิรบแห่งใหม่

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปี ในใจความของคำว่า ‘อวกาศ’ มีความหมายของการแข่งขันทางการเมืองซ่อนอยู่

การแข่งขันทางอวกาศ (Space Race) เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเท่าไรนักในช่วงสงครามเย็น ในช่วงเวลาดังกล่าว โลกถูกแบ่งออกเป็นสองขั้วด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งค่ายเสรีและค่ายคอมมิวนิสต์ต่างแย่งชิงพื้นที่ความเป็นที่หนึ่งในหลายๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ความเชื่อ การทหาร หรือแม้แต่นวัตกรรมในการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีจนก่อให้เกิดการแข่งขันขับเขี้ยวกันระหว่าง 2 มหาอำนาจสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต อย่างการสะสมอาวุธนิวเคลียร์และการแข่งขันทางอวกาศ

ในห้วงแรกของการแข่งขัน สหภาพโซเวียตก้าวนำสหรัฐฯ ในประวัติศาสตร์การแข่งขันทางอวกาศไปก่อนก้าวหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการส่งดาวเทียม Sputnik 1 หรือยาน Luna 2 ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ประสบความสำเร็จในการส่งวัตถุออกไปนอกโลก และที่สำคัญวัตถุดังกล่าวคือดาวเทียมโคจรรอบโลกที่มีความสามารถในการยิงขีปนาวุธใส่สหรัฐฯ 

การออกไปสู่ห้วงอวกาศครั้งดังกล่าวมีแรงผลักดันสำคัญจากความได้เปรียบทางการทหารเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการทำลายหรือการหาข่าวด้วยการดักจับสัญญาณ สหรัฐฯ จึงไม่อาจจะนิ่งนอนใจได้ เร่งพัฒนาโครงการและนวัตกรรมของตนเองสู้เพื่อส่งดาวเทียมออกไปนอกโลกบ้าง พร้อมกับขยายขอบเขตการแข่งขันไปถึงดวงจันทร์ ท้ายที่สุด สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ได้ก่อนสหภาพโซเวียต ดังที่คุ้นเคยกันในภารกิจ Apollo 11 และแล้วภารกิจดังกล่าวก็คว้าชัยชนะมาให้แก่สหรัฐฯ ในการแข่งขันทางอวกาศยุคสงครามเย็น

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อวกาศจึงกลายมาเป็นทั้งพื้นที่และจุดมุ่งหมายของสมรภูมิรบใหม่

แต่หลังสงครามเย็นสิ้นสุด พลวัตการแข่งขันทางอวกาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในขณะที่จุดประสงค์ของการแข่งขันทางอวกาศในช่วงสงครามเย็นคือ (1) เพื่อแสดงศักยภาพทางกำลัง ความเจริญ และความพัฒนาของสองประเทศมหาอำนาจ และ (2) เพื่อความได้เปรียบทางการทหารอันมีปัจจัยสำคัญมาจากความขัดแย้ง แต่ในปัจจุบัน จุดประสงค์ของการแข่งขันทางอวกาศขยายเพิ่มอีก 1 อย่าง อันได้แก่ เศรษฐกิจ ธุรกิจและผลประโยชน์ที่ได้มาจากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอวกาศด้วยเช่นกัน

พลวัตการเมืองอวกาศในปัจจุบัน

ความเปลี่ยนแปลงจากหลังสงครามเย็นสิ้นสุดไม่ได้ทำให้จุดประสงค์เดิมของการแข่งขันทางอวกาศถูกแทนที่ด้วยจุดประสงค์ใหม่ ทว่ามันถูกแปลงโฉมให้มีรูปแบบที่อ่อนลง (subtle) หรือกระทำโดยมีเหตุผลบังหน้าว่าเป็นไปเพื่อการพัฒนาทางนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์อันจะเป็นประโยชน์สาธารณะของมนุษย์ทุกคน

การแข่งขันที่คล้ายสมัยสงครามเย็นยังคงดำเนินต่อไปและดูเหมือนจะดุเดือดกว่าที่ผ่านมา ตัวผู้เล่นก็มีการเปลี่ยนหน้า บทบาทของรัสเซียถูกแทนที่ด้วยสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นประเทศที่สองในโลกที่ประสบความสำเร็จในการนำธงชาติของตนเองขึ้นไปปักบนดวงจันทร์ และประเทศที่สามที่สามารถนำหินดวงจันทร์กลับมายังโลก ยิ่งไปกว่านั้น การแข่งขันทางอวกาศถูกแบ่งขั้วอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่สองมหาอำนาจขับเขี้ยวช่วงชิงความเป็นหนึ่งทางอวกาศเท่านั้น แต่รัฐชาติอื่นๆ ยังสามารถเลือกที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการสำรวจอวกาศของสหรัฐฯ ผ่านโครงการ Artemis ของ NASA หรือเลือกที่จะสานสัมพันธ์กับประเทศจีนก็ได้

ณ ขณะนี้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอวกาศกลายเป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศและสัญลักษณ์ของการถ่วงดุลอำนาจในเวทีโลกมากยิ่งขึ้น ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ที่มากพอจะก้าวไปสู่พื้นที่อวกาศกลายเป็นเครื่องชี้วัดถึงความเป็นประเทศพัฒนา หรือแม้กระทั่งการก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจ สำหรับจีน การที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนสามารถไปปักธงชาติบนดวงจันทร์ได้สำเร็จอย่างที่สหรัฐฯ เคยทำได้นั้น นับได้ว่าเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญทางการเมืองระหว่างประเทศบนฐานของแนวคิดทฤษฏีเสถียรภาพของอำนาจนำ (Hegemony stability theory)

ในขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็กลายเป็นประเด็นการเมืองภายในได้เช่นกัน อย่างกรณีจีน รัฐบาลคอมมิวนิสต์ใช้ความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์และอวกาศเพื่อสร้างความรักชาติ โดยบอกกับประชาชนว่า บาดแผลเก่าจากสมัยที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาได้รับการรักษาแล้ว และตอนนี้ประเทศของพวกเขามีหน้ามีตาเทียบเท่าโลกตะวันตก ทั้งหมดนี้ เป็นไปเพื่อประสิทธิภาพในการปกครองของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน

เช่นเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางอวกาศเพื่อหวังผลการเมืองในประเทศ อย่างการที่ประธานาธิบดีไบเดนทวิตแสดงความยินดีต่อความสำเร็จของโครงการ Mars 2020 ว่า “เป็นการพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งถึงพลังของวิทยาศาสตร์และสหรัฐฯ ว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้” นั้น ยิ่งตอกย้ำทั้งภาพลักษณ์ แนวนโยบาย และสถานภาพของสหรัฐฯ ในเวทีโลกของไบเดนที่ต่างไปจากสมัยทรัมป์

ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ ภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ถูกโจมตีจากท่าทีที่ถอยออกห่างจากวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่การปฏิเสธภาวะโลกร้อนไปจนถึงข่าวตัดงบประมาณสนับสนุน NASA ในขณะที่ไบเดนให้ความสำคัญต่อวิทยาศาสตร์อวกาศอย่างเห็นได้ชัดถึงขั้นขอยืมก้อนหินดวงจันทร์จากภารกิจ Apollo 17 ของ NASA ไปตกแต่งห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาว

ทวิตดังกล่าวยังสะท้อนความต้องการของรัฐบาลไบเดนที่จะผลักดันให้สหรัฐฯ กลับมารับบทบาทสำคัญในเวทีโลกหรือเป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ดังเดิม อีกทั้งยังวางท่าทีที่พร้อมต่อกรและถ่วงดุลอำนาจกับจีนที่กำลังเร่งพัฒนาศักยภาพด้านอวกาศของตนเอง ฉะนั้น ภารกิจการลงจอดของ Mars 2020 หลังการเข้ารับตำแหน่งของโจ ไบเดน จึงไม่ใช่เพียงแค่ความก้าวหน้าทางอวกาศ แต่มียังความสำคัญทางการเมืองแอบแฝงอยู่ด้วย  

จากภูมิรัฐศาสตร์สู่การเมืองอวกาศ

หากมองจากมุมทฤษฎี การศึกษาอวกาศรัฐศาสตร์มีลักษณะคล้ายคลึงกับการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวโดยย่อ หัวใจสำคัญและความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยต่างๆ บนพื้นที่อวกาศมีอยู่สองประการคือ การร่วมมือและการบีบบังคับ (cooperation or coercion)

คล้ายคลึงกับการเมืองโลก การเมืองอวกาศก็มีหลากหลายมิติและหลายลำดับชั้นเช่นกัน โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือระดับนอกโลกและระดับในโลก

หากกล่าวถึงการเมืองอวกาศระดับนอกโลก เราอาจอนุมานสภาวะไร้รัฐได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างดวงดาว (Planetary Relations) ระหว่างดาวโลกและดาวอื่นที่ไม่ใช่โลก และหากอนุมานว่านอกโลกมีสิ่งมีชีวิตอื่นที่มีระบบการดำรงอยู่และการปกครองคล้ายโลก อีกโจทย์สำคัญที่ต้องตอบคือ มนุษย์โลกจะมีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างไร

ส่วนการเมืองอวกาศระดับในโลกนั้นหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในประเด็นที่เกี่ยวพันอวกาศ อาทิเช่น Space Race ระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตสมัยสงครามเย็น หรือการเมืองเรื่องสถานีอวกาศนานาชาติ ฯลฯ โดยการเมืองอวกาศระดับในโลกมองได้ทั้งจากมุมภูมิศาสตร์การเมือง (political geography) ที่ว่าด้วยการแบ่งดินแดนอาณาเขตด้วยกระบวนการทางการเมือง และภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ที่ว่าด้วยอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองที่ถูกขับเคลื่อนโดยพื้นที่ทางภูมิศาสตร์

แม้ว่าในปัจจุบันความขัดแย้งทางเขตแดนจะลดลงมากจากในอดีตเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแบ่งเขตแดนและการยอมรับเส้นแบ่งเขตแดนและอาณาเขตของรัฐในโลก แต่ในอีกมุมหนึ่ง เมื่อพื้นที่บนโลกมีจำกัดและไม่เหลือดินแดนใดให้ขยายอำนาจต่อ ก็อาจกล่าวได้ว่าพลังของภูมิรัฐศาสตร์ถูกกำจัดด้วยพื้นที่ในโลก การขยับขยายการเมืองไปสู่พื้นที่อวกาศจึงนำไปสู่ทั้งการซ้อนทับและการก้าวข้ามจากภูมิรัฐศาสตร์ไปสู่อวกาศรัฐศาสตร์

ฉะนั้นแล้ว การเมืองอวกาศอาจแบ่งแยกย่อยออกมาได้เช่นเดียวกัน คือ (1) อวกาศรัฐศาสตร์ (astropolitics) ที่มุ่งทำการศึกษาเรื่องกฎหมายอวกาศ องค์กร ขอบเขตการดำเนินกิจกรรม การแบ่งพื้นที่ ทรัพยากร หรือโครงสร้างอื่นๆ ในขณะที่ (2) อวกาศการเมือง (political astronomy) ศึกษาอิทธิพลจากปัจจัยเกี่ยวกับอวกาศที่ส่งผลต่อการต่อสู้ทางการเมืองหรือทิศทางนโยบายอวกาศของแต่ละรัฐบนโลก

หากสามารถส่งมนุษย์ขึ้นไปอาศัยในอวกาศได้จริงในอนาคต แน่นอนว่าคำถามพื้นฐานที่สุดของอวกาศรัฐศาสตร์ต้องตอบคือ ใครหรือรัฐไหนจะเป็นเจ้าของพื้นที่ใหม่? ใครจะเป็นเจ้าผู้รับผิดชอบอาณาเขต? หรือว่าจะตั้งรัฐชาติใหม่บนดาวดวงอื่น? ท่ามกลางข้อถกเถียง บางฝ่ายก็ว่าให้หันไปใช้กฎเก่า ใครปักธงได้คนแรกย่อมมีสิทธิเหนือพื้นที่นั้น ในขณะที่อีกฝ่ายแย้งว่าอวกาศควรเป็นพื้นที่เหมือนน่านน้ำเสรีที่ให้แก่ประชาชนชาวโลกทุกคน

หากเป็นอย่างหลัง ก็มีคำถามตามมาอีกว่า ประชากรทุกคนย่อมมีสิทธิในทรัพยากรนั้นหรือไม่? แล้วจะจัดการแบ่งสรรอย่างไร ประเทศโลกที่หนึ่งจะเข้าถึงได้ก่อนหรือจะเป็นประเทศโลกที่สาม? บุคคลประเภทไหนจะได้เข้าถึงพื้นที่อวกาศหรือได้ไปอยู่อาศัยบนอวกาศก่อน? นำมาซึ่งปัญหาอีกประการคือ อะไรที่จะมาเป็นมาตรฐานกฎระเบียบ และใครจะมาเป็นผู้กำหนดกฎเกฑณ์ดังกล่าวพวกนั้น เพียงแค่คำถามสองข้อก็นำมาซึ่งความขัดแย้งบนโลกที่โต้เถียงกันได้ไม่สิ้นสุด

ทั้งนี้ ทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เรากำลังอนุมานว่าจะมีการปกครองอวกาศด้วยระบบรัฐชาติเหมือนกับโลก หากไม่ แล้วจะต้องทำอย่างไรต่อ ต้องสร้างการปกครองแบบใหม่จากพื้นฐานที่มีอยู่ในโลกหรือไม่? เช่นอาจการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ UN เพื่อให้มีอำนาจเหมือนรัฐบาลโลกซึ่งต้องได้รับการยินยอมจาก 195 ประเทศทั่วโลก หรืออวกาศจะต้องมีการปกครองแบบใด? สมควรจะมีหรือไม่? หรือแม้กระทั่งมนุษย์โลกอย่างเราอาจต้องถามว่า เรามีสิทธิในการปกครองหรือครอบครองพื้นที่อวกาศหรือไม่?

โลกพยายามถกเถียงและตกผลึกคำตอบต่อคำถามดังกล่าวมาตั้งแต่ยุคสมัยแรกที่มีความพยายามเดินทางไปยันอวกาศ ในปี 1967 ความพยายามของนานาชาติได้นำไปสู่การออก Outer Space Treaty ร่วมกันภายใต้ UNOOSA ใจความหลักของสนธิสัญญาคือ ทุกประเทศมีสิทธิในการสำรวจและศึกษาเพื่อพลประโยชน์ของมวลมนุษย์โลก นักอวกาศทุกคนถือเป็นทูตหรือตัวแทนจากโลก และที่สำคัญที่สุก อวกาศต้องไม่ตกเป็นของใคร อวกาศไม่ใช่สถานทีที่รัฐชาติไหนจะสามารถถือครอบครองเป็นของตนเองหรือภายใต้อธิปไตยของตนเองได้ จะกล่าวว่า Outer Space Treaty เป็นกฎหมายอวกาศนานาชาติ (International Space law) ฉบับแรกๆ ของโลกก็ว่าได้

จะเห็นได้ว่าการจัดการการเมืองบนอวกาศอวกาศอาศัยการจัดตั้งกฎหมายจากโลกครอบคลุมไปถึงอวกาศที่มนุษย์ยังไม่สามารถครอบครองหรือแม้แต่ศึกษาได้อย่างครบถ้วน แม้แต่การแบ่งเขตพื้นที่ระหว่างโลกและอวกาศยังจัดทำขึ้นผ่านเส้น Karman Line ซึ่งเป็นการนำระบบความคิด การปกครอง และดำรงอยู่ของมนุษย์ไปใช้กับพื้นที่ใหม่นอกโลก

ทั้งนี้ ไม่มีทางที่สภาวะดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายในโลก แม้จะมีข้อตกลงและองค์การระหว่างประเทศอย่าง UNOOSA ควบคุมอยู่ แต่หลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นอย่างแจ่มชัดว่าว่าองค์การระหว่างประเทศไม่ได้หลุดพ้นจากอิทธิพลทางการเมืองและการถ่วงดุลระหว่างเหล่ามหาอำนาจทั้งหลายเลย

นอกจากนี้ บทเรียนจากโลกยังนำไปสู่ข้อสงสัยในการวางกฎเกณฑ์บนอวกาศ ในการเมืองระหว่างประเทศบนพื้นโลก กรณีที่รัฐตัดสินใจไม่ลงนามในสนธิสัญญานั้นจะทำให้รัฐไม่มีพันธกรณีผูกมัดต่อสนธิสัญญา อย่างกรณีเมียนมาร์ที่ไม่ได้มีการลงนามในธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute) ที่นำไปสู่การจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) นั้น ก็ไม่ต้องมีพันธกรณีผูกพันในการขึ้นศาล แม้ว่าจะมีอีกวิธีที่จะสามารถนำพม่าขึ้นศาลได้ผ่านมติ UNSC ทว่าการเมืองภายใน UNSC เองก็ทำให้การลงมติเอกฉันท์เป็นไปไม่ได้ พอเป็นกรณีการเมืองอวกาศ Outer Space Treaty ที่มีเพียง 110 ประเทศที่ลงนาม และมีเพียงแค่ 89 ประเทศที่ให้สัตยาบัน จากบทเรียนดังกล่าว เราเห็นได้ถึงข้อจำกัดทางกฎหมายและองค์กรระหว่างประเทศ ฉะนั้น คำถามที่ตามมาคือ ประเทศที่เหลือยังไม่มีพันธะหรือต้องรับผลตามกฎหมายเหมือนอย่างสนธิสัญญาอื่นๆ หรือไม่?

การเปิดพื้นที่ใหม่ในอวกาศจึงนำมาซึ่งคำถามมากมาย ช่องโหว่ที่ต้องการการศึกษาต่อเพื่อเติมเต็ม และสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่จบสิ้น

อวกาศกับความเป็นมนุษย์

ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการออกสำรวจอวกาศ จนมาถึง ณ วันนี้ การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นอวกาศไม่มากก็น้อย และเพราะความเป็นการเมืองนี้เอง ประเด็นต่างๆ ว่าด้วยอวกาศจึงมีความย้อนแย้งสูง

ในปัจจุบัน เราเห็นความพยายามที่จะตัดภาพจำว่าอวกาศเท่ากับการเมืองและแทนที่ด้วยการผูกอวกาศไว้กับความเป็นวิทยาศาสตร์และความก้าวหน้าเพื่อสาธารณสุขของนานาชาติ สร้างความเข้าใจว่าอวกาศคือพื้นที่ส่วนรวม รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศย่อมเป็นไปเพื่อสาธารณะและผลประโยชน์ของมวลมนุษย์ชาติโดยรวม

หากแต่เมื่อมองลึกลงไป หลายรัฐ โดยเฉพาะรัฐที่มีอำนาจและศักยภาพมากพอต้องเผชิญกับสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จะบอกทำเพื่อมวลมนุษย์ชนทุกประเทศของโลกก็กล่าวได้ไม่เต็มปากนัก ยามเมื่อกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ นับตั้งแต่การจัดจ้างเครื่องมืออะไหล่ ไปจนถึงการเดินทางออกไปปักธงบนดวงดาวอื่น แท้จริงแล้วก็คือเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์แห่งชาติ

ทั้งนี้ การเมืองอวกาศเป็นเรื่องที่ผูกติดกับโลกเป็นสำคัญจนอาจเรียกได้ว่ามีโลกเป็นศูนย์กลาง เพราะไม่ใช่เพียงแค่เราพยายามจะส่งออกความเป็นมนุษย์ออกไปยังอวกาศ แต่ยังเป็นการดึงเรื่องอวกาศให้กลับมาสู่โลก คล้ายกับการแพร่ขยายทั้งอาณานิคมของมนุษย์และขอบเขตความเป็นมนุษย์ไปยังพื้นที่อื่น ไม่ใช่เพียงแค่การออกไปสำรวจอย่างเดียว

ท้ายที่สุด อวกาศอันเป็นสถานที่นอกโลกที่เต็มไปด้วยความลับและความไม่รู้มากมายที่รอให้ไปค้นหา ฤาจะกลายเป็นว่าไม่มีที่ไหนทั้งในโลกนี้และนอกโลกที่หนีพ้นการเมือง ตราบใดที่มนุษย์ย่างกายเข้าไป แม้แต่ในความเวิ้งว้างอันไกลโพ้นนั้น การเมืองก็จะตามไปเฉกเช่นเดียวกัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save