fbpx
หลากคำถามประชาสังคม (2) : บทสะท้อนประสบการณ์ของประเทศไทย

หลากคำถามประชาสังคม (2) : บทสะท้อนประสบการณ์ของประเทศไทย

ธร ปีติดล เรื่อง

 

จากบทความตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตถึงความซับซ้อนและปัญหาของแนวคิดประชาสังคม ว่าแนวคิดประชาสังคมที่แพร่หลายในปัจจุบันเน้นคุณค่าของการรวมกลุ่มกันในหมู่ประชาชนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่กลับประสบปัญหาในการทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ทุกวันนี้หลายประการ

ไล่ตั้งแต่การเน้นย้ำความเป็นอิสระจากรัฐ ที่ทำให้แนวคิดล้มเหลวในการเข้าใจปฏิสัมพันธ์ที่มากขึ้นระหว่างประชาสังคมกับรัฐ การเน้นคุณค่าของประชาสังคมในฐานะกลไกเสริมสร้างประชาธิปไตย ที่ทำให้แนวคิดไม่อาจเข้าใจได้เพียงพอถึงจุดยืนที่ไม่เข้ากับประชาธิปไตยของประชาสังคมในหลายกรณี และการเน้นบทบาทองค์กรพัฒนาเอกชนในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคม ก็ทำให้ละเลยความซับซ้อนในที่ทางขององค์กรพัฒนาเอกชน โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับประชาชนกลุ่มที่พวกเขาแสดงตนเป็นปากเสียงให้ [1]

ในบทความตอนที่สองนี้ ผู้เขียนจะสำรวจประสบการณ์จากประชาสังคมไทย โดยจะเน้นถึงจุดสำคัญต่างๆ ในเส้นทางที่ผ่านมา อันประกอบไปด้วยจุดเริ่ม ความแปรผัน และการเผชิญทางแยก ผู้เขียนจะลองตั้งข้อสังเกตถึงแง่มุมที่ส่งผลต่อลักษณะสำคัญของประชาสังคมไทยที่เกิดขึ้นในจุดสำคัญเหล่านี้ โดยเฉพาะแง่มุมที่เชื่อมโยงกับจุดยืนที่เป็นปัญหาของประชาสังคมไทยในช่วงทศวรรษแห่งวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา และท้ายที่สุด ผู้เขียนจะลองสะท้อนประสบการณ์ของประชาสังคมไทยออกมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงแนวคิดประชาสังคมต่อไป

 

เส้นทางของประชาสังคมไทย : จุดเริ่ม ความแปรผัน และทางแยก

 

การกล่าวถึงจุดเริ่มของประชาสังคมในไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายดายเสียทีเดียว หากเราตีความประชาสังคมในความหมายกว้าง การรวมตัวกันของประชาชนในสังคมไทยที่เกิดขึ้นมาในอดีตหลายรูปแบบ เช่น การรวมตัวกันในสังคมชาวนา การรวมตัวกันเป็นสมาคมลับของชาวจีนอพยพ ก็สามารถถูกนำมาอธิบายได้ภายใต้กรอบการวิเคราะห์ของแนวคิดประชาสังคม แต่บทวิเคราะห์ประชาสังคมไทยมักไม่ได้พูดถึงการรวมตัวกันเหล่านั้นเท่าไหร่ อาจด้วยเพราะอิทธิพลจากแนวคิดประชาสังคมปัจจุบันที่เน้นความสนใจกับประชาสังคมในบริบทการพัฒนา ทำให้เมื่อกล่าวถึงประชาสังคมไทย ความสนใจจึงมักจะมุ่งไปที่ประชาสังคมในสองรูปแบบหลัก หนึ่งคือองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ และองค์กรชุมชน และสองคือขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชน โดยเฉพาะในมิติการต่อสู้กับรัฐ[2]

สำหรับบทความชิ้นนี้ จะให้ความสนใจกับประชาสังคมไทยในรูปแบบแรก ซึ่งผู้เขียนจะขอเรียกว่า ประชาสังคมในกระแสการพัฒนา

จุดเริ่มในบทบาทของประชาสังคมในกระแสนี้มักถูกวิเคราะห์ว่าเกิดในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อจำนวนและบทบาทของเอ็นจีโอในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะได้รับอานิสงส์จากบริบทการเมืองที่ผ่อนคลายลงภายหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และการเข้ามาสนับสนุนให้ทุนโดยองค์กรด้านการพัฒนาในระดับสากล การขยับขยายบทบาทของเอ็นจีโอในช่วงนี้ยังช่วยพัฒนาแนวคิดที่สำคัญยิ่งต่อการทำงานของเอ็นจีโอไทย ก็คือแนวคิด ‘วัฒนธรรมชุมชน’[3]

ในจุดเริ่มนี้ ยังมีแง่มุมหนึ่งที่อาจไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร แต่มีนัยยะสำคัญต่อลักษณะของประชาสังคมไทยในกระแสการพัฒนา แง่มุมดังกล่าวก็คือความเชื่อมโยงกับบริบทสงครามเย็น โดยสามารถย้อนไปยึดโยงกับสภาพหลายประการภายใต้บริบทสงครามเย็นช่วงก่อนทศวรรษ 1980 ตัวอย่างเช่น บทบาทของรัฐไทยภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐให้ใช้พื้นที่ของ ‘ชุมชนหมู่บ้าน’ ในปฏิบัติการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ จนเป็นที่มาของโครงการพัฒนาชุมชนยุคแรกสุดที่สนับสนุนโดยรัฐบาล และสืบทอดต่อมาเป็นพื้นที่การทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน

แม้กระทั่งโครงการพัฒนาชนบทที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สนับสนุน จนถูกกล่าวขานว่าเป็นรากฐานของงานพัฒนาโดยประชาสังคมไทย ผู้เขียนก็ยังพบแง่มุมที่น่าสนใจในความเชื่อมโยงกับบริบทสงครามเย็น โดยเมื่อผู้เขียนได้ค้นคว้าถึงประวัติของ ดร.เจมส์ วายซี เยน ผู้นำองค์กรบูรณะชนบทสากล (International Institute of Rural Reconstruction) บุคคลที่อาจารย์ป๋วยรับเอาแนวทางมาสานต่อ ก็พบว่าทั้งดร.เยน และองค์กรของเขาต่างก็ได้รับการสนับสนุนหลักจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งในเวลาดังกล่าวก็ย่อมมีเป้าหมายที่โยงใยกับบทบาทการเมืองของตนเองในภูมิภาคนี้

การที่ผู้เขียนมีข้อสังเกตเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะต้องการจะลดทอนคุณค่าของสิ่งที่อาจารย์ป๋วยได้สร้างไว้ เพียงแต่จะชวนให้นึกถึงนัยยะของแง่มุมที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงนี้ ผู้เขียนมองว่ารากที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสงครามเย็น น่าจะส่งผลไม่มากก็น้อยต่อวิธีคิดทางการเมืองในเวลาต่อมาของประขาสังคมในกระแสการพัฒนา โดยเฉพาะวิธีคิดที่ไม่เน้นขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนโครงสร้าง และไม่ได้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงผ่านกลไกประชาธิปไตย เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะทางเลือกเหล่านี้ล้วนเป็นไปไม่ได้ภายใต้บริบทสงครามเย็น และวิธีคิดจากแรกเริ่มก็อาจถูกสืบต่อมาแม้บริบทเดิมจะผ่านไปแล้ว

จากจุดเริ่มต้น ประชาสังคมไทยก้าวเข้าสู่จุดแปรผันสำคัญ เมื่อผู้นำองค์กรประชาสังคมได้โอกาสเข้ามามีบทบาทในกระบวนการ ‘ปฏิรูปการเมือง’ ช่วงปลายทศวรรษ 1990 การปฏิรูปในช่วงเวลานั้นนำโดยปัญญาชนชนชั้นนำหลายท่านที่กลายมาเป็นผู้สนับสนุนสำคัญของเครือข่ายเอ็นจีโอและองค์กรชุมชนต่างๆ ในเวลาต่อมา แนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในทางการเมืองและการพัฒนา ยังได้กลายมาเป็นแรงผลักดันให้เกิดสถาบันกึ่งรัฐต่างๆ ที่กระจายทรัพยากรจากรัฐมาสู่องค์กรประชาสังคม

การปฏิรูปการเมืองในปลายทศวรรษ 1990 ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับประชาสังคม ในช่วงเดียวกับที่การสนับสนุนจากต่างประเทศกำลังลดลง รัฐไทยก็ปรับตัวเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนประชาสังคม พร้อมกับถ่ายทอดแนวคิดและอุดมการณ์บางประการไปสู่องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชุมชน เช่น แนวคิดประชาสังคมในรูปแบบที่เน้นความร่วมมือระหว่างรัฐและสังคม หรือแนวคิดการพัฒนาที่เน้นเนื้อหาทางศีลธรรม กระบวนการถ่ายทอดอุดมการณ์นี้เกิดอย่างเข้มข้นเมื่อแนวคิดที่ทรงพลังอย่างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้น[4]

ในมุมมองของผู้เขียน การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาสังคมในช่วงดังกล่าวยังส่งผลสำคัญอีกประการ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าสายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างปัญญาชนชนชั้นนำกับประชาสังคมในกระแสการพัฒนา รวมถึงการได้รับโอกาสจากกระบวนการปฏิรูปที่นำโดยปัญญาชนชนชั้นนำนั้น ได้หล่อหลอมโมเดลการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่องค์กรประชาสังคมไทยจำนวนมากยังถวิลหา โดยเฉพาะเมื่อวิกฤตการเมืองผ่านมาอีกครั้ง

การเผชิญกับวิกฤตการเมืองคือจุดสำคัญสุดท้ายในเส้นทางของประชาสังคมไทยที่ผู้เขียนจะกล่าวถึง โดยวิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ได้สร้างทางเลือกทางการเมืองที่ยากลำบากไม่น้อยกับประชาสังคมไทย ผู้เขียนอาจกล่าว (อย่างลดทอน) ถึงทางแยกที่พวกเขาต้องประสบได้ว่า ในทางหนึ่งพวกเขาอาจเลือกจุดยืนสนับสนุนกลไกการเลือกตั้ง ยืนยันในการเลือกของเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่น้อยก็มาจากชาวชนบทและชนชั้นล่าง แต่ในอีกทางหนึ่งพวกเขาอาจเลือกจุดยืนที่ใกล้เคียงกับชนชั้นนำและชนชั้นกลาง เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่แม้จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ถูกโจมตีอย่างหนักว่าขาดธรรมาภิบาล ศีลธรรม ความรักในชาติและสถาบัน

ท้ายที่สุดแล้ว ทางเลือกที่หลายฝักฝ่ายของประชาสังคมไทยเลือกคืออะไร เราก็พอทราบกันอยู่ การเลือกทางเดินนี้ได้กระตุ้นให้เกิดข้อวิพากษ์มากมาย ข้อสังเกตหลายประการถูกหยิบมาอธิบายถึงเหตุที่ทำให้ประชาสังคมไทยไม่เลือกจุดยืนที่สนับสนุนกลไกประชาธิปไตย ไล่ตั้งแต่ปมความขัดแย้งที่มาจากแนวคิดด้านการพัฒนาที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนวนโยบายของรัฐบาลทักษิณ การที่หลายฝ่ายในประชาสังคมไทยยังยึดโยงตนเองกับแนวคิดลักษณะชาตินิยมและอัตลักษณ์นิยม จนพาตัวเองกลับไปร่วมทางเดินกับขบวนการที่ใช้เนื้อหาเหล่านี้นำ หรือแม้กระทั่งคุณลักษณะภายในที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยของพวกเขาที่ไม่เอื้อต่อการปรับตัว[5]

นัยยะจากการเผชิญการแยกทางการเมืองของประชาสังคมไทยจะเป็นอย่างไรนั้น ตอนนี้เราอาจยังตอบคำถามนี้ไม่ได้ชัดเจน ที่พอตั้งข้อสังเกตได้บ้างก็คือการต้องเผชิญการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้น รวมถึงประสบการณ์ในการต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารอย่างยาวนาน ก็น่าจะเป็นสภาพที่สร้างแรงกระเทือนต่อพวกเขา และอาจกลายเป็นแรงผลักดันให้รู้สึกถึงความจำเป็นในการปรับทิศทางของตนเองต่อไป

 

บทสะท้อนและคำถาม

 

การสำรวจเส้นทางของประชาสังคมไทยข้างต้นสะท้อนถึงอะไร สำหรับผู้เขียนแล้วทั้งประสบการณ์จากจุดเริ่ม ความแปรผัน และทางแยกที่ประชาสังคมไทยได้ผ่านมา ช่วยเน้นย้ำให้เห็นถึงปัญหาของแนวคิดประชาสังคมในการเข้าใจสภาพในความเป็นจริง

เหตุที่หลายแง่มุมที่มีนัยยะสำคัญต่อเส้นทางของประชาสังคมไทยกลับไม่ได้รับความสนใจอย่างเพียงพอ อาจเพราะตัวแนวคิดเองก็ไม่เอื้อให้ใส่ใจกับแง่มุมเหล่านั้น การกำเนิดของแนวคิดประชาสังคมเวอร์ชันปัจจุบันภายใต้บริบทการล่มสลายของระบอบสังคมนิยม รวมถึงการที่แนวคิดมุ่งไปที่การมองประชาสังคมในฐานะพลังที่สามที่เป็นอิสระจากรัฐและตลาด เป็นลักษณะที่ทำให้เมื่อนำเอาแนวคิดประชาสังคมมาเป็นกรอบการวิเคราะห์เส้นทางประชาสังคมไทยแล้ว แง่มุมเช่นบริบทสงครามเย็นและการสร้างสัมพันธ์กับรัฐกลับไม่ได้อยู่ในจุดสนใจเท่าไรนัก

การที่แนวคิดไม่เอื้อให้เข้าใจสภาพความเป็นจริงยังส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ความเข้าใจที่คาดเคลื่อน และความคาดหวังที่ไม่เป็นจริง ดังเช่นกรณีของประชาสังคมไทยในบริบทวิกฤตการเมือง ความเข้าใจผิดในคุณลักษณะบางประการ รวมถึงความคาดหวังในบทบาทที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ล้วนแต่มีส่วนสร้างเส้นทางที่นำประชาสังคมไทยไปสู่จุดยืนทางการเมืองที่เป็นปัญหา

หากเรามีกรอบการวิเคราะห์ที่ดีกว่านี้ เอื้อให้เรามองภาพของประชาสังคมได้ครบถ้วนกว่านี้แต่แรก เราอาจคาดเดาได้ดีกว่าถึงความเป็นไปได้ที่ประชาสังคมไทยจะก้าวเข้าสู่จุดยืนนั้น

หลังจากกล่าวถึงปัญหามามากแล้ว เราอาจถามได้ต่อไปว่าแล้วทางออกคืออะไร ผู้เขียนขอใช้พื้นที่ส่วนสุดท้ายนี้ในการลองเสนอแนวทางปรับปรุงแนวคิดประชาสังคม โดยจะลองหยิบเอาประสบการณ์จากประชาสังคมไทยมาเป็นฐานในการเสนอ ผ่านการตั้งคำถามสามคำถามที่จะช่วยให้แนวคิดประชาสังคมสะท้อนความเป็นจริงได้ดีขึ้น

คำถามแรกคือ เราจะขยายกรอบการวิเคราะห์ของแนวคิดให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประชาสังคมกับรัฐอย่างไร?

ประสบการณ์ของประชาสังคมไทยแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาสังคมนั้นมีได้หลากหลายรูปแบบ ไล่ตั้งแต่แบบต้านรัฐไปจนถึงแบบที่ตอบสนองเป้าหมายของรัฐ ความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบนี้ยังซับซ้อนมากขึ้นอีก หากคำนึงว่าการเชื่อมต่อกันนั้นเกิดขึ้นได้จากตัวละครหลายแบบ ทั้งในฝั่งรัฐและฝั่งประชาสังคม ตัวอย่างเช่น ประชาสังคมไทยที่เชื่อมกับรัฐนั้นก็อาจอยู่ในฝั่งฝ่ายหนึ่ง และเชื่อมอยู่กับชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งเป็นสำคัญ ลักษณะของตัวละครที่ปฏิสัมพันธ์กันนี้อาจส่งผลให้ความสัมพันธ์ในแต่ละแบบยังแตกต่างกันได้อีก ความซับซ้อนที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาสังคมเหล่านี้รวมถึงนัยยะของมัน เป็นแง่มุมที่กรอบการวิเคราะห์ประชาสังคมต้องคอยคำนึงถึง

คำถามที่สอง เราจะสร้างความเข้าใจกับประชาสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยให้ดีขึ้นได้อย่างไร?

กระแสการหันเหออกจากจุดยืนประชาธิปไตยของประชาสังคมนั้น อันที่จริงไม่ได้เกิดขึ้นแต่เพียงกรณีของประเทศไทย แต่ยังปรากฏมากขึ้นทั่วโลกภายใต้กระแสการเติบโตของการเมืองอัตลักษณ์ องค์กรประชาสังคมต่างก็มีแนวคิดและจุดยืนทางการเมืองที่หลากหลายมากขึ้น หากจะเข้าใจบทบาทของประชาสังคมในโลกปัจจุบันได้เพียงพอ แนวคิดประชาสังคมจำเป็นจะต้องให้ความสนใจอย่างจริงจังกับประชาสังคมที่หลากหลาย โดยเฉพาะประชาสังคมในปีก ‘ขวา’ ว่าพวกเขามีที่มาที่ไปอย่างไร ทำงานอย่างไร และกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไร

คำถามที่สาม เราจะขยายขอบเขตของแนวคิดให้คำนึงถึงความซับซ้อนในความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรประชาสังคมและประชาชนได้อย่างไร?

ประเด็นสำคัญหนึ่งซึ่งถูกแสดงให้เห็นจากประสบการณ์ของประชาสังคมไทยภายใต้วิกฤตการเมือง ก็คือเราไม่อาจนับเอาได้ง่ายๆ ว่าองค์กรประชาสังคมอย่างเอ็นจีโอหรือองค์กรชุมชนนั้น จะมีจุดยืนที่ไปในทิศทางเดียวกันกับเสียงของประชาชนในกลุ่มคนชนบทหรือคนชั้นล่าง ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายซับซ้อนกว่านั้น แต่เราก็ไม่อาจลดทอนความสำคัญขององค์กรประชาสังคมในฐานะพลังทางสังคมที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน แนวคิดประชาสังคมจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงรายละเอียดความซับซ้อนนี้ และมองความเชื่อมโยงกับประชาชนไปตามความเป็นจริงที่อิงกับลักษณะเป้าหมายและการทำงานขององค์กรประชาสังคมต่างๆ

ผู้เขียนขอกล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่สนใจศึกษาแนวคิดประชาสังคมและประชาสังคมไทยมานานกว่าทศวรรษ ผู้เขียนยังมีความหวังกับบทบาทของภาคประชาสังคมไทย โดยเฉพาะในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่พร้อมๆ กับความหวังนี้ ก็อยากชวนให้ภาคประชาสังคมได้ย้อนมาทบทวนเส้นทางที่ผ่านมา ลองวิเคราะห์ตนเองผ่านมุมมองที่ครบถ้วนมากขึ้น ผู้เขียนหวังว่าข้อคิดเห็นต่างๆ ที่นำเสนอไว้จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทบทวนที่ทำให้ประชาสังคมไทยก้าวต่อไปในเส้นทางที่ดีกว่าเดิมได้

 


 

เชิงอรรถ

[1] เนื้อหาส่วนใหญ่ของบทความนี้ ผู้เขียนกลั่นกรองมาจากผลงานของตนเอง Thorn Pitidol. (2019). ‘Reconsidering the Concept of Civil Society: Insights from the Experiences of Thailand’. ใน Kamruzzaman, P. (Ed) ‘Civil Society in Global South’. Routledge UK.

[2] จามะรี เชียงทอง (2543) วิวัฒนาการของประชาสังคมในประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

[3] หากสนใจแนะนำ ยุกติ มุกดาวิจิตร (2534) “อ่าน “วัฒนธรรมชุมชน” วาทศิลป์และการเมืองของชาติพันธุ์นิพนธ์แนววัฒนธรรมชุมชน” กรุงเทพ:สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

[4] ปรากฏการณ์ในช่วงนี้ได้รับการอธิบายไว้อย่างน่าสนใจใน Connors, M. K. (2007). Democracy and national identity in Thailand (updated edition). Copenhagen: NIAS.

[5] คำอธิบายเพิ่มเติมดูได้จาก Thorn Pitidol. (2016). Redefining Democratic Discourse in Thailand’s Civil Society, Journal of Contemporary Asia. Vol. 46, Issue. 3, pp. 520–537. และ Kengkij, K. and K. Hewison. 2009. Social movements and political opposition in contemporary Thailand. The Pacific Review. Vol. 22, No. 4, pp. 451–477.

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save