fbpx
112 ปีของสนธิสัญญาแองโกล-สยาม: จากมุมของสี่รัฐมลายู กลันตัน ตรังกานู เคดะห์ และเปอร์ลิส

112 ปีของสนธิสัญญาแองโกล-สยาม: จากมุมของสี่รัฐมลายู กลันตัน ตรังกานู เคดะห์ และเปอร์ลิส

“ประเทศของฉัน ประชาชนของฉัน ถูกขายไปเหมือนกับการขายลูกวัว ฉันให้อภัยคนซื้อซึ่งไม่มีพันธะกับฉันได้ แต่ฉันให้อภัยคนขายไม่ได้”        


สุลต่านไทรบุรี[1]


ข้อความที่ยกมาเป็นข้อความที่คนไทยจำนวนหนึ่งคุ้นชินกันดี เพราะถูกหยิบยกมาอ้างถึงอยู่บ่อยครั้ง โดยข้อความที่ว่าบ่งบอกความรู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจของสุลต่านไทรบุรี (หรือเคดะห์) ที่มีต่อรัฐสยาม หลังจากสยามยกสิทธิการปกครองและบังคับบัญชาเหนือสี่รัฐมลายู อันได้แก่ กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และเปอร์ลิส ให้แก่อังกฤษตามข้อตกลงในสนธิสัญญาแองโกล-สยามที่ลงนามกันในวันที่ 10 มีนาคม 1909 ซึ่งในเดือนมีนาคมปีนี้ (2021) จะครบรอบ 112 ปีของสนธิสัญญาดังกล่าว

นอกเหนือจากความเจ็บช้ำน้ำใจนี้แล้ว บทความนี้ต้องการนำเสนอว่าผลของสนธิสัญญาระหว่างอังกฤษกับสยามต่อสี่รัฐมลายูเป็นอย่างไร นอกจากที่สนธิสัญญาดังกล่าวส่งผลสำคัญให้เกิดการแบ่งเขตแดนระหว่างอังกฤษกับสยามในช่วงเวลานั้น ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นวาทกรรม ‘การเสียดินแดน’ สำหรับรัฐสยาม และ ‘การถูกผนวกดินแดนแบบไม่เป็นธรรม’ หรือ ‘การยึดเป็นอาณานิคม’ ซึ่งในความเห็นของชาวมลายูปาตานี ‘ประวัติศาสตร์บาดแผล’ นี้ยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน เป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้รับการชำระสะสางให้กระจ่างจนเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายได้

ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง (bunga mas dan bunga perak): ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมลายูกับสยามก่อนปี 1909

         
ต้นไม้เงินต้นไม้ทองมักจะเป็นประเด็นสำคัญในงานที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมลายูทางเหนือกับสยาม ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐตรังกานูกับสยามที่มีการบันทึกว่า ตรังกานูส่งต้นไม้ทองสูงประมาณ 3 ฟุต และต้นไม้เงินสูง 1 ฟุต ผ้า 2-4 ม้วน หวายตะโก 500 ต้น หวายหิน 1,000 ต้น และ เสื่อ 1,000 ผืน ให้แก่สยามทุกสามปี หากตรังกานูปฏิเสธที่จะส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองจะถูกถือว่าต่อต้านสยาม[2]

ในสายตาของสุลต่านตรังกานู การส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองให้สยามคือการดำเนินความสัมพันธ์ฉันมิตรกับรัฐที่ใหญ่กว่าเพื่อความปลอดภัยของตรังกานู ชาวมลายูไม่ได้ถือว่าต้นไม้เงินต้นไม้ทองเป็นเครื่องแสดงว่าสยามมีอำนาจเหนือตรังกานู สุลต่าน Zainal Abidin III (1881-1918) อธิบายแก่ข้าหลวงใหญ่ Sir Frederick Weld ผู้ดูแลตรังกานูระหว่างปี 1886-1887 ว่า ต้นไม้ทองที่ส่งไปสยามไม่ใช่เครื่องบรรณาการ แต่เป็นเครื่องหมายของมิตรภาพ ขณะที่สยามก็ส่งของขวัญให้ตรังกานูเช่นกัน และยืนยันว่าตรังกานูเป็นรัฐที่มีอิสระ ในสนธิสัญญาเบอร์นีระหว่างสยามกับอังกฤษปี 1826 ก็ระบุว่า สยามไม่สามารถขัดขวางหรือรบกวนการค้าภายในรัฐตรังกานูและกลันตันได้ ซึ่ง Henry Burney ได้กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่สยามจะเข้าไปมีอำนาจเหนือตรังกานูและกลันตัน โดยที่ไม่ขัดขวางหรือควบคุมทางการการค้า[3] ซึ่งหมายความว่าสยามไม่ได้มีอำนาจเหนือสองรัฐดังกล่าว

ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเคดะห์ (ไทรบุรี) กับสยามเป็นความสัมพันธ์แบบรัฐบรรณาการ นอกจากการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองแล้ว เครื่องแสดงถึงอำนาจเหนือรัฐเคดะห์ของสยามคือ เมื่อสยามเกิดศึกสงครามกับรัฐอื่นๆ ก็จะเรียกร้องให้รัฐเคดะห์ส่งเสบียงหรืออาวุธไปให้ นอกจากนี้ การเรียกชื่อเคดะห์ด้วยชื่อไทรบุรี และเรียกสุลต่านเคดะห์ว่าพระยาไทรบุรี ก็เป็นเครื่องยืนยันอำนาจของสยามเหนือเคดะห์เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการมาเลเซียชี้ว่าการเรียกเช่นนี้เป็นการเรียกโดยสยามอยู่ฝ่ายเดียว และเคดะห์ก็ถือว่าการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองให้สยามเป็นการผูกมิตรกับรัฐที่เข้มแข็งกว่า แต่มิได้หมายความว่าเคดะห์เป็นเมืองขึ้นหรือประเทศราชของสยาม หากถือเอาว่าการส่งต้นไม้ทองคือการตกอยู่ภายใต้อำนาจหรือเป็นเมืองขึ้น การที่สยามเคยส่งต้นไม้ทองไปจีนจะอธิบายว่าอย่างไร และเคดะห์เองก็ไม่ได้ส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองให้สยามแห่งเดียว แต่ส่งไปให้รัฐพม่าและอาเจะห์ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นกฎหมายต่างๆ ที่ใช้ในเคดะห์ก็ไม่ได้รับอิทธิพลจากฎหมายหรือจารีตของสยามเลย[4]

ดังนั้น มุมมองต่อเรื่องการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองของสี่รัฐมลายูกับสยามจึงมีความแตกต่างกัน ในขณะที่ฝ่ายสยามถือว่าการส่งต้นไม้คือการยอมสวามิภักดิ์ และถือว่ารัฐนั้นอยู่ภายใต้อำนาจและการปกครองของสยาม ส่วนรัฐมลายูมองว่าการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเป็นแค่การสานสัมพันธไมตรี ซึ่งรัฐมลายูไม่ได้กระทำต่อรัฐสยามเพียงแห่งเดียว หากมีการส่งไปยังรัฐอื่นๆ ด้วย การอ้างว่าการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองแสดงว่ารัฐมลายูอยู่ภายใต้อำนาจของสยามจึงไม่ถูกต้องนัก ซึ่งจะเกี่ยวกับพันกับท่าทีของสี่รัฐมลายูต่อสนธิสัญญาแองโกล-สยามปี 1909

         
สนธิสัญญาแองโกล-สยาม 1909

         
อังกฤษและสยามได้เจรจาและลงนามในสนธิสัญญาแองโกล-สยามเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 1909 ซึ่งคือสนธิสัญญากำหนดเขตแดนระหว่างสยามกับอังกฤษ และมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันที่กรุงลอนดอน วันที่ 9 กรกฎาคม 1909 ระหว่างราล์ฟ พาเจ็ต (Ralph Paget) ทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ เป็นผู้แทนอังกฤษ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กระพระยาเทวะวงศ์วโรปการ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสยาม เป็นผู้แทนสยาม ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญา มีการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายอยู่หลายครั้ง และได้ข้อสรุปที่มีสาระสำคัญดังนี้

  1. สยามโอนสิทธิการปกครองและบังคับบัญชาเหนือดินแดนรัฐมลายู ได้แก่ กลันตัน ตรังกานู เคดะห์ เปอร์ลิส และเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ โดยอังกฤษจะใช้หนี้สินทั้งหมดที่รัฐเหล่านี้มีต่อสยามแทน ส่วนดินแดนมลายูที่ยังคงอยู่กับสยาม ได้แก่ มณฑลปัตตานี สตูล (แยกมาจากเคดะห์) และตากใบ (แยกมาจากกลันตัน)
  2. ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและอนุญาตให้คนในบังคับอังกฤษสามารถมีกรรมสิทธิ์ที่ดินในสยามได้
  3. ยกเลิกอนุสัญญาลับระหว่างสยามกับอังกฤษปี 1897 ในอนุสัญญาฉบับนี้ สยามยอมให้ดินแดนบางส่วนของภาคใต้ของสยามเป็นเขตอิทธิพลของอังกฤษ แลกกับการที่อังกฤษค้ำประกันดินแดนส่วนนี้และจะร่วมกันต่อต้าน หากถูกรุกรานโดยมหาอำนาจอื่น
  4. อังกฤษให้เงินกู้แก่สยามจำนวน 4.64 ล้านปอนด์ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 เพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้

         
มุมมองสี่รัฐมลายูต่อสนธิสัญญาแองโกล-สยาม 1909

         
เมื่อรัฐมลายูทั้งสี่รับรู้ถึงข้อตกลงในสนธิสัญญาแองโกล-สยาม ต่างก็ไม่พอใจและโกรธเคืองรัฐบาลไทยเป็นอย่างมากที่อังกฤษและสยามตกลงกันโดยที่ไม่ได้มีการปรึกษาหารือหรือไม่มีการบอกกล่าวให้สุลต่านสี่รัฐมลายูได้รับรู้ จอห์น แอนเดอร์สัน (John Anderson) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำสิงคโปร์บันทึกว่า เมื่อสุลต่านตรังกานูทราบข่าวการทําสนธิสัญญาระหว่างสยามกับอังกฤษก็พยายามชี้แจงว่า ต้นไม้เงินต้นไม้ทองไม่ใช่สัญลักษณ์ของการยอมรับอํานาจของสยาม (Token of Suzerain) แต่เป็นเพียงสัญลักษณ์ของมิตรภาพเท่านั้น (Token of Friendship) ทั้งไม่เข้าใจเลยว่าทําไมสยามจึงสามารถโอนดินแดนไปให้อังกฤษได้ เพราะสยามไม่เคยเป็นเจ้าของตรังกานูมาก่อน[5] และสุลต่านกลันตันและตรังกานูได้ส่งผู้แทนมากรุงเทพฯ เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง

อาเธอร์ ซี แอดัมส์ (Arthur C. Adam) ที่ปรึกษาการคลังอังกฤษประจําเคดะห์บันทึกว่า สุลต่านเคดะห์โกรธเคืองสยามมากที่ประเทศและประชาชนถูกขายไป พระองค์ทรงปรารภกับอาเธอร์ ซี แอดัมส์ว่า ไทยมีสิทธิที่จะยกหนี้ไปให้ผู้อื่นได้ แต่ไม่มีสิทธิจะยกลูกหนี้ให้ใครได้ พระองค์ยังทำหนังสือถามรัฐบาลไทย แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงแน่พระทัยว่าจะทรงตอบหนังสือฉบับนั้นว่าอย่างไร[6]

สุลต่านกลันตันก็โกรธเคืองสยามอย่างมากเช่นกัน โดยเหตุที่สุลต่านกลันตันโกรธเคืองก็เพราะท่านเข้าใจว่า ที่รัฐบาลสยามโอนกลันตันไปให้อังกฤษเพราะต้องการให้อังกฤษใช้หนี้ของกลันตันที่มีต่อสยาม ตามสําเนาใบบอก ความว่า “แลในข้อสัญญานั้นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยอมแลกหรือยกเขตร์แขวงเมืองกลันตันให้กับเจ้าแผ่นดินอังกฤษ แลพระเจ้าแผ่นดินกรุงอังกฤษจะได้ใช้หนี้ของเมืองกลันตันซึ่งเกี่ยวข้องอยู่นั้น”[7]

หลังจากสนธิสัญญาแองโกล-สยามวันที่ 10 มีนาคม 1909 อังกฤษได้เจรจากับสี่รัฐมลายูและได้ลงนามในสัญญาการคุ้มกันกับทั้งสี่รัฐมลายู วันที่ 22 เมษายน 1909 มีการทำสัญญาระหว่างอังกฤษกับรัฐตรังกานู วันที่ 22 ตุลาคม 1910 ได้มีการลงนามในสัญญาระหว่างอังกฤษกับรัฐกลันตัน ส่วนรัฐเคดะห์มีการลงนามในสัญญาปี 1923 และเปอร์ลิสในปี 1930 สนธิสัญญาระหว่างอังกฤษกับสี่รัฐมลายูนี้ได้ส่งเสริมให้การครอบครองดินแดนรัฐมลายูของอังกฤษเข้มแข็งขึ้น ในขณะเดียวกัน สถานะและสิทธิต่างๆ ของสุลต่านและชนชั้นนำในสี่รัฐมลายูก็ได้รับการประกันด้วยเช่นกันว่าจะดำรงอยู่เช่นเดิม[8]

อย่างไรก็ตาม หลังจากอังกฤษได้สิทธิการปกครองเหนือรัฐมลายูทั้งสี่ ได้มีการนำข้าราชการของอังกฤษไปแทนที่ตำแหน่งงานต่างๆ ในระดับท้องถิ่น ทำให้คนท้องถิ่นรู้สึกถึงความไม่มั่นคงปลอดภัย สุลต่านสี่รัฐมลายูจึงได้ดำรินโยบายเพื่อยังคงตำแหน่งและสถานะของคนมลายูจากอังกฤษ ด้วยการยืนยันสิทธิและอัตลักษณ์มลายูในการปกครองรัฐของตนเอง สิ่งที่สุลต่านทั้งสี่รัฐทำคือทำการปกครองของรัฐของตนให้มีความเป็นราชอาณาจักรมากยิ่งขึ้น เพื่อที่ว่าอังกฤษจะไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงการบริหารงานแผ่นดินของรัฐต่างๆ ได้ เช่น รัฐตรังกานู ที่แม้ว่าหลังสนธิสัญญาแองโกล-สยาม 1909 จะอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ แต่ในทางการเมืองยังคงกล่าวได้ว่าเป็นอิสระ ข้าหลวงใหญ่อังกฤษที่ได้รับการแต่งตั้งหลังจากสัญญาอังกฤษ-ตรังกานู ปี 1910 ดำรงบทบาทเป็นที่ปรึกษาและมีสิทธิในการเป็นตัวแทนของชาวอังกฤษในรัฐตรังกานูและเป็นตัวกลางระหว่างอังกฤษกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในรัฐตรังกานู[9]

ประเด็นที่สำคัญอีกประการในเรื่องการบริหารจัดการงานราชการแผ่นดินคือบทบาทของศาสนาอิสลาม ซึ่งในสัญญาระหว่างอังกฤษกับสี่รัฐมลายูได้รับการยกเว้นเรื่องศาสนาและจารีตท้องถิ่น กล่าวคืออังกฤษจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับศาสนาของคนในพื้นที่ ศาสนาอิสลามจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสกัดกั้นอิทธิพลของอังกฤษ ศาสนาอิสลามเข้าไปมีบทบาทในองค์กรบริหารต่างๆ ในรัฐมลายู เช่น ในระบบกฎหมาย มีการใช้ศาลชารีอะห์หรือศาลศาสนาอิสลาม เป็นต้น และความสัมพันธ์ระหว่างสุลต่านกับผู้นำศาสนาอิสลาม (ulama) มีความแน่นแฟ้นมาก

แม้ว่าทั้งสี่รัฐมลายูจะแสดงออกถึงความไม่พอใจอย่างมาก เมื่อได้รับรู้ถึงสนธิสัญญาระหว่างสยามกับอังกฤษปี 1909 ที่ส่งผลให้ทั้งสี่รัฐต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ภายหลังจากนั้นอังกฤษได้ทำสัญญากับทั้งสี่รัฐ ภายใต้การปกครองของอังกฤษซึ่งก็คือการตกเป็นอาณานิคมย่อมไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี หลังจากปี 1909 มีการต่อต้านอังกฤษจากรัฐมลายูอยู่เนืองๆ แต่หากพิจารณานโยบายของอังกฤษต่อรัฐมลายูทั้งสี่แล้วจะพบว่า แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับนโยบายของรัฐไทยที่กระทำต่อประชาชนในรัฐมลายูหนึ่งเดียวคือ รัฐปาตานี ที่ตกมาอยู่ภายใต้การปกครองของไทย และหากสุลต่านทั้งสี่รัฐสามารถมองเห็นเหตุการณ์ในอนาคตล่วงหน้าได้เป็นร้อยปี ก็อาจจะรู้สึกยินดีแล้วที่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เพราะชะตากรรมของผู้นำและประชาชนในรัฐมลายูทั้งสี่กับรัฐปาตานีช่างต่างกันอย่างลิบลับ


[1] อ. บางนรา, ปัตตานี: อดีต-ปัจจุบัน, กรงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสงคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2551, หน้า 167.

[2] Kobkua Suwannathat-Pien, Thai-Malay Relations: Traditional Intra-Regional Relations from the Seventeenth to the Early Twentieth Century. Singapore: Oxford University Press, 1988, p. 120.

[3] Abdullah Zakaria Bin Ghazali, “Senario Hubungan Negeri-negeri Melayu Dan Siam Sehingga 1909,” เอกสารประกอบงานสัมมนาเรื่อง Majlis Wacana Warisan: 100 Tahun Perjanjian Bangkok 1909, 12-13 May 2009, pp. 9-10.

[4] Abdullah Zakaria Bin Ghazali, “Senario Hubungan Negeri-negeri Melayu Dan Siam Sehingga 1909,” pp. 10-11.

[5] ฐนพงศ์ ลือขจรชัย, เสียดินแดนมลายู: ประวัติศาสตร์ชาติฉบับ Plot Twist, กรุงเทพฯ: มติชน, 2562, หน้า 95.

[6] พระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระราชทานกรมหลวงเทววงศ์ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2452 อ้างใน อ. บางนรา, ปัตตานี: อดีต-ปัจจุบัน, หน้า 167.

[7] ฐนพงศ์ ลือขจรชัย, เสียดินแดนมลายู: ประวัติศาสตร์ชาติฉบับ Plot Twist, หน้า 95-96.

[8] Nik Haslinda Nik Hussain, “Kesan Perjanjian 10 Mac 1909 Dan Perpindahan Negeri-negeri Melayu,” เอกสารประกอบงานสัมมนาเรื่อง Majlis Wacana Warisan: 100 Tahun Perjanjian Bangkok 1909, 12-13 May 2009, pp. 8-10.

[9] Nik Haslinda Nik Hussain, “Kesan Perjanjian 10 Mac 1909 Dan Perpindahan Negeri-negeri Melayu,” pp. 11-12.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save