fbpx
อยากมีสุขภาพดีและชีวิตยืนยาวกว่าคนทั่วไป หัดเป็นคนมองโลกในแง่ดีเข้าไว้ - งานวิจัยใหม่บอกแบบนั้น

อยากมีสุขภาพดีและชีวิตยืนยาวกว่าคนทั่วไป หัดเป็นคนมองโลกในแง่ดีเข้าไว้ – งานวิจัยใหม่บอกแบบนั้น

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เมื่อเช้าระหว่างที่ขับรถมาทำงาน ผมนั่งฟังพอดแคสต์ซีรี่ย์ใหม่ของ พี่เอ๋-นิ้วกลม ชื่อ ‘ความสุขโดยสังเกต’ ที่พูดถึงเรื่องความสุขว่ามันคืออะไร มีอยู่ตอนหนึ่งที่พี่เอ๋เล่าถึงคนสองคน เหตุเกิดในช่วงฤดูมรสุมที่ประเทศเนปาล ฝนตกหนักมาก พื้นดินเฉอะแฉะเต็มไปด้วยโคลน ผู้คนจึงเอาก้อนอิฐมาวางเรียงกันเพื่อใช้เป็นทางเดินแบบฉุกเฉิน

ชายคนแรกมองถนนหนทางข้างหน้าด้วยความขยะแขยง เพราะไม่อยากให้ตัวเองเปรอะเปื้อน เดินไปด้วยบ่นไป “ประเทศนี้อะไรก็สกปรกไปหมดเลย” สักพักมีผู้ชายอีกคนหนึ่งที่เดินก้าวกระโดดบนก้อนอิฐด้วยความสนุกสนาน แถมร้องเพลงไปด้วยอีกต่างหาก เขาบอกว่า “ฤดูฝนนี่ดีจังเลย เนปาลไม่มีฝุ่นเลย”

ทั้งสองคนอยู่ในโลกใบเดียวกัน เจอเหตุการณ์เดียวกัน แต่มุมมองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกลับแตกต่างกัน

การมองโลกในแง่ดี มีทัศนคติด้านบวกต่อสิ่งที่คุณกำลังเผชิญอยู่ ไม่ใช่แค่ทำให้คุณนั้นมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม แต่ขณะเดียวกันงานวิจัยชิ้นใหม่ที่เผยแพร่ใน Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) ยังบ่งบอกว่า มันจะทำให้คุณมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้นกว่าเดิม แถมทำให้คุณนอนหลับสนิทขึ้นด้วยในแต่ละคืน

งานศึกษาชิ้นนี้พบว่าผู้หญิงที่ระบุว่าตัวเองเป็นคนมองโลกในแง่ดี อายุยืนกว่าผู้หญิงที่มองโลกด้านลบมากกว่า 15% และมีโอกาสมากถึง 50% ที่จะอยู่ถึงอายุ 85 ปี ในส่วนตัวเลขของฝั่งผู้ชายนั้นคนมองโลกในแง่ดีจะมีอายุยืนกว่า 11% และมีโอกาสมากถึง 70% ที่จะอยู่ถึง 85 ปี

งานวิจัยครั้งนี้ติดตามผลจากกลุ่มผู้หญิง 69,744 คน เป็นระยะเวลา 10 ปี และกลุ่มผู้ชาย 1,429 คน เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยผู้ที่เข้าร่วมจะได้ทำแบบสอบถามเพื่อวัดระดับ ‘การมองโลกในแง่ดี’ ของพวกเขาตั้งแต่เริ่มทำงานวิจัย รวมไปถึงเรื่องของสุขภาพ อาหารที่ทาน และระดับของความซึมเศร้าด้วย ซึ่ง ‘การมองโลกในแง่ดี’ ถูกอธิบายคร่าวๆ โดยนักวิจัยกลุ่มนี้ว่าคือ “การคาดการณ์ว่าสิ่งดีๆ จะเกิดขึ้น และอนาคตอยู่ที่การกระทำของเราสามารถที่จะควบคุมได้”

กลุ่มคนที่มองโลกในแง่ร้ายจะบอกว่าการศึกษาครั้งนี้ไม่ได้พิสูจน์เรื่องเหตุและผลเลย ซึ่งพวกเขาอาจจะถูกก็ได้ เพียงแต่ว่านี่เป็นหนึ่งในการศึกษาหลายๆ ชิ้น ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการมองโลกในแง่ดีกับสุขภาพที่ดีขึ้น

Lewina Lee หนึ่งในทีมวิจัย (เธอเป็นนักจิตวิทยาการวิจัยทางคลินิกที่ VA Boston Healthcare System และผู้ช่วยศาสตราจารย์ฝ่ายจิตเวชที่ Boston University School of Medicine) กล่าวว่า “เรารู้ว่าคนที่มองโลกในแง่ดีนั้น มีแนวโน้มที่จะเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังและเสียชีวิตก่อนวัยน้อยกว่า”

อย่างไรก็ดี Lee อธิบายเพิ่มเติมว่า นักวิจัยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดเช่นกันว่าทำไมการมองโลกในแง่ดีถึงทำให้เกิดผลลัพธ์แบบนี้ หรือในทางกลับกัน การมีสุขภาพที่ดีอาจเป็นเหตุที่ทำให้คนมองโลกในแง่ดีด้วยรึเปล่า ทั้งนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ Lee และนักวิจัยคนอื่นๆ ค้นพบ คือกลุ่มคนที่มองโลกในแง่ดีนั้นมีโอกาสน้อยที่จะป่วยเป็นโรคเครียดเรื้อรัง (Chronic stress) อันเป็นบ่อเกิดของโรคร้ายต่างๆ นานา

เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่มองโลกในแง่ร้ายแล้ว งานวิจัยใน Behavioral Medicine ยังพบอีกว่า คนที่มองโลกในแง่ดีจะมีคุณภาพการนอนที่ดีกว่า ยาวนานกว่า และจะไม่รู้สึกง่วงเหงาหาวนอนระหว่างวัน และแทบไม่มีอาการของการนอนไม่หลับเลย จากกลุ่มทดลองที่อายุตั้งแต่ 32 ถึง 51 ปี กว่า 3,500 คน

แม้นักวิจัยจะยังบอกไม่ได้ว่าการมองโลกในแง่ดีนั้นส่งผลกระทบกับการนอนที่ดีได้ยังไง (ซึ่งนำไปสู่สุขภาพที่ดีขึ้น) แต่ Rosalba Hernandez ศาสตราจารย์จาก University of Illinois ตั้งข้อสมมุติฐานว่า “คนที่มองโลกในแง่ดีมักจะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างกระตือรือร้น และมองสถานการณ์ที่เคร่งเครียดในมุมบวก ทำให้กังวลน้อยลง และไม่คิดมากระหว่างเข้านอนและตลอดคืน”

มีรายงานอีกชิ้นหนึ่งจากปี 2015 ที่พบว่าสุขภาพของหัวใจของคนที่มองโลกในแง่บวกอายุระหว่าง 45-84 ปีนั้น แข็งแรงกว่าคนมองโลกในแง่ร้ายถึงสองเท่า จากการวัดค่าหลายๆ ปัจจัย ตั้งแต่การทานอาหาร กิจกรรมระหว่างวัน ไปจนถึงระดับน้ำตาลในเลือดและคอเลสเตอรอล โดยรายงานชิ้นนี้ชี้ว่า ผู้หญิงที่มองโลกในแง่ดีมีโอกาสที่จะเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจน้อยกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้ายกว่า 38% เลยทีเดียว ส่วนรายงานที่ตีพิมพ์ใน Journal of the American College of Cardiology บอกว่ากลุ่มคนที่มองโลกในแง่ดีนั้นมักมีอุปนิสัยเพื่อสุขภาพดี ทั้งการเลือกทานอาหาร การออกกำลังกาย มีน้ำหนักตัวพอดี

Darwin Labarthe ศาสตราจารย์จาก Preventive Medicine at Northwestern University Feinberg School of Medicine บอกว่าคนที่มองโลกในแง่ดีนั้นสามารถที่จะจัดการกับเรื่องเครียดๆ ได้ดีกว่า ส่วนกลุ่มคนที่มองโลกในแง่ร้ายนั้น เมื่อเจออะไรที่ไม่ตรงไปตามเป้า ก็อาจจะเริ่มเครียด ทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ปล่อยเนื้อปล่อยตัว ไม่ยอมออกกำลังกาย สูบบุหรี่ และเริ่มสร้างอุปนิสัยแย่ๆ ให้กับตัวเอง จนสุดท้ายก็ทำให้สุขภาพของตัวเองเลวร้ายลงในที่สุด

Labarthe เองก็บอกเหมือน Lee ว่ามันไม่ได้มีอะไรบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าอันไหนคือเหตุ อันไหนเป็นผล แต่เขาบอกว่า “คำตอบอาจจะเป็นทั้งสองด้าน – เมื่อเรามองโลกในแง่ดีก็ทำให้สุขภาพดี, เมื่อสุขภาพดีก็เกื้อหนุนให้เรามองโลกในแง่ดีด้วย”

คำถามต่อมาคือ แล้วเราสามารถเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนมองโลกในแง่ดีได้ไหม?

ในแง่หนึ่งนั้นการมองโลกในแง่ดี (หรือแง่ร้าย) อาจมาจากพันธุกรรมด้วยเช่นกัน โดยการศึกษาเมื่อปี 1992 บ่งบอกว่า ประมาณ 25% ของการมองโลกในแง่ดีของแต่ละคนนั้นถูกส่งต่อมาจากพ่อและแม่ แต่ข่าวดีก็คือว่า เราไม่จำเป็นจะต้องติดอยู่กับสิ่งที่ได้มาตลอดไป ระดับ ‘การมองโลกในแง่ดี’ ของแต่ละคนนั้นส่วนใหญ่จะคงที่ระหว่างวันหรือสัปดาห์ แต่ถ้าพิจารณาในระยะเวลาที่ยาวขึ้นเป็นปี ก็จะสูงขึ้นและต่ำลง แล้วแต่ว่าชีวิตต้องเผชิญกับอะไรบ้าง โดย ‘อายุ’ ก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญเช่นกัน กล่าวคือระดับการมองโลกในแง่ดีนั้นจะต่ำในช่วงวัยยี่สิบ เพิ่มขึ้นเมื่อเข้าวัยสามสิบถึงสี่สิบ และสูงสุดช่วงอายุประมาณ 55 ปี หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ตอบว่า “ฉันสามารถหามุมมองด้านบวกได้แม้ในสถานการณ์ที่เลวร้าย” และ “เมื่อฉันเจอปัญหา จะไม่ยอมแพ้จนกว่าจะแก้ไขมันให้ได้” ถือว่าคุณเป็นคนหนึ่งที่มองโลกในแง่ดีและชอบตั้งเป้าหมายในชีวิต ซึ่งจะทำให้คุณมองโลกในแง่ดีมากยิ่งขึ้น เพราะการตั้งเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือหน้าที่การงาน จะทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า แต่ในทางกลับกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่ชีวิตไร้เป้าหมาย มันจะส่งผลกระทบด้านลบต่อสภาพจิตใจทันที

อีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้เรามองโลกในแง่ดีมากขึ้น คือการ ‘จินตนาการ’ ว่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเรื่องดีๆ ในอนาคต พยายามมองว่าอีกปีหนึ่งข้างหน้าเราจะอยู่ที่ไหน ในหน้าที่การงาน รูปร่างหรือสรีระที่ใฝ่ฝัน หรือการอยู่ท่ามกลางคนที่เรารัก ต่อจากนั้นจะเป็นยังไง ฯลฯ

แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าทำไมการมองโลกในแง่ดีจึงทำให้สุขภาพของเราดีขึ้น แข็งแรงขึ้น อายุยืนขึ้น แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม คงไม่เสียหายอะไรถ้าจะลองปรับมุมมองของตัวเองให้มองโลกในแง่ดีมากกว่าที่เป็นอยู่ ยิ้มให้มากขึ้นในแต่ละวัน อย่างน้อยๆ ก็คงทำให้คุณและคนรอบข้างมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม แค่นั้นก็อาจเพียงพอแล้วก็ได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save