fbpx

วัคซีนเป็นพิษ วิกฤตศรัทธา โมฆะบุรุษ ความเสื่อมถอยของระบอบอุปถัมภ์

รัฐบาลเผด็จการทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจจะประสบความสำเร็จในการจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ก็ด้วยความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข และความรู้ความสามารถ การทุ่มเททำงานอย่างหนักของบรรดาแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ บุคลากรที่เกี่ยวข้องตลอดจนอาสาสมัครสาธารณสุข

มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด การล็อกดาวน์ ปิดเมืองปิดประเทศ สกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้อโรคอย่างจริงจังและค่อนข้างจะรวดเร็ว ไม่ล่าช้าเกินไป ส่งผลทำให้สามารถสะกดโควิด-19 อยู่ในวงจำกัดได้ โดยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 6,772 คน และเสียชีวิต 67 ราย

องค์การอนามัยโลกแสดงความชื่นชม ถึงกับยกย่องประเทศไทยเป็นแบบอย่างในการควบคุมโควิด-19

ทำเอาหน้าบานไปตามๆ กัน

ถึงแม้ว่า วิกฤติการณ์ครั้งนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและภาคการส่งออกอันเป็นจักรกลหลักขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไม่สามารถทำงานได้ สร้างความลำบากยากแค้นให้กับประชากรพลเมืองถ้วนหน้า แต่ก็สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องที่ทั่วโลกต่างประสบพบปัญหามิได้แตกต่างกัน

เช่นเดียวกับระลอกสองของการแพร่ระบาด ซึ่งอยู่ในช่วงต้นปี 2564 ที่ทางการยังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้โดยมิต้องล็อกดาวน์ ปิดเมืองให้ผู้คนบ่นก่นด่า

ทว่าสำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสามนับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมาแล้ว เป็นเหมือนหนังคนละม้วน ภาพยนตร์คนละเรื่องเลยทีเดียว

เพราะในขณะที่หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายข้อบังคับที่เคยเข้มงวด แต่ประเทศไทยกลับต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ โดยไร้วี่แววใดๆ ว่าจะสามารถควบคุมได้ ในขณะที่รัฐบาลแสดงท่าทีเข็ดขยาดการออกมาตรการที่มีความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพียงปล่อยให้วันเวลาผ่านไปพร้อมกับตัวเลขผู้ป่วยและจำนวนคนเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำสถิตินิวไฮวันแล้ววันเล่า 

ติดเชื้อวันละหมื่น ตายทะลุร้อย

นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นมา มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้วเกือบ 4 แสนคน เสียชีวิตอีกมากกว่า 3 พันคน โดยเชื่อกันว่ายอดที่แท้จริงสูงกว่านั้น เนื่องจากการตรวจหาผู้ติดเชื้อทำในวงแคบ เฉพาะกลุ่มประชากรต้องสงสัยจากผลการสอบสวนโรค มิได้สุ่มตรวจอย่างกว้างขวาง

Antigen Test Kit ที่สามารถคัดกรองในเบื้องต้นได้สะดวก รวดเร็ว และง่ายดาย มีค่าใช้จ่ายต่ำ ประชาชนคนทั่วไปสามารถทำเองได้เหมือนตรวจการตั้งครรภ์ กลับกลายเป็นเรื่องต้องห้าม ไม่อนุญาตให้มีการนำเข้ามาจำหน่ายแต่เนิ่นๆ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าประเทศซึ่งประสบความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 ส่วนหนึ่งมาจากการคัดกรองผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็วและจริงจัง บางชาติถึงกับแจกอุปกรณ์ชุดคิทให้ประชาชนไปตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองเสียด้วยซ้ำ

เปรียบเทียบกับก่อนหน้านั้นที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมอยู่ราว 28,000 คน และเสียชีวิตเพียง 94 ราย 

ด้วยปริมาณผู้ป่วยที่มีจำนวนมากเกินกว่าศักยภาพ ขีดความสามารถในการรับรักษา ทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยซึ่งว่ากันว่าดีที่สุดเป็นลำดับต้นๆ ของโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤต ไม่มีเตียงเพียงพอที่จะรองรับคนไข้ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ แพทย์ พยาบาลทำงานกันตึงมือ โรงพยาบาลของรัฐบางแห่งถึงกับประกาศปิดรับผู้ป่วยแม้กรณีฉุกเฉิน 

ภาพข่าวคนไข้ทะลักล้นปรากฏให้เห็นเป็นที่รันทดหดหู่ น่าเวทนายิ่งนัก โดยที่ประชาชนอีกจำนวนมากซึ่งไม่มีเส้นสาย ไร้เงินทองเข้าโรงพยาบาลเอกชน แหงนเถ่อรอคอยการติดต่อตอบรับรักษาด้วยความว้าเหว่วังเวง

หลายคนไม่ถึงมือหมอ เสียชีวิตลงอย่างอเนจอนาถ อนาถา บางคนต้องมองดูพ่อแม่พี่น้องในครอบครัวตัวเองนอนรอความตายสิ้นใจไปต่อหน้าต่อตา โดยไม่อาจจะช่วยเหลือหรือทำอะไรได้

ประทานโทษเถอะ สุนัขบ้านเศรษฐีคนรวยยังมีคุณภาพชีวิตดีกว่าและได้รับการปฏิบัติดูแลดีกว่าเลย 

โลงศพขายเป็นเทน้ำเทท่า สัปเหร่อทำงานกันไม่หวาดไม่ไหวสวนทางสภาพเศรษฐกิจ

หลายเดือนที่ผ่านมานี้ นอกจากคำมั่นสัญญาไม่เป็นโล้ไม่เป็นพาย วาทะโวหารไร้แก่นสารปราศจากสาระ แก้ต่างแก้ตัวในลักษณะขว้างงูไม่พ้นคอไปวันๆ แล้ว ยังไม่อาจแลเห็นแม้แต่แสงสว่างปลายอุโมงค์เลยว่า รัฐบาลเผด็จการทหารภายใต้ระบอบปกครองซึ่งละม้ายคล้ายเหมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้าไปทุกขณะจะสามารถจัดการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสามได้เมื่อไร

สร้างภาพย้อนยุค รวบอำนาจมาไว้ที่นายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียวก็แล้ว อ้างว่าได้สั่งการอย่างนั้น ปรับแผนอย่างนี้ วันแล้ววันเล่าก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไรดีขึ้นมาแม้แต่น้อยนิด

การบริหารราชการแผ่นดิน จัดการปัญหาประเทศชาติบ้านเมืองคงไม่ง่ายดายเหมือนกับการสู้รบที่พบศัตรูอยู่ข้างหน้าก็ลั่นไกฆ่าสังหาร ใช้สรรพาวุธเข้าทำลายล้าง

พี่น้องเพื่อนร่วมชาติเดียวกันแท้ๆ เห็นเป็นฝ่ายตรงกันข้าม ยังเหี้ยมเกรียม อำมหิต ล้อมปราบตายไปเป็นร้อย

เบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่เหมือนกับการจัดการปัญหาโควิด-19 

ปล่อยให้ประชากรพลเมืองเผชิญกับความลำบากยากแค้นแสนสาหัส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวบ้านราษฎรส่วนใหญ่ซึ่งหาเช้ากินค่ำ เป็นคนระดับล่างอยู่ปลายห่วงโซ่สังคม ปราศจากหลักประกันความมั่นคงในชีวิต ขาดระบบสวัสดิการรองรับเพียงพอ ไม่ได้มีทรัพย์สมบัติ เงินเดือนประจำหรือรายได้มากมายเหมือนกับบรรดาอีลีต ชนชั้นนำ นักการเมือง มหาเศรษฐี และข้าราชการระดับสูงทั้งหลาย

หลายชีวิตต้องฝากปากท้องไว้กับข้าวของจากองค์กร หน่วยงาน หรือบุคคลผู้มีจิตกุศล

ที่รักตัวกลัวตาย อยากจะได้รับวัคซีนมาป้องกันตัวก็มีปัญหาวัคซีนขาดแคลน ไม่เพียงพอ ฉีดๆ หยุดๆ กะปริบกะปรอยราวกับประจำเดือนมาไม่ปกติ

ถึงตอนนี้ ยังไม่รู้เลยว่าอีกกี่ร้อยกี่พันคนจะต้องล้มตายลง กว่าที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจะเอาชนะโควิดระลอกสามได้บนกองซากศพประชาชน อีกกี่หมื่นกี่แสนคนจะต้องติดเชื้อเจ็บป่วยสังเวยความรู้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน

ทั้งหมดล้วนเป็นผลมาจากการเอาชีวิตของประชาชนคนทั้งประเทศไปผูกกับวัคซีนแอสตราเซเนกาโดยแท้

การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลปรากฏเงื่อนงำให้ผู้คนเคลือบแคลงเป็นที่สงสัยมาตั้งแต่กลางปี 2563 แล้ว เมื่ออยู่ๆ มีข่าวคณะรัฐมนตรีอนุมัติจัดสรรงบประมาณ 600 ล้านบาทสนับสนุนการพัฒนาโรงงานแห่งหนึ่งซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นฐานการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา ก่อนที่จะมีการแถลงถึงแนวทางการจัดหาวัคซีนเมื่อวันที่ 24 ตุลาคมปีเดียวกัน

วันที่ 5 มกราคม 2564 ตามมาด้วยการที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการจัดหาวัคซีน 3 ช่องทางด้วยกันคือ แอสตราเซเนกา 26 ล้านโดสซึ่งจะได้ในเดือนมิถุนายนและสั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส

จัดหาจากแหล่งอื่นร้อยละ 10 โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เจรจากับบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค เพื่อจัดหาวัคซีนเป็นการเร่งด่วนภายในไตรมาสแรกของปี พ.ศ.2564 จำนวน 2 ล้านโดส และจัดหาจากโครงการร่วมมือด้านวัคซีนนานาชาติ หรือ COVAX ขององค์การอนามัยโลก ร้อยละ 20

ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าวัคซีนคือความหวังในการเอาชนะโควิด แต่แทนที่จะเร่งรีบจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ รัฐบาลกลับรอให้โรงงานผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาในประเทศพร้อมเดินสายการผลิต โดยระหว่างนั้นก็สั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคที่องค์การอนามัยโลกยังมิได้ให้การรับรองมาใช้แก้ขัด

จับพลัดจับผลูกลายมาเป็นวัคซีนหลักเมื่อแอสตราเซเนกาส่งมอบวัคซีนให้น้อยกว่าตัวเลขที่มีการยกเมฆแหกตาประชาชน

วัคซีนมาช้า มาน้อย มากะปริบกะปรอย เดี๋ยวฉีด เดี๋ยวหยุด เดี๋ยวเลื่อน ก็กลบเกลื่อนด้วยการออกมาตีฆ้องร้องป่าวให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติบ้าง ประกาศว่าปีนี้จะฉีดให้ครบ 100 ล้านโดสบ้าง ฯลฯ 

ประชาชนสงสัยถึงคุณภาพของซิโนแวคเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนยี่ห้ออื่นก็หยิบยกเอาวาทกรรม “วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่ฉีดเร็วที่สุด” ขึ้นมาเบี่ยงเบน

มิใยจะมีข่าวสะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพอันอ่อนด้อย ใครต่อใคร แม้กระทั่งแพทย์ ออกมาเรียกร้องต้องการให้นำวัคซีนชนิด mRNA หรือวัคซีนที่มีคุณภาพมาใช้ แต่ยังไม่วายสั่งซื้อซิโนแวคเพิ่ม

คำหนึ่งว่าตลาดเป็นของผู้ขาย อีกคำอ้างว่าต้องใช้เวลา แต่ยังไม่ยอมสั่งจองเสียที ปล่อยให้ชาติอื่นซื้อหามาใช้ ได้รับมอบกันโครมๆ

ยังมีการปฏิเสธเข้าร่วมโครงการ COVAX ปล่อยให้ประชาชนคนทั้งแผ่นดินได้แต่มองตาปริบๆ ดูประเทศนั้นประเทศนี้ รวมถึงเพื่อนบ้านได้รับวัคซีนไฟเซอร์, โมเดอร์นา, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ฯลฯ ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่า

ไม่รู้อะไรกันหนักหนา มีข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้อะไรหรือเปล่า การจัดหาวัคซีนดีมีคุณภาพมาใช้ถึงเป็นปัญหาอิรุงตุงนัง ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก

เชื่อหมอ (บางคน) ไม่เชื่อหมาแล้วเป็นไงละ

ได้ฤกษ์จองซื้อวัคซีนไฟเซอร์มาฉีดให้กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ ผู้ติดเชื้อรายวันทะลุ 13,000 โดยมียอดสะสมใกล้แตะครึ่งล้านคนเข้าไปทุกที เสียชีวิตวันละร้อย

มิพักพูดถึงวิบัติฉิบหายทางเศรษฐกิจ ความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนคนทั้งประเทศอันสืบเนื่องมาจากนโยบายและการดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 

ล้มเหลว บกพร่องในการบริการราชการแผ่นดินชัดแจ้ง

กลายเป็นโมฆะบุรุษอันหมายถึง บุคคลผู้ว่างเปล่า ไร้แก่นสาร ไม่ก่อประโยชน์ทั้งส่วนตนแลส่วนรวม ทว่า ยังชูคอลอยหน้าลอยตาไม่รู้ร้อนรู้หนาว

เสียงสรรเสริญชื่นชมแปรเปลี่ยนเป็นก่นด่า สาปแช่ง ผู้คนเหลืออดออกมาเรียกร้อง ถามหาความรับผิดชอบทางการเมืองมากขึ้นทุกที ไม่เฉพาะหนุ่มสาว เยาวชน ลูกหลาน นักเรียนนักศึกษาซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมา หรือเพียงแค่ฝ่ายค้านเท่านั้น แต่ยังลามออกไปแทบทุกวงการ

สั่นคลอนระบอบอุปถัมภ์ซึ่งครอบงำสังคมไทยมาช้านาน ท่ามกลางคำถามว่า ทุกวันนี้ใครอุปถัมภ์ผู้ใดกันแน่

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save