fbpx
รัฐฆาตกร: กรณีศึกษาสงครามสกปรกในอาร์เจนตินาระหว่างปี ค.ศ. 1976-1983

รัฐฆาตกร: กรณีศึกษาสงครามสกปรกในอาร์เจนตินาระหว่างปี ค.ศ. 1976-1983

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ‘รัฐฆาตกร’ หรือ ‘State Killings’ อยู่สองประเด็นที่น่าเศร้าใจเกิดขึ้น ข่าวแรกคือเหตุการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา หลังจากการรัฐประหารเมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลเผด็จการทหารของ มิน อ่อง หล่าย ได้เข่นฆ่าประชาชนผู้เห็นต่างที่ออกมาประท้วงทวงคืนประชาธิปไตยไปเกือบ 800 ราย ขณะเดียวกัน ในบ้านเราก็มีนักวิชาการท่านหนึ่งโพสต์ข้อความใน Facebook เรียกร้องให้มีการทำรัฐประหาร กวาดล้างขบวนการฝ่ายซ้ายให้สิ้นซากไม่ให้เหลือเป็นขยะแผ่นดิน ถึงแม้จะต้องโหดแบบกรณีการสังหารหมู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ก็จำเป็นต้องทำ

ข่าวทั้งสองข่าวนี้สร้างความตกใจให้กับผมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวที่เกิดขึ้นในไทย ว่าในปัจจุบันยังมีการเรียกร้องให้รัฐออกมาปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนของตนเองอยู่อีกเหรอ ดังนั้น ในบทความคราวนี้ผมจะนำเสนอเหตุการณ์ที่รัฐบาลเผด็จการทหารอาร์เจนตินาในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1976-1983 หรือเมื่อ 45 ปีมาแล้ว ได้ทำสงครามกับประชาชนของตนเองที่มีความเห็นต่างทางการเมืองจนมีคนตายนับหมื่นคน ซึ่งได้รับการขนานนามในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของอาร์เจนตินาว่า ‘สงครามสกปรก’ หรือ ‘Dirty War’

ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1946-1955 อาร์เจนตินาปกครองด้วยรัฐบาลประชานิยมภายใต้การนำของ ฆวน เปรอง ซึ่งก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมเป็นอย่างมาก ระหว่างผู้ต่อต้านเขาซึ่งนำโดยกองทัพและชนชั้นสูง ขณะที่ผู้สนับสนุนเปรองได้เรียกร้องให้เขาเดินทางกลับมาจากการลี้ภัยไปอยู่ที่สเปนเพื่อมาต่อสู้ทางการเมืองอีกครั้ง โดยระหว่างปี ค.ศ. 1955-1973 อาร์เจนตินามีรัฐบาลเผด็จการทหารสลับไปมากับรัฐบาลพลเรือน

ในปีค.ศ. 1973 ขบวนการฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนเปรองรวมถึงขบวนการนักศึกษาได้ขยายอิทธิพลมากขึ้น ประกอบกับการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้สนับสนุนเปรอนที่เพิ่มมากขึ้น เป็นเหมือนการส่งสัญญาณไปยังกองทัพว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องให้ ฆวน เปรอง กลับมายังอาร์เจนตินาเพื่อประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้นในเดือนกันยายน ค.ศ. 1973 ฆวน เปรองได้เดินทางกลับเข้าประเทศและลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง และได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียงกว่าร้อยละ 62

อย่างไรก็ตาม เขาอยู่ในตำแหน่งได้ไม่ถึงปีก็เสียชีวิตลงด้วยปัญหาสุขภาพ ปล่อยให้ภรรยาม่ายของเขา อิสซาเบล เปรอง ซึ่งเป็นรองประธานาธิบดี ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศแทน ซึ่งตลอดช่วงเวลาสองปีที่ อิสซาเบล เปรอง ปกครองประเทศ ต้องเผชิญกับปัญหาการต่อสู้ระหว่างกองกำลังกบฏฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ กับกองกำลังกึ่งทหารที่ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของกลุ่ม The Argentine Anticommunist Alliance (AAA) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่ายเป็นจำนวนมาก ดูเหมือนว่าอาร์เจนตินาในขณะนั้นกำลังเข้าสู่ภาวะวุ่นวายทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ในวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1976 พลเอกฆอร์เก้ ราฟาเอล บิเดลา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ก่อการรัฐประหารล้มรัฐบาลของ อิสซาเบล เปรอง และได้เรียกการรัฐประหารครั้งนี้ว่า The Process of National Reorganization

เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารของบิเดลาขึ้นครองอำนาจ ก็ได้เริ่มทำการปราบปรามผู้เห็นต่างโดยเฉพาะขบวนการคอมมิวนิสต์และขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารต่างๆ อย่างรุนแรงและโหดเหี้ยม ขบวนการคอมมิวนิสต์ภายใต้ชื่อ The People’s Revolution Army (ERP) ประกาศยอมแพ้ในปี ค.ศ. 1977 และอีกสองปีต่อมา ขบวนการฝ่ายซ้ายอีกกลุ่มในนาม The Montoneros ก็ประกาศสลายตัว อย่างไรก็ตาม การปราบปรามผู้เห็นต่างกับรัฐบาลก็ยังดำเนินต่อไปอย่างไม่ลดละ รัฐบาลเผด็จการทหารมีเป้าหมายต้องการถอนรากถอนโคนแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ให้หมดไปจากอาร์เจนตินา ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่มีความเกี่ยวข้อง ศึกษา หรือให้ความสนใจกับแนวคิดดังกล่าว ก็จะถูกรัฐบาลปราบปรามไปด้วย

เพื่อเป็นการสะดวกในการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง รัฐบาลเผด็จการทหารสั่งยุบรัฐสภา ส่งทหารไปเป็นผู้ว่าการรัฐต่างๆ ประกาศเซนเซอร์ข้อมูลข่าวสาร เข้าแทรกแซงสหภาพแรงงาน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานอื่นๆ ที่มีทีท่าต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร โดยวิธีการที่รัฐบาลเผด็จการทหารของอาร์เจนตินานิยมใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการประณามจากนานาชาติถ้าใช้ความรุนแรงโดยตรง คือการลักพาตัวและอุ้มหายผู้ที่เห็นต่าง พวกเขาจะลักพาตัว ทรมาน และสังหาร ก่อนที่จะทำลายศพ เพื่อไม่ให้ปรากฏเป็นหลักฐาน การกระทำเช่นนี้ทำให้รัฐบาลเผด็จการทหารของอาร์เจนตินาปฏิเสธสังคมโลกได้เสมอว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเพราะไม่มีหลักฐานใดๆ ทิ้งไว้ให้พิสูจน์อัตลักษณ์ของเหยื่อ

นอกจากนี้ การอุ้มหายยังปิดปากประชาชนได้อีกด้วย เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะไปเรียกร้องเอาโทษอะไรกับใคร เพราะขาดหลักฐานพยานต่างๆ อีกทั้งประชาชนยังกลัวว่า ถ้าไปเรียกร้องกล่าวโทษอะไรกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจจะทำให้คนที่ถูกลักพาตัวเป็นอันตรายยิ่งขึ้นไปอีก ความหวาดกลัวดังกล่าวจึงเป็นการปิดปากญาติพี่น้องผู้เป็นเหยื่อของรัฐฆาตกรอาร์เจนตินา

การปราบปรามผู้เห็นต่างโดยรัฐบาลเผด็จการทหารอาร์เจนตินาขยายวงกว้างกว่าการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองในลาตินอเมริกาในช่วงเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นในชิลี บราซิล หรืออุรุกวัย ในชิลี ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการสังหารโดยรัฐจะเน้นไปที่ผู้นำและกลุ่มผู้ติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมนิยม ขณะผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่มีกิจกรรมทางเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลจะไม่ตกเป็นเหยื่อ ในทางกลับกัน สำหรับในอาร์เจนตินา เหยื่อที่ถูกรัฐบาลลักพาตัวมีเป็นจำนวนมาก เนื่องจาก รัฐบาลเผด็จการทหารให้คำนิยามผู้ที่ต้องถูกกำจัดว่าคือ ผู้ที่ต่อต้านความเป็นเอกภาพของชาติและการเป็นคริสเตียนที่ดี ในสายตาของผู้นำเผด็จการทหารอาร์เจนตินา กลุ่มคนเหล่านี้ต้องถูกปราบปรามเพราะเป็นพวกที่ขาด ‘ศีลธรรม’ ตามคำนิยามที่ถูกสร้างขึ้นโดยกองทัพ จึงจะต้องไม่มีความปรานีต่อกลุ่มคนเหล่านี้

ถ้าพูดให้ชัดขึ้น กองทัพเรียงลำดับการสังหารไว้เช่นนี้ ลำดับแรกคือผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลโดยตรง ต่อมาคือผู้ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ต่อต้าน ลำดับที่สามคือผู้ที่เห็นอกเห็นใจผู้ที่เป็นเหยื่อของรัฐ ต่อมาคือผู้ที่ขาด ‘ศีลธรรม’ ตามคำนิยามของรัฐ และลำดับสุดท้ายคือพวกที่เป็นขยะของสังคม เช่น กลุ่ม LGBTQ และผู้ที่ขายบริการทางเพศ เป็นต้น

การลักพาตัวหรือการอุ้มหายอาจจะเริ่มต้นจากที่บ้าน ที่ทำงาน หรือบนท้องถนน เหยื่อจะไม่ถูกนำไปสอบสวนที่สถานีตำรวจ เพราะถ้าไปที่สถานีตำรวจจะต้องมีการลงบันทึกประจำวัน ซึ่งจะกลายเป็นหลักฐานกลับมามัดตัวผู้กระทำการได้ เหยื่อจึงจะถูกนำไปคุมขังในคุกลับต่างๆ ที่มีอยู่ประมาณ 400 แห่งทั่วประเทศ เหยื่อจะถูกทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ อาจกินเวลาหนึ่งถึงสองสัปดาห์ หลังจากนั้นจะถูกนำตัวไปขังในคุกมืดที่เล็กและสกปรกอย่าง The Naval Mechanics’ School ในกรุงบัวโนสไอเรส ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาร์เจนตินา ที่นั่นถูกเรียกว่า The Argentine Auschwitz เนื่องจากมีผู้ที่ถูกคุมขังและทรมานที่นี้มากกว่า 5,000 คน และน้อยคนนักที่จะมีชีวิตรอดกลับมา

สำหรับเหยื่อที่เป็นผู้หญิงตั้งครรภ์ เมื่อใกล้ถึงเวลาคลอด เหยื่อจะถูกนำตัวออกมาจากคุกมืดเพื่อมาทำคลอด เมื่อคลอดแล้ว ผู้เป็นแม่จะถูกฆ่าทิ้ง ขณะที่ทารกพร้อมสูติบัตรที่ปลอมแปลงขึ้นมาใหม่จะถูกส่งต่อไปยังครอบครัวของทหารหรือผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหาร ขณะที่กลุ่มคนเชื้อสายยิวในอาร์เจนตินาก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกกำจัดโดยรัฐ เนื่องจากมีฐานะทางเศรษฐกิจเหนือกว่าคนเชื้อสายอาร์เจนตินาโดยตรง ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดการเหยียดเชื้อชาติยิวในกองทัพอาร์เจนตินาอีกด้วย จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้แม้จะมีจำนวนประชากรเชื้อสายยิวเพียงร้อยละ 2 ในอาร์เจนตินา แต่เหยื่อที่ถูกอุ้มหายมีถึงร้อยละ 10 ที่เป็นคนเชื้อสายยิว นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุไว้ว่า เหยื่อที่เป็นยิวจะได้รับการทรมานที่โหดเหี้ยมกว่าเหยื่อประเภทอื่นๆ อีกด้วย

เหยื่อในคุกลับจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามความเป็นภัยในสายตาของรัฐ หนึ่งคือผู้ที่อาจจะเป็นภัยต่อรัฐ สองคือผู้ที่เป็นภัยต่อรัฐ และสามคือผู้ที่เป็นภัยต่อรัฐอย่างยิ่ง มีบ้างที่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มหนึ่งอาจจะถูกส่งตัวต่อไปคุมขังยังคุกปกติ หรือถูกปล่อยตัว แต่กลุ่มคนเหล่านี้มีจำนวนน้อยมาก เพราะท้ายที่สุดแล้ว เหยื่อเกือบทั้งหมดจะถูกทรมานและถูกยิงทิ้ง ศพจะถูกผูกติดด้วยรางเหล็กรถไฟเพื่อถ่วงน้ำหนัก จากนั้นจึงนำร่างขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปทิ้งกลางทะเลที่ห่างไกล เพื่อไม่ให้ศพลอยเข้ามาที่ฝั่งได้

ฝั่งบทบาทของศาสนจักรส่วนใหญ่ในอาร์เจนตินาก็สนับสนุนการอุ้มหายของรัฐบาล มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่คอยให้ความช่วยเหลือเหยื่อทางการเมืองเหล่านี้ แต่กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลเผด็จการทหารคือกลุ่ม The Mothers of the Plaza de Mayo หรือกลุ่มแม่ๆ ของเหยื่อที่ถูกลักพาตัวที่รวมตัวกันกลางจัตุรัสใจกลางเมืองหลวงแล้วออกตามหาลูกๆ ของตนตามสถานีตำรวจ แคมป์ทหาร และสถานที่ต่างๆ ที่มีความเป็นไปได้ว่าลูกๆ ของพวกเธอจะถูกคุมขังอยู่ พวกเธอได้รวมตัวกันทุกวันพฤหัสบดีในตอนบ่ายที่จัตุรัสใจกลางเมืองหลวงตรงข้ามกับทำเนียบประธานาธิบดี ชูป้ายที่มีรูปภาพลูกๆ ของตัวเอง พร้อมกับป้ายคำถามว่า “พวกเขาอยู่ที่ไหน” บางครั้ง บรรดาแม่ๆ เหล่านี้ก็ถูกทำร้ายทุบตีโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ บางคนถูกฆาตกรรม แต่พวกเธอก็ยังเดินหน้าเรียกร้องตามหาคนที่รักต่อไปอย่างไม่ลดละ

ภาพที่ 1 แสดงให้เห็นการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มแม่ ๆ ของผู้ที่ถูกอุ้มหายกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

อีกหนึ่งองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ที่ถูกลักพาตัวได้แก่ The Center for Legal and Social Studies ที่พยายามต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อปกป้องผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ พวกเขาได้เก็บรวบรวมข้อมูลผู้สูญหาย ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาใช้มาเป็นหลักฐานในการลงโทษผู้สั่งการและผู้กระทำความผิด หลังจากที่รัฐบาลพลเรือนของอาร์เจนตินาในเวลาต่อมาได้จัดตั้งศาลพิเศษเพื่อหาและนำตัวผู้ที่ทำความผิดมาลงโทษ

รัฐบาลทหารของอาร์เจนตินามองว่า ตัวเองจะครองอำนาจไปได้ตลอดจนกว่าภารกิจในการปราบปรามผู้เห็นต่างจะสำเร็จเสร็จสิ้น และไม่มีทีท่าที่จะคืนอำนาจให้กับรัฐบาลพลเรือน อย่างไรก็ตาม หลังจากครองอำนาจมาได้เป็นเวลากว่า 4 ปี รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ และ The Inter-American Commission on Human Rights ได้เข้ามาแทรกแซงการกระทำที่ป่าเถื่อนของรัฐบาลเผด็จการทหารอาร์เจนตินาในปี ค.ศ. 1980 มีการจัดทำรายงานที่บ่งชี้ว่าการอุ้มหายเหล่านี้เป็นฝีมือของรัฐบาลเผด็จการทหาร ไม่ใช่ฝีมือของกลุ่มผู้ก่อการร้ายตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง

นอกจากนี้ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มสั่นคลอนในปี ค.ศ. 1981 ได้ปลุกกระแสให้ประชาชนออกมาต่อต้านรัฐบาลเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจที่ให้รัฐบาลทหารวางอำนาจ กองทัพอาร์เจนตินาได้เข้ายึดหมู่เกาะฟอร์กแลนด์ของอังกฤษ เกิดเป็นสงครามที่ยิ่งสร้างความเสียหายต่อรัฐบาลเผด็จการทหาร เพราะกองทัพอาร์เจนตินาพ่ายแพ้ต่อกองทัพอังกฤษอย่างหมดรูป จากปัจจัยต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น ท้ายที่สุดแล้ว กองทัพได้ยอมคืนอำนาจให้กับพลเรือน มีการจัดการเลือกตั้ง โดยผู้ที่ชนะได้แก่ ราอูล อัลฟองซิน ซึ่งมาจากพรรค Unión Cívica Radical Party โดยรัฐบาลใหม่ได้เข้าบริหารประเทศเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1983

รัฐบาลของอัลฟองซินไม่รอช้าที่จะตั้งคณะกรรมการแสวงหาความยุติธรรมและความสมานฉันท์ขึ้น เพื่อหาความจริงและนำตัวผู้กระทำผิดในสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารมาลงโทษ และกลายเป็นตัวอย่างให้กับรัฐบาลอื่นทั่วโลกนำไปใช้ในเวลาต่อมา โดยคณะกรรมการแสวงหาความยุติธรรมและความสมานฉันท์ระบุว่า มีผู้ถูกตกเป็นเหยื่อของรัฐ 8,960 ราย แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ตัวเลขนี้เป็นแค่ตัวเลขที่เป็นทางการและยังน้อยกว่าความเป็นจริงอยู่มาก เนื่องจากกองทัพไม่ให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมด ขณะเดียวกัน องค์การสิทธิมนุษยชนสากลได้ประมาณการตัวเลขผู้ที่ถูกอุ้มหายไว้ถึง 30,000 ราย

จากบทเรียนของอาร์เจนตินาข้างต้น ผมหวังว่าสังคมไทยน่าจะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันของผู้ที่เห็นต่างว่า เราสามารถที่จะพัฒนาและสร้างสรรค์ความเห็นต่างนั้นไปด้วยกัน ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งที่คนที่เห็นต่างจะต้องถูกกำจัดออกไปจากสังคม โดยเฉพาะจากฝีมือของรัฐ ดังนั้น ผมคาดหวังว่าท่ามกลางความแตกแยกทางความคิดในสังคมไทยขณะนี้ รัฐไทยจะไม่ทำตัวเป็น ‘รัฐฆาตกร’ เสียเอง ดังที่เกิดขึ้นในอาร์เจนตินาเมื่อ 45 ปีมาแล้ว

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save