fbpx
แพข้าวป่าแห่งทะเลสาบนกพิราบ: เมื่ออาหารคือการต่อต้าน และ ทะเลสาบในอุดมคติ

แพข้าวป่าแห่งทะเลสาบนกพิราบ: เมื่ออาหารคือการต่อต้าน และ ทะเลสาบในอุดมคติ

ณัฎฐา ชื่นวัฒนา เรื่องและภาพ

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำมีหลายมิติและล้วนแต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอำนาจทางการเมืองที่ไม่เท่าเทียมของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม สำหรับกรณีของแคนาดา ชนพื้นเมืองมีอำนาจน้อยกว่ารัฐบาลกลางที่กลายร่างมาจากเจ้าอาณานิคม การที่ชนพื้นเมืองมีอำนาจทางการเมืองและการต่อรองน้อยกว่า ทำให้ไร้สิทธิเสียงในการวางแผนจัดการทรัพยากรในชุมชน เนื่องจากนโยบายการจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมตกอยู่ในมือของผู้มาใหม่ที่มีอุดมคติเกี่ยวกับวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิง

เมื่อชนพื้นเมืองถูกมองว่าเป็นส่วนเกินและเป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า รัฐบาลจึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้ชนพื้นเมืองมีความ ‘ศิวิไลซ์’ ตามอุดมคติของรัฐผ่านมาตรการต่างๆ ที่รวมถึงการทำให้ ‘เชื่อง’ ด้วยระบบการศึกษา โดยเกณฑ์เยาวชนพื้นเมืองเข้าโรงเรียนประจำ (Residential School) ที่ถูกตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1876  โรงเรียนเหล่านี้มีการสอนศาสนาคริสต์ ดูแลโดยบาทหลวงและแม่ชี และมีหน้าที่อบรม ควบคุม และเปลี่ยนแปลงเยาวชนพื้นเมืองให้มีความศิวิไลซ์และมีคุณลักษณะที่รัฐต้องการ

ชาวพื้นเมืองแคนาดาเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรม’ (cultural genocide) เยาวชนพื้นเมืองที่เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนประจำจำนวนมากถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทำร้ายร่างกาย ทารุณกรรมในรูปแบบต่างๆ แม้กระทั่งเสียชีวิตหรือสูญหาย โดยที่ไม่มีการดำเนินคดีกับทางโรงเรียนหรือมีมาตรการแก้ไขอย่างจริงจัง เพียงเพราะความเหลื่อมล้ำที่ทำให้ชนพื้นเมืองไม่มีสิทธิมีเสียงเท่ากับประชากรกลุ่มอื่นๆ ที่ศิวิไลซ์กว่าและมีสถานะเป็นประชากรเต็มขั้นในสายตาของรัฐ

ผลกระทบของเหตุการณ์นี้ทำให้ชนพื้นเมืองรุ่นต่อมาห่างไกลจากวัฒนธรรมชนเผ่าดั้งเดิม ส่งผลให้ภาษาและวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ ยากที่จะหาผู้สืบทอด วัฒนธรรมบางอย่างสูญหายไปอย่างสิ้นเชิง จนการส่งผ่านวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของชนเผ่าสู่คนรุ่นหลังเป็นไปได้อย่างกระท่อนกระแท่นเพราะถูกกีดกันด้วยนโยบายและการจัดการของรัฐอย่างเป็นระบบ แม้ในเวลาต่อมา รัฐบาลแคนาดาได้ตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดจากนโยบายของรัฐในอดีตที่มีต่อวัฒนธรรมและชีวิตของชนพื้นเมือง และแม้ว่านายกรัฐมนตรีแคนาดาจะออกแถลงการณ์ขอโทษชนพื้นเมืองอย่างเป็นทางการก็ตาม

โรงเรียนสอนศาสนาคริสต์แบบอยู่ประจำแห่งสุดท้ายปิดตัวลงในปี ค.ศ. 1996 แต่ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจระหว่างรัฐกับชนพื้นเมืองในแคนาดาก็คงอยู่เป็นรอยแผลในประวัติศาสตร์ชาติที่ยังแจ่มชัดถึงปัจจุบัน

สิทธิและอำนาจการต่อรองทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นของชนพื้นเมืองในแคนาดาเป็นผลจากการต่อสู้และเรียกร้องอย่างต่อเนื่องและยาวนานหลายสิบปี การต่อสู้อย่างต่อเนื่องและเครือข่ายที่เหนียวแน่นของชนพื้นเมือง ทำให้ชนพื้นเมืองทุกกลุ่มในแคนาดามีอำนาจการต่อรองที่เท่าเทียมกับรัฐบาลกลางผ่านสนธิสัญญาและข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกลางกับชนพื้นเมือง รัฐบาลของชนพื้นเมืองท้องถิ่นมีอำนาจในการต่อรองและศักดิ์ศรีเทียบเท่ากับรัฐ และรัฐบาลกลางได้ให้สิทธิในการดำรงชีวิตตามวัฒนธรรมและประเพณีกับชนพื้นเมืองแต่ละเผ่าโดยมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป

ในตอนนี้ชนพื้นเมืองแคนาดาได้ใช้ชัยภูมิทางวัฒนธรรมในการเรียกร้องและฟื้นฟูวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมหาของป่า-ล่าสัตว์ ที่เคยหายไปให้กลับคืนมา รวมทั้งสิทธิในการจัดการสภาพแวดล้อมและใช้ประโยชน์จากพืชและสัตว์ท้องถิ่นในธรรมชาติ โดยเฉพาะสิทธิในการจัดการและผลิตอาหารจากธรรมชาติของชุมชน เรียกได้ว่าชาวพื้นเมืองแคนาดาใช้ ‘อาหาร’ เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเมืองเพื่อการต่อต้านอำนาจและอุดมคติของรัฐบาลส่วนกลาง พืชพื้นเมืองอย่างข้าวป่าได้กลายเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูธรรมชาติ อำนาจในการจัดการสภาพแวดล้อม และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง

 

ข้าวป่าแห่งทะเลสาบนกพิราบ

 

แพข้าวป่าสีทองสะท้อนแสงแดดยามเช้าตัดกับภาพสะท้อนสีฟ้าบนผืนน้ำทะเลสาบนกพิราบ (Pigeon Lake) ในฤดูใบไม้ร่วง ต้นไม้บริเวณชายฝั่งของทะเลสาบบางส่วนเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเข้มเป็นสีเขียวเหลืองแล้ว ภาพที่ปรากฏเบื้องหน้าคล้ายกับภาพบนโปสการ์ดของการท่องเที่ยวท้องถิ่นที่ถูกปรับสีแสงและจัดองค์ประกอบจนลงตัว

ข้าวป่า (Wild rice) เป็นชื่อเรียกรวมๆ ของพืชตระกูลหญ้าที่เติบโตได้ดีในพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณทะเลสาบทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกาถึงแคนาดา ข้าวป่าเป็นพืชพื้นเมืองในแถบอเมริกาเหนือที่ชนพื้นเมืองรู้จักและใช้ประโยชน์มานานหลายพันปี โดยมีหลักฐานเมล็ดข้าวป่าที่พบจากแหล่งโบราณคดีที่เป็นแหล่งอยู่อาศัยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรม Woodland จำนวนหลายแหล่ง

ข้าวป่าในแถบนี้คือข้าวป่าสายพันธุ์ Zizania palustris ซึ่งเป็นพืชต่างสายพันธุ์จากข้าว (Oryza sativa) ที่คนไทยคุ้นเคย Zizania palustris มีอีกชื่อว่า ‘ข้าวป่ายักษ์’ สาเหตุมาจากการที่ลักษณะทางกายภาพของ Zizania spp. คล้ายคลึงกับพืชตระกูลข้าวในประเทศไทย รวมทั้งข้าวป่าในตระกูล Oryza spp. เป็นอย่างมาก ยกเว้นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของข้าวป่าในทวีปอเมริกาเหนือคือ ขนาดของลำต้น, ก้าน, ใบ, ดอก ฯลฯ ที่มีขนาดใหญ่กว่า Oryza spp. หลายเท่า

 

เมล็ดข้าวป่า (c,d) เมื่อเทียบกับข้าวญี่ปุ่น (a,b) (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

 

เนื่องจากข้าวป่าเป็นธัญพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูง จึงมีความพยายามหลายต่อหลายครั้งจากเกษตรกรเพื่อพยายามทำให้ข้าวป่า ‘เชื่อง’ พอที่จะย้ายธัญพืชชนิดนี้ไปอยู่ในระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรมในฐานะ ‘พืชปลูก’ เช่นเดียวกับข้าวสาลี ข้าวโพด และธัญพืชอื่นๆ ที่มนุษย์ได้นำมาเพาะเลี้ยงจนเชื่องในไร่นาที่มนุษย์เป็นผู้ควบคุมอย่างสมบูรณ์

แต่ข้าวป่าก็พยศมากเสียจนทำให้ความพยายามเหล่านั้นล้มเหลว ปัจจุบันข้าวป่ายังคงเป็นพืชป่าที่เติบโตในทะเลสาบธรรมชาติเอาไว้อยู่เช่นเดิม การเก็บเกี่ยวข้าวป่าก็ยังต้องใช้ตะแกรงช้อนช่อข้าว หรือใช้ไม้ตีก้านเมล็ดเพื่อให้เมล็ดข้าวที่สุกแล้วดีดตัวลงมาอยู่ในเรือแคนู เพราะเมล็ดข้าวป่าที่สุกแล้วจะดีดตัวออกมาจากก้านทันที ต่างจากข้าวปลูกและธัญพืชอื่นๆ ที่แม้จะสุกเต็มที่แล้วก็ยังติดอยู่บนก้านเพื่อรอการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร ทำให้เมล็ดข้าวป่ามีสัดส่วนการสูญเสียผลผลิตระหว่างการเก็บเกี่ยวที่สูงกว่าพืชปลูกชนิดอื่น ด้วยเหตุผลหลายอย่างที่ว่ามานี้ ทำให้ข้าวป่ายังคงความเป็นอาหารจากธรรมชาติและพืชศักสิทธิ์ของชาวอนิชชนาเบก (Anishinaabeg) เอาไว้ได้

 

การเก็บข้าวป่าโดยชาวพื้นเมือง ในภาพชาวพื้นเมืองได้ใช้ไม้ตีรวงข้าวเพื่อให้เมล็ดข้าวสุกหล่นลงไปในเรือแคนู ภาพพิมพ์หินโดย Seth Eastman ราวปี ค.ศ. 1850 (The US Library of Congress)

 

ชาวอนิชชนาเบก เป็นชนพื้นเมืองในแถบนี้ มีคำเรียกข้าวป่าในภาษาอนิชชนาเบโมวิน (Anishinaabemowin) ว่า “มนูมิน” (Manoomin) แปลว่า “เมล็ดที่ดี” ตามเรื่องเล่าของชาวอนิชชนาเบก ข้าวป่าเป็นพืชที่ผู้สร้าง (Creator) ประทานให้เป็นอาหารแก่ชาวอนิชชนาเบกโดยเฉพาะ ดังนั้นจึงพูดได้ว่าข้าวป่าเป็นทั้งพืชสำคัญและอาหารที่มีความหมายกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาววอนิชชนาเบกเป็นอย่างมาก

ลมหนาวพัดกรรโชกมาปลุกให้ฉันตื่นจากภวังค์ ทะเลสาบนกพิราบที่อยู่เบื้องหน้ามีแพข้าวป่าขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นและกว้างขวางไปทั่วบริเวณ สายลมหนาวพัดผ่านแพข้าวป่าเป็นระลอก จนก้านและใบข้าวป่าขยับไหวเหมือนกำมะหยี่บนผิวน้ำ รวงของข้าวป่าที่สุกเต็มที่เหยียดตรงอย่างภาคภูมิจากผืนน้ำขึ้นสู่ฟ้า ทั้งๆ ที่ไม่กี่ทศวรรษก่อนหน้านี้ ข้าวป่าได้เกือบสูญพันธุ์ไปจากทะเลสาบนี้ พร้อมๆ กับความรู้เรื่องเกี่ยวกับการดูแลและเก็บเกี่ยวข้าวป่าของชุมชนชาวอนิชชนาเบก

หลายทศวรรษก่อนหน้า ข้าวป่าบริเวณทะเลสาบนกพิราบและทะเลสาบใกล้เคียงได้ลดจำนวนลงจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม, การเดินเรือที่หนาแน่น, การขุดลอกทะเลสาบ, และระบบชลประทานของรัฐบาลที่ทำให้ระดับน้ำในทะเลสาบเพิ่มขึ้น จนทำให้ข้าวป่าไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ข้าวป่าในทะเลสาบใกล้ๆ เช่น ทะเลสาบข้าว (Rice lake) ที่เคยเต็มไปด้วยข้าวป่าจนเป็นที่มาของชื่อทะเลสาบก็ไม่เหลือต้นข้าวป่าให้เห็นได้ง่ายๆ อีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ชาวอนิชชนาเบกคนหนึ่งตัดสินใจที่จะยับยั้งการสูญพันธุ์ของข้าวป่าที่กำลังเกิดขึ้นเบื้องหน้า ด้วยการนำเมล็ดข้าวป่ากลับมาหว่านเพื่อขยายพันธุ์ที่ทะเลสาบนกพิราบและทะเลสาบใกล้เคียงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่าสามสิบปี

 

พืชอาหารอันศักดิ์สิทธิ์ หรือวัชพืชของผู้มาใหม่?

 

คุณ เจมส์ วีทัง (James Whetung) เป็นชาวอนิชชนาเบกที่อาศัยอยู่ในบริเวณเขตสงวนของชนพื้นเมืองที่ริมทะเลสาบโค้ง (Curve Lake) ทางตอนใต้ของจังหวัดออนตาริโอ ประเทศแคนาดา คุณเจมส์ตระหนักถึงปัญหาการลดจำนวนลงของข้าวป่าในธรรมชาติ รวมทั้งปัญหาสุขภาพของสมาชิกในเผ่าจำนวนมากที่เป็นโรคเบาหวาน คุณเจมส์จึงตัดสินใจแก้ปัญหานั้นโดยการฟื้นฟูประชากรข้าวป่าในทะเลสาบโค้งและทะเลสาบใกล้เคียงด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการสร้างแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารให้กับสมาชิกในเผ่า

ในตอนนั้นระบบการจัดการน้ำ Trent-Severn Waterway ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อควบคุมน้ำและการชลประทานของแม่น้ำและทะเลสาบ ได้ถูกสร้างเสร็จพอดี เครือข่ายประตูระบายน้ำซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของทะเลสาบได้ชะลอการไหลของน้ำในทะเลสาบใกล้เคียงลง ทะเลสาบต่างๆ มีการสะสมของตะกอนที่ปลายน้ำมากขึ้น ทำให้ทะเลสาบต่างๆ ตื้นลง โดยเฉพาะในบริเวณทางตอนใต้ของทะเลสาบนกพิราบ ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้เอื้อต่อการเจริญเติบโตของข้าวป่าเป็นอย่างมาก เมื่อคุณเจมส์ได้นำเมล็ดข้าวป่าไปโปรยไว้ทั่วไปตามทะเลสาบต่างๆ ข้าวป่าเหล่านั้นก็เจริญเติบโตได้ดี

หลังจากที่คุณเจมส์ได้ตระเวนหว่านเมล็ดข้าวป่าไปทั่วทะเลสาบต่างๆ ข้าวป่าในทะเลสาบก็เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถเก็บเกี่ยวเพื่อการบริโภคในชุมชนและขายข้าวป่าส่วนที่เหลือให้กับชุมชนใกล้เคียงได้ ข้าวป่าที่เพิ่มจำนวนขึ้นในทะเลสาบยังจับตัวกันเป็นแพข้าวป่า กลายเป็นแหล่งที่อยู่ของเป็ด นกน้ำ และเป็นแหล่งอนุบาลปลาชนิดต่างๆ ทำให้ระบบนิเวศในทะเลสาบที่เต็มไปด้วยแพข้าวป่าเกิดใหม่นี้มีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

 

แพข้าวป่าและพืชน้ำบริเวณชายฝั่งของทะเลสาบนกพิราบ (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

 

ทว่า ชาวอนิชชนาเบกก็ไม่ได้เป็นคนแค่กลุ่มเดียวที่อาศัยอยู่บริเวณริมทะเลสาบแห่งนี้ ยังมีผู้มาใหม่ คือ “ชาวกระท่อม” (Cottager) ซึ่งเป็นคำเรียกกลุ่มคนที่เข้ามาสร้างกระท่อมและบ้านพักตากอากาศ หรือผู้ที่ย้ายถิ่นมาอาศัยอยู่ริมทะเลสาบแห่งนี้ ชาวกระท่อมผู้มาใหม่มีความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของทะเลสาบในอุดมคติที่แตกต่างออกไปจากชาวอนิชชนาเบกแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

ชาวกระท่อมมองว่า ข้าวป่าเป็น ‘วัชพืช’ ที่สมควรถูกกำจัดไปจากทะเลสาบ เพราะทะเลสาบในอุดมคติของพวกเขานั้นควรจะมีแต่น้ำที่กว้างไกลบริสุทธิ์สุดลูกหูลูกตา แพข้าวป่าที่หนาแน่นนั้นยังเข้าไปติดในใบพัดของเรือ ทำให้เครื่องยนต์ของเรือไม่สามารถทำงานได้ ส่วนแพข้าวป่าบริเวณชายฝั่งนั้นก็รบกวนพื้นที่ว่ายน้ำและสันทนาการริมฝั่งของสมาชิกในครอบครัว ฯลฯ เรียกได้ว่าข้าวป่าในสายตาของผู้มาใหม่มีสถานะเป็น ‘วัชพืช’ ไม่ใช่ ‘อาหารศักดิ์สิทธิ์’

 

แพข้าวป่ากลางทะเลสาบ เป็นที่อยู่อาศัยของนกน้ำนานาชนิด (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

 

บนเส้นขนานของทะเลสาบ

 

ชาวกระท่อมคนหนึ่งเรียกคุณเจมส์ว่า “คนบ๊อง” (Crazy guy) เขาเล่าให้ฉันฟังว่า มีชนพื้นเมืองคนหนึ่งตระเวนหว่านเมล็ดข้าวป่าไปทั่วทะเลสาบและแม่น้ำในแถบนี้ ความคิดนี้ดูเหมือนจะเป็นเอกฉันท์ในมุมมองของชาวกระท่อมที่มีต่อคุณเจมส์และความพยายามในการแพร่พันธุ์ข้าวป่าในทะเลสาบของเขา

อุดมคติของธรรมชาติที่ถูกนิยามอย่างแตกต่างกันโดยคนสองกลุ่มกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชนพื้นเมืองกับชาวกระท่อม ที่ทำให้รัฐบาลกลาง สภาเผ่าของชนพื้นเมือง และรัฐบาลท้องถิ่นต้องเข้ามาเกี่ยวพันกันอย่างช่วยไม่ได้

ชาวกระท่อมผู้มาใหม่ได้รวมตัวกันก่อตั้งเว็บไซต์ Save the Pigeon Lake และเครือข่ายใกล้เคียงจากทะเลสาบสามแห่งที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มจำนวนข้าวป่า เพื่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์ถึงผลเสียและความเสียหายต่อสภาพความเป็นอยู่ ราคาที่ดิน และคุณภาพชีวิตของตน ชาวกระท่อมหลายคนได้ขุดลอกข้าวป่าออกจากที่ดินและชายฝั่งในกรรมสิทธิ์ของตน เกิดการโต้คารมกันอย่างเผ็ดร้อนระหว่างคนเหล่านี้กับคุณเจมส์และเครือข่ายชนพื้นเมืองหลายครั้ง แต่การแพร่พันธุ์ข้าวป่าของคุณเจมส์ก็ยังคงดำเนินต่อไป ทำให้ความขัดแย้งลุกลามไปในท้องถิ่น จนกระทั่งรัฐบาลท้องถิ่นและสภาเทศบาลต้องจัดการรับฟังความคิดเห็นจากทั้งสองฝ่ายขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2018 โดยการประชุมครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมเกือบร้อยคนจนเต็มความจุของห้องประชุม

การประชุมดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อน กลุ่มชนพื้นเมืองได้ยืนยันอย่างหนักแน่นถึงสิทธิในการจัดการอาหารและทรัพยากรทางธรรมชาติตามสนธิสัญญาระหว่างชนพื้นเมืองกับรัฐบาลกลาง แพข้าวป่าไม่กระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของคนพื้นเมืองที่ใช้เรือแคนูในการเดินทางสัญจรและหาของป่า, ล่าสัตว์, ตกปลาจากทะเลสาบ

ในขณะที่ชาวกระท่อมก็ยืนยันในสิทธิของการใช้พื้นที่และทะเลสาบสาธารณะที่ปราศจากวัชพืชรบกวนชีวิตและทรัพย์สินของตัวเอง แพข้าวป่าที่หนาแน่นเป็นการเปลี่ยนแปลงทะเลสาบให้เรือยนต์สัญจรไปมาได้ลำบาก เพราะสภาพผิวน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป การประชุมและการโต้เถียงเป็นไปอย่างไม่ลดราวาศอกทั้งสองฝ่าย แต่ในที่สุดก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาถึงแผนการจัดการข้าวป่าในฐานะพืชพื้นเมือง รวมทั้งการจัดการพื้นที่ทะเลสาบในฐานะพื้นที่สาธารณะ

ปัจจุบัน ความขัดแย้งดังกล่าวก็ยังคงดำเนินต่อไป แพข้าวป่าก็ยังหนาแน่นอยู่ในทางตอนใต้ของทะเลสาบนกพิราบ แม้ว่าจะมีการขุดลอกแพข้าวป่าบางส่วนในบริเวณพื้นที่ส่วนบุคคล รวมทั้งหาดสาธารณะและท่าเรือออกไปบ้างแล้วก็ตาม เรื่องราวของอุดมคติที่ขัดแย้งและสถานะของข้าวป่าในทะเลสาบนกพิราบได้กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก และกลายเป็นที่มาของสารคดี, หนังสือ, และละครเวที ที่มีชื่อเดียวกันคือ Cottagers and Indians โดย ดรูว์ เฮย์เดน เทย์เลอร์ (Drew Hayden Taylor) ผู้กำกับละครชาวพื้นเมืองชื่อดัง

ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้เรื่องราวของข้าวป่ากลายเป็นสัญลักษณ์ของการใช้อาหารในการต่อต้านความไม่เท่าเทียมและสิทธิของชนพื้นเมืองไปโดยปริยาย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ข้าวป่าถูกทำการตลาดและนำเสนอในฐานะของอาหารพิเศษ (Superfood) ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงแต่ให้แคลอรีต่ำกว่าธัญพืชขัดขาวหลายชนิดเท่านั้น

 

ธัญพืชจากธรรมชาติ

 

ข้าวป่าเมื่อหุงสุกแล้ว (ภาพโดย ณัฎฐา ชื่นวัฒนา)

 

กระบวนการหุงข้าวป่าก็ใกล้เคียงกับการหุงข้าวทั่วไป หุงโดยใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้าเช่นเดียวกับข้าวขาวชนิดอื่นๆ ฉันตวงข้าวป่าเมล็ดยาวสีดำขลับลงในหม้อ เทน้ำสะอาดจนท่วมเมล็ดข้าวเพื่อซาวน้ำก่อนจะเทน้ำซาวข้าวทิ้งไป จากนั้นจึงตวงน้ำสะอาดเพื่อหุงข้าวป่าในอัตราส่วน 3:1 คือ น้ำ 3 ส่วน ต่อ ข้าวป่า 1 ส่วน การหุงข้าวป่านั้นใช้น้ำในการหุงมากกว่าข้าวปกติมาก เนื่องจากข้าวป่ามีเปลือกหุ้มเมล็ดที่แข็งกว่าข้าวแดงและข้าวซ้อมมือ หากไม่ใช้น้ำจำนวนมากในการหุง ข้าวป่าก็จะไม่สุกนุ่มทั่วถึงหรือแข็งเกินไปจนกินไม่ได้ เมื่อข้าวป่าสุกได้ที่ เมล็ดจะบานออกจนเห็นเนื้อแป้งด้านในเป็นสีน้ำตาลแดงอ่อนหรือสีชมพูคล้ำ มีผิวสัมผัสที่กรุบกรอบคล้ายกับข้าวเหนียวดำแต่เป็นสัมผัสที่แข็งกว่า กลิ่นของข้าวป่าหุงสุกต่างจากธัญพืชที่ฉันเคยลิ้มรสมา คล้ายคลึงกับกลิ่นข้าวเหนียวดำปนกับกลิ่นหอมอ่อนๆ ของกาแฟคั่ว

ตำรับอาหารพื้นเมืองนิยมกินข้าวป่าหุงสุกคู่กับเนื้อสัตว์และปลาในท้องถิ่นที่ปรุงแบบง่ายๆ ตำราอาหารของสมาคมสตรีพื้นเมืองแห่งแคนาดา (Native Women’s Association of Canada) ในปี 2012 มีตำรับอาหารที่ใช้ข้าวป่าหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวป่ากับปลาแซลมอน หรือ ข้าวป่าหุงกับเนื้อและน้ำมันที่ได้จากตัวเป็ด เนื่องจากข้าวป่าเมื่อหุงสุกแล้วจะค่อนข้างร่วนซุยและค่อนข้างแห้ง น้ำมันที่ได้จากหนังปลาหรือตัวเป็ดจะทำให้ข้าวป่าที่ได้มีผิวสัมผัสที่นุ่มขึ้น

สำหรับชาวอนิชชนาเบกและชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่ในแคนาดา วัฒนธรรมจะดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อพวกเขามีสิทธิที่จะใช้ชีวิตในการหาอาหารและจัดการทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนด้วยตัวเองด้วย วิถีชีวิตที่ดำรงอยู่ในธรรมชาติที่ผู้สร้างจัดหามาให้พวกเขานั้นสำคัญเท่าชีวิต หากสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติที่รวมถึงพืชและสัตว์ในท้องถิ่นขาดสะบั้นลงแล้ว ก็เท่ากับว่าวัฒนธรรมนั้นได้ตายลงด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การฟื้นฟูประชากรข้าวป่าจึงไม่เพียงแต่เป็นการทวงคืนตัวตนของชนพื้นเมืองที่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติในทะเลสาบเท่านั้น แต่ยังเป็นการทวงคืนนิยามในการจัดการธรรมชาติในอุดมคติของชนพื้นเมือง หลังจากลระบบชลประทานที่จัดการโดยรัฐส่งผลให้นิยามและธรรมชาติของชนพื้นเมืองหมดความหมายและเสื่อมสลายไปพร้อมกับจำนวนข้าวป่าและพืชพื้นเมือง

แพข้าวป่าได้สร้างพื้นที่ในการต่อรองกับรัฐบาลท้องถิ่นที่ชนพื้นเมืองสามารถมีอุดมคติร่วมกับรัฐบาลกลาง แพข้าวป่าและพืชน้ำที่หนาแน่นได้กลายร่างเป็นป้อมปราการที่ขวางกั้นไม่ให้เรือยนต์และวัฒนธรรมภายนอกเข้ามารุกรานทั้งทางวัฒนธรรมและพื้นที่ทางกายภาพ แพข้าวป่าเป็นสัญลักษณ์ในการครอบครองพื้นที่ทางธรรมชาติและวิถีชีวิตของชนพื้นเมือง ต้นข้าวป่าในทะเลสาบนกพิราบจึงเป็นมากกว่าธัญพืชศักสิทธิ์ แต่ยังเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ชนกลุ่มน้อยใช้ต่อรองกับรัฐบาลท้องถิ่นที่มีทั้งอำนาจและทรัพยากรเหนือกว่า เรียกได้ว่าแพข้าวป่าช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและส่งเสริมสิทธิในการปกครองตนเองของชนพื้นเมืองก็ไม่ผิดนัก

การต่อสู้ระหว่างคนทั้งสองกลุ่มในทะเลสาบนกพิราบยังคงไม่จบลงง่ายๆ ในเวลาอันใกล้นี้แน่นอน อย่างไรก็ตาม ความ ‘ไม่เชื่อง’ ของข้าวป่ากับความมุ่งมั่นของชาวอนิชนาเบกคนหนึ่ง ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติในแคนาดาไปแล้ว พร้อมๆ กับที่เมล็ดพันธุ์ข้าวป่าของเขาได้เดินทางไปถึงทะเลสาบอีกหลายแห่งในแคนาดา รอวันที่จะก่อตัวเป็นแพข้าวป่าต่อไป

 

 

อ้างอิง

Anderson, Paula. 2018. Black duck Wild rice: A Cast Study. Centre for Sustainable Food Systems, Wilfrid Laurier University.

Union of Ontario Indians. 2013. An Overview of the Indian Residential School System.

Native Women’s Association of Canada. 2012. Diabetes Self-Management Toolkit for Aboriginal Women: Traditional Foods & Recipes on the Wild Side.

Lavallee, Angela. 2020. ‘Why would I stop?’: James Whetung plans to keep planting and harvesting wild rice

https://www.mykawartha.com/news-story/10070125–why-would-i-stop-james-whetung-plans-to-keep-planting-and-harvesting-wild-rice/ (Accessed: 21/11/2020 9.43am)

Clysdale, Taylor. 2019. Will proposed solutions to wild-rice debate end the conflict on Pigeon Lake?

https://www.mykawartha.com/news-story/9577217-will-proposed-solutions-to-wild-rice-debate-end-the-conflict-on-pigeon-lake-/ (Accessed: 21/11/2020 9.42am)

Johnson, Rhiannon. 2018.Cottage country conflict over wild rice leads to years of rising tensions.

https://www.cbc.ca/news/indigenous/kawartha-lakes-pigeon-lake-wild-rice-dispute-1.4894495 (Accessed: 21/11/2020 9.40am)

Hayden Taylor, Drew. 2019. Cottagers and Indians.Talonbooks.

Canadian Broadcasting Corporations. 2020. Cottagers and Indians. (Documentary).

Spenrath, Kurt. 2020. Ruckus over rice: A thorny issue that has Indigenous activists facing off with local cottagers and residents. https://www.cbc.ca/documentaries/cbc-docs-pov/ruckus-over-rice-a-thorny-issue-that-has-indigenous-activists-facing-off-with-local-cottagers-and-residents-1.5618954 (Accessed: 21/11/2020 9.38am)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save