fbpx

เธอต้องเห็นแก่ความเป็นเพื่อนก่อน แล้วจึงเห็นงานศิลปะ? ‘ART’ การสั่นคลอนของความสัมพันธ์ที่มีศิลปะเป็นเหตุ

คุณมีเพื่อนที่ชื่นชอบงานศิลปะ วันหนึ่งคุณไปบ้านเพื่อน แล้วพบว่ามิตรสหายซื้อผลงานของศิลปินดังมาด้วยราคาหลักล้าน ผลงานนั้นคือ ภาพสีขาวที่มีลายเส้นสีขาวสามเส้น คุณจ้องมันเขม็ง เหมือนกับว่าจะมีอะไรบางอย่างโผล่ออกมา แต่มันคือสีขาว สีขาวนั่นแหละ สีขาวแบบที่ไม่สามารถมองเห็นอะไรอื่นได้เลย 

ไม่อยากจะเชื่อว่าเพื่อนจะยอมลงเงินมหาศาลนั่นให้กับภาพวาดนี้ นี่หรือคือศิลปะที่มีมูลค่าเกือบเท่าการซื้อรถยนต์ คุณตั้งคำถามกับมันต่อหน้าเพื่อน เพราะนี่คือสิ่งที่โง่ที่สุดที่มนุษย์จะทำได้-คุณคิด แต่คุณจะเลือกอะไร ระหว่างบอกเพื่อนอย่างตรงไปตรงมา หรือเคารพสิ่งที่เพื่อนทำ

สำหรับ ‘ดำ’ (ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์) ตัวละครใน ART เลือกจะพูดตรงๆ ว่า “ภาพนี้มันห่วยแตก” ทำให้เขากับ ‘ป้อม’ (ปวิตร มหาสารินันทน์) ผู้เป็นเจ้าของภาพต้องผิดใจกัน ทั้งสองดึงให้ ‘นิกร’ (นิกร แซ่ตั้ง) มิตรสหายอีกคนมาเป็นตัวกลางในการสื่อสารเรื่องนี้ แต่นิกรก็มีเรื่องส่วนตัวที่ต้องการความช่วยเหลือ จึงก่อให้เกิดมหาวิปโยคทางความสัมพันธ์ครั้งใหญ่ในรอบ 15 ปีของสามเพื่อนรัก

ภาพโดย Jira Angsutamatuch

ART เป็นบทละครโดย ยาสมินา เรซา (Yasmina Reza) นักเขียนบทละครชาวฝรั่งเศส เธอเขียนเรื่องราวที่ว่าด้วยศิลปะและความสัมพันธ์ตั้งแต่ปี 1994 ด้วยลักษณะเสียดสี ตลกขบขัน ต่อมาได้รับการแปลบทละครเป็นภาษาอังกฤษโดย คริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน (Christopher Hampton) ในปี 1996 ซึ่งคว้ารางวัล Tony Award (รางวัลใหญ่ของสาขาละครเวทีและบรอดเวย์ เทียบเท่ากับ Grammy และ Oscar) และจากนั้นละครที่ว่าด้วยสามเพื่อนรักกับงานศิลปะก็ถูกดึงให้ไปแสดงเป็นภาษาอื่นๆ และได้รับความนิยมจากทั่วโลก

ผ่านมา 20 กว่าปี ART ในเวอร์ชั่นภาษาไทยแปลบทโดย ปวิตร มหาสารินันทน์ ถูกนำไปแสดงในหลายวาระโอกาส ตั้งแต่ละครในมหาวิทยาลัยไปจนถึงการแสดงของกลุ่มต่างๆ ในครั้งนี้ปวิตรและเพื่อนนักแสดงเจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ปี 2562 อย่างดำเกิง และนิกร เจ้าของรางวัลศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ปี 2553 มาแสดงร่วมกันอีกครั้งที่ Jim Thompson Art Center หลังจากคว้ารางวัลละครเวทีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565

ART อาจจะดูเหมือนการเสียดสีการเมืองแห่งสุนทรียะในโลกศิลปะ ซึ่งไม่เคยหนีไปไหนพ้นจากคำถามที่ว่า สิ่งใดที่กำหนดคุณค่าให้กับศิลปะ ทำไมงานศิลปะชิ้นหนึ่งถึงไม่มีคุณค่ามากพอกับราคาในสายตาคนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงอันหาที่สิ้นสุดไม่ได้และหาคำตอบตายตัวไม่เจอ แต่เมื่อเรซาจับเรื่องนี้มาเป็นตัวเดินเรื่องใน ART ก็ทำให้เป็นจุดเด่นของเนื้อเรื่อง เพราะเธอต้องการตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ภายใต้ข้อถกเถียงความชอบและตัวตนปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะคำถามที่ว่าความเป็นเพื่อนจะดำเนินต่อไปได้ไหม หากเรามี ‘รสนิยม’ ที่ต่างกัน หรือเรามีความเห็นต่อสิ่งสิ่งหนึ่ง (ที่ไม่มีคำตอบตายตัว) ต่างกัน เพราะสำหรับเรซาแล้ว “มิตรภาพนั้นบอบบางพอๆ กับความรัก [ของคู่รัก]”[1]

บทละครใน ART จึงเปิดเปลือยความยึดหลักตัวตนของมนุษย์ ดึงศักยภาพของนักแสดงให้ถ่ายทอดตัวละครชายวัยกลางคนออกมาอย่างเต็มขั้น ตั้งแต่การเป็นเพื่อนที่อยากเป็นจุดศูนย์กลางของความสัมพันธ์ พยายามครอบงำความคิดทุกคน ในขณะที่ตัวละครบางตัวต้องกลายเป็นเพียง ‘สัตว์เซลล์เดียว’ ที่ไม่มีหลักแหล่งแน่แท้ในชีวิต เป็นเพียงมนุษย์ที่ไม่สามารถหาจุดยืนทางตัวตนในสังคมได้ การต่อบทสนทนาในละครเรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่การวิจารณ์งานศิลปะ แต่ลุกลามไปถึงการถ่มถุยให้กับตัวตน ขุดคุ้ยอดีตที่ฝังลึกเพื่อเปิดเผยความรู้สึกที่ไม่อาจพูดอย่างตรงไปตรงมาในยามที่เราอยากรักษาความสัมพันธ์ให้ยั่งยืน 

ภาพโดย Jira Angsutamatuch

ช่วงหนึ่งของการแสดง ป้อมถามดำว่า “มึงจำคำพูดอาจารย์ศิลป์ได้ไหม คำพูดที่มึงชอบ” ดำตอบกลับว่า “มึงพูดขึ้นมาทำไม กูไม่อยากฟัง” ท้ายที่สุดป้อมไม่ได้เฉลยว่าคำพูดอาจารย์ศิลป์นั้นคืออะไร แต่ทำให้นึกถึง 2-3 ประโยคที่น่าจะเชื่อมกับประเด็นความสัมพันธ์ในเรื่องนี้ได้

หนึ่ง “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” ที่ไม่ได้หมายถึงความยืนยาวที่เป็นตัวเลขเท่านั้น แต่อาจเชื่อมโยงกับเรื่องนี้ได้ว่าการเถียงเรื่องคุณค่าศิลปะที่ไม่มีวันหาคำตอบได้จบสิ้น การเถียงกันเอาเป็นเอาตาย ก็อาจทำให้ชีวิต (ความสัมพันธ์) จบสิ้นก่อน

สอง “เธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน แล้วจึงเรียนศิลปะ” อย่างที่นักเรียนศิลปะพยายามจะเข้าใจในความเป็นมนุษย์ผ่านงานศิลปะ และเข้าใจศิลปะในความเป็นมนุษย์ เรื่องราวใน ART คงกำลังบอกเช่นกันว่าสงครามของการถกเถียงศิลปะที่ถากถางกันไปจนถึงนิสัย ตัวตน ก็ทำให้ลืมนึกถึงความเป็นมนุษย์ของกันและกัน แต่ในฐานะผู้ชม การที่มนุษย์โต้เถียงเพื่อปกป้องตัวตนตัวเอง หรือเพื่อโน้มน้าวให้คนรอบข้างหันมาพยักหน้าเห็นด้วยกับชุดความคิดที่นำเสนอ นั่นก็เป็นรูปแบบของมนุษย์ที่เราเห็นได้ในสังคมนี้เช่นเดียวกัน

สาม “นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร” น่าจะเป็นประโยคที่เข้ากับบทของป้อมที่กำลังโต้เถียงกับดำลั่นบ้าน ป้อมในฐานะผู้ที่ชื่นชอบศิลปะ ‘สมัยใหม่’ มองว่าดำผู้รักศิลปะ ‘คลาสสิก’ ควรได้รับการตราหน้าว่าเป็น ‘ศัตรูของศิลปะร่วมสมัย’ เพราะถึงแม้ดำจะพยายามประนีประนอมรักษาความสัมพันธ์ให้ป้อมอย่างไร แต่เมื่อเพื่อนยื่นหนังสือระดับ ‘มาสเตอร์พีซ’ ให้อ่าน ดำก็เย้ยหยัน เสียดสีให้กับรสนิยมของเพื่อนอยู่ดี ป้อมจึงอาจจะอยากหยิบประโยคนี้ของอาจารย์ศิลป์ยื่นให้เพื่อนก็เป็นได้ 

ภาพโดย Jira Angsutamatuch

สุดท้ายแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า เมื่อเรซาเขียนบทให้ตัวละครถกเถียงกันเรื่องศิลปะด้วยบริบทของคนฝรั่งเศส แล้วถ้าเราเทียบบริบทไทยในตอนนี้ โดยให้ตัวละครเพื่อนรักสามคนเอาประเด็นอื่นๆ ที่สังคมไทยกำลังถกเถียงอยู่มาพูดจะเป็นอย่างไร ตั้งแต่ ส.ว. เลือกนายกฯ, คุณค่าการต่อรองทางการเมืองที่ต่างกัน (เช่น พรรคที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งควรให้พรรคอื่นๆ ได้ตำแหน่งประธานสภา แม้ว่าตามหลักแล้วพรรคอันดับหนึ่งต้องได้คะแนน), ไปจนถึงการที่เด็กอายุ 16 ต้องการเลือกใส่หรือไม่ใส่ชุดนักเรียนในช่วงเวลาที่สังคมไทยยังคงบังคับชุดตามระเบียบ ดำ ป้อม และนิกรจะคุยอะไรกัน จะถกเถียงกันด้วยจุดยืนอะไร เหตุการณ์อะไรที่จะทำให้บทสนทนาไม่จบไม่สิ้น หรือสุดท้ายอะไรจะจบสิ้นก่อนกันระหว่างข้อสรุปทางการเมืองหรือความสัมพันธ์

ที่น่าสนใจ บทสนทนาเหล่านั้นจะต้องเห็นอะไรก่อนกัน เห็นแก่ความเป็นเพื่อนหรือบ้านเมืองดี? 


การแสดงละคร ART โดยปวิตร มหาสารินันทน์ ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ และนิกร แซ่ตั้ง จัดขึ้นที่ชั้น 2 ห้องอีเว้นท์ The Jim Thompson Art Center วันที่ 6-9 กรกฏาคม 2566

References
1 Yasmina Reza and the Anatomy of a Play. The New York Times (1998

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save