fbpx

วิกฤตความเชื่อมั่นศรัทธา วิบัติโควิด-19 และสังคมที่บิดเบี้ยว

ช่วงชีวิตหนึ่งของคนเราไม่ได้ยืนยาวอะไรมากมายนัก ปุ๊บปั๊บก็ 10 ปี 20 ปี เผลออีกทีมีอายุ 50-60 กันแล้ว วันเวลาผันผ่านไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่สิ้นอายุขัยลงโดยไม่ได้แลเห็นประชาธิปไตยที่ตัวเองใฝ่ฝัน ไม่ได้มาพบกันที่สนามหลวงเหมือนดังเช่นความหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลง

นายโทนี วู้ดซัม อาจจะใจเย็น มีเงินทองโด๊ปถั่งเช่าซื้อเวลาหาช่องทางกลับมารับสัมปทานการเมืองอีกหนประสาวัวเคยขา ม้าเคยขี่ อาจจะคุ้นชินกับระบอบอุปถัมภ์ในสังคมไทย รับมือซ้ายจ่ายมือขวา วัตรปฏิบัติของระบบราชการที่หักหัวคิว ชักเปอร์เซ็นต์ ร้อยละ 30-40 เป็นมาตรฐาน ส่งส่วยขึ้นไปตามลำดับชั้น

นักการเมือง ตุลาการ ปากกว้างกระเพาะใหญ่ รับประทานคำโต หลักสิบหลักร้อยล้าน ผู้น้อยด้อยอำนาจแค่ดาบหรือจ่าหากินเอาเองตามท้องถนนหนทาง คอยรีดไถรถกระบะหรือจักรยานยนต์ 10-20 บาทไม่เอาแล้ว ไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดม็อบประทัดยักษ์ท้าตีท้าต่อยตำรวจ ท้าทายอำนาจรัฐให้เห็นได้ทุกเย็นหรอก

หลายคนอาจจะยอมอดทนแลกด้วยอภิสิทธิ์ ความมั่งคั่ง สถานะความเป็นอยู่ทางสังคมที่เหนือกว่าใครเขา แต่สำหรับหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่แล้วคงไม่ใช่

ผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยในประเทศนี้ก็ไม่อยากจะทนดักดาน มีชีวิตต่อไปอีก 50-60 ปีข้างหน้า ภายใต้สิ่งที่พวกเขาเรียกว่าระบอบปรสิต

คนรุ่นใหม่ หนุ่มสาว เยาวชน ลูกหลานลุกฮือขึ้นมาประท้วง เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยมีข้อเสนอหลักๆ ประกอบไปด้วย ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย, ลดความเหลื่อมล้ำ รัฐสวัสดิการ และปฎิรูปสถาบันกษัตริย์

ทว่า สิ่งที่ได้รับกลับเป็นการจับกุมคุมขัง ดำเนินคดีนักเรียนนักศึกษา เยาวชน หนุ่มสาว คนรุ่นใหม่หลายร้อยคน ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี และหรือความผิดตามมาตรา 116 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี รวมถึงความผิดประการอื่นอีกเป็นหางว่าว

หนึ่งปีผ่านไป ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของอำนาจอธิปไตยแท้จริง มีความอดทนต่อตัวนายกรัฐมนตรีลดน้อยถอยลงไปทุกที

ระบอบปกครองกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันมีเผด็จการทหารทำหน้าที่เป็นรัฐบาลกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ความเชื่อมั่นศรัทธา ความเคารพนับถืออย่างรุนแรง ถูกท้าทายอย่างที่ไม่เคยประสบพบพานมาก่อนในบ้านเมืองนี้โดยลูกหลาน หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ซึ่งต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม ซึ่งคร่าชีวิตเพื่อนร่วมชาติไปเกือบหนึ่งหมื่นคนแล้ว ติดเชื้อเจ็บไข้ได้ป่วยทะลุหลักล้าน ท่ามกลางความไม่ชอบมาพากล ล้มเหลวบกพร่อง ผิดพลาดในการจัดการปัญหาโควิด-19 เปรียบเสมือนฟางเส้นท้ายๆ ทำให้ผู้คนรู้สึกเหลืออดเหลือทน

การจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชากรพลเมืองมีปัญหาความล่าช้า แทนที่จะรีบซื้อหามารักษาชีวิตพี่น้องเพื่อนร่วมชาติ กลับทำลับๆ ล่อๆ ไปผูกขาดอยู่กับยี่ห้อหนึ่ง ทั้งๆ ที่ต้องแหงนเถ่อรออีกครึ่งปี กว่าโรงงานพ่อเจ้าประคุณทูนหัวจะเดินสายการผลิตส่งมอบได้ โดยระหว่างนั้นก็ไปจัดหาวัคซีนด้อยคุณภาพเมื่อเปรียบเทียบกับที่มีอยู่ในตลาด และยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก มาใช้แก้ขัดกับชาวบ้านราษฎร

วัคซีนแก้ขัดกลับกลายมาเป็นวัคซีนหลัก จนทุกวันนี้ยังออกมาแก้ต่างแก้ตัวแทนไม่รู้จักจบจักสิ้น

กระทั่งคณาจารย์แพทย์อดรนทนไม่ไหวเข้าชื่อเรียกร้องต้องการวัคซีน mRNA ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าก็ยังไม่วายซื้อหาวัคซีนด้อยคุณภาพมาใช้

ผู้คนตั้งคำถามถึงคุณภาพวัคซีนก็บิดเบือนไปเป็นเรื่องฉีดเร็ว ฉีดช้า อย่าเลือกยี่ห้อ เบี่ยงเบนปัญหาความผิดพลาดล้มเหลวในการจัดการวัคซีนของรัฐบาล ทำให้ปริมาณที่ได้มาไม่เพียงพอ ต้องฉีดๆ หยุดๆ

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาบริจาควัคซีนให้ ได้ไฟเซอร์มาก็วุ่นวาย บุคลากรทางการแพทย์ออกมาร้องเรียนว่า มีการกั๊กเอาไว้บ้าง ไปไม่ถึงด่านหน้าบ้าง ฯลฯ

จะจัดซื้อ Antigen Test Kit มาเร่งตรวจหาตัวผู้ติดเชื้อก็มีปัญหา กลุ่มแพทย์ชนบทออกมาแฉโพยเปิดโปงทั้งในเรื่องของคุณภาพและราคาของชุดตรวจยี่ห้อหนึ่ง ปรากฏเงื่อนงำหลายประการ ชวนให้สงสัยมีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่

มันอะไรกันหนักหนา แล้วแทนที่จะแก้ไขความล้มเหลวที่เกิดขึ้นกลับพยายามแก้ตัว

ผิดพลาดในการจัดการวัคซีน บกพร่องในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดกลับไปลงที่สื่อ ออกคำสั่งห้ามเสนอข่าว หรือแพร่ข้อความอันทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว

โทษฟ้าดินไปเรื่อย เบี่ยงเบนว่าเป็นปัญหามาจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ตั้งนักวิชาการหลงยุคตกสมัยขึ้นมาบริหารการนำเสนอข่าวสาร

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามทำให้ประชาชนคนทั้งประเทศได้แลเห็นถึงปัญหาของแผ่นดิน รู้เช่นเห็นชาติ ซาบซึ้งถึงธาตุแท้ สันดานของมนุษย์ในบ้านเมืองนี้

คนเราเป็นอย่างไรก็เห็นกันในยามวิกฤตคับขันนี่แหละ

ประการหนึ่งนั้น วิบัติการณ์ร้ายแรงคราวนี้พิสูจน์ให้ประจักษ์ว่า ลำพังอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่อาจจะแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติบ้านเมืองได้เสมอไป สวมเครื่องแบบสีเขียวแล้วใช่ว่าจะเฉลียวฉลาด อัฉริยะไปกว่าใครเขา เห็นเหรียญตรารกรุงรังเต็มหน้าอกไม่ได้หมายความว่าจะมีความรู้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน มีความซื่อสัตย์สุจริตไปกว่านักการเมืองหรือผู้คนสาขาวิชาชีพอื่นแต่อย่างใด

โฉดชั่ว โง่เขลา อวดฉลาดก็เยอะแยะ

เป็นผู้ปกครองทรราช โกงบ้านกินเมืองถูกยึดทรัพย์ ฉ้อราษฎร์บังหลวงติดตะรางตายในคุก ฯลฯ ก็เห็นๆ กันอยู่

กองทัพไม่ใช่สรณะหรือศูนย์กลางที่จะมาผูกขาดความรักชาติบ้านเมือง ประเทศไทยจะอยู่รอดไม่ได้ขึ้นอยู่กับกองทัพเพียงองค์กรเดียว และมิได้มีแค่ทหารเท่านั้นที่ปฏิบัติภารกิจ ทำงานเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อประเทศชาติประชาชน

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่บุคลากรทั้งหลาย อาสาสมัครสาธารณสุข กู้ชีพ-กู้ภัย ตลอดจนประชาชนซึ่งอาสาตัวเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วย คนติดเชื้อ ฯลฯ ได้ทุ่มเททำหน้าที่ สุ่มเสี่ยงความเป็นความตาย เอาชีวิตเข้าแลกไม่ได้แตกต่างไปจากทหารในสงครามสนามรบแต่อย่างใด

วันนี้ถ้าไม่มีหมอ พยาบาล อาสาสมัครพลเรือนแล้วเป็นอย่างไร

ดังนั้นจึงพึงสำเหนียกเอาไว้ว่า การอยู่ร่วมกันเป็นประเทศ ทุกคนทุกฝ่ายต่างมีความสำคัญต่อชาติบ้านเมืองด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ภารกิจทำกันคนละหน้าที่เท่านั้นเอง

พิลึกอยู่หน่อยก็ตรงที่พอมีฉายา ได้รับการยกย่องให้เป็นนักรบชุดขาว นักรบเสื้อกาวน์เข้าเท่านั้น ไม่รู้ทำไมผู้บริหารกระทรวงถึงต้องยกทีมตบแถวกันพรึ่บพรั่บ ทำราวกับทหารตบเท้าสำแดงพลังอำนาจข่มขู่ประชาชนไปได้ เดี๋ยวออกมาให้กำลังใจที่ปรึกษาศบค. เดี๋ยวออกมาเรียกร้องพระราชกำหนดยกเว้นความรับผิดให้กับแพทย์ด่านหน้า ยัดไส้นิรโทษกรรมครอบคลุมไปถึงการจัดหา-บริหารวัคซีน

ได้ชื่อว่านักรบแล้ว ปีศาจร้ายลายพราง สางเขียวเข้าสิงหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ

ประการต่อมา หากไม่หมกมุ่นอยู่กับตัวเลขความตาย คนป่วยติดเชื้อแต่เพียงอย่างเดียว วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นความแตกต่างระหว่างเพื่อนร่วมชาติด้วยกัน ประจานปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้ชัดแจ้งที่สุด

ขณะที่ชนชั้นนำ-คนรวยยังอยู่ดีมีสุข มีความมั่นคงในชีวิต ติดเชื้อขึ้นมาสามารถใช้อภิสิทธิ์ เงินทอง ความมั่งคั่งเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ คนหาเช้ากินค่ำและชนชั้นกลางทั่วไปกลับดำรงชีวิตกันด้วยความลำบากยากแค้น เจ็บป่วยขึ้นมาระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับได้ ถูกปล่อยปละละเลยให้เสียชีวิตอยู่ในที่พัก ล้มตายตามข้างถนนราวกับหมาแมวจรจัด

รัฐสวัสดิการจึงเป็นหลักประกันเดียวที่จะทำให้ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในระดับหนึ่ง

ประการสุดท้าย การแพร่ระบาดของโควิดระลอกที่สาม ณ คาบนี้ ทำให้ได้ประจักษ์แก่สายตาผู้คนว่า มีใครเห็นหัวประชาชน ผู้ใดร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชาวบ้านราษฎรในยามที่บ้านเมืองเผชิญวิกฤตคับขัน องค์กรไหน สถาบันใดเป็นที่พึ่งให้กับประชากรพลเมืองบ้าง

ผู้นำอำนาจนิยมตกกลายเป็นตลกร้ายให้หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่อีกเจเนอเรชันหนึ่งนินทาว่ากล่าว เย้ยหยัน ล้อเลียนกันสนุกสนานปราศจากความเคารพ

ยิ่งปล่อยให้เกิดภาพความรู้สึกถูกบังคับ กดขี่ เบียดเบียน ยิ่งโหดเหี้ยม อำมหิตก็ยิ่งเสื่อมถอย ผู้คนสิ้นศรัทธา หมดความนับถือ

สภาพการณ์บ้านเมืองในเวลานี้ ผู้คนไม่มีความเชื่อมั่นผู้ปกครองซึ่งล้มเหลวผิดพลาด บกพร่องในการบริหารราชการแผ่นดินซ้ำซาก สร้างความลำบากยากแค้นให้กับชาวบ้านราษฎร

รัฐบาลไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนคนทั้งประเทศ

ทุกวันนี้อยู่ได้ก็ด้วยหน่วยปราบจราจล ตำรวจ ทหาร กองทัพค้ำยันเสถียรภาพความมั่นคงให้กับตัวเอง

ใช้ความรุนแรง อาศัยอำนาจ-กฎหมายทมิฬ สร้างอาณาจักรความหวาดกลัวขึ้นมากำราบหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ หวังให้จำยอมทนอยู่ภายใต้ระบอบปกครองเหมือนเช่นคนเจเนอเรชันก่อนๆ

ลอบยิงจนโคม่า ตาบอดก็แล้ว ยังสวมสูทสะพายกล้องออกมาร่วมม็อบเดินขบวนประท้วงขับไล่นายกรัฐมนตรีอย่างไม่กลัวเกรง ทำเอาหัวร่อไม่ได้ ร้องไห้ไม่ออกไปตามๆ กัน

ยุคสมัยเปลี่ยนไปมากมายแล้วจริงๆ กระทั่งงบประมาณสถาบันกษัตริย์ 3.57 หมื่นล้านบาทยังถูกหยิบยกขึ้นพิจารณาอย่างจริงจังในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย แม้ผลโหวตเสียงส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยกับการปรับลดตามคำขอแปรญัตติของพรรคก้าวไกลก็ตามที

น่าเสียดายที่ไม่ปรากฏการเสนอข่าวโดยสื่อกระแสหลัก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องซึ่งมีความสำคัญ เกี่ยวพันไปถึงประโยชน์ของประเทศชาติและพื้นฐานหลักการประชาธิปไตย

ผู้ใหญ่เห็นแก่ตัวปล่อยให้สังคมบิดเบี้ยว ทำร้ายอนาคตลูกหลาน ทำลายชีวิตคนหนุ่มสาว ม็อบถึงออกมาเต็มบ้านเต็มเมืองและไม่ง่ายที่จะจัดการกับคนรุ่นใหม่ซึ่งไม่จำยอมเหมือนคนเจเนอเรชันก่อนอีกต่อไปแล้ว

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save