fbpx
หลากคำถามเรื่องประชาสังคม (1) : ปัญหาของแนวคิด

หลากคำถามเรื่องประชาสังคม (1) : ปัญหาของแนวคิด

ธร ปีติดล เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพ

 

ผู้เขียนได้ยินคำว่า ‘ประชาสังคม’ เป็นครั้งแรกเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว จากการเรียนวิชาพัฒนาชนบทที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ผู้สอนกล่าวพรรณนาถึงปัญหาหลากประการที่มาพร้อมกับระบบตลาด และอธิบายต่อไปถึงความล้มเหลวเช่นกันของรัฐในการพัฒนา แต่ก่อนที่นักเรียนจะรู้สึกอับจนในหนทางมากเกินไป เขาก็ชี้มาถึงอีกพื้นที่หนึ่งที่จะสามารถเป็น ‘พลังที่สาม’ ในการแก้ปัญหาทั้งหลายได้ เขากล่าวถึงพื้นที่นั้นว่าคือพื้นที่ของ ‘ประชาสังคม’ (civil society)

จากนั้นอีกหลายปี ผู้เขียนยังโดนดึงดูดจากแนวคิด ‘พลังที่สาม’ ที่ได้รู้จักนี้ แนวคิดว่าการรวมตัวของคนธรรมดาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างพลังจากชุมชนหรือจากองค์กรพัฒนาของประชาชนเอง จะเป็นทางออกให้การพัฒนาได้ เป็นแนวคิดที่ดูน่าพิศมัยยิ่งสำหรับนักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ยังสงสัยในคำตอบของวิชาตนเองอย่างผู้เขียน

และเมื่อผู้เขียนได้ไปศึกษาร่ำเรียนต่อด้านการพัฒนา ก็ได้ใช้โอกาสศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดประชาสังคม จนนอกจากจะต้องปวดหัวอยู่หลายปีกับความซับซ้อนของแนวคิดนี้แล้ว การได้ผ่านประสบการณ์และเห็นความผันแปรของประชาสังคมไทย ยังกลายเป็นเหตุที่ทำให้ผู้เขียนหันมาตั้งคำถามกับความคิดอ่านที่เคยมีหลายประการเกี่ยวกับประชาสังคม

ในบทความขนาดยาวสองตอนชิ้นนี้ ผู้เขียนจะเริ่มตอนแรกจากการสรุปรวมข้อสังเกตถึงความซับซ้อนและปัญหาของแนวคิดประชาสังคม ก่อนที่ในตอนที่สองจะสำรวจประสบการณ์จากประชาสังคมไทย เพื่อนำมาตั้งเป็นคำถามสำคัญต่างๆ ที่เราควรถามในการวิเคราะห์ประชาสังคม[1]

 

แนวคิดประชาสังคม

 

ประชาสังคมหมายถึงอะไร? คำถามที่ดูเหมือนจะตอบได้ง่ายนี้ หากย้อนกลับมาถามอย่างจริงจังแล้วกลับตอบได้ยากมาก เพราะความหมายของประชาสังคมนั้นลื่นไหลและยังแตกออกเป็นหลายแบบหลายแขนง

นีร่า แชนโฮค (Neera Chandhoke) เป็นนักวิชาการที่ผู้เขียนชื่นชอบในผลงานหลายชิ้นเกี่ยวกับแนวคิดประชาสังคม นักรัฐศาสตร์ชาวอินเดียผู้นี้ช่วยอธิบายว่า ที่จริงแล้วความหมายของประชาสังคมนั้นแปรเปลี่ยนไปได้ตามบริบทที่แวดล้อม สภาพทางสังคมและสภาพปัญหาในแต่ละยุคสมัยล้วนส่งผลต่อการให้ความหมายกับแนวคิดนี้

ความหมายของประชาสังคมที่แพร่หลายในปัจจุบันเองก็ได้รับอิทธิพลจากบริบทเช่นกัน แนวคิดประชาสังคมที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ มักถูกใช้ในความหมายของพื้นที่การรวมตัวกันที่อยู่ระหว่างรัฐและครอบครัว พื้นที่ดังกล่าวมักจะประกอบไปด้วยองค์กรหรือสมาคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจจากสมาชิก และอยู่อย่างเป็นอิสระจากรัฐ[2] นอกจากนี้ ประชาสังคมยังมักถูกให้คุณค่าในฐานะกลไกที่ช่วยส่งเสริมระบบประชาธิปไตย

จะสังเกตได้ว่า ความหมายนี้เน้นลักษณะสำคัญสองประการของประชาสังคม ประการแรกคือการเป็นอิสระจากรัฐ ซึ่งในหลายครั้งก็จะถูกเติมแง่มุมให้รวมถึงความเป็นอิสระจากตลาดไปด้วย และประการที่สองก็คือคุณค่ากับประชาธิปไตย

แชนโฮคอธิบายว่า ลักษณะสำคัญของแนวคิดประชาสังคมเวอร์ชันปัจจุบันทั้งสองประการนี้ สะท้อนบริบทในยุคสมัยของเรา[3] เพราะจุดเริ่มต้นของการกลับมาได้รับความนิยมของแนวคิดประชาสังคมนั้น มาจากการเคลื่อนไหวของประชาชนที่นำไปสู่การล่มสลายของรัฐเผด็จการ โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันออกช่วงคริสตทศวรรษ 1980 ด้วยมีจุดเริ่มต้นเช่นนี้ แนวคิดประชาสังคมในเวอร์ชันปัจจุบันจึงเน้นที่คุณค่าของการรวมตัวของประชาชน เพื่อต่อสู้กับการกดขี่ต่างๆ โดยเฉพาะที่เกิดจากรัฐ

จากจุดเริ่มดังกล่าว แนวคิดประชาสังคมในทุกวันนี้ยังก้าวผ่านการได้รับอิทธิพลจากสภาพสังคม อีกอย่างน้อยสามประการ

ประการแรก คือประสบการณ์ความล้มเหลวของการพัฒนาที่นำโดยรัฐในประเทศกำลังพัฒนา โครงการพัฒนาโดยรัฐมากมายกลับกลายเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายของเหล่าคนชายขอบที่มักจะถูกละเลย และกลายเป็นผู้ที่ต้องแบกรับต้นทุนจากการพัฒนา ประการที่สองคืออิทธิพลจากแนวคิดเสรีนิยมใหม่ การโจมตีบทบาทของรัฐและมุ่งปลดปล่อยให้ระบบตลาดได้ทำงานเต็มที่ ทำให้ไม่เหลือทางเลือกในการพัฒนานอกจากการยอมรับแนวทางตลาดเสรี แต่กระนั้นก็ยังเป็นที่รับรู้กันว่า ระบบตลาดก็ทำงานล้มเหลวได้เช่นกัน

เอาแค่สภาพสองประการแรก ก็ส่งอิทธิพลต่อความหมายของประชาสังคมเวอร์ชันปัจจุบันมาก ประสบการณ์ความล้มเหลวของการพัฒนาโดยรัฐทำให้แนวคิดประชาสังคมเน้นปฏิเสธความเชื่อมโยงกับรัฐ ด้วยเพราะประชาสังคมมักจะถูกชูมาเป็นพื้นที่แห่งความหวังให้กับคนเล็กคนน้อยที่ชีวิตต้องถูกกระทบด้วยความอหังการของรัฐ

แนวคิดเสรีนิยมใหม่ยิ่งเน้นย้ำการปฏิเสธบทบาทรัฐ แต่ก็ต้องการกลไกมาช่วยอุดรูโหว่ของระบบตลาด ประชาสังคมจึงกลายเป็นพลัง ‘ที่สาม’ ที่จะเข้ามาช่วยอุดช่องโหว่นี้ได้ ซึ่งหากไตร่ตรองดูดีๆ แล้ว จะพบว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่แนวคิดลักษณะพลังที่สามนี้ มักจะ ‘ไปกันได้’ กับแนวคิดตลาดเสรี

นอกจากนี้องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ (รวมถึงที่สนับสนุนแนวทางเสรีนิยมใหม่) ยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนองค์กรประชาสังคม การสนับสนุนนี้เป็นที่มาของการที่ ‘เอ็นจีโอ’ กลายเป็นตัวแสดงหลักของประชาสังคมในประเทศกำลังพัฒนา

สภาพประการสุดท้ายที่ส่งผลต่อแนวคิดประชาสังคมเวอร์ชันปัจจุบัน ก็คืออิทธิพลจากแนวคิด ‘ทุนทางสังคม’ แนวคิดทุนทางสังคมที่นำเสนอโดยนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน โรเบิร์ด พัตนัม (Robert Putnam) ได้รับความนิยมอย่างมาก แนวคิดนี้ใช้ประสบการณ์ของสหรัฐฯ เชื่อมโยงความถดถอยของประชาธิปไตยกับการเสื่อมลงของการรวมตัวเป็นสมาคมชมรมต่างๆ โดยสมัครใจ (voluntary associations)[4]

งานของพัตนัมเปรียบเสมือนการฟื้นคืนการตีความประชาสังคมในแนวทางของ อเล็กซิส เดอ ต๊อกเกอร์วิลล์ (Alexis de Tocqueville) ที่ให้คุณค่ากับการรวมกลุ่มกันโดยสมัครใจของประชาชน ในฐานะฐานความเข้มแข็งของประชาธิปไตย และด้วยความนิยมต่อแนวคิดทุนทางสังคมนี้เอง ประชาสังคมก็เหมือนจะถูกตั้งสมมุติฐานให้มีคุณค่ากับประชาธิปไตยไปโดยอัตโนมัติ

 

ปัญหาของแนวคิดประชาสังคม

 

ก่อนจะไปสู่การอธิบายถึงปัญหาของแนวคิดประชาสังคมเวอร์ชันปัจจุบัน อาจเป็นการดีที่จะได้ลองมองย้อนไปดูความหมายของประชาสังคมในยุคสมัยอื่นบ้าง เพื่อให้เห็นความแตกต่าง

ตัวอย่างเช่น ความหมายของประชาสังคมที่อดัม สมิธ เคยเสนอไว้เมื่อเกือบสามร้อยปีที่แล้วนั้น ไม่ได้แยกประชาสังคมกับระบบตลาดออกจากกัน แต่ให้ประชาสังคมเป็นรูปแบบของสังคมที่พัฒนาอย่างก้าวหน้าจากการได้อยู่กับระบบตลาด เพราะสมิธมองว่าการใช้ชีวิตกับระบบตลาดจะช่วยทำให้สังคมมนุษย์นั้นมีเหตุและผลมากขึ้น

ถัดจากยุคของสมิธมาร้อยกว่าปี นักคิดสำคัญอย่างอันโตนิโอ กรัมชี ก็ได้ให้ความหมายกับประชาสังคมในทิศทางที่แตกต่างไปจากปัจจุบันมากเช่นกัน กรัมชีไม่ได้มองประชาสังคมและรัฐแยกจากกัน แต่กลับมองประชาสังคมเป็นพื้นที่ที่รัฐจะสามารถเข้ามาใช้เพื่อสร้างอำนาจนำสังคม และเปิดทางให้นายทุนควบคุมชนชั้นแรงงานได้

ความหลากหลายในความหมายของประชาสังคมภายใต้ยุคสมัยที่แตกต่างนี้สะท้อนอะไร? มันช่วยสะท้อนถึงลักษณะพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของแนวคิดประชาสังคม ก็คือการที่แนวคิดนี้มักจะผสมรวมเอาวิสัยทัศน์ ‘สังคมที่พึงประสงค์’ ของนักคิดต่างๆ เข้าไปด้วย เราอาจสังเกตได้ว่าประชาสังคมของสมิธนั้น ก็รวมเอามุมมองที่เขาหวังจะได้เห็นระบบตลาดเข้ามาแทนที่ลัทธิพาณิชย์นิยม (mercantilism) และประชาสังคมของกรัมชีก็ผุดเกิดมาจากการที่เขาต้องต่อสู้กับชนชั้นนายทุนและรัฐเผด็จการ

เช่นนี้แล้ว แนวคิดประชาสังคมเวอร์ชันปัจจุบัน ก็ได้ผสมเอาวิสัยทัศน์ถึงสังคมที่ดีที่แวดล้อมการก่อกำเนิดของมันไว้ ดังที่กล่าวไว้แล้ว ทั้งการเป็นอิสระจากอำนาจกดขี่ของรัฐ และการเป็นกลไกขับเคลื่อนประชาธิปไตย ก็ล้วนแต่เชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์สำคัญของยุคสมัยปัจจุบัน

แต่ความเชื่อมโยงนี้ก็กลายมาเป็นบ่อเกิดปัญหาได้ ด้วยเพราะมันส่งผลให้แนวคิดประชาสังคมไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงได้อย่างครบถ้วน

นีร่า แชนโฮค ตั้งข้อสังเกตถึงแนวคิดประชาสังคมในเวอร์ชันปัจจุบันว่า มันกำลังล้มเหลวในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์สำคัญ 3 ประการที่เกิดขึ้นกับประชาสังคมในความเป็นจริง

ประการแรก คือความเชื่อมโยงระหว่างประชาสังคมกับรัฐ การที่แนวคิดประชาสังคมมุ่งเน้นความเป็นอิสระจากรัฐ ทำให้ความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นได้จริงหลายรูปแบบระหว่างประชาสังคมกับรัฐถูกละเลยไป ตามแนวคิดนั้นประชาสังคมควรเป็นอิสระจากรัฐเพื่อให้เคลื่อนไหวต่อรองอำนาจรัฐได้ แต่ในความเป็นจริง การเคลื่อนไหวของประชาสังคมก็ไม่อาจเป็นอิสระจากรัฐได้เสียทีเดียว แต่ยังต้องปฏิสัมพันธ์กับกรอบกฏเกณฑ์ต่างๆ ที่รัฐสร้างขึ้นเป็นอย่างน้อย

มากไปกว่านั้น สภาพที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ก็คือการหันมาเป็นผู้สนับสนุนองค์กรประชาสังคมเสียเองของภาครัฐ การสนับสนุนนี้เกิดขึ้นได้ทั้งกับเอ็นจีโอและองค์กรประชาสังคมอื่นๆ และอาจส่งผลให้ประชาสังคมกลับกลายเป็นพื้นที่ใต้อิทธิพลของอำนาจรัฐ (ทำให้เราควรกลับไปอ่านแนวคิดประชาสังคมของกรัมชี) นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ที่แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ แต่องค์กรประชาสังคมก็อาจไปรับเอาอุดมการณ์ที่รัฐมุ่งสนับสนุนเข้ามาเป็นของตนเองได้โดยสมัครใจ

ประการที่สอง คือการเคลื่อนไหวในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตยของประชาสังคม สมมุติฐานว่าประชาสังคมมีคุณค่ากับประชาธิปไตยต้องเผชิญคำถามจากสภาวะเช่นนี้ เพราะละเลยว่าแท้ที่จริงแล้วองค์กรประชาสังคม ก็มีเป้าหมายได้หลากหลายโดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นเป้าหมายที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ยิ่งในภาวะที่การเมืองบนฐานอัตลักษณ์ (identity politics) กำลังเฟื่องฟูในโลกเช่นทุกวันนี้ องค์กรประชาสังคมจำนวนมากยิ่งหันเหไปสู่เป้าหมายอื่นที่ไม่ใด้ยึดโยงกับประชาธิปไตยมากขึ้น

สภาพประการสุดท้าย ที่แนวคิดประชาสังคมเวอร์ชันปัจจุบันล้มเหลวที่จะอธิบาย ก็คือที่ทางที่แท้จริงของเอ็นจีโอ การตั้งเอ็นจีโอให้เป็นตัวแสดงหลักของประชาสังคมในประเทศกำลังพัฒนา กลับทำให้ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างเอ็นจีโอกับประชาชนในพื้นที่ (ขอใช้คำแทนว่า ‘ชาวบ้าน’) มักจะถูกละเลยไป

แม้ว่าเอ็นจีโอมากมายจะทำงานกับชาวบ้าน และแสดงจุดยืนของตนในฐานะผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของชาวบ้าน แต่ในความเป็นจริง เอ็นจีโอกับชาวบ้านก็มักจะไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกัน โดยเอ็นจีโออาจมีเป้าหมายของตัวเองที่ต้องพยายามทำให้สำเร็จ และก็ต้องแสวงหาความอยู่รอดของตนเอง ซึ่งการตอบสนองเป้าหมายเหล่านี้ก็อาจพาพวกเขาไปสู่จุดที่แตกต่างไปจากชาวบ้านได้ ฉะนั้น การให้เอ็นจีโอเป็นตัวแทนประชาสังคม ก็อาจนำไปสู่ภาพที่ไม่ครบถ้วน หรือแม้กระทั่งภาพที่บิดเบือนในการเข้าใจภาคประชาสังคมโดยรวมได้

ความล้มเหลวของแนวคิดประชาสังคมในการสะท้อนสภาพความจริงเหล่านี้ ไม่เพียงทำให้คุณค่าของแนวคิดนั้นลดลงไป แต่ยังอาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด รวมถึงความคาดหวังที่ล้มเหลว

ในตอนต่อไปของบทความ ผู้เขียนจะลองหยิบเอาประสบการณ์ของประชาสังคมไทยมาสำรวจ และจะลองถามคำถามสำคัญเกี่ยวกับการวิเคราะห์ประชาสังคม เพื่อชี้ให้เห็นแนวทางที่จะช่วยปรับปรุงแนวคิดประชาสังคมให้สมบูรณ์กว่าที่เป็นอยู่ได้

 


 

อ้างอิง

[1] เนื้อหาส่วนใหญ่ของบทความนี้ ผู้เขียนกลั่นกรองมาจากผลงานของตนเอง Thorn Pitidol. (2019). ‘Reconsidering the Concept of Civil Society: Insights from the Experiences of Thailand’. ใน Kamruzzaman, P. (Ed) ‘Civil Society in Global South’. Routledge UK.

[2] White, G. 2004. Civil society, democratization and development: clearing the analytical ground. In: P. Burnell and P. Calvert (Eds), Civil society in democratization. London: Frank Cass, pp. 6–21

[3] Chandhoke, N. 2000. Conceit of Civil Society. Dehli: Oxford University Press

[4] Putnam, R. 2000. Bowling Alone: The Collapse and Revival of American Community. New York: Simon & Schuster

 

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save